ลดความเหลื่อมล้ำ..จากความเจ็บปวดของตัวเอง


คำปลอบโยน คำให้กำลังใจ หรือวาดหวังอะไร ไม่มีความหมายเลย ถ้ามันไม่ได้มาจากใจ หรือ ประสบการณ์ตรง ที่เคยได้รับมาแล้ว

     ความเจ็บปวดเป็นอาการธรรมชาติ ที่ใครก็ตามเมื่ออยู่ในสภาวะนั้น ย่อมมีความเสมอภาคที่จะเจ็บปวดเท่าเทียมกัน

 ผู้เขียนทำงานเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ ทั้งรักษาโรคภัยไข้เจ็บ การทำแผล เย็บแผล ฉีดยา ต่างๆนาๆ เท่าที่มีสิทธิ์จะทำ แต่มีการรักษาอย่างหนึ่ง ที่ผู้เขียนพบว่า คนไข้นั้น มีความทุกข์ทรมานจากการรับบริการมาก ทุรนทุราย เร่าร้องทุกครั้ง และเกือบจะทุกคนไป นั่นคือการผ่าฝี

  ผู้เขียนไม่เคยฉีดยาชาก่อนผ่าฝี เพราะถึงฉีดไปบริเวณนั้นก็จะไม่ชา และแรงดันยาผ่านเชื้อหนอง อาจพาเชื้อนั้นเข้ากระแสเลือดได้อีก กลัดหนอง เป็นความเจ็บปวดมาก ยิ่งถ้าใช้นิ้วสัมผัสแล้ว ฝีนั้นมีอาการนิ่ม ฟ่อดแฟ่ดด้วยแล้ว เขาเรียก ฝีสุกเต็มที่ อย่่างนี้ต้องผ่า!

  การผ่าก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไร เพียงแค่ทำความสะอาด บริเวณนั้นให้ดี แล้วก็ใช้ใบมีดผ่าตัด ที่มีลักษณะเหมือนใบพาย เป็นเหล็กกล้า แข็งแรง มีขนาดเท่ากับครึ่งหนึ่งของนิ้วก้อย กดลงไปบนหัวฝีเพื่อเปิดปากแผลให้กว้าง แล้วปล่อยให้หนองระบายหนองออก เมื่อมาถึงครงนี้ เสียงร้องของคนไข้ ก็ลั่นห้องปฐมพยาบาล ถ้าเป็นเด็ก ก็ร้องไปดิ้นไป จึงต้องทำให้เสร็จในเวลาอันสั้น จะใช้เครื่องมือที่เป็นช้อนเล็กๆ มีด้ามให้จับ มาตัก และขูดหนองร้ายออกให้หมด

  ตามตำราและที่ครูบาอาจารย์สอนไว้ ว่า ต้องทำจนมีแต่น้ำเลือดออกมา แสดงว่า หนองหมดแล้ว แผลสะอาด จะหายเร็ว สุดท้ายก็ยัดผ้ากอซชิ้นเล็กๆ ยาวๆไว้ เพื่อระบายและป้องกันปากแผลปิด

 คนไข้ต้องมาล้างแผลทั้งสัปดาห์ แผลจึงจะค่อยๆตื้นและหายไปใที่สุด ผู้เขียนรับรองได้ว่าถ้าทำแบบนี้ หายปกติแน่นอน แต่แม้จะดีวันดีคืน คนไข้ก็มองการรักษานี้ อย่างเกรงกลัว ทุกวันที่เจอหน้า จะอิดออด ผู้เขียนก็ชวนคุย เล่าให้กำลังใจว่า แผลใกล้หายแล้ว เจ็บอีกนิดนะ ...ฯลฯ

  แต่คนไข้จะฟังหรือเปล่าไม่ทราบได้ เพราะเห็นเงียบๆ เกร็ง ที่แท้เขากำลังกัดฟัน อดทนอยู่

ผู้เขียนจะไม่เข้าใจ ความเจ็บปวดชนิดนี้เลย ถ้าวันหนึ่งจะไม่ได้เป็นฝีที่กลางหลังของตัวเอง พยายามกินยาแก้อักเสบแล้ว แต่ฝีก็ยังดำเนินอาการต่อไปเรื่อยๆ มือก็เอื้อมไปสัมผัสเกือบจะไม่ถึง ได้แต่ใช้ปลายนิ้ว ลูบเบาๆ มันเจ็บเหลือเกิน ปวด มีไข้ ไม่สบายตัวจะนอนก็ลำบาก ที่สุด ฝีก็สุกเต็มที่แล้ว ต้องผ่า!

  คงไม่ต้องอธิบายซ้ำ ว่าผ่าฝีเขาทำกันอย่างไร การยัดผ่ากอซ เพื่อกันปากแผลปิดนั้น มันปวดหนึบ เข้าไปถึงหัวใจ ปวดขนาดไหน แต่ก็ยังน้อยกว่าความเจ็บปวดขณะที่ดึงผ้าชิ้นนั้นออกมา เวลานอนให้เพื่อนทำแผล เหลือบตาไปเห็นไม้พันสำลีอยู่ในกำมือหลายอัน มันอ่อนใจ และสุดจะทนเมื่อนึกถึง การเช็ดแผลซ้ำแล้วซ้ำเล่า ให้สะอาด จนวันหนึ่งผู้เขียนก็บอกกับเพื่อนว่า เบาๆหน่อยนะมันเจ็บมาก

 เพื่อนที่ทำแผลให้ หัวเราะขบขันผู้เขียน และบอกว่า โธ่แผลเล็กมากเลยนะ ไม้พันสำลียังแหย่ไม่ลงเลย ทำไมใจเสาะจัง

 จากนั้นผู้เขียนก็ไม่พูดอะไรอีกเลย นอนอดทนอยู่อย่างนั้น เพราะขืนพูดอะไรออกไป ทุกคำพูดที่ผู้เขียนเคยบอกกับคนไข้ ก็จะย้อนมาเข้าหู จากปากของเพื่อนนั่นเอง

 คำปลอบโยน คำให้กำลังใจ หรือวาดหวังอะไร ไม่มีความหมายเลย ถ้ามันไม่ได้มาจากใจ หรือ ประสบการณ์ตรง ที่เคยได้รับมาแล้ว

  นับตั้งแต่วันที่ผู้เขียน หายจากการเป็นฝี ใจของผู้เขียนก็เปลี่ยนไป มองเห็นความเหลื่อมล้ำทางความรู้สึก ที่ละเอียดอ่อนมาก จนยากที่จะเข้าใจ หรือมองเห็น โดยเฉพาะ ระหว่างหมอและคนไข้ ต่อให้คุณจบวิชาการรักษา จากสถาบันที่ดีที่สุดในโลกนี้ เป็นนักรักษามือหนึ่ง ที่มีค่าฝีมือเป็นล้าน คุณจะไม่มีวันได้เข้าถึงความรู้สึกของคนไข้อย่างแท้จริงแน่นอน ตราบใด ที่คุณยังไม่เคยโดน ไม่เคยเป็น กับสิ่งเหล่านั้นด้วยตนเอง

   ผู้เขียนได้ค้นพบ และลดความเหลื่อมล้ำนั้น ให้กับตนเองกับคนไข้แล้ว ซึ่งต่อมาคนไข้หลายคน ชมเชยว่า ผู้เขียนทำแผลไม่เจ็บ และฉีดยาเด็กยังไม่ร้องเลย

Dsc09020

มันเจ็บจริงๆนะ

   ถ้าจะสรุปให้สั้น และเข้าใจ นำไปปฏิบัติได้ง่ายๆ เพียงแค่เราใช้วิธีการ "เอาใจเขา มาใส่ใจเรา" ทุกๆกรณี ความเหลื่อมล้ำทุกประการที่เกิดขึ้นในโลกนี้ ก็แทบจะไม่ต้องใช้เครื่องมืออันวิเศษมากมายอันใด มาประกอบเลย

                           เป็นการลดความเหลื่อมล้ำ จากประสบการณ์ที่เจ็บปวดมาก

 

หมายเลขบันทึก: 258534เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2009 09:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

สวัสดีค่ะ

อ่านแล้วนึกถึงความหลังค่ะ ครูต้อยเคยช่วยพ่อผ่าฝีคนไข้ ที่บ้าน เวลานั้นที่โรงพยาบาลบ้านแพ้วยังเล็กมาก ไม่มีเวรเลยคนไข้ก็พากันนั่งเรือมาที่บ้านร้องเรียกคุณหมอช่วยด้วย แถมฟ้องด้วยว่าเวรพยาบาลไม่อยู๋ พ่อครูต้อยหัวเราะขำบอกว่าโธ่พยาบาลก็กลับไปดูลูกบ้างซิ มาขึ้นมาจะทำให้ แล้วครูต้อยก็ได้ช่วยพ่ออื้อฮือ สุดจะกล้ำกลืนเลยค่ะ เป็นถาดๆเลยน้ำหนองนี่ร้ายจริงๆ แล้วก็ดูพ่อแหย่หมุดผ้าก๊อดลงไป พ่อบอกว่าวันหลังจะได้ช่วยพ่อได้ และวันต่อมาเมื่อตนไข้มาชะแผล ครูต้อยก็ได้รับอนุญาตให้ทำหน้าที่นี้แทน เพราะพ่องานเยอะมากขอบคุณค่ะ ที่ทำให้รำลึกความหลังแบบมีความสุข

  • สวัสดีค่ะ
  • ครูอิงก็เคยเป็นฝีที่น่องค่ะ เจ็บปวดมาก
  • หมอเค้าใช้มือกดอย่างแรงโดยไม่ปราณีปราศรัย หนองพุ่งกระฉูด
  • เรื่องแบบนี้คนไม่เคยเจ็บ ไฉนเลยจะรู้ว่าเจ็บเป็นเช่นไร
  • อย่างเราบอกว่าปวดฟัน  คนไม่เคยปวดฟันจะไม่รู้เลยว่ามันปวดทรมานขนาดอยากวิ่งไปให้รถสิบล้อชนให้ตายไปเลย
  • เหมือนกับผู้ชายที่ไม่เคยรับรู้อาการปวดประจำเดือนของผู้หญิง
  • อิ..อิ..อิ...ชักจะนอกเรื่องไปใหญ่แล้ว ครูอิงชอบเป็นคน เม้าท์แตก
  • ขอบคุณมากค่ะ

แวะมาอ่าน เรียนรู้ค่ะ

มีความสุข มีสิ่งดีๆ  มีกำลังใจดีๆเสมอๆนะคะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะคุณkrutoi

ขอยกย่องน้ำใจคุณพ่อ

ที่เข้าใจทั้งคนไข้

และคนที่โรงพยาบาล

ผ่าฝีเป็นการรักษาที่ดูเหมือนโหดร้าย

แต่ได้ผลชะงัดค่ะ

ตกกลางคืนของการผ่าฝีเอาหนองออกแล้ว

คนไข้จะได้รับรางวัล

คือการนอนหลับอย่างสบาย

มีความเจ็บปวดแค่พอทนได้เท่านั้น

ไม่ทรมานอีกต่อไป

ขอบคุณที่นำเรื่องเล่าดีๆ มาติมเต็มค่ะ

สวัสดีค่ะคุณครู. อิงจันทร์

ไม่ใช่ชอบเม้าท์แตกหรอกค่ะ

คุณครูเป็นคนคุยสนุก

และเรื่องราวต่างๆมันก็มาจ่อ

อยู่ที่ริมฝีปาก ให้อยากถ่ายทอด

นี่แหละค่ะจิตวิญญาณของความเป็นครู

ที่ดูจะตรงข้ามกับหมอ

ที่นับวันจะพูดน้อยลงไปทุกที

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะคุณ@..สายธาร..@

ขอบคุณความปรารถนาที่มอบมาให้

ให้ได้รับกลับคืนไปอย่างมหาศาลนะคะ

ชีวิตคนเราเป็นเรื่องน่าสนุก

ถ้าได้ทบทวนแล้วมาเขียนในวันนี้

จะทำให้เข้าใจความรู้สึกถ่องแท้

มากกว่าตอนประสบเหตุเสียอีก

มีความสุขกาย สบายใจตลอดไปด้วยนะคะ

สวัสดีค่ะ

* เป็นความเหลื่อมล้ำที่โดนใจจริงๆ ค่ะ ตราบใด ที่คุณยังไม่เคยโดน ไม่เคยเป็น กับสิ่งเหล่านั้นด้วยตนเอง

* ใจเขาใจเราที่สำคัญต้องใจที่เข้มแข็งด้วยกันทั้งสองฝ่าย

* สุขกายสุขใจนะคะ

สวัสดีค่ะคุณ นาง พรรณา ผิวเผือก (ไม่มีชื่อกลาง)

ดอกไม้งามมาก

มีกลิ่นไหมคะ

ดูแล้วช่วยลดความเหลื่อมล้ำ

ทางอารมณ์ได้ดีจังค่ะ

สุขสบายเสมอกัน

ขอบคุณมากค่ะ

สวัสดีค่ะ

สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นเสมอกับแพทย์และพยาบาล คือมักจะไม่ได้เคยรับรู้ว่าผู้ป่วยรู้สึกอย่างไร

เพราะฉะนั้นบางครั้งจึงทำอะไรบางอย่างลงไปที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกแย่ได้ เพราะเราไม่เคยรู้ ไม่เคยพบเจอเอง แต่เราจะรับรู้และให้เกียรติผู้ป่วยมากขึ้นเมื่อเราต้องกลายเป็นผู้ป่วยเองค่ะ

ขอบคุณค่ะ

ประสบการณ์ที่เล่านี้ เห็นมาบ่อยค่ะ บางทีหมอไม่เคยเป็นฝี ไม่รู้หรอกว่า เจ็บอย่างไร รักษาไปตามที่เรียนมา ดังนั้น ควรต้องเห็นใจผู้ป่วยมากๆนะคะ
มาเยี่ยมด้วยค่ะ ตอนนี้ สบายดีนะคะ

 

สวัสดีค่ะคุณ สี่ซี่

เป็นความจริงของอีกหลายๆอาชีพด้วยค่ะ

ที่มีการให้บริการและรับบริการกัน

เป็นความเหลื่อมล้ำที่ไม่หมดสิ้น

ตราบใดที่เรายังไม่ได้ให้บริการ

ด้วยจิตวิญญาณที่ลึกซึ้ง

ขอให้บันทึกนี้

เป็นตัวอย่าง และเรียนรู้กันต่อไป

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะคุณพี่Sasinand

สบายดีนะคะ

วันที่เป็นฝีนั้นไม่สบายเลยค่ะ

เจ็บปวดทรมาน

และก็ดีใจ ที่ความเจ็บปวดนั้น

ทำให้เราพัฒนาความรู้สึกและจิตใจขึ้น

เป็นการลดความเหลื่อมล้ำอย่างธรรมชาติทีเดียว

ขอบพระคุณค่ะ

ความเหลื่อมล้ำนั้น คงต้องแก้ด้วยการนึกถึงใจเขา ใจเรา จริงๆนั้นแหละค่ะ ^^

แต่ยังมีความเหลื่อมล้ำมากมายที่เกิดขึ้นนะคะ

ร่วมแชร์ความรู้ และ ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำกันได้

ด้วยการ คลิ๊ก LIKE

http://www.facebook.com/pages/ReformThailand/110693348986948

Reform Thailand ค่ะ

อ่านแล้ว รู้สึกดี มากเลยค่ะ ขอบคุณนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท