ความเป็นไปได้ในสังคมไทย : แรงงานข้ามชาติบนเส้นทางสมานฉันท์


ความเป็นเพื่อนมิตรเหล่านี้เองในที่สุดจะสะท้อนให้เห็นถึงร่องรอยของอดีตที่ทำให้เราเข้าใจเขา เขาเข้าใจเรามากขึ้น และความสัมพันธ์ในปัจจุบันจะสามารถเชื่อมโยงให้เข้ากับการเมืองและวัฒนธรรมในระดับชีวิตประจำวันที่พวกเขาปฏิบัติการอยู่ได้ เป็นความสมานฉันท์ที่ไม่ตกอยู่ในความทรงจำแห่งอดีตที่นำอดีตมาเป็นบาดแผลกัดเซาะเรื่องราวในปัจจุบัน
ความเป็นไปได้ในสังคมไทย : แรงงานข้ามชาติบนเส้นทางสมานฉันท์
            การจัดงานสัปดาห์สิทธิมนุษยชนภาคประชาชน 2548 ระหว่างวันที่ 9-16 ธันวาคม 2548 ภายใต้แนวคิดรวบยอดว่า สิทธิมนุษยชน คือ จุดเริ่มต้นของสันติภาพ เรื่องแรงงานข้ามชาติบนเส้นทางสมานฉันท์เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอย่างจริงจัง วันนี้ภายใต้กระแสลมแห่งโลกาภิวัตน์ที่พัดพาผู้คนต่างเชื้อชาติ ต่างเผ่าพันธุ์ ต่างวิธีคิด ต่างความเชื่อ ให้มาอยู่ร่วมกัน โดยเฉพาะวันนี้ที่มีคนข้ามชาติจากประเทศพม่า ในหลายสถานะและหลายมิติ ทั้งในนามของแรงงานข้ามชาติ ผู้ลี้ภัย นักศึกษาพม่าและ POC อยู่ในสังคมเดียวร่วมกับเรานับล้านคน สิ่งที่สำคัญกว่าที่จะถามว่า ทำไมเขาถึงมา? ทำไมเขาต้องอยู่? ทำไมเขาไม่กลับไปเสียที? อาจจะมีความสำคัญน้อยกว่าคำถามที่ว่า เมื่อเขาจำเป็นต้องอยู่ ทำอย่างไรสังคมไทยถึงจะมีกระบวนการในการทำให้ เรา และ เขา เข้าใจกันและสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขในสังคมไทย ที่เรียกตัวเองว่าเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมมากกว่า
            สืบเนื่องจากในช่วงนี้ที่ความคิดเรื่องการสมานฉันท์ เป็นแนวคิดที่ถูกนำมาใช้ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ ด้วยความเชื่อมั่นว่าหลักการสมานฉันท์นี้เองจะนำไปสู่การคลี่คลายปัญหาและเยียวยาร่องรอยบาดแผลผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ผู้เขียนจะลองนำหลักการนี้มาปรับใช้กับปรากฏการณ์เรื่องแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า และพยายามวิเคราะห์ว่ามีความเป็นไปได้เพียงใดที่พวกเขาจะเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสมานฉันท์เส้นนี้
            ชัยวัฒน์ สถาอานันท์[1] ได้ให้ภาพของแนวทางสมานฉันท์ไว้อย่างน่าสนใจว่า การสมานฉันท์จะเกิดขึ้นให้ได้จริงนั้น ต้องมีการยอมรับความจริง มีการแสดงความพร้อมรับผิดจากผู้ก่อความรุนแรง มีการให้อภัยจากผู้ที่ตกเป็นเหยื่อแห่งความรุนแรง การสมานฉันท์ไม่ใช่การชักชวนผู้คนที่ขัดแย้ง ที่ต่อสู้โดยใช้ความรุนแรงต่อกันให้มายิ้มแย้มคืนดีกัน และหวังว่าทุกอย่างจะดีขึ้น แต่คือความพยายามที่จะแก้ปัญหาความรุนแรงโดยมิได้ใช้วิธีการรุนแรงมาแก้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้น (problem-solving approach and not a violent approach to solve a problem of violence) บนพื้นฐานความเข้าใจว่า ความรุนแรงมิได้เพียงเกิดขึ้นจากผู้กระทำ แต่ยังมีสาเหตุอยู่ที่โครงสร้างและวัฒนธรรมแห่งความเกลียดชังผู้คนที่แตกต่างจากเรา คอยหล่อเลี้ยงให้ความชอบธรรมอยู่ด้วยเช่นกัน ถ้าจะใช้วิธีการแก้ปัญหาความรุนแรง(problem-solving approach)ก็คงต้องสนใจปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ผลิตตัวคนใช้ความรุนแรง และปัจจัยเชิงวัฒนธรรมที่ให้ความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรงเป็นสำคัญ เพราะถ้าไม่ใส่ใจกับสาเหตุเชิงโครงสร้าง และเงื่อนไขทางความคิดความเชื่อที่ให้ความชอบธรรมต่อความรุนแรง ก็จะหยุดวัฏจักรแห่งความรุนแรงนี้ไม่ได้
            ด้วยเหตุนี้แนวทางสมานฉันท์จึงจำเป็นต้องมุ่งสร้างสรรค์ความเป็นธรรมในสังคม ลดช่องว่างระหว่างผู้คนที่ต่างกัน ส่งเสริมให้กลไกของรัฐทำงานด้วยความพร้อมรับผิด(accountability) ในแง่นี้ทั้งการเผชิญกับความจริง การให้อภัย และการสานเสวนาข้ามพรมแดนแห่งความแตกต่างทางวัฒนธรรม ล้วนเป็นองค์ประกอบที่ทำให้แนวทางสมานฉันท์เป็นไปได้ การสมานฉันท์จะเน้นการให้อภัย ที่ไม่ใช่การหลอกตัวเองให้ลืมอดีตที่เกิดขึ้น หรือทำราวกับว่าความทรงจำอันเจ็บปวดนี้ไม่เคยเกิดขึ้น แต่เป็นการมุ่งเปลี่ยนแปลงความทรงจำอันเจ็บปวดให้กลายเป็นพลังในการแก้ไขปัญหาความรุนแรง ให้จดจำความตายของเหยื่อและชะตากรรมของผู้ก่อเหตุ เพื่อหวังว่าไม่ให้คนอื่นๆในสังคมจะต้องกลายเป็นเหยื่อความรุนแรงอีกต่อไป
            การทำงานสร้างความสมานฉันท์ในสังคมจะเป็นไปได้ยาก ถ้าผู้คนไม่ยอมให้อภัยกัน ในเมื่ออดีตแห่งความรุนแรงไม่สามารถหวนคืนมาได้ สังคมไทยจะอยู่ร่วมกันระหว่างคู่ขัดแย้งที่เคยฆ่าฟันกันมาได้อย่างไร หากไม่อาศัยการให้อภัย แต่การให้อภัยไม่ได้หมายความว่า จะเกิดขึ้นได้ด้วยลมปาก โดยให้ลืมความเจ็บปวด ให้ทิ้งอดีตแห่งความอยุติธรรมที่เคยเกิดขึ้น แต่เงื่อนไขสำคัญของการให้อภัยคือ การธำรงความทรงจำเพื่อปลดปล่อยตนเองออกจากพันธนาการแห่งอดีต การปลดปล่อยเช่นนี้เป็นไปได้ ด้วยอาศัยการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์เชิงอำนาจด้วยสันติวิธี และเงื่อนไขสำคัญของการต่อสู้ด้วยสันติวิธีคือ การใช้แนวทางสานเสวนา (dialogue) โดยเฉพาะถ้าความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างผู้คนที่ต่างกันด้วยศาสนาและชาติพันธุ์ ก็คงต้องอาศัยการสานเสวนาข้ามศาสนา-ชาติพันธุ์เป็นสำคัญ
            แม้ทั้ง"ความทรงจำ"และ"สันติวิธี"จะเป็นเงื่อนไขที่สำคัญ แต่ก็ยังไม่เพียงพอเพราะ"ความยุติธรรม"ก็จำเป็น เพื่อให้ผู้คนสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมการเมืองเดียวกันต่อไปได้ อย่างไรก็ตามความยุติธรรมคงไม่เกิดขึ้นถ้าสังคมซึ่งผ่านอดีตอันรุนแรงมาแล้วไม่ยอมเผชิญกับ"ความจริง"ในบางลักษณะ เพราะความจริงสำคัญไม่ใช่เพียงเพื่อให้กระบวนการยุติธรรมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยังเพราะความจริงเปรียบดัง"ยารักษา"สังคมที่ได้รับทุกข์และเก็บงำไว้ไม่ยอมเผชิญหน้าด้วย เมื่อความจริงปรากฏ ก็ยังต้องหาวิธีให้ผู้คนที่กระทำผิดมี"ความพร้อมรับผิด" (accountability) เพื่อสร้างความมั่นใจในกระบวนการยุติธรรมของสังคม และเพราะกระบวนการยุติธรรมก็เป็นส่วนหนึ่งของอำนาจทางการเมือง ที่กำหนดสายสัมพันธ์ระหว่างผู้คน การจินตนาการถึงรูปแบบทางการเมืองลักษณะต่างๆเท่าที่จะเป็นไปได้ ในกรอบที่ผู้คนในสังคมยอมรับจึงเป็นหนทางหนึ่งที่อาจแก้ปัญหาความรุนแรงที่เรื้อรังไม่จบสิ้น ในกรอบสัมพันธภาพทางอำนาจที่เคยเป็นอยู่ได้ แต่ทั้งหมดนี้เป็นหนทางที่ต้องเสี่ยง การยอมรับความเสี่ยง เป็นปัจจัยทดสอบความไว้วางใจ(trust) ที่ผู้คนมีต่อสังคมการเมืองอย่างมีความหมาย
            กล่าวได้ว่าแนวทางสมานฉันท์น่าจะประกอบด้วยความคิดหลัก 9 ประการคือ
            1. การเปิดเผย"ความจริง" (truth) : ให้ความสำคัญกับ"ความจริง"ทั้งในฐานะเครื่องมือและเป้าหมายของสังคมสมานฉันท์เพื่อสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน ขณะเดียวกันก็หาหนทางให้สังคมไทยตระหนักถึง"ราคา"ในการเปิดเผย"ความจริง"นั้นด้วย
            2. ความยุติธรรม (justice): ให้ความสำคัญกับความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (restorative justice) ด้วยการส่งเสริมแนวคิดวิเคราะห์ในสังคมไทย ให้เรียนรู้การแยก"คนผิด"ออกจาก "ความผิด" ตลอดจนเรียนรู้วิธีการมองปัญหาความรุนแรงในบริบทเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรม ให้เห็นคนบริสุทธิ์กลุ่มต่างๆที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง
            3. ความพร้อมรับผิด (accountability): ส่งเสริมระบบและวัฒนธรรมความพร้อมรับผิดในระบบราชการ เปิดโอกาสให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการจับกุมผู้ต้องหาให้ครบถ้วน
            4. การให้อภัย (forgiveness): ให้ตระหนักถึงความทุกข์ยากของเหยื่อความรุนแรง ขณะเดียวกันก็ตระหนักถึงศักยภาพของสามัญชน ที่จะให้อภัยผู้ที่กระทำร้ายต่อตนและครอบครัว ก้าวพ้นความเกลียดชังผู้คนที่ต่างจากตน และเป็นผู้ทำร้ายคนที่ตนรัก
            5. การเคารพความหลากหลายทางศาสนาวัฒนธรรม ส่งเสริมสานเสวนาระหว่างกัน(dialogue) : ให้ความสำคัญกับขันติธรรมในฐานะคุณค่าทางการเมือง การเรียนรู้ศาสนาต่างๆที่ดำรงอยู่ในประเทศไทย ทั้งแนวปฏิบัติและหลักธรรมคำสอน ทั้งนี้โดยถือว่าสานเสวนาระหว่างศาสนา(religious dialogue) เพื่อสร้างความลุ่มลึกในศาสนธรรมของตน โดยเคารพความเชื่อของผู้อื่นพร้อมกันไป เป็นปัจจัยเสริมสร้างความเข้มแข็งของสังคมไทย บนฐานแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรม
            6. ถือเอาสันติวิธี (nonviolence)เป็นทางเลือกเผชิญความขัดแย้ง: ส่งเสริมให้สังคมไทยตระหนักในภัยของความรุนแรงต่อสังคม และแสวงหาทางออกเชิงสันติวิธีในฐานะทางเลือกหลักเมื่อเผชิญกับความขัดแย้ง
            7. การเปิดพื้นที่ให้ความทรงจำที่เจ็บปวด (memory): ด้วยการเปิดพื้นที่ให้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติไทย ให้ผู้คนในสังคมไทยเข้าใจการเมืองของประวัติศาสตร์ เพื่อให้เห็นว่า ประวัติศาสตร์"มิใช่บันทึกความจริง" แต่เป็น"ความจริงทางการเมือง "ที่ถูกเลือกสรรโดยระบบความรู้ที่ถูกหนุนอยู่โดยฝ่ายที่ครองอำนาจในที่สุด
            8. มุ่งแก้ปัญหาในอนาคตด้วยจินตนาการ (imagination): เพราะจินตนาการทางการเมืองใหม่เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างสังคมการเมืองที่ยั่งยืน ให้พร้อมเผชิญปัญหาใหม่ๆ ที่สำคัญต้องลด"ภยาคติ"ลักษณะต่างๆ เสริมสร้างความมั่นใจในตนเองบนฐานของความเป็นจริง เพื่อให้เห็นว่าสังคมไทยมั่งคั่งในทรัพยากรทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา และมั่นคงพอจะเผชิญกับการท้าทายรูปต่างๆได้
            9. การยอมรับความเสี่ยงทางสังคม เพื่อเสริมสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน (risk-taking): เรื่องนี้มีความหมายเพราะการยอมรับความเสี่ยงเป็นเงื่อนไขสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ บนฐานแห่งความไว้วางใจ(trust) อันเป็นคุณลักษณ์สำคัญของแนวความคิดสมานฉันท์
            สำหรับปรากฏการณ์เรื่องแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า ผู้เขียนมีข้อเสนอดังนี้
            ต่อรัฐราชการไทย
*  รัฐราชการไทยต้องยอมรับความจริงว่ามีการใช้ความรุนแรงกับตัวแรงงานข้ามชาติอยู่ และความรุนแรงที่เกิดขึ้นนี้ส่งผลต่อผู้เกี่ยวข้องกับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงด้วยเช่นกัน ซึ่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นนี้เป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรม ที่มี"รัฐ"คอยค้ำจุนความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงอยู่เบื้องหลัง
ต่อแรงงานข้ามชาติ
*  แม้ว่าสังคมไทยจะเคยทำร้าย ดูหมิ่น เหยียดหยาม ไม่ให้โอกาส เกลียดชังเรา เพียงใดก็ตาม แต่นั้นไม่ได้หมายความว่า พวกเขาเกลียดชังเรา แต่มันมีกระบวนการบางอย่างที่ทำให้เขาเชื่อเช่นนั้นว่า เราเป็นภัยต่อความมั่นคง เป็นผู้หลบหนีเข้าเมือง เป็นผู้มาแย่งงานคนไทย เป็นผู้ไว้ใจไม่ได้ กระบวนการเหล่านั้นครอบงำพวกเขามานานผ่านระบบการศึกษา ผ่านความเชื่อ จนฝังรากลึกและยากที่จะเปลี่ยนแปลงในเร็ววัน เราจะต้องเข้าใจและอภัยสิ่งที่เขาทำกับเรา
ต่อภาคประชาชนไทย
*  ไม่จำเป็นที่แรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าเท่านั้นที่จะเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย แรงงานเถื่อน หรือผู้ค้ายาเสพติด ใครก็สามารถจะเป็นได้ทั้งนั้นแม้แต่คนไทยเองก็ตาม เราจะต้องขจัดอคติเชิงลบที่มีต่อพวกเขาให้ได้ โดยการพยายามหันมามองพวกเขาอย่างเข้าใจ อย่างจำแนกแยกแยะบนความเคารพของความแตกต่างอย่างสมานฉันท์มากยิ่งขึ้น
*  มีเรื่องราวการยึดโรงพยาบาลราชบุรีเกิดขึ้น มีเหตุการณ์ยึดสถานฑูตพม่า มีภาพความรุนแรงเกิดขึ้นจริง มีผู้ได้รับผลกระทบ ได้รับความเดือดร้อน  แต่เราอย่าหยุดแค่ที่การมองที่เหตุความรุนแรง ความรุนแรงเป็นเพียงปัจจัยปลายเหตุที่เกิดขึ้นเท่านั้น เราอาจจำเป็นต้องตั้งคำถามให้ลึกซึ้งต่อคำว่า ทำไม ทำไม ทำไม ซึ่งอาจจะทำให้เราเข้าใจสิ่งที่พวกเขากระทำมากยิ่งขึ้น
*  ระบบการศึกษาไทยจะต้องมีเวทีในการเรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่างจากเรา ที่ไม่เพียงรับรู้แต่จะต้องเข้าใจและเคารพวัฒนธรรมที่แตกต่างจากเรา อย่ายึดติดเฉพาะวัฒนธรรมทางชาติพันธุ์ของตนเอง จนทำให้เกิดอคติทางชาติพันธุ์หรือการดูถูกวัฒนธรรมอื่น เปลี่ยนวิธีคิดให้มีมิติความหลากหลายและเห็นความซับซ้อนของสังคม เห็นความเป็นตัวตนของคนต่างวัฒนธรรม
            ผู้เขียนเห็นว่าแนวทางสมานฉันท์ที่กล่าวมานี้ เป็นจริงได้ เกิดขึ้นได้ เปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งสะท้อนผ่านการทำงานในชีวิตประจำวันของผู้เขียนที่ต้องทำงานกับทั้งอดีตทหารพม่า นักการเมืองพม่า นักศึกษาพม่า กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆจากประเทศพม่า ที่แตกต่าง หลากหลาย ขัดแย้ง ไม่เป็นหนึ่งเดียว และต่างมีอคติชาติพันธุ์ซึ่งกันและกัน แต่เราและเขาต่างสามารถทำงานร่วมกันได้ บนพื้นฐานของการยอมรับความแตกต่าง การไว้วางใจบนความเสี่ยง การให้โอกาส และการสร้างความเป็นเพื่อน ความเป็นเพื่อนมิตรเหล่านี้เองในที่สุดจะสะท้อนให้เห็นถึงร่องรอยของอดีตที่ทำให้เราเข้าใจเขา เขาเข้าใจเรามากขึ้น และความสัมพันธ์ในปัจจุบันจะสามารถเชื่อมโยงให้เข้ากับการเมืองและวัฒนธรรมในระดับชีวิตประจำวันที่พวกเขาปฏิบัติการอยู่ได้ เป็นความสมานฉันท์ที่ไม่ตกอยู่ในความทรงจำแห่งอดีตที่นำอดีตมาเป็นบาดแผลกัดเซาะเรื่องราวในปัจจุบัน
            ฉะนั้นผู้เขียนเชื่อว่าแนวคิดสมานฉันท์จะใช้ได้ทั้งตัวแรงงานข้ามชาติและรัฐราชการไทยเองนั้น พวกเขาจะต้องร่วมกันสร้างช่องทางการสื่อสารให้ตรงกัน ใช้ภาษาชุดเดียวกันในการสื่อสาร พร้อมๆไปกับการที่รัฐต้องพยายามแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างและเชิงวัฒนธรรมความเชื่อทีมีต่อคนกลุ่มนี้ให้ลดน้อยลง มีการปรับปรุงปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่เอื้อต่อแรงงาน มีการสร้างกระบวนการทางการศึกษาที่ทำหน้าที่ส่งเสริมให้สาธารณชนยอมรับความเป็นจริงว่า ความหลากหลายทางวัฒนธรรมเป็นพลังสร้างความเข้มแข็งในสังคมไทย รวมถึงผู้คนในสังคมไทยเองก็ต้องกล้าที่จะจินตนาการถึงอนาคตของความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนและชุมชนแบบใหม่ ความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบใหม่ระหว่างรัฐกับประชาชนที่มีทั้งคนในชาติและคนข้ามชาติอยู่ร่วมกัน ด้วยความเชื่อว่าจินตนาการใหม่นี้เองจะนำไปสู่การสร้างชุมชนทางการเมืองที่เข้มแข็งร่วมกัน ภายใต้การยอมรับศักดิ์ศรีและตัวตนที่หลากหลาย
            แม้ว่าแนวคิดสมานฉันท์จะเป็นไปได้สำหรับการสร้างพื้นที่แห่งความไว้วางใจระหว่าง รัฐ ผู้คน ชุมชนไทย และตัวแรงงานข้ามชาติ แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นก็คือ แม้จะสมานฉันท์กันได้ แต่วันนี้เองภาพของความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่กระทำต่อแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าก็ยังดำรงอยู่ เพียงแต่ทว่าการรับรู้ของสาธารณชนถูกทำให้พร่าเลือนจนกระทั่งมองไม่เห็น แต่ไม่ได้หมายความว่า ไม่มี ไม่เกิดขึ้น เพราะความจริงก็คือหลายพื้นที่ในสังคมไทยโดยเฉพาะพื้นที่ชายแดน เช่น แม่สอด กาญจนบุรี ระนอง ก็ยังปรากฏความรุนแรงอยู่ แต่ภาพความรุนแรงเหล่านี้ถูกทำให้หายไป หรือมีกระบวนการทำให้ช่องทางการสื่อสารระหว่างเรากับเขาที่จะเชื่อมการรับรู้เรื่องความรุนแรงต่อกันไม่มี แปลว่า การสมานฉันท์ในหมู่แรงงานข้ามชาติกับปรากฏการณ์ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมยังเดินไปพร้อมๆกัน
           
บทส่งท้าย
            ไม่ใช่ว่าความแตกต่างของกลุ่มชน ความไม่ลงรอยทางวัฒนธรรม และบาดแผลจากอดีตจะไม่ดำรงอยู่ จะไม่เคยเกิดขึ้น แต่ทั้งพวกเขาและพวกเราต่างกันให้มันเป็นความทรงจำไม่ใช่ปัจจุบัน บรรยากาศแห่งความสมานฉันท์บนร่องรอยของบาดแผลในอดีต จะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าขาดการทำงานกับพวกเขามาเป็นเวลายาวนาน สร้างความวางใจ พัฒนากลายเป็นเพื่อนมิตรและสหายในที่สุด บนความสมานฉันท์ไม่ใช่ไม่มีความแตกต่าง ไม่ใช่ไม่มีความขัดแย้ง แต่พวกเขากลับแปรให้เป็นบทเรียนที่สำคัญในปัจจุบัน บทเรียนที่จะทำให้เกิดการตระหนักรู้และเข้าใจความขัดแย้งในอดีตที่สืบเนื่องมาจนถึงวันนี้ บทเรียนที่จะทำให้เห็นกลไกการสืบทอดอันน่าสะพรึงกลัวที่คอยหลอกหลอนและทำร้ายหัวใจเราด้วยการประหัตประหารและเกลียดชังกัน
            ไม่ว่าวันนี้ร่องรอยทางประวัติศาสตร์จะถูกตอกย้ำผ่านแบบเรียนประวัติศาสตร์ แผนที่ ดินแดน ให้เกิดเป็นความทรงจำของคนรุ่นแล้วรุ่นเล่าถึงความไม่ลงรอย ความขัดแย้ง ความไม่สมานฉันท์ของอาณาจักรอโยธยาและหงสาวดี ให้สถาปนาเกิดเป็นความทรงจำแห่งความขัดแย้งที่ไม่สมานสนิทระหว่างคนไทย-คนพม่าก็ตามที แต่เวทีแห่งการพบปะระหว่างนักพัฒนาไทย นักวิชาการไทย คนงานไทย คนงานจากประเทศพม่า หรือแม้แต่นักกฎหมายก็ตามทีได้ชี้ให้เห็นถึงความสมานฉันท์ที่พยายามจะสร้างเวทีนิยามแห่งความหมายใหม่ที่ไปไกลกว่า ความสยบยอมและหลอกตนเองให้ลืมบาดแผลความทรงจำที่ถูกตอกย้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนยากจะลืมเลือนได้จริง
            เวทีแห่งความสมานฉันท์กลายเป็นภาคปฏิบัติการจริงที่มีบทพิสูจน์และชี้ให้เห็นถึงความหมายที่เกิดขึ้นได้จริง เวทีที่ยากจะนิยามและชี้ชัดว่านี้คือ คนไทยหรือคนที่มาจากประเทศพม่าผ่านเพียงถ้อยคำวาจา เวทีที่คำนิยามว่านี้คือพวกเรา พวกเขา กว้างเกินสายเลือดและชาติพันธุ์  เวทีที่ประวัติศาสตร์แห่งความขัดแย้งไม่ได้ตกหาย แต่มันถูกทำให้ลืมเลือนไปได้ด้วยคำว่าสหายและเพื่อนมิตร ที่ซึ่งคำนี้มีความหมายกว้างไกลกว่าเส้นแดนที่จะมาขีดกั้นผู้คนแห่งสองฟากฝั่งให้รู้สึกในชะตากรรมร่วมแห่งความทุกข์ทนและความขัดแย้ง เวทีที่เพื่อนจะไม่นิ่งดูดาย เมื่อเพื่อนถูกทำร้ายและร้องขอความเป็นตัวตนกลับคืนมา เวทีที่ความแตกต่างและความขัดแย้งถูกกันให้เป็นภาพความทรงจำแห่งอดีต ที่ลอยล่องในอดีตและไม่หวนกลับคืนสู่ปัจจุบัน ที่จะทำให้อดีตคุโชนและแปรเปลี่ยนเป็นการทำร้ายกันโดยใช้ประวัติศาสตร์บาดแผลเหล่านั้นเป็นเครื่องมือ
            เวทีที่บอกว่าวันนี้สังคมไทยมีคนข้ามชาติจากประเทศพม่ามากมายอยู่ร่วมกับเรา ที่ไม่ใช่มีเพียงคนงาน ผู้ลี้ภัย นักศึกษาพม่า นักการเมืองพลัดถิ่น ที่อยู่ร่วมกับเราผ่านการเรียกขานและนิยามพวกเขาด้วยสายตาของเราเท่านั้น แต่เวทีชี้ให้เราตระหนักและเรียกร้องอีกต่างหากว่า พวกเรา คือ คนในสังคมแบบใหม่ ที่ถูกเรียกขานและนิยามให้เห็นตัวตนที่ชัดเจนว่า คนข้ามชาติ คนที่จำต้องเดินทางข้ามรัฐ ข้ามแผ่นดินมาสู่ยังดินแดนไทย ด้วยเหตุผลมากมายนานับประการ  อย่ามองเราด้วยสายตาเพียงคำว่าแรงงาน ผู้ลี้ภัย ผู้ผิดกฎหมาย ผู้หนีเข้าเมือง โปรดเปิดหัวใจและมองเราด้วยสายตาแห่งสหายและเพื่อนมิตรที่หล่อน้ำคำแห่งคำว่าอภัยและสมานฉันท์ด้วยความรัก เมื่อหัวใจเริ่มเปิดรับ เราเชื่อว่าความขัดแย้งที่เกิดจากปัญหาแรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมาย ที่กำลังถูกส่งผ่านและกลายเป็นความเชื่อ ความรู้ชุดใหม่ในปัจจุบัน จะถูกลดทอนลงและมองพวกเราด้วยสายตาของความเป็นคน คนข้ามชาติ มากยิ่งขึ้น
            วันนี้วันแรงงานข้ามชาติสากล วันที่โลกเต็มไปด้วยการอพยพย้ายถิ่นของผู้คนข้ามพรมแดนของรัฐชาติ จะต้องเป็นวันที่คนข้ามชาติในซอกมุมต่างๆของโลกจะสถาปนาตัวตนขึ้นมาใหม่ เพื่อต่อรองและทัดทานหรือหลีกเร้นกับอำนาจครอบงำของรัฐชาติและทุน และร่วมกันกู่ร้องดังๆว่า วันนี้ คือ วันที่เราจะต่อสู้เพื่อต่อต้านการกดขี่ การเอารัดเอาเปรียบคนข้ามชาติในทุกๆรูปแบบ เพื่อยืนยันความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการเคารพศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์
           


[1] ได้ความคิดมาจากชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ปาฐกถาในการสัมมนาบทบาทภาคประชาชนกับการมีส่วนร่วมในการจัดการความขัดแย้งปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามแนวทางสันติวิธีและสมานฉันท์ จัดโดย คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยและเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน (ครป.)มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทร์เกษม, 17 กันยายน 2548
หมายเลขบันทึก: 25475เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2006 00:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท