จากชุมชนเป็นสุข สู่การฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งอันดามัน


จากชุมชนเป็นสุข สู่การฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งอันดามัน

"อะไรคือความสุข (well being) ของชุมชน ชุมชนเป็นสุขเป็นอย่างไร แล้วจะร่วมกันสร้างสุขใส่ชุมชนกันอย่างไร ทำไงให้ได้บทเรียนรู้สู่สังคมเพื่อการสร้างสุขลดทุกข์กันให้ทั่ว"

เหล่านี้คือโจทย์ใหญ่ที่ยากจะยุติตายตัว

เมื่อภาคีชุมชนชาวบ้านและเพื่อนร่วมพัฒนาภาคใต้ตกลงรับงานการพัฒนาชุมชนเป็นสุขที่ภาคใต้ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพมาชวนเข้าร่วมขบวนกับเพื่อนพี่น้องทุกภาคเมื่อปี 2546 โดยมี 12 ภาคีเครือข่ายเข้าปฏิบัติการสร้างสุข ในพื้นที่เป้าหมาย 200 ชุมชน

ในโจทย์ร่วมข้างต้นโดยได้ดำเนินการเป็นลำดับมามีทั้งที่ค้นพบว่าอะไรคือความสุข แนวทางการสร้างสุข จนถึงการลงไม้ลงมือสร้างสุข จนพบจนได้ความสุขกันบ้างแล้ว เช่นกลุ่มการเรียนรู้เรื่องเกษตรชีวภาพของกลุ่มคนเล็กๆ ที่คิดไกลถึงขั้นปฏิวัติความคิดสู่ความสุขด้วยเกษตรชีวภาพ, กลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนที่มิใช่เป็นเพียงอนาคต แต่เป็นปัจจุบันที่สวยงาม มีพลังการเรียนรู้ตัวเองสู่การเปลี่ยนแปลงสังคม มาเริ่มต้นรวมกลุ่มและทำกระบวนการเด็กเรียนรู้อยู่สุขที่บ้านเกิด, กลุ่มเรียนรู้เรื่องชุมชนท้องถิ่นเพื่ออยู่ดีจากผลกระทบนโยบายรัฐ, กลุ่มเรียนรู้เรื่องศิลปวัฒนธรรมกับการสร้างสุขในชุมชน, กลุ่มสืบโยด สาวย่าน ศิลปฯท้องถิ่นกับความสุขยุคสายเดี่ยว, กลุ่มการเรียนรู้และน้อมนำหลักศาสนามาสู่การพัฒนาในชุดศาสนธรรมกับการพัฒนา, กลุ่มการเรียนรู้ องค์กรการเงินกับการ "ดับ" พัฒนาชุมชน สู่การฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งอันดามัน

1.เมื่อเกิดคลื่นยักษ์ซัดใส่ชายฝั่งอันดามัน วันที่ 26 ธันวาคม 2547 ที่ทำลายชุมชนเสียหายหลายร้อยชุมชน โครงการพัฒนาชุมชนเป็นสุขที่ภาคใต้ได้เข้ามีส่วนร่วมดำเนินการในระยะเบื้องต้น ประกอบด้วย

- การสำรวจและช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ชุมชนชายฝั่งทั้ง 6 จังหวัด, กำหนดแนวทางการช่วยเหลือและฟื้นฟูต่อเนื่อง, กำหนดพื้นที่ชุมชนและคณะบุคคล องค์กรเข้าประสานสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเป็นรายพื้นที่ชุมชน

- การประสานสนับสนุนการช่วยเหลือ บรรเทา และฟื้นฟูชุมชน/หมู่บ้านประมาณ 50 แห่ง

- การประสานสนับสนุนการจัดทำระบบฐานข้อมูลผู้เสียชีวิต, ผู้สูญหาย และ

- การประสานสนับสนุนระบบอาสาสมัคร

- การจัดระบบงาน

2.เฉพาะงานการฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งอันดามัน ในฐานะภาคีเครือข่ายภาคพัฒนาชุมชนท้องถิ่นภาคใต้ด้วยกัน โครงการพัฒนาชุมชนเป็นสุขภาคใต้ได้ร่วมกับเพื่อนพี่น้องภาคีพันธมิตรประชุมหารือตกลงก่อตั้งเครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งอันดามัน (Save Andaman Network-SAN) ขึ้น ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2547 เพื่อช่วยเหลือบรรเทาทุกข์เบื้องต้นพร้อมกับการสำรวจประเมินความเสียหาย และหาแนวทางในการฟื้นฟู โดยได้ริเริ่ม 7 กองทุนอู่ซ่อมสร้างเรือประมงพื้นบ้านเมื่อกลางเดือนมกราคม แล้วทยอยขยายออกเป็น 33 อู่ทั่วทั้ง 6 จังหวัด

โดยมีการประสานสนับสนุนจากเพื่อนภาคีพันธมิตรภาคพัฒนาจากทั่วประเทศอีกกว่า 40 องค์กรที่รวมกันเป็นเครือข่ายความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติ และได้รับการหนุนเสริมการปฏิบัติการพร้อมประสานด้านงบประมาณการเงินจากหลายฝ่าย ทั้งภาคธุรกิจ, ภาคพัฒนาสังคม, ภาครัฐในประเทศ, รัฐต่างประเทศ ตลอดจนกลุ่มผู้ปรารถนาดีทั่วไป

สำหรับตัวเงินผ่านทางเครือข่ายไปสู่ชุมชนชาวบ้านต่างๆ ตามกิจกรรมแล้ว ณ สิ้นเดือนมิถุนายนประมาณ 50 ล้านบาท ซึ่งได้เริ่มกิจกรรมอู่ซ่อมสร้างเรือตั้งแต่กลางเดือนมกราคมจนสิ้นเดือนมิถุนายน 2548 ได้ดำเนินการเปิดอู่ซ่อมสร้างเรือและเครื่องมือประมงพร้อมระบบกองทุนชุมชนแล้ว 34 อู่ ครอบคลุมจำนวนเรือเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 1,760 ลำเรือ เครื่องมือประมง 4,000 ชุด-ครอบครัว ใน 122 ชุมชน-หมู่บ้าน ซ่อมสร้างเรือพร้อมสนับสนุนเครื่องมือประมงแล้วเสร็จจำนวน 1,163 ลำเรือ สนับสนุนการพัฒนาซ่อมสร้างที่อยู่อาศัย 332 ครัวเรือน แล้วเสร็จ 164 ครัวเรือน และกำลังขยายตัวทั้งเชิงพื้นที่และกิจกรรมอย่างต่อเนื่องและหลากหลายขึ้น โดยคาดว่าจะมีการสนับสนุนต่อเนื่องสู่งานระยะยาวได้ในจำนวนที่น่าจะมีสนับสนุนพอสมควร

3.ใช้วิกฤตเป็นโอกาสสามัคคีภาคีเครือข่ายพันธมิตร น่าจะเป็นบทน่าเรียนรู้ในเบื้องต้นว่ามาได้อย่างนี้ได้อย่างไร

การเกาะติดพื้นที่ชุมชนในแนวทางชุมชนชาวบ้าน คือ ผู้ชี้ขาดงานพัฒนา แล้วเสริมขบวนจัดระบบ จนขณะนี้มีอาสาสมัครและคนทำงานร่วมภาคีเครือข่ายความร่วมมือกว่า 50 คน ทั้งประจำชุมชนและเขตใน 6 เขตพื้นที่ฟื้นฟู

การมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของจริงจังของชุมชน ตามความต้องการของชุมชนและโดยชุมชน อย่างมิได้กำหนดตายตัวว่าจะทำอะไรและอย่างไร นอกจากกำหนดว่าจะต้องเป็นการฟื้นฟูของชุมชน โดยชุมชน ตามความต้องการของชุมชนอย่างเหมาะสมและมีหลักประกันความยั่งยืนของการประสานความร่วมมือในหมู่เพื่อนพัฒนาจนพ้นจากกรอบโครงการและองค์กร เนื่องจากไม่มีทางที่องค์กรหรือโครงการใดเดี่ยวๆ จะทำได้อย่างเป็นขบวนเครือข่ายขนาดนี้ในระยะเวลาที่ทันท่วงที มีความครอบคลุมกว้างขวางพอสมควร โดยการเอาประเด็นปัญหาของพี่น้องชุมชนชาวบ้านและพื้นที่เป็นตัวตั้ง เอาคนทำงานทั้งหมด องค์กรและโครงการมาประสมประสานงานสนับสนุนช่วยเหลือกันไปมาทั้งในระดับชุมชน ระดับเขต พื้นที่ ภาค และกระทั่งทั้งระดับประเทศ เป็นภาคีเครือข่ายที่ทั้งเกาะติดพื้นที่และตามติดประเด็นต่างๆ ได้อย่างทั่วถึงและทันการณ์

การจัดการอย่างใหม่ที่ให้ตัว ในภาษาใต้

"ให้ตัว" หมายถึงความยืดหยุ่นสอดคล้องคล่องประสาน ไม่แข็งขัดขืนจนยากต่อการปรับตัวต่องาน ต่อปัญหา ต่อพื้นที่ การประสานสัมพันธ์ภาคีพันธมิตรเพื่อพัฒนา "เชิงคุณภาพ" อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคพัฒนาสังคม และพลเมืองทั่วไป ทั้งไทยและต่างประเทศ โดยแทบทั้งหมดมีลักษณะมุ่งคุณภาพและความต่อเนื่องยั่งยืน เกิดความสัมพันธ์ท่ามกลางงานอย่างใกล้ชิด ก่อเกิดกระบวนการเรียนรู้และร่วมมือใหม่อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะกับภาคธุรกิจในประเทศ

โดยจากกระบวนการทำงานที่ผ่านมา พบว่าชุมชนที่มีการจัดการก่อตั้งตัว (self organisation & self management) ก่อนหรือเร็วจะไปได้ดีกว่าชุมชนที่มีลักษณะตัวใครตัวมัน มองเห็นแต่ประโยชน์ตน ประโยชน์เบื้องต้นเฉพาะหน้า ดังเช่นในพื้นที่สตูล ตรัง หรือเกาะปู ที่มีกลุ่มชมรมและเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านมาก่อน ดังเช่นที่ชุมชนทับตะวัน ที่สังกาอู้ ที่แม้ไม่เคยมีกลุ่มชมรมเครือข่ายมาก่อน แต่ก็สามารถจัดการหลายอย่างได้ลงตัว ในขณะที่อีกหลายพื้นที่ยังไม่รู้จะยังไงแน่ และการเริ่มที่ชายขอบอย่างเป็นระบบครบกระบวนก็เป็นข้อเรียนรู้ เนื่องด้วย ณ ที่นั้นปลอดจากความสับสนอลหม่าน และโดยเฉพาะคือบางเบาจากอิทธิพลอำนาจการรวมศูนย์ สามารถริเริ่มอย่างเป็นระบบครบกระบวนได้ไม่ยาก ดังที่สตูล ตรัง กับที่พังงา ตะกั่วป่า ระนอง นั่นเอง และสำคัญที่สุดคือกรอบแนวคิดการฟื้นฟูและพัฒนาที่เอาชุมชนพื้นที่เป็นตัวตั้ง ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมให้มากที่สุดจนถึงขั้นเป็นของชุมชนชาวบ้านเอง โดยกำหนดให้อาสาสมัครภาคพัฒนาเป็นเพียงผู้หนุนเสริมและสนับสนุนเท่าที่จำเป็น (facilitate co-ordinate & support)

4.ดับทุกข์สร้างสุขคือเป้าหมาย

ในนิยามความหมายว่าด้วยสุขภาวะ-health และการสร้างสุข-health promotion ตาม Ottawa Charter ทั้ง 5 ว่าด้วย build healthy public policy, creative support environment for health, strengthen community action, developed personal skills และ reo rient health service นั้น เมื่อทุกข์ได้ถูกขจัดปัดเป่าโดยการสร้างโอกาสท่ามกลางนั้น การสร้างสุข-health promotion จึงมีความเป็นไปได้ในวิกฤต

โดย บัญชา พงษ์พานิช เครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งอันดามัน Save Andaman Network (SAN)

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 2599เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2005 16:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 12:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท