คิดเรื่องงาน (33) : คิดเรื่อย-เรื่อย (ต้านลมหนาว ..ถามข่าวคราวหลังน้ำท่วม)


กลับไปฟื้นฟูจิตใจของชาวบ้าน ปลุกเร้าให้พร้อมกับการฝ่าข้ามลมร้อนอันแสนแล้ง เพื่อนำพาตัวเองไปสู่การเริ่มต้นชีวิตใหม่ในห้วงฤดูฝนอย่างไม่สิ้นหวัง

คนที่สนิทชิดเชื้อกับผม  จะรู้ดีว่าผมเป็นคนประเภท “คิดเร็ว-ทำเร็ว” 

          แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า  การคิดเร็วทำเร็วของผมนั้น  จะรวมถึงคุณลักษณะของการเป็นคนประเภท “คิดใหม่-ทำใหม่”  เสมอไป

          และนอกเหนือจากจะเป็นคนจำพวกคิดเร็วทำเร็วแล้ว 
         
คุณลักษณะเตะตากวนใจคนรอบข้างที่เห็นชัดๆ  อีกอย่างเลยก็คือ
          เป็นคน
“คิดเรื่อย-เรื่อย”  

          เรียกได้ว่า   เห็นอะไรเก็บมาคิดไปหมด 

และการเก็บมาคิดนั้น ก็หมายถึงการคิดทำโน่นทำนี่อยู่เรื่อยๆ  
          ทำเอาคนรอบข้างเหนื่อยหอบไปตามๆ กัน


  


 

          ล่าสุด 
         
ผมสะท้อนแนวคิดในเชิงการมอบนโยบายกรายๆ  กับเจ้าหน้าที่ในทีมงานที่ผมกำกับดูแลด้วยการฝากให้ขยายผลกิจกรรม
“ต้านลมหนาวสานปัญญา”  ไปสู่พื้นที่อื่นๆ  อีกสักครั้ง หรือสองครั้ง

พร้อมๆ กับการกำชับว่า  ถ้าเป็นไปได้ให้เริ่มจากหมู่บ้านละแวกมหาวิทยาลัยที่เคยประสบภัยน้ำท่วม  ซึ่งเมื่อกลางฤดูฝน  เราต่างก็เคยไปช่วยเหลือมาแล้วยกหนึ่ง

ผมคิดในมุมนั้น  แบบง่ายๆ  สบายๆ  เพราะเห็นว่าระยะทางอยู่ไม่ไกล  ไปมาสะดวก 

ไม่สิ้นเปลืองงบประมาณเรื่องการเดินทาง  ไม่สิ้นเปลืองค่าข้าวค่าน้ำ  

แถมยังสามารถย้ำถึงแนวคิดของการสะท้อนภาพเรื่องการใส่ใจต่อสังคมใกล้ตัว 

          และที่สำคัญที่สุดที่ผมคิดเลยก็คือ  การกลับไปถามข่าวคราวของชาวบ้าน  หลังจากสู้ทนกับภัยน้ำท่วมมายกใหญ่ๆ

เป็นการเยียวยาจิตใจชาวบ้าน  หลังจากทนทุกข์กับภัยพิบัติมาตลอดห้วงฤดูฝน

หรือหากจะเรียกในดูดีหน่อยก็เป็นการกลับไปฟื้นฟูจิตใจของชาวบ้าน  ปลุกเร้าให้พร้อมกับการฝ่าข้ามลมร้อนอันแสนแล้ง  เพื่อนำพาตัวเองไปสู่การเริ่มต้นชีวิตใหม่ในห้วงฤดูฝนอย่างไม่สิ้นหวัง

แต่ก็น่าเสียดายอยู่ไม่ใช่น้อย  แนวคิด หรือนโยบายของผมนั้น  เคลื่อนขับไปอย่างเอื่อยๆ

หรือหากจะเรียกว่าไม่ขยับเลยก็ไม่ผิดนัก 

ไม่เพียงไม่เกิดรูปรอยในพื้นที่รายรอบมหาวิทยาลัย  
         
แต่พื้นที่ใหม่ที่ปักธงแถวๆ มุกดาหารก็พลอยกระทบจนต้องล่าช้าไปตามๆ กัน

 

เหตุการณ์ดังกล่าวนี้  ผมซุ่มสังเกตความเคลื่อนไหวอยู่เป็นระยะๆ  พร้อมๆ กับการประเมินสภาวะอากาศ และทิศทางความเป็นไปได้ของการระดมทุน   จนแน่ชัดว่า  หากยังขืนปล่อยเรื่อย-เรื่อยไปเช่นนี้  มีหวังไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันแน่  จึงจำใจต้องหักดิบลุกขึ้นมาขับเคลื่อนด้วยตนเอง

          กล่าวคือ 
         
ในวันหนึ่ง (เมื่อไม่นาน)  ผมหอบพาความกล้าของตัวเองไปยังเทศบาลตำบลขามเรียง
   โดยนำพากิจกรรม “ต้านลมหนาว ..ถามข่าวคราวหลังน้ำท่วม”  ไปนำเสนอแบบง่ายๆ  
          
และเปิดหน้าตักให้เห็นชัดๆ แบบไม่อายว่า “ผมมีอะไรเป็นต้นทุนบ้าง”

          ผมบอกกับผู้บริหารเทศบาลตำบลขามเรียงแบบไม่อ้อมค้อมว่าอยากทำกิจกรรมนี้มาก  แต่จนใจเพราะยังไม่มีงบประมาณอย่างที่ใจหวัง 
         
เท่าที่มีอยู่ก็มีเพียงเล็กๆ น้อยๆ  ไม่เป็นชิ้นเป็นอันนัก   

          แต่ที่มีอยู่อย่างล้นเหลือเลยก็คือ  “หัวจิตหัวใจ” ของตนเองแบบ “เพียว-เพียว”

 

เป็นความโชคดีของผมโดยแท้  

          ผู้หลักผู้ใหญ่ของเทศบาลขามเรียงปลงใจเห็นดีเห็นงามด้วย  โดยพร้อมที่จะหัวลงเรือลำเดียวกันกับผม (เสมือนการออกไปเยี่ยมยามถามข่าวลูกบ้านไปในตัว) 

          เกี่ยวกับแนวทางกว้างๆ  นั้น  
         
เทศบาลฯ  ยึดอกรับผิดชอบเรื่องเสื้อกันหนาว 
         
พร้อมกับยืนยันว่า  เสื้อกันหนาวนั้น  เป็นชนิดใหม่เอี่ยม  ไม่ใช่เสื้อผ้าประเภท
“มือสองของเหลือใช้” 
          ส่วนผมรับผิดชอบเรื่องดนตรีและข้าวของเครื่องใช้ตามแต่ศรัทธา

นิสิตจาก "วงแคน"  หมอลำเสียงจริง, หมอแคนเสียงจริงและดนตรีลุกทุ่งหมอลำลงพื้นที่ให้กำลังใจชาวบ้าน

เกี่ยวกับเรื่องนี้

          ผมไม่ได้คิดอะไรซับซ้อนนักว่าวิธีการของผมจะตกหลุมเป็นเครื่องมือการเมืองของใครหรือไม่ 
         
ผมรู้แต่เพียงว่า  ผมอยากทำ  และน้องนิสิตจำนวนหนึ่งก็อยากทำในสิ่งเดียวกับผม

          และเราก็รู้ดีว่า  
         
ตัวตนของเราในเวทีนั้นจะออกมาในรูปแบบใด  เราไม่ใช่เครื่องมือของการเมืองท้องถิ่น  หากแต่เราเป็นเครื่องมือของหัวใจเราเอง  ไม่มีใคร หรือวิถีใดจะก้าวเข้ามาครอบงำกำหนดวิถีใจของเราได้
 

เปิดใจมองในมุมกลับกัน 
       
กิจกรรมนี้ก็เป็นกระบวนการหนึ่งของการร่วมมือกับชุมชน  มิใช่การทำงานแบบแยกส่วน  เพราะมหาวิทยาลัยก็ถือเป็นส่วนหนึ่งในเขตพื้นที่ดังกล่าว
  เทศบาลมีหน้าที่ดูแลสารทุกข์สุขดิบของชาวบ้าน

        มหาวิทยาลัยในฐานะของผู้มาอาศัยพื้นที่ตรงนี้  ก็ย่อมมีพันธกิจแห่งการบริการชุมชนเหล่านี้ไปโดยปริยาย

ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ 
       
ทั้งผมและนิสิตจำนวนหนึ่ง  จึงฝ่าทะเลสอบและห้วงมหกรรมกีฬาระหว่างคณะออกไปยังหมู่บ้านต่างๆ 

           เป็นการทำงานด้วยกลไกล “คิดเร็ว-ทำเร็ว”  
        และเคลื่อนงานภายใต้แนวคิด“ต้านลมหนาว ..ถามข่าวคราวหลังน้ำท่วม” 

     นักข่าวท้องถิ่นลงพื้นที่ทำข่าวโทรทัศน์

เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวนี้
 
       ก่อนการงานแห่งชีวิตนี้จะเริ่มขึ้น 
        
ผมถือโอกาสเชิญเจ้าหน้าที่ท่านดังกล่าวมาพบปะพูดคุยในเรื่องนี้อย่างเป็นกันเอง

         หลักๆ นั้น,  
         
ผมอธิบายให้เขาฟังว่า  เรื่องดังกล่าวนี้  เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องอิงกับสถานการณ์ 
        
และเป็นพันธกิจอันยิ่งใหญ่ที่มหาวิทยาลัยไม่อาจนิ่งเฉย  รวมถึงการต่อเนื่องเพื่อกลับไปให้กำลังใจต่อชาวบ้านที่ครั้งหนึ่ง
“เรา”  เคยได้เข้าไปช่วยเหลือ

        ผมเอ่ยถามเจ้าตัวอย่างกว้างๆ  ถึงสาเหตุของการไม่สามารถขับเคลื่อนงานนี้ได้อย่างรวดเร็ว  เพื่อให้รู้ที่มาที่ไปของปัญหา  รวมถึงการซักถามเพื่อประเมินสภาพการณ์ทำงานของเจ้าหน้าที่ไปในที

        ซึ่งเจ้าตัวก็บอกกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า  -
        ความล่าช้าเกิดจากการรอความร่วมมือจากนิสิต  และตัวเขาเองก็ติดๆ ขัดๆ กับเรื่องการศึกษาต่อที่อยู่ในห้วงหัวเลี้ยวหัวต่อ

        ผมบอกกับเขาว่า  “ผมเข้าใจในสภาพการณ์เหล่านี้ดี”
        แต่ก็ไม่วายที่จะบอกกล่าวอย่างเป็นมิตรอีกรอบว่า -
       
กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมในเชิงนโยบาย  ที่เน้นให้เราเป็นคนขับเคลื่อนร่วมกับนิสิต  ไม่ใช่ยกภารกิจเหล่านี้ให้นิสิตได้รับผิดชอบไปเต็มๆ  โดยเราถอยห่างออกมาเป็นที่ปรึกษาแบบ
“เพียวๆ” 

        และที่สำคัญคือ  กิจกรรมนี้อยากให้มีขึ้นมากๆ 

        เพราะเป็นกิจกรรมต่อเนื่อง   และพื้นที่เหล่านี้ก็เป็นพื้นที่รายรอบมหาวิทยาลัย 

        เป็นความรับผิดชอบโดยตรงที่เราจะต้องเข้าไปช่วยเหลือ  และเยียวยาให้ชาวบ้านฝ่าพ้นไปจากวิกฤตของน้ำท่วม

       
กระทั่งท้ายที่สุดของการพบปะพูดคุยกันนั้น 
       
ผมก็บอกย้ำอีกรอบว่า  ที่เหลือจากนี้  ผมก็ปรารถนาให้เขาเข้ามารับงานต่อจากผม  แต่ถ้าหากไม่พร้อม  ก็ยังไม่จำเป็นที่จะต้องลงแรงกับงานนี้ก็ได้  เพราะส่วนหนึ่งนิสิตได้เข้ามารับช่วงไปแล้วอย่างขันแข็ง

        แต่ถึงกระนั้น  ก็ไม่ลืมย้ำอีกรอบว่า -
       
งานนี้, เป็นงานเชิงรุกเรื่องเดียวที่เขามีอยู่ 
       
ผมอยากให้เขารู้และตระหนักว่า  งานนี้เป็นงานชิ้นโบว์แดงที่เขามีพอที่จะใช้เป็นกระบอกเสียงของการประเมินตัวเอง  เพราะคนอื่นนั้น  ก็ล้วนมีงานเชิงรุกกันแล้วทั้งสิ้น

 

ผมไม่รู้ว่ากระบวนการของการบริหารจัดการเรื่องนี้ถูกต้องตามครรลองของความเป็นผู้นำหรือไม่
        แต่ผมก็ยังอยากจะยืนยันตรงนี้ว่า  ผมได้รอ..และรอเรื่องนี้มานานมากแล้ว 

        เมื่อไม่มีการขยับ  ผมก็จำต้องขยับเสียเอง 
        เพราะงานนี้, กิจกรรมนี้เป็นเรื่องที่ต้องอิงกับสถานการณ์
 
       
หากทิ้งช่วงไปมากกว่านี้  กิจกรรมก็คงไม่สอดรับกับสถานการณ์เป็นแน่แท้

        ผมจึงหวังแต่เพียงว่าลูกน้องจะรับรู้และตระหนักถึงความจำเป็นในเรืองของการทำงานในเชิงรุก  และเข้าใจต่อวิถีแห่งการคิดนอกกรอบ 

        รู้และเข้าใจว่างานใดควรต้องสวมบทผู้นำ   งานใดต้องสวมบทเป็นพี่เลี้ยงนิสิต  หรือแม้แต่จังหวะใดจะต้องเดินนำหน้านิสิต  หรือจังหวะใดที่จะต้องถอยห่างออกมาเป็นพี่เลี้ยง 
       
และจังหวะใดจะต้องเดินเคียงบ่าเคียงไหล่ไปกับนิสิต

        รวมถึงการทำงานในระบบคิดจาก “ล่างขึ้นบน”  ไม่ใช่จาก “บนลงล่าง”  ซึ่งหมายถึงรอการสั่งการจากผู้บังคับบัญชา 
       
ถ้าไม่สั่งก็ไม่ขยับ ...

 

       แต่ไม่ว่าเหตุผลกลใดก็ตาม  ผมก็ยังเชื่อว่า  สถานการณ์ที่บีบรัดให้ผมลุกขึ้นมา “รุก”  ด้วยตนเองนั้น  ก็ไม่ถึงกับปิดตายสำหรับลูกน้องที่จะต้องมารับช่วงต่อ

       และปลายทางของกิจกรรมนั้น  ก็ “ได้”  มากกว่า “เสีย”

       ได้ทั้งการสร้างพื้นที่ “จิตอาสา”  ให้กับนิสิต
       ได้พื้นที่แห่งการเรียนรู้ความเป็น
“ชุมชน” ของนิสิต
       ได้พื้นที่และโอกาสแห่งการแสดงศักยภาพของนิสิต

       ได้กลับไปถามข่าวคราวชาวบ้านเสมือนญาติมิตรที่ไม่เคยร้างและห่างเหิน

       ฯลฯ

 

        รวมถึงแนวคิดในเชิงการเมืองที่อาจกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า  ...

        ได้สร้างสัมพันธภาพระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน
        เป็นการประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยในอีกช่องทางหนึ่งด้วยเหมือนกัน

 

 

..

 

30 มกราคม  52
ลานวัดบ้านมะกอก, ขามเรียง

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 240684เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2009 00:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (23)

แวะมาดูกิจกรรมสร้างสรรค์สังคมค่ะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ

กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมเรียบง่ายมากครับ  ในส่วนที่ผมและนิสิตรับผิดชอบก็ประกอบด้วยการจัดหาสิ่งของในบางส่วน และรับผิดชอบในเรื่องการแสดงดนตรี  โดยให้นิสิตที่มีทักษะเหล่านี้ได้แสดงออกซึ่งความสามารถของตนเอง  และความสามารถที่ว่านั้น ก็ถือเป็นการบริการสังคมในอีกรูปแบบหนึ่งด้วยเช่นกัน  อย่างน้อยก็ช่วยให้ชาวบ้านเกิดความสุข ความสนุกสนาน  หลังจากเครียดๆ กับภาวะน้ำท่วมและความหนาวเย็นมาแล้วระยะหนึ่ง

งานครั้งนี้เป็นการเติมเต็มกันและกันในทุกภาคฝ่าย  และเชื่อว่านิสิตจะมีความสุขกับกิจกรรมนี้  เพราะไม่เพียงได้เรียนรู้การเป็นผู้ "ให้"  เพียยงสถานเดียว  แต่ยังมีโอกาสได้พบปะพูดคุยถึงวิถีความเป็นอยู่ของชาวบ้านไปพร้อมๆ กัน

ขอบคุณครับ

 

สวัสดีค่ะพี่แผ่นดิน

กอไปอ่านบันทึกนี้มา

เลยเอามาฝากค่ะ

http://gotoknow.org/blog/sorn-variety/240700

มาเป็นกำลังใจสำหรับกิจกรรมดี ๆ ของนักศึกษาที่ช่วยสร้างสรรค์สังคมค่ะ

สวัสดีครับ ก้านกอคลับ

พี่เข้าไปอ่านบันทึกนั้นแล้วนะครับ  ได้สาระชั้นเยี่ยมเลยทีเดียว  เพราะหลายเรื่องเป็นเรื่องที่ตนเองกำลังประสบอยู่พอดี 

และบันทึกนั้นก็เป็นประหนึ่งคลีนิคดีๆ  นี่เอง

ขอบคุณครับ

บันทึกนี้ขอบอกว่าสุขใจที่ความดีนำพาไปสู้การกระทำที่ดี ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ คุณน้อง พิชชา

  • กิจกรรมนี้ ไม่เพียงมอบของและเล่นดนตรีเท่านั้นนะครับ
  • การได้ทานข้าวร่วมกับชาวบ้านก็ถือเป็นบรรยากาศชีวิตที่ดี ได้รับรู้รับฟังสุขทุกข์ของชาวบ้านไปในตัว
  • ผมมีโอกาสได้คุยกับแกนนำหมู่บ้าน
  • โดยส่วนหนึ่งเป็นการคุยกันถึงความร่วมมือและความช่วยเหลือที่มหาวิทยาลัยอาจต้องขับเคลื่อนเข้าไปสู่หมู่บ้านนั้นๆ
  • ซึ่งเบื้องต้น  ผมก็เริ่มวางแนวทาง ร่วมคิดร่วมสำรวจกับนิสิต บ้างแล้ว
  • ....
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ...

คิดเรื่อย ๆ แต่เป็นความคิดที่ดี ๆ

ผลตอบแทนทางจิตใจสูงค่ะ

 

  • เข้ามาชื่นชมกิจกรรมดี ๆ ค่ะ
  • คิดเร็วทำเร็ว คิดดีทำดี และนำไปสู่ "การปฏิบัติได้"
  • อาจจะขัดหูขัดตา  คนคิดเรื่อย ๆ เปื่อย ๆ ไปบ้างก็ไม่เป็นไป บางทีคนที่คิดเรื่อยๆ เปื่อย ๆ แบบหมดไฟ อาจจะรอให้ใครสักคนจุดไฟอีกครั้งก็ได้ค่ะ
  • บางทีการให้โอกาสกับคน ๆ หนึ่งคือการให้ชีวิตใหม่ค่ะ
  • อิอิ จะตามอ่านกิจกรรมดี ๆ อีกนะคะ
  • คิดถึงพี่แผ่นดินและฝากคิดถึงพี่สาวกับหนุ่มน้อยตัวเล็ก 2 คนด้วยค่ะ
  • สวัสดีค่ะ คุณแผ่นดิน
  • ถ้าคนเรามีความจริงจัง ตั้งใจจริง ในการปฏิบัติหน้าที่ และหากหน้าที่นั้น เป็นผลจากการที่เราได้คิดเอง งานนั้นย่อมประสบผลสำเร็จ อย่างแน่นอน
  • ชื่นชม ด้วยค่ะ

สวัสดีค่ะ

- ตามมาดูกิจกรรมดี ๆ น่าชื่นชมค่ะ

- เห็นด้วยค่ะ ที่จะฝึกความอดทน และเห็นคุณค่าของเงินแก่เด็ก ก่อนที่ไม้จะแก่ดัดยาก

แต่เราต้องระวัง "ความใจอ่อน"ของพ่อแม่ เป็นภัยอย่างยิ่งค่ะ เพราะขนาดตัวเองยังใจอ่อน ฮิ ฮิ

- ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ อาจารย์ 

สบายดีไหมค่ะ

 

สวัสดีค่ะ

สบายดีนะค่ะ

 

สวัสดีครับ. krutoi

สุขใจที่ความดีนำพาไปสู้การกระทำที่ดี

ผมเห็นด้วยกับบทสรุปนี้มากนะครับ  เพราะโดยส่วนตัวผมก็รู้สึกเสมอว่า  กิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่ไม่มีอะไรเสียหาย  เป็นเรื่องความดีที่ตอบโจทย์การเป็นผู้ให้ได้อย่างไม่ซับซ้อน  และเป็นสะพานเชื่อมมิติของความเป็นมหาวิทยาลัยกับชุมชนไปในตัว..

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ   windy

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมนะครับ

เป็นธรรมชาติของผมโดยแท้  โดยชอบคิดโน่นคิดนี่อยู่บ่อยๆ  คิดเสร็จก็หันกลับมาพาน้องๆ คิดและทำไปเรื่อยๆ  ซึ่งระยะหลังจึงถือได้ว่า  มีผลผลิตออกมาในหลายรูปแบบ  และผลผลิตที่ว่านั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ระหว่างเจ้าหน้าที่กับเจ้าหน้าที่และส่วนหนึ่งก็เป็นการเรียนรู้ระหว่างเจ้าหน้าที่กับนิสิต หรือนิสิตกับนิสิต เป็นต้น

ขอบคุณครับ

  • หวัดดีค่ะ...อ.แผ่นดิน
  • สบายดีนะค่ะอาจารย์
  • เป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์มากค่ะ
  • "คิดเรื่อย-เรื่อย" แต่เกิดประโยชน์ต่อสังคม ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีนะค่ะ
  • สู้ ๆ ต่อไปนะค่ะอาจารย์ ขอเป็นกำลังใจให้ค่ะ

สวัสดีครับ.. เพ็ญศรี(นก)

ดีใจที่ได้ทักทายนะครับ

เกี่ยวกับเรื่องให้โอกาสนั้น  เป็นเรื่องใหญ่สำหรับผมมาก  และผมก็ถือปฏิบัติอยู่อย่างสม่ำเสมอ  เช่นเดียวกับการกลับมารับงานบริหารในกลุ่มงานนั้น  มีหลายเรื่องที่ต้องสะสางต่อเนื่องจากก่อนหน้านั้น แต่ทุกเรื่อง  ผมก็ให้ถือว่าเป็นเรื่องใหม่..เริ่มต้นใหม่ ..ซึ่งหมายถึงการให้โอกาสแห่งการปรับปรุงและแก้ไข  โดยไม่นำเรื่องก่อนหน้านั้นมาเป็นคำพิพากษา  พร้อมๆ กับมอบหมายงานใหม่ที่มีกลิ่นอายเดิมๆ กับที่เขาล้มเหลวให้ได้รับผิดชอบ  เสมือนการบอกนัยๆ ว่า  นั่นคือการหยิบยื่นโอกาสให้เขาได้พิสูจน์ตนเองในเรื่องคล้ายๆ เดิมที่เขาล้มเหลวมา

แต่เหนือสิ่งอื่นใด...
การให้โอกาสนั้น  ผมจะบอกชัดเจนว่า จะให้ดี  คนเราต้องไม่เริ่มต้นในเรื่องเดิมๆ อย่างซ้ำซาก  เพราะนั่นคือการสะท้อนให้เห็นว่าเราไม่มีพัฒนาการ

ครับ.. เมื่อมีโอกาส  ก็ต้องรักษาโอกาสและสร้างสรรค์โอกาสนั้นๆ  ให้ดีต่อตนเองและองค์กร

ขอบคุณครับ

 

สวัสดีครับ เอื้องแซะ

ในแต่ละครั้งพยายามอย่างเต็มที่กับการให้เจ้าหน้าที่คิดและขับเคลื่อนแนวคิดของตนเองออกมาอย่างเป็นรูปธรรมและผนวกเอาคนอื่นๆ มาเติมเต็มในงานนั้นๆ

และหวังเสมอว่า...

ขอให้ทุกๆ คนทำงานในความรับผิดชอบอย่างมีวินัย  เพราะนั่นคือปัจจัยแห่งความสำเร็จโดยแท้

ขอบคุณครับ

 

สวัสดีครับ.เพชรน้อย

เห็นด้วยค่ะ ที่จะฝึกความอดทน และเห็นคุณค่าของเงินแก่เด็ก ก่อนที่ไม้จะแก่ดัดยาก

แต่เราต้องระวัง "ความใจอ่อน"ของพ่อแม่ เป็นภัยอย่างยิ่งค่ะ

ขอบคุณครับสำหรับข้อเสนอแนะดีๆ ..

บางทีผมก็ต้องเตือนตัวเองตลอดเวลา  เพราะเกรงว่าการคิดแทน หรือจัดการกระบวนการบางอย่างเอง  จะกลายเป็นเหมือนพ่อแม่รังแกฉัน  โดยไม่ปล่อยให้เจ้าตัวได้คิดเองและจัดการกระบวนต่างๆ  ด้วยตนเอง
แต่ถึงกระนั้น  ผมก็จะพยายามไม่ลงไปล้วงลึก หรือจัดตั้งอันใดก่อน  แต่จะมอบให้เขาได้จัดการอะไรด้วยตัวเอง  เว้นเสียแต่ไม่มีอะไรคืบหน้าและนิ่งเฉย จนอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาพรวมขององค์กร  จึงจำต้องลงไปลุยด้วยตนเอง  พร้อมๆ กับการนำผู้รับผิดชอบมาลุยไปพร้อมๆ กัน

นั่นคือวิธีการที่ผมใช้ปฏิบัติกับทีมงานของตนเองเสมอมา

ขอบคุณครับ

 

 

สวัสดีครับ  ครูเอ jantaluck

ถามว่าสบายดีไหม...

ผมสบายดีครับ   ยังมีอะไรให้ทำเยอะแยะไปหมด  แต่ช่วงนี้อยู่ในขั้นตอนของการอบรมตามหลักสูตรสมรรถนะผู้บริหารสายสนับสนุน  เนื้อหาเริ่มหนักขึ้นเรื่อยๆ 

พรุ่งนี้เดินทางไปศึกษาดูงานที่กรุงเทพฯ ..

ตอนนี้ก็มีแรงจูงใจมากพอที่จะพัฒนาตนเองและองค์กร  เลยพลอยให้คิดเรื่อย-เรื่อย  ครับผม

.....

ขอให้มีความสุขมากๆ นะครับ

รู้สึกจะไม่ได้เจอกันนานแล้วนะ..

  • หวังว่าคงสบายดีนะครับ.
  • ตอนนี้ผมกลับมารับผิดชอบงานด้านการพัฒนานิสิตอีกรอบ แถมพ่วงด้วยงานหอพักอีกยกใหญ่
  • หนักน่าดู แต่ก็ท้าทายไม่แพ้กัน
  • ยังมีความสุขกับการทำงานเรื่อยมาก..ยิ่งเป็นงานรในแนวทางอาสาพัฒนาแล้วยิ่งมีความสุขกับงานนั้นๆ  เป็นพิเศษ
  • เดือนมีนาคมที่จะถึงนี้  จะมีค่ายอีกหลายค่ายเลยทีเดียว
  • คงได้นำมาเล่าอีกรอบ..
  • ....
  • มีความสุขกับชีวิตนะครับ / ผมเป็นกำลังใจให้
  • คิดดี ทำดี ขอให้มีความสุขค่ะ
  • งานบางงานเป็นงานเพื่อชีวิต เพื่อสังคมและชุมชน ทำแล้วก็ได้บุญอีกด้วยค่ะ

สวัสดีครับ,  Sila Phu-Chaya

งานที่ทำให้กับชุมชน  ถือเป็นน้ำหยดเล็กๆ ที่หล่อเลี้ยงชีวิตตนเอง  ถึงแม้บางงาน  เราจะไม่ใช่คนลงแรงเสียทั้งหมด แต่การมีส่วนเพียงน้อยนิด เพียงการให้คำปรึกษา  ก็ถือว่า..สุขใจไม่แพ้กัน  อย่างน้อยก็ออกแรงให้ได้เหงื่อทางความคิด, ประมาณนั้น

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท