กัวะข้าว


การนึ่งข้าวเหนียวในปัจจุบัน ทันสมัย ไม่มีอะไรยุ่งยากสักนิดคงไม่มีใคร รู้จัก กัวะข้าว อีกต่อไป

เมื่อสองสามวันก่อน แม่ต้อยไปทำงานแถวๆจังหวัดพิษณุโลก พอเสร็จงานตอนเย็น น้องทีมงานพาไปทานข้าวเย็นที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง ตรงข้ามมหาวิทยาลัยนเรศวร

       ที่จริงแม่ต้อยเคยมาร้านนี้แล้ว เพราะว่าหากมาทำงานหรือมาแวะเยี่ยมที่ HACC ที่ตั้งในคณะแพทย์ศาสตร์ เราก็จะใช้ร้านนี้เป็นที่รับประทานเป็นประจำ เพราะว่าสะดวกที่สุด

       ที่จริงแม่ต้อยนึกรักการตบแต่งและบรรยากาศของร้านนี้เป็นทุนเดิม เพราะมีต้นไม้ และดอกไม้ร่มเย็น  เข้ามาแล้วจิตใจผ่อนคลายคะ

 บริเวณร้าน ร่มรื่น ดอกไม้สวยคะ

      

ที่แม่ต้อยจะเอามาเล่าในวันนี้คือ เมื่อเข้ามาในร้าน แม่ต้อยเห็นของชิ้นหนึ่งที่ทำให้แม่ต้อยนึกถึงสมัยแม่ต้อย ยังเป็นเด็กๆ

ทางร้านใช้ของชิ้นนี้มาทำเป็นที่วางจำพวกแก้ว ขวดเครื่องดื่ม กระติกน้ำแข็ง ข้างๆโต๊ะใหญ่ที่ใช้วางอาหาร

       ด้วยความที่ความจำอาจจะเสื่อม แม่ต้อยพยายามนึกชื่อของชิ้นที่ว่านี้ พยายามถามน้องๆที่มาต้อนรับ เขาก็อธิบายเพียงว่า เป็นที่พัก เวลา นึ่งข้าวเหนียว ก่อนที่จะนำข้าวเหนียวใส่ไปในกระติ้บ หรือไหข้าว

 

       ที่จริงแม่ต้อยรู้ว่าเราใช้ทำอะไร แต่จำชื่อไม่ได้...นึกเท่าไหร่ก็นึกไม่ออกสักที จนคุณครูคิมที่ไปด้วยกันบอกว่า ..เดี๋ยวก็นึกออกเองละคะ  แม่ต้อย

 

       จนกลับมาที่กรุงเทพฯ แม่ต้อยยังค้างคาใจอยู่ในเรื่องชื่อที่สมัยก่อน เรียกทุกวัน แต่ตอนนี้ชักลืมเสียแล้ว จึงไปถามคุณยาย

 

       คุณยาย ไม่ต้องนึกอะไรเลย ตอบทันที่ว่า เขาเรียกว่า กัวะข้าวไง

 

       ดุสิ ความจำยังสู้คุณยายไม่ได้เลย อิอิ..

 

กัวะข้าว เป็นภาษาเหนือ  น่าจะหมายความถึงถาด ทำจากไม้สัก เป็นเครื่องมือชิ้นหนึ่งของการนึ่งข้าวเหนียว  การนึ่งข้าวเหนียวทางเหนือนั้น เมื่อข้าวสุกได้ที่แล้ว จะต้องยกไหข้าวลงมาเทข้าวลงบน กัวะข้าวนี้ เพื่อให้ความร้อน หรือไอ จากการนึ่งออกไป ให้ความร้อนพอดี ไม่ให้ข้าวที่จะใส่ในไหแฉะ จนเกินไป

กัวะข้าว  ตอนนี้ไม่ได้ทำหน้าที่ดั้งเดิมแล้ว แต่มาวางขวดน้ำแทน

 

วิธีการทำจะใช้ไม้พาย คนไปรอบๆ ข้าวที่ร้อนๆไปมา หรือวนรอบๆพอประมาณ คะเนว่าไอร้อนคลายออกไปแล้วจึงใช้มือปั้นข้าวเหนียวให้เป็นก้อนโตๆใส่ในไหข้าว

 

       เมื่อนึกถึงการนึ่งข้าวหนียวในสมัยเด็กนั้น นับว่าเป็นวิชาหนึ่งที่ต้องเรียนรู้ และเป็นศิลปะอย่างหนึ่งในความคิดของแม่ต้อย

เริ่มจากตอนกลางคืนก่อนนอน เขาจะต้องมีการแช่ข้าวไว้ หรือที่ภาษาเหนือเรียกว่า หม่าข้าว เพราะจะต้องมีน้ำเชื้อหรือน้ำข้าวที่หม่าไว้ก่อนใส่ลงไปนิดหนึ่ง เพื่อให้ข้าวเหนียวมีความอ่อนนุ่มเกาะกัน  ไม่แข็งกระด้าง หากใส่ในไหข้าวไว้ตลอดวัน( สมัยก่อน ไม่มี เตาไฟฟ้า หรือ ไมโครเวฟ ที่จะอุ่นได้เพียงใช้มือสัมผัสเหมือนสมัยนี้)  ดังนั้นข้าวเหนียวที่ใส่ไว้ในไหข้าวจะเหนียว นุ่มตลอดเวลา

 

       เช้ามืดก่อนจะไปโรงเรียน... เราจะถูกฝึกให้มานึ่งข้าวเหนียว เริ่มจากการล้างข้าวที่หม่าไว้ตั้งแต่เมือคืนนี้ โดยเอาใส่ในภาชนะ คล้ายๆตระกร้า สานด้วยไม้ไผ่ เราเรียกว่า ซ้าหวดให้การล้างนี้ต้องล้างหลายๆครั้งให้สะอาด ไม่ให้มีกลิ่นจากการที่หม่าไว้ค้างคืน

คุณยาย หรือกำเมืองเรียกว่า แม่อุ้ย  สอนแม่ต้อยว่าหากอยากมีใบหน้าสวยใสให้ใช้น้ำที่หม่าข้าวข้ามคืนนี้แหละมาล้างหน้าของเราทุกๆเช้า  รับรองผิวพรรณจะผ่องใส แน่นอน..ตอนนั้นแม่ต้อยไม่เอาด้วย เพราะว่า น้าที่หม่าข้าวนั้นจะมีกลิ่นเปรี้ยวๆ

 

       แต่เมื่อมาทบทวนตอนนี้เห็นทีจะจริง เพราะว่าก็คือน้ำข้าวที่มีสิ่งที่มีประโยชน์จากเมล็ดข้าวออกมา  หากเชื่อคุณยายทวด...ป่านนี้แม่ต้อยใสผ่องไปแล้ว  5555 ( แม่ต้อยเคยอ่านข่าวว่ามีนางสาวไทยคนหนึ่ง เขาบอกว่าเขาเคยทำ เพราะว่าแม่อุ้ยบอกให้ทำ เห็นไหมคะว่าการเชื่อผู้ใหญ่มันดีอย่างนี้แหละ )

 

       เมื่อล้างข้าวเสร็จ ก็ต้องมาตั้งหม้อน้าและไหข้าว เพื่อนึ่งข้าว หม้อนึ่งจะ เป็นหม้อดิน และไหข้าวจะเป็นไหไม้ทำจากไม้สักเช่นกัน การตั้งไหข้าวบนหม้อดินนี้ไม่ใช่ของง่ายๆนะคะ เพราะต้องตั้งให้ตรงๆ ไม่อย่างนั้นข้าวจะไม่สุกทั่วกัน ระหว่างหม้อที่ใส่น้ากับไหข้าวนั้น เขาจะมีผ้าเป็นเกลียวสายยาวๆ เรียกว่า ผ้าเตี่ยวหม้อ จะต้องเอาผ้าเตี่ยวนี้ชุบน้ำให้เปียกเพื่อเอามาพันระหว่างรอยต่อระหว่างหม้อและ ไหข้าว เพื่อไม่ให้ไอน้ำจากหม้อดิน

 

       การพันผ้าเตียวนี่ เรียกได้ว่าต้องใช้ความปราณีตเพราะต้องวางให้พอดีรอบขอบหม้อดิน แล้วใช้ปลายนิ้วมือกดบนผ้าเตียวนี้ให้แนบสนิทกับขอบหม้อ

 

       แล้วมาถึงตอนสำคัญ คือการค่อยๆเทข้าวสารจาก ซ้าหวด ลงในไหข้าวที่ตั้งไว้แล้ว  การเท ต้องค่อยๆเท เพื่อไมให้แน่นจนเกินไป ข้าวจะสุกไม่ทั่วกัน หรือแข็ง จำได้ว่าเมือเริ่มต้นฝึกใหม่ๆ แม่ต้อยแทบจะไม่หายใจเลยทีเดียว

 

       การกวนข้าวในกัวะ เป็นตอนที่ดีที่สุดในขั้นตอนทั้งหมด เพราะว่าแสดงถึงความสำเร็จ หรือไม่สำเร็จของเรา จะถูกดุ หรือไม่ก็ตอนนี้แหละคะ  เพราะรู้เลยว่าเห็นว่าข้าวแข็งไป( ยังไม่สุก หรือแน่นมากไป)  หรือแฉะเกินไป ผู้ตรวจการทั้งหลาย เช่น แม่ อุ้ย ก็จะมาดูผลงาน พร้อมกับคำติชม แฮะๆๆ

      

กลิ่นข้าวที่หอมสุกใหม่ๆ นั้น คล้ายๆกับการเริ่มชีวิตในวันใหม่ ไอข้าวที่สุกแล้ว เมื่อถูกกับใบหน้าของเรา ที่สาละวนตั้งหน้าตั้งตาคนข้าวเหนียวให้เข้ากัน จากกัวะข้าว ดูคล้ายกับกับ ความปราณีที่จะบอกว่า.. อย่างน้อย เราก็ทำงานสำเร็จงดงามแล้วในวันนี้

 แม่ต้อยเห็น เครื่องมือ เครื่องใช้ในการนึ่งข้าวเหนียวแบบที่แม่ต้อยเล่าอย่างครบชุดในพิพิธภัณท์ แถวภาคหนือ เช่น ที่จังหวัดน่าน เป็นต้น

      

การนึ่งข้าวเหนียวในปัจจุบัน ทันสมัย ไม่มีอะไรยุ่งยากสักนิดคงไม่มีใคร รู้จัก กัวะข้าว อีกต่อไป

 

แม่ต้อยจึงเอาเรื่องราวเก่าๆมาเล่าให้ฟัง จากร้านอาหารที่นี่เองคะ

สวัสดีคะ

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #กัวะข้าว ข้าว
หมายเลขบันทึก: 253647เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2009 18:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

สวัสดีค่ะ

  • อีกละ..ไม่ไดพูดเล่นนะคะ
  • กำลังจะปิดเครื่อง  ไปออกกำลังกายสักพัก
  • ครูคิมก็ไปถามมาค่ะ..ภาษานครไทยเรียกว่า..ฮาง..ค่ะ

สวัสดีค่ะ

มาอ่านเรื่อง ซ้าหวด กะ  กัวะข้าว ค่ะ

เมื่อก่อนที่บ้านก็เคยมีค่ะ  จำได้ว่าตอนสมัยเด็ก เคยเห็นคุณตาทำค่ะ  ทำเองไม่เป็นเพราะยังเด็ก ข้าวร้อนมาก คุณตาไม่ให้ทำ ก็เลยนั่งดูเฉยๆ ค่ะ  แล้วคอยแอบหยิบมาทานเรื่อยอะค่ะ ร้อนๆ หอมอร่อยดีค่ะยิ่งคลุกงาดำกะเกลือแล้วล่ะก้อ อร่อยสุดๆ

อ่านที่แม่ต้อยเขียนเล่าแล้วนึกถึงคุณตาขึ้นมาเลยค่ะ  คุณตาเป็นคนทำทุกขั้นตอนที่แม่ต้อยเล่าเลยค่ะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ

เรื่องนี้น่าสนใจทีเดียว

รบกวนเพิ่มคำสำคัญ "ข้าว" ด้วยนะครับ

ครูคิมคะ

จำได้ไหมที่แม่ต้อยเพียรถามใครคนแล้วคนเล่า ว่าชื่ออะไร?

ความจำสั้น แต่รักฉันยาวคะ ครูคิม

คิดถึงวันที่เรานั่งทานข้าวด้วยกันเสมอคะ

กับ ฮาง ของครูคิม และ กัวะข้าว ของแม่ต้อย

2. ชาดา ~natadee
น้องชาดาคะ ยินดีที่ได้รู้จักคะ

ใช่แล้วคะ ตอนที่เรา เอาข้าวร้อนๆมาลงไว้ที่กัวะข้าวนี้ ร้อนมากๆคะ ต้องระวังตัวทีเดียว

เรายังต้องเตรียมถ้วยเล้กๆใส่น้าไว้ เพื่อชะโลม กัวะข้าวก่อนนะคะเพื่อไม่ให้ข้าวที่นึ่งแล้วติด

และยังใช้ชุบมือเวลาที่เราทนร้อนไม่ได้ด้วยคะ

คิดถึงอดีตเสมอคะ ( ก็แก่แล้วนี่นา อิอิ)

3. ธ.วั ช ชั ย
สวัสดีคะ คุณธวัชชัยคะ

ยินดีที่ได้รู้จักเช่นกันคะ

ขอบคุณนะคะในข้อเสนอแนะ

จะแก้ไขตามที่แนะนำมาคะ

สวัสดีค่ะ แม่ต้อย

  • ขอบคุณในสาระดีๆ ค่ะ เป็นความรู้ใหม่ด้านภาษาเมืองค่ะ
  • กัวะข้าวของแม่ต้อย ถ้าดูไม่ผิดมีด้ามจับด้วยหรือคะ
  • มองแล้วคล้ายถาดpizza เวลาที่เขาเสริพทั้งถาดที่ยกออกจากเตานะคะ
  • ภาคกลางไม่เห็นมีค่ะ ข้าวสวยหุงสุกก็อยู่ในหม้อดินพร้อมกินได้เลย

 กัวะ ไม่มี มีแต่กระบุง มาฝากค่ะ

สวัสดีคะ แม่ต้อย....อ๋อ เพิ่งถึงบางอ้อ เองค่ะ ขอบคุณแม่ต้อยค่ะ พี่น้องอ่านแล้วชอบมากๆ ค่ะ เพลินดีมากเลยค่ะ

. pis.ratana
น้อง pis.ratana คะ

กัวะมีด้ามจับด้วยคะ

เวลาใช้งานเสร็จแล้ว ส่วนใหญ่จะแขวนไว้คะ

ที่มีด้ามจับ เพราะเวลากวน หรือคนข้าวเหนียวเราต้องจับด้ามไว้ไม่ให้หมุนคะ

แต่หนักมากคะ เด็กๆ ทำไม่ค่อยไหวหรอกคะ

 ♥.paula ที่ปรึกษาตัวน้อย✿

น้องพอลล่าคะ

ที่จริงสะใภ้คนเจียงใหม่ต้องรู้จักนา  ใช่ไหมคะ

ที่บ้านขอนแก่นเรียกว่า บง คะแม่ต้อย

P

 น้องไก่  ตอนนี้ที่ขอนแก่นเขายังใช้บงไหมคะ
อยากรู้จังคะ

อยากทราบว่า "กัวะข้าวไม้สักแท้" ขนาดพักข้าวเหนียวได้ 3 ลิตรเศษ

ราคาซื้อขายอยู่ที่เท่าไหร่คะ ชอบเครื่องไม้โบราณ แต่ไม่ตรงนี้

รบกวนผู้รู้ช่วนแนะนำด้วยนะคะ

ขอบคุณคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท