ฝากตัวเป็น "ลูกฮัก" ...ความฝันที่ผมไม่สิ้นหวังที่จะ "ขายฝัน" ....


สังเคราะห์ร่วมกันทั้งภาคส่วนที่เป็นมหาวิทยาลัยและภาคส่วนของชุมชน เพื่อให้เกิดแผนพัฒนาแบบมีส่วนร่วม โดยมีนิสิตเป็น “ฟันเฟือง” และ “หัวใจ” แห่งการเชื่อมประสานฯ

กักเก็บตัวอยู่เงียบๆ มาหลายวัน   เพียงเพราะเหตุผลหลายอย่าง  ทั้งปัญหาการเจ็บไข้  เวลาแห่งการงานอันบีบเร่งที่ไม่รู้กลางคืนกลางวัน วันหยุด  รวมถึงการฝังตัวกับหนังสือเล่มแรกของตัวเองที่ฟูมฟักถักทออย่างค่อยเป็นค่อยไป

 

ครับ-นั่นคือ สภาวะเล็กๆ น้อยๆ แต่หน่วงหนักที่พลัดพรากให้ผมหลุดวิถีสัญจรไปจากการเขียนบันทึก  หากแต่วันนี้  

การได้กลับมานั่งสอนการบ้านลูกๆ  ดูคุณแม่ในวัยล่วงเจ็ดสิบปีนั่งตำหมากบดเคี้ยวด้วยฟันอันชราภาพของท่าน  ก็พลอยให้ชีวิตอุ่นอิ่มและมีพลังพอที่จะชวนให้ตัวเองหวนกลับมาที่นี่อีกครั้ง

 

หวนกลับไปยังวันเสาร์ที่เพิ่งผ่านมาเหมือนลมพัดผ่านเพียงชั่ววูบ ...ผมและทีมงานหลายคนออกสัญจรไปให้กำลังใจแก่นิสิตคณะต่างๆ  ที่พร้อมใจกันพาเหรดออกสู่หมู่บ้านต่างๆ ที่อยู่รายรอบมหาวิทยาลัยตามนโยบาย ลูกในบ้าน..ว่านในสวน :  หนึ่งคณะต่อหนึ่งหมู่บ้าน ....


โครงการตามแนวคิดดังกล่าวนั้น  เป็นกิจกรรมที่ผมนำเสนอและขายฝันต่อมหาวิทยาลัย  เสร็จแล้วก็ผ่านโยงแนวคิดนั้นไปยังนิสิตคณะต่างๆ  ภายใต้แนวคิดหลักคือต้องการให้นิสิตแต่ละคณะได้เข้าไปสมัครเป็น ลูกฮัก ของหมู่บ้านใดหมู่บ้านหนึ่ง  เพื่อใช้เป็น สะพานใจ  แห่งการผูกร้อยไปสู่การสร้างเวทีร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยกับชาวบ้าน  โดยวาดหวังไว้ว่าเวทีที่ว่านั้น  จะเป็นปฐมบทของการร่วมกำหนดทิศทางการพัฒนาชุมชนร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับชาวบ้าน  อันหมายถึง-การนำพาให้นิสิตเข้าไปเป็นสมาชิกหนึ่งของหมู่บ้านนั้นๆ -ไปมาหาสู่และใช้ชีวิตประหนึ่งคนในบ้าน..เป็นลูกหลานของชุมชน...

 

วิถีคิดดังกล่าวนี้  ผมเคยได้นั่งถกคิดและขายฝันอย่างชัดเจนกับทีมบริหารเทศบาลขามเรียงเมื่อเดือนตุลาคม 2551 

ครั้งนั้น  ผมย้ำว่าทั้งมหาวิทยาลัยกับชุมชนต้องจับมือร่วมกันขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาชุมชนให้เป็นรูปธรรมมากกว่าที่ผ่านมา  (โดยมีนิสิตเป็นหัวใจของการเชื่อมโยง)  ...

หลายอย่างเทศบาลอาจต้องลงมือทำด้วยตนเอง  แต่หลายอย่างอาจให้นิสิตจากมหาวิทยาลัยเป็นกลไกในการขับเคลื่อนในเรื่องนั้นๆ ให้โดยตรงเลยก็ได้   โดยเคลื่อนขับผ่านวิถี
ลูกฮัก หรือฝากตัวเป็นเสมือน ลูกในบ้าน..ว่านในสวน ของชาวบ้านนั่นเอง

 

 

ลงแขกดำนา...แรงกายและแรงใจจากคณะแพทยศาสตร์ ณ บ้านหนองขาม

ถัดจากนั้นไม่นานนัก  ผมก็ได้รับการสื่อสารกลับมาจากเทศบาลขามเรียงว่าแนวคิดดังกล่าวสามารถขับเคลื่อนได้เลย ภายใต้แนวคิดของเทศบาลที่ว่า สภาบ้านเคียงมอ  ซึ่งหมายถึงว่า  เทศบาลได้เปิดโอกาสให้นิสิตเข้าไปมีส่วนร่วมกับการพัฒนาชุมชนอย่างแท้จริง ด้วยการเป็นคณะกรรมการชุดหนึ่งในการ ลงแรงคิดและแรงกาย พัฒนาชุมชนขามเรียงด้วยตนเอง  โดยมีกองกิจการนิสิตและเทศบาลขามเรียงเป็น พี่เลี้ยง  อย่างใกล้ชิด

 

แนวคิดดังกล่าวได้รับการขับเคลื่อนอย่างจริงจังอีกครั้ง  ดังจะเห็นได้จากเทศบาลขามเรียงได้นำผู้นำองค์กรนิสิตออกไปสัมมนาเรื่องเหล่านี้ที่เขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์  พร้อมกับการเชิญผมไปเป็นวิทยากรร่วมคิดและร่วมสานฝันกันอีกรอบ ...

  

ผมจำได้แม่นยำว่าวันนั้นตรงกับวันที่
23 พฤษภาคม 2552   อันเป็นวันที่ผมมีภารกิจหนักหน่วงมาก  ภาคเช้ามีการประชุมร่วมกับท่านนายกสภามหาวิทยาลัย  จากนั้นก็รีบออกเดินทางไปบรรยายที่กาฬสินธุ์  ตกเย็นก็เดินทางลงกรุงเทพฯ  เพื่อไปต่อที่สงขลา ...

ครับ-นั่นคือที่มาที่ไปอย่างคร่าวๆ  ที่ผมพยายามผูกโยงไว้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในเรื่องดังกล่าว  ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าปีนี้หลายต่อหลายคนไม่เห็นแย้ง หรือกังขาต่อวิธีคิดเช่นนี้สักเท่าไหร่  พลอยให้กิจกรรมทั้งปวงสามารถเคลื่อนผ่านไปได้อย่างไม่ติดขัด (เท่าใดนัก)

 

กิจกรรมที่ว่านี้  ผมพยายามชี้ให้นิสิตแสวงหาข้อมูลของแต่ละหมู่บ้านให้ได้มากที่สุด  เสร็จแล้วก็นำข้อมูลทั้งหมดมานำเสนอร่วมกันในทุกคณะ  เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลว่า...หมู่บ้านใดมีอะไรให้ต่อยอด หรือมีประเด็นใดที่พอจะช่วยเหลือได้บ้าง...จากนั้นก็ค่อยมอบหมายให้คณะที่ สันทัด ในเรื่องเหล่านั้นลง พื้นที่  ฝากตัวเป็น ลูกฮัก  เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการพัฒนาชุมชนร่วมกับชาวบ้าน  พร้อมๆ กับการเรียนรู้ชีวิตแบบ ฝังตัว  มิใช่ ฉาบฉวย..กรีดกราย..ลอยมา และลอยไป

 

ดังนั้น  ในวันเสาร์และอาทิตย์ที่ผ่านมา  หลายๆ คณะ จึงสัญจรตบเท้าลงสู่หมู่บ้าน  โดยเป็นการรวมพลังทั้งรุ่นน้องและรุ่นพี่  อันเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม รับน้องใหม่  นอกสถานที่ไปในตัว  โดยหลักๆ คือการไปตีฆ้องร้องป่าวให้ชาวบ้านได้รับรู้ว่า อีกไม่นานนี้แต่ละหมู่บ้านจะมีนิสิตมา ฝากตัวฝากใจเป็น ลูกฮัก กันอย่างถ้วนหน้า งานบุญ งานทานก็เรียกใช้ได้อย่างไม่ขาดเขิน ...

   

แน่นอนครับ,  จังหวะนี้จึงเป็นเพียงระยะแรกเริ่มเท่านั้น เป็นเสมือนห้วงแห่งการ "แสวงหาข้อมูล" หรือต้นทุนของชุมชน เพื่อนำมาสังเคราะห์ร่วมกันทั้งภาคส่วนที่เป็นมหาวิทยาลัยและภาคส่วนของชุมชน  เพื่อให้เกิดแผนพัฒนาแบบมีส่วนร่วม  โดยมีนิสิตเป็น ฟันเฟือง และ หัวใจ แห่งการเชื่อมประสานฯ

 

คณะศึกษาศาสตร์ ตะลุยบ้านดอนนา

แต่สำหรับครั้งนี้  วิธีคิดดังกล่าวยังเป็นการแรกเริ่มที่เราต่างยังไม่คุ้นชินมาก่อน  และยังไม่สามารถเชื่อมประสานกันได้อย่างแจ่มชัดและลงตัวสักเท่าไหร่  ผมจึงฝากหวังและฝากรอยคิดให้กับนิสิตได้ตระหนักว่า  การจะดุ่มเดินไปเก็บข้อมูลต่างๆ นั้น  ยังเป็นกระบวนการที่อาจไม่บรรลุผลในยกแรกนี้ได้อย่างแน่นอน  จึงควรมีกิจกรรมด้านอาสาพัฒนาเป็น ตัวช่วย   

ด้วยเหตุดังกล่าวนี้  กิจกรรมอาสาพัฒนาที่ถูกหยิบยกมาเป็นเครื่องมือของการนำพานิสิตลงสู่หมู่บ้านต่างๆ  จึงหนีไม่พ้นภาพเดิมๆ ง่ายๆ ที่แตะต้องสัมผัสได้อย่างไม่ซับซ้อน  เช่น  เก็บขยะ  ถางหญ้า  ปัดกวาดถนน  ปลูกต้นไม้  ล้างถ้วยล้างชาม  ปัดกวาดเช็ดศาลาวัด  ทอดผ้าป่า ...ดำนา  รวมถึงการมอบหมายให้กลุ่มคนเล็กๆ  ทำหน้าที่ในการพบปะพูดคุยเพื่อเก็บข้อมูลต่างๆ ไปพร้อมๆ กัน 

และนั่นยังรวมถึงการกินข้าวกินปลาร่วมกับชาวบ้าน  โดยมีพื้นที่ในหมู่บ้านเป็นเสมือนบ้านหลังใหม่อีกหลังที่นิสิตกำลังจะก้าวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในเร็ววันนี้


คณะสาธารณสุขศาสตร์ ณ บ้านโขงกุดเวียน...

 

ผมไม่รู้หรอกว่า  นิสิตทั้งปวงนั้นจะเห็นชอบกับแนวคิดที่ผมเกริ่นกล่าวนั้นหรือไม่   หรือพวกเขาลงสู่หมู่บ้านแบบจำใจและจำยอมตามนโยบายหรือเปล่า-ก็ไม่รู้   แต่ในอีกมุมหนึ่ง หรือห้วงหนึ่งนั้น  ผมเองก็ไม่แน่ใจในวิถีของพวกเขาเสียทั้งหมด  ...แต่ก็อิ่มเอมใจไม่น้อยที่เห็นรอยยิ้มของคนส่วนใหญ่ฉีกยิ้ม-ฉายฉานอยู่เต็มใบหน้าอย่างสดใสและร่าเริง  พลอยให้แดดร้อนอันเริงแรงนั้น  กลายเป็นเรื่องขำๆ ไปเลยก็ว่าได้

 

และที่สำคัญ  ผมรู้และตระหนักดีว่า  เกี่ยวกับเรื่องการขับเคลื่อนให้แต่ละคณะก้าวลงสู่ชุมชนเพื่อร่วมคิดร่วมสร้าง หรือร่วมพัฒนาแบบมีส่วนร่วมกับชาวบ้านนั้นยังต้องใช้เวลาอีกมากมายนัก  แต่ผมก็รู้ดีว่า-ผมรอได้ และไม่สิ้นหวังที่จะ ขายฝัน  ไปเรื่อยๆ ..ค่อยเป็นค่อยไป...พยายามให้นิสิตเห็นร่วมกับแนวคิดเหล่านี้ทีละนิดๆ - ช้าหน่อยก็ไม่เป็นไร  ซึ่งยังดีกว่าให้เขาฝืนใจทำพอให้เสร็จๆ  พอเปลี่ยนผ่านปีการศึกษา ก็ทิ้งเรื่องราวเหล่านี้ไว้แบบไม่ ต่อยอด 

 

เพราะนั่นก็เท่ากับว่า  พวกเขาได้ทิ้งเรื่องเหล่านี้ไว้ที่ผมอีกครั้ง  ความฝันที่ผมพยายามขายฝันไปนั้น  ก็เป็นได้แค่เพียงความฝันลมๆ แล้งๆ เท่านั้น  - แต่หากเป็นเช่นนั้นจริง  ผมก็รู้ดีว่า ผมไม่ถอดใจเป็นแน่  เพราะเมื่อบวกลบคูณหารดูแล้ว  ผมก็ยังคิดไม่ออกว่า  วิถีคิดที่ว่านี้เป็นเรื่องเปล่าเปลือง.. เสียเวลา ..และไม่มีค่าพอต่อการถกคิดและขยายผล ...ตรงกันข้าม มันคือสิ่งที่ต้องทำและช่วยกันทำให้เกิดขึ้นจริงๆ  มิใช่พูดแล้วก็พูด..หรือพูดแล้ว ไม่ทำ !

  

แต่สำหรับในมิติของการ รับน้องใหม่  ที่ผมฝากแทรกไว้ในกิจกรรมครั้งนี้นั้น  ผมถือว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่  ภาพของน้องใหม่และนิสิตรุ่นพี่ที่ดุ่มเดินลงสู่หมู่บ้านแบบจริงจังและจริงใจนั้น  คือความงามของชีวิตที่หาไม่ได้ง่ายนักในเทศกาลแห่งการรับน้องที่ยังติดยึดอยู่กับ กรงขังทางวัฒนธรรมเดิมๆ  ที่ไม่เคยเปิดประตูหน้าต่างมาดูว่า วันนี้ แตกต่างไปจากอดีตแค่ไหน

 

ลำพังผมและทีมงานเพียงไม่กี่ชีวิต  คงไม่มีพลังมากพอที่จะโค่นทิ้งวัฒนธรรมการรับน้องแบบเดิมๆ  ที่ยังเน้นการว๊ากและการเข้มขรึมทางจิตวิทยาแบบดิบเถื่อนได้เสียทั้งหมด  แต่การไม่ละวางที่จะผลักมุมคิดใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น หรือบูรณาการเข้าไปสู่กิจกรรมเหล่านั้นอย่างมีจังหวะ  คือวิธีการที่เราเลือก ซึ่งเราก็เชื่อว่าเราเลือกไม่ผิด...

อย่างน้อย- ความฝันที่ขายฝันไปนั้น  ก็ได้เริ่มต้นขึ้นบ้างแล้ว....

ครับ ทุกอย่างล้วนต้องมีการเริ่มต้นเสมอ, ผมเชื่อและศรัทธาเช่นนั้น  

 
คณะพยาบาลศาสตร์ ท่ามวิถีบ้านและวัดบ้านดอนหน่อง

 

13  มิถุนายน 52
มหาสารคาม, ..รับน้อมใหม่ มมส

หมายเลขบันทึก: 268382เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2009 21:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (31)

แวะมาชื่นชมกิจกรรมดี ๆ ค่ะ

  • เป็นกิจกรรมที่น่าสานต่อ
  • เพราะมีประโยชน์ต่อการสร้างตัวตน และความเข้าใจสังคมของคนรุ่นใหม่
  • เป็นการเพาะต้นกล้าเล็กๆ เพื่อให้เติบใหญ่เป็นข้าวรวงงาม
  • ที่ไม่ลืมท้องถิ่น บ้านเกิด และคนชนบท
  • ที่เป็น "รากเหง้า" ของสังคมไทยค่ะ

เอาใจช่วยค่ะ...คิดว่าเด็กๆ คงเข้าใจเจตนารมย์.

สวัสดีครับ พี่ไก่ ไก่...กัญญา

ก่อนอื่นต้องขออภัยด้วยนะครับ ไม่ค่อยได้สื่อสารและไปเยี่ยมที่บันทึกเลยก็ว่าได้...

อันที่จริงต้องเรียนตามตรงครับ ว่าการรับน้องของที่นี่ หลายอย่างยังคงเต็มไปด้วยวิถีคิดเดิมๆ ... ซึ่งเราก็พยายามปรับแต่งทีละนิดทีละน้อย..

ปีนี้ เริ่มจากเรื่องลูกพระธาตุ-มาสู่การนำนิสิตใหม่ลงสู่หมู่บ้านนั้น ก็เป็นเรื่องใหม่ที่เราแทรกเข้าไป เพื่อลดทอนแนวคิดเดิมๆ ..

และทั้งสองเรื่อง ก็ปรากฏในสื่อทีวีและหนังสือพิมพ์ไปแล้ว...

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ  pis.ratana

นี่เป็นระยะแรกของการจัดกิจกรรมครับ...เราเรียกกันเองว่าเป็นระยะแสวงหา (ข้อมูล)  อันที่จริง ผมมีข้อมูลบ้างแล้วว่าชุมชนเป็นอย่างไร ต้องการอะไรบ้าง  แต่ก็อยากให้นิสิตลงพื้นที่เอง, หาข้อมูลกันเอง, จะได้เรียนรู้การทำงานร่วมกัน ทั้งในหมู่นิสิต และระหว่างนิสิตกับชาวบ้าน

จากนั้น จะให้เขานำเสนอข้อมูลให้เพื่อนคณะต่างๆ ได้ร่วมรับรู้..แล้วค่อยวิเคราะห์ว่า คณะไหน เหมาะกับหมู่บ้านอะไร...

จากนั้น ก็นำสู่กระบวนการของการทำแผนร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยกับชาวบ้าน...และนำไปสู่การลงปฏิบัติ

สุดท้ายมาสรุปผลร่วมกัน...คิดว่าจะมีการมอบรางวัลให้กับกิจกรรมดีๆ ด้วยนะครับ

แต่นี่ ก็เป็นระยะเริ่มต้น-โยนหินถามทางเท่านั้นเอง..

ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ อาจารย์

พอลล่าไม่ค่อยเห็นอาจารย์ วันนี้ทราบแล้วค่ะ ว่างานเข้า

รักษาสุขภาพนะคะ

กลับมาทีไร ..อ๊ะ... สุดยอดมากๆ ค่ะ อิอิ เล่าได้ละเอียด ละออ ดีจังค่ะ

สวัสดีค่ะ

เป็นการรับน้องใหม่ที่ดูเหมือนจะซึมซับเอามาทั้งความเป็นพี่-น้องที่ปรองดอง  ร่วมด้วยช่วยกันในการเข้าไปมีส่วนร่วมในวิถีแห่งชาวบ้าน  วิถีแห่งชุมชนอันเป็นที่ตั้งรายรอบมหาวิทยาลัย

ดูเหมือนทางเสียประโยชน์จะไม่มีให้สัมผัสได้เลยนะคะสำหรับกิจกรรมนี้....ยอดเยี่ยมค่ะอาจารย์....

หากแต่ในทางตรงกันข้ามจะยังมาซึ่งประโยชน์ที่จะได้รับทั้งทางมหาวิทยาลัย  ชุมชนที่เด็กๆ เข้าไปคลุกคลี  หรือที่สุดแล้วตัวนิสิตเองจักได้รู้จักกล่อมเกลาจิตใจให้ตนเองมีส่วนในการลดช่องว่างทางสังคมได้ด้วย  นอกเหนือไปจากปลูกฝังรู้จักตัวตนของสังคมไทย  และการเข้าสังคมอันเป็นสังคมไทยแท้ๆ นั่น  รวมไปถึงการรู้จักประสานสัมพันธ์กับบุคลลอื่นๆ ที่มิใช่สังคมของตนเองเพียงเท่านั้นนะคะอาจารย์...สุดยอดค่ะอาจารย์

..........ว่าแต่หนังสือเล่มแรกจะออกวางแผงเมื่อไหร่่ค่ะเนี่ย  สำนักิมพ์ไหนคะอาจารย์  จะได้เฝ้ารอ........

หายป่วยไวๆ นะคะ  ....  ดูแลรักษาสุขภาพด้วยค่ะ  ประเทศไทยต้องการคนอย่างอาจารย์อีกนานค่ะ 5555

ฝากกอดหลานๆ ด้วยค่ะ

สวัสดีครับ...paula ♥ที่ปรึกษาตัวน้อย✿

ไม่ค่อยได้เข้าบล็อกนัก...แต่แว้บๆ ไปเชียร์สุดคะนึงบ้างเหมือนกัน แต่ถึงกระนั้น ก็ยังไม่เข้มแข็งพอที่จะโหวตอย่างเป็นทางการครับ (ยิ้มๆ)

หลายสปัดาห์ที่ผ่านมา นอนซุกนอนขดอยู่สำนักงาน (ฮา) ..จากนั้นไปนอนอยู่นอกสถานที่ พานิสิตจัดกิจกรรมรับน้องใหม่ที่ อ.นาดูน ..ไปไหว้พระธาตุนาดูน  ปฏิญาณตนเป็นลูกพระธาตุ

เป็นปีแรกที่จัดกิจกรรมนี้...บริหารจัดการยากมาก เพราะนิสิตในแต่ละรอบจำนวนเยอะมากๆ..สภาพดินฟ้าอากาศไม่เป็นใจ  ...อะไรต่อมิอะไรจึงต้องแบกรับและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างหนักหน่วง

โชคดีครับ-ผ่านพ้นมาได้...
บุญแท้ๆ ...

....

โชคดีกับชีวิต นะครับ

สวัสดีครับ  Lioness_ann

  • ความเป็นพี่-น้องที่ปรองดอง 
  • นิสิตเองจักได้รู้จักกล่อมเกลาจิตใจให้ตนเองมีส่วนในการลดช่องว่างทางสังคม
  • รู้จักประสานสัมพันธ์กับบุคลลอื่นๆ ที่มิใช่สังคมของตนเอง
  • ...
    เห็นด้วยกับมุมมองข้างต้นที่นำมาขยายความและเติมเต็มในบันทึกนี้นะครับ
  • ...........
  • กรณีหนังสือนั้น  พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ กากะเยีย สำนักพิมพ์ ..อีกไม่เกินสองสัปดาห์คงได้เห็นเป็นแน่ครับ
  • เล่มแรก ลงแรงกันเองครับ  เพราะจะใช้เป็นเครื่องมือในการสอนนิสิต  และต้องการที่จะเผยแพร่ไปยังส่วนที่เกี่ยวข้องให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
  • ส่วนเล่มสองนั้น...มีแรงทุนภายนอกมายื่นข้อเสนอให้แล้วครับ  แต่ยังไม่ปลงใจเสียเท่าไหร่  เพราะคิดว่ายังต้องแก้ไขอะไรอีกเยอะมาก เล่มแรกนี้เอาใจรักเป็นที่ตั้งครับ...เรื่องที่เขียนก็ไม่ได้โดดเด่นอะไรนัก ...ถอดไปจากบล็อกทั้งนั้น...
  • .....
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ คุณแผ่นดิน

มาทักทาย มาเยี่ยมชม

และดูภาพกิจกรรม

โชคดี มีสุขค่ะ

สวัสดีครับ  ครูจิ๋ว

เพิ่งหายไข้ครับ  เลยนั่งในบล็อกนานหน่อย...
สองสามวันที่ผ่านมามีเรื่องดีๆ เกิดขึ้นกับชีวิตมากมาย  ยังนึกอยู่ว่า จะเขียนบันทึกถึงเรื่องใดดี...

โชคดีกับชีวิต นะครับ
ผมเป็นกำลังใจให้

สวัสดีค่ะอาจารย์แผ่นดิน

  • กิจกรรมเช่นนี้มีคุณค่านัก สำหรับประสบการณ์ของนิสิต การเรียนรู้ด้วยชีวิตจริงเป็นสิ่งที่น่าจดจำและช่วยในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้
  • นิสิตบางคนอาจจะไม่เคยที่จะเข้าไปสัมผัสกับชาวบ้านที่เป็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างนั้น
  • สังคมชนบทสามารถถ่ายทอดด้วยความเป็นตัวของเขาเอง
  • การได้ฝึกจิตใจ อ่านชีวิตรอบตัว นับเป็นโอกาสดีที่สุดของคนเรานะคะ
  • ขอให้อาจารย์รักษาสุขภาพ เพื่อที่จะได้ทำงานอย่างมีความสุขในทุก ๆวันค่ะ
  • ฝากระลึกถึงครอบครัวของอาจารย์ด้วยค่ะ

สวัสดีค่ะ

  • มาชมกิจกรรมดี สร้างสรรค์ พัฒนา มีคุณค่าต่อความทรงจำ
  • อยากเห็น ดั่งที่ได้เห็นในทุกสถาบันของไทย
  • ระลึกถึงเสมอค่ะ
  • สวัสดีค่ะ คุณแผ่นดิน
  • อ่านเรื่องราวแล้วนึก..
  • ชวนให้นึกถึงครั้งยังเป็นนิสิต
  • น้องใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัย
  • ก็จะสมัครเป็นสมาชิกชมรม
  • ค่ายอาสาพัฒนาท้องถิ่น..
  • ดีค่ะ..แวะมาฟังเรื่องราวดีๆ
  • ขอบคุณค่ะ..

สวัสดีครับ คุณ เมียวดี

เรื่องบางเรื่อง ผมคิดว่าบอกเล่าไปก็ใช่ว่าจะทำให้ผู้เรียนเข้าใจและสัมผัสได้  ดังนั้น กระบวนการของการนำพาเขาไปสัมผัสด้วยตนเองคือทางเลือกอันดับต้นๆ ที่ผมไม่ลังเลที่จะเลือก 

การเลือกหมู่บ้าน-ชาวบ้าน  เป็นพิ้นที่การเรียนรู้ของนิสิต  ไม่มีเหตุผลใดมากไปกว่า การให้เขาได้สัมผัสถึงจิตใจอันง่ายงามของผู้คน  รวมถึงพลังใจที่มีต่อการหยัดสู้ชะตากรรมชีวิตเป็นสำคัญ

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ อ.phayorm แซ่เฮ

กิจกรรมที่ว่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของการรับน้องของ มมส..นะครับ  วิถีการเชียร์ หรือรับน้องของที่นี่ยังคงอนุรักษ์ขนบนิยมเดิม อยู่มาก  แต่ระยะหลังก็เห็นได้ชัดว่า เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ...

จำนวนนิสิตเยอะๆ ร่วมหมื่นคน  บริหารจัดการได้ยากพอสมควร  แต่ทุกอย่างก็ดีขึ้นตามลำดับ  เช่นเดียวกับปีนี้  เราก็สามารถเคลื่อนแนวคิดนี้ออกมาได้  ถึงแม้จะเป็นระยะต้นของการโยนหินถามทางอยู่บ้าง  แต่ก็เชื่อว่า จะเป็นการโยนหินถามทางที่ไม่สูญเปล่าอย่างแน่นอน

ขอบคุณครับ

  • สวัสดีครับ  ครูแป๋ม 

    ผมเชื่อว่า  ใครก็ตามที่เรียนมหาวิทยาลัยแล้วไม่เคยออกค่ายอาสาพัฒนากับเพื่อนๆ  ต้องมีบ้างล่ะที่ต้องรู้สึกราวกับว่า  มีบางสิ่งบางอย่างขาดหายจากชีวิตความเป็นมหาวิทยาลัย
  • ผมเชื่อว่า ...กิจกรรม เป็นเครื่องมืออันดีของการเพาะบ่มการเรียนรู้ของนิสิต เฉกเช่นกับที่ผมเปรยอยู่เสมอว่า "กิจกรรมนิสิต คือ รสชาติชีวิตปัญญาชน"....
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะแวะมาทักทาย

มาให้กำลังใจ นะคะ...

ได้อะไรดีๆทุกครั้งที่มาอ่าน...

สวัสดีครับ พี่แดง

เช้านี้ยังไม่ทานกาแฟเลยครับ..
หอมกรุ่นกลิ่นกาแฟจริงๆ...
ขอบคุณที่นำมาฝากครับ

แต่ไม่แน่ใจว่ากาแฟ หรือโอวัลติน เท่านั้นแหละ

เป็นกำลังใจให้วิถีคิดของคนดีๆครับอาจารย์...ชอบการสอนให้เด็กรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ของอาจารย์มากครับ

เป็นโครงการที่ดีครับ นอกจากน้องๆนักศึกษาจะได้รู้จัก"บ้าน"ของตนเองแล้ว ชุมชนยังมีความรู้สึกถึงการเป็นเจ้าของสถาบันไปด้วย

หนังสือเล่มแรกกำหนกคลอดเมื่อไรเอ่ย

ทุกชีวิตอยู่ได้ด้วยความฝัน เป็นความหวัง เพื่อสานให้เป็นจริง

แล้วก็พบว่า หลายๆ ความฝันของคุณแผ่นดิน เป็นรูปเป็นร่างแล้ว

ชื่นชมและยินดี กับอีกฝันหนึ่งนะคะ ...  

คงหายป่วยแล้วนะคะ   คนอย่างอ. คนของแผ่นดิน ถิ่นอิสาน ป่วยนานๆ บ่ได้เด้อค่า

เป็นกำลังใจให้ค่ะ ...  J

 

วันที่ดำนาอยากไปถ่ายรูปมากๆ...

เห็นตัวอย่างกิจกรรมแล้วประทับใจมาก...จะนำไปเป็นแบบอย่างครับ..

แม้สถาบันการศึกษาจะทำตัวแปลกแยกออกจากชุมชุนสักเพียงใด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรามีรั้วติดกัน..ในรั้วสถานศึกษา (ทุกระดับ) มีคน มีความรู้ มีทรัพยากร ถ้าได้กลั่นออกมาเพื่อประโยชน์กับชุมชนบ้างก็จะเป็นอานิสงส์มหาศาล...

ชื่นชมจริง ๆ ครับ

  • แวะมาร่วมยินดีกับ BOSS ครับ

สวัสดีครับ.. เสียงเล็กๆ

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมนะครับ
ตอนนี้กำลังวางแผนการมอบหมายให้นิสิตแต่ละคณะ ไปถอดเทียนพรรษาและถวายปัจจัยตามวัดต่างๆ  รวมถึงการนำพานิสิตไปฟังธรรมที่วัด

นั่นคือส่วนหนึ่งที่อยากให้กเดเป็นวัฒนธรรมภายในระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ พี่paleeyon

ครับ, นี่เป็นอีกกระบวนการหนึ่งของการก้าวเข้าไปหาชุมชน เพื่อบอกย้ำให้ชุมชนได้รับรู้ว่า ชุมชนก็เป็นเจ้าของร่วมในมหาวิทยาลัยแห่งนี้  และเชื่อว่านิสิตนั่นแหละคือสะพานใจที่ดีที่สุดของการสร้างกระบวนการอันง่ายงาม  โดยไม่จำเป็นต้องไปในรูปของวิชาการจ๋า...

กรณีหนังสือนั้น, ..ตอนนี้คลอดและทยอยจำหน่ายไปแล้วครับ  แต่ยังไม่นำมาเผยแพร่อย่างเป็นทางการในบล็อก  ก็คงสักวันสองวันนี่แหละครับ  คงได้เห็นหน้าตาของหนังสือ "เรียนนอกฤดู" ...

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ...poo

ผมยังยืนยันว่าผมเป็นคนประเภทคิดไปเรื่อย..ขายวันไปเรื่อย  ต้องอาศัยคนอื่นทำความฝันให้เป็นจริง  แต่โชคดีหน่อยก็ตรงที่ว่า หลายเรื่องที่ผ่านมานั้น  ความฝันของเราก็เป็นเรื่องเดียวกับความฝันของใครหลายคนด้วยเหมือนกัน

ขอบคุณครับ

ครับ  นุ้ยcsmsu

วันนั้นสนุกกันมาก  ไม่ค่อยมีกล้องภาพนิ่ง  ยะเองก็วุ่นเรื่องภาพเคลื่อนไหว  พี่ก็เลยต้องลั่นชัตเตอร์เอง  ถ้านุ้ยไปด้วย ก็คงได้บรรยากาศที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น

เอาไว้โอกาสหน้านะครับ ยังมีพื้นที่และเรื่องราวในทำนองนี้อีกเยอะให้สัมผัส

สวัสดีครับ..ย่ามแดง

ตุลาคม 2552...น่าจะเห็นภาพที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมากที่สุดเกี่ยวกับแนวคิดที่ผมกล่าวถึง  ช่วงนี้จึงเป็นห้วงเวลาที่ผมกำลังคิดและวางแผนการดำเนินงานให้รอบคอบ...รวมถึงการคิดถึงแนวทางของการระดมทุนลงสู่ความคิดและความฝันทั้งหมด..

อยากให้ติดตามกันต่อไปนะครับ...

สวัสดีครับ..Panda

อาจารย์สบายดีนะครับ..
ว่าแต่ ตอนนี้ ผมก็ยังไม่ได้ส่งหนังสือไปให้อาจารย์เลย...
ขอที่อยู่ด้วยนะครับ

พ่อ พ่อ พ่อ พ่อคืออะรัย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท