บ้าน (1) : ปีเก่าปีใหม่ (ห้วงยามแห่งความสดใสในวัยเด็ก)


บางเรื่องก็เป็นเรื่องการกลับมาของลูกหลานที่ไปทำงานในเมืองใหญ่ๆ หรือแม้แต่เรื่องทุกข์ ๆ เศร้า ๆ ก็ไม่เว้นที่จะนำมาบอกกล่าว .. เพื่อนำไปสู่การร่วมรับรู้รับฟัง และร่วมแบ่งเบากันฉันท์ญาติมิตร

ผมยังคงจดจำความรู้สึกในความหลังเก่าๆ ได้ดี  โดยเฉพาะฉากชีวิตที่เกิดขึ้นในบ้านเกิดอันเป็นที่รักของผมเอง 

ทุกครั้งที่มีโอกาสนึกย้อนกลับไปสู่อดีต  หัวใจของผมจะรู้สึกพองโตและอุ่นอิ่มไปกับความทรงจำ หรือความหลังเก่า ๆ  เหล่านั้นเสมอ

          ช่วงวันขึ้นปีใหม่ของทุกปี   ในบ้านเกิดของผมนั้น  ไม่เพียงแต่เฉพาะเป็นวันรวมญาติและเฉลิมฉลอง
“วันใหม่...ชีวิตใหม่”  เท่านั้น  หากแต่ยังมีประเพณีที่ร้อยรัดให้คนทุกคนในหมู่บ้านได้ก้าวพ้นชายคาบ้านออกมาทำกิจกรรมร่วมกันอย่างอบอุ่น 
         
และกิจกรรมที่ว่านั้นก็คือ  การทำบุญตักบาตร  นั่นเอง
          ผมเชื่อเหลือเกินว่า  การทำบุญตักบาตรในเทศกาลสิ้นปีเก่าและต้อนรับปีใหม่นั้น ไม่ว่าที่ใดก็นิยมยึดปฏิบัติด้วยกันทั้งนั้น  เพราะพิธีกรรมดังกล่าว  คือกลไกอันสำคัญของการ
ช่วยให้แต่ละคนรู้สึกดีกับชีวิต  มีขวัญกำลังใจ ก่อเกิดเป็น “แรงฮึด”  เพื่อฝ่าฟันกับอุปสรรคนานัปการบนเส้นทางของชีวิต

จากวันนั้นถึงวันนี้  ผมยังคงจดจำเรื่องราวที่เกิดขึ้นในวันขึ้นปีใหม่  ณ บ้านเกิดของผมได้เป็นอย่างดี  

ภาพชีวิตทุกฉากยังคงเคลื่อนไหวไปมาอย่างสม่ำเสมอในตัวตนของผม  ราวกับว่าเรื่องราว  หรือฉากชีวิตที่ว่านั้นไม่ใช่ “อดีต” หากแต่เป็น “ปัจจุบัน”  ที่ยังแตะต้องและสัมผัสได้

          ในสมัยที่ยังเป็นเด็ก  ผมจำได้แม่นยำเลยว่า  พอถึงวันสิ้นปีเมื่อไหร่  แม่จะออกจากบ้านไปในช่วงสายๆ  โดยมี “ศาลากลางบ้าน”  เป็นจุดนัดพบกับเพื่อนบ้านคนอื่น ๆ 

          แม่บอกว่า  ในวันสิ้นปีนั้น  ชาวบ้านจะมารวมตัวกันเพื่อ “ห่อข้าวต้มมัด”  พร้อม ๆ กับการจัดเตรียมสถานที่เพื่อรองรับการ “สวดมนตร์เย็น”  (เจริญพระพุทธมนต์)  ซึ่งส่วนมากแล้วคนที่มาก็จะไม่ค่อยเดินดุ่มๆ มามือเปล่า  ใครมีข้าวปลาอาหารก็จะถือติดไม้ติดมือมา “ทานมื้อเที่ยง” ร่วมกันเสมอ 

          และนั่นก็รวมถึงการนำเอาก้อนกรวด หรือก้อนหินเล็กๆ  ใส่ขันมารวมกันไว้ที่ศาลากลางบ้าน  ตลอดจนการนำดอกไม้ธูปเทียนอันเป็นสัญลักษณ์ของประเพณีและพิธีกรรมมารวมไว้ที่ศาลากลางบ้านด้วยเหมือนกัน 

 

เกี่ยวกับช่วงเวลาดังกล่าวนี้  ผมยังเคยมีโอกาสได้ไป “ป่วนเปี้ยน”  ในบริเวณดังกล่าวอยู่บ่อยครั้ง 

บางครั้งก็ติดตามแม่ไปเฉยๆ เพราะคิดว่าอยู่บ้านก็ไม่มีอะไรทำ  แต่บางครั้งก็นัดหมายกับเพื่อน ๆ  ให้ไปวิ่งเล่นกันแถวนั้น

          ผมชอบบรรยากาศที่เห็นผู้หลักผู้ใหญ่หลายท่านมาทำกิจกรรมร่วมกันในศาลากลางบ้านเป็นอย่างมาก   บางกลุ่มนั่งห่อข้าวต้มมัด   บางกลุ่มนั่งจัดเตรียมฝ้ายผูกแขน  บางกลุ่มโยงด้ายสายสิญจน์  บางกลุ่มเช็ดถ้วยชามและจัดเรียงไว้พร้อมใช้  บางกลุ่มทำความสะอาดรอบ ๆ บริเวณศาลากลางบ้าน 
         
ขณะที่บางกลุ่มก็จัดเตรียมสถานที่เกี่ยวกับพิธีสงฆ์ที่จะมีขึ้นในเย็นย่ำของวันนี้   
          
และท้ายที่สุดก็เห็นจะไม่พ้นภาพของแต่ละคนที่นั่งล้อมวงทานอาหารกลางวันร่วมกันอย่างเอร็ดอร่อย  พลอยให้ผมได้รับอานิสงส์อิ่มท้องไปจากตรงนั้นด้วยเหมือนกัน   
         
แต่พอหนังท้องตึง หนังตาก็หย่อน  จึงถือโอกาสทิ้งตัวลงนอนกลางวัน หรือ ”นอนเว็น” อยู่ในตัวศาลากลางบ้านแบบไม่รู้ร้อนรู้หนาว   มาตื่นอีกทีก็ช่วงบ่ายคล้อยอันเป็นช่วงประจวบเหมาะที่ผู้หลักผู้ใหญ่เริ่มโยงสายสิญจน์จากหลังคาเรือนต่างๆ มายังตัวศาลากลางบ้าน  
         
เมื่อเห็นภาพเช่นนั้น  ผมและเพื่อนๆ  ก็ไม่เคยที่จะยอมอยู่เฉยๆ  รีบลุกขึ้นมาอย่างฉับไว จากนั้นก็กุลีกุจอเข้าไปขันอาสาจับโน่นโยงนี่ไปตามประสาเด็กๆ 
         
ก่อนจะกลับบ้านไปพร้อมกับแม่เพื่อเตรียมอาบน้ำอาบท่า รอเวลามาร่วมพิธีตาม
“ฮีตคอง” ในช่วงเย็นอีกครั้ง

จะว่าไปแล้ว 
           
ผมชื่นชอบและหลงรักบรรยากาศวันสิ้นปีที่เกิดขึ้น ณ ศากลางบ้านเป็นที่สุด  เพราะมันคือ “พื้นที่แห่งชีวิต”  ที่ทำให้ผมได้เห็นภาพแห่งความรักความสามัคคีของคนในหมู่บ้าน   ตลอดจนการได้เห็นและได้ฟังเรื่องราวต่างๆ  ของแต่ละคนที่นำมาบอกกล่าวเล่าแจ้งแบ่งปันการรับรู้ร่วมกันฉันญาติมิตร 

บางเรื่องเป็นเรื่องเอิบอิ่มจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากท้องไร่ท้องนา  บางเรื่องเป็นเรื่องงานบวชงานแต่งของลูกหลานที่กำลังจะมีขึ้น 

บางเรื่องก็เป็นเรื่องการกลับมาของลูกหลานที่ไปทำงานในเมืองใหญ่ๆ   หรือแม้แต่เรื่องทุกข์ ๆ เศร้า ๆ ก็ไม่เว้นที่จะนำมาบอกกล่าว .. เพื่อนำไปสู่การร่วมรับรู้รับฟัง และร่วมแบ่งเบากันฉันท์ญาติมิตร 
 


 

ครั้นถึงเวลาที่พระอาทิตย์คล้อยลับทิวไม้ทางทิศตะวันตก  
          
ชาวบ้านแต่ละคนก็จะกระตือรือร้นที่จะทำภารกิจส่วนตัวให้เสร็จสิ้นโดยเร่งด่วน  ทั้งการอาบน้ำอาบท่า กินข้าวกินหมาก  จากนั้นก็ลงกระไดบ้านมา “ตุ้มโฮม”  กันที่ศาลางกลางบ้าน  เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสวดมนต์เย็น, รับศีลรับพร
         ในระยะแรกเริ่มที่ผมจำภาพชีวิตในเรื่องเหล่านี้นั้น  
         
หมู่บ้านยังไม่มีเครื่องกระจายเสียงเลยแม้แต่ชุดเดียว   พระสงฆ์และสามเณรเพียงไม่กี่รูปที่นิมนต์มาจากวัดประจำหมู่บ้านก็สวดมนต์ด้วยเสียงอันดังจากปากเปล่ากันทั้งนั้น

แต่ถึงกระนั้น  เสียงสวดมนต์ที่ว่านั้นก็ยังคงมีพลังมากพอที่จะสะกดให้ผู้คนที่นั่งพนมมือในศาลากลางบ้านสงบนิ่ง ..เงียบงัน.. ทำเอาเด็กตัวเล็กๆ อย่างผมรู้สึกราวกับว่า  ณ ที่ตรงนั้น  เต็มไปด้วยความขรึมขลัง  ควรต่อการแสดงเคารพและศรัทธาเป็นที่สุด

         ต่อเมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น  ผมถึงได้เห็นการมาเยือนของเครื่องเสียง หรือเครื่องไฟ  ซึ่งช่วยให้การสวดมนต์เย็น หรือแม้แต่พิธีกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น ณ ที่ตรงนั้น  เป็นเสมือนการถ่ายทอดสดทางคลื่นเสียงไปโดยปริยาย

และเจ้าเครื่องเสียง หรือเครื่องไฟที่มีไมโครโฟนเล็ก ๆ แค่อันเดียวนั้น  ก็ได้สร้างความระทึก และสุดทึ่งให้กับผมเป็นอย่างมาก  ถึงขั้นอดใจไม่ไหว  จำต้องค่อยๆ ลุกออกมาจากตักแม่  เสร็จแล้วก็เลียบๆ เคียงๆ  แทรกฝ่าผู้คนเข้าไปซุกนั่งอยู่บนตักพ่อ เพื่อจะได้ดูความมหัศจรรย์ของเครื่องเสียงนั้นอย่างใกล้ๆ 

โดยลึกๆ ก็ได้แต่ฝันหวานว่าคงมีโอกาสได้แตะต้องสัมผัสเจ้าไมโครโฟนบ้างกระมัง  ซึ่งสมัยนั้น  เราต่างก็รู้จักและเรียกอย่างคุ้นปากว่า  “หมากอะโหล”  !

 

เกี่ยวกับเรื่องเจ้าเครื่องเสียงที่ว่านี้

ผมเคยได้ถามพ่อบ้างเหมือนกันว่าได้มายังไง ?  และใครเป็นคนบริจาค ?

ซึ่งถ้าจำไม่ผิด  ชื่อเจ้าของเครื่องเสียงที่พ่อบอกนั้น  เป็นชื่อที่ผมไม่คุ้นเคยเอาเสียเลย  และดูเหมือนว่าพ่อจะรู้ว่าผมยังงงๆ กับชื่อนี้  จึงชี้ไปยังเครื่องขยายเสียงที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ  เพื่อให้ผมได้สะกดคำเอาเองว่า  เจ้าของเครื่องที่ว่านั้น มีชื่อว่าอย่างไร ?

แต่ถึงกระนั้น  ผมก็ไม่เคยตั้งหน้าตั้งตาสะกดคำเพื่อให้รู้ว่าเจ้าของเครื่องเสียงนี้เป็นใคร  จึงได้แต่มองไปตามจุดที่พ่อชี้นิ้วให้อ่าน  แต่ก็ยอมรับว่าในเบื้องลึกนั้น คล้ายกับว่า บุคคลดังกล่าวนั้นต้องไม่ใช่คนธรรมดาเหมือนเราๆ 

และเรา อันหมายถึงคนทั้งหมู่บ้าน ต่างก็ติดหนี้บุญคุณบุคคลท่านนี้ด้วยกันทั้งนั้น 
ส่วนผมก็นึกไปตามประสาเด็กว่า  เจ้าของเครื่องเสียงที่ว่านี้  เป็นคนดี ใจดี มี
เมตตา เป็นเหมือน “นักบุญของคนยาก”  เสียดายก็แต่วันนั้น  ไม่ยอมมาปรากฏตัวแจกขนมให้เด็กๆ เหมือน “คุณลุงซานตาฯ”  เท่านั้นเอง   

จนกระทั่งผมโตขึ้นมาหน่อย  ถึงได้รู้ว่า  ผู้ที่กรุณามอบเครื่องเสียงอันมหัศจรรย์ให้กับหมู่บ้านของผมนั้น  ที่แท้ก็คือ “ส.ส.” นั่นเอง 
          หาใช่นักบุญเสียเมื่อไหร่ ?


"หลักบ้าน" ...ที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชุมชน  ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับบ้านของผมเอง

 

 

ในเย็นย่ำวันดังกล่าวนั้น
          หลังเสร็จสิ้นการสวมมนต์เย็นแล้ว  ผมชอบที่จะเดินตามพ่อและแม่กลับบ้าน  เพราะนั่นหมายถึงการได้ถือขันน้ำที่เต็มไปด้วยกรวดดินหินทรายกลับไปด้วย

          พอกลับถึงบ้าน,  ก็นำกรวดดินหินทรายที่ว่านั้น  โปรย หรือหว่านขึ้นไปบนหลังคาเรือน  ส่วนหนึ่งก็หว่านไปรอบๆ ตัวบ้าน  รวมถึงคอกวัวใต้ถุนบ้านก็ไม่เว้น-เป็นการไล่ความเสนียดจัญไร หรือความอัปมงคลต่างๆ  ให้หลีกลี้หนีหายไปจากครอบครัวของเรา 

          ผมชื่นชอบช่วงนี้มาก  เพราะมันทำให้รู้สึกราวกับว่า  ขณะนั้นตัวเองมีของวิเศษอยู่ในมือ และมีอำนาจอันวิเศษที่จะขับไล่ภูตผีและความเลวร้ายทั้งปวงให้พ้นไปจากบ้านและคนที่เรารัก          

         ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้  ยังเคยต้องแย่งกันทำหน้าที่นี้กับพี่ชายอยู่เสมอ  เดือดร้อนให้พ่อมาเป็นผู้จัดสรรปันส่วนให้เลยก็มี  และเมื่อโปรยหว่านกรวด-ดิน-หิน-ทรายต่างๆ  แล้ว  ค่ำคืนนั้นก็จะหลับฝันอย่างเป็นสุข  โดยมีเป้าหมายว่า  พรุ่งนี้ต้องตื่นแต่เช้า  เพื่อจะได้ไปทำบุญตักบาตรร่วมกับชาวบ้านที่ศาลากลางบ้าน

รุ่งเช้า...
        หมู่บ้านทั้งหมู่บ้าน  จะถูกปลุกด้วยเครื่องเสียงอันทรงพลัง 
       
เพียงชั่วไม่นานนัก  ศาลากลางบ้านหลังเล็กๆ  ก็แน่นขนัดไปด้วยผู้คนหลากวัย 
       
ส่วนหนึ่งจัดเตรียมสิ่งต่างๆ  อย่างไม่ต้องมีการมอบหมาย  ผู้ชายไปรับพระสงฆ์จากวัด  และส่วนใหญ่ที่เป็นผู้หญิง ก็รับหน้าที่ในการจัดเตรียมข้าวปลาอาหารเพื่อเตรียมถวายเป็นภัตตาหารเช้าแด่พระสงฆ์

        ถึงตอนนี้, ผมชอบที่จะเข้าไปนั่งใกล้ๆ พ่อเสมอ  เพราะจะได้มีโอกาสถวายบาตรและถวายอาหารต่างๆ  ด้วยตัวเอง 
       
ซึ่งก็ดูเหมือนว่า  ผู้หลักผู้ใหญ่ทั้งหลาย  ต่างก็ยินดีส่งเสริมและสนับสนุนให้ผมได้ทำหน้าที่นั้นอย่างเต็มที่  ยิ่งมีคำชมให้ได้ยิน  ยิ่งทำให้หัวใจของผมพองโต อย่างชัดเจน

       จวบจนพระสงฆ์และสามเณรฉันอาหารเช้าเสร็จสิ้นและให้พร  ตลอดจนการพรมน้ำมนต์เป็นที่เรียบร้อย   ทั้งผมและเพื่อนๆ ต่างก็จะเข้าไปยกถาดข้าวปลาอาหารต่างๆ  มาจัดเรียงตั้งเป็นวงๆ ให้ทุกคนได้ล้อมวงรับประทานอาหารเช้าร่วมกันอย่างเอร็ดอร่อย

       อาหารเช้าวันนี้  หลากหลายทั้งอาหารคาวหวาน 
      
และสำหรับเด็กๆ อย่างผมและเพื่อนๆ  ก็มักได้รับการดูแลอย่างดียิ่งจากผู้หลักผู้ใหญ่  ได้กินอาหารประเภทเนื้อมากกว่าผักเสียด้วยซ้ำ (เพราะไม่ชอบกินผัก)  หรือแม้แต่ขนมนมเนยต่างๆ นั้น  ก็ได้รับมาอย่างล้นหลาม 
      
ยิ่งมีน้ำอัดลมที่พระท่านฉันไม่หมด ยิ่งถือเป็น
“ของโปรด”  สำหรับผมโดยแท้

สายสิญจน์โยงจากบ้านหลังหนึ่งไปอีกบ้านหลังหนึ่ง..ปัจจุบันบ้านแต่ละหลังไม่มีกำแพงกั้นระหว่างเพื่อนบ้าน

 

นี่เป็นเรื่องราวความทรงจำจากวัยเด็กของผมเอง
ถึงแม้ภาพ หรือฉากชีวิตในเรื่องพิธีกรรมจะไม่เด่นชัดเสียทั้งหมด  เพราะนั่นคือห้วงชีวิตที่เรายังเด็กเกินกว่าที่จะรับรู้ว่า  ในพิธีกรรมเหล่านั้นมีอะไร,  ทำอะไร, และเพื่ออะไรกันบ้าง  ...
        แต่ในมิติของความรู้สึกแล้ว  ผมจำได้แม่ยำว่า  ในช่วงวันสิ้นปีเก่าและวันขึ้นปีใหม่ที่ว่านี้  เป็นวันที่ผมมีความสุขตามประสาเด็กมากที่สุดอีกวันหนึ่งเลยก็ว่าได้


ทุกวันนี้   พ่อและแม่ยังคงนำพาชาวบ้านจัดงานหรือพิธีกรรมเช่นนี้เรื่อยมา  หากแต่ทุกวันนี้  ได้พ่วงการบายศรีสู่ขวัญเข้ามาด้วย  เพราะนั่นคือส่วนหนึ่งของการสร้างความเป็นสิริมงคลให้กับชาวบ้าน  รวมถึงการรับขวัญลูกหลานที่กลับมาจากกรุงเทพฯ  ไปในตัว
 

เรื่องทั้งปวงที่ผมเล่ามานี้  ฟังดูก็เหมือนการยกเอา “บุญเบิกบ้าน”  หรือ “บุญซำฮะ”  ในเดือนเจ็ดมาจัดในช่วงนี้เลยก็ว่าได้ 
      
เป็นการปรับแต่งตามบริบทของหมู่บ้าน  คงไม่ถึงกลับเป็นการแหวกขนบฮีตคองเสียทั้งหมด  คล้ายกับการสื่อให้เห็นว่า  เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป  อะไรๆ ก็เปลี่ยนรูปเปลี่ยนร่างไปด้วย  เมื่อต้องลงมือทำอะไร  ก็ยึด “ฤกษ์สะดวก”  ทางสังคมเป็นหลัก  ภายใต้กฎกติกาอันเห็นร่วมฉันญาติมิตรเป็นที่ตั้ง

 

แล้วท่านละครับ, 
มีความทรงจำใดบ้างกับบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง
และความทรงจำที่ว่านั้น 
ยังคงแจ่มชัด  ...  หรือนับวันก็ยิ่งเลือนรางขึ้นทุกขณะ

หมายเลขบันทึก: 245629เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2009 08:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (20)

เรียน ท่านแผ่นดิน คิด ทีไร หัวใจ ยังเด็ก เสมอ ครับ

รู้สึกดีมากๆเลยค่ะ

ครูต้อยมีบ้านเกิดที่กรุงเทพฯโดยพื้นเพชาติกำเหนิด และต้องเร่ร่อนตามคุณพ่อไปรับราชการหลายเมือง ปากน้ำโพ นครสวรรค์ ประทุมธานี ชลบุรี ชุมพร นครศรีธรรมราช กลับมากรุงเทพ และสมุทรสาคร ก็วนเวียนอยู๋สองจังหวัดสุดท้าย เสียดายชีวิตหาแก่นไม่เจอ ได้แต่ฉาบฉวยรับรู และสัมผัสแต่เพียงผิวเผินไปเกือบทุกเรื่องที่ประสบพบเห็น หรือผ่านเข้ามาในชีวิต นึกๆดูแล้วก็ไม่ต่างอะไรกับคนเร่ร่อน พเนจร หากระหว่างทางเร่ร่อนนั้น กลับมีเรื่องราวที่คนวัยเดียว น้อยคนนักที่ได้สัมผัสเช้าวันนี้จึงโชคดีที่ได้รับรูเรื่องราววิถีชุมชน ที่น่าจะสมบรูณ์ และมั่นคง มีวัฒนธรรมของตนเอง มีประเพณีที่ปฏิบัติกันมา ร้อยรวมใจผู้คนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ อ. JJ

คิด ทีไร หัวใจ ยังเด็ก เสมอ

จริงดังท่านอาจารย์ว่าครับ..ยิ่งคิดยิ่งเด็ก
ความทรงจำในวัยเด็ก  ช่วยให้เราดูสดชื่น และมองโลกในแง่ดีเสมอ อย่างน้อยกับการหวนรำลึกสู่วิถีนั้น ก็เพื่อให้เราสามารถยิ้มให้กับโลกและชีวิตของวันนี้ได้อย่างทระนง

เราต่างมีอดีตที่งดงาม และถึงแม้เลวร้าย  วันนี้ก็กลายมาเป็นต้นทุนที่ดีสำหรับชีวิตเกือบหมดสิ้นแล้ว...

ขอบพระคุณครับ

สวัสดีค่ะ น้องแผ่นดิน

  • เมื่อใดที่คิดถึงชีวิตในวัยเด็ก  ก็อยากจะหวนกลับไปวิ่งเล่นหลังสายฝน  ไปขีดเขียนตากะโหลกบนพื้นทรายหน้าโรงเรียนเพราะทรายขาว สะอาดเหมือนกระดานที่ถูกลบ   ได้ดูปลาตอดเวลาขะโมยน้ำมันหมูของแม่หยอดลงในน้ำที่ท่วมบ้านที่อยู่ริมแม่น้ำน้อย...
  • ...แต่อดีตไม่สามารถย้อนคืนได้  สิ่งที่เหลือคือการเรียนรู้จากอดีตที่ทำให้ปัจจุบันพึงกระทำในสิ่งที่ดีกว่า  ดีขึ้น..นั่นเอง
  • จะอย่างไรก็ดี... "อดีต" สำหรับผู้สูงวัย..คือ "ยาบำรุงหัวใจ"ขนานเอกค่ะ
  • ขอบคุณสำหรับยาบำรุงหัวใจวันนี้นะคะ

สวัสดีค่ะ คุณแผ่นดิน

แป๋มเกิดที่โคราชและเป็นลูกครึ่งค่ะ
ครึ่งโคราช.......ครึ่งหนองคาย.....
ดังนั้น ความทรงจำวัยเด็กของแป๋ม
จึงมีวัฒนธรรมของทั้ง 2 จังหวัดปนเปกันไป
สุขใจที่โคราช...ยิ้มละไม..หากนึกถึงเมืองพญานาค

ขอบคุณที่จุดประกายความคิดให้หวนรำลึกถึงวัยเด็ก.....อีกครั้งค่ะ





รักมาตุภูมิ  เช่นกันค่ะ

คุณความดีคุ้มครอง นะคะ

แวะมาทักทายค่ะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ

บันทึกหนึ่งที่เขียนได้ยาวๆ

แต่ตรึงให้คนต้องอ่านจนจบ

คือบันทึกของ"แผ่นดิน"

ชอบเรื่องราวและการรักษาวัฒนธรรม

คนสมัยนี้ต้องการเรียนรู้ว่า

วัฒนธรรมไทย คืออะไร มีอะไรบ้าง

นอกจากการพูดภาษาไทยได้แล้ว

แทบจะไม่เหลืออะไรที่บ่งบอกว่าเป็นคนไทยเลยค่ะ

การแต่งกาย อุปนิสัย อาหารการกินฯลฯ

จึงขอให้มีบทบันทึกแบบนี้กันมากๆ และบ่อยๆ

จะทำให้ได้รู้ว่า แต่เดิมนั้น

บรรพบุรุษเราท่านสร้างวัฒนธรรมอะไรไว้บ้าง

แม้แต่การเสียสละ หรือจิตอาสา

คนไทยก็ทำได้ดีเสมอมา

ขอบคุณความทรงจำที่มีค่าเหลือเกินค่ะ

อ่านแล้วน่าสนใจมากคะ

บิดามารดาอยู่ ตจว. แต่มาโต กทม.คะ

อยากกลับไปอยู่ชนบทอย่างเงียบๆคะ

สวัสดีคะอาจารย์พนัส

คิดถึงวัยเด็กวิ่งเล่นกันที่ศาลากลางบ้าน เดี่ยวนี้ไม่เหลือศาลากกลางบ้านให้วิ่งเล่นแล้วคะ สร้างอนามัย สร้างทีทำการชุมชน สถานเลี้ยงเด็กเล็ก หมู่บ้านยังโชคดีที่อยู่ใกล้มหาวิทยาลัยขอนแก่น ยังพอมีที่ให้เดินและวิ่งเล่น

เกิดบุรีรัมย์

ไปเรียนสุรินทร์

ไปโตที่ขอนแก่น

ไปทำงานที่กรุงเทพฯ

ชีวิตสบสนดีเหมือนกันคะ

เรียกว่าเป็นคนสองวัฒนธรรมได้หรือป่าวคะ

คิดถึงบ้านทีไร ก้ออารมณ์ดีทุกครั้ง

ที่ไหน ๆ ก้อ ไม่เหมือนบ้านเกิดหรือบ้านเก่าหรอกคะ

บ้านเราแสนสุขจายยย

สวัสดีครับ..krutoi

ข้อดีของการเป็นคนหลายที่อย่างครูต้อยก็คือ  ได้พบพานบรรยากาศชีวิตและบริบทของ "วัฒนธรรม" ที่หลากหลายไงครับ  เว้นเสียแต่  อยู่ไม่นาน  แต่ถึงอยู่ไม่นาน ผมก็เชื่อว่า ในห้วงเวลาอันจำกัดนั้น  ก็ล้วนแล้วแต่มีคุณค่าต่อชีวิตด้วยกันทั้งนั้น...

ผมเป็นคนชนบท รักและผูกพันอยู่กับความเป็น "หมู่บ้าน"  อย่างแน่นแฟ้น  เคยเกิดทันสมัยที่ยังต้องจุดตะเกียง-เคยต้องออกทุ่งจับกบจับเขียดกับพี่เขย   เคยต้องขนน้ำเข้าวัดในเทศกาลต่างๆ เคยวิ่งเล่นตามลานวัดอย่างสนุก

สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องราวชีวิตที่มีพลังต่อการเดินทางในวันนี้ของผมมาก ..

ผมเดินทางไปหลายที่  มีความสุขกับการเดินทางเช่นนั้นเสมอ  แต่ในความสุขนั้น ก็ซ่อนนัยยะอันเหงาๆ อยู่อย่างเต็มล้น  เพราะคร่ำครวญคิดถึงแต่บ้านของตัวเองเป็นที่ตั้ง..  เสมือนยิ่งเดินทางก็เหมือนบ้านขยับตามมาทุกฝีก้าว..

การเป็นคนกรุงเทพฯ และสมุทรสาคร, ถือเป็นคนโชคดีมากทีเดียวครับ เพราะเป็นชุมชนที่มีวิถีความเป็นไทยที่น่าสนใจ  โดยเฉพาะวิถีชีวิตของคนไทยที่ผูกพันกับสายน้ำ...ล่องเรือค้าขาย, สวนผลไม้...และอื่นๆ อีกมากมาย  ผมยังรักที่จะดูภาพชาวสวน หรือคนไทยภาคกลางที่ใช้ชีวิตอยู่ติดแม่น้ำ-ลำคลอง  รวมถึงภาพเด็กที่ไว้แกละ..เปียจุก ด้วยเหมือนกัน

....

ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ

พี่ชายส่งข่าวไปบอกที่ ... บ้านหลังโน้นของปลายฟ้า

ก็รีบมาเยี่ยมด้วยความเป็นห่วง

อย่าแอบหลับในอีกนะคะ

อันตรายจังค่ะ

ต้องระวังนะคะ

...เมาไม่ขับ...

.........ง่วงไม่ขับ.........

ฝ่าไฟแดง   ....  ไม่น่ากลัว   เท่ากับ   ฝ่าสัญญาณชีวิตนะคะ

เป็นห่วงคะ

อย่าทำอย่างนี้อีกนะคะ...เดี๋ยวคุณครู...ตี....นะ

                            

 

  • น่าชื่นชมชาวบ้านที่ยังคงสืบสานประเพณีที่ดีงาม
  • ศาลากลางบ้าน ใช้ประกอบพิธีกรรมอยู่กลางหมู่บ้านหรือคะ
  • ทีแรกนึกว่า ใช้ศาลาวัดคะ
  • “ฮีตคอง” คืออะไรหรือคะ

สวัสดีครับ พี่ติ๋ว กฤษณา สำเร็จ

  • เรื่องที่พี่ติ๋วเล่านั้น  ฟังแล้วเห็นภาพแจ่มชัดมากเลยครับ
  • ผมคิดถึงตอนที่ฝนตกก่อนเลิกเรียนเล็กน้อย และเป็นช่วงไม่มีเรียน-ผมและเพื่อนๆ ชอบเตะบอลกลางสายฝนกันมาก  จนบางทีครูต้องจับมาลงโทษ  เพราะเกรงว่าจะเป็นไข้
  • เช่นเดียวกับ  ในยามฝนตก  จะชอบปั้นไข่จากดินทราย  เสร็จแล้วก็นำมาชนกับเพื่อนๆ  ไข่ที่ปั้นมาจะเล็กจะใหญ่  ก็สุดแท้แต่จินตนาการ  ยิ่งได้ดินเหนียวผสมแล้ว ยิ่งถือว่าแข็งแกร่ง..
  • ...
  • โลกวันนี้ก็งดงามเหลือเชื่อ
  • แต่ถึงกระนั้น  ผมก็ลืม "อดีตอันรื่นรมย์"  ไม่ได้
  • จึงได้แต่แอบย่องเบากลับไปเยี่ยมความทรงจำของตัวเองเป็นระยะๆ..ดังที่เห็นนี่แหละครับ
  • สวัสดีค่ะน้องแผ่นดิน
  • ขออนุญาตเรียกน้อง ทำงานปี 31 เรียนต่อโทปี 34
  • มาแอบอ่านบทความอยู่บ่อยบ่อยนะ
  • ตอบและเขียนได้ดี
  • สมกับชื่อที่ตั้งเลย "แผ่นดิน"
  • เข้ากันมาก
  • มีความสุขนะคะ

ฝันดีจ๊ะ

  • สังเกตตัวเอง เพราะมักจะรู้สึกบ่อยๆว่า ความคิดของวัยผู้ใหญ่อย่างเราๆ แท้ที่จริงแล้ว ไม่ได้เปลี่ยนไปจากความคิดเมื่อครั้งเป็นเด็กๆสักเท่าไหร่เลย ที่เปลี่ยนไปอาจเป็นแค่รูปแบบในการแสดงออกเท่านั้น เคยชอบอะไรก็ยังชอบอยู่อย่างนั้น ไม่ชอบ..ก็ไม่ชอบจนเดี๋ยวนี้
  • อ่านบันทึกนี้แล้ว ก็รู้สึกอย่างนั้นอีก..ชอบครับ!

ในชนบทรู้สึกถึงความอบอุ่น..และรู้สึกถึงความเป็นชีวิตจริงๆ..ได้มองเห็นความงดงามของวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและความอ่อนโยนในจิตใจของผู้คน..

ดีใจที่ชีวิตได้เรียนรู้ทั้งในที่ที่วุ่นวายที่สุดและสงบอย่างที่สุด..

จนค้นพบว่า..ชีวิตจริงๆแล้วเราเหมาะกับที่ใด..

 ....

"ห้วงยามแห่งความสดใสในวัยเด็ก "ประโยคนี้ชอบจังค่ะ..^^

มาชม

ได้รับไออุ่นรักจากบ้านเกิดกายอย่างน่าชื่นชมดีแท้ ๆ

ย้อนมองอดีตที่ มศว มหาสารคาม ทำให้คิดถึง "ป่งใบ" คิดถึงบทกวีเสี้ยวจันทร์ แรมไพร ที่คิดไว้วรรคหนึ่งว่า "ทำไมคนต้องไปไกลบ้าน..." สาคร สารคาม

สวัสดีค่ะ

มาอ่านและคราวนี้ทิ้งร่องรอยค่ะ ไม่เช่นนั้นอาจไม่ได้ชื่อว่า ...แฟนคลับของอ.แผ่นดิน...^_^...

ชื่นชมความสุข...ในวันวารที่ผ่านไปด้วยค่ะ

งานมาก รักษาสุขภาพด้วยนะคะ

(^___^)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท