นิราศซิดนีย์ 40: Home Visit (8) What friends are for


What friends are for

วันนี้ออกไปเยี่ยมบ้านกับ Vanessa อีกครั้งหนึ่ง ตลอดทางก็นั่งคุยกันไปเรื่อยๆ Vanessa เป็นคนช่างคุย คุยได้ทุกเรื่อง เธอมีลูกเล็กๆ 3 คน ดังนั้นเธอจึงทำงานแค่ part-time อาทิตย์ละสองวัน ที่เหลือก็ผลัดให้สามีทำ ตอนที่เธอออกมาทำงานก็มีคุณแม่ของเธอช่วยดูแลเด็กๆให้ ส่วนการรับลูกจากโรงเรียน (สองคนโต) ก็ผลัดกัน ลูกคนเล็กยังกินนมแม่อยู่เลย เธอต้อง pump นมใส่ขวดไว้ให้กิน ที่น่าทึ่งก็คือความสามารถในการขับรถไป ดูแผนที่ไป เพราะการไปเยี่ยมบ้านนั้น เราจะมีชื่อและที่อยู่ บ้านเลขที่ ถนน ก่อนจะออกจากโรงพยาบาล ก็ต้องเข้า internet เพื่อค้นหาแผนที่ www.whereis.com ที่เราสามารถใส่บ้านเลขที่ถนนลงไปปุ๊บ ก็จะมี diagram ของแผนที่บ้านหลังนั้นโผล่มาทันที ในรถจะมีแผนที่อย่างละเอียดอีกเล่มนึงในกรณีที่ห่างไกลจากโรงพยาบาลมากๆและอาจจะต้องใช้ motorway ด้วย

ถนนใน Australia นั้นกว้างขวาง (โดยเฉพาะแถวๆชานเมือง) มีแยกเล็กแยกน้อยเต็มไปหมด ไม่นิยมบ้านหลายชั้น (เพราะมีพื้่นที่เยอะเหลือเกิน) การไปเยี่ยมบ้านถือเป็นการผจญภัยเล็กๆ (บางครั้งก็ใหญ่ๆ) ที่ท้าทายความสามารถของคนขับ ที่ต้อง navigate แผนที่และระบบผังเมือง ที่ท้าทายก็เพราะบางทีตรรกะในการวางผังเมืองและบ้านเลขที่ ว่าจะเวียนซ้าย เวียนขวา เรียงจากหน้าหลัง เลขที่คู่คี่นั้น ยังเป็น free-style อยู่ และยังมีเรื่องบ้านที่สร้างกันคนละยุคสมัยทำให้บ้านเลขที่บางทีก็กระโดดจากขอบถนนใหญ่ ลงไปอยู่หลังเขาลูกถัดไปได้เฉยๆก็มี

เรามาเยียมลุงโจเซฟ เป็นคนไข้มะเร็งปอดอายุ 77 ปี เริ่มวินิจฉัยมาได้สัก 2-3 เดือนนี้เอง เวลาคนตัวใหญ่ๆเป็นมะเร็งที่ลุกลามนี่ มันดูน่ากลัวอยู่เหมือนกัน เพราะเค้าโครงกระดูกใหญ่โต เสื้อผ้่าเดิมก็จะตัวโต แต่ไม่นานกล้ามเนื้อ ไขมันต่างๆก็จะหดหายหมด เสื้อผ้าตัวโคร่งโพรกเพรก (คนไข้มักจะขาดความกระตือรือร้นซื้อเสื้อผ้าใหญ่ที่ size ลดลงตามตัว น่าจะมีเหตุผลมากไปกว่าเรื่องภาระ อาจจะมีเรื่องการทำเช่นนี้เป็นการ remind ว่าสุขภาพของตนกำลังทรุดลงมากด้วย) ตอนผมกับ Vanessa มาถึงบ้าน แคธรินพยาบาล palliative community nurse มารออยู่แล้ว แคธรินก็บอกเราว่า ลุงโจเซฟกับมารีกำลังรับแขกที่มาเยี่ยมอยู่ เป็นรายที่สามแล้วตั้งแต่เช้า

พวกเราเดินเข้าไปในบ้าน ก็เห็นเพื่อนบ้านลุงโจเซฟรุ่นราวคราวเดียวกันสองคน กำลังนั่งคุยกันอยู่ เราก็แนะนำตัวว่าเราเป็นหมอ มาจาก Braeside hospital มาเยี่ยมลุง เพื่อนบ้านทั้งสองคนก็รีบลุกขึ้นและร่ำลา บอกว่าแล้วจะมาเยี่ยมใหม่ แล้วก็กลับออกไป เปิดโอกาสให้ทีมเราเข้าไปคุยกับคุณลุงโจเซฟ

มารีเป็นผู้หญิงออสซี่ที่ typical ตัวใหญ่ เสียงดัง ตัวใหญ่ขนาดผมรู้สึกว่าแกคงจะช่วยเรื่องการไปไหนมาไหนของคุณลุงโจเซฟได้ทั้งๆที่คุณลุงก็ตัวไม่เล็ก ซึ่งก็มายืนยันทีหลังว่าจริง เพราะตอนเราจะขอดูแผล bedsore เล็กๆข้างหลัง ป้ามารีก็มาช่วยถอดกางเกงและใส่กางเกงให้คุณลุง (ท่ายืน) ดูคุณลุงโจเซฟจะเขินหน่อยๆเหมือนกันที่ถูกดูแลเหมือนเด็กๆ

ป้ามารีถามเราสามคน (ผม Vanessa และแคธริน) ว่าจะเอากาแฟหรือชาไหม เราก็ขอบคุณและตอบปฏิเสธไป เรายังเห็นถ้วยชากาแฟของแขกคนก่อนๆสองสามใบวางบนโต๊ะกาแฟอยู่เลย Vanessa ก็ถามหยั่งๆเชิงไปว่า ได้ข่าวว่ามีคนมาเยี่ยมเยอะเหมือนกันนะ  ต้องต้อนรับคนวันละหลายครั้งเลยล่ะสินี่ ป้ามารีถอนใจเฮือกใหญ่ บอกว่าขอบคุณมากที่ทีมเราเข้ามา เพราะแขกแต่ละคนก็หวังดี อยากจะมาให้กำลังใจ อยากจะให้คำแนะนำ ซึ่งมันยาวนานเหมือนกันนิจนิรันดร์เลยบางครั้ง และทำให้ป้าแกขาดสมาธิ นี่ยามอร์ฟีนมื้อเช้าก็พึ่งให้ไปไม่นาน ให้ช้าไปชั่วโมงกว่าๆได้ พูดจบก็นึกขึ้นมาได้ รีบเดินไปหยิบสมุดโน้ตปกดำเล่มกระทัดรัดบนโต๊ะในครัว บอกว่า "ยังไม่ได้จดบันทึก dose เมื่อเช้าเลย เอาแต่ยามาให้อย่างเดียว เดี๋ยวต้องรีบจดก่อน หมอรอก่อนนะ"

การควบคุมอาการปวดของคนไข้่มะเร็งระยะสุดท้ายนั้นสำคัญมาก และเมื่อไรเราสามารถคำนวณ daily dose ได้ และคนไข้สามารถรับยามอร์ฟีน หรือ opioid ที่เป็น long-acting ได้ (ประมาณ 12-24 ชม. หรือถ้าเป็น fentanyl ก็ยาวนานได้ถึง 72 ชม. สำหรับแบบแผ่นกอเอี๊ยะปิดผิวหนัง) การคำนวณ daily dose ที่ดี จะมาจากการหายา maintenance และบวกกับถ้ามี episode ของความปวดแทรกในระหว่าง dose ก็จะเติม rescue ลงไป ถ้าเติม rescue เกินสามครั้งขึ้นไปก็ต้องเพิ่ม daily dose ให้เพียงพอ ดังนั้นคนจ่ายยาและคนไข้ จะต้องมีบันทึกการใช้ยา ตั้งแต่ขนาดยา เวลาที่ให้ เวลาที่ออกฤทธิ์ และช่วงระยะเวลาที่ยาควบคุมอาการได้ดีจนถึง episode ครั้งต่อไปว่ากี่นาที ทั่้งนี้่เพราะยามอร์ฟีนนั้น มีปัจจัยมากมายต่อประสิทธิภาพของยา รวมทั้งพันธุกรรมด้วย ขนาดยาตามทฤษฎีมีไว้ใช้ตอนแรกๆสุดเท่านั้น ต่อๆไปต้องปรับให้เข้ากับระบบ biology ของคนไข้เป็นรายๆไป

บันทึกการใช้ยานี้ไม่ซับซ้อนแต่เป็นงานที่ละเอียดพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคนไข้ต้องการความช่วยเหลือหลายอย่าง และ care-taker มีเพียงไม่กี่คน หรือในกรณีนี้ มีแค่ป้ามารีคนเดียว ที่ต้องทำทั้งหุงหาอาหาร จับจ่ายกับข้าวและของใช้ อาบน้ำอาบท่าแต่งตัวให้คุณลุงโจเซฟ ทำความสะอาดบ้าน ฯลฯ ก็เป็นภาระที่ยุ่งยากทีเดียว รัฐบาลออสเตรเลียมี service ที่จะส่งคนมาช่วยทำความสะอาดเป็นอาทิตย์ๆไป และมีบริการส่งอาสาสมัคร (บางทีก็เป็น community nurse) มาช่วย shopping ของใช้ประจำอาทิตย์ให้ด้วย เพราะลักษณะครอบครัวฝรั่งบางทีก็ไม่ค่อยมีคนอาศัยอยู่ด้วย บางทีก็ต้องไปอยู่ที่ nursing home เลย ถ้าต้องการการดูแลใกล้่ชิดเป็นพิเศษ

ป้ามารีหยิบสมุดมาเปิด แล้วก็บันทึกการให้ยา dose สุดท้ายลงไป ยื่นสมุดมาให้ Vanessa ดูอย่างภาคภูมิใจ แคธรินเสริมว่า สมุดของคุณป้ามารี จดเป็นระบบระเบียบมากที่สุดเท่าที่เธอเคยเห็นมาเลยทีเดียว มีการแบ่งเวลาการให้ยาเป็นตารางๆ ตีไว้ล่วงหน้าเป็นอาทิตย์ๆ มีช่อง note รายละเอียด (สำหรับ rescue dose) ด้วย ดูแล้วผมคิดว่าคุณป้ามารีต้องศึกษาแฟ้มเวชระเบียนคนไข้และนำมาดัดแปลงยังไงยังงั้นเลย พอถามไป ปรากฏว่าคุณป้าแกคิดขึ้นมาเอง จากการใช้งานจริง และพยายามจะไม่ให้ miss เพื่อให้มีข้อมูลครบตามที่แคธรินและหมอ GP ชอบถามแก ก็เลยออกมาเป็นแบบนี้

ภูมิปัญญาภาคปฏิบัตินั้น จะได้อะไรที่เป็น practical และบางทีถ้าคนทำงาน สอดใส่หัวใจลงไปในเนื้องาน คุณภาพก็ผุดปรากฏขึ้นมาเอง ไม่ฝืดฝืน โดยไม่ต้องมีทฤษฎีอะไรมากมายมารองรับก็ยังได้ ประสบการณ์ตรงและการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงจึงเป็นสิ่งที่ทรงคุณค่าและการรันตีการใช้งานได้เสมอ ในทาง palliative care จึงบังเกิด expert relatives ขึ้นมาได้เรื่อยๆ คือญาติหรือผู้ดูแลที่คลุกคลีกับคนไข้เป็นเวลานาน ใส่ใจในสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเบื้องหน้า และมีพฤติกรรม เจตคติในการเรียนรู้ รู้ด้วยใจ ทำด้วยมือ กลายเป็นความเชี่ยวชาญชำนาญ และบางทีถึงขนาดนำความรู้มาเผยแพร่ share กัน และสอนให้คนอื่นๆต่อไปได้ด้วย เทคนิกบางอย่างก็สอนหมอ สอนพยาบาลได้อีก Vanessa เคยเล่าให้ฟังเกี่ยวกับยาหลายๆตัวที่ใช้กันบ่อยๆ แต่เราเองไม่เคยลองด่้วยตัวเอง ก็จะไม่ทราบเรื่องของรสชาติ ความยากง่ายในการบริโภค ขนาดเม็ดยา สีเม็ดยา ยาบางตัวก็ขมมาก ไม่อร่อย ก็มี pudding เจลโล หรือเจลลีหลากหลายรส รวมทั้งเครื่องดื่มชอกโกแลต แรสเบอรี่ บลูเบอรี ฯลฯ สารพัด ที่ถูกนำมาใช้เพื่ีอทำให้คนไข้รับยาได้ง่ายขึ้่นและเต็มที่

ป้ามารีค่อนข้าง concern เรื่องการปรับยาและการให้ rescue dose เพราะปัญหาเรื่องเวลา ตรงนี้ก็น่าเห็นใจ อย่างเช่น ถ้าให้ rescue dose ระหว่างเวลา สมมติยาประจำกินตอน 8 โมงเช้ากับสองทุ่ม ระหว่างนั้นได้ยา rescue สองครั้ง ตอนสิบเอ็ดโมง กับตอนบ่ายสอง ยามื้อเย็นจะต้องเลื่อนไหม อะไรทำนองนี้ เราก็อธิบายไปว่าไม่ต้องเลื่อน พยายามให้เวลามันคงที่ง่ายๆแบบนี้แหละ คือ ตอนไหนคนไข้ตื่นเป็นส่วนใหญ่ทั้งเช้าและเย็นก็ให้ fix มื้อนั้น จะเป็น 6 โมงเช้า-เย็น หรือ 7 โมงเช้า-เย็น ฯลฯ อะไรก็ได้ ขอให้เป็น interval 12 ชม. สำหรับ long-acting พวก oxycontin หรือ MS-contin คนไข้จะได้มียาอยู่ในระบบตลอด 24 ชม. คุณป้ามารีหยิบเอารายการคำถามที่แกจดๆเอาไว้ออกมา ตั้งแต่เรื่องอาหารการกิน การพลิกตัว การอาบน้ำ การพยุงนั่ง การพยุงนอน การพยุงลุกเดิน การเปลี่ยนเก้าอี้จากโซฟาไปยังเก้าอี้เข็น จากเก้าอี้กินข้าวไปยัง walking frame เราบอกอะไรไป คุณป้าก็จะจดยิกๆลงไปในสมุดโน้ต อธิบายจนหมดรายการคำถาม คุณป้ามารีก็ยังดูรีๆรอๆลังเล เพราะไม่แน่ใจว่าเธอได้ถามหมดแล้วรึยัง พอ Vanessa บอกว่าคุณป้ามีรายการคำถามที่ครอบคลุมมากที่สุดเท่าที่เคยเจอมาเลย คุณป้ามารีก็ทำตาแดงๆ บอกว่า "ป้าแค่พยายามมากที่สุด เพื่อให้โจเซฟมีความสุขเท่านั้น......" แล้วแกก็รีบเช็ดน้ำตา พูดเบาๆว่า "ขอโทษป้าด้วยนะ"

คุณป้ามารีเล่าให้ฟัง ตอนนี้โจเซฟเดินขึ้นบันไดไม่ไหวจึงนอนข้างล่าง ตรงโซฟายาวที่ห้องรับแขกนี่แหละ และคุณป้าก็นอนอีกห้องนึงถัดไป ผมก็เลยถามไปว่า "แล้วลูกๆอยู่ที่ไหนกันบ้างล่ะครับ"

"คุณหมอหมายถึงลูกใครคะ? ลูกโจเซฟ หรือของฉัน?" คุณป้าถาม

ผมชะงักไปนิด รู้ทันทีว่าเข้าใจผิดไปแล้ว นึกว่าคุณป้ามารีเป็นภรรยาคุณลุงโจเซฟ ตอนที่นั่งมาในรถ ไม่ทันอ่านประวัติละเอียด ก็เลยตอบไปว่า "ของทั้งคุณป้า และคุณลุงด้วยครับ"

"ของป้าอยู่แถวๆนี้แหละ ไม่ไกลมาก แต่ของลุงโจเซฟนั่นกระจายไปทั่ว แถวอดาเลดโน่น (อยู่อีกฝั่งหนึ่งของออสเตรเลีย ไกลทีเดียว) แถวๆนี้คุณลุงไม่มีใคร นอกจากเพื่อนบ้าน"

เราก็เลยทราบอีกว่าคุณป้าแกเป็นเพื่อนบ้านลุงโจเซฟมาได้เกือบยี่สิบปีแล้ว คุณป้าก็อยู่คนเดียวเหมือนกัน แต่พอคุณลุงโจเซฟป่วย และทราบว่าเป็นมะเร็งปอดระยะลุกลาม คุณป้าก็ค่อยๆเข้ามาช่วยในเรื่องต่างๆ จนคุณลุงเริ่มทำอะไรไม่ไหว แกก็เลยย้ายเข้ามาอยู่ในบ้าน ปรนนิบัติ ช่วยเหลือทุกอย่างแก่คุณลุงโจเซฟ

"ก็แก (คุณลุงโจเซฟ) อยู่คนเดียว จะอยู่ได้ยังไง พยาบาลก็ช่วยมาดูได้ แต่ไม่ทุกวัน กลางคืนใครจะดูคุณลุงล่ะถ้าป้าไม่มา เรารู้จักกันมาตั้งยี่สิบปีแล้ว เป็นเพื่อนกัน ป้าเองก็อยู่คนเดียวที่บ้าน ก็เลยตัดสินใจย้ายเข้ามาอยู่ด้วย ภรรยาโจเซฟก็ตายไปนานแล้ว โจเซฟก็ไม่ได้ว่าอะไร" ป้าพูดพลางก็เอามือไปลูบศีรษะคุณลุงที่มองสบตาคุณป้าอยู่ ฝีปากคุณลุงขยับเบาเหมือนกับจะพูด "ขอบคุณ" แต่ไม่มีเสียงอะไรออกมา

What friends are for..............

หมายเลขบันทึก: 263688เขียนเมื่อ 27 พฤษภาคม 2009 09:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 เมษายน 2012 13:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เป็นมิตรภาพที่ยิ่งใหญ่และงดงามค่ะ อ่านแล้วสัมผัสได้ถึงความรักแบบที่ไม่หวังสิ่งตอบแทน ถ้าตัวเองเป็นลุงโจเซฟคงอยากพูดแบบนี้กับป้ามารีมาก "It's not everyone that can have a special friend like you. I'm proud to say that I do." เพลงนี้แด่ป้าและลุงทั้งสองค่ะ You've got a FRIEND 

Little JazP ครับ

ขอบคุณสำหรับเพลง และรูปที่ส่ง link มาครับ (ชอบมั่กมาก)

แหะๆ เดาแนวค่ะ เดาจากลักษณะการแต่งตัวของอาจารย์และสิ่งแวดล้อมหลายๆ อย่างที่พบ คาดว่าน่าจะชอบแนวแอนทีค และมีรสนิยมชื่นชมงานทางศิลปะบ้าง ส่วนตัวชอบงานศิลปะหลายแนวเพราะเรียนและทำงานกับมัน เวลาเจอใครที่มีความนิยมทางนี้ก็จะเกิดอาการตื่นเต้นทุกครั้ง อาจารย์สนใจแนวไหนก็แลกเปลี่ยนได้นะคะ ถ้าเป็นเรื่องศิลปะนี่ยินดี สนทนาแล้วสุนทรีย์เป็นอย่างยิ่ง อ.พิชัยนั่นก็อาร์ตตัวพ่อ รุ่นพี่ทางศิลปะตัวจริงค่ะ : ) ยังว่าจะไปดันแกให้เขียนแบบที่เคยเขียนอยู่ เป็นประโยชน์เพราะวิเคราะห์งานกันอย่างมีหลักไม่เลื่อนลอย ไม่ใช่เอาหลักการไปตัดสินภาพวาดนะคะ แต่เป็นการขยายชี้ให้ได้รับอรรถรสในการชื่นชมภาพมากขึ้น

อิ อิ เรียกว่าเครื่องแต่งกายนำโชค

สุนทรีย์ของผมอิงผู้คนค่อนข้างเยอะครับ พอผมคิดถึง intention ของคนให้ คนเขียน คนแปล คนวาด มันเกิดความ "รู้สึกงาม" ขึ้นมา ทำให้ตื่นเต้นสนใจ ส่วนทฤษฎีศิลป์นั้น แหะๆ ไม่ได้เรื่องเหมือนกันครับ ไม่เคยเรียน แต่ก็ฟังได้ครับ

คำ "สุนทรีย์" ผมครอบจักรวาลไปว่าเป็นอะไรที่ทำให้ "สะเทือนใจ หรือใจสะเทือน" ขอเพียงอะไรที่มากระทบ limbic system (สมองส่วนอารมณ์) ของเรา มันงอกเงย integrated ไปเป็นสุนทรีย์ เป็น aesthetic ได้ทั้งสิ้น เศร้า เสียใจ สะเทือนใจ ก็เป็นงานศิลป์ขั้นสูงที่สามารถส่งผลกระทบต่อชีวิตคนจริงๆได้

รูปผมที่ little jazz ส่งมา ผมรู้สึกตัวเองเหมือนพระเซ็นเลย ชอบเส้นโค้งรอบๆหน้า และช่วงแขนที่ทอดลงมา มีกล้องถ่ายรูปดูเหมือนขัดกับ whole แต่ผมว่าทำให้น่าสนใจขึ้่นเยอะเลยทีเดียว ผม save เอาไว้่ใน hard disk ทั้งที่บ้าน ใน notebook ใน picasa และใน Mobileme ของ Mac เลย เอาไปใช้ได้อีกหลายงานครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท