เพียงแค่เปิดใจยอมรับ


ใครใครก็เขียนเรื่องความเหลื่อมล้ำ

        ฟังบล็อกเกอร์ใน Gotoknow.org คุยกันเรื่องความเหลื่อมล้ำทางความรู้และเทคโนโลยีสารสนเทศ หลายบันทึก หลายท่านอธิบายความหมาย หลายท่านเล่าเรื่องในวิถีการทำงานประจำวันให้คนอ่านตีความหมายเอาเองสุดแท้ละแต่ละคนอ่านจะตั้งระดับของความเข้าใจความหมายคำว่า Digital Divide แค่ไหน

        ฉันเอง ไม่เข้าใจหรอกค่ะความหมายโดยรวมที่ไม่ใช่การแปลตรงตัว สงสัยอยู่ตั้งนานระหว่างคำว่า Knowledge, Digital ที่มีต่อท้ายด้วยคำว่า Divide คำนี้โดยตัวของมันให้ความหมายถึงความแบ่ง แยก แบ่งสองส่วนให้แตกต่าง เหลื่อมล้ำ แล้วแต่สาระเรื่องราวที่นำไปประกอบต่อ แต่ผู้รู้ล้วนนิยามคำนี้โดยรวมแล้วให้เป็น ความเหลื่อมล้ำทางความรู้ เทคโนโลยีสารสนเทศ

        จากหนึ่งคำถาม และคำถามที่ตามมาว่า แล้วจะลดความเหลื่อมล้ำเหล่านั้นลงได้อย่างไร?

        ฉันขอคุยบ้างเรื่องนี้ตามประสาคนรู้น้อยนิดนะคะ ฉันคิดว่าแค่มองภายในบ้านก็คงตอบแบบไม่ซับซ้อนแต่มันอาจไม่ใช่ก็ได้ ก็คือ เมื่อมีคนสองคน สองวัยในครอบครัว ได้พยายามเชื่อมสายสัมพันธ์ให้พูดคุยกันรู้เรื่อง จึงเกิดอาการ “คุณยาย(ย่า).คอม” ขึ้น เพราะความจำเป็นบังคับ ความจำเป็นเกิดขึ้นจากความต้องการ  เกิดเพราะฉันรักหลานของฉัน ฉันเลี้ยงเขามาตั้งแต่อ้อนแต่ออก ฉันไม่ยอมให้ใครพรากหลาฉันไป เมื่อหลานฉันออกนอกบ้านไปเรียนหนังสือ ไปมีโลกส่วนตัวเป็นโลคยุคดิจิทัล ฉันจะคุยกับหลานฉันรู้เรื่อง ฉันต้องทำตัวให้ทันสมัย แต่แค่มือถือคงไม่พอแล้วที่จะติดต่อกับหลาน มันต้องยอมรับมุมมองปัจจัยสำคัญที่ห้า หก เจ็ดที่หลานฉันจัดลำดับ แน่นอนมันไม่พ้นเรื่องเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ต การติดต่อสื่อสารต่างๆ

 

        นอกจากการอ่านบันทึกมากกว่าสิบ ยี่สิบบันทึกในพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้แห่งนี้แล้ว ฉันได้ใช้บริการสืบค้นข้อมูลผ่านเว็บไซต์ Search Engine ทั้งหลาย ที่มี Google.co.th หรือ Google.com และ Youtube.com เป็นหลัก ซึ่งอาจเป็นเพราะเคยชินในความพยายามส่วนตัวที่จะลดช่องว่างความไม่รู้เรื่องความรู้และเรื่องเทคโนโลยีของฉันเอง มาดูสิคะว่าฉันพบอะไรน่าสนใจ

 

        หลังจากได้รู้เพิ่มมากขึ้น ตามการอธิบายเรื่องราวในชีวิตประจำวันของบล็อกเกอร์หลายๆ ท่าน และจากสื่อต่างๆ ที่มีผู้ชื่นชอบหรือถนัดนำเสนอโดยการผลิตออกมาในรูปคลิปวิดีโอ ผ่านคำค้นว่า “Digital Divide”  ฉันพบว่า การอธิบายความหมายของเรื่องนี้ผ่านสื่อภาพยนตร์ หรือสื่อแอนิเมชั่นนั้นเร้าใจ และเปรียบเทียบเห็นความแตกต่างชัดเจนของสองวัตถุทั้งมีและไร้ชีวิตหรือสองช่วงระยะเวลา ฉันค้นเจอช่องว่างตรงกลางระหว่างการมีวิวัฒนาการทางเทคโนโลยี เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น เล็กลงจากที่เทอะทะ และเห็นสองคนสองเจอเนอเรชั่นที่เห็นต่าง คิดต่าง ทำต่าง เข้าใจต่างกันไป (อ๊ะ...ตรงใจ)

        สำหรับเรื่อง เทคโนโลยี หรือเรียก Digital ที่ว่าเหลื่อมล้ำ ก็พอเข้าใจเพิ่ม ส่วนที่ติดตามมาคือ ไปหาทางลดความไม่รู้ ตามไม่ทันความแตกต่างของสิ่งเหล่านั้น (มองตัวเองเป็นผู้ไม่รู้) หรือทางกลับกัน มีคำตอบแล้วก็ช่วยกันเผยแพร่แนะนำวิธีการให้ผู้อื่นทราบด้วย(ก็จะเป็นการทำความดี)

 

        ส่วนเรื่อง...ความรู้ หรือเรียก  Knowledge ที่เข้าใจก็...เข้าใจเพิ่มเติมจาก “ความรู้คืออะไร” (KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : ๖๗๒. ความรู้คืออะไร)จึงไม่ค่อยจะกังวลกับการนิยามคำนี้อีกต่อไป (หลงปวดหัวมานานเมื่อได้ชมคลิปวิดีโอที่เด็กนักเรียนตั้งคำถามถามว่า ความรู้คืออะไร...เพราะกลัวได้เป็นคนตอบ ^^อยากรู้ต้องเรียนถามท่านอาจารย์ JJ)

        ฉันคิดเรื่องใกล้ตัวเราเอง(อีกแล้ว) การกระทำเพื่อลดช่องว่างทางความรู้และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เริ่มแรกฉันได้ลองมองย้อนกลับไปในความไม่รู้เรื่องบางเรื่องของตัวเอง จากนั้นฉันใช้การมองภาพปัจจุบัน ความรู้ที่ได้รับ เพราะความจำเป็นบังคับบวกความต้องการและแสวงหา ก็พอเข้าใจ การปรับตัวเองจากความไม่รู้เรื่อง ให้ไม่เหลื่อมล้ำมากมายนักจากผู้รู้รอบด้าน แต่ก็ยังมีข้อจำกัดที่ทำให้รู้ได้ไม่ละเอียดลึกมากนัก เพราะว่าตัวเราเองเป็นผู้กำหนด รวมถึงพื้นฐานการศึกษาและประสบการณ์ก็เป็นเรื่องสำคัญ ฉันก็เพียงรู้แค่พอให้รักษาตัวรอด พอฟังผู้คนคุยกันได้รู้เรื่องบ้าง

 

        เรื่องที่คิดย้อนแล้วนึกขำตัวเองเห็นจะเป็นเรื่อง “ความไม่รู้” ในเรื่องพื้นๆ ของวิถีชีวิตแม่บ้านธรรมดาๆ หนึ่งคน ที่ช่างไม่รู้อะไรเสียเลยในวัยเด็ก วัยรุ่นและวัยทำงาน กว่าจะรู้ก็เป็นเวลาที่สังคมเปลี่ยนแปลงไป ที่วิเคราะห์ได้ ก็เพราะเกิดประสบการณ์ จึงพบว่าคนที่เคยทำงานต่างๆ ให้ “เรา” “เขา” ได้ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางความรู้ให้กับตัวเขาเอง “เขา” สามารถเขยิบสถานภาพจาก “ผู้รู้น้อย” คือไม่ต้องใช้ความรู้พื้นฐานมากมายอะไร ให้เป็น “ผู้รู้มากขึ้น” จึงมีโอกาสเลือกงานได้มากขึ้น ขยับสถานภาพทางสังคมได้สูงขึ้น เป็นผลเนื่องจากการพัฒนาการศึกษา สังคม เศรษฐกิจประเทศโดยรวม  นั่นคือ “การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม” ด้วย “การลดความเหลื่อมล้ำทางความรู้” อันเป็นนโยบายระดับประเทศของหลายๆ ประเทศส่วนใหญ่

        แต่เมื่อหันกลับมาดูตัว “เรา” เองที่มีโอกาสดีกว่าเขาเหล่านั้น แต่ไม่ได้ฉวยโอกาสรับ “รู้” ในบางเรื่องเล็กๆ ที่ใครๆ  “เขา” ก็รู้กัน(ทั้งนั้น)  ความจำเป็นทำให้ต้องหยุดทบทวนว่า ตัวเรา “ขาด” ความรู้อะไรที่เขาเหล่านั้น “มี”  เป็นความเหลื่อมล้ำทางความรู้ ที่มีช่องว่างกว้างพอสมควร ทิ้งไว้ไม่ได้การเป็นแน่

        แล้ว ฉันทำอย่างไรเพื่อการลดช่องว่างเหล่านั้น...

 

        อยากรู้ต่อไปไหมคะ...เรื่องเชยๆ เปิ่นๆ นะค่ะ!

 

        ความรู้มีอยู่มากมายบนโลกใบนี้ เดิมๆ ความรู้ปรากฏในหนังสือ สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ และต่อมาความรู้ถูกบรรจุลงในสื่อกระจายเสียง สื่อโสตทัศน์ นับตั้งแต่คาสเซทเทป วีดิทัศน์ ซีดีรอม ซีดีรอมมัลติมีเดีย วิดีโอซีดี ดีวีดี...จนกระทั่งความรู้มีทั่วไปในระบบออนไลน์ ไร้สาย ความรู้ที่เราไม่รู้ แต่หากรู้จักการแสวงหาความรู้ก็จะกลายเป็นผู้รู้ และจะได้รับโอกาสมากมาย โดยเฉพาะเมื่อความรู้ต้องอาศัยเทคโนโลยีและอุปกรณ์การติดต่อสื่อสารเข้ามาผสมผสานด้วย โอกาสที่ได้รับจะเพิ่มมากขึ้นทวีคูณ ช่องว่างของความรู้สึกว่าแปลกแยกจากผู้รู้ทั้งหลายในระบบสังคมที่เราเลือกเข้าไปอยู่ร่วมด้วยก็จะลดลง

 

        ถ้ามองแบบที่ฉันถนัด คือมองทุกอย่างเหมือนฉากละคร แล้วจัดวางตัวนักแสดงลงในฉาก จะวางตัวเองและใครๆ ตรงจุดไหน สำหรับเรื่องนี้เหมือนกัน แต่ลองมองเป็นเส้นตรงหนึ่งเส้น แล้วเรายืนอยู่ตรงจุดไหน ใครยืนที่จุดไหน แล้วเราจะขยับซ้าย-ขวา เข้าไปหาใคร หรือให้ใครขยับเข้ามาหาเราได้อย่างไร?

        ทุกสิ่งทุกอย่างลดช่องว่างลงได้ด้วยความรู้ที่ตัวเราเอง หาให้ได้ก่อนว่ามันอยู่ที่ไหน  จากนั้นใฝ่รู้ใฝ่ศึกษา เปิดใจกว้างรับความรู้ และเรียนรู้จากผู้ที่รู้มาก่อน แม้ว่าจะมีความแตกต่างในด้าน “ความอาวุโส” เราพบบ่อยๆ ว่าเด็กตัวเล็กๆ จะช่วยผู้ใหญ่แก้ไขปัญหาการใช้งานโทรศัพท์มือถือได้ หรือเรื่องการลงทะเบียนสมัครเป็นสมาชิกกิจกรรมต่างๆ ผ่านระบบออนไลน์ เราจะกลัวๆ กล้า ๆ แต่เด็กวัยเรียนจะมีความคุ้นเคยมากกว่าเรา เพราะเด็กยุคนี้ถูกฝึกให้ทำการบ้านส่งครูทางอินเทอร์เน็ต หรือสมัครเรียนกวดวิชา สมัครสอบเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย ต้องลงทะเบียนออนไลน์เท่านั้น ถ้าเราอยากรู้เรื่องอะไร ก็ลองยอมให้เด็กเป็นผู้สอนเรา...

        เพียงแค่เปิดใจยอมรับก็จะลดความเหลื่อมล้ำทางความรู้ของเราลงได้

 

(หมายเหตุ

1. เรื่องนี้เป็นความเข้าใจส่วนบุคคลที่อาจไม่ใช่ก็ได้ จึงพึงฟังความหลายๆ ข้างนะคะ

2. คำสำคัญที่ใช้ digital และ  knowledge ยังไม่(แน่ใจ) divide ^^)

หมายเลขบันทึก: 258771เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2009 15:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (34)

เห็นด้วยค่ะ

เพียงแค่เปิดใจยอมรับก็จะลดความเหลื่อมล้ำทางความรู้ของเราลงได้

  • สวัสดีค่ะ
  • เขียนเก่งจริงจริง
  • อ่านเพลินดีจ๊ะ
  • มีความสุขนะคะ
  • เป็นคำตอบที่เชื่อมโยงและอุดช่องว่างของความแตกต่างที่ดีมาก ถึงมากที่สุดค่ะ
  • ความรู้คืออะไร  มีแต่เสียงหัวเราะค่ะ อิอิ ขอไปหาความรู้ก่อนนะคะ แล้วจะกลับมาใหม่ค่ะ

สวัสดีค่ะคุณพี่ ครูอ้อย แซ่เฮ

เป็นเรื่องคิดง่ายๆ มากๆ เลยนะคะ

ดาวลูกไก่มองจากวงคนทำงานรอบตัวด้วย เราอยู่กับเทคโนโลยี ผูกพันมันมานาน ต้องรู้ ต้องใช้งาน ต้อง(บังคับ)ตามให้ทัน ถ้าไม่ยอมรับมัน เป็นคนแรกๆ แล้วคนอื่นจะเข้าถึงได้อย่างไร อยู่กับงานห้องสมุด(แม้ไม่ใช้คนลงมือทำ) ก็เห็นวิวัฒนาการหลายด้าน ตั้งแต่การจัดระบบให้เลขหมู่เป็นบัตรรายการ จนมาวันนี้ทุกอย่างถูกคน Key Record ป้อนเข้าระบบดิจิทัล แล้วจากผู้ใช้บริการที่เคยเดินเข้าห้องสมุด ก็ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปถึงที่ก็ได้ข้อมูลที่ต้องการค่ะ...

แต่แย่จัง ช่วงนี้เกิดความล้มเหลวในการเข้าถึง IT จากกล้องโทรศัพท์มือถือ เลยโหลดภาพลงคอมฯ แบบไม่ใช้ Bluetooth ไม่ได้ค่ะ รอให้สาวน้อยมาช่วยสอน...อุตส่าห์เก็บภาพตู้บัตรรายการ(โบราณ) มาใช้งานนะค่ะ

แค่เพียง "เปิดใจ" อะไรที่ยาก ๆ ก็ง่ายขึ้นมาได้เลยนะครับ...

ขอบคุณมากครับ...

สวัสดีค่ะคุรครู KRUPOM

ขอบคุณค่ะ รอบันทึกใหม่ๆ อยู่นะคะ (หลายๆ คนก็รอค่ะ) อยากอ่านเรื่องเล่าผ่านแม่พิมพ์ครูป้อมบ้างจังค่ะ...

สวัสดีค่ะพี่

ชอบค่ะ เริ่มเปิดใจยอมรับความรู้ ก็เท่ากับลดความเหลื่อมล้ำทางความรู้แล้ว

ขอบคุณค่ะ

ปล.พี่ค่ะ สี่รบกวนพี่ช่วยใส่คำสำคัญ คำว่า digital divide และ gotoknow forum เพิ่มอีก 2 คำได้ไหมค่ะ เพื่อเชื่อมโยงความรู้เหล่านี้เข้าด้วยกัน

ขอบคุณอีกครั้งค่ะ

สวัสดีครับพี่ดาว

อ้าว...ก็ได้น๊าครับพี่ ที่เขียนมานั้นใช้ได้ดี และเข้าใจง่ายด้วยครับพี่ :)

ผมชอบข้อสอง ที่เรามองแบบถนัด เพราะเดย์ก็มองและรู้สึกอย่างนี้ก่อน เหตุผลและความเป็นจริงค่อยตามมาและยอมรับทีหลัง กระบวนการนี้ใช้เวลาไม่กี่วินาทีครับ ดีกว่าที่มองย้อนจากเมื่อกี้ เพราะถ้าเอาใจคนอื่นก่อนแล้วมาขัดใจตัวเองในขั้นตอนสุดท้าย มันจะอึดอัด :)

เอ๊...ผมคุยถูกเรื่องมั้ยครับพี่ 555

คิดถึงพี่ดาวครับ

คุณศิลาคะ ร่วม ลปรร กับ G2K ค่ะ ตามหาความรู้เจอแล้ว คราวนี้ถึงคิวคุณศิลาแล้วนะคะ...ส่งต่อๆ ค่ะ

สวัสดีค่ะคุณ Mr.Direct

เปิดใจ น้อมรับ และขอบคุณ เป็นคำสำคัญที่ทำให้ประสบความสำเร็จในชีวิต คงจะรวมการลดช่องว่างระหว่างกันได้ด้วยนะคะ

อิอิ ในที่สุดก็มีส่วนร่วมกับ G2K ได้

สวัสดีค่ะน้อง สี่ซี่

พี่ว่าเรื่องนี้เขียนยาก(จัง) นะคะ (พี่เลือกมองจากข้างในออกข้างนอก)ที่เห็นๆ กันอยู่อย่างในที่ทำงานพี่ ยุคหนึ่งชัดเจนมากคนทำงานปฏิเสธไม่เอา ไม่ทำ เหนื่อย หนัก ที่แท้คือกลัว (ทำอะไรไม่ได้เพราะเป็นมนุษย์เงินเดือนนี่นา)... แต่วันนี้ทุกคนเคยชิน และยอมรับปรับจูนกันได้แล้ว เรื่อง อิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล แทรกซึมแทบกลืนอยู่ในทรัพยากรสารนิเทศทั้งหมดที่ห้องสมุดมีให้บริการ  แต่นั่นก็เป็นเรื่องของวัตถุ ส่วนทางจิตใจ การให้บริการที่ยังเป็นปัญหาเหลื่อมล้ำ ก็เพราะไม่ได้คิดถึงบทบาทของตัวเองเท่าที่ควร เลยตามไม่ทันผู้ใช้บริการที่ส่วนใหญ่คือนักศึกษา และอาจารย์ นักวิจัยที่เป็นคนรุ่นใหม่ อย่างน้อยๆ คือผู้ผจญกับคลื่นไอทีทันทีที่ลืมตาดูโลกแล้วค่ะ

 

อ่านแล้ว รู้สึกว่า เนื้อหาในบันทึก มีอะไรคล้ายๆพี่อยู่ค่ะ
เดิม ตัวเอง ก็ไม่เป็นเรื่องคอมพิวเตอร์ลย เพราะ ไม่ต้องลงลึกอะไร แค่มอบนโยบาย กำกับ และตรวจสอบเท่านั้น แต่พอมา ประมาณ 10 ปีให้หลัง มีความรู้สึกว่า ชักไม่ได้แล้ว กลัวจะสื่อสารกับลูก ไม่ค่อยรู้เรื่อง เลยให้เขาช่วยสอนให้ และเราก็มาฝึกเอง ที่บ้าน ก็ไม่ยากค่ะ ทำได้ อาศัยอ่านเอาจากคู่มือ ที่อยู่ในโปรแกรมอยู่แล้ว ค่อยๆทำไป ก็เรียนรู้ได้
ต่อมา เห็นลูกใช้เครื่อง แมค อยากใช้บ้าง ให้ลูกพาไปซื้อ พอบอกเขาๆงงเลย  กลับมาบอกเราว่า ไม่ต้องถึงขนาดนั้นหรอกแม่ แค่วินโดวส์ ก็ดีมากแล้วนะ สำหรับแม่
แต่ ในที่สุด ก็ไปซื้อกันจนได้ ท่ามกลาง รอยยิ้ม อย่างภูมิใจของลูก
ที่เล่ามานี่ ไม่ใช่อะไรค่ะ อยากจะบอกว่า อยากเห็นรอยยิ้มและแววตาของลูก ที่มองมาทางเราอย่างภูมิใจ เท่านั้นเองค่ะ

สวัสดีค่ะหลาน adayday

เรียกว่ามองจากมุมที่ถนัดนัก(เชียว) ค่ะ

รีบๆหากล้องคู่ใจมาโดยด่วนเลยค่ะ ไม่เช่นนั้น ช่องว่างในโลกยุคดิจิทัลจะขยับห่างออกไป ออกไป ออกไป (ทำเสียงแบบเสียงก้องๆ นะคะ)

หรือจะเปลี่ยนไปเล่นกล้องแบบนี้...ดีคะ

สวัสดีค่ะคุณ Sasinand

คุณ  Sasinand  คือคุณยายคุณย่า(ยังสาว)ดอทคอมตัวจริงแสนจริงเลยค่ะ ไม่มีช่องว่างใดๆ เหลืออยู่เลยนะคะ และมีแต่ถ่ายเทความรู้-ประสบการณ์ให้ไม่เฉพาะลูกหลาน แต่ยังให้กับพวกเราใน G2K ด้วยตลอดมา ขอบคุณค่ะ

เวลาคุยกับคุณย่าหนู Pang (บันทึก Pang in Wellington 2009) ท่านอายุใกล้แปดสิบ แต่ท่านจะ chat เล่น MSN สื่อสารกับหลานๆ ที่อยู่ต่างประเทศด้วยค่ะ ไม่เล่นเฉยๆ นะคะ ต้องให้เห็นภาพหน้าตากันผ่านเว็บแคมด้วยค่ะ

ต่ออีกหน่อยค่ะ อ่านแล้ว จะไปเหมือนอีกแล้ว อิๆๆๆ พี่ลงโปรแกรม Skype คุยกับลูก ตอนที่เขาไม่อยู่ในประเทศ ตอนนี้ค่ะ...
และเขาบอกว่า ถ้าหลานโตหน่อย คงให้ไปช่วยอยู่กับหลานด้วย ถ้าเขาจะไปอยู่ไกล...โน่น คิด ไปไกลเลย...
ตอนนี้ สอนคอมฯหลาน พอเป็นแล้วค่ะ ลดช่องว่างกันไปเรื่อยๆค่ะ 

  •         ถ้ามองแบบที่ฉันถนัด คือมองทุกอย่างเหมือนฉากละคร แล้วจัดวางตัวนักแสดงลงในฉาก จะวางตัวเองและใครๆ ตรงจุดไหน สำหรับเรื่องนี้เหมือนกัน แต่ลองมองเป็นเส้นตรงหนึ่งเส้น แล้วเรายืนอยู่ตรงจุดไหน ใครยืนที่จุดไหน แล้วเราจะขยับซ้าย-ขวา เข้าไปหาใคร หรือให้ใครขยับเข้ามาหาเราได้อย่างไร?

บทนี้อ่านไปมาหลายเที่ยวเลยค่ะพี่ดาว

พิมว่านะคะ..บางคนก็ยากที่จะยอมรับความยากที่ก้าวเข้ามาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเอง...เพราะยากแก่การเปลี่ยนแปลงความคิดตัวเอง..ยังมีอีกมากที่คิดว่าตัวเองเเหนือชั้นแล้วเหนือคนอื่น  เลยยากแก่การมองเส้นตรงให้ตรงเส้นตัวเองหรือป่าวค่ะ..แค่คิดเล่นๆนะคะในฐานะผู้มีความคิดอ่านที่พยายามขยับซ้าย-ขวาในการดำรงชีวิตไม่ให้ชนใครมากอะคะ..อิอิ

วันนี้พี่ดาวไปชิมกาแฟบ้านพิมนะคะ

คุณ Sasinand คะ

เพื่อนเคยเชียร์ให้ใช้โปรแกรม Skype ค่ะ ถามเค้าว่าดีอย่างไร เค้าว่าได้ฝึกภาษาด้วย คือคุยกับใครที่ไม่ได้รู้จักกัน ประหยัดการใช้โทรศัพท์ทางไกลด้วย แต่โปรแกรมนี้ทำไมไม่ค่อยมีใครพูดถึงเลยนะคะ รู้จักในเวลาไล่เลี่ยกับ Hi5 ใช่ไหมค่ะ (ดาวลูกไก่สมัครตามเพื่อนไปเช่นกัน เป็นประเภทกลัวตกยุคค่ะ แต่ป่านนี้คงยกเลิก Accout ไปแล้วนะคะ)

เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะอยู่ห่างกันแค่ไหนก็เหมือนอยู่ใกล้กันแค่หนึ่งไม้บรรทัด ยกเว้นแค่สัมผัสแตะต้อง ได้กลิ่นหอมๆ ไม่ได้นะคะ (คิดต่อไปว่า ต้องไปสร้างโลกเสมือน สร้าง Avatar ของตัวคุณแม่คุณลูกคุณหลาน ให้ Avatar แสดงอาการแทนตัวเราแล้วค่ะ)

สวัสดีค่ะน้องพิมญดา

แบบที่น้องพิมเขียนมามีเยอะแยะ ทุกวันนี้พี่ก็เจอ คนที่ไม่อยากเหนื่อยมากกว่าที่เป็นอยู่อยู่แล้ว  ซึ่งเค้าคิดผิดนะ ถ้าคิดใหม่ คิดลำบากตอนต้น ตอนปลายก็สบายเพราะเรียนรู้ ได้บทเรียน และรู้ว่าทำอย่างไรจะไม่ลำบาก ยิ่งเรื่องไฮเทค ยิ่งได้เครื่องผ่อนแรง...ความคิดเดิมๆ ที่เปลี่ยนยาก ก็ อัตตาสูง หลงคิดว่าตัวเองเป็นคนพิเศษ (Somebody...) คนอื่น (เติมเอสด้วย) (Nobody) เลยแซงหน้าไปเรื่อยๆ ว่าแต่น้องพิมขยับซ้ายขยับขวา ได้คล่องตัวแล้วยังคะ อิอิ (กลัวหายไหนอีกค่ะ)

พี่ตามไปหากาแฟที่บ้านแล้ว ยังไม่เจอซักแก้วเลยค่ะ แถมหัวบล็อกสำหรับบ้านที่มัลติพลายส์ด้วยนะ (ทวงๆ)

สวัสดีคะน้องดาว

เปิดใจยอมรับทุกอย่างจะง่ายตามมาคะ

ถ้าไม่เปิดใจต่อต้าน เรื่องง่าย ๆก็ยาก เห็นตัวอย่างมาแล้วคะ

สวัสดีค่ะ ดาวลูกไก่

*** ไม่อยากเหลื่อมล้ำกับลูกมากก็เลยพยามถามๆๆๆๆเรื่องเท๕โนโลยี...เขาสอนให้ก็ยังเข้าใจได้ยาก..เลยเกิดอาการงอน...น้อยใจ ...ดูเหลื่อมล้ำอย่างลุ่มลึกยิ่งขึ้นก็มี...แต่ตอนนี้คิดได้ว่าต้องไม่อายที่จะบอกใครๆว่าทำไม่ได้ และไม่รู้ ก็พอได้พัฒนาขึ้นบ้างต่ะ

สวัสดีค่ะคุณพี่ไก่ ประกาย~natachoei ที่~natadee

ยกมือสนับสนุนค่ะ ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะคุณพี่ครู กิติยา เตชะวรรณวุฒิ

แม่ลูกสลับกันเป็นผู้ให้และผู้รับได้เสมอจริงๆ ค่ะ เราไม่อาย ก็เราไม่รู้ เราตามไอทีไม่ทันจริงๆ นี่นะคะ ขอบคุณค่ะ

เรียน ท่านดาวฅนโสต ขอเพียงแต่เปิดใน หนทางก้าวไกล มีทางไป

สวัสดีค่ะ

  • มาพัฒนาจิตใจ..ด้วยคนนะคะ
  • จะได้นำไปเปิดใจของพี่คิมบ้าง..ค่ะ
  • เพราะเป็นคนไม่รู้อะไรมากมาย  รู้นิด ๆ หน่อย ๆ
  • ขอขอบคุณค่ะ

เรียนท่านอาจารย์ JJ ค่ะ

เปิดใจ หนทางก้าวไกล ไม่มีเจอทางตัน (แต่ทางแยกเยอะจริง^O^) ค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

 

สวัสดีค่ะคุณพี่ครูคิม

แว่วๆ ใครมาถ่อมเนื้อถ่อมตัวอยู่แถวนี้นะคะ...คิดใหม่ค่ะ พี่ครูคิมอยู่จุดไหนกันแน่ (รอด้วยๆ...อิอิ)

  • สวัสดีค่ะ คุณดาวลูกไก่ พี่จ๊ะของน้องจ๊ะ
  • ทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้ามีการเปิดใจยอมรับ ย่อมเจอหนทาง
  •  แม้ว่าจะมีหลายแยกก็ตามเนาะ

สวัสดีค่ะคุณพี่เอื้องแซะ

สงสัยเราต้องหาสัญลักษณ์มาปักไว้เผื่อหลงทางค่ะ กลับมาเริ่มต้นใหม่ ทางไหนเคยไปแล้วจะได้ไม่ไปอีกรอบ ทางแยกหลายทางก็ดี หลงทางบ้างก็ดี จะได้ประสบการณ์การเดินทางมากๆ นะคะ

วันนี้นัดไปร้าน Big Bird คะ...

เปิดใจด้วย และเปิดคอมพ์ไปด้วยค่ะ

มาเห็นด้วยค่ะ แม้ว่าตัวเองจะยังไม่เชี่ยวชาญแต่ยอมรับว่า เราต้องทำตัวให้ทันเหตุการณ์

และเป็นคนที่ teachable ค่ะ

ขอบคุณบันทึกดี ๆ ค่ะ ;P

สวัสดีค่ะอาจารย์ หมอ ภูสุภา

ขอบคุณค่ะ ใจเป็นหน้าต่างมองเข้าข้างใน คอมพิวเตอร์เป็นประตูเปิดออกสู่โลกยุคดิจิทัลนะคะ แล้วเราจะทันคน ทันโลก ทันเหตุการณ์ ทันสมัยด้วย...ต่อยอดจากอาจารย์ค่ะ

 

  • พี่จ๊ะ..จ๊ะ..

ฉันไม่ยอมให้ใครพรากหลายฉันไป  <<  เจอคำผิดซ่อนอยู่จ๊ะ  มาเสียค่าปรับและคัดไทยเสียดีๆ 

จ๊ะ..ความรู้มีอยู่มากมายบนโลกใบนี้ (รวมถึงในโลกดิจิทัล  หรือโลกไซเบอร์ ที่ใครๆ เรียกกัน   อ้อ..รวมทั้งบ้านลุงกูเกิ้ลด้วยจ๊ะ)  อันนี้จริงนะจ๊ะ   แต่ประเด็นมันอยู่ที่ว่า "การคัดกรอง" น่ะเจ๋งแค่ไหน หรือสามารถทำได้มากน้อยอย่างไรมากกว่า   และ..สำหรับอะไรๆ น่ะ แค่เปิดใจเท่านั้นเอง (จริงๆ น่ะรึ???????)

เทคโนโลยีก็เป็นคล้ายดาบสองคม   ใช้ดีก็ดี  ใช้ไม่ดีก็ไม่ดีเนอะ   และการลดความเหลื่อมล้ำน่ะ  เห็นภาพได้ชัดสุด   จากหลายๆ ท่าน    ไม่ว่าจะเรื่องของการทำงานหรืออะไรก็ตาม   ผู้ใหญ่จะมีอีโก้  จะไม่ค่อยยอมรับว่าตัวเองทำไม่ได้อย่างง่ายๆ   พอคนวัยน้อยกว่าแนะนำก็จะชักสีหน้าหรือไม่พอใจ    อะไรทำนองนี้(ไหม)

พี่จ๊ะๆๆ.. เช้านี้เจอเจ้แล้วนะ  น้องจ๊ะเลยทวงถามเรื่อง "บัตรส่วนลด"    บอกเจ้ว่า.."พี่ต๋อยให้มาถาม"    เจ้ยิ้มแล้วบอกว่า.. "ก็หน้าต้อมไงเป็นบัตรส่วนลด   แค่เห็นหน้าก็จะลดให้แล้ว..ว..ว"

เพราะงั้น..ถ้าพี่จ๊ะอยากได้ส่วนลด ต้องพาน้องจ๊ะไปด้วย..ย..ย  อิอิ

น้องจ๊ะ จ๊ะ

หลาน หลาน หลาน หลาน หลาน

หลาน หลาน หลาน หลาน หลาน

แก้คำผิดค่ะ...ฮึ่ม...

เมื่อวานนี้นั่งอ่านความรู้และชมคลิปวิดีโอรายการชีพจรโลก เรื่อง web 2.0 คุณสุทธิชัย หยุ่น เป็นรายการที่ออกอากาศเมื่อต้นปี 2551 เจอกิจกรรมโรงเรียนสอนผู้สูงวัยเกินหกสิบใช้งานอินเทอร์เน็ตด้วย น่าส่งคุณย่าคุณยายที่บ้านไปเข้าสังคมนี้จัง...

น้องจ๊ะ รู้จัก  web 2.0 ไหมจ๊ะ (พี่ไม่ค่อยจะรู้จักหรอกนะ แต่มีวิถีชีวิตติดอยู่กับ web 2.0 จนแทบแยกไม่ออกเลยนะจ๊ะ) อ้าว ก็เรื่องนี้มันก็เกี่ยวๆ กันกับ digital divide ด้วยไงล่ะจ๊ะ

เห็นข่าวนี้ แล้ว อึ้งกับข้อมูลข่าวสารใน web

เวลาลูกทำรายงานก็จะแนะนำให้หาข้อมูลจากวิกิพีเดีย

เพราะมีการอ้างอิงที่ดี

อ่านข่าวนี้เลยขาดความน่าเชื่อถือไปมาก

ปล.1 ข้อความนี้อาจทำให้บลอกพี่ดาวหมองไป

         อ่านแล้วช่วยลบข้อความด้วย

 ปล.2 ผลสอบออกเย็นนี้แล้ว บอกผลด้วยนะ

         เพราะแอบลุ้นอยู่ เงียบๆ

 

สวัสดีค่ะคุณน้อง จันทร์ยิ้ม

วิทยากรหลายท่านในแวดวงงานห้องสมุดจะเตือนทำนองคล้ายๆ กันว่าการหยิบยกข้อความไปใช้อ้างอิงเรื่องใดๆ ก็ตาม  ควรมีเอกสารอ้างอิงประกอบหลายๆ แหล่ง สำหรับแหล่งอ้างอิงจากการสืบค้นข้อมูลออนไลน์ จะต้องระมัดระวังให้มากๆ เชื่อทันทีไม่ได้ค่ะ ข้อมูลที่พิมพ์เป็นเอกสาร ถึงจะช้า ก็ยังเป็นหลักฐานลบไม่ได้จนกว่าจะมีการพิสูจน์ใหม่ๆ มาแทนที่ พี่โชคดีนะคะเนี่ยที่ทำงานกับห้องสมุด มีข้อมูลนอนยัน ยืนยัน(บนชั้น) ^^ ใช้ประกอบกัน

แม้ว่าวิกิพีเดียจะเป็นแหล่งข้อมูลมาแรงมากในยุคเว็บ 2.0 แต่เปิดกว้างให้ปรับปรุงแก้ไขข้อมูลได้ตลอดเวลา สำคัญที่เราต้องตามให้ทันถ้าจะตามมันนะคะ (พี่ก็ชอบวิกิฯ ค่ะ  search เมื่อไร พี่วิกิมาอันดับต้นๆ เสมอเลย)

มี Wigi  ก็มี Wigrian เว็บไร้สารานุกรมเสรี (Uncyclopedia)

(คลิกอ่าน >>วิเกรียนพีเดีย - ไร้สาระนุกรม) นะคะ

ลุ้น...ใจไม่สบายเลยค่ะ กังวล...แค่นับเวลาถอยหลังแยกกันอยู่ก็แย่แล้วนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท