รับน้องใหม
่
ทุกปี... ในระยะเวลาเดียวกันนี้ จะมีข่าวการ “ รับน้อง ” ด้วยความรุนแรง และวิธีวิตถาร “ ผิดมนุษย์ ” มาให้เห็น ให้รับรู้ กันอยู่เสมอ หนักบ้างเบาบ้าง มากน้อยขึ้นอยู่กับว่า ขณะนั้นมีข่าวอะไร สำคัญกว่าหรือไม่ ผลของการรับน้องเกิดขึ้นกับใคร หรือหนักหนาสาหัสเพียงใด เป็นประเด็นหลัก
ปีนี้ก็เช่นกัน มีน้องใหม่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์คนหนึ่งถึงกับตัดสินใจฆ่าตัวตายไป ข่าวระบุว่าเขาอึดอัดคับข้องใจกับพฤติกรรมของรุ่นพี่ และประเพณีของสถาบัน ตลอดจนกิจกรรมต่างๆ ที่พี่ๆ กระทำต่อเขาและเพื่อนๆ ซึ่งเห็นว่า ทั้งรบกวนเวลาเรียน และเวลาอ่านหนังสือ มิหนำซ้ำ การ “ รับน้อง ” เช่นนั้น ยังละเมิดและแทรกแซงชีวิตส่วนตัวอย่างมาก จนเขาทนไม่ได้ ต้องตัดสินใจเดินทางกลับบ้าน แล้วเลือกปิดฉากชีวิตตนเองด้วยอาวุธปืนของคนในครอบครัว ทิ้งไว้แต่จดหมายขอโทษคุณแม่ ที่ไม่สามารถบวชทดแทนคุณ ดังที่สื่อมวลชนหลายราย หลายๆ ประเภทได้ออกข่าวกันไปแล้ว
ประเพณีการรับน้องใหม่นั้นว่ากันว่านำเข้ามาจากสหรัฐอเมริกา จากคณะเกษตรของมหาวิทยาลัยคอร์แนล ซึ่งมีคณาจารย์ด้านเกษตรกรรมหลายสถาบันไปร่ำเรียน แล้วจดจำแบบอย่างมาประยุกต์ใช้ นัยว่าเพื่อสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และประสานความต่างของคนหนุ่มสาวมากหน้า ตลอดจนทำความรู้จักและแสวงหาแก่นแท้ของแต่ละคน เพื่อการใช้ชีวิตร่วมกันอย่างเกื้อกูล
ข้อมูลนี้จริงเท็จอย่างไรไม่รับรอง แต่ยินดีรับฟังหรือแลกเปลี่ยนกับคนเห็นแย้ง หรือเห็นต่างออกไป
ฟังๆ ดูแล้วคล้ายจะเป็นกิจกรรมในอุดมคติ ที่ให้ผลเลิศอย่างหารอยตำหนิแทบมิได้ ซึ่งถ้าเคยเป็น หรือเคยมีมาเช่นนั้นจริง ก็ออกจะน่าเสียดาย ที่วันนี้ดูท่าว่ามันจะหายหกตกหล่นเสียระหว่างทาง หรือถูกเปลี่ยนรูปแปลงร่างไปเสีย จนคนที่เคย “ ริเริ่ม ” หรือผ่านการ “ รับน้อง ” มาแต่เดิม ก็แทบจดจำไม่ได้ ว่าที่ตนและเพื่อนๆ พี่ๆ เคยปูทางไว้ ทำไมจึงเปลี่ยนไปเช่นนี้ หรือถึงขนาดนี้...
จะว่าไปแล้ว ในพระพุทธศาสนา ความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมดาและธรรมชาติ ด้วยกฎแห่งการ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระไตรลักษณ์ เพียงแต่ หากนำเอาเรื่อง “ เหตุ ” และ “ ปัจจัย ” ไปเทียบเคียง ก็จะเพิ่มมุมมองพิเศษขึ้นอีกด้าน ว่า..ถ้าไม่อยากให้สิ่งหนึ่งสิ่งใด “ เสื่อม ” ก่อนกาลอันควร(เพราะยังมีคุณระโยชน์บางประการ) ก็พึงหลีกเลี่ยง “ เหตุ-ปัจจัย ” ฝ่าย “ อกุศล ” แล้วส่งเสริมด้าน “ กุศล ” ให้มากขึ้น
ปัญหาคงอยู่ที่ว่า ถึงวันนี้ การ “ รับน้อง ” เป็นอะไรกันแน่ เป็น “ กิจกรรมฝ่ายกุศล ” หรือเป็นเพียง “ ผล ” แห่งความอาฆาตจองเวร และตอบสนองความเบี่ยงเบนของรุ่นพี่ๆ ที่ถือเอาช่วงเวลานี้ “ สำเร็จความใคร่ทางวิญญาณ ” กันอย่างเพลินอารมณ์
จะอย่างไรก็แล้วแต่ น่าสนใจว่า แม้สังคมจะพากันเรียกร้องต้องการเพิ่มขึ้นทุกที ที่จะขอให้นักศึกษาและรุ่นพี่ในสถาบันต่างๆ “ ยุติ ” กิจกรรม “ อกุศล ” อันสุ่มเสี่ยงโดยไม่จำเป็นเช่นนี้ไปเสีย แต่ขณะเดียวกัน ทั้งอาจารย์ ฝ่ายกิจการนิสิต-กิจการนักศึกษา หรือกระทั่ง คณบดี-อธิการบดี ตลอดจนรุ่นพี่แทบทั้งปวง กลับเป็นฝ่ายแตะถ่วงหรือพยายามปฏิเสธข้อเรียกร้องเหล่านั้นเสียเอง มิหนำซ้ำ ในกรณีนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรกรณีข้างต้น ตัวบุคคลฝ่ายมหาวิทยาลัย(หรือยืนในฟากเดียวกัน) ถึงกับพยายามโยนความ “ ผิดปกติ ” กลับคืนมาให้ผู้ตายไปเสียอีก จึงดูเหมือนว่า นี่ออกจะเป็นปัญหาที่ใหญ่โตและลึกซึ้ง เกินกว่าระดับ “ รุ่นพี่ ” กับ “ รุ่นน้อง ” ไปเสียแล้ว
การรับน้องใหม่เกี่ยวข้องอย่างไรกับความหมายเชิงคุณภาพของระบบการศึกษาไทย เกี่ยวพันอย่างไรกับวิธีคิดและกระบวนการตัดสินใจของผู้เกี่ยวข้อง ตลอดไปถึงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรมแบบไทยๆ ฯลฯ “ ผู้รู้ ” ทั้งหลายน่าจะศึกษา แล้วให้ “ ปัญญา ” กับทุกฝ่ายเพื่อการตัดสินใจในท้ายที่สุด
อย่างน้อย ถ้าเด็กหนุ่มชาวพุทธ ผู้มีแก่ใจขอโทษขอโพยแม่ เรื่องที่ตนจะไม่สามารถบวชแทนคุณมารดาได้ กล้าที่จะปลิดชีพของตน เพื่อ “ หนี ” การรับน้อง เหล่าอาจารย์ รุ่นพี่ หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง “ ไม่เคยบวช ” หรือ “ ไม่เคยคิดจะบวช ” ก็ควรจะต้องทบทวนตัวเอง ทบทวนสิ่งที่ตนเกี่ยวข้องเสียที ว่า..
ที่ทำๆ กันอยู่นี้ เพื่อ “ อะไร ” หรือเพื่อ “ ใคร ” กัน...
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Phra PhraKittisak Kittisobhano ใน ไม่เติมก็เต็ม..
เห็นด้วยค่ะ เพราะว่าการรับน้องในปัจจุบันมันแย่มากทีเดียว