ยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นแม่ฮ่องสอน


การได้เห็นเด็ก เยาวชน สนใจศึกษาเรื่องราวของตัวเองในชุมชน และกลับมาให้เกียรติแผ่นดินถิ่นฐาน ภูมิปัญญาที่ก่อเกื้อมาเป็นตัวตนของพวกเขา จนสามารถบอกเล่าให้โลกรู้ด้วยความภาคภูมิใจ ซึ่งผมคิดว่าก็ตรงกับฝันของใครอีกหลายคนเหมือนกัน

หลายเดือนทีเดียว ที่ผมห่างหายไปจากการเขียนบล็อก เนื่องจากมีงานบางชิ้นต้องเร่งเขียนปิดโครงการ และมีงานหลายอย่างขยายตัว ต้องไปทำงานในต่างอำเภอ ต่างจังหวัดอยู่บ่อยครั้ง แต่ใจก็ยังถวิลหาการเขียนบล็อกอยู่นะครับ

 

หนึ่งในความฝันของผม ก็คือ การได้เห็นเด็ก เยาวชน สนใจศึกษาเรื่องราวของตัวเองในชุมชน และกลับมาให้เกียรติแผ่นดินถิ่นฐาน ภูมิปัญญาที่ก่อเกื้อมาเป็นตัวตนของพวกเขา จนสามารถบอกเล่าให้โลกรู้ด้วยความภาคภูมิใจ ซึ่งผมคิดว่าก็ตรงกับฝันของใครอีกหลายคนเหมือนกัน

ถ้าเอาแต่ฝันอย่างเดียวเดี๋ยวก็จะกลายเป็นผีบ้า เราต้องทำให้ประจักษ์ด้วยครับ หนึ่งในงานที่กำลังขยายตัว ที่ผมมารับบทบาทเป็นผู้ประสานและผู้ร่วมพัฒนาโครงการอยู่ด้วยนั้น ก็คือ งานยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจังหวัดแม่ฮ่องสอนครับ

 

ที่มาของงานนี้คือทาง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มอบให้ ผศ.เรณู อรรถาเมศร์ จากม.ราชภัฏเชียงใหม่ เป็นหัวหน้าชุดโครงการรับดูแลภาคเหนือ ทาง อ.เรณูก็มาคัดเลือกผู้ประสานงานระดับจังหวัดต่อ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นอาจารย์จากราชภัฏนะครับ แต่จังหวะที่แม่ฮ่องสอนนั้น ราชภัฏและสถาบันอุดมศึกษาเท่าที่ดูตอนนี้ยังเพิ่งก่อตั้ง ไม่เข้มแข็งพอจะลุยกับโรงเรียนและชุมชน

อ.เรณูก็เลยไปถามต่อทาง สกว. Node แม่ฮ่องสอน ว่าใครพอจะรับหน้าที่นี้ได้บ้าง ทาง Node ก็เลยชี้มาที่ผม ผมไปคุยกับ อ. เรณูแล้วก็ชอบใจแนวคิดประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมากๆ ยิ่งเห็นรายชื่อที่นักวิชาการจาก มช. ที่ปรึกษาชุดโครงการ ไม่ว่าจะเป็น ศ.ดร.นิธิ , ศ.ดร. อานันท์  , รศ. ดร. อรรถจักร์ ล้วนเป็นอาจารย์ที่คุ้นเคยก็ยิ่งรู้สึกว่างานคงสนุก นึกดีใจว่าจะได้ติดอาวุธทางปัญญาเพิ่มอีกแล้ว แถมจะได้ช่วยกระตุ้นให้เกิดการเชื่อมงานเด็กและเยาวชนแม่ฮ่องสอนเป็นข่ายเชิงระบบมากขึ้น ก็เลยตกลงรับงานนี้ ที่มาที่ไปของตำแหน่งก็มีมาฉะนี้ครับ

 

งานนี้ ผมทำงานใกล้ชิดกับทีม ผศ. เรณู กับ อ. โฆษิต มรภ. เชียงใหม่ โดยให้ทีมเยาวชนจาก สโมสรผู้นำเยาวชนเพื่อการศึกษาและพัฒนาชุมชน (สยชช.) เข้ามาร่วมเรียนรู้และหนุนเสริมเด็กนักเรียนในระยะการลงพื้นที่เก็บข้อมูลครับ โชคดีของผม ที่ได้รู้จักกับ อ. สังเวียน จากวิทยาลัยชุมชน อำเภอแม่ลาน้อย และ อ. สุรศักดิ์  ป้อมทองคำ ศิลปินและนักวิจัยประวัติศาสตร์เมืองแม่ฮ่องสอน ก็เลยได้เชิญมาร่วมเป็นทีมจังหวัดด้วยกัน อ้อ มีทาง สกว. Node แม่ฮ่องสอน มาร่วมกันหนุนด้วย งานจึงอบอุ่น ตั้งไข่ได้ค่อนข้างเร็ว

 

หลังจากที่ผมศึกษาเอกสารแนวคิดโครงการเสร็จ  ก็มานึกวางแผนยุทธศาสตร์ดูครับว่า แม่ฮ่องสอนเรานี่จะเอาอย่างไรดี  แรกสุดคงต้องหาคนที่มีฝันตรงกันก่อน ผมเริ่มจากการใช้ทุนทางสังคมวัฒนธรรมเดิมของตัวเองก่อนครับ คือ การเป็นสมาชิกเครือข่ายนักวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดแม่ฮ่องสอน

 

เครือข่ายนักวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดแม่ฮ่องสอน หรือที่เรา (คนใน) เรียกกันเองว่า ชุมชนคนวิจัยเพื่อท้องถิ่น เป็นกลุ่มคนที่เคยได้รับ/ กำลังรับการสนับสนุนจาก สกว. (ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น) ในการทำงานวิจัย โดยกลุ่มคนเหล่านี้จะมาพบปะกันในเวทีต่างๆที่ สกว. แม่ฮ่องสอนจัดขึ้น เช่น เวทีรายงานความก้าวหน้า , เวทีคืนข้อมูล , เวทีประชาสัมพันธ์โครงการ ฯลฯ ที่น่าสนใจ คือเป็นกลุ่มที่มาจากหลากหลายอาชีพ หลายกลุ่มชาติพันธุ์ หลายอำเภอ หลายภูมิหลัง แต่มารวมกันเป็น ประชาคมความรู้ ซึ่งถึงแม้จะเป็นกลุ่มที่ไม่ใหญ่นัก แต่ก็ได้ใจคนทำงานจริงที่เกาะติดกันอยู่ระดับหนึ่ง ซึ่งผมถือว่าเป็นกลุ่มที่มีพลังจากข้างในครับ คือ เอาใจมาทำงานจริง เป็นโคตรเพชรที่ยังไม่ได้รับการเจียระไน (แต่ก็กำลังมีแผนในใจผมว่าจะหาทางเจียระไนร่วมกันต่อไป)

 

ผมอาศัยแกนนำหลายคนจาก ชุมชนคนวิจัย ที่เป็นครูอาจารย์   มาเป็นที่ปรึกษาในการชี้เป้าว่า โรงเรียนใดน่าจะมีครู-นักเรียน-ชุมชน ที่สามารถทำงานวิจัยในแนวทาง ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นได้บ้าง ต่อมาก็เลยได้รายชื่อมาพอสมควร จากนั้นผมก็ให้ทาง สกว. Node แม่ฮ่องสอนออกหนังสือเชิญประชุมไปยังโรงเรียนเหล่านั้น

 

ขั้นตอนนี้ บางคนอาจจะมีคำถามครับ ว่าทำไมผมเองก็มี NGO เป็นของตัวเอง ออกหนังสือเองไม่ง่ายกว่าหรือ? คำตอบคือ ก็ง่ายอยู่ครับ แต่เราอยากให้ทาง Node เข้ามามีส่วนร่วมด้วย เพราะถึงแม้ว่า Node จังหวัดจะทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น โดยขึ้นโจทย์จากประชาคมหมู่บ้าน ซึ่งต่างจากที่ชุดโครงการยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นทำ คือทางยุววิจัย จะขึ้นโจทย์จากครู แต่ระยะต่อไปโครงการและเครือข่ายที่ผม กับทีมจังหวัดบุกเบิกร่วมกับทีม อ. เรณู นี้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อ Node คือทาง Node ก็มามารถนำไปต่อยอด เป็นงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นได้

 

ผมอธิบายให้ Node เห็นอย่างนี้ เขาก็เลยยินดีให้ยืมสำนักงาน และเจ้าหน้าที่มาช่วยงานด้านธุรการเป็นครั้งคราวไปครับ ผลพลอยได้ ก็เป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับโครงการไปในตัวครับ อันนี้ Win- Win แต่ผมก็ไม่ลืมให้เยาวชนเข้าไปเรียนรู้วิธีทำงานของ Node นะครับ เพราะในทางปฏิบัติ บางทีเราก็ต้องพึ่งตัวเองให้เป็นด้วย เผื่อทาง Node ติดธุระ เราก็มีเยาวชนทำแทนได้

 

 

เวทีแรกเมื่อ    13 มีนาคม 52    ถือเป็นเวทีสำคัญมากครับ เพราะเป็นการเปิดตัวโครงการ และเป็นครั้งแรกที่ผมจะได้เริ่มทำงานกับโรงเรียนต่างๆอย่างเป็นระบบ  ในฐานะผู้ประสานงานชุดโครงการ บทบาทในตอนนี้ก็ต้องช่วยสร้างทัศนคติเชิงบวกต่องานวิจัย ก็เลยได้เชิญศึกษานิเทศก์  ครูที่เคยเป็นนักวิจัยท้องถิ่น มาช่วยพูด

 

ตอนเตรียมงาน กำหนดไว้ว่าทาง ผศ. เรณู และ รศ. ดร. อรรถจักร์ จะมาเปิดแนวทางให้บรรดาครูที่สนใจมารู้จักโครงการ แต่เกิดปัญหาว่าวันนั้นหมอกควันไฟป่าหนามาก เครื่องบินการบินไทยยกเลิก ตายละวา เอาไงดี แถมครูส่วนใหญ่ที่มา ก็ไม่รู้จักผมมาก่อน   บางคนอาจจะเกร็ง งานนี้จึงอาศัยการผลักดันจากในกลุ่มครูที่เป็นนักวิจัยเพื่อท้องถิ่นช่วยกันทำให้บรรยากาศให้เป็นกันเองมากขึ้น ส่วนผมก็ต้องเป็นหนังหน้าไฟ ลุยไปก่อน ก็คุยในส่วนที่คุยได้ ดีที่ตอนบ่ายมีช่วงโมงให้อาจารย์อาวุโส อาจารย์สุรศักดิ์ ป้อมทองคำ อดีตรองผู้อำนวยการโรงเรียนห้องสอนศึกษาซึ่งเป็นนักวิจัยประวัติศาสตร์อีกคนหนึ่ง มาเล่าสู่ประสบการณ์สร้างแรงบันดาลใจและให้แนวทางเชิงประเด็นแก่ครูในการทำวิจัยร่วมกับเด็กและชุมชน ซึ่งพอจะสรุปได้ว่า งานยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นสำหรับแม่ฮ่องสอนน่าจะเป็นเรื่องที่สะท้อนความหลากหลายทางชาติพันธุ์เป็นประเด็นสำคัญ

 

ในส่วนสกว. Node แม่ฮ่องสอน โดยคุณทนันชัย (เก้ง) ทั้งๆที่งานยุ่งแสนยุ่ง ก็ยังใจดีสละเวลามาช่วยจับประเด็น และเอา วีซีดีมาแนะนำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นมาให้ดูถึงภาพรวมว่าเรากำลังจะทำวิจัยแบบมีส่วนร่วมที่ยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมีโอกาสจะพัฒนาไปต่อยอดกันกับงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นได้

 

ในระหว่างนั้น ครูผู้เข้าประชุมก็ตั้งคำถามเกี่ยวกับโครงการหลายอย่าง บางอย่างตอบได้ผมก็ตอบ บางอย่างก็ต้องรอผู้ประสานงานระดับภาค คือ อาจารย์เรณูมาไขข้อข้องใจ ผมก็ช่วยกันยันเอาไว้ ช่วยกันวางแผนงานกับผู้เข้าประชุมไปก่อน รอลุ้นนาทีต่อนาที ด้วยเกรงว่าเวทีจะล่ม โชคดี ที่อาจารย์เรณูกับทีมหนุนจากเชียงใหม่พยายามหาเครื่องบินจากนกแอร์มาลงถึงแม่ฮ่องสอนได้ในเวลาบ่ายสามโมง  ไม่งั้นงานก็อาจจะต้องจัดเวทีแบบนี้ขึ้นอีกรอบ ซึ่งต้องเสียเวลา เสียงบประมาณในการประสานกันใหม่ ทำให้เสียจังหวะออกไปอีก 

 

ผ่านไปสองเดือนกว่า มาจนวันนี้ เรามีโครงการที่ผ่านเวทีพัฒนาโครงการมาแล้วสามครั้ง และอนุมัติในระดับจังหวัดและระดับภาคแล้ว รวมตอนนี้ 7 โครงการ กระจายในอำเภอเมือง , ขุนยวม , และแม่ลาน้อย ดังตัวอย่างรายชื่อโครงการต่อไปนี้ครับ

-          เฮ็ดอยู่เฮ็ดกิ๋น ในถิ่นปางตอง (โรงเรียนร่มเกล้าปางตอง)

-          ไร่หมุนเวียน บนวิถีชีวิตคนบ้านหัวแม่สุริน (โรงเรียนบ้านหัวแม่สุริน และโรงเรียนปางตอง)

-          ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นว่าด้วยการจัดการป่าของชาวบ้านในสอย (โรงเรียนบ้านในสอย)

-          การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตผ่านพิธีกรรมเลี้ยงผีหมู่บ้านของชาวละว้า (โรงเรียนบ้านละอูบ)

-          ชุมชนบ้านวังคันกับประเพณีแฮนซอมโก่จา (โรงเรียนอนุบาลแม่ลาน้อย)

-          การศึกษาการอพยพคลื่อนย้ายของคนไทใหญ่ที่เข้ามาอาศัยในเขตเทศบาลขุนยวม ผ่านวิถีประเพณีจองพารา (โรงเรียนพุทธเกษตรขุนยวม, โรงเรียนขุนยวมวิทยา , โรงเรียนขุนยวม)

-          ความเป็นมาและการเปลี่ยนแปลงของคนไทใหญ่ที่มีต่อศาลเจ้าหลักเมือง ผ่านพิธีกรรมดำหัวลงเจ้าเมืองอำเภอขุนยวม (โรงเรียนเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน)

 

และในช่วงเดือนต่อไป ก็จะมีโครงการจากโรงเรียนอื่นๆ อำเภออื่นๆ ทยอยกันส่งตามมา อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี่ก็เพิ่งเป็นก้าวแรกของโครงการ ซึ่งจะได้มีการทำงานต่อเนื่องต่อไป เบื้องต้น จึงอยากจะนำมาบันทึกเป็นการเรียนรู้ ไว้เป็นระยะๆครับ

 

นี่ก็เป็นอีกบทบาทหนึ่ง ที่ท้าทายตัวผมเองมาก ว่าทำวิจัยมาหลายชิ้น ต่อไปนี้จะผลักดัน ติดตามและหนุนเสริมให้คนอื่นมาเป็นนักวิจัยและเชื่อมกันเป็นข่าย ประชาคมความรู้ได้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะกับกลุ่มครู ซึ่งวงการนักพัฒนาถือว่าเป็นกลุ่ม ปราบเซียน ( แต่ผมไม่เชื่ออย่างนั้นนะครับ )

 

ใครสนใจอยากรู้เกี่ยวกับโครงการยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคเหนือ สามารถติดตามได้ ที่เว็ปไซต์  www.yrnh.cmru.ac.th

 

ส่วนใครอยากรู้ความเคลื่อนไหว ชนิดเกาะติดเวทีระดับจังหวัดและอำเภอต่างๆในแม่ฮ่องสอน รวมถึง เก็บตก จากภาคสนาม ก็เข้ามาเยี่ยมเยียนแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันที่บล็อก Dek3moktoday นี้นะครับ

 

หมายเลขบันทึก: 263832เขียนเมื่อ 27 พฤษภาคม 2009 21:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

การได้เห็นเด็ก เยาวชน สนใจศึกษาเรื่องราวของตัวเองในชุมชน และกลับมาให้เกียรติแผ่นดินถิ่นฐาน ภูมิปัญญาที่ก่อเกื้อมาเป็นตัวตนของพวกเขา จนสามารถบอกเล่าให้โลกรู้ด้วยความภาคภูมิใจ ซึ่งผมคิดว่าก็ตรงกับฝันของใครอีกหลายคนเหมือนกัน

....

ผมเองก็มีความฝันเช่นนั้นครับ และเป็นความฝันอันยิ่งใหญ่ของตัวเอง  อยากเริ่มงานในแนวนี้อย่างจริงจัง  ขายฝันไปให้นิสิตหลายคน แต่ยังไม่มีใครรับความฝันไปจัดแจงอย่างเป็นรูปร่าง คงเพราะเขายังไม่เข้าใจและนั่นก็ไม่ใช่ความฝันของเขาด้วยเหมือนกัน

ผมชื่นชอบและศรัทธาในวิถีแห่งการงานเช่นนี้ นะครับ

ก้าวหน้าไปเร็วกว่าที่คิดนะคะ

แย่จังช่วงที่ผ่านมานั้น "เดินสาย" มากไปหน่อย เลยไม่ได้เข้าร่วมสักเวที .. ขอโทษด้วยคะ แต่คิด ๆ ไปก็ดีนะคะ ทำตัวเป็นผู้ชมอย่างเดียวในบางเรื่องได้ก็ดี ทีมมีศักยภาพสูงอยู่แล้ว จาได้ไปดูแลอย่างอื่น ๆ จริงไหม ..

ติดตามผลงานและเป็นกำลังใจให้ .. อยากให้เติมจุดไหน เอาชัด ๆ .. หาใครไม่ได้แล้ว ก็พร้อมช่วยอยู่นะคะ

เป็นกำลังให้เสมอคะ

สวัสดีครับ คุณแผ่นดิน

ดีใจนะครับที่มีคนช่วยขายฝัน ขายไม่ออกไม่เป็นไรครับ ให้ลองใช้ทดลองทำดูก่อนแล้วค่อยซื้อก็ได้

นักศึกษาสมัยนี้เกิดมาในสมัยทุนนิยมรุ่งเรือง พวกเขายากจะเข้าใจเรื่องนี้ครับ แต่ไม่ยากเกินจะเรียนรู้

  • ทีมแม่ฮ่องสอนยังไม่เก่งครับ ยังต้องเรียนรู้อยู่มาก
  • ยังมือใหม่นะครับ
  • คงต้องขอความช่วยเหลือจาก Node ในการพัฒนาศักยภาพครูและนักเรียนโดยทำคู่ขนานกันไปด้วย
  • แล้วจะหาเวลาไปขอคำแนะนำ และวางแผนในเรื่องนี้ร่วมกันนะครับ คงจะหลังจากที่โครงการชุดแรกอนุมัติแล้ว ประมาณกลางเดือน มิ.ย. นี้ครับ เ
  • ห็นพี่อ้อยยังไฟแรงเห็นแล้วคนหนุ่มๆนี่ยังอายเลย
  • ขอบคุณที่แวะ "เอาไฟมาเติมฝัน" นะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท