จะเอื้อให้ผู้ป่วยเรียนรู้ได้อย่างไร


คนเป็นเบาหวานต้องกินอย่างมีสติ

เมื่อวานดิฉันได้ตั้งประเด็นว่า "เป็นเบาหวาน กินหวานได้ไหม" ได้รับคำตอบที่ตรงกันว่า เป็นเบาหวานก็กินของหวานได้ แต่ต้องรู้ว่าควรกินมากน้อยแค่ไหน ในกรณีนี้ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช กรุณายกตัวอย่างและให้ข้อคิดเห็นว่า "คนเป็นเบาหวานกินหวานได้ แต่ต้องกินอย่างมีสติ"

เราจะช่วยผู้ป่วยให้ "กินอย่างมีสติ" ได้อย่างไร น่าสนใจนะคะ

คุณมนทิพย์ ร่าเริงวิจิตร นักกำหนดอาหารของโรงพยาบาลเทพธารินทร์ เล่าว่า

"จะต้องรู้ก่อนว่าผู้ป่วยมีพฤติกรรมการกินเป็นอย่างไร มีความต้องการพลังงานในแต่ละวันเท่าไหร่ แล้วจึงแนะนำอาหารให้เข้ากับแบบแผนชีวิตของเขา เช่น ผู้สูงอายุมักกินอาหารได้ครั้งละน้อยๆ แต่ต้องทานบ่อย ก็ให้กินได้วันละ ๕-๖ มื้อ.... ที่สำคัญจะต้องบอกปริมาณที่ควรกินให้ชัดเจน มีตัวอย่างอาหารขนาดเท่าของจริงให้ผู้ป่วยดูด้วย จะได้รู้ว่ากินข้าวได้แค่ไหน ถ้าไม่กินข้าวจะกินขนมปังหรือขนมจีนกินได้มากน้อยเท่าใด เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อปลา กินได้เท่าใด ส้มลูกใหญ่แค่ไหน........คือมีตัวอย่างปริมาณอาหารให้เห็นชัดเจนไปเลย ผู้ป่วยจะได้นึกภาพออก เรื่องอาหารของผู้ป่วยเบาหวาน คนส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่าไม่กินหวานก็พอแล้ว จึงเกิดคำถามว่า ไม่กินหวานแล้วทำไมยังคุมน้ำตาลในเลือดไม่ได้ จริงๆ แล้วต้องทำความเข้าใจกับผู้ป่วยและญาติด้วยว่าอาหารประเภทข้าว-แป้ง ผัก ผลไม้ และนม มีสารอาหารหลักเป็นคาร์โบไฮเดรต สามารถเปลี่ยนเป็นน้ำตาลได้ ๑๐๐ % แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยจะกินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตไม่ได้ สิ่งที่ต้องเรียนรู้คือปริมาณที่เหมาะสม"

ดิฉันนึกย้อนไปถึงคำพูดของคุณทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการโครงการเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) กล่าวถึงความสำเร็จของงานจัดการความรู้ของชุมชนว่า "ต้องเอาวิถีชีวิตเป็นตัวตั้ง" เรื่องของอาหารก็เป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคนเรา การที่จะให้ผู้ป่วยเบาหวานรับประทานอาหารได้เหมาะสม เราก็ต้องเรียนรู้วิถีชีวิตของเขาก่อนแล้วช่วยเขาในการปรับให้เข้ากับภาวะของการเป็นเบาหวาน ถ้าเราไม่สนใจวิถีชีวิตของเขาแล้วไปกำหนดให้กินอย่างนั้นอย่างนี้ ผู้ป่วยคงจะเครียดมากและปรับการกิน (คุม) อาหารไม่สำเร็จ (น่าจะเลิกใช้คำว่าคุม เพราะไม่ทำให้เกิดความรู้สึกในทางบวก)

ดิฉันว่าเรื่องอาหารของผู้ป่วยเบาหวานยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกเยอะ โดยเฉพาะอาหารไทย แกงชนิดเดียวกัน แต่ละครัวยังปรุงไม่เหมือนกันเลย ดิฉันมีความเห็นว่าความรู้และคำแนะนำที่เราให้แก่ผู้ป่วยไป แม้จะมีรายละเอียดมาก แต่ก็ยังเป็นเพียงแนวทางการปฏิบัติเท่านั้น ในชีวิตจริง ผู้ป่วยเบาหวานจะต้องเรียนรู้ผ่านการทดลองปฏิบัติด้วยตนเอง ติดตามประเมินผลและปรับปรุงหลายๆ ครั้ง (น่าจะคล้ายวงจร PDCA) จนได้รูปแบบการกินอาหารที่เหมาะกับตนเองคือมีความสุขและคุมน้ำตาลในเลือดได้ กระบวนการนี้ต้องใช้เวลาค่ะ บางคนต้องใช้เวลานานเป็นเดือนเป็นปี

เราจะมีวิธีการอย่างไรในการเอื้ออำนวยการเรียนรู้ของผู้ป่วย ใครมีประสบการณ์ลองเล่าเข้ามานะคะ

กินแล้วสังเกตผล รู้ว่าร่างกายตนเองเป็นอย่างไร แบบนี้จะเรียกว่า "กินอย่างมีสติ" ได้ไหมคะ

วัลลา ตันตโยทัย

๑๖ มิถุนายน ๒๕๔๘

คำสำคัญ (Tags): #เบาหวาน#อาหาร
หมายเลขบันทึก: 240เขียนเมื่อ 16 มิถุนายน 2005 10:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2012 10:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรื่องเล่าที่ท่าน อ.วัลลา เล่าเป็นประโยชน์มากค่ะ ติดตามคล๊อกชุมชนนี้มาโดยตลอดค่ะ...ขอสมัครเป็นแฟนพันธุ์ทางก่อนค่ะ ...ในอนาคตตั้งเป้าหมายไว้จะเป็น...แฟนพันธุ์แท้ค่ะ...

pr.kmi

 

มีคนที่บ้านเป็นเบาหวาน อ่านแล้วมีประโยชน์มากค่ะ

ขอบคุณที่มอบสิ่งดีๆให้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท