BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ย้ายที่อยู่ในวัด


ย้ายที่อยู่ในวัด

คืนนี้... ผู้เขียนได้ย้ายจากกุฏิเดิมมาจำวัดในศาลาการเปรียญเพื่อความเหมาะสมบางประการ ซึ่งอะไรๆ ก็ยังไม่เรียบร้อยเข้าที่เข้าทาง คงจะอยู่ไปจัดไปและค่อยๆ ขนของเท่าที่จำเป็นมาเรื่อยๆ สำหรับวันนี้ก็ได้แต่เพียงย้ายสายโทรศัพท์จากกุฏิหลังเดิมมายังศาลาฯ แล้วก็ยกเครื่องคอมมาใช้เท่านั้น...

วิธีการหนึ่งของการแก้ปัญหาในวัดก็คือการย้ายที่อยู่ ซึ่งเหตุผลในการย้ายก็มีหลากหลาย เช่น วัดมีพระภิกษุน้อยแต่พื้นที่ในวัดกว้าง เมื่อพระภิกษุบางรูปลาสิกขาหรือย้ายไป ทำให้บริเวณส่วนนั้นขาดคนดูแล นานๆ ไปก็อาจรกเรื้อด้วยสิ่งต่างๆ เป็นที่ทิ้งขยะของชาวบ้านชาววัด หรือเป็นที่ซ่องสุ่มของพวกใฝ่ใจในทางเลว... ท่านเจ้าอาวาสหรือพระเถระบางรูปจึงย้ายไปอยู่กุฏิบริเวณนั้นเพื่อจะได้ทำความสะอาด ป้องปรามใครบางคน ทำให้พื้นที่ส่วนนั้นไม่เปลี่ยวเกินไป...

หรือบางวัดนั้น ภายในพรรษามีพระบวชใหม่อยู่จำพรรรษาเยอะถึงห้าหกสิบหรือบางปีเกือบร้อยรูป แต่เมื่อออกพรรษาแล้วพระเณรน้อยเหลือไม่ถึงสิบรูป ดังนั้น หลังจากออกพรรษารับกฐินเสร็จ พระเถระหรือเจ้าอาวาสก็อาจย้ายไปอยู่ตามกุฏิว่างๆ เพื่อช่วยกันดูแลมิให้กุฏิชำรุดทรุดโทรมเร็วเกินไป...

 

กุฏิเดิมที่ผู้เขียนอยู่นั้น (คลิกที่นี้) เป็นกุฏิสองชั้นแบบโบราณ ตั้งอยู่ลึกเข้าไปภายในวัด ซึ่งผู้เขียนอยู่ชั้นบน (ชั้นล่างยังไม่ได้ซ่อม) มีประตูสามชั้นและมักปิดประตูตลอดเพราะผู้เขียนอยู่แต่ภายในห้อง... เคยคิดว่าจะเอาเครื่องคอมฯ มาตั้งด้านนอกแล้วเปิดประตู แต่ก็ไม่เหมาะสม เพราะโต๊ะคอมจะอยู่สูงกว่าแท่นโต๊ะหมู่ด้านหน้ากุฏิ... อีกทั้งขึ้นลงค่อนข้างลำบากสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งก็มีเป็นประจำเมื่อญาติผู้ใหญ่มา ผู้เขียนต้องลงมาคุยด้านล่าง...

ศาลาฯ อยู่ด้านนอกข้างประตูวัด มีต้นมะขามขนาดใหญ่อยู่ด้านหน้า และมีศาลาพักร้อนหลังเล็กใต้ต้นมะขาม ซึ่งมักมีใครต่อใครจับจองเป็นที่นั่งที่นอนกันทั้งวันทั้งคืน หรือบางครั้งบางเวลาก็เป็นที่มั่วสุม... อีกทั้งระยะหลังมานี้ ของภายในศาลาก็ค่อยๆ สูญหายไปเรื่อย เช่น เชิงเทียนรูปสุพรรณหงส์ทำด้วยทองเหลือง ๔ อัน และกระถางธูปทองเหลืองขนาดใหญ่พอสมควร ๒-๓ อัน ก็สูญหายไปหมดแล้ว... นอกจากนี้พระพุทธรูปทองเหลืองซึ่งญาติโยมบรรจุอัฐิของบรรพบุรุษไว้ และโกฏิทองเหลืองบรรจุอัฐิก็ค่อยๆ สูญหายไปเรื่อยๆ (สิ่งที่ทำด้วยทองเหลืองภายในวัด เดียวนี้สูญหายบ่อย)

ผู้เขียนจึงคิดว่า ถ้ามาอยู่ในศาลาฯ อาจป้องปรามพวกที่มาชุมนุมใต้ต้นมะขามได้บ้าง ของภายในศาลาฯ ก็น่าจะสูญหายน้อยลงหรือช้าลง (แต่จะมิให้สูญหายเลย คงเป็นไปไม่ได้)... อีกอย่างหนึ่งก็คือ บรรดาญาติโยมที่จะมาเยี่ยมเยือนหรือธุระบางอย่างก็อาจสะดวกยิ่งขึ้น... จึงลองคุยกับญาติโยมที่อยู่หน้าวัดซึ่งมักจะมานั่งเล่นภายในวัด ก็มีแต่คนเห็นด้วย ดังนั้น จึงได้ย้ายมาเพื่อจะแก้ปัญหาตามที่คาดหวัง แต่จะได้ผลหรือไม่เพียงใด ก็คงจะต้องคอยดูกันไปในอนาคต...

อีกอย่างหนึ่ง ภายในศาลาฯ ค่อนข้างจะรกเรื้อในบางจุด ซึ่งก่อนที่จะย้ายมาอยู่นี้ ๒-๓ วันก่อน ผู้เขียนก็ชวนพระเณรรื้อของ (หรือ สมบัติบ้าในวัด เคยเขียนเล่าไว้หลายตอนในบันทึกเก่าๆ) ทิ้งไปหลายอย่าง เช่น เสื่อพลาสติก สัปทน พานแว่นฟ้า ผ้าขาว ผ้าม่าน แท่นอาสนะ ซึ่งพิจารณาว่าหมดอายุ พังแล้ว หรือสกปรกจนเกินไปก็ให้เอาไปทิ้ง... ชุดโต๊ะหมู่เก่าๆ ซึ่งครบบ้างไม่ครบบ้างชำรุดบ้าง ก็ช่วยกันขนไปไว้ใต้กุฏิผู้เขียน (ซึ่งต่อไป บางชิ้นอาจพิจารณาเผาหรือฝัง)

การมาอยู่ในศาลาฯ อาจเป็นผลดีต่อภาพรวมของวัด จะได้ค่อยๆ ทำความสะอาดและกำจัดจุดรกเรื้อให้หมดไป และอาจเป็นผลดีต่อผู้เขียนในแง่มวลชน... แต่โดยส่วนตัวแล้ว มิใช่ผลดีนัก เพราะต้องสูญเสียความเป็นส่วนตัวยิ่งขึ้น หรือบางครั้งก็อาจเป็นที่ไม่สบอารมณ์ต่อใครบางคน ซึ่งคงต้องคอยดูกันไปในอนาคตเช่นเดียวกันว่าจะเป็นอย่างไร...

  • ใครว่าบวชนานสบาย ผู้เขียนคิดว่ายิ่งอยู่นานยิ่งยุ่ง...
หมายเลขบันทึก: 265126เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2009 00:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 20:01 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

นมัสการพระคุณเจ้า ทองเหลืองหายเกือบทุกวัดครับ บางแห่งหนักถึงขั้นทุบบัวค้นหาสิ่งของภายใน ในมัสยิดก็ใช่จะปลอด หลายศุกร์ที่ผ่านมามันยกตู้บริจาคไปตั้งตู้ทั้งๆที่คนนั่งละมาดอยู่ภายในครับ

เรียนพระคุณเจ้าคนมันบาปหนานะครับ

Pวอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--


วันก่อน... ช่วยกันขัดแจกันทองเหลืองที่กุฏิ ปรารภกับหลวงพี่ว่า เมื่อก่อนมีความเห็นว่า แจกันทองเหลืองหรูหราสู้แจกันเซรามิกไม่ได้ เมื่อแจกันทองเหลืองและของใช้อื่นๆ ที่ทำด้วยทองเหลืองค่อยๆ สูญหายไป เครื่องใช้ในวัดเริ่มเปลี่ยนจากทองเหลืองมาเป็นเซรามิก...

เดียวนี้ค่านิยมในวัด แจกันทองเหลืองและสิ่งของเครื่องใช้อื่นๆ ที่ทำด้วยทองเหลือง กลับมีคุณค่าสูงกว่าที่ทำด้วยเซรามิก...

แม้เรื่องนี้ก็บ่งชี้ถึงความไม่เที่ยงได้เหมือนกัน...

.........

P เบดูอิน

ที่จริงก็พอจะคาดเดาได้ว่าใครบ้างที่น่าจะเอาไป แต่จับไม่ได้ ไม่มีหลักฐานมัดตัวเท่านั้น...

คุณโยมลองสังเกตดู พวกที่ลักขโมยของศาสนสถานเหล่านี้ โดยมากไม่ค่อยเจริญ เป็นคนชั้นต่ำในสังคมนั้นๆ... ซึ่งต่างจากพวกที่นำมาถวาย แม้รู้ว่าของเก่าหายไปก็นำมาถวายใหม่ (เพียงแต่เปลี่ยนจากทองเหลืองมาเป็นเซรามิกเท่านั้น 5 5 5...) มักจะมีเกียรติเป็นที่ยอมรับของสังคม...

คนบาปหนา ก็คือคนที่จิตใจต่ำ ทำให้เป็นชนชั้นต่ำของสังคม ขณะที่คนใจบุญ ก็คือคนที่จิตใจสูง ซึ่งมักเป็นคนมีเกียรติเป็นที่ยอมรับของสังคมนั้นๆ...

เรื่องราวทำนองนี้ บางครั้งไม่จำเป็นต้องรอชาติหน้าหรือชีวิตหลังความตาย สังเกตในความเป็นอยู่ปัจจุบันก็อาจเทียบเคียงได้...

...........

เจริญพรคุณโยมทั้งสอง

นมัสการหลวงพี่

คนเดี๋ยวนี้ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ เห็นแก่ได้ มักง่าย

ที่ตะกั่วป่าเจ้าอาวาสห้ามเข้ามามั่วสุมในวัด พระที่ประพฤติไม่เหมาะสมก็เรียกมาตักเตือน ห้ามดื่มเหล้ากันในวัดก่อนที่กรมศาสนาจะประกาศ ปรากฏว่าเจ้าอาวาสถูกพระลูกวัดทำร้าย ชาวบ้านเดินขบวนขับไล่ สงสารศาสนา คนที่ได้ชื่อเป็นคนในศาสนาแต่ไม่รู้จักศาสนาของตัวเอง ไม่เคยศึกษาเรียนรู้คำสอนความดีงามของศาสนาของตน สังคมจึงแย่ลงเรื่อยๆ มาร่วมหนักใจกับหลวงพี่ครับ

Pอัยการชาวเกาะ

 

  • มองระดับมหัพภาค ก็หนักใจมาก...
  • มองระดับจุลภาค ก็หนักใจไปทุกจุดทุกเรื่อง...

ตอนนี้ มองแต่ในวัดและใกล้ๆ วัดเท่านั้น ทำเฉพาะในส่วนที่ทำได้ ดีกว่าเป็นนักคิดแต่ก็ไม่มีโอกาสได้ทำ...

เจริญพร

นมัสการพระคุณเจ้า

เรื่องของทองเหลืองในวัดหายเป็นปัญหาทุกวัด วิธีแก้ปัญหาคิดเห็นหลายอย่าง เช่น

เก็บไว้ค่อยนำมาใช้ ,สร้างให้ใหญ่จนโจรลักไม่ได้, ยึดติดไว้กับพื้นผนัง หรือ ไม่ใช้เครื่องทองเหลืองในวัดหันมาใช้เซรามิคแทน วันก่อนเปิดพระวินัยปิฎกในอินเตอร์เน็ต มีพระวินัยข้อหนึ่งว่าห้ามพระภิกษุสะสมเครื่องใช้ที่เป็นสัมฤทธิ์ เพราะในสมัยพุทธกาลมีประชาชนติเตียน คิดว่าวัดในสมัยพุทธกาลก็ไม่ต้องมาเก็บรักษาของต่าง ๆ ที่มีค่า แต่พอมองในปัจจุบันวัดมีเครื่องทองเหลืองมากมายจนเป็นภาระของพระที่ต้องรักษา พอหายก็ว่าพระเก็บไม่ดี พระก็จะต้องมาดูแลของพวกนี้ ถ้าเราคิดกันได้ว่าของเหล่านี้มันมีขึ้นมันย่อมต้องหายไปสักวันหายก็หายอย่าไปทุกข์ โทษใคร เพราะใครทำใครได้ ชีวิตก็น่าเป็นสุขนะครับ

Ppakorn

 

อาจารย์ว่ามาก็ถูก... แต่ กุญแจ ก็พัฒนามาเรื่อยๆ เหมือนกัน แสดงว่าโลกแห่งชีวิตจริงกับโลกตามอุดมคติใช่ว่าจะสอดคล้องเป็นหนึ่งเดียวกัน...

เมื่อวานไปซื้อกุญแจมาเปลี่ยนใหม่ ซ่อมกลอนประตู... วันนี้ก็เอาไม้ตีทับหน้าต่างด้านหนึ่งไว้ก่อน เพราะวิสโด้เสียบ้าง ขึ้นสนิมบ้าง จึงไม่อาจใช้งานได้ เมื่อไหร่มีกำลังพอก็อาจซ่อมใหม่หรือรื้อออกก่ออิฐฉาบทับช่องหน้าต่างเดิม...

ตอนนี้ก็ยังไม่เรียบร้อย ก็ค่อยๆ ทำไป กะว่าจะต้องเรียบร้อยก่อนวันพระที่จะถึงนี้...

เจริญพร

นมัสการค่ะ

ใครว่าบวชนานสบาย ผู้เขียนคิดว่ายิ่งอยู่นานยิ่งยุ่ง...

- เหมือนต้นไม้เลยนะคะ ปลูกไว้นานๆ ไม่ริดกิ่งก้านก็พันกันหรือรกครึ้ม

- ไม่ได้เข้ามากราบพระคุณเจ้านานมากค่ะ สุขสบายดีนะเจ้าคะ

- วันนี้นำขนมหวานมาถวายด้วยค่ะ

    

- นมัสการลาค่ะ

บวชนานใคร ว่าไว้        สบายจริง

บวชก่อนมุ่ง  ละทิ้ง       จากบ้าน

หวังไว้ว่า หาที่              สงบจิต

อยู่วัดยัง ผูกโยง           เหนี่ยวรั้ง ใจครอง

วันนี้ผมลองเข้าไปค้นคว้าที่มาที่ไป ภาษาบาลี พาลผูกโยงไปที่ภาษาสันสกฤต ... แล้วร้อยเรียงกับภาษาไทย...จนพอมองเห็นที่มาของภาษาที่สื่อสารกัน ไหลลงสู่ความไม่จีรัง... ที่สุดก็วนกลับมาหาพระอาจารย์จนได้ใน Google ...

ย้ายที่อยู่...ย้ายกาย...ย้ายเวทนา...ย้ายจิต...เป็นวัฏฏ...มีธรรมเป็นที่ตั้งมั่น...ปักหลักหนักแน่นไว้...

 

กราบ 3 หนครับ...

P นายขำ


  • สติครองเหนี่ยวรั้ง        ทำถูก      เพื่อธรรม
  • ทำไม่ยึดหวังปลูก        ธรรมแท้
  • บุญบาปนั่นแหละผูก     เคียงคู่     นำไป
  • หวังเพิ่มบารมีแม้          หลุดพ้น   นิพพาน 

เจริญพร

ได้อ่านที่พระคุณเจ้าเขียนเรื่องสะสางของเก่า ก็ดีใจเพราะเข้าข่ายของการทำวัดส่งเสริมสุขภาพคือบริเวณสถานที่ในวัด สะอาด ร่มรื่น หลายวัดที่เข้าไปเจอยาหมดอายุ ทั้งที่หมดตอนอยู่ที่วัด และใกล้ ๆจะหมดอายุตอนที่ซื้อมาถวายยังเป็นห่วงอยู่เลยว่าเมื่อพระคุณเจ้าปวดหัว ตัวร้อน และมาเอายา(ที่ไม่ทันได้ดูว่าหมดอายุ)จะเป็นอย่างไร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท