รัชดาวัลย์
นาง รัชดาวัลย์ แอ๊ว สวนจันทร์

ประวัติภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต


ประวัติภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต

หาเหตุผล ค้นคำตอบ ๑

ประวัติภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต

 

ประวัติภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต

                ภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต จัดอยู่ภาษาอินเดีย-ยุโรป ซึ่งเป็นตระกูลภาษามีวิภัตติปัจจัย(ภาษาที่มีวิภัตติปัจจัย คือ ภาษาแบบที่มีการสร้างคำด้วยการใช้วิภัตติปัจจัยประกอบเข้ากับรากศัพท์ซึ่งเป็นหน่วยคำไม่อิสระทำให้เกิดเป็นคำที่แสดงเพศ พจน์ กาล มาลา วาจกอย่างชัดเจน เพื่อเข้าสัมพันธ์ทางไวยากรณ์กลมกลืนกับคำอื่นในประโยค)   ( ปรีชา ทิชินพงศ์,๒๕๓๔ : ๑)

ภาษาสันสกฤต

                ภาษาสันสกฤต เป็นภาษาที่มีวิวัฒนาการมาจากภาษาในคัมภีร์พระเวทของชาวอารยัน ถือเป็นภาษาที่ศักดิ์สิทธิ์ของคนชั้นสูง แต่เดิมนั้นไม่ได้มีการวางหลักเกณฑ์เคร่งครัดนัก ต่อมาเมื่อระยะเวลาล่วงไปนานๆ ประกอบกับภาษาในคัมภีร์พระเวทนี้มีภาษาพื้นเมืองปะปนอยู่มาก เป็นเหตุให้หลักเกณฑ์ต่างๆ ของภาษานี้คลาดเคลื่อนไปมาก จนกระทั่งได้มีนักปราชญ์ของอินเดียคนหนึ่งชื่อ “ปาณินิ” ได้ศึกษาคัมภีร์พระเวททั้งหลาย แล้วนำมาแจกแจงวางหลักเกณฑ์ให้เป็นระเบียบและรัดกุม แต่งเป็นตำราไวยากรณ์ขึ้นเรียกชื่อว่า “อัษฎาธยายี” ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นตำราไวยากรณ์เล่มแรกที่แต่งได้ดีที่สุดและมีชื่อเสียงไปทั่วโลก และต่อมาได้มีผู้เรียกภาษาที่ปาณินิได้จัดระเบียบของภาษาไว้เป็นอย่างดีและสมบูรณ์ที่สุดนี้ว่า “สันสกฤต” ซึ่งแปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ได้จัดระเบียบและขัดเกลาเรียบร้อยดีแล้ว” แต่กฎเกณฑ์ที่ปาณินิได้วางไว้นี้กลับเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภาษาสันสกฤตไม่มีวิวัฒนาการเหมือนภาษาอื่นๆ เพราะนอกจากภาษาสันสกฤตจะถือว่าเป็นภาษาที่ศักดิ์สิทธิ์ ใช้ในหมู่ของนักปราชญ์ โดยเฉพาะกษัตริย์และพราหมณ์ที่เป็นบุรุษเพศ กฎเกณฑ์และรายละเอียดปลีกย่อยยังทำให้ไม่เอื้อต่อการใช้ จึงทำให้ภาษาสันสกฤตเป็นภาษาตายในที่สุด

 

ภาษาบาลี

                ภาษาบาลี เป็นภาษาปรากฤตภาษาหนึ่งที่มีวิวัฒนาการมาจากภาษาพระเวท ภาษาบาลี คือ ภาษาที่ชาวมคธใช้พูดกันในแคว้นมคธ เรียกว่า “ภาษามาคธี” พระพุทธเจ้าทรงใช้ภาษานี้ประกาศพระศาสนาของพระองค์ ภาษามาคธีนี้แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ (เจิม ชุมเกตุ, ๒๕๒๕:๓)

๑.            สุทธมาคธี เป็นภาษาของชนชั้นสูง คือภาษาของกษัตริย์หรือภาษาทางราชการ

๒.          เทสิยาหรือปรากฤต ได้แก่ ภาษาประจำถิ่น

พระพุทธเจ้าทรงใช้สุทธมาคธีเป็นหลักในการประกาศคำสั่งสอนของพระองค์ และในสมัยนั้นทรงเผยแผ่พระธรรมด้วยวิธีมุขปาฐะ โดยมิได้มีบันทึกหรือเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร ภาษาบาลีนี้นำมาใช้บันทึกพุทธวจนะเป็นลายลักษณ์อักษรเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๓ ปรากฏเป็นหลักฐานครั้งแรกในจารึกพระเจ้าอโศกมหาราช ถือเป็นภาษาประจำพุทธศาสนานิกายหินยาน  

         ส่วนศาสนานิกายมหายานใช้ภาษาสันสกฤตบันทึกพุทธวจนะ(สุภาพร มากแจ้ง,๒๕๓๕ : ๔) และต่อมาก็ใช้ภาษาบาลีจารึกพระธรรมลงในพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นตำราหลักทางพระพุทธศาสนาอย่างไรก็ตามภาษาบาลีก็มีลักษณะเช่นเดียวกันกับภาษาสันสกฤต คือใช้เป็นภาษาเขียนในพระไตรปิฎกของพุทธศาสนาเท่านั้น ไม่ได้ใช้พูดหรือใช้เขียนในชีวิตประจำวัน จึงไม่มีการเจริญเติบโต ไม่มีวิวัฒนาการเหมือนกับภาษาอื่นๆและกลายเป็นภาษาตายในที่สุด

เหตุที่คำภาษาบาลีและสันสกฤตเข้ามาปะปนในภาษาไทย

                เมื่อพระพุทธศาสนาได้แพร่เข้ามาสู่ประเทศไทย  และคนไทยได้ยอมรับนับถือศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ  คนไทยจึงจำเป็นต้องเรียนภาษาบาลีและสันสกฤต  เพราะคำสอนทางศาสนาเป็นภาษาบาลีและสันสกฤต  (สันสกฤต : มหายาน)  ดังนั้นจึงได้เกิดคำภาษาบาลีและสันสกฤตใช้ในภาษาไทยมากขึ้น  (วิสันติ์  กฎแก้ว,๒๕๒๙ : ๑)  นอกจากการรับนับถือศาสนาพุทธแล้ว  ไทยยังได้รับเอาความเชื่อ  ขนบธรรมเนียมประเพณี  พิธีกรรมต่างๆรวมทั้งวรรณคดีบาลีและสันสกฤตเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย  ซึ่งเป็นส่วนทำให้เรารับคำภาษาบาลีและสันสกฤตซึ่งเป็นคำที่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งต่างๆเหล่านั้น  เข้ามาใช้ในภาษาไทย 

                สุธิวงศ์ พงษ์บูลย์  (๒๕๒๓ : ๕) ได้กล่าวถึงเหตุที่คำภาษาบาลีและสันสกฤตเข้ามาปนอยู่ในภาษาไทยว่าเนื่องมาจากเหตุผลหลายประการ สรุปได้ดังนี้

๑.            ความสัมพันธ์ทางด้านศาสนา 

เมื่อศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธเผยแผ่เข้ามาสู่ประเทศไทยศาสนาพราหมณ์ใช้ภาษาสันสกฤตและศาสนาพุทธใช้ภาษาบาลีในการเผยแผ่ศาสนา  ไทยได้รับศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติและรับคติของศาสนาพราหมณ์มาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะในลัทธิธรรมเนียมประเพณีต่างๆ  เราจึงรับคำในลัทธิทั้งสองเข้ามาใช้ในลักษณะของศัพท์ทางศาสนาและใช้เป็นศัพท์สามัญทั่วไปในชีวิตประจำวัน

๒.           ความสัมพันธ์ทางด้านประเพณี

เมื่อชนชาติอินเดียได้เข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทย  ก็นำเอาประเพณีของตนเข้ามาปฏิบัติทำให้มีคำที่เนื่องด้วยประเพณีเข้ามาปะปนในภาษาไทย  และนานเข้าก็ได้กลายเป็นคำที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนไทย  เช่น  ตรียัมปวาย  มาฆบูชา  ตักบาตรเทโว  ดิถี  กระยาสารท           เทศน์มหาชาติ  กฐิน  จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ  ฉัตรมงคล  พืชมงคล  เป็นต้น

๓.           ความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรม

อินเดียเป็นประเทศที่เจริญทางด้านวัฒนธรรมมานาน  อิทธิพลทางด้านวัฒนธรรมของอินเดียมีต่อนานาประเทศทางภาคพื้นตะวันออกก่อนที่วัฒนธรรมตะวันตกจะเข้ามา  ไทยได้รับอิทธิพลของอินเดียทุกสาขา  เช่น

๑.            ศิลปะ  ศิลปะไทยได้รับอิทธิพลจากอินเดียทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม  เช่น  ทางดนตรีและนาฏศิลป์  ภาษาที่ใช้เนื่องด้วยเป็นศิลปะจึงเข้ามาปะปนในภาษาไทย  เช่น  มโหรี  ดนตรี  ปี่พาทย์

๒.          ดาราศาสตร์  อินเดียมีความเจริญทางด้านดาราศาสตร์มาช้านานจนมีตำราเรียนกัน  เมื่อวิชานี้แพร่หลายเข้ามาในประเทศไทย  ทำให้คำต่างๆที่เกี่ยวข้องเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก  เช่น  สุริยคติ  จันทรคติ  จันทรคราส

๓.           การแต่งกาย  ศัพท์ทางด้านวัฒนธรรมการแต่งกายที่ได้รับมาส่วนใหญ่เป็นเครื่องทรงของพระมหากษัตริย์  เช่น  มงกุฎ  ชฎา  สังวาล 

๔.           สิ่งก่อสร้าง  คำภาษาบาลีและสันสกฤตที่เกี่ยวกับสิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่เป็นศัพท์ที่เรียกชื่อสิ่งก่อสร้างทางศาสนาและราชวัง  เช่น  นภศูล  ปราสาท  เจดีย์

๕.           เครื่องมือเครื่องใช้  เครื่องมือเครื่องใช้ที่ชาวอินเดียนำเข้ามาในประเทศไทย  ทำให้เราได้รับคำที่เรียกเครื่องมือเครื่องใช้นั้นๆเข้ามาใช้ด้วย  เช่น  อาวุธ  ทัพพี  คนโท

๖.            การใช้ราชาศัพท์  การใช้ราชาศัพท์เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของไทย ที่ต้องการแยกศัพท์ของคนสามัญชนออกจากศัพท์ที่ใช้กับพระราชาและเชื้อพระวงศ์  เป็นเหตุให้เรารับคำบาลีและสันสกฤต  ซึ่งถือว่าเป็นภาษาที่สูงเข้ามาใช้  เช่น  พระเนตร  พระบาท  พระกรรณ  บางคำก็รับเข้ามาเป็นคำสุภาพ  เช่น  บิดา  มารดา ฯลฯ 

๔.           ความสัมพันธ์ทางด้านวิชาการ 

เนื่องจากวิทยาศาสตร์และวิทยาการเจริญกว้างขวางขึ้นทำให้คำที่เราใช้อยู่เดิมแคบเข้า  จึงจำเป็นต้องรับคำบาลี  สันสกฤต  เข้ามาใช้  เพื่อความเจริญและความสะดวก  เช่น  วิทยุ  โทรทัศน์  แพทย์  เภสัช  ฯลฯ

๕.           ความสัมพันธ์ทางด้านวรรณคดี 

วรรณคดีอินเดียมีอิทธิพลต่อวรรณคดีไทยเป็นอย่างยิ่ง  ทั้งวรรณคดีสันสกฤต  และวรรณคดีที่เนื่องมาจากชาดกในพระพุทธศาสนาเมื่อเรารับเอาวรรณคดีเหล่านี้เข้ามา  จึงมีศัพท์ต่างๆที่เกี่ยวกับวรรณคดีเหล่านี้เข้ามามากมาย  เช่น  ครุฑ  สุเมรุ  หิมพานต์  ฯ,ฯ

 ผู้ศึกษาเห็นว่า   การที่เราจะเรียนรู้เรื่องอะไร   ควรศึกษาที่มาของเรื่องนั้นๆให้ถ่องแท้เสียก่อน  จะทำให้เกิดการเรียนรู้ได้รวดเร็ว   อีกทั้งยังสามารถนำไปเผยแพร่ให้กับบุคคลโดยทั่วไป.

                                                                        จาก.........ครูแอ๊ว

 

 

 

 

 

 


 

หมายเลขบันทึก: 272066เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2009 20:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 17:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

ได้ความรู้ดีจังนะครับ ขอบคุณที่เผยแพร่ความรู้ในครับบ

พี่แอ๊วคะ ให้รู้ความหมายนะพอได้คะ แต่ถ้าให้เรียนคงยากน่าดูเพราะภาษา บาลีและสันสกฤต หลายๆคนก็บอกว่ายากคะ แต่ก็ได้ความรู้เพิ่มขึ้นนะคะ ขอบคุณคะ

ครูนวยขาตอนแรกๆมันก็ยากมากเลยค่ะ เหมือนกับที่พี่เรียนวิชาคณิต (สถิติ) เอกใครก็เอกม้นนะ...มิน่าถึงได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

พี่แอ๋วครับผมไม่เก่งคอม แต่ถ้าผมรู้อะไรใหม่เกี่ยวการใช้คอมผมยินสอนให้ทุกคนครับ

สวัสดีค่ะ แวะมาทักทายค่ะ

ได้ความรู้ใหม่ ๆ แล้วจะลองศึกษาดูน่ะค่ะ

และขอบคุณที่แวะไปเยี่ยมบล็อกของหนู ขอบคุณค่ะ

เคยเรียนบาลีสันสกฤตสมัยเรียนอักษรศาสตร์ค่ะ แต่ตอนนี้ลืมหมดแล้ว ได้มาอ่านครั้งนี้ ทำให้นึกถึงความหลัง

เจ๊แอ๊วมาอ่านแล้วนะเยี่ยมมาก

แสดงตนมาเถอะค่ะมีรางวัลนะ จะบอกให้ ขอบคุณค่ะที่มาเยี่ยมพี่

มาดึก เลยนะครับ ขอชื่นชม กระเทาะให้ถึงแก่นแท้ของภาษา

ผมว่าถ้าถนัดภาษาบาลีสันสกฤตแล้ว ภาษาก็ง่ายเหมือนในโอ่งนี่แหละครับ (แบบว่างมง่ายหน่อย)

ตอนแรก ก็โอ่งคว่ำ ตอนนี้....หงายแล้ว

ประวัติภาษาไทยดีมากเลยค่ะ แต่ถ้าตอนนี้รู้วิวัฒนาการ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ลำเลิสที่สุดเลยค่ะ

ก่อนอื่นต้องขอสวัสดีภัทราจารย์อีกท่านหนึ่งนะครับ

ที่มอบวิทยาทานแก่สรรพศิษย์ทางอินเทอร์เนต

หลังจากที่อ่านแล้ว ผมก็เกิดความเห็นบางประการ

หมายที่จะแลกเปลี่ยนความรู้ มิใช่อวดอ้างความรู้ เพื่อ "ล้างครู นะครับ

ก็... ขออนุญาติ แสดงความคิดเห็นนะครับ

จริงๆ แล้ว ภาษาที่เรียกว่าภาษาบาลีนั้น เดิมแล้วไม่ใช่ภาษาบาลี

และก็ไม่ได้เรียกว่าภาษามคธี

เนื่องจากพระพุทธโฆษาจารย์ ซึ่งเป็นปราชญ์ตะวันออกสายภาษาบาลี

ไม่เรียกภาษาชนิดนั้นว่าภาษาบาลี หรือภาษามคธี

แต่ยัง "ไม่สามารถ" สืบสร้างกลับไปได้ว่า เรียกว่าภาษาอะไร

ทว่า "ความเข้าใจของคนไทย" ส่วนใหญ่คิดว่า

ภาษาบาลี คือภาษามคธี หรือภาษาที่ใช้ในแคว้นมคธ

แม้แต่พระสงฆ์เองก็ตาม เพราะการสอบเปรียญ

จะมีการ "แปลไทยเป็นมคธ หรือ แปลมคธเป็นไทย"

แต่เมื่อพิจารณาแล้ว จะพบว่า ภาษาที่เราเรียกว่าภาษาบาลีนั้น

ไม่ได้มีเฉพาะไวยกรณ์ของแคว้นมคธ หากแต่ยังมีความเกี่ยวข้อง

หรือมีลักษณะสัมพันธ์กับแคว้นอื่นๆ ด้วย

อีกประการหนึ่งคือ ภาษาบาลี และภาษาสันสกฤตเป็นภาษาตระกูลเดียวกัน

และมีความสัมพันธ์บางประการต่อกัน

แต่สิ่งหนึ่งที่สามารถสังเกตได้จากภาษาสันสกฤต คือ ความใหม่กว่า

เนื่องจากภาษาบาลีมีข้อยกเว้น หรือความสามารถในการ "ลักลั่น"

มากกว่าภาษาสันสกฤต ซึ่งเป็นแบบแผนกว่า เนื่องจากภาษาสันสกฤต

เป็นภาษาที่เกิดขึ้นภายหลังภาษาบาลี เพราะฉะนั้น

หากต้องการเข้าใจ "ภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต" อย่างชัดเจนแล้ว

ผมเห็นว่าง... ควรอธิบายภาษาบาลีก่อน จึงต่อด้วยสันสกฤต

นอกจากนี้แล้วนะครับ ขออนุญาตเพิ่มเติมว่า...

สังคมไทยมีการใช้ทั้งภาษาบาลีและสันสกฤตก็จริง

แต่เมื่อพิจารณาแล้วจะพบว่า "สังคมไทย" ใช้ภาษาสันสกฤตมากกว่าภาษาบาลี

เนื่องจากภาษาสันสกฤตไพเราะกว่า ส่วนภาษาบาลีก็มีใช้เช่นกัน

แต่จะมากใน "สังคมศาสนา" โดยสังเกตจากบทสวด หรือฉายาต่างๆ

รวมไปถึง มีนักปราชญ์บางท่านกล่าวว่า

ภาษาทั้งสอง ยัง "ไม่ตาย" เนื่องจากมีแคว้นบางแคว้นในอินเดีย

ใช้ภาษาทั้งสองพูดคุยกันในเฉพาะเวลา

รวมถึงหาก นำคำกล่าวที่ว่า "ภาษาที่ยังใช้สื่อสาร คือภาษาที่ยังไม่ตาย" ไปจับ

จะพบว่า ภาษาทั้งสองก็ยังใช้สื่อสารอยู่

เพียงแต่เปลี่ยนสถานะจาก คนกับคน ไปเป็น คนกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เท่านั้นเอง

ก็มีเท่านี้แหละครับ ขอบคุณมากครับ

ที่เปิดโอกาสให้แลกเปลี่ยนความรู้ และความคิดเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท