ชมรมร่วมด้วยช่วยกันสร้างสุขภาพสว่างอารมณ์


          กลุ่มปัจเจก เครือข่ายองค์กรและหน่วยงานท้องถิ่น อำเภอสว่างอารมณ์  จังหวัดอุทัยธานี ทำเรื่องสร้างสุขภาพในชุมชนของตน ทำกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพ  เคลื่อนไหวสร้างความตื่นตัวและสร้างการมีส่วนร่วมทางสุขภาพ ทำให้ท้องถิ่นมีโอกาสพัฒนาสุขภาพ คุณภาพชีวิต พัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมแบบบูรณาการ และขับเคลื่อนโดยภาวะผู้นำของชุมชน

        การริเริ่มเมื่อประมาณปี 2545 เริ่มจากการกลุ่มสนใจซึ่งเป็นช่างเสริมสวยสตรี  มีปัญหาสุขภาพและสนใจแก้ปัญหาสุขภาพของตนเอง  ออกกำลังกายและทำกิจกรรมขยายออกมาจากกลุ่มพี่น้อง  ญาติ  และคนใกล้ชิด จากนั้นก็เริ่มมีเนื้อหาชีวิตและการสื่อสารทางสุขภาพ สื่อสาร พูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเครือข่ายทางสังคม  โดยเฉพาะกับลูกค้าเมื่อมาใช้บริการร้านเสริมสวย ซึ่งเป็นครู  ข้าราชการในพื้นที่  และผู้นำทางสังคมของชุมชนกลุ่มต่างๆ  ร้านเสริมสวยซึ่งเป็นฐานอาชีพ  ฐานชีวิต จึงเริ่มเป็นแหล่งสื่อสารและสร้างเสริมพฤติกรรมทางสุขภาพ  ได้เพื่อนมาร่วมคิดและช่วยถ่ายทอดทักษะการจัดการ  เช่น  เริ่มพูดเป็น  เขียนโครงการและแผนงานแบบลองผิดลองถูก  เก็บบันทึกและทำรายงาน  จัดประชุมกลุ่ม  ถ่ายทอดและสื่อสารเป็น

      ต่อมาจึงสามารถเชื่อมต่อกับองค์กรท้องถิ่นและหน่วยงานต่างๆ  เช่น  เทศบาล  โรงพยาบาลอำเภอ  สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด  ทำให้มีบทบาท  ทำงานรณรงค์และสร้างความเคลื่อนไหวของกิจกรรมทางสร้างเสริมพฤติกรรมสุขภาพได้อย่างแพร่หลายทั้งระดับซอย  ชุมชน  เทศบาล  อำเภอ  จังหวัดอุทัยธานี  และจังหวัดใกล้เคียง  ความเป็นผู้นำเป็นเป็นกลุ่มก้อนพัฒนามากขึ้น  ศักยภาพการจัดการดียิ่งๆขึ้น  เริ่มได้รับการสนับสนุนจากแหล่งต่างๆ เช่น  กระทรวงสาธารณสุข  กองทุน  สสส  สำนักงานสาธารณสุขอำเภอและจังหวัด  ได้รับรางวัลและเปิดเวทีสื่อให้ทั้งระดับท้องถิ่น  ภูมิภาค และระดับชาติ

      ปี 2548-2549 มหาวิทยาลัยมหิดล โดยเครือข่ายวิจัยสร้างจิตสำนึกสาธารณะสุขภาพ-คุณภาพชีวิต 17 ชุมชนเทศบาลฯ เข้าไปประสานงานกับเทศบาลตำบลสว่างอารมณ์ ร่วมกันเปิดเวทีค้นหากลุ่มศักยภาพที่สามารถหนุนเสริมด้วยกระบวนการวิจัยแบบมีส่วนร่วมของกลุ่มปัจเจก   ให้มาร่วมเป็นเครือข่ายเรียนรู้ของเทศบาลและชุมชนเพื่อสร้างความตื่นตัวและการมีส่วนร่วมทางสุขภาพของคนที่อยู่ในชุมชนเมือง หรือเทศบาลของเมืองและชนบท เสริมพลังการสร้างความรู้ในการปฏิบัติ  ให้กลุ่มสุขภาพมีความสามารถในการจัดการตนเอง สื่อสารถ่ายทอดประสบการณ์ และเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ให้คนพัฒนาค่านิยมและการมีส่วนร่วมทางสุขภาพแบบกำหนดตนเองได้อย่างสอดคล้องและเหมาะสมกับเงื่อนไขของตนเอง (Self-Determination Participation) เป็นอีกทางหนึ่งที่การพัฒนาตัวเองของชุมชน จะมีเครือข่ายทางวิชาการเข้าไปขับเคลื่อนพลังทางปัญญาที่ติดอยู่กับการปฏิบัติ

 

หมายเลขบันทึก: 25481เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2006 08:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท