วันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๔๘ คุณสันทัด สินธุพันธ์ประทุม ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้บริหารการศึกษา และ คุณสนธิรัก เทพเรณู รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้บริหารการศึกษา เข้าพบ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช เพื่อหารือและแสวงหาความร่วมมือในการนำการจัดการความรู้ไปใช้ในสถาบันพัฒนาผู้บริหารการศึกษา โดยสถาบันพัฒนาผู้บริหารการศึกษา หรือ สพบ. (Institute for Development of Educational Administrators- IDEA) นี้ เป็นหน่วยงานภาครัฐ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย แผนและแนวทางการพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ติดตามประเมินผลการพัฒนา รวมทั้งพัฒนามาตรฐานการฝึกอบรม และประสานเครือข่ายในการพัฒนา โดยมีเป้าหมายในการจัดการความรู้เพื่อหาวิธีการและดำเนินการที่จะพัฒนาสมรรถนะหลักแก่บุคลากรของ สพบ. สู่ความเป็นเลิศเพื่อให้สามารถส่งเสริม และสนับสนุนการพัฒนาสมรรถนะของครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา สร้างและประสานเครือข่าย ฝึกอบรม ทำการวิจัย และพัฒนาการปลูกจิตสำนึกให้ตระหนักในการพัฒนาวิชาชีพ และการถ่ายทอดความรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการพัฒนาวิชาชีพครูและในขณะนี้ สพบ. ได้ดำเนินโครงการการจัดการความรู้ไปได้ระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งมีทั้งกิจกรรมการอบรมให้ความรู้เรื่องการจัดการความรู้แก่บุคลากร ผู้บริหารของ สพบ. มีการสร้างฐานข้อมูลวิทยากร IT มีการจัดทำ Website การจัดการความรู้ สพบ. http://www.geocities.com/kmidea05/ การจัดทำจดหมายข่าวการจัดการความรู้ (KMIDEA) และกิจกรรมโครงการการจัดการความรู้อื่นๆ สำหรับการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับ สคส. ครั้งนี้ ในช่วงแรกต้องมีการปรับหรือ Tune ความคิด ความต้องการ ความคาดหวังต่อการจัดการความรู้ และความคาดหวังจาก สคส. ของ สพบ. กันอยู่นานพอสมควร แต่ในที่สุด พวกเราก็ได้แนวคิดหรือเป้าหมายในการนำเครื่องมือการจัดการความรู้สำหรับ สพบ. ที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ สพบ. ต้องการจะนำการจัดการความรู้ไปใช้ เพื่อพัฒนาบุคลากรภายใน ให้เป็นบุคคลเรียนรู้ และสามารถทำหน้าที่เป็น “คุณอำนวย” ในกระบวนการจัดการเรียนรู้ เกี่ยวกับเทคนิควิธีการพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ได้ รวมทั้งต้องการสร้างให้ สพบ. เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ เพื่อเป็นหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุน ให้เกิดหรือพัฒนาต่อยอดเครือข่ายครู คณาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา และโรงเรียนทั่วประเทศต่อไปโดยได้มีการเสนอ “ร่าง” หัวปลา เป้าหมายและยุทธศาสตร์การจัดการความรู้สำหรับ สพบ. ไว้ร่วมกัน ซึ่งอ่านรายะเอียดได้จาก http://gotoknow.org/archive/2005/06/17/02/07/19/e261แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงานโครงการจัดการความรู้ของ สพบ. ทาง สคส. จึงขอให้ ทาง สพบ. ได้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมพูดคุยร่วมกับทางสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติในโอกาสต่อไป (๑ กรกฎาคม ๒๕๔๘) เนื่องจากทางสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ เป็นที่ปรึกษาทางด้านการจัดการความรู้ให้กับ สพบ. อยู่แล้ว นอกจากนั้น ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช และ ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด ได้เสนอแนะเพิ่มเติมว่า การจัดการความรู้ตามแนวทางของ สคส. จะเน้นไปที่การปฏิบัติจริง และต้องปฏิบัติจนเป็นเนื้อเดียวกับสิ่งที่ต้องการจะให้เกิด และเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่เริ่มต้นจากความสำเร็จหรือความภาคภูมิใจ (ตามหัวปลากที่กำหนดไว้) ที่เป็นจุดเล็กๆ เน้นความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge) ที่มีอยู่ในคนหรือบุคลากรทางการศึกษาอยู่แล้ว นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน รวมทั้งต้องมีการบันทึกขุมความรู้ (Knowledge Assets) เพื่อให้ผู้อื่นหรือบุคลากรทางการศึกษาในเครือข่าย ที่อยู่ต่างพื้นที่กัน สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงตามแต่บริบทที่แตกต่างกัน ที่สำคัญสถาบันพัฒนาผู้บริหารการศึกษา ควรจะต้องพัฒนาหรือปรับเปลี่ยนทิศทางขององค์กรให้เป็นสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้ทางด้านการศึกษาของประเทศ และมีการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเป็นเครือข่ายการจัดการความรู้ของบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้เกิดการต่อยอดหรือหมุนเกลียวความรู้ต่อไปได้ในอนาคต