กิจกรรม 5 ส. จากการดูงานกับ ปตท.


สะสาง สะดวก สะอาด สุขลักษณะ สร้างนิสัย

เมื่อวันศุกร์ ที่ 5 มิ.ย. 52 ที่ผ่านมา โรงเรียนวัดตากวน ได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานที่โรงเรียนวัดบ้านนา (ฟินวิทยาคม) อ.ศรีราชา ชลบุรี ร่วมกับโรงเรียนบางละมุง ซึ่งจัดให้มีขึ้นโดยบริษัท ปตท. จำกัด เป็นธุระอำนวยความสะดวกในการเดินทาง เมื่อถึงโรงเรียนได้รู้สึกถึงบรรยากาสที่เป็นบรรยากาศของความสุข ความสะอาด ความสงบจริงๆ โรงเรียนติดกับวัด ซึ่งสะอาดมาก ผู้อำนวยการ นางสาวอัมพร บำรุงผล ได้กรุณาให้การต้อนรับเป็นอย่างดี และนำผู้บริหารคณะครู บุคลากรของโรงเรียนวัดตากวนเยี่ยมชมโรงเรียน รวมถึงการให้ข้อคิดในการสร้างโรงเรียนให้เป็นโรงเรียน 5 ส. ที่มีคุณภาพ และโรงเรียนนี้ก็เป็นโรงเรียนที่ส่งเสริมกิจกรรมวิถีพุทธอีกด้วย ซึ่ง กิจกรรม 5 ส.มีดังต่อไปนี้

แรก ให้สะสาง(Seiri)ของที่ใช้ได้กับใช้ไม่ได้ ความหมายของการ สะสางคือ แยกให้ชัด สิ่งที่มันปะปนกันนั้นแยกออกไป ไปอยู่เป็นหมวดหมู่ สิ่งของเครื่องไม้เครื่องมือที่ไม่จำเป็นจะต้องไม่มีปรากฏอยู่ อันจะทำให้การทำงานหรือหยิบฉวยสิ่งที่จำเป็นมาใช้ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เมื่อพิจารณาดูแล้วก็จะเหมือนกับการกำจัดปฏิกูลกองใหญ่ทิ้งไป แต่ในความเป็นจริงปฏิกูลดังกล่าวไม่ได้ถูกทิ้งไปจนหมดสิ้น แต่จะถูกแบ่งไว้ตามแต่ละประเภท บางอย่างยังเก็บไว้ใช้ได้ก็จะถูกนำไปรวบรวมไว้เป็นระบบ บางอย่างนำไปรีไซเคิลได้ บางอย่างนำไปจำหน่ายจ่ายแจกได้

        การสะสางนั้น หากได้กระทำตามขั้นตอนและวัตถุประสงค์ของตัวมันเองแล้ว จะเห็นว่าเกิดประโยชน์ในด้านของความสะดวกและรวดเร็ว รวมถึงเกิดประโยชน์แฝงที่มาจากการสะสาง นั่นคือ เราจะมีพื้นที่ว่าง (Space) ที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในการเก็บของอื่นๆ หรือใช้ประโยชน์อื่นๆได้ด้วย ส่วนที่ไม่ต้องการจึงทิ้งไป หรือนำไปขายได้เงินกลับคืนมา กระทั่งจะเอาไปรีไซเคิลก็เป็นอีกทางหนึ่งที่ก่อประโยชน์ได้

            การรณรงค์ให้ประชาชนแยกขยะประเภทของกรุงเทพมหานคร ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของการนำเรื่องการสะสางมาใช้ได้อย่างชัดเจน ซึ่งเกณฑ์ในการแยกขยะอาศัยหลักง่ายๆ โดยจะแยกขยะเป็น 3 ประเภท คือ

1.ขยะที่สามารถนำกลับไปใช้ได้

2.ขยะที่เป็นของสด จะเน่าเปื่อยเมื่อถึงเวลา

3.ขยะอันตราย เช่น สารเคมี หรือวัตถุมีพิษ

ปัญหาสำคัญที่สุดของขั้นตอนการสะสางนั้น ก็คือ การเริ่มที่จะสะสางโดยเฉพาะกับคนที่วางกองสิ่งของไว้รอบตัวเต็มไปหมด จะรู้สึกลำบากกว่าคนที่มีการจัดระบบอยู่ก่อนแล้ว คนกลุ่มนี้จะปฏิเสธการทำ 5 ส. ด้วยเหตุผลอันนี้ ดังนั้นหน่วยงานที่ทำ 5 ส. ต้องสร้างความเข้ากับบุคคลผู้มีคุณสมบัติส่วนตัวอยู่มากและไม่ค่อยมีระเบียบให้ได้ว่า การสะสางนั้น จะลำบากก่อนในตอนแรกแล้วจะสบายในตอนหลัง  ขณะที่มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นโรคเสียดาย คือของเก็บๆ ไว้นั้น ไม่อยากจะทิ้งกลัวว่า การทำการสะสางแล้วต้องทิ้งให้หมด ถ้าจะต้องนำมาใช้อีกแล้วจะเป็นยังไง จุดนี้ถูกต้องตรงที่การมองเห็นคุณค่าของสิ่งของทุกชิ้น แต่ต้องอย่าลืมว่าถึงเก็บเอาไว้ แต่เก็บไว้แบบรก ๆ หรือปนกันอยู่ ของที่มีประโยชน์ก็อาจจะหาไม่พบหรือปะปนจนเสียหาย แทนที่จะนำมาใช้ได้กลายเป็นต้องทิ้งไปเปล่า ๆ ในภายหลัง

จุดสำคัญของขั้นตอนการสะสาง คือ

1.ผู้บริหารจะต้องกำหนดนโยบายให้ชัดเจนว่า อะไรคือของที่ไม่ต้องการ เพราะสิ่งสำคัญของการสะสางคือการแยกของที่ต้องการและไม่ต้องการออกจากกัน

.ผู้บริหารต้องลงไปสัมผัสด้วยตาและมือของตนเอง เข้าไปตรวจสภาพความเป็นจริง เพื่อให้รับทราบว่า ที่ผู้บริหารคิดว่าไม่ต้องการนั้น พนักงานอาจเห็นเป็นสิ่งจำเป็น หรือที่ผู้บริหารอยากเก็บไว้แต่พนักงานอาจมองว่าเกินความจำเป็น และทำให้เสียพื้นที่ไป ตรงนี้ทั้ง 2 ฝ่ายต้องเปิดใจและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ซึ่งผลพลอยได้ที่จะตามมาที่สำคัญ คือจะสามารถกำหนดหรือวางแนวทางในการจัดหาเครื่องไม้เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ตรงตามความต้องการ รู้ว่าควรจะให้อะไรไปมากน้อยเพียงใด ไม่ใช่ให้ไปวางไว้เฉย ๆ หรือเอาไปทิ้งในที่สุด

สรุป ได้ง่าย ๆ ว่าประโยชน์ที่จะได้จาการสะสางคือ

สามารถทราบจำนวนของที่ยังใช้ได้ว่าเหลืออยู่อีกเท่าไร

ประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บ เพราะไม่ต้องสิ้นเปลืองพื้นที่เพื่อเก็บขยะหรือของที่ไม่ใช้แล้ว

ไม่ก่อให้เกิดข้อผิดพลาดในการใช้ของ

พนักงานที่ได้ปฏิบัติการ สะสางที่ 2 คือ สะดวก(Seiton) หยิบก็ง่าย หายก็รู้ ดูก็งามตาแล้ว ผลที่ได้รับนอกจากจะช่วยขจัดความสิ้นเปลืองของวัสดุ ของการใช้พื้นแล้วที่สำคัญคือจะสามารถช่วยองค์กรลดการจัดหาสถานที่จัดเก็บของลงได้ ทั้งพวกโต๊ะตู้เอกสาร ชั้นวางของแม้กระทั่งไปช่วยลดสต็อกสินค้า หรือสินค้าในระหว่างการผลิตได้ด้วย

        เป็นขั้นตอนที่ต่อเนื่องจากการทำสะสางสิ่งของ กล่าวคือ เป็นขั้นตอนที่จัดสิ่งของที่ทำการสะสางให้มีระเบียบ ทั้งนี้เพื่อให้ง่ายในการใช้สอย ในขั้นตอนนี้เราอาจจะแยกของที่ได้จาการสะสางเป็นหมวดหมู่ เป็นประเภทโดยอาจจะเก็บของที่ใช้บ่อยๆ ไว้ใกล้ตัว หรือเขียนป้ายติดไว้ เพื่อนำมาใช้สอยได้ง่าย ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของขั้นตอนนี้ คือสิ่งที่เก็บไว้จะดูเรียบร้อยดูสบายตา ถ้าหายหรือถูกเคลื่อนย้ายก็จะสังเกตได้ง่าย

       ถ้าการ สะสางคือเพื่อคัดเพื่อแยก ในขั้นของ สะดวกก็คือการจัดให้เป็นระบบระเบียบเพื่อนำมาใช้ได้ง่ายๆ เหมือนกับที่ชาวญี่ปุ่นเปรียบเทียบไว้ว่าเหมือนกับ เจ้าสาวที่มีหีบไม้เก็บของ อันแสนสะสะดวกสบายอย่างมากในการขนย้ายไปบ้านสามี และหยิบออกมาใช้ได้ทันทีที่ไปถึง

        เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนของแนวคิดการทำขั้นตอน สะดวกนั้น สามารถดูได้จากนิสัยการถอดรองเท้าของคนญี่ปุ่น ตามธรรมดาส่วนใหญ่แล้วคนญี่ปุ่นเวลาจะเข้าบ้าน ไม่ว่าจะเป็นของตัวเองหรืออาคารสถานที่อื่นๆ เขาจะถอดรองเท้าแล้วเรียงไว้เป็นคู่ของตนโดยหันหน้าออกสู่ทางด้านนอก เพื่อความเป็นระเบียบและสะดวกในการสวมใส่อีกครั้งตอนที่จะออกไปข้างนอก  ในทางกลับกัน คนไทยไม่ว่าจะอยู่ที่บ้านหรือไปสถานที่แห่งไหนก็ตาม การถอดรองเท้าจะไม่เป็นที่เป็นทาง บางครั้งไม่ได้เรียงเป็นคู่ด้วยซ้ำไป หรือดีหน่อยก็จะเรียงเป็นคู่แต่หันหน้าเข้าตัวอาคาร พอตอนออกจะใส่อีกครั้ง ที่ไม่เรียงไว้หาคู่ของมันไม่เจอ และที่เรียงไว้หันหน้าเข้าใน ก็จะต้องกลับตัวเพื่อใส่รองเท้า และกลับตัวอีกครั้งเพื่อเดินออกไป เป็นการวุ่นวายโดยใช่เหตุตรงนี้แสดงให้เห็นว่า แม้กระทั่งเรื่องเล็กน้อยหากไม่ทำให้เป็นระบบก็ทำให้เสียเวลาได้ และหากเป็นเรื่องใหญ่ ๆ ระดับองค์กรหรือระดับหน่วยงาน ผลที่ตามมาจะยิ่งมากมายเพียงใด ทั้งนี้วิธีปฏิบัติขั้นตอน สะดวกนี้ ก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไร ที่สำคัญคือนำออกมาใช้ได้ง่าย โดยวิธีปฏิบัติพื้นฐานจะประกอบไปด้วย อาจติดป้ายแสดงว่าเป็นของประเภทใด ทั้งนี้อาจรวมถึงคุณสมบัติน้ำหนัก และวันหมดอายุการใช้งาน (ถ้ามี)

       จุดสำคัญของขั้นตอน สะดวกคือการจัดระบบ ไล่ตั้งแต่การกำหนดที่วางให้แน่ชัด ของแบบใดควรจะอยู่ตรงไหน ซึ่งต้องกำหนดอย่างสมเหตุสมผล ของที่ใช้กับงานแบบหนึ่งอาจตกแตกเสียหายได้ง่าย อาจต้องกันไว้ในมุมที่หลีกเลี่ยงการกระทบกระแทกได้ ของอะไรที่ไว้ใกล้กันจะทำให้อีกอย่างเสียหาย ก็ต้องแยกกันห่างๆ

            อีกสิ่งหนึ่งไม่ควรจะมองข้ามในการทำขั้นตอน สะดวกคือการทำแผนผังรวม สำหรับกำหนดแนวทางในการจัดวาง ซึ่งจะแสดงสถานที่วางสิ่งของหรือเครื่องมือ เพื่อจะสามารถรวบรวมสิ่งของที่ต้องการมาไว้ในที่เดียวกันได้และแผนผังนี้ควรแสดงลำดับการรวบรวมสิ่งของด้วยวิธีง่ายๆ และใช้เวลาน้อยที่สุด และต้องตรวจสอบเพื่อให้เห็นจริงว่า ทุกคนปฏิบัติได้ตามเป้าหมายและแนวทางที่วางไว้ การทำขั้นตอนสะดวกก็จะส่งผลในแง่คุณภาพ ประสิทธิภาพและความแลความปลอดภัยได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

            พนักงานที่ได้รับปฏิบัติขั้นตอนสะดวกแล้วผลที่จะได้รับอย่างเห็นได้ชัดคือพวกเขาจะเสียเวลาในการค้นสิ่งของ เครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ น้อยลงของไม่หายและตรวจสบความคงอยู่ของสิ่งของได้ง่าย ที่สำคัญ เวลาที่เคยใช้ไปในการค้นหาจะได้กลับคืนมาเป็นเวลาที่นำไปใช้ในการทำงานได้มากขึ้น

ที่ 3 ต้อง สะอาด(Seiso) เพื่อความพร้อมในการทำงาน

        จากสองขั้นตอนแรก จะสืบเนื่องมายังขั้นตอนนี้ คือเมื่อทำการสะสางแล้วแบ่งแยกเพื่อความสะดวกแล้ว ตรงนี้จะง่ายในการนำมาทำความสะอาด ที่กล่าวมาอาจมีคนสงสัยว่า ทำไมเราไม่เริ่มจากการทำสะอาดก่อนถึงมาทำการสะสาง ถ้าทำเช่นนั้น คือทำความสะอาดก่อน เราจะต้องมานั่งทำความสะอาดขยะคือของที่จะไม่ใช้หรือจะต้องทิ้งไปพร้อมๆ กับของที่เราจะเก็บเอาไว้ด้วย อย่างนี้แทนที่จะใช้เวลาได้อย่างมีประโยชน์ กลับมาเสียเวลากับเรื่องไม่จำเป็นไปแทน

            หรือหากจะถามอีกว่าทำไมต้องทำความสะอาดด้วย ในเมื่อสะสางจนเกิดความสะดวกในการใช้สอยแล้ว จุดสำคัญของชั้นตอนการสะสางคือ ความสะอาดที่เกิดขึ้นตามมานั้น จะทำให้สถานที่ทำงานน่าอยู่ น่าทำงาน และมีผลอย่างมากในการทำให้ผู้ทำงานอยู่ในสถานที่นั้น สภาพแวดล้อมสะอาด จิตใจของคนที่ทำงานอยู่ก็ปลอดโปร่ง สดชื่น และกระตือรือร้นที่จะปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลัง

                       นอกจากนี้ อานิสงส์สำคัญของการทำความสะอาดที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ เป็นการตรวจสอบของเครื่องไม้เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆอย่างใกล้ชิด ทำให้รู้ถึงข้อบกพร่องที่มีอยู่ ซึ่งปรกติข้อบกพร่องเหล่านั้นมักจะถูกมองผ่านไป หรือไม่ถูกสังเกตพบ    ซึ่งหลักปฏิบัติง่าย ๆ ในข้างต้น ต้องครอบคลุมถึงความสะอาดอย่างแท้จริงในทุกหนทุกแห่ง ผลที่ตามมานอกจากผลในแง่จิตใจแล้ว ความปลอดภัยในการทำงานจะยิ่งมากขึ้นไปด้วย เพราะหลายครั้งที่เครื่องมือต่างๆ ชำรุดขัดข้อง หรือทำงานเพี้ยนไปจากเดิม เนื่องจากความสกปรกหรือการเข้าไปอุดตันของฝุ่นละออง ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานได้ ให้ระลึกไว้ว่าการรักษาความสะอาดจะเกิดผลดีกับ 3 ส่วน กับคน คือปลอดภัย ไม่ผิดพลาด กับเครื่องจักร คือเที่ยงตรง ยึดอายุการใช้งาน และป้องกันสภาพแวดล้อมเป็นพิษ กับผลิตภัณฑ์ คือช่วยขจัดปัญหาสนิม เพิ่มคุณค่าในการใช้งาน และลูกค้าเชื่อถือ  

 ที่ 4 คือถูกสุขลักษณะ(Seiketsu) เพื่อความแจ่มใส สุขกายสุขใจ           เราพูดถึง 3 ส แรก ซึ่งเป็นการกระทำต่อวัตถุสิ่งของไปแล้ว ตัวที่ 4 คือสุขลักษณะ เป็นผลพวงจาการทำ 3 ส ที่ผ่านมา คือเมื่อเรากำจัดขยะที่ไม่ใช้ออกจากของที่เราใช้แล้วย่อมเกิดความสะดวกในการใช้สอบ และเมื่อทำความสะอาดสิ่งของเหล่านั้นย่อมทำให้คุณภาพในชีวิติทั้งร่างกายและจิตใจของผู้ใช้สิ่งของดีขึ้น ไม่ต้องสัมผัสหรือจับต้องของสกปรก คือเป็นการสร้างสุขลักษณะที่ดี

            กล่าวง่ายๆ ได้ว่า สุขลักษณะที่ดีของพนักงานจะเกิดขึ้นเพราะ 3 ส แรก ซึ่งจะส่งผลย้อนกลับไปให้มีการหมั่นรักษา 3 ส ที่กล่าวมาย่างสม่ำเสมอ ตัวนี้จึงเป็นเรื้องของนิสัยเป็นหลัก เหมือนการอาบน้ำที่เป็นสุขลักษณะที่ดีต่อเรา เป็นการเอาของเสียออกจากร่างกายของเราวิธีหนึ่ง เราเห็นว่าการอาบน้ำนั้นสำคัญและจำเป็นหรือเปล่า การทำ 5 ส. ในส่วนของสร้างสุขลักษณะก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่เห็นความสำคัญหรือความจำเป็นในการกระทำแล้ว เราก็ไม่ต้องอาบน้ำทุกวันนั้นเอง

            เรื่องของสุขลักษณะนั้น เป็นเรื่องที่มุ่งเน้นพฤติกรรมของคนเป็นหลัก โดยที่ทุกคนจะต้องช่วยกันสร้างที่ทำงานให้มีสภาพและบรรยากาศที่มีลักษณะก่อให้เกิดความสุขทั้งกายและใจทุกคน ปราศจากสิ่งรบกวนต่างๆ อันจะมีผลกระทบต่อสมาธิในการทำงาน โดยมุ่งผลดีที่มีต่อประสาทสัมผัสทั้ง 3 คือ

1.ตา ดูแลแล้วสบายตา ซึ่งจะเกิดได้ต้องทำสะสาง สะดวก สะอาด ให้เรียบร้อยอย่างมีระบบและได้รับความร่วมมือจากทุกระดับก่อน

2.จมูก อากาศทีหายใจเข้าไปต้องไม่ทำลายหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และต้องปราศจากกลิ่นอันไม่พึงประสงค์

3.หู เสียงต่างๆ ในทีทำงาน ต้องเป็นเสียงที่ไม่รบกวนสมาธิในการทำงาน

            จุดสำคัญที่สุดของการรักษาสุขลักษณะในที่ทำงานนั้น คือความร่วมมือของทุกๆ ฝ่าย ไล่ตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงไปจนถึงระดับล่างที่ต้องช่วยกันดูแลช่วยกันปฏิบัติ ซึ่งหลักปฏิบัติง่ายๆ ที่ต้องช่วยกันทำก็คือทำสะสาง สะดวก และสะอาดอยู่เป็นนิจ และหาทางปรับปรุงปฏิบัติ 3 ส แรกอยู่เสมอ

            อย่าลืมว่า ตัวนี้เป็นเรื่องของนิสัยที่นำไปสู่พฤติกรรมที่ดี และเมื่อเป็นเรื่องของนิสัยแล้ว ถ้าเกิดขึ้นจะอยู่อย่างคงทน และถ่ายทอดให้กันได้ ดังนั้นหากพนักงานในองค์กรถูกปลูกฝังจนเกิดนิสัยรักสุขลักษณะแล้ว เราจะสามารถมั่นใจได้มากขึ้นว่า พวกเขาจะทำ 5 ส. ด้วยตัวเขาเอง และไม่ต้องมีคนมากระตุ้น นอกจากนี้ ยังอาจชักนำให้คนอื่นหันมาปรับเปลี่ยนนิสัยและพฤติกรรมตามไปด้วยก็ได้

ที่ 5 สร้างนิสัย(Shitsuke) ให้รักที่จะทำ 5 ส.

                ตัวนี้มุ่งไปที่การสร้างระเบียบวินัย สร้างนิสัยที่ดีให้เกิดขึ้นเป็นขั้นตอนสุดท้ายในการทำ 5 ส. เป้าหมายสำคัญของขั้นตอนนี้คือให้ผู้ปฏิบัติรักที่จะกิจกรรม 5 ส. อย่างเต็มที่ เพราะการทำกิจกรรม 5 ส. ไม่ใช่การทำครั้งเดียวแล้วเลิกหรือคิดว่าเพียงพอแล้ว เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น ทุกอย่างก็จะย้อนกลับไปอยู่ในสภาพเดิมได้ หรือเหมือนไม่ได้ทำอะไรเลย ดังนั้นการสร้างนิสัยให้รักที่จะทำ 5 ส. จึงเป็นสิ่งจำเป็น หรืออาจกล่าวได้ว่าถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดในการทำ 5 ส. ก็ว่าได้

        เรื่องการสร้างนิสัยเป็นเรื่องศิลปะเฉพาะตัวของแต่ละบุคคล บางคนก็สร้างง่าย บางคนก็สร้างง่าย บางคนก็สร้างยาก แต่เมื่อนิสัยความเป็นระเบียบที่เกิดจากการปฏิบัติ 5 ส. ได้กลายเป็นความเคยชินของบุคคลไปแล้ว ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่สำนักงานหรือที่บ้านก็จะมีระเบียบโดยไม่รู้ตัว เมื่อกลับถึงบ้าน ก็ยังนำ 5 ส. ติดตัวไปใช้ เช่น แยกขยะที่บ้าน จัดของใช้ให้อยู่ในหมวดหมู่ของมันเอง หรือเวลาขับรถ ต้องคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งที่รถขับเคลื่อนออกไปเป็นต้น

        ในการสร้างพนักงานให้เป็นคนมีระเบียบวินัยนั้น จะต้องฝึกอบรมให้พนักงานมีความรู้ ความเข้าใจต่อกฎระเบียบมาตรฐานการทำงานต่างๆ เพื่อให้สามารถปฏิบัติจนเป็นนิสัย

        จุดสำคัญของขั้นตอนการสร้างนิสัย คือ

การสร้างนิสัยเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งจะช่วยพัฒนาให้พนักงานปฏิบัติขั้นตอน สะสาง สะดวก สะอาด สุขลักษณะ จนกลายเป็นเรื่องติดตัวและปฏิบัติเป็นประจำโดยไม่มีใครมาบังคับ

หน่วยงานต้องตอกย้ำเรื่อนี้อยู่เสมอและให้มีความต่อเนื่องในกิจกรรม

ควรมีการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของระดับต่างๆ เพื่อหาแนวทางและพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้น อันจะนำไปสู่การกำหนดเทคนิควิธีเหมาะสมกับแต่ละหน่วยงานมากที่สุด

         อย่างไรก็ตาม เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ทำงานที่ต้องช่วยกันสร้างจิตสำนึกที่ถูกต้องในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมและบรรยากาศในการทำงานให้สดใส มีชีวิตชีวา และให้พนักงานได้มีส่วนในการพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น

         หากทุกคนรักที่จะทำ 5 ส. ผลที่พนักงานและหน่วยงานจะได้รับก็คือ มาตรฐานที่ดีในการทำงาน สภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น ตลอดจนสร้างความน่าเชื่อถือและไว้วางใจของลูกค้าได้ และที่สำคัญ การรักที่จะทำ 5 ส. ย่อมหมายถึงพนักงานจะรักที่จะทำกิจกรรมอื่นที่เอื้ออำนวยต่อการเพิ่มผลผลิตต่อไป

5 ส. คือมาตรฐานการทำงานและความภาคภูมิใจ

            การจัดการให้เกิดความเป็นระเบียบร้อยในสถานที่ทำงานเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนในหน่วยงานจำเป็นต้องกระทำ เพื่อสร้างสรรค์ให้ทุกคนที่ทำงานอยู่มีความภาคภูมิใจในหน่วยงานของตน กิจกรรม 5 ส. มีหลักการง่ายๆ ว่า ให้มีที่สำหรับของทุกสิ่ง และของทุกสิ่งก็ต้องอยู่ในที่ของมัน” (A place for everything , and everything in its place)

            กิจกรรม 5 ส. จะช่วยพัฒนาสำนึกในเรื่องการปฏิบัติงานให้ดีขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น พนักงานผู้ซึ่งมีความภาคภูมิใจในสถานที่ทำงานของตนจะสามารถผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพสูงขึ้นด้วย

            อาจกล่าวได้ว่า การจัดให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยในสถานที่ทำงาน โดยใช้หลัก 5 ส. เป็นก้าวแรกของการบริการที่จะนำไปสู่การปรับปรุงการปฏิบัติงานในหน่วยงาน อันช่วยเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น เพิ่มศักยภาพและความมีคุณภาพของทรัพยากรบุคคลและเพิ่มขีดความสมารถในการแข่งขันในโลกธุรกิจได้ในที่สุด

 

 

หมายเลขบันทึก: 268375เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2009 20:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 17:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

มาเยี่ยมชื่นชมกับความก้าวหน้าครับ

บันทึกได้เยอะจัง ขยันจริงๆท่านมหากรุง

เข้ามาทักทาย ว่างๆทำให้บ้างนะ 555

ต้องใช้ความพยายามในการอ่านเป็นอย่างมาก

แต่ก็อ่านจนจบ

ได้ไรดีๆๆ มากหลาย..........

เข้ามาเยี่ยมชม ปกติกรุงก้าวหน้าใช่เป่า ฮิ ฮิ ฮิ

ขอบคุณ คนตานี ท่านรองชูชีพ พี่ปูที่แวะเข้ามาทักทายผมว่าเนื้อหามันค่อนข้างเยอะอยู่ เดี๋ยวจะทยอยสรุปให้สั้นลงครับ

P P P

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท