การบริหารที่เป็น “องค์รวม”


อย่ามัวแต่เมาทฤษฎีจนจัดกระบวนทัพไม่ถูก
        ทุกวันนี้ ใครจะวางแผนหรือทำอะไรก็มักจะพูดกันว่าต้องเป็น “องค์รวม” ดูจะเป็นคำที่สื่อความหมายให้ผู้คนยอมรับกันได้อย่างดี ผู้เขียนจึงอยากจะนำคำนี้มาวิเคราะห์แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน
            คำว่า “องค์รวม “ (Holistic ideology) หมายถึง แนวคิดในการทำความเข้าใจปรากฏการณ์หรือสิ่งต่าง ๆ โดยคำนึงถึงองค์ประกอบทั้งหมด (ปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก) ที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์หรือสิ่งนั้น ๆ และพิจารณาถึงความเชื่อมโยงและการสอดประสานกันในทุก ๆ ส่วนขององค์ประกอบนั้น
            อีกคำหนึ่งที่มีความหมายใกล้เคียงกันคือ “ บูรณาการ “ ( Integration ) ที่หมายถึง การทำให้สมบูรณ์ คือ ทำให้หน่วยย่อย ๆ ที่มีความสัมพันธ์กันร่วมกันทำหน้าที่อย่างผสมกลมกลืนเป็นองค์รวมหนึ่งเดียวที่มีความครบถ้วนสมบูรณ์ในตนเอง
            อีกนัยหนึ่ง คำว่า “องค์รวม” น่าจะสอดคล้องกับคำว่า ความคิดเชิงระบบ ( System approach ) ซึ่งหมายถึงสิ่งต่าง ๆ ที่รวมกันและต่างทำหน้าที่ของตนเองอย่างมีระเบียบ โดยส่วนประกอบหรือปัจจัยต่าง ๆ ของระบบมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ความคิดเชิงระบบเป็นสิ่งที่มีมานานแล้วในธรรมชาติ เช่น ระบบสุริยะจักรวาล  ระบบนิเวศน์ ระบบร่างกายมนุษย์ เป็นต้น ซึ่งถือเป็นระบบองค์รวมใหญ่ที่ประกอบด้วยระบบย่อยอีกหลายระบบ แต่ถ้าระบบย่อยในระบบองค์รวมใหญ่บกพร่องไปหรือทำงานไม่สัมพันธ์กับระบบใหญ่ เช่น ระบบย่อยอาหาร หรือ ระบบหายใจเกิดบกพร่องไป ก็จะทำให้องค์รวมใหญ่ คือ ระบบร่างกายเกิดปัญหาขึ้นได้   มนุษย์จึงเอาความคิดเรื่องระบบมาใช้ในการบริหารและการทำงานโดยให้คำนึงถึงความเป็นองค์รวมของระบบที่ครบวงจรมากขึ้น
            การบริหารจัดการในปัจจุบัน ได้นำแนวคิดความเป็นองค์รวมมาเป็นแนวคิดในการบริหารและสร้างนวัตกรรมการบริหารมากมาย ซึ่งถ้าวิเคราะห์ให้ดีจะเห็นได้ว่าต่างอยู่บนพื้นฐานแนวคิดเดียวกัน จะต่างกันก็ตรงวัตถุประสงค์และเนื้อหาที่ต้องการนำไปใช้เท่านั้น ขอยกตัวอย่างแนวคิดและนวัตกรรมการบริหารที่มีแนวคิดเป็นองค์รวมซึ่งเราคุ้นเคยกันบางเรื่อง เช่น
1.  การพัฒนาที่ยั่งยืน ( Sustainable development)
ซึ่งหมายถึงการพัฒนาที่ต้องคำนึงถึงความเป็นองค์รวมของทุกๆด้านอย่างสมดุลบนพื้นฐานของทรัพยากรธรรมชาติ ภูมิปัญญาและวัฒนธรรม ด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกกลุ่มด้วยความเอื้ออาทรเคารพซึ่งกันและกัน เพื่อความสามารถในการพึ่งตนเองและคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างเท่าเทียม ซึ่งวัตถุประสงค์ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 จะมุ่งให้ทุกหน่วยงานพัฒนาอย่างเป็นองค์รวมตามแนวคิดนี้ทั้งสิ้น  รวมทั้งแนวพระราชดำริเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงด้วย
2. ประธานคณะผู้บริหารสูงสุดขององค์กร ( Chief Executive Officer  : CEO)
ความหมายในภาคเอกชนหมายถึง ประธานคณะผู้บริหารสูงสุดขององค์กรซึ่งมีอำนาจในการที่จะตัดสิน
ใจนำพาองค์กรไปสู่เป้าหมายได้ ในส่วนของผู้ว่าราชการจังหวัดนั้น หมายถึงการเป็นเจ้าภาพสูงสุดที่สามารถจะบูรณาการงานในจังหวัดให้สำเร็จ ซึ่งจะต้องรู้ปัญหาและสามารถระดมสรรพกำลังได้ และที่สำคัญจะต้องมีเครื่องชี้วัดการทำงานที่เกิดผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ตามวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
3.  การวางแผนกลยุทธ์ ( Strategic  Planning )
เป็นกระบวนการสร้างภาพอนาคตขององค์กรและพัฒนาแนวทางการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุตามภาพ
อนาคต ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการคือ 1) การมุ่งเน้นอนาคต  2) การมุ่งเน้นจุดมุ่งหมายรวมขององค์กร  3) การมุ่งเน้นกระบวนการ  และ  4) การมุ่งเน้นภาพรวม 
4. การวิจัย ( Research)
หมายถึงการศึกษาค้นคว้า การหาคำตอบ การหาความรู้ในสิ่งที่ไม่รู้ โดยวิธีการที่เป็นระบบหรือวิธีการทาง
วิทยาศาสตร์ ซึ่งการวิจัยมีหลายประเภทขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายของการศึกษาค้นคว้า หาความรู้ แต่งานวิจัยที่สร้างสรรค์เพื่อประดิษฐ์คิดค้นสิ่งที่เป็นประโยชน์ใหม่ ๆ ที่องค์กรต่าง ๆ นิยมนำมาใช้คือการวิจัยและพัฒนา (Research and experimental development) ซึ่งมีทั้งการวิจัยพื้นฐาน การวิจัยประยุกต์ และ การพัฒนาการทดลอง
5.  การบริการแบบมีส่วนร่วม ( Participatory  management ) 
        เป็นหลักการบริหารอย่างหนึ่งในยุคใหม่ที่มีทั้งการบริหารให้มีส่วนร่วมในรูปของคณะกรรมการ กลุ่มทำงานหรือให้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น สนับสนุน ร่วมกำกับติดตามการดำเนินงาน ร่วมระดมทรัพยากรมีทั้งการมีส่วนร่วมจากภายในและการมีส่วนร่วมจากภายนอกองค์กร ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้บุคลากรเกิดความรับผิดชอบต่องาน มีความรู้สึกเป็นเจ้าของและเกิดปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ก่อให้เกิดบรรยากาศที่ดีในองค์กร
6. นวัตกรรมที่นำมาใช้ในการบริหารอื่น ๆ  เช่น
6.1 Balanced Scorecard  คือ การกำหนดผลสำเร็จอย่างสมดุลรอบด้านเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการวางแผนและการประเมินผลการปฏิบัติงานให้สามารถมองเห็นความสมดุลและความสัมพันธ์ของการดำเนินงานด้านต่าง ๆ อย่างชัดเจนทั้ง   4    ด้าน   คือ 1) ด้านลูกค้า  2) ด้านกระบวนการภายในองค์กร  3) ด้านการเรียนรู้และพัฒนา  และ 4) ด้านการเงิน
 6.2 การบริหารคุณภาพทั่วทั้งองค์กร  ( Total Quality Management : TQM )
เป็นการบริหารคุณภาพแบบองค์รวม ภายใต้หลักการ 3 C คือ 1) Customer focus เป็นการบริหารที่เน้นความพึงพอใจของลูกค้าเป็นสำคัญ  2) Continuous improvement เป็นการปรับปรุงการทำงานอย่างต่อเนื่อง และ 3)  Company-wide involvement เป็นการบริหารที่ต้องทำให้คนทั้งองค์กรเข้ามามีส่วนร่วมปรับปรุงคุณภาพด้วยความมุ่งมั่น เต็มใจ และมีความสุขในการทำงาน
6.3 วงจร PDCA  คือ วงจรคุณภาพ หรือ วงจรเดรมมิ่ง ได้แก่ Plan (วางแผน)  Do (ปฏิบัติตามแผน)  Check (ตรวจสอบ) และ Action ( ปรับปรุงพัฒนา ) เป็นกระบวนการเชิงระบบที่นิยมใช้ในการปรับปรุงคุณภาพได้ทุกองค์กร
 6.4 สำนักบริการแบบเบ็ดเสร็จ ( one stop service ) เป็นมิติใหม่แห่งการให้บริการประชาชน  โดยรวมศูนย์การให้บริการพื้นฐานแก่ลูกค้าและประชาชนจากหลาย ๆ หน่วยงานมาไว้ ณ จุดเดียวกัน มีการปรับปรุงทั้งระบบสำนักงาน การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่เน้นให้ปฏิบัติงานบริการลูกค้าและประชาชนด้วยจิตสำนึกแห่งผู้ให้บริการที่ดีและมีการปรับปรุงระบบงานโดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ให้สามารถบริการได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ
ฯลฯ
              ความเป็นองค์รวมจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยผู้บริหารที่มีภาวะผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง  มีวิสัยทัศน์
กว้างไกล มองทุกส่วนอย่างบูรณาการไม่แยกส่วน และสามารถจัดองคาพยพทุกส่วนให้มีความสัมพันธ์สอดคล้องกันอย่างเป็นระบบที่ครบวงจร
              เงื่อนไขความสำเร็จของการบริหารแบบองค์รวมประการหนึ่งคือ การทำงานเป็นทีม โดยทุกฝ่ายทุกกลุ่ม ทุกคนต้องพร้อมที่จะร่วมคิดร่วมทำ  ร่วมรับผิดชอบอย่างจริงจังและต่อเนื่อง  ต้องไม่เป็นเหมือนนิทานเรื่องนิ้วมือที่จะเล่าให้ฟังต่อไปนี้
              ครั้งหนึ่งนิ้วมือคนทั้ง 5 นิ้วเกิดโต้เถียงกัน โดยแต่ละนิ้วต่างก็ถือว่านิ้วของตนมีความสำคัญกว่านิ้วอื่น
                        “ นิ้วฉันสำคัญกว่าทุกนิ้ว เพราะเป็นนิ้วแห่งความมีอำนาจสามารถชี้สั่งการให้ใครทำอะไรก็ได้และสามารถชี้แนะสั่งสอนให้คนอื่นทำตาม “ นิ้วชี้เริ่มต้นคุยอวดความยิ่งใหญ่ของตนเองก่อนนิ้วอื่น ทำให้นิ้วอีก 4 นิ้ว ไม่พอใจที่ถูกคุยทับถมจึงตอบโต้ไป 
         นิ้วกลางบอกว่า “ นิ้วของฉันยาวและสูงกว่าพวกท่านทุกนิ้ว จึงต้องสำคัญกว่านิ้วอื่น ไม่เช่นนั้น พวกท่านคงไม่มาห้อมล้อมคอยปกป้องดูแลนิ้วของเราหรอก “
                        นิ้วนางอวดบ้างว่า “นิ้วของฉันเป็นนิ้วของผู้มีสง่าราศรีมีเกียรติกว่านิ้วอื่น เวลาคนจะสวมแหวนเพชร แหวนทอง เขาก็จะสวมที่นิ้วฉัน”
                        นิ้วก้อยก็บอกว่า “ นิ้วฉันแม้จะเล็กหรือเรียวกว่านิ้วอื่น ๆ แต่เป็นนิ้วนำทาง ใครจะกราบพระหรือไหว้พระ หรือไหว้ผู้ใหญ่ นิ้วฉันก็จะถึงก่อนและอยู่ใกล้ชิดกว่านิ้วไหน ถือว่าเป็นนิ้วที่มีบุญ หรือเวลาใครจะคืนดีกัน หรือหนุ่มสาวจะควงคู่กันให้หวานชื่นเขาจะเกี่ยวก้อยกัน “
                        นิ้วหัวแม่มือได้ฟังก็บอกว่า “ ใครจะสำคัญอย่างไรก็แล้วแต่ หากไม่มีนิ้วหัวแม่มือเวลาจะหยิบจับของอะไรจะหยิบถนัดได้อย่างไร เวลาใครลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง แม้แต่เข้าโรงรับจำนำ หรือการแสดงหลักฐานแทนการลงลายมือชื่อ เขายังต้องใช้นิ้วฉันพิมพ์ลายนิ้วมือ “
                 มือได้ฟังนิ้วทั้ง 5 อวดความยิ่งใหญ่ของตน ก็สุดแสนรำคาญ จึงห้ามปรามและอธิบายให้ฟัง
                        “ ลองนึกดูให้ดี ถ้าเกิดมีใครตัดนิ้วหนึ่งนิ้วใดขาดหายไป นิ้วพวกท่านที่เหลือจะทำงานได้สะดวกหรือ แล้วมือของเราก็คงต้องพิกลพิการ ดูไม่งามอย่างนี้หรอก ทุกนิ้วล้วนมีความสำคัญทั้งนั้น ถ้าไม่สามัคคีกัน แล้วจะร่วมกันทำงานให้สำเร็จได้อย่างไร “
                        นิทานเรื่องนี้คงเตือนใจผู้บริหารทั้งหลายได้อย่างดีว่า จะต้องตั้งหลักให้ดี อย่ามัวแต่เมาทฤษฎีจนจัดกระบวนทัพไม่ถูก หรือไปให้ความสำคัญกับนิ้วใดนิ้วหนึ่งจนทำให้องค์กรเกิดความยุ่งเหยิง บุคลากรเกิดความขัดแย้งกัน   เพราะถ้าองค์กรใดเป็นเช่นนี้  ความฝันที่จะบริหารให้เป็นองค์รวมคงจะสำเร็จได้ยาก

                                            ************************************
เอกสารอ้างอิง

คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, สำนักงาน. การพัฒนาที่ยั่งยืนในบริบทไทย.     
           กรุงเทพมหานคร : สหมิตรพริ้นติ้ง จำกัด, 2546.
ทศพร  ศิริสัมพันธ์. การวางแผนเชิงกลยุทธ์. เอกสารประกอบการฝึกอบรมหลักสูตรเสริมสร้างสมรรถนะหลัก 
            ด้านการบริหารสำหรับนักบริหารระดับสูง  สถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน, 2545.
ประพนธ์  ผาสุกยืด. บริหารอย่างไรในยุคโลกาภิวัตน์. กรุงเทพมหานคร : บริษัทไอคิวซิสเตมส์ จำกัด, 2539.
เพิ่มผลผลิตแห่งชาติ,สถาบัน. PDCA วงจรสู่ความสำเร็จ. กรุงเทพมหานคร: บริษัทประชาชน จำกัด, 2543.
สุพักตร์  พิบูลย์. กลยุทธ์การวิจัยเพื่อพัฒนาองค์กร. นนทบุรี : จตุพรดีไซน์, 2544.
http://cityvariety.com/
http://school.obec.go.th/
http://www.thaiday.com/
                                     ธเนศ  ขำเกิด  [email protected]
หมายเลขบันทึก: 25420เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2006 07:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:07 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท