อีเม


อีเมล เรือเมล์ ลิเก ตำรวจ

ทัณฑฆาต คือสัญลักษณ์สำหรับฆ่าเสียง หรือที่เราจะรู้จักกันดีว่า การันต์ นั่นเอง

ทัณฑฆาต คือตัวฆ่า, การันต์คือตัวที่ถูกฆ่า, โดนฆ่าแล้วก็ตาย, ตายแล้วก็พูดไม่ได้ → ไม่ต้องออกเสียง

เช่น ถ้าเห็นเด็กแชตกัน: "น้องง์สาวส์ ไปย์ไหนร์มาห์เหรอล์จ๊ะฐ์" อันนั้นคือ เค้าถามว่า "น้องสาว ไปไหนมาเหรอจ๊ะ"

มีไปทำไม

ถาม ทัณฑฆาตมีประโยชน์ยังไง ? ทำไมต้องใส่ให้เกะกะ ? .. ถ้าจะไม่ออกเสียงตัวไหน ก็ไม่ต้องเขียนไปตั้งแต่แรกเลยสิ จะได้ไม่ต้องมาฆ่าให้บาป (น่ะ)

ตอบ ที่เราต้องเขียนตัวสะกดไปทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ออกเสียงนั้น ก็เพื่อให้เรารู้ว่า คำนั้นมีที่มาจากไหน อันจะทำให้เรารู้ว่า คำนั้นมีความหมายว่าอะไร เช่น:

  • รัก รักษ์
    • รักษ์ – (จากสันสกฤต/บาลี รกฺข) ระวัง, ดูแล, ป้องกัน
      • ถ้าพบในรูป อารักขา อันนี้มาจากบาลี แปลว่า การป้องกันให้, ความคุ้มครอง, ความดูแล
    • รัก – ชอบอย่างผูกพันพร้อมด้วยชื่นชมยินดี
  • เทศ เทศน์ เทศก์
    • เทศ – ต่างประเทศ เช่น เครื่องเทศ ม้าเทศ
    • เทศน์ – (จากบาลี เทสนา) การแสดงธรรมสั่งสอนในทางศาสนา
    • เทศก์ – พบในคำว่า มัคคุเทศก์ (จากบาลี มคฺค + อุทฺเทสก) ผู้นำทาง, ผู้ชี้ทาง, ผู้บอกทาง
  • ชน ชนม์
    • ชน – โดนแรง ๆ ; บรรจบ เช่น ชนขวบ ; ให้ต่อสู้กัน เช่น ชนไก่
    • ชนม์ – (จากสันสกฤต ชนฺมนฺ) การเกิด
      • ผู้วายชนม์ หมายถึง ผู้ตาย

ถ้าเราเขียนแค่ รัก เทศ ชน ฯลฯ โดยไม่มีตัวการันต์ เราก็จะอาจจะสับสนได้ว่า คำ ๆ นี้ต้องการหมายความว่าอะไรกันแน่

  • อารัก (แต่น้าอาจจะเกลียด)
  • พระเทศ (สงสัยจะเป็นพระถังซำจั๋ง)
  • ผู้วายชน (ตายด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ แหงม ๆ)

ใช้เท่าที่จำเป็น

แต่ก็ไม่ใช่ว่า เห็นคำไหนมาจากภาษาต่างประเทศ ก็ใส่ทัณฑฆาต ใช้ตัวการันต์กันให้หมด — ใช้เฉพาะเมื่อเราต้องการคงรูปสะกด แต่ไม่ต้องการออกเสียง เท่านั้น

  • มัคคุเทศก์ (จากบาลี มคฺค + อุทฺเทสก)
    • ตัวสะกดดั้งเดิม เทสก เทียบเป็นไทยคือ เทศก
    • ไม่ออกเสียง ก → ใช้ เทศก์
  • คอมพิวเตอร์ (จากอังกฤษ computer)
    • ter ≈ เตอ
    • ไม่ออกเสียง ร → เตอร์
  • อีเมล (จากอังกฤษ e-mail)
    • mail ≈ เม
    • ออกเสียง ล → เมล (ไม่ใช้ ล. การันต์)
      • ถ้าสะกด อีเมล์ ← ไม่ออกเสียง ล, อ่าน อี-เม
  • ฟิล์ม (จากอังกฤษ film)
    • film ≈ ฟิลม
    • ไม่ออกเสียง ล → ฟิล์ม
  • โทนี แบลร์ (จากอังกฤษ Tony Blair)
    • Blair ≈ แบล
      • Bl ≈ บล (ควบกล้ำ)
    • ไม่ออกเสียง ร → แบลร์
  • จอร์จ บุช (จาก.. เอ้อ คนนี้ต้องจากสหรัฐสิเนอะ George Bush)
    • George ≈ จอรจ
    • ไม่ออกเสียง ร → จอร์จ
  • อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (จากเยอรมนี ก่อนจะหนีไปสหรัฐ Albert Einstein)
    • bert ≈ เบิรต
    • ไม่ออกเสียง ร → เบิร์ต
    • Ein ≈ ไอ
    • ไม่ออกเสียง น → ไอน์

น่าสนใจ

ราศีเมษ (อ่าน รา-สี-เมด) — ไม่สะกด ราศีเมษ์ (เพราะไม่อ่านว่า รา-สี-เม)

อีเมล (อ่าน อี-เมล) — ไม่สะกด อีเมล์ (เพราะไม่อ่านว่า อี-เม)

Google ท่านพบ:

  • ราศีเมษ 4,330 หน้า; ราศีเมษ์ 0 หน้า
  • อีเมล 57,100 หน้า; อีเมล์ 931,000 หน้า (มากกว่า 16 เท่า)

ตัวสะกดชื่อราศีนี่ไม่มีผิดเลย, แต่พอเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีนี่ ... น่าตกใจแฮะ

ที่เค้าว่าคนไทยส่วนใหญ่เชื่อเรื่องโชคลางคงจะจริง :P

 

ความเห็นเพิ่มเติม

17 มิ.ย. 2548 - อ่านความเห็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่ bact.blogspot.com (หัวข้อเดียวกับที่นี่ แต่มีความเห็นจากท่านอื่น ๆ)

ผมเชื่อว่า ช่วงเสียงที่คนไทยสามารถออกเสียงได้นั้น กว้างขึ้นกว่าแต่ก่อน อาจจะเป็นเพราะสื่อ เพราะการรับรู้ภาษาต่างชาตินั้น มากขึ้น แพร่หลายขึ้นกว่าแต่ก่อน เยอะ

  • คนรุ่นก่อน ๆ อาจจะออกเสียง เมล/mail ไม่ได้ ก็เลยต้องออกเสียง เม (เวลาสะกด ก็เลยต้องสะกด เมล์ ใช้ ล. การันต์)
  • คนรุ่นเรา สามารถออกเสียง เมล/mail ได้ (และเมื่อออกเสียงได้แล้ว จะยังไปฆ่า ล มันทิ้งด้วยทัณฑฆาตทำไม ?)

ผมเชื่อว่า กฏเกณฑ์ทางภาษา หรือไวยากรณ์นั้น ต้องอธิบายปรากฏการณ์ทางภาษาใหม่ ๆ ได้ (อ่าน prescriptive grammar vs descriptive grammar ; อย่างแรกคือเชื่อว่า ไวยากรณ์กำหนดภาษา อย่างหลังคือเชื่อว่า ไวยากรณ์อธิบายภาษา – ผมเชื่ออย่างหลัง) เช่น มาตราแม่ต่าง ๆ ก็น่าจะมีการปรับปรุงกันเสียหน่อย

ล นี่ ตามมาตราแม่ต้องอยู่ในแม่กน .. เช่นคำว่า กล (อ่าน กน), ถ้าถือตามนี้อย่างเคร่งครัด คำว่า เมล จะต้องอ่านว่า เมน

แต่ใครไม่เชื่อว่าเราออกเสียง เมล (ที่ไม่ใช่ เมน) ได้ ... เราออกเสียง (และต่อเนื่องถึงการสะกด) ชื่อดารา Mel Gibson ว่าอะไรเอ่ย ?

เมน กิ๊บ-สัน ?

อันนี้ก็ไม่รู้แฮะ ลองให้คนรอบ ๆ ตัวออกเสียงให้ฟังดูละกัน (ผมเดาว่าน้อยล่ะ จากประสบการณ์ตัวเองที่ดูทีวี ถ้าใครเจออะไรน่าสนใจ ก็ช่วยแจ้งมาละกันครับ) 

ส่วนความนิยมในการสะกดบนอินเทอร์เน็ตก็ : "เมล กิ๊บสัน" (766), "เมล กิบสัน" (196), "เมล์ กิ๊บสัน" (3), "เม กิ๊บสัน" (0), "เมน กิ๊บสัน" (0)

อีกตัวอย่าง มีใครอ่าน ฮอล ใน ฮอลลีวูด ว่า ฮอน บ้าง ? (หรือจะสะกด ฮอล์ลีวูด ?)

นอกจากเรื่องโชคลางแล้ว เรายังชำนาญเรื่องบันเทิงอีกด้วย :) 

ใครมีเพื่อน คนรู้จัก หรือตัวเองนี่แหละ สนใจเรื่องภาษา ทำงานเกี่ยวกับภาษา มาคุยกันครับ สนุก

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 256เขียนเมื่อ 16 มิถุนายน 2005 13:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 15:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ภาษาไทยนี้แสนซับซ้อน

บางครั้งทั้งตัวสะกดทั้งการันต์นี่ก็มีปัญหานะครับ ถ้าเราฟังไม่เหมือนกัน อย่างเช่น ถ้าอยากให้คนไทยออกเสียง computer โดยเหลือท้ายเสียงตัว r ไว้เป็น เตอร แทนที่จะเป็น เต้อ อย่างปัจจุบัน เราควรสะกดว่า ข่อมพิ้วเตอร จะได้ไหมครับ

ตัวสะกด ไม่จำเป็นต้องถอดเสียงครับ ซับซ้อนเกินไป ไม่เหมาะกับการใช้งาน

ถ้าต้องการถอดเสียง เรามี สัทอักษร ให้ใช้งานอยู่แล้ว

ถ้าตัวสะกดจำเป็นต้องถอดเสียงจริง ๆ ผู้พูดภาษาอังกฤษเอง ก็คงหาตัวสะกดคำว่า computer กันไม่ได้ล่ะครับ เพราะแต่ละภูมิภาคก็ออกเสียง/สำเนียงไม่เหมือนกัน

หลักการสะกดคำ คือทำให้ง่ายที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยไม่ทำให้ความหมาย/รูปเดิมของคำหายไป

อีกเรื่องคือ เราไม่จำเป็นต้องออกเสียงให้เหมือนศัพท์ดั้งเดิม เมื่อไหร่ที่เราถอดรูปออกมาเป็นตัวสะกดไทยได้แล้ว เราก็อ่านแบบไทย

ไม่เช่นนั้น เราคงต้องอ่านคำว่า สบู่ หรือคำว่า ปิ่นโต แบบภาษาโปรตุเกส

 

เป็นความรู้ที่น่าสนใจมากครับ ไม่เคยทราบมาก่อนเลย (อายนิดๆ ว่าเป็นภาษาของเราเอง)

ผมอ่านแล้ว เกิดคำถามขึ้นมาเล่นๆ ว่า

ทำไมคนถึงอยากเขียน email เป็น อีเมล์

1. เคยเห็นคำว่า เมย์ บ่อยๆ เลยนึกว่าควรมี
2. ถ้าเขียน  อีเมล จะนึกว่าเป็นคำไทย  คำอังกฤษ มักจะมีการันต์
3. เขียนตามๆ กันไป  ก็อ่านเจอแบบนี้ เลยเขียนต่อไปเรื่อยๆ

เหตุผลพวกนี้ ไม่ได้มีพูดถึงในตำราอักษรศาสตร์  เพราะเป็นเรื่องทางจิตวิทยา 

ผมมองว่าเรื่องทางอักษรศาสตร์ไม่เสมอต้นเสมอปลาย (แต่ก็มีความสวยงามของการไม่เสมอต้นเสมอปลายอยู่ จริงๆ ผมยอมรับว่าความไม่เสมอต้นเสมอปลายนี่เป็นเสน่ห์ของอักษรศาสตร์ครับ)

การไม่เสมอต้นเสมอปลายนี้ อาทิเช่นคำว่า อีเมล นี่ล่ะ มันมาจากคำว่า email ใช่ไหมครับ ส่วน รถเมล์ มาจากคำว่า mail bus ใช่หรือเปล่า? ถ้าใช่ แล้วทำไมต้องสะกดภาษาไทยต่างกัน หรือคนไทยเมื่อก่อนฟังคำว่า mail เป็น เมล์ แล้วคนไทยสมัยนี้ฟังคำว่า mail ใน email เป็น เมล?

หรือเพื่อแก้ปัญหาคนไม่ค่อยรู้เรื่องอักษรศาสตร์อย่างผมแต่ช่างสงสัย เราเลยสรุปว่าถ้าราชบัณฑิตตกลงว่าอย่างไร เราก็สะกดอย่างนั้น แล้วก็มองคำนั้นเป็นภาษาไทยไป เป็นอันจบปัญหาหรือเปล่า? แต่จริงๆ วิธีนี้ก็แก้ปัญหาได้จริงๆ นั่นล่ะ เพราะต่างคนก็ต่างความคิดครับ ;-)

It's just my 2 cents (เซ็น, เซนต์, เซนท์, เซนส์, เซนทส์, เศ็นส์, เสนซ, ..., เอ่อ... ราชบัณฑิตเขาให้เขียนยังไงล่ะ?)

 

ฮ่า ฮ่า :P

ตอบเรื่อง mail bus (ล่วงหน้า) ไว้แล้วที่ http://bact.blogspot.com/2005/06/blog-post_16.html#comments

สรุปสั้น ๆ คือ คนไทยสมัยนี้ มีช่วงของการออกเสียงกว้างขึ้นกว่าเมื่อก่อน ทำให้เราสามารถออกเสียง เสียงอย่าง อี-เมล ได้อย่างไม่ขัดเขิน

ถ้า e-mail มีสมัยเมื่อห้าสิบก่อน เราอาจจะออกเสียงว่า อี-เม (และสะกดว่า อีเมล์) ก็เป็นได้

 
น่าสนใจ และ อ่านสนุกดีค่ะ

น่าสนใจดีคับ

ผมเป็นเด็กอยู่จึงมีปัญหาพวกนี้บ้อยๆ

เด็กไทยส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องการสะกดคะที่ผิดๆ

รักนะทุกคนที่เข้ามาในนี้ในหัวใจ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท