ท่องเที่ยวโดยชุมชน มิติใหม่การจัดการชุมชน


จะทำอย่างไรให้การท่องเที่ยวมีความยั่งยืนต่อฐานทรัพยากร และมีส่วนสร้างความเข้มแข็งของชุมชน?

                  วิจัยด้านการท่องเที่ยว สู่ การจัดการชุมชนเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน 
                   “แม่ฮ่องสอน”เป็นจังหวัดที่ขึ้นชื่อในเรื่องของทุนทางธรรมชาติ ความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ ชุมชนแต่ละชุมชนมีเรื่องราวที่น่าสนใจแตกต่างกัน กระแสการท่องเที่ยวเริ่มเข้ามามีบทบาทกับชีวิตของชาวบ้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นายทุนเริ่มเข้ามากอบโกยผลประโยชน์ โดยใช้ทรัพยากรร่วมกับชุมชน และนำนักท่องเที่ยวเข้ามายังชุมชน อาจจะมีรายได้เข้ามาในชุมชนบ้าง แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการท่องเที่ยวกระแสหลักโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทำให้เกิดผลทางลบขึ้นกับชุมชนอย่างมากมาย อาทิ การใช้ทรัพยากรอย่างไร้จิตสำนึกการเป็นเจ้าของ ของคนนอก การนำวัฒนธรรมที่ไม่ดีงามเข้ามาในชุมชนเป็นเยี่ยงอย่างให้เยาวชน ชุมชนเป็นเพียงผู้ถูกเที่ยวเท่านั้น ทั้งๆที่เป็นเจ้าของทรัพยากร  การิไม่เคารพวัฒนธรรมของผู้มาเยือน อาจเป็นด้วยความไม่เข้าใจ หรือความไม่รู้ของนักท่องเที่ยว และปัญหาที่ชุมชนไม่มีโอกาสจะแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอันดีงาม กรณีปัญหาที่ยกมาเป็นปัญหาที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นจนถึงขั้นชุมชนล่มสลายกันทีเดียว ประเด็นที่ยกขึ้นมาพูดคุยกันก็คือจะทำอย่างไรให้การท่องเที่ยวมีความยั่งยืนต่อฐานทรัพยากร และมีส่วนสร้างความเข้มแข็งของชุมชน? นี่เป็นโจทย์ใหญ่ที่พี่เลี้ยงนักวิจัยในแม่ฮ่องสอน นำมาขบคิดหากระบวนการ ไปสู่การวิจัยเพื่อท้องถิ่นโดยทีมวิจัยชาวบ้าน
                    ด้วยมีศักยภาพและจุดเอื้อ ในการพัฒนาการท่องเที่ยว จึงเกิด งานวิจัยและพัฒนา ขึ้นในชุมชนที่มีความสนใจในการจัดการท่องเที่ยว ชุมชนที่มีนักท่องเที่ยวจากข้างนอกเข้าไปเที่ยวบ้างแล้ว ชุมชนทั้งหมดเหล่านี้ได้ใช้ “งานวิจัย” เป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชนของตนเอง
                    การวิจัยในประเด็น “การท่องเที่ยวโดยชุมชน” (Community Based Tourism)  โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานภาค จึงได้สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างทางเลือกให้กับระบบการท่องเที่ยวแนวใหม่ที่มีการรักษาความสมดุลระหว่าง ฐานทรัพยากร และ ความเป็นสมัยใหม่ โดยการพิจารณา “คน” ให้เป็นหัวใจสำคัญของการท่องเที่ยวและไม่เพียงแต่สนองความต้องการของนักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่รวมถึงการสร้างศักยภาพของคนในท้องถิ่นผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการ รวมทั้งการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน โดยมองว่าการท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้  และเน้นให้คนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดการการท่องเที่ยวเพื่อให้มีการดูแลรักษาทรัพยากรการท่องเที่ยว รวมทั้งมีการสร้างความสามารถด้านการจัดการและการตลาดให้แก่คนท้องถิ่นด้วย
                    ผมเองได้ร่วมทำ งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ในชุดประเด็น “การท่องเที่ยวโดยชุมชน” มาได้ในระยะหนึ่ง ได้เห็นพัฒนาการของการเรียนรู้ของชุมชน โดยใช้กระบวนการวิจัย ทำให้ชุมชนที่ผ่านกระบวนการ สามารถบริหารจัดการชุมชน ให้เป็นชุมนที่มีการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(Sustainable Tourism Development)  มีความสุขทั้งนักท่องเที่ยวผู้มาเยือน และ  ชุมชนเอง
              กระบวนการพัฒนาและวิจัย ยังดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง  และล่าสุดได้มีการเสนอโครงการวิจัย “การสังเคราะห์องค์ความรู้การท่องเที่ยวโดยชุมชนแม่ฮ่องสอน” ขึ้น คาดหวังว่า งานดังกล่าวจะได้ สังเคราะห์องค์ความรู้ รวบรวมและจัดระบบฐานข้อมูล จากฐานงานวิจัยและฐานทุนเดิมด้านการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในประเด็นเหล่านี้

  • ด้านงานศึกษา วิจัย (ข้อมูลองค์ความรู้)
  • ด้านงานพัฒนา
  • ด้านการจัดการการตลาด
  • ด้านกลไกการจัดการ

            และเพื่อสังเคราะห์และถอดบทเรียน กระบวนการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อศึกษาการพัฒนากลไกเครือข่าย CBT.(Community based Tourism)สนับสนุนการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกันของโครงการวิจัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละระดับ ตลอดจนหาแนวทางการพัฒนาและยกระดับ ไปสู่การขับเคลื่อนการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนในแม่ฮ่องสอน
งานวิจัยดังกล่าวกำลังอยู่ในช่วงของการพิจารณาโครงร่างงานวิจัย  และ
บทเรียนต่างๆ องค์ความรู้เรื่องของการท่องเที่ยวโดยชุมชน  จะได้นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับผู้สนใจใน Blog
อย่างสม่ำเสมอครับ
           คาดหวังไว้เช่นกันสำหรับ ผู้ที่เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประเด็นนี้ เพื่อนำข้อมูลที่ได้รับ ไปสังเคราะห์และผนวกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของงานศึกษา วิจัยครับ

หมายเลขบันทึก: 27104เขียนเมื่อ 6 พฤษภาคม 2006 12:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
อ่านแล้วน่าสนใจมาก เพราะเคยจัดอบรมการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพราะหวังไว้ว่าการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน น่าจะมาจากความต้องการของชุมชน แต่การอบรมคืออบรม ไม่ได้ทำต่อเนื่อง และติดตามผล จะได้นำแนะนำหน่วยงานที่รับผิดชอบการท่องเที่ยวศึกษาวิธีการของคุณจตุพร เพื่อเป็นแนวทางของจังหวัดต่อไป

คุณออย ชุมพร        

       ยินดีมากเลยครับ ที่เข้ามา ลปรร.กัน "กระบวนการท่องเที่ยวโดยชุมชน" ที่แม่ฮ่องสอนเราทำกันมานานพอสมควรแล้วครับ มีองค์กรที่เกี่ยวข้องอยู่ส่วนหนึ่ง

         วันหนึ่งพวกเรามานั่งคุยกัน คุยประเด็นที่คิดหลากหลาย แต่จุดเป้าหมาย ก็คือ การที่ให้ชุมชนสามารถจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนได้อย่างยั่งยืน และสามารถพึ่งตนเองได้

         เราเริ่มคิดถึง "หลักสูตร" กันด้วยครับ โดยทางวิทยาลัยชุมชนเองก็เป็นเจ้าภาพในการร่างหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง

         เรื่องของ "เครือข่าย" เป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยกันขับเคลื่อน งานพัฒนาได้อย่างมีพลัง

         เรื่องของ "งานวิชาการ" เช่น งานศึกษาวิจัย เป็นกิจกรรมที่ช่วยในการเป็นข้อมูลในการทำงานบนฐานของข้อมูล เน้น การใช้ปัญญา - ความรู้ เพื่อพัฒนาครับ ล่าสุดเรากำลังจะทำงานวิชาการ "เชิงสังเคราะห์ องค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยวแม่ฮ่องสอน" ขึ้นถอดบทเรียนและประสบการณ์ ตลอดจนรวบรวมเอาองค์ความรู้ที่ได้รับ นำไปใช้ประโยชน์ เป็นการจัดการองค์ความรู้ ต่อไป

         เรื่องของ "พันธมิตร" จากภายนอก ก็สำคัญ เราต้องการเพื่อจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในส่วนของ "แนวคิด - มุมมอง" ที่หลากหลาย อันจะนำไปสู่การพัฒนา "การท่องเที่ยว" ที่สอดคล้องกับบริบทไทย และบริบทเฉพาะถิ่น

        คุณออยครับ หากสนใจที่จะมา ศึกษาดูงาน หรือ มีโอกาสมาทางแม่ฮ่องสอน ก็ขอเชิญชวนมาร่วมแลกเปลี่ยนกับพวกเรา ยังพื้นที่ได้นะครับ รายละเอียดบางส่วนดูได้ที่เวป  การท่องเที่ยวโดยชุมชน หรืออ่านเพิ่มในบันทึก ท่องเที่ยวชุมชน...จีนยูนนานแม่ฮ่องสอน ได้ครับ

     ชื่อและนามแฝงอาจปนกันไปบ้าง เพราะเพิ่งใช้นามแฝงใหม่(ใช้ตามที่ อาจารย์หมอJJ เรียกขาน)  ต้องขอเป็นกำลังใจให้กับคุณจตุพร และทีมงานนักวิจัยนะครับ  งานวิจัยชุมชนน่าจะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะสามารถ "ติดอาวุธทางปัญญาให้กับชาวบ้าน"
     ปัญหาใหญ่ของคนชนบทก็คือ "โอกาสในการเข้าถึงและใช้ทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียมกัน" เพราะกระแสหลักเขาถือว่า "มือใครยาวสาวได้สาวเอา"  จะคอยติดตามอ่านบันทึกของคุณจตุพรนะครับ  
    
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท