ตอนที่ดร.ยูนุส (ผู้ริเริ่มธนาคารคนจน Grameen Bank) ไปเจรจากับธนาคารพาณิชย์เพื่อขอให้ธนาคารปล่อยเงินกู้ให้คนจนโดยไม่ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน นายธนาคารเสนอให้ใช้คนค้ำประกันกันเอง ถ้ามีผู้ค้ำประกันที่ไว้ใจได้ ธนาคารก็จะพิจารณาปล่อยสินเชื่อโดยชาวบ้านไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน[1]
... เรานึกถึงรูปแบบของกองทุนหมู่บ้านหรือกลุ่มออมทรัพย์ชาวบ้านไทยที่ใช้คนค้ำประกันแทนหลักทรัพย์... คิดว่า คำตอบยูนุสตอนนั้นคงจะเป็น ‘ตกลง’ แต่ยูนุสกลับ ‘ไม่ตกลง’ เราสงสัยขึ้นมาทันทีว่า ยูนุสคิดอะไรอยู่
“อะไรจะหยุดผู้ค้ำประกันไม่ให้ฉวยโอกาสเอาเปรียบลูกหนี้ที่เขาไปค้ำประกันให้ เขาอาจกลายเป็นเผด็จการ อาจจะจะใช้งานลูกหนี้เยี่ยงทาส” นี่คือคำตอบของยูนุส คำตอบของนักวิชาการที่คุ้นเคยอยู่ในบริบทของชาวบ้านบังคลาเทศ ... เป็นคำตอบที่เราคาดไม่ถึง และไม่เคยตั้งข้อสงสัยกังวลต่อกรณีการใช้คนค้ำประกันในระบบการเงินฐานรากของไทย
ตามประสานักวิชาการขี้สงสัย เราเคยพยายามถามชาวบ้านไทยเหมือนกันว่า เขามีวิธีเลือกคนค้ำประกันอย่างไร และถามประธานกองทุนหมู่บ้านว่า คนค้ำประกันมีความสำคัญแค่ไหนต่อการพิจารณาให้หรือไม่ให้สินเชื่อ
เราแน่ใจว่า คำถามของเราเช่นนี้ ทำให้บางคนหงุดหงิดและคิดว่า ...นักวิชาการไร้เดียงสาพวกนี้คิดเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก ทำเรื่องละเอียดอ่อนให้เป็นกลไก เอากรอบคิดแข็งตัวมาไต่สวนพฤติกรรมชาวบ้าน...
สิ่งที่เรามองเห็นขณะนี้คือ ในกลุ่มระดับหมู่บ้าน “ความสัมพันธ์” เป็นหัวใจของความเป็นกลุ่มชุมชน แต่เมื่อมองว่า องค์กรการเงินฐานรากกำลังขยับตัวจากระดับหมู่บ้าน ไปสู่ระดับตำบล ในระยะห่างที่มากขึ้น ความสัมพันธ์ใกล้ชิดจะหย่อนลง “กติกา” จะมีบทบาทสำคัญมากกว่าความสัมพันธ์แบบ bonding แล้ว
และที่สำคัญอีกประการ คือ “เป้าหมาย” หรือ “อุดมการณ์” ของการเป็นองค์กรการเงินชุมชนระดับหมู่บ้านกับระดับตำบลนั้น จะเหมือนหรือต่างกันอย่างไร.. ทำไมจะต้องพัฒนาเป็นองค์กรการเงินระดับตำบล เราเชื่อว่าเหตุผลที่แท้จริง (ไม่ใช่วาทกรรม) ของแต่ละกลุ่มคงต่างกัน ในจำนวนนี้ หลายกลุ่มอาจทำเพราะคนอื่นเขาทำกัน ทำเพราะหน่วยงานสนับสนุนให้ทำ
ตำบลจะทำงานกับหมู่บ้านอย่างไร แล้วตำบลจะเปลี่ยนหมู่บ้านไปอย่างไร เปลี่ยนชีวิตผู้คนให้ได้ดีกว่าหมู่บ้านอย่างไร
จุดทดสอบเมื่อทำงานระดับหมู่บ้าน กับเมื่อทำงานระดับตำบลน่าจะต่างกัน... นี่คือ ข้อเสนอของเรา
รูปแบบการจัดการที่ “ตำบลรับฝาก หมู่บ้านปล่อยกู้” กับรูปแบบที่ “หมู่บ้านรับฝาก ตำบลปล่อยกู้” ก็มีความหมายต่างกัน รูปแบบแรกดูน่าจะเสี่ยงน้อยกว่า
คำตอบเรื่องคนค้ำประกันยังไม่ชัดเจน ชาวบ้านมีวิธีเลือกคนค้ำประกันอย่างไร เรายังไม่มีโอกาสได้ซักถามต่อ แต่ก็ได้ถามกรรมการกลุ่มเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องนี้
“เวลาปล่อยสินเชื่อ เราก็ดูนิสัยคนกู้ ดูวงเงิน ดูคนค้ำประกัน”
“เราไม่ให้เครือญาติค้ำประกันกันเอง” ประธานกลุ่มหนึ่งตอบ “เหมือนกันเกินไปก็หายกันไปทั้งสามคน” นี่คือประสบการณ์
“เราจะให้ข้าราชการซี 3 ขึ้นไปค้ำประกัน” เป็นคำตอบจากกลุ่มในชุมชนเมือง
แต่ระบบที่หลายๆกลุ่มใช้เหมือนๆกันคือ “ถ้าบางคนไม่ยอมคืนเงินกู้ เราก็จะไม่คนอื่นในกลุ่มกู้ยืมอีกต่อไป สมาชิกทั้งหมู่บ้านก็ต้องมากดดันหรือช่วยเหลือกันเอง” นั่นคือแผนสองที่ใช้ได้ผล แต่ทางออกจริงๆอยู่ที่แผนสาม คือ ต้องหาเงินมาให้ได้
แผนสาม คือ กรรมการขยายเวลาให้คืนเงินล่าช้าแล้วช่วยหาทางออกให้ เช่น กรรมการช่วยจ่ายเงินเสียเอง หรือ กรรมการช่วยหาทางให้เขาไปกู้ที่อื่นมาคืน หรือ แม้แต่ใช้ระบบตั๋วเงินชุมชน
หนี้เสียจึงน้อย และไม่ใช่ประเด็นน่าเป็นห่วง แต่ปัญหาการหมุนหนี้ต่างหากที่เป็นโจทย์ยาก
ปัจจุบัน ระบบใช้คนค้ำประกันดูจะไม่มีปัญหาในระดับหมู่บ้าน ส่วนความกลัวแบบยูนุส คือ ทำให้ผู้กู้อาจกลายเป็นทาสผู้ค้ำประกันนั้น ยังไม่เคยได้ยิน
แต่เราคิดต่อว่า หากสมาชิกแต่ละคนหมุนหนี้และหนี้สะสมเรื่อยๆ (แม้หนี้กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งยังเท่าเดิม) การหาคนค้ำประกันคงยากขึ้นเรื่อยๆ
.... แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับระบบ.....
ก่อนที่จะถึงจุดอับจนเรื่องการหมุนหนี้ภายในหมู่บ้าน ตอนนี้ตัวระบบปรับไปสู่การสร้างสถาบันการเงินชุมชนระดับตำบล...
หรือนักวิชาการคิดฟุ้งซ่านเกินไป.. เพราะหลายๆคนคงบอกว่า...คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน.. ชาวบ้านเก่งกว่านักวิชาการอยู่แล้ว