เหนือวิทยาศาสตร์ ๕


มีเรื่องอะไรอยู่บางเรื่องที่มันมีอยู่ในตัวเราแท้ๆ แต่เราก็ไม่สนใจกับมัน ไม่รู้จักมัน......................... "อวิชชามีนิวรณ์เป็นอาหาร" ให้จำประโยคสั้นๆ นี้ไว้ นิวรณ์มาจากเวทนา ฉะนั้นเวทนาก็เป็นตัวที่ทำให้เกิดอวิชชา

ต่อจาก เหนือวิทยาศาสตร์ ๔


        

          ทีนี้ก็มีแต่จะพูดให้ละเอียดออกไปว่า ทุกข์ เรื่องทุกข์ทั้งหลายมาจากเวทนาอย่างไร  เหตุให้เกิดทุกข์  คือตัณหานี่  อุปาทานนี่  มาจากเวทนาอย่างไร  นี่พูดออกไปมันก็พูดได้มากมาย  ความดับทุกข์  ก็พูดได้ตามแบบของความดับทุกข์  ทางให้ถึงความดับทุกข์  ก็พูดได้ตามแบบของทางดับทุกข์  พูดเรื่องเวทนาได้มากมาย  ซึ่งเราจะต้องค่อยๆ สังเกตไป และพูดกัน

          เฉพาะในวันนี้  อยากจะพูดถึงเรื่องที่เป็นตัวทุกข์  แล้วนั่นเนื่องกันอยู่กับเหตุให้เกิดทุกข์  เพราะฉะนั้นขอตั้งหัวข้อใหม่ว่า  ทุกเรื่องมันจะตั้งต้นขึ้นมาจากเวทนา

          ปัญหาต่างๆ  คำสอนต่างๆ  หลักต่างๆ นี้  มันจะตั้งต้นขึ้นมาจากสิ่งที่เรียกว่า เวทนา  เอาพวกที่เรียกว่ากิเลสกันก่อน  กิเลสทั้งหลาย  ที่เป็นตัวกิเลส  ความรู้สึกก็ดี  ที่เป็นแต่เพียงทิฏฐิ  ความคิดความเห็นก็ดี  ล้วนแต่มาจากเวทนา  กิเลสที่เป็นต้นบท แม่บทของกิเลสทั้งหมด  ก็คือตัวกิเลสที่มีชื่อว่าอวิชชา  ทีนี้ดูซิว่าอวิชชามาจากเวทนาอย่างไร  พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ว่า  อวิชชามีนิวรณ์เป็นอาหาร  หัวข้อนี้ต้องจำไว้ให้ได้ไม่เช่นนั้นมันลืม แล้วมันเลอะกันหมด  มันฟั่นเฟือนกันหมด  อวิชชามีนิวรณ์เป็นอาหาร  นิวรณ์ก็คือ  ที่เราท่องกันอยู่ในนักธรรมตรีนั่นแหละ  คือ กามฉันทะ  พยาบาท  ถีนะมิทธะ  อุทัธจกุกกุจจะ  วิจิกิจฉา  ๕  อย่างนี้  ซึ่งจะถือว่า ทุกๆ ท่านทราบแล้ว  เพราะเวลาเรียนนักธรรมตรีก็ต้องพบเรื่องนิวรณ์

          นิวรณ์ที่หนึ่ง  กามฉันทะ คือสิ่งที่มากลุ้มรุมจิต ให้มีจิตกลุ้มอยู่ด้วยความรู้สึกที่เป็นกามารมณ์

          นิวรณ์ที่สอง พยาบาท คือความรู้สึกที่มากลุ้มรุมจิต กลุ้มอยู่ด้วยความรู้สึกที่เรียกว่า พยาบาท  คือโกรธ  คือไม่ชอบ คืออึดอัด

          นิวรณ์ที่สามเรียกว่า  ถีนะมิทธะ   ก็คือความรู้สึกที่มากลุ้มรุมจิต  ทำให้จิตมันเต็มไปด้วยความรู้สึกที่เป็นไปในทางแฟบ  ถีนะ นี้ก็แปลว่าง่วงเหงา  มิทธะ  นี้มัน เซื่องซึม  หดหู่  ละเหี่ย  รวมกี่คำก็ตามที มีพูดในภาษาไทย ที่มันเป็นไปในทางที่ให้จิตทรุดต่ำ แฟบลงไป  นี้ก็เรียกว่า  ถีนะมิทธะทั้งนั้น  คำนี้ให้ระลึกถึงบางเวลาเรามีจิตใจที่เศร้าโดยไม่มีเหตุผล  ละเหี่ยละห้อย  มึนชา ง่วงโดยไม่มีเหตุผล  นี่เรียกว่านิวรณ์ตัวที่สาม

          นิวรณ์ที่สี่เรียกว่า อุทัธจกุกกุจจะ     นี่มันตรงกันข้ามคือฟุ้งเฟ้อ  ในเมื่ออันที่สามมันแฟบ  อันที่สี่นี้มันขยายออกเป็นเรื่องฟุ้งเฟ้อ  อุทัธจะ  ว่าฟุ้งซ่าน  กุกกุจจะ รำคาญ  คำแปลนี้ไม่ถูกต้องนัก ชวนให้เขวได้  ไปรู้สึกเอาเองก็แล้วกัน  เพราะการบัญญัติคำแปลนี้มันยาก  ต้องเห็นอกเห็นใจผู้บัญญัติคำแปลทีแรกบ้าง  ไม่มีใครบอก  จะต้องคิด  จะต้องบัญญัติ มันก็มีเขวบ้าง  หย่อนบ้าง  มากบ้าง เราต้องรู้ความหมาย  ถือเอาความหมาย  อุทัธจกุกกุจจะก็คือฟุ้งซ่านไป ฟุ้งแล้วซ่านไป  สองคำนี้พอ  ถีนะมิธะ  ก็ว่าละเหี่ย หดหู่ แล้วแฟบลง หดเข้า  อีกอันมันฟุ้งออกไป  อีกอันมันแฟบเข้ามา  นี่ก็เรียกว่านิวรณ์  พอนิวรณ์ตัวที่ ๔ เกิดขึ้น จิตก็มีลักษณะฟุ้ง คือขยายออก  แล้วก็ซ่านไป

          นิวรณ์ที่ห้า  เรียกว่า   วิจิกิจฉา   คือ สงสัย  ลังเล  การแปลต้องแปลอย่างนั้น  นี่ตามความหมายจริงของมัน  ความรู้สึกจริงๆ ก็คือ  ความที่มันไม่แน่ใจอะไรลงไปได้  ไม่มีศรัทธา  ไม่มีความแน่ใจอะไรลงไปได้  อยู่ด้วยความลังเล  สงสัย  มืดมัว สลัว  มีจิตใจที่ไม่แจ่มแจ้ง แน่นอน ชัดเจนนี้  ลักษณะอย่างนี้ก็เรียกว่า วิจิกิจฉา

          ขอร้องให้ไปทำความรู้สึกกับสิ่งทั้ง ๕ นี้ให้ดี  ทั้งๆ ที่มันเกิดอยู่เป็นประจำทุกวันนี้  แต่ก็ไม่ได้สังเกต  ไม่รู้จัก  ไม่เห็นมันอย่างแจ่มชัด  เพราะว่าเราไม่สนใจกับมัน  มีเรื่องอะไรอยู่บางเรื่องที่มันมีอยู่ในตัวเราแท้ๆ  แต่เราก็ไม่สนใจกับมัน  ไม่รู้จักมัน

          เรื่องนิวรณ์นี้ก็เหมือนกัน เกิดเป็นประจำวัน เกิดอย่างยิ่ง เราก็ไม่สนใจที่จะแยกมันดูว่ามันมีกี่อย่าง  แล้วรู้จักความหมายของคำว่านิวรณ์ ก็คือ กลุ้มรุมจิต  ห่อหุ้มจิต  นิวรณะ  แปลว่า กั้นหรือบัง  เหมือนกับฝา  ฝาเรือนนี้ก็มีความหมายเหมือนกับนิวรณ์  มันกั้นบังสิ่งต่างๆ ไว้  หรือเปลือกหุ้มนี้ มีความหมายของนิวรณ์  มันกั้นบังสิ่งต่างๆ ไว้  อันนี้มันเป็นเครื่องกั้นบังจิตไว้  จิตก็เลยส่องแสงสว่างตามธรรมชาติของจิตไม่ได้  คือจิตจะประภัสสร  จะมีแสงสว่างตามธรรมชาติของจิตไม่ได้  เพราะนิวรณ์มันคอยหุ้มเอาไว้  เดี๋ยวตัวนั้นมา  เดี๋ยวตัวนี้มา เดี๋ยวตัวโน้นมา

          ข้อเปรียบเทียบนิวรณ์เหมือนกับว่า  ของอะไรที่มันมีแสงสว่างหรือมีรัศมี  เช่นว่า เพชร  มีน้ำ มีรัศมีแวววาวอย่างนี้  แล้วมันมีโคลนบ้าง  หรือมีอะไรก็ตามใจ  หลายๆอย่างมาปะเข้าไว้  มันก็ไม่อาจส่องแสง ส่องรัศมีของมันออกมาได้  มันก็ไม่ทำหน้าที่ของมันได้  เหมือนหลอดไฟฟ้านี้  เอาอะไรมาหุ้ม เอาสีมาทา  เอาโคลนมาทา  เอากระดาษมาปิด  อะไรหลายๆ อย่าง  อย่างใดอย่างหนึ่ง มันก็ส่องแสงออกมาไม่ได้  คือมันทำหน้าที่ของมันไม่ได้  จิตนี้ก็เหมือนกัน  ถ้านิวรณ์อย่างใดอย่างหนึ่งมากลุ้มรุมมัน  จิตทำหน้าที่ของมันไม่ได้  นี่มันจะเกิดอวิชชา

          ตรงนี้ก็มีปัญหา  ที่ว่าคนบางคนได้รับคำสั่งสอนแนะนำว่า  อวิชชานั้นคือความโง่มีอยู่เป็นประจำ  มักจะเข้าใจกันอย่างนั้น  ผมก็เคยเข้าใจอย่างนั้น  เพราะเมื่อแรกเรียนนักธรรม  ครูก็สอนอย่างนั้น  แต่พอมาดูในบาลี  คำสอนของพระพุทธเจ้าไม่ใช่อย่างนั้น  คือพระองค์ตรัสว่า  แม้แต่อวิชชานี้  ก็เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิด เพิ่งเกิดเป็นครั้งเป็นคราวชั่วขณะๆ  ตามเหตุตามปัจจัยของมัน  สิ่งที่เรียกว่า อวิชชานี้  ก็เพิ่งเกิด  เป็นกิเลสที่เพิ่งเกิด  ฉะนั้นถ้าใครจะเข้าใจว่า อวิชชาเป็นของเกิดอยู่ตลอดเวลา ตายตัวแน่นอนนั้น นั่นคือเข้าใจผิด  แล้วยังแถมเป็นมิจฉาทิฏฐิด้วย  คือเป็นสัสสตทิฎฐิที่ถือว่า มีอะไรที่เที่ยงแท้แน่นอนถาวรไม่เปลี่ยนแปลง ไม่เกิดดับ

          ถ้ารู้ตามที่เป็นจริงคือถูกต้อง  ก็จะรู้ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า  แม้อวิชชามันก็เพิ่งเกิด คือเราโง่ต่อเมื่อมีเรื่อง อย่าถือว่าเราโง่อยู่ตลอดเวลา  หรือความโง่นั้นมีอยู่ตลอดเวลา  ขอให้ถือว่าความโง่นี้ก็เป็นสังขารอันหนึ่ง  คือมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น  แล้วความโง่นี้ก็เพิ่งโง่เป็นเรื่องๆ เรื่องๆ ไป  แล้วแต่อะไรมันจะทำให้เราโง่อย่างไร  ฉะนั้นจึงว่า  อวิชชาก็มีเหตุ มีปัจจัย  และเป็นของเพิ่งเกิด เกิดเรื่อย เหตุปัจจัยที่สำคัญ ก็คือสิ่งที่เรียกว่า เวทนา  เพราะเวทนา ทำให้เกิดนิวรณ์  หรือเมื่อเกิดนิวรณ์อยู่ย่อมมีเวทนา

          เมื่อมีนิวรณ์ ๕ อย่างนี้  อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่  เมื่อนั้นจะเป็นเวทนา  ที่ทำให้จิตโง่ไปตามนั้น  กามฉันทะ กลุ้มรุมจิต  จิตก็โง่ไปตามแบบกาม  พยาบาท นิวรณ์กลุ้มรุมจิต  จิตก็โง่ไปตามแบบของความไม่ชอบ  ความประทุษร้าย   ถีนะมิทธะ   นิวรณ์กลุ้มรุมจิต  จิตก็โง่ไปตามที่จะแฟบ จะเหี่ยว จะเศร้า  จะละเหี่ยละห้อย   อุทัธจกุกกุจจะ  เข้ามาครอบงำจิต  มันก็โง่ไปทางฟุ้ง    วิจิกิจฉา     ครอบงำจิต จิตก็ไปทางที่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ไม่รู้ว่าจะเอาอะไร  ไม่รู้ว้าจะทำอย่างไร

          พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า  "อวิชชามีนิวรณ์เป็นอาหาร"   ให้จำประโยคสั้นๆ นี้ไว้  นิวรณ์มาจากเวทนา  ฉะนั้นเวทนาก็เป็นตัวที่ทำให้เกิดอวิชชา

          ถ้าใครรู้สึกว่ามันผิดกับหลักที่เคยเรียนมาก่อน  หรือกำลังรู้อยู่ ก็ขออย่าเพ่อคิดอะไรมาก  เอาพระพุทธภาษิตที่ผมเอามาเล่าให้ฟังนี้ไปคิด  แล้วการเรียนธรรมะจะเป็นเรื่องจริง  เหมือนเรียนวิทยาศาสตร์  ม่ใช่เรียนอย่างเชื่อตามๆ กันไป ท่องแล้วก็ลืมลืมแล้วก็ท่อง เพราะว่าวิทยาศาสตร์ต้องมีของจริงมาเป็นตัวเรื่อง  แล้วก็ดู ก็เรียน  ก็เห็น  ก็รู้อยู่ที่สิ่งเหล่านั้น  นี่ต้องรู้จักนิวรณ์  พอนิวรณ์เกิดขึ้นแล้ว จะเป็นเวทนาอย่างหนึ่ง  แล้วจิตจะโง่ไปตามเวทนานั้นๆ  ตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า  อวิชชามีนิวรณ์เป็นอาหาร  แม่บทของกิเลส  ของสิ่งที่จะทำความฉิบหาย นั่นคือ อวิชชา  อวิชชาก็มาจากเวทนา  เวทนาเป็นตัวเรื่องที่ทำให้เกิดอวิชชา

หมายเลขบันทึก: 263638เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2009 22:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท