นิยามของคำว่า ความรู้ (knowledge) เป็นสิ่งที่ยากที่จะกำหนดขอบเขตของความหมาย แต่ถ้าเราเริ่มจากคำว่า "ข้อมูล" หรือ "ข้อเท็จจริง" สิ่งที่ได้คือความจริงต่าง ๆ ที่ปรากฏเกิดขึ้น การดำเนินการต่าง ๆ ทำให้เกิดข้อมูล เช่น เมื่อเรามีการซื้อขายสินค้า ก็มีการจดบันทึกหลักฐาน เช่น การออกใบเสร็จ ใบสั่งของ เอกสารกำกับ เป็นรายการแสดงการดำเนินการ สิ่งเหล่านี้เรียกว่าข้อมูล ข้อมูลจึงเป็นเรื่องของข้อเท็จจริงที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องดำเนินการทั้งในระดับส่วนตัว ระดับการทำงานร่วมกัน และระดับกลุ่ม องค์กร ตลอดจนระดับสังคม และชุมชนต่าง ๆ
เมื่อกิจกรรมที่ดำเนินการ หรือปรากฏการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา จึงมีการบันทึกเรื่องราว ทำความจริงเหล่านั้นให้ปรากฏในสิ่งที่สามารถเก็บรวบรวมได้ การดำเนินกิจการขององค์กรจึงต้องทำเป็นระบบ มีการเก็บข้อมูลการดำเนินการขององค์กร รูปแบบขั้นพื้นฐานคือ "ระบบบัญชี" องค์กรทุกองค์กรที่เป็นธุรกิจจึงต้องทำบัญชี มีระบบการดำเนินการที่ชัดเจน เช่น บัญชีแยกประเภท บัญชีลูกหนี้ เจ้าหนี้ ทรัพย์สิน บัญชีต้นทุน หรือแม้แต่การดูแลการผลิตก็มีการทำบัญชีสินค้าคงคลัง เก็บรวบรวมข้อมูล เก็บข่าวสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการดำเนินการ เมื่อมีการเก็บข้อมูล ก็มีการประมวลผล เพื่อให้ได้ข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการ การที่มีข่าวสารที่เกิดการประมวลผล บางทีก็เรียกว่า "สารสนเทศ" (Information) เช่น ประมวลผลเพื่อให้รู้สถานะขององค์กร ให้รู้งบการดำเนินการที่เรียกว่ากำไร ขาดทุน
การมีสารสนเทศทำให้ผู้ดูแลกิจการสามารถใช้สารสนเทศเพื่อประโยชน์ต่อองค์กรได้ คำว่า "ความรู้" มีความหมายที่ลึกซึ้งกว่า "สารสนเทศ" ทั้งนี้เพราะสารสนเทศทำให้เกิดความรอบรู้ การคิดตัดสินใจใด ๆ ย่อมต้องอาศัยความรอบรู้และประสบการณ์ แต่อย่างไรก็ตาม การดำเนินการเชิงการตัดสินใจเหล่านั้นต้องอาศัยสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการคิดและตัดสินใจ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงพอกล่าวได้ว่า ข้อมูลเป็นฐานของการดำเนินการเพราะเป็นข้อเท็จจริง สารสนเทศคือผลของการประมวลผลข้อมูลข่าวสาร และความรอบรู้ใช้สารสนเทศเป็นฐานในการสร้างให้เกิดการคิดและตัดสินใจ
ไม่มีความเห็น