ในบทความ "การศึกษาตลอดชีวิต กับการเรียนรู้ตลอดชีวิต" ของอาจารย์หมอวิจารณ์ อ.กรกฎได้เสริมความเห็นโดยกล่าวถึง "แหล่งเรียนรู้" พอพูดถึงแหล่งเรียนรู้ ผมก็ขอเสนอแหล่งเรียนรู้ยอดนิยมของผม นั่นคือ "หนังสือ" ครับ หนังสือที่อยู่บนกระดาษที่เป็นเล่มนี่ละครับ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ประเทศไทยต้องใส่ใจเป็นอย่างมากในการพัฒนา
หนังสือเป็นเทคโนโลยีในการนำพาความรู้ที่ผมชอบที่สุดและยังไม่เจอเทคโนโลยีไหนทำให้ผมเรียนรู้ได้อย่างมีความสุขเท่ากับการอ่านหนังสือเลย เพราะเวลาผมอ่านกับหน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ ดวงตาจะล้ามาก แม้ปัจจุบันจะชินแล้ว แต่ก็รู้ว่าไม่ดีต่อสุขภาพในระยะยาว
ในทางกลับกัน เวลาผมอ่านหนังสือเป็นเล่มผมจะไม่รู้สึกถึงความล้าเหล่านั้นเลย ผมคิดว่าเป็นเพราะเราขยับตัวปรับร่างกายตลอดเวลาที่เราอ่านให้อยู่ในลักษณะที่ให้เราสบายที่สุด แถมตัวหนังสือบนกระดาษก็ไม่กระพริบ (ไม่ว่าที่ความถี่เท่าไหร่ก็ตาม) และด้วยความสบายตัวในการอ่านที่มีมากกว่านั้น เวลาผม "เรียนรู้" จากหนังสือ ผม "อิ่มเอิบใจกับความรู้" จากหนังสือมากกว่าจากสื่ออย่างอื่นครับ
แต่อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนหนังสือจะเป็นสื่อที่ถูกลืม โดยเฉพาะในแวดวงการศึกษาของไทย เท่าที่ผมตามข่าวมานี้ ผมพบว่าเราทุ่มงบประมาณกับเทคโนโลยี high-tech แต่ลืม low-tech (but proven) อย่างหนังสือไป
ผมพบว่าหลายๆ หน่วยงานที่สนับสนุนด้านการศึกษาของรัฐพยายามพัฒนาเทคโนโลยีการศึกษาโดยดูตัวอย่างจากประเทศที่เราถือกันว่าพัฒนาแล้วทางการศึกษา (อาทิเช่น อเมริกา ... ก็แล้วกัน ผมเคยอยู่อยู่ประเทศเดียว) ในการตามประเทศพัฒนาแล้วนั้น เจ้าหน้าที่หน่วยงานเหล่านั้นพยายามมองหา "อะไร" ที่ทันสมัย แต่มองข้าม "หัวใจ" ที่ทำให้การศึกษาของประเทศเหล่านั้นพัฒนา เพราะ "หัวใจ" อันได้แก่ "หนังสือ" นั้นมัน low-tech เหลือเกิน
ถ้าให้ผมเดา เจ้าหน้าที่เหล่านั้นคงคิดว่า "บ้านเราก็มี" เวลาเห็นหนังสือในประเทศที่เป็นผู้นำทางการศึกษา แต่ "บ้านเราก็มี" นี่มันไม่มีจริงๆ อย่างที่ท่านเหล่านั้นคิดครับ เท่าที่ผมเห็น บ้านเรามีเทคโนโลยี high-end ต่างๆ ไม่ได้แพ้อเมริกาเลย (ยกตัวอย่างอเมริกาอีกแล้ว) เมืองไทย "high-tech" กว่าอเมริกาในหลายๆ เรื่องด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่อเมริกามีแต่เมืองไทยไม่มีคือ "ห้องสมุดประชาชนดีๆ" "ร้านหนังสือดีๆ" และ "หนังสือดีๆ" เราแพ้เขาเรื่อง “low-tech” นะครับ
"ห้องสมุดประชาชนดีๆ" – ต้องขอออกตัวไว้ก่อนว่า ผมก็ไม่เคยเห็นห้องสมุดประชาชนในอเมริกามากกว่าห้องสมุดสองสามแห่งที่อยู่แถวบ้านผมแถว Baltimore County, Maryland ซึ่งเป็นถิ่นคนดำซึ่งถือว่ามีมาตราฐานทางการศึกษาต่ำกว่าคนกลุ่มอื่น แต่ห้องสมุดสองสามแห่งนั้นแม้จะเล็กๆ แต่ก็ "alive" ครับ มีหนังสือมากมาย มีกิจกรรมต่างๆ จัดเกือบทุกสัปดาห์ มีคนทุกวัยเดินไปมาขวักไขว่ และมีหนังสือใหม่ๆ หมุนวนมาเรื่อยๆ Arbutus Library กับ Catonsville Library นี่ละครับที่ผมไปเป็นประจำ แหม... เห็นรูปในเว็บแล้วคิดถึงแทบจะขาดใจ
ส่วนเวลาหันกลับมามองห้องสมุดประชาชนบ้านเรา จากที่แทบขาดใจก็ขาดใจไปเลย เพราะห้องสมุดประชาชนบ้านเราเหมือนกับสิ่งปลูกสร้างร้างเป็นอนุสรณ์สถานของอะไรสักอย่าง ลองถามนักศึกษาปีหนึ่งที่สอนว่าใครเคยไปห้องสมุดประชาชน (ด้วยตัวเอง ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของวิชาเรียนในมัธยม) บ้าง มีนักศึกษายกมือเอาใจผมสักสองคนเห็นจะได้ .... คนนึงยกมือเพราะผมบังเอิญมองอยู่ ส่วนอีกคนยกมือเป็นเพื่อนคนแรก
"ร้านหนังสือดีๆ" – พูดถึงร้านหนังสือดีๆ นี่ผมมีมุขตลก (ร้าย) ที่ผมใช้เล่า (เพราะคนเล่าอยากเล่า) เป็นประจำอยู่เรื่องหนึ่ง เรื่องมีอยู่ว่า หลังจากผมกลับมาเมืองไทยแล้ว มีคนชอบถามผมเสมอว่าร้านเหล้าในอเมริกานี่มันเป็นอย่างไร เวลามีคนถามคำถามนี้ ผมก็พยายามตอบ แต่อธิบายอย่างไรคนถามก็ไม่เข้าใจ จนในที่สุดผมก็ได้วิธีการอธิบายที่ทุกคนเข้าใจได้ในทันทีวิธีหนึ่ง ดังนี้ครับ
“ร้านเหล้าในอเมริกานะเหรอ ขนาดเท่ากับร้านหนังสือในเมืองไทยนั่นล่ะ เล็กๆ โทรมๆ ทึมๆ ในร้านโดยส่วนใหญ่ก็มีแต่ขาประจำ เจ้าของร้านแก่ๆ นั่งบอกบุญไม่รับ”
“อ้าว... แล้วร้านหนังสือในอเมริกาล่ะมันเป็นยังไง” เวลาผมบรรยายลักษณะร้านเหล้าอย่างนั้น ผมจะเจอคำถามนี้ทุกที และนี่คือคำตอบผม
“อ๋อ... ร้านหนังสือในอเมริกาเหรอ ขนาดเท่ากับร้านเหล้าในเมืองไทยนั่นล่ะ ใหญ่เท่าสนามฟุตบอล มีสองชั้นสามชั้น มีคนทั้งเดินทั้งนั่งเต็มไปหมด ทั้งเด็ก วัยรุ่น และผู้ใหญ่ มีดนตรีเล่น (โดยวงดนตรีเล็กๆ ที่มีคุณภาพ) มีเวทีขนาดเดียวกับเวทีตลกคาเฟ่ให้คนพูด (กวีหรือนักเขียน) มีโต๊ะ มีเก้าอี้ให้นั่งสบายๆ มีกาแฟ ไม่มีเหล้าขายเท่านั้นเอง”
ตลกร้ายไหมครับ? ถ้าคุณเห็นว่าตลก คุณหัวเราะก็ได้ แต่ถ้าคุณเห็นว่า “ร้าย” คุณต้องเครียดกับเรื่องนี้แล้วครับ คนที่เป็นแฟนประจำ Borders หรือ Barnes & Noble ก็คงเข้าใจผม ส่วนคนที่ได้ผ่านไปเห็น “ร้านเหล้าสมัยใหม่” ในเมืองไทยทั้งหลายก็คงเข้าใจผมเช่นกัน
เรื่องเกี่ยวกับร้านหนังสือยังไม่จบครับ ถ้าคุณเคยไปเยี่ยมมหาวิทยาลัยต่างๆ ในต่างประเทศ คุณจะเห็นว่ามหาวิทยาลัยเหล่านั้นจะมีสิ่งเชิดหน้าชูตาอยู่สองอย่าง หนึ่งคือ “ห้องสมุดของมหาวิทยาลัย” สองคือ “ร้านหนังสือของมหาวิทยาลัย” ส่วนมหาวิทยาลัยของไทยเรานั้น เรามีห้องสมุดไว้เชิดหน้าชูตาเหมือนกัน เพราะขนาดของตึกเราไม่เป็นรองใคร แต่เนื่องจากเราลงทุนสร้างตึกไปเยอะแล้ว เราเลยไม่ค่อยมีเงินซื้อหนังสือใส่ห้องสมุด ส่วนร้านหนังสือของมหาวิทยาลัยนั้น บางมหาวิทยาลัยไม่มีเลย บางมหาวิทยาลัยให้เอกชนเช่าห้องเล็กๆ และเช่าชื่อ “ศูนย์หนังสือ...” ไว้ขายหนังสือพิมพ์
ผมจึงขอกราบท่านผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่ยังไม่มี “ศูนย์หนังสือ” ของจริง ว่าโปรดกรุณาให้ความสำคัญกับหนังสือบ้าง เชื่อผมเถอะว่าเวลาชาวต่างชาติมาเยี่ยมเขาจะตื่นเต้นกับขนาดของ “ศูนย์หนังสือ” มากกว่าขนาดของ “ป้ายชื่อมหาวิทยาลัย” ควรมิควรแล้วแต่ท่านพิจารณา
“หนังสือดีๆ” – ถ้าผมจะพูดว่า “ประเทศไทยหาหนังสือดีๆ ให้คนไทยไม่ได้” คงต้องมีคนเถียงแน่นอน “ก็หนังสือในประเทศไทยมีเยอะแยะ หรือจะเอาหนังสือต่างประเทศก็สั่งซื้อได้....” ถูกต้องครับ แต่หนังสือยังถือว่าเป็นของสำหรับ elites เท่านั้น ราคาของหนังสือเมื่อเทียบกับรายได้โดยเฉลี่ยของคนไทยแล้ว ถือว่าแพงถึงแพงมากครับ ยิ่งเป็นหนังสือต่างประเทศยิ่งแพงเกินกว่าที่คนไทยจะซื้อหาโดยทั่วไปได้
หนังสือแพงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนไทยไม่อ่านหนังสือ เมื่อคนไทย (ในภาพรวม) ไม่อ่านหนังสือ คนไทยก็ไม่เขียนหนังสือ (เพราะไม่รู้จะเขียนให้ใครอ่าน ... ตีพิมพ์หนึ่งพันเล่ม ส่งคืนสำนักพิมพ์ห้าร้อยเล่ม) เป็นอย่างนี้แล้วปัญญาของคนในชาติก็ด้อยลงเรื่อยๆ สำหรับพวกเราที่สนใจการจัดการความรู้ก็ไม่ต้องจัดการความรู้ เพราะไม่มีความรู้ให้จัดการ
พอกล่าวถึงตรงนี้แล้ว ผมขอยกตัวอย่าง “เคล็ดลับ” ความสำเร็จของประเทศอินเดียที่กลายเป็นยักษ์ใหญ่ด้าน IT เท่าที่ผมได้ทราบมานะครับ (เพราะยังไม่เคยไปอินเดีย แต่กำลังเก็บเงินจะไป) เคล็ดลับของอินเดียเขาไม่ซับซ้อนอะไรเลย แค่เขาทำให้หนังสือด้าน IT ที่คุณภาพดี (เป็นภาษาอังกฤษจากสำนักพิมพ์ดีๆ ระดับโลก) มีการตีพิมพ์อย่างแพร่หลายในประเทศอินเดีย ด้วยกระดาษที่คุณภาพต่ำแต่ในราคาที่คนจนซื้อได้ ส่วนประเทศไทยเท่าที่ผมเดินดู เรามีหนังสือด้าน IT คุณภาพสูง (ตีพิมพ์ด้วยกระดาษดี) แต่เนื้อหาส่วนใหญ่เป็น How-To เต็มไปรูปประกอบ หรือไม่ก็แปลหนังสือต่างประเทศด้วยทีมงานระดับนักศึกษามหาวิทยาลัยปีหนึ่งที่จ้างมาทำวันเสาร์-อาทิตย์ ได้อย่างนี้แล้วคุณภาพก็ไม่ต้องพูดถึงครับ
สำหรับผมเอง ผมมีวิธีวัดว่าประเทศไทยเจริญแล้วหรือยังเป็นวิธีส่วนตัวครับ เมื่อไหร่ชาวนาแถวบ้านผม บ้านขุนแสน ต.นาชะอัง จ.ชุมพร ซื้อหนังสือ (หนังสือจริงๆ ไม่ใช่หนังสือพระเครื่องหรือทีวีบันเทิง) มาอ่านในเวลาว่างจากการทำนาแล้ว เมื่อนั้นแสดงว่าประเทศไทยเจริญแล้วครับ
ผมไม่ใช่นักการศึกษา ผมไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับการศึกษาเลยด้วยซ้ำ ผมแค่รู้วิธีการหาความรู้มาเป็นทุนเพื่อนำมาสร้างรายได้ประทังชีวิตเพราะผมไม่มีทุนประเภทอื่น ผมแค่รู้ว่าผมรอดมาจากหมู่บ้านชายขอบประเทศไทยไปไหนต่อไหนข้ามโลกไปหลายต่อหลายรอบได้ก็เพราะผมชอบอ่านหนังสือ
ผมอยากเห็นคนไทยอ่านหนังสือ เพราะนั่นเป็นเคล็ดลับในการสร้างทุนทางปัญญาเพื่อเอาตัวรอดเพียงหนึ่งเดียวของผมที่ได้ผล ผมเชื่อ และเชื่อเป็นอย่างยิ่ง ว่าถ้าจะทำให้ประเทศไทยเจริญ ต้องเริ่มต้นที่หนังสือครับ