เรื่องเล่าวันที่ ๓ - ๗ มีนาคม ๒๕๕๒


เล่าเรื่องที่เมืองเพชร

วันที่ ๗  มีนาคม  ๒๕๕๒

เรียน  เพื่อนครู  ผู้บริหาร ที่เคารพรักทุกท่าน

วันอังคารที่ ๓  มีนาคม   ๒๕๕๒   ภาคเช้าเรียนเรื่อง “ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศในอนุภาคและประเทศเพื่อนบ้านในมิติต่าง ๆ : ประสบการณ์  ร.ต.อ.ดร. นิติภูมิ  นวรัตน์  เป็นวิทยากร  ได้อาศัยประสบการณ์ที่ช่ำชองนำเสนอข้อเท็จจริง  แนวคิดในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทำให้ผู้ฟังหลับไม่ลง ประเทศในเอเชียกลางและเอเชียใต้ มีศักยภาพในตัวเองที่จะเกิดประโยชน์ในการคบค้าสมาคมกัน  ขณะนี้อาจารย์นิติภูมิ  นวรัตน์ มีบริษัทรับเจรจาต่อรอง ระหว่างประเทศ  ผมกับเพื่อนเคยตั้งบริษัททำนองนี้เมื่อปี ๒๕๒๘ ชื่อ The Connection   เรามีหน้าที่ประสานให้คู่กรณีเจอกัน แต่การเจรจาให้ว่ากันเอง  บ่าย ดร.สมบัติ  กุสุมาวดี  ให้พวกเราสรุปภาพรวมการพัฒนามุมมองในระดับประเทศ  แบ่งกลุ่มกันอภิปรายหัวข้อที่ได้รับมอบหมาย  กป.๓ รวมกับ กป.๗  ผมทำหน้าที่ประธานการอภิปราย นำเรื่องการพัฒนาระบบราชการมารวมกับการพัฒนากลุ่มจังหวัด/จังหวัด ประเด็นสำคัญที่สามารถสมาชิกเห็นอุปสรรคในการพัฒนาระบบราชการ คือ วัฒนธรรมองค์การ หรือวัฒนธรรมราชการ  ในส่วนของการพัฒนากลุ่มจังหวัด/จังหวัด อุปสรรค คือ ความไม่ต่อเนื่องของนโยบายรัฐบาล    มอบหมายสมาชิกออกไปนำเสนอที่ประชุม   ท่านรองฯยรรยง  เจริญศรี และเจ้าหน้าที่ในสำนักงานเขต มาปรึกษาข้อราชการในเรื่องการบริหารงานบุคคล พร้อมผลไม้และขนมหวานเพชรบุรี ได้แจกจ่ายเพื่อนร่วมรุ่นได้รับประทานกันทั่วหน้า  เย็นออกกำลังแล้วกลับห้องพักเพื่อทำรายงานการศึกษารายบุคคลต่อ

วันพุธที่ ๔  มีนาคม  ๒๕๕๒  เข้าพบอาจารย์ที่ปรึกษาทำ IS อาจารย์สุดจิต   นิมิตกุล เป็นที่ปรึกษาของผม ท่านได้แนะนำการสร้างเครื่องมือ เราก็ได้แต่ครับ ๆ ท่านว่าอย่าครับอย่างเดียวรู้เรื่องหรือเปล่า เรียนไปว่าพอจะเข้าใจนิดหน่อย   เกิดสับสนนิดหน่อยเพราะรายชื่อของผมไปอยู่กับ  ผศ.ดร.สมศักดิ์  ดำริชอบ ท่านเลยให้เพื่อนมาตามบอกว่ารายนี้ไม่เคยมาปรึกษาเลย  ร้อนใจต้องไปหาฝ่ายเลขานุการของโครงการ เขารับว่าจะเปลี่ยนรายชื่อให้ตรงกับที่เป็นจริง สรุปแล้วที่ปรึกษาของผมก็เป็นอาจารย์สุดจิต  นิมิตกุล  บ่ายเรียนเรื่อง หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับการประยุกต์ใช้ในกระแสโลกาภิวัตน์  โดย รศ.ดร. ธันวา  จิตต์สงวน รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ชั่วโมงนี้ได้เรียนทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเชิงลึก  มีการนำหนังสือที่ UNESCO ตีพิมพ์ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงมาศึกษา  คำคมบ่ายนี้ “ทรัพยากรมีเพียงพอกับความจำเป็นของคนทุกคน แต่ไม่เพียงพอกับความโลภของคน ๆ เดียว”  อย่างไรก็ตามรู้สึกว่าอาจารย์หงุดหงิดไปหน่อยกับบรรยากาศที่ว่านอนสอนง่ายของพวกเรา  หลังออกกำลังกายผู้บริหารโครงการแจ้งให้ทราบว่าในการทำ Action Learning  ซึ่งนักศึกษาจะต้องไปอยู่ในพื้นที่ชุมชน ๔ ภูมิภาค คือ พิจิตร  น่าน  หนองคาย และชุมพร ระหว่าวันที่ ๒๒ – ๒๘  มีนาคม  ๒๕๕๒  ใครจะได้ไปจุดไหน  ผมได้ไปชุมพร  นับเป็นความตื่นเต้นที่ได้กลับถิ่นเก่าที่เคยอยู่มา ๖ ปี  มีข้อน่าสังเกตประการหนึ่ง สมัยเด็ก ๆ ชอบท่องเที่ยวไปในถิ่นที่แปลกใหม่  พอสูงอายุอยากกลับไปถิ่นที่เคยอยู่ เพื่อพบสถานที่และผู้คนที่เคยประทับใจต่อกัน เราได้แก่ไปแล้วหรือนี่  กลางคืนนั่งค้นรายงานทั้งรายงานกลุ่มและ IS

 

วันพฤหัสบดีที่ ๕  มีนาคม  ๒๕๕๒   ภาคเช้าเรียนเรื่องนโยบายเศรษฐกิจการคลังและทิศทางเศรษฐกิจไทย โดย รศ.ดร.มนตรี  โสคติยานุรักษ์   คณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์  สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์  อาจารย์บรรยายหลักเศรษฐศาสตร์ให้เข้าใจได้ง่าย ๆ เช่น อำนาจต่อรองเรื่องเศรษฐกิจระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา ที่เรามักจะพูดกันว่าเราเสียเปรียบ  ประเทศไทยรายได้ต่อหัวต่อปี ๒๐๐,๐๐๐ บาท คูณ ๖๐ ล้านคน นี่คืออำนาจที่เรามีอยู่  สหรัฐอเมริกา ๔๕,๐๐๐ ดอลล่าร์ต่อคนต่อปี คูณ ๒๕๐ ล้านคน ลองนำตัวเลขผลลัพธ์ มาเทียบกัน แปลว่าเรื่องได้เปรียบเสียเปรียบไม่ต้องคำนึง ดูว่าเราดีขึ้นหรือไม่  เพราะอำนาจการซื้อของอเมริกามีมาก เขาสามารถเลือกซื้อจากประเทศอื่นได้ ถ้าเราลังเล  อาจารย์สอนเรื่องของฟรีไม่มีในโลก ที่เรามักพูดกัน  ทรัพยากรมีจำกัด ความต้องการมีมาก เราเลือกอย่างหนึ่งก็เสียโอกาสที่จะเลือกอีกอย่างหนึ่ง ประเด็นสำคัญสิ่งที่เลือกให้คุณค่าสูงที่สุดหรือไม่ ยกตัวอย่าง เรามีเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท เราต้องการซื้อบ้าน ๑ หลัง  ซื้อรถยนต์ ๑ คัน ไปเที่ยวญี่ปุ่นสักครั้ง ฯลฯ  เมื่อเราเลือกอย่างหนึ่งเราก็ต้องเสียทางเลือกอื่นไปด้วย สำคัญที่เราเลือกคุ้มค่าหรือไม่นี่พูดในแง่เศรษฐศาสตร์ เสียดายที่ผมอยู่ฟังเพียงภาคเช้าครึ่งเดียว เพราะต้องลาเรียนไปประชุมที่ สพฐ.  พอพักเล็ก(เบรก) ก็ขับรถเข้ากรุงเทพฯ ใช้เวลา ๒ ชั่วโมงเต็ม มาถึงกระทรวงศึกษาธิการ เวลา ๑๓.๑๐ น. ไม่มีเวลาจะทานข้าวกลางวัน  ขึ้นห้องประชุมชั้น ๒ อาคาร สพฐ. ๔  รองเลขาธิการ กพฐ. ท่านเสน่ห์  ขาวโต เป็นประธานการประชุม  มี ผอ.สพท. ร่วมประชุมอีกประมาณ ๑๐ คน พิจารณาเรื่องการจัดตั้งหน่วยนำร่องเขตมัธยมศึกษา ตามนโยบายของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  เท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย  ได้ให้ความคิดความเห็นไปตามสมควร  เลิกประชุมไปปรึกษาหารือเรื่องการบริหารงานในเขตพื้นที่การศึกษาเพชรบุรี เขต ๒ กับท่านรองฯ เสน่ห์  ขาวโต  มีท่านผอ.นคร  ตังคภิภพ ร่วมด้วย จากนั้นขึ้นไปขอเอกสารจาก ดร.ดารณี  คำวัจนัง  สำนักติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อไปใช้ในการทำ IS ได้สนทนากับผู้อำนวยการสำนัก คุณนิภา  โอสถารมย์ ถึงแนวทางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานและนโยบายเรียนฟรีที่ทำเอาทั้งโรงเรียนและเขตนอนไม่หลับ แวะรับลูกสาวที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลับบ้าน วันนี้ท่าน ผอ.จันทร  พลสิงห์ โรงเรียนปากน้ำชุมพรวิทยา โทรศัพท์มาบอกว่าวันเสาร์ที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๒ จะบวชลูกชายที่ท่าแซะ รับปากว่าจะลงไป เพราะพอมีเวลา

วันศุกร์ที่ ๖  มีนาคม  ๒๕๕๒  ภาคเช้าสมาชิกไปทำหนังสือเดินทางที่กรมกงสุล  ถนนแจ้งวัฒนะ ผมมีแล้วก็เป็นเวลาอิสระ ในการแวะเวียนไปเยี่ยมเพื่อนฝูงในกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐสภาครึ่งวันเต็ม ๆ  เที่ยงเข้าวังวรดิศ โดยขับรถไปจอดไว้ที่โรงแรมปริ้นพาเลซฝั่งตรงข้าม  แล้วเดินข้ามถนนเข้าวัง ส่วนแรกเป็นอาคารห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์เป็นตึก ๓ ชั้น ขึ้นไปฟังบรรยายสรุปที่ห้องสมุดชั้น ๓ หม่อมหลวงปนัดดา  ดิศกุล  บรรยายพระประวัติ ผลงาน และเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รายละเอียดเข้าไปดูที่ http://www.prince-damrong.moi.go.th/  ลงมาชั้น ๒ และชั้น ๑ ของตัวอาคารจะแสดงของใช้ ภาพถ่าย ส่วนพระองค์  ไปในตัวพระตำหนักใหญ่  พวกเราได้รับอนุญาตให้ขึ้นไปดูทุกห้องทุกมุม  การจัดห้องต่าง ๆ ได้รักษารูปแบบเดิมเอาไว้ ได้รับแจ้งว่านักการภารโรงของเขตนายไพฑูรย์ ใจกล้า ซึ่งป่วยเป็นมะเร็งได้เสียชีวิตแล้ว จะรดน้ำศพเย็นนี้ บอกให้ท่านรองฯ ดำเนินการไป จะไปฟังสวดและเป็นเจ้าภาพคืนพรุ่งนี้ วันนี้ไปไม่ทัน พรุ่งนี้บ่ายจะไปต้อนรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ด้วย ข่าวความไม่ปรองดองสามัคคีของคนในเขตที่รับทราบเป็นระยะ ๆ ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ การสร้างทัศนคติเชิงบวกเท่านั้นที่จะเยียวยารักษาได้ บุคคลสำคัญที่ต้องมีวุฒิภาวะและอดทนอดกลั้นให้มากคือระดับรองผู้อำนวยการสำนักงานเขต ความสามัคคีกันคือเป้าหมายและวิถีทางนำองค์กรไปสู่ความสำเร็จ  ปิดภาคเรียน นปส. ระหว่างวันที่ ๔ - ๑๙ เมษายน ๒๕๕๒ จะทำ OD กันสักรอบ  เสร็จจากดูงานมาเดินดูหนังสือที่ห้างเซ็นทรัลปิ่นเกล้า เพื่อไปจัดทำรายงาน

วันเสาร์ที่ ๗  มีนาคม  ๒๕๕๒  เช้าออกจากบ้านเมืองนนท์ เวลา ๐๙.๓๐ น. เดินทางกลับเพชรบุรี ทางสายแม่กลอง วันนี้รถมากจึงเดินทางได้ช้า  ถึงบ้านพักที่ท่ายางเที่ยงพอดี  สมาชิกที่นัดหมาย มีท่านรองฯยรรยง  เจริญศรี และเจ้าหน้าที่ในสำนักงานอีก ๒ ราย ผอ.พชร  เพิ่มพงษ์พิพัฒน์ โรงเรียนบ้านท่ายาง ร่วมเดินทางไปด้วย ถึงสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประจวบคีรีขันธ์ เขต ๒ เลยบ่ายโมงเล็กน้อย  ได้ทักทายกับเจ้าภาพ ท่านรองฯสุรินทร์  บัวงาม  และทีมงาน  เขาต้อนรับด้วยน้ำชากาแฟ  จนได้เวลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์  เดินทางมาถึง ผมรายงานตัว แล้วตามท่านไปฟังบรรยายให้กับผู้บริหารการศึกษาและผู้บริหารดรงเรียนมารับฟังร่วม ๓๐๐ คน ท่านมอบนโยบายหลายเรื่อง  เรื่องแรกการปฏิรุปการศึกษาครั้งที่ ๒ ที่จะดำเนินการในปีนี้ จะปรับการศึกษานอกระบบให้เท่าเทียมกับการศึกษาในระบบ การปรับโครงการใน สพฐ. ตั้งเขตมัธยมศึกษา  นโยบายเรียนฟรี ๑๕ ปี การเลื่อนวิทยฐานะตามผลการสอนของครูแทนพิจารณาผลงานด้านกระดาษ  โครงการทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่จะเน้นผู้ยากจน และกู้ได้ทุกชั้นปี  โครงการปรับโครงสร้างหนี้สินครู    ดร.ชัยพฤกษ์  เสรีรักษ์ ที่ปรึกษา สพฐ. เดินทางมาร่วมต้อนรับด้วย   ท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์  นายบงการ  ลิมประพันธ์  ปลัดจังหวัด และนายอำเภอปราณบุรีมาต้อนรับด้วย   ท่านรองฯ บงการ  ลิมประพันธ์  เคยเป็นนายอำเภอลานกระบือ  จังหวัดกำแพงเพชร ขณะที่ผมเป็นผู้ช่วยศึกษาธิการอำเภอ  ได้ทักทายแสดงความยินดีที่ได้พบกันเป็นครั้งแรกหลังจากที่ไม่พบกันมา ๒๐ กว่าปี   กลับท่ายางอยู่สวดพระอภิธรรมศพภารโรงนายไพฑูรย์ ใจกล้า ในเวลา ๒ ทุ่มมีชาวเขตมากันไม่กี่คนที่เห็น ท่านรองฯ สุรจิต สุขกันตะ ท่านรองฯ วสิฏฐา  อินทรสมบัติ  ท่านรองฯ ยรรยง เจริญศรีและเจ้าหน้าที่อีก ๔ - ๕ คน หลังฟังพระอภิธรรมศพแล้วเดินทางกลับนนทบุรีถึงบ้าน ๒๓.๐๐ น.

กำจัด  คงหนู
ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพชรบุรี เขต ๒

 

 

คิดถึง : พงษ์สิทธิ์  คำภีร์

หมายเลขบันทึก: 246844เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2009 07:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท