เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ที่ผ่านมาเป็นกำหนดนัดหมายที่สมาชิก "ชมรมหวานชื่นใจ" จะมาประชุมกันตามวาระเดือนละ ๑ ครั้ง ตามที่ผมได้เคยเล่าเรื่องความพยายามเริ่มก่อตั้งชมรมนี้ไว้ก่อนหน้านี้ แต่ครั้งนี้ทีมงานพีเลี้ยงต้องเกิดอาการงุนงงและใจหาย เพราะเมื่อรอจน ๔๕ นาทีหลังเวลานัดหมายก็พบว่ามีผู้มาร่วมกิจกรรมเพียง ๑๐ คนเท่านั้น นับเป็นครั้งที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมน้อยที่สุด ตั้งแต่ริเริ่มรวมตัวประชุมกันมา ๔ ครั้ง
เมื่อแน่ใจว่าไม่มีสมาชิกมาเพิ่มเติมมากว่านี้แล้วสมาชิกจึงหันมาคุยกันกลุ่มเล็ก ๆ โดยต้องงดกิจกรรมการออกกำลังกายที่ตั้งใจไว้แต่เดิม ทั้ง ๆ ที่ผู้นำออกกำลังกายได้เตรียมตัวมาแล้วก็ตาม แต่กิจกรรมอื่น ยังคงดำเนินการตามข้อตกลงเดิม คือ การจัดทำทะเบียนสมาชิก และ การพูดคุยเรื่องอาหารเบาหวานโดยวิทยากรจากฝ่ายโภชนการของโรงพยาบาล ซึ่งทีมพี่เลี้ยงและสมาชิกชมรมต้องขอขอบคุณอย่างสูงที่ยังคงดำเนินการต่อตามกำหนดการเดิม แถมยังเป็นการพูดคุยที่ใกล้ชิกสมาชิกมากเนื่องจากเป็นกลุ่มเล็ก
ในครั้งนี้เราได้ใช้เวลาที่เหลือประมาณ ๑ ชั่วโมงครึ่งให้สมาชิกเล่าประสบการณ์ของตนเองในการอยู่ร่วมกับโรคเบาหวานที่ผ่านมาให้เพื่อน ๆ ฟังและแสดงความเห็น ซึ่งช่วงนี้ผมรู้สึกอุ่นใจขึ้นมากเพราะบรรยากาศในการพูดคุยเป็นกันเอง สอดแทรกอารมณ์ขันของสมาชิกทำให้เรายิ้มออกได้ และมีกำลังใจที่จะสู้ต่อ...ผลักดันต่อไป มีประสบการณ์และมุมมองหลาย ๆ ประเด็นที่น่าสนใจ เช่น
- สมาชิกท่านหนึ่งแสดงความเห็นว่าผู้ที่เป็นโรคเบาหวานส่วนใหญ่มักเป็นผู้อาวุโสมากประสบการณ์ ดังนั้นอาจจะยอมรับการสื่อสารให้ความรู้เรื่องการดูแลตนเองจากผู้เยาว์วัยกว่าได้ยาก เห็นว่าเราต้องชี้ให้เห็นภัยร้าย หรือผลแทรกซ้อนของการควบคุมดูแลที่ไม่ดีพอ....(ผมคิดต่อว่า...หาของจริงให้ดูด้วย...?)
- คุณป้าสมาชิกท่านหนึ่งเล่าว่า ตามปกติจะควบคุมอาหารได้ดี และเห็นผลดีเมื่อตรวจติดตามระดับน้ำตาล แต่มักจะมีปัญหาที่เป็นคนมีเพื่อนฝูงมาก และเวลาพบปะสังสรรค์กันก็จะหนีไม่พ้นเรื่องการทำอาหารให้เพื่อนทาน แล้วก็จะสนุกกับการทานร่วมกับเพื่อน ๆ ....
- คุณลุงท่านหนึ่งเล่าว่า เมื่อเริ่มเป็นเบาหวานใหม่ ๆ ยังควบคุมได้ไม่ดีจากการตรวจติดตามระดับน้ำตาล แต่พบว่ายังแข็งแรงสบายดีมาก ทำงานได้ทุกอย่าง แต่เมื่อรักษาต่อ ๆ มาสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้อย่างที่หมอแนะนำ ปรากฎว่าจะเกิดอาการจากระดับน้ำตาลต่ำเป็นครั้งคราวเมื่อต้องออกกำลังกายมาก ๆ หรือทำงานหนัก แต่ก็จะเตรียมทอฟฟีไว้ใกล้มือเมื่อเกิดอาการและสามารถแก้ปัญหาได้ทันทีทุกครั้ง ดังนั้นสำหรับสมาชิกท่านนี้แล้วถือว่าการมีอาการน้ำตาลต่ำบางครั้งที่ต้องทำงานหรือออกกำลังกายหนัก ๆ เป็นเรื่องปกติ ที่สามารถแก้ไขได้ แต่ถ้าไม่มีอาการอะไรเลยแม้ขณะทำงานหนักแสดงว่าช่วงนั้นระดับน้ำตาลน่าจะสูงเกินไป....
- สมาชิกท่านหนึ่งเห็นว่าประโยชน์ของการได้ตรวจติดตามบ่อย ๆ คือจะทำให้รู้ตัวว่าควบคุมได้ดีหรือไม่ เป็นการเตือนตัวเองให้ปรับตัวได้ทัน บางท่านมีเครื่องตรวจของตัวเองไว้ใช้และเล่าว่าได้ประโยชน์จากการตรวจเลือดเองนี้มาก เพราะนับแต่ทำมาทำให้เขาควบคุมได้ดีสม่ำเสมอ ทำให้เกิดความมั่นใจในการดูแลตนเองมาก....
- สมาชิกท่านหนึ่งสงสัยว่าทำไมน้ำตาลของเขาถึงขึ้น ๆ ลง ๆ ไม่คงที่ทั้งที่ใช้ยาอย่างสม่ำเสมอ ไม่เคยขาด เพื่อน ๆ ก็ช่วยกันหาคำตอบให้ว่า เพราะอาหารที่กินในแต่ละวันไม่คงที่?... เพราะการออกกำลังกายในแต่ละวันไม่คงที่ ? ... เพราะความเครียดไม่คงที่? ... ซึ่งพวกเราก็ช่วยเสริมหรือยืนยันทางวิชาการเพียงเล็กน้อย
- บางท่านปรารภกับเพื่อนว่าจะคุมอาหารได้อย่างไรในเมื่อมันหิวบ่อย ๆ ซี่งเรื่องนี้วิทยากรของเราได้ตอบไว้ว่า ขอให้ลองเน้นการกินอาหารให้อิ่ม เป็นมื้อ และกินปริมาณให้คงที่ที่ทำให้สบายที่สุด หลีกเลี่ยงการกินอาหารมื้อเล็ก แล้วไปเสริมเมื่อหิว หากระดับน้ำตาลสูงไปค่อยปรับการออกกำลังกาย หรือปรึกษาหมอปรับยา เพื่อนสมาชิกท่านหนึ่งเสนอว่าเพื่อให้ได้ปริมาณคงที่อาจลองใช้วิธีการจดบันทึกดูสักระยะ.... สมาชิกท่านหนึ่ง(คุณพี่อุบล)เล่าว่าแกไม่เคยหิวเพราะกินอิ่มเป็นมื้ออย่างวิทยากรชี้แนะทุกวัน แต่จุดสำคัญคือแกจะกินผักมากไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของทุกมื้อ แถมผักที่กินก็ไม่ได้ซื้อ เพราะแกปลูกเองในบริเวณบ้านที่มีพื้นที่จำกัด ผักของแกรับรองว่าปลอดสารพิษแน่นอน ... คุณพี่ท่านนี้ยังเอ่ยปากชักชวนไปดูวิธีการปลูกผักสวนครัวของแกด้วย ... ซึ่งพวกเราก็เห็นด้วยและนัดหมายว่าคราวหน้าเราจะไปเที่ยวที่บ้านพีอุบลกันหลังการประชุม...
ก่อนเลิกประชุมเรามาทบทวนว่าทำไมสมาชิกจึงร่อยหรอ และคราวหน้าจะทำอย่างไร สมาชิกเห็นว่าวันนี้มีกิจกรรมบางอย่างดึงดูดเพื่อนสมาชิกไปที่เมืองทองธานีหลายคน บางคนไม่สะดวกในวันราชการเพราะมีภาระต้องมาตรวจช่วงเช้า บ่ายต้องดูแลรับลูกหลานกลับจากโรงเรียน จึงร่วมกันสรุปว่าครั้งต่อไปขอเลือกเช้าวันเสาร์ที่ ๑๗ กันยายน โดยจะพยายามชักขวนเพื่อน ๆ มาร่วมกันมากขึ้น ผมได้เสนอให้ทำจดหมายข่าวเพื่อเผยแพร่และเล่ากิจกรรม เชิญชวนคนอื่น ๆ มาร่วม โดยครั้งแรกนี้ทีมพิ่เลี้ยงจะออกจดหมายข่าวให้ก่อน ฉบับต่อไปสมาชิกจัดทีมทำเองโดยเราเป็นที่ปรึกษาและแหล่งพิมพ์ ฝากให้เจ้าหน้าที่ศูนย์สุขภาพชุมชนช่วยแจกจ่ายและประชาสัมพันธ์ให้
ในความล้มเหลวของจำนวนสมาชิกที่เข้าร่วมกิจกรรมอย่างร่อยหรอครั้งนื้ ทำให้ผมย้อนคิดถึงคำพูดของทีมงานท่านหนึ่งว่า "การสร้างสุขภาพนั้นไม่ง่ายเหมือนการซ่อม ไม่ใช่จะผ่าตัดให้หาย(หรือไม่ก็ไม่รอด)โดยเห็นผลกันทันใจ แม้จะรวมกันเป็นกลุ่มเป็นชมรม(อย่างยากเย็น)ได้แล้วก็ยังสลายตัวได้..." แต่ถ้าจะมองให้มีกำลังใจ ก็พอมีสิ่งดี ๆ เล็ก ๆ ให้มองเห็นได้บ้าง อย่างน้อยเรื่องบรรยากาศที่ง่าย ๆ เป็นกันเอง ... เรื่องการแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาของสมาชิกแทบทุกคน บางประเด็นน่าจะสามารถนำไปส่งเสริมสานต่อให้เกิดประโยชน์ได้... ทำให้เห็นได้ว่าเรามีสมาชิกคนไหนบ้างที่มีศักยภาพและมีความมั่นคงในเป้าหมายพร้อมจะเป็นแกนของชมรมต่อไป...
ขอให้กำลังใจทีมงานและสมาชิกชมรมทุกท่านให้เข้มแข็งและสานต่อด้วยความเชื่อมั่นในความคิด ความสามารถของพวกเราเอง ค่อยคิดค่อยปรับไปตามปัญหาและสภาพที่เป็นจริงของเรา... ขอบคุณครับ