การตรวจพิเศษทางรังสีของปอด 1


ประมวลจากรายงานของนิสิตรังสีเทคนิค เรื่อง การตรวจพิเศษทางรังสีของปอดในปัจจุบัน

การตรวจพิเศษทางรังสีของปอดในอดีต คือ Bronchography

Bronchography

          เป็นการตรวจพิเศษ ทางด้านรังสีของ Lungs และ bronchial tree โดยการฉีดสารทึบรังสีเข้าไปใน bronchus

  

ข้อบ่งชี้ของการตรวจ

  1. เพื่อตรวจผู้ป่วยในรายที่มีอาการไอเป็นเลือด(Hemoptysis)โดยส่วนมากจะกระทำเมื่อเลือดหยุดแล้ว
  2. เมื่อสงสัยว่ามีโรคหลอดลมโป่งพอง (Bronchiectasis) มักมีอาการไอเรื้อรัง มีเสมหะมาก
  3. เพื่อตรวจในรายที่แพทย์ไม่แน่ใจว่าเนื้องอกที่เห็นในปอด อยู่ในเนื้อปอด หรืออยู่นอกเนื้อปอด เพื่อสะดวกในการผ่าตัด
  4. เพื่อวินิจฉัย Cysts หรือ cavities ในปอด
  5. เพื่อวินิจฉัยโรคที่อยู่ในหลอดลม เช่น มะเร็งอย่างร้ายแรงในหลอดลม
  6. T.B. ที่ลุกลามไปที่หลอดลมจนตีบตัน
  7. chronic pneumonia
  8. bronchial obstruction


ข้อบ่งห้ามในการตรวจ

  1. ในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ หรือโรคตับอย่างรุนแรง
  2. ในผู้ป่วยที่มีปอดพอง(emphysema) จะมีการพองลมในเนื้อเยื่อปอดมาก ในการตรวจผู้ป่วยจะไอถ้าไอมากถุงลมอาจแตกได้


อันตรายที่เกิดจากการตรวจ

  1. ในรายที่มีโรคหลอดลมโป่งพอง(Bronchiectasis)หรือ ปอดพอง(emphysema)มากๆ ถ้าผู้ป่วยไอมากๆถุงลมอาจแตก เกิดภาวะ Pneumothorax ได้
  2. ถ้าทำทีเดียว 2 ข้าง ผู้ป่วยอาจสำลักตายได้ เพราะไม่มีอากาศหายใจ

วิวัฒนาการในปัจจุบันที่ใช้วินิจฉัยโรคปอด แทน Bronchography

          การวินิจฉัยที่แม่นยำที่สุดคือการได้ชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิ โดยพยาธิแพทย์    วิธีการได้ชิ้นเนื้อ มีหลายวิธีดังนี้

  1. Brochoscopy (การส่องกล้องเข้าทางหลอดลม) วิธีนี้ทำโดยใช้กล้องส่องสอดเข้าทางปาก หรือจมูก  ลงไปทางหลอดลม จากนั้นแพทย์จะได้ภาพโดยตรงของหลอดลมและท่อหลอดลมในปอด จนถึงก้อนเนื้อบริเวณนั้น จากนั้นจึงดูดหรือตัดชิ้นเนื้อบริเวณนั้นมาเพื่อตรวจทางห้องปฏิบัติการต่อไป 
  2. Fine-Needle aspiration (FNA) คือการใช้เข็มที่บางมากในการเจาะผ่านผนังทรวงอกเข้าปอด และเข้าเนื้อร้ายแล้วดูดเอาชิ้นเนื้อบางส่วนออกมาจากก้อนเนื้อที่สงสัย วิธีนี้ทำภายใต้การใช้ยาชาเฉพาะที่เพื่อป้องกันอาการปวด ระหว่าง FNA อาจจะต้องทำ CT scan เพื่อช่วยในการหาตำแหน่งที่เหมาะสมสำหรับแทงเข็ม การทำ CT scan จะช่วยให้ในการระบุตำแหน่งที่ถูกต้องเพื่อทำ FNA ได้
  3. Thoracenthesis  คือใช้เข็มเจาะน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอดส่งตรวจหาเซลล์มะเร็ง

          หลังจากทราบว่าเป็นมะเร็งแพทย์จะทำการตรวจเพิ่ม เพื่อจะทราบว่ามะเร็งแพร่กระจายหรือยังโดยการตรวจดังนี้

  1. Hi-resolution spiral CT Scan เป็นการ x-ray computer เพื่อดูว่ามะเร็งแพร่กระจายหรือยัง
  2. MRI [magnetic resonance imaging]  คือ เครื่องตรวจวินิจฉัยด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า โดยใช้สนามแม่เหล็กความเข้มสูง และคลื่นความถี่วิทยุ (Radio Frequency) ตรวจร่างกายด้วยการส่งคลื่นความถี่ออกมา และรับคลื่น ที่สะท้อนกลับ นำมาประมวลผลและสร้างเป็นภาพเหมือนจริงด้วยคอมพิวเตอร์ ซึ่งสามารถให้รายละเอียดคมชัด มีมิติ ความลึก เสมือนการตัดร่างกายออกเป็นแผ่นๆ ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยจุดที่ผิดปกติในร่างกายคนเราได้อย่างละเอียด
  3. PET Scan (Positron Emmision Tomography) เป็นการตรวจหาเซลล์ที่มีเมตะบอลลิสม์ผิดปกติ โดยใช้สารอาบรังสีฉีดเข้ากระแสเลือดและวัดรังสีที่อวัยวะนั้น และผ่านกระบวนการสร้างภาพให้เราเห็น
  4. Mediastinoscopy เป็นการส่องกล้องเข้าในช่องอกเพื่อดูว่ามะเร็งแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองหรือยัง  เพื่อตรวจหาพยาธิสภาพของมะเร็งบริเวณ superior และ posterior mediastinum พร้อมกันนั้นอาจทำbiopsy ต่อมน้ำเหลืองบริเวณ subcervical, paratrachialหรือperihylar node ด้วย
  5. EndoBronchial Ultrasound (EBUS) คือเทคโนโลยี Minimally Invasive Surgery ที่ทันสมัยล่าสุดที่ใช้ในการตรวจและรักษาโรคมะเร็งปอดซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ในการตรวจเกี่ยวกับ Bronchography เป็นเครื่องมือส่องกล้องที่เพิ่มความแม่นยำในการตรวจหาเซลล์มะเร็งในต่อมน้ำเหลืองภายในทรวงอกด้วยการทำ Ultrasound ที่ให้ผลแม่นยำสูงถึง 95%

การส่องกล้องตรวจหลอดลมและปอด : Bronchoscopic examination

          การส่องกล้องตรวจหลอดลมและปอด หรือที่ทางการแพทย์รู้จักกันในชื่อว่า Bronchoscopic examination ตัวกล้องที่ใช้ส่องเราเรียกว่า Bronchoscope เป็นการส่องเพื่อตรวจหาสาเหตุในการวินิจฉัยโรคและการรักษาโรค เช่น โรคมะเร็งปอด

          ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ด้วยอาการไอเป็นเลือด ภาพรังสีทรวงอกมี Haziness ในปอด ส่วนใหญ่มักจะเป็นวัณโรคปอดหรือ Bronchiectasis รายเหล่านี้ ไม่จำเป็นจะต้องนำมาส่องตรวจหลอดลมในทันที  เพราะนอกจากผู้ส่องตรวจ จะต้องรับเชื้อวัณโรค หรือ เชื้อโรคอื่นขณะส่องตรวจแล้วยังเป็นการส่องตรวจที่ไม่จำเป็น และ อาจทำให้โรคแพร่กระจายมากขึ้นได้ ในรายเหล่านี้ การซักประวัติการตรวจร่างกาย การศึกษาผล Lab  ผลเสมหะ หรือ ติดตามภาพรังสีทรวงอกหลังการรักษาก็อาจจะทำให้ทราบการวินิจฉัยโรค

          สำหรับโรคมะเร็งของปอด จากสถิติพบว่า ถ้าเราพบมะเร็งของปอดในระยะแรกเริ่มนั้น และถ้าไม่ใช่แบบที่เป็นเซลล์ขนาดเล็กแล้ว ผู้ป่วยมีโอกาสที่จะหายขาดได้ และมีการพยากรณ์โรคที่ดี คืออาจจะมีชีวิตอยู่ 5 ปีได้ถึง 80% ตรงกันข้ามถ้าเราพบโรคในระยะที่แพร่กระจายไปแล้ว โอกาสที่จะมีชีวิตอยู่ได้ถึง 5 ปีมีไม่ถึง 10%

          กล้องส่องที่ใช้ในระยะแรกนั้นเป็นท่อโลหะที่แข็งตรง ที่เรียกว่ากล้องส่องแบบหลอดโลหะ (Rigid Bronchoscope)  ซึ่งใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ.2440 โดยแพทย์ชาวเยอรมัน  ใช้เพื่อลงไปคีบเอากระดูกที่หลุดลงไปอุดหลอดลมข้างขวาของผู้ป่วยอายุ 63 ปี ได้สำเร็จ หลังจากนั้นก็มีวิวัฒนาการและใช้กล้องนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

          ในช่วง 50-60 ปีที่แล้วกล้องนี้ส่วนใหญ่ใช้ในการวินิจฉัย เพื่อส่องหาสาเหตุเลือดที่ออกในหลอดลม และสาเหตุของการอุดตันของหลอดลม หรือตัดเอาชิ้นเนื้อปอดมาตรวจดูว่าโรคเกิดจากสาเหตุใด การใช้เพื่อการรักษานั้นน้อยมาก 

          ส่วนใหญ่ใช้เพื่อการคีบเอาสิ่งแปลกปลอมที่ตกลงไปในหลอดลมออก โดยไม่ต้องเจาะคอหรือผ่าตัด เนื่องจากขณะที่ทำการตรวจโดยการส่องกล้องนี้ผู้ป่วยมักจะเจ็บ และทนไม่ได้ เนื่องจากกล้องงอไม่ได้ คอผู้ป่วยต้องงอแทน  และลงไปไม่ได้ลึก จึงจำเป็นต้องทำโดยให้ผู้ป่วยดมยาสลบ

           ประมาณ 50 ปีที่ผ่านมาได้มีการวิวัฒนาการของกล้องที่ใช้ส่อง คือแทนที่จะใช้เป็นหลอดโลหะ แต่ใช้เป็นหลอดพลาสติกอ่อน (Fiberoptic Bronchoscope)   ที่สามารถงอตามความโค้งของคอผู้ป่วยและหลอดลมขนาดใหญ่ได้แทน  ข้อดีของกล้องส่องแบบใหม่นี้คือ ผู้ป่วยเจ็บน้อยลงสามารถใช้ยาชา และยานอนหลับอ่อนๆ ช่วยให้ผู้ป่วยลดความรู้สึกลงหรือหลับไปชั่วคราวโดยไม่ต้องดมยา และเนื่องจากกล้องสามารถงอโค้งได้ ทำให้สามารถมองลงไปในหลอดลมส่วนที่ลึกและเล็กกว่าได้                               

       รูปนี้แสดงถึงตำแหน่งกล้องพลาสติกอ่อนขณะที่ผ่านไปในลำคอและหลอดลม  จะเห็นว่ากลัองสามารถไปถึงหลอดลมซ้ายและขวาซึ่งลมไปลึกกล้องชนิดหลอดโลหะ


    รูปนี้   แสดงการส่องกล้องชนิดหลอดพลาสติกอ่อนโดยแพทย์

  

          การใช้กล้องแบบหลอดโลหะจึงเสื่อมความนิยมไปเกือบ 50 ปี ข้อจำกัดของการใช้กล้องแบบหลอดพลาสติกอ่อนนั้นอยู่ที่การมองเห็นภาพแคบกว่า และตัวลำกล้องเล็กกว่า ทำให้ส่วนใหญ่ใช้ในการวินิจฉัยโรคเท่านั้น เช่น การดูพยาธิสภาพในหลอดลม

   รูปนี้แสดงให้เห็นหลอดลมส่วนบนส่วน Trachea  อุดตันด้วยก้อนเนื้องอก   

   รูปนี้แสดงให้เห็นถึงมะเร็ง ของปอดกินลึกเข้าไปถึงปอดขวา ( right main bronchus) 

          การใช้น้ำล้างเสมหะในหลอดลม และดูดออกมาเพื่อตรวจหาเชื้อหรือตรวจหาเซลล์ที่ผิดปกติต่างๆ   ดังรูป แสดงถึงผลการล้างเอาเสมหะออกมาตรวจจะพบมะเร็งในเสมหะ

          หรือการตัดชิ้นเนื้อมาตรวจเพื่อพิสูจน์หาสาเหตุของโรค  ดังรูปแสดง ชิ้นเนื้อที่ตัดมาตรวจพบเซลล์มะเร็งชนิด Adenocarcinoma

          หรือเทคนิคใหม่ๆในการวินิจฉัยโรคมะเร็งระยะแรกเริ่ม โดยมีการใช้สารที่เป็นสี และให้ปฏิกิริยากับแสงไวโอเลต (Fluorescence Bronchoscopy) ซึ่งเซลล์ของมะเร็งจะให้สีของแสงต่างจากเซลล์ปกติทั่วไป เป็นต้น

รูปนี้แสดง   การตรวจหามะเร็งในระยะแรกเริ่ม  โดยการฉีดสีเข้าไปในเส้นเลือดซึ่งเซลล์จะจับสีนั้นต่างกัน  ในภาพจะเห็นเซลล์มะเร็งนั้น  จะจับแสงให้สีน้ำตาลหรือน้ำตาลแดง

          ส่วนการรักษาก็คงใช้ดูดเสมหะที่อุดหลอดลมเป็นส่วนใหญ่  รูปนี้   แสดงให้เห็นเสมหะอุดหลอดลม  ทิ้งไว้อาจทำให้ปอดแฟบหรือมีปอดอักเสบตามมา การใช้กล้องส่องเพื่อดูดเสมหะออกทำหให้หลอดลมเปิดออกและให้ลมผ่าน-เข้าออกได้ปกติ 

          การรักษาโรคโดยใช้กล้องส่องวินิจฉัยร่วมกับการใช้รักษาเป็นวิชาใหม่ทางโรคทรวงอก ที่เรียกตามภาษาแพทย์ว่า Intervention Bronchoscopy แพทย์ผู้ทำต้องเป็นแพทย์ผู้ชำนาญ และได้รับการฝึกฝนอบรบรมมาโดยตรง

          เมื่อไม่กี่ปีมานี้การใช้กล้องส่องแบบหลอดโลหะกลับมาได้รับความนิยมอีก แทนที่จะใช้เพื่อวินิจฉัยอย่างเดียวแต่เป็นการใช้เพื่อการรักษาร่วมด้วย เช่น ในการรักษาเนื้องอกในหลอดลมระยะแรกๆ โดยใช้เครื่องมือแบบใหม่ช่วยเช่นใช้แสงเลเซอร์ หรือใช้ความร้อน (Electrocautery) หรือความเย็น (Cryotherapy) จี้ทำลายก้อนเนื้อในหลอดลม

รูปนี้    แสดงถึงก้อนเนื้องอกที่หลอดลมข้างซ้ายและขวา  (Left  main  bronchus  )

รูปนี้  แสดงภาพที่ถ่ายระยะใกล้ ให้เห็นก้อนเนื้องอกได้ชัดเจน                       

รูปนี้  เป็นภาพของหลอดลมหลังจากที่ใช้แสงเลเซอร์รักษาตัดเอามะเร็งออกไป                 

          นอกจากการรักษามะเร็งโดยการใช้แสงเลเซอร์แล้วยังมีการรักษาโดยวิธีอื่นๆ ที่กำลังพัฒนาเพื่อนำมาใช้เป็นมาตรฐานในการรักษาโรคมะเร็ง เช่น การส่องกล้องฝังแคปซูลที่ใส่สารกัมมันตภาพรังสีเข้าไป เพื่อให้ส่งรังสีทำลายก้อนมะเร็งในหลอดลมเฉพาะที่และอย่างช้าๆ (Endobronchial Brachytherapy) เป็นต้น หรือใช้แก้หรือป้องกันการตีบตันของหลอดลมโดยใส่ท่อพลาสติกหรือโลหะที่สานเป็นหลอด (Stent) เข้าไปถ่างหลอดลมกันการตีบไว้ 

รูปนี้  แสดงถึงมะเร็งที่อุดที่หลอดลม  และให้เลเซอร์ตัดก้อนมะเร็ง                   
                   

รูปนี้  เป็นการใช้  Stent ใส่เพื่อถ่างให้หลอดลมเปิด
                                                                                                                                                                                  

รูปนี้    แสดงให้เห็นภาพหลอดลมใน 2 ปี ถัดมายังคงเปิดได้ดี
 

รูปนี้   แสดงถึงหลอดลมที่ตีบเนื่องจากก้อนมะเร็งปอดลามเข้าไปและยื่นเข้าไปอุดหลอดลม                                                             

รูปนี้    เป็นภาพหลังจากใส่ stent แสดงให้เห็นหลอดลมขยายออกเกือบปกติ
       


          ผู้ป่วยที่เป็นโรคปอดจำนวนมาก การวินิจฉัยที่แน่นอนจำเป็นต้องได้ชิ้นเนื้อมาพิสูจน์ว่าโรคนั้นเกิดจากอะไร การส่องกล้องเป็นวิธีที่เจ็บตัวน้อยที่สุด และทำโดยเป็นผู้ป่วยนอกได้ ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล

          นอกจากนั้นแพทย์อาจจะสั่งให้ส่องกล้องเพื่อติดตามดูผลการรักษา ผู้ป่วยที่มีอาการไอเรื้อรัง มีอาการเหนื่อย โดยเฉพาะถ้ามีเอ๊กซ์เรย์ปอดผิดปกติ บ่อยๆที่การตรวจอื่นๆหาสาเหตุไม่ได้แน่ชัด จำเป็นต้องใช้การส่องกล้องเพื่อหาชิ้นเนื้อมาพิสูจน์หาสาเหตุของโรค โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เมื่อให้การรักษาแล้วไม่ดีขึ้นหรือกลับเลวลง และมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทราบสาเหตุของโรค การส่องกล้องเป็นการตรวจวิธีหนึ่งที่จะให้ได้สาเหตุนั้นมา โดยทั่วไปแพทย์จะอธิบายถึงเหตุผลที่ต้องทำการส่องกล้องให้ผู้ป่วยทราบก่อนเสมอ

          ผู้ป่วยที่ส่องกล้องเพื่อการตรวจวินิจฉัยโรค ส่วนมากมักใช้กล้องส่องแบบหลอดพลาสติกอ่อน โดยทั่วไปแพทย์จะใช้ยาชา (Local anaesthetic agent) และยากล่อมประสาท หรือยานอนหลับอ่อนๆ (Sedative drug) ทำให้ผู้ป่วยสะลึมสะลือ หรือหลับตื้นๆและระยะเวลาสั้นๆ ยกเว้นในผู้ป่วยที่ไม่ให้ความร่วมมือ หรือเด็กอาจต้องใช้วิธีดมยาสลบ กล้องอาจผ่านเข้าทางจมูกหรือทางปากก็ได้

          ถ้าเป็นการใช้กล้องส่องแบบหลอดโลหะ กล้องจะถูกผ่านเข้าทางปากของผู้ป่วย และต้องดมยาผู้ป่วย การส่องกล้องแบบนี้มักใช้เพื่อการรักษาเช่น การดูดเอาสิ่งแปลกปลอมที่ตกลงไปในหลอดลมออก หรือทำ Intervention Bronchoscopy

          ก่อนการส่องกล้อง ขณะส่องกล้อง และหลังการส่องกล้องเสร็จแล้ว แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์จะต้องตรวจดูอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ดูชีพจร ความดันโลหิต อัตราและลักษณะการหายใจ การอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด (Oxygen saturation) ตลอดเวลา รวมทั้งตรวจประสาทความรู้สึกของผู้ป่วยด้วย จนกว่าผู้ป่วยจะได้สติและรู้ตัวดี มีการเคลื่อนไหวได้ตามปกติ แพทย์จึงจะอนุญาตให้กลับบ้านได้

ผู้ป่วยต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง

  1. ผู้ป่วยต้องดอาหารและน้ำดื่มอย่างน้อย 4 ชั่วโมงก่อนทำการตรวจ
  2. ผู้ป่วยควรจะมีเพื่อนหรือญาติมาด้วย เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยในขณะกลับบ้าน
  3. ผู้ป่วยไม่ควรขับรถยนต์ภายใน 24 ชั่วโมงหลังส่องกล้อง เพื่อให้แน่ใจว่าฤทธิ์ของยาหมดสิ้นไปแล้ว
  4. ผู้ที่ใช้ฟันปลอมควรเอาฟันปลอมออกก่อน ในกรณีที่มีโรคของฟัน หรือทำฟันไว้ เช่น ครอบฟันและอื่นๆ ควรบอกให้แพทย์ทราบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่ต้องดมยา


หลังการส่องกล้อง
          หลังจากทำการส่องกล้องเสร็จแล้วแพทย์มักจะขอให้ผู้ป่วยพักในห้องพักฟื้นประมาณ 1-2 ชั่วโมง แพทย์อาจสั่งให้ออกซิเจนแก่ผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ทำการตัดชิ้นเนื้อออกมาตรวจ ซึ่งอาจทำให้มีเลือดออก และไอเป็นเลือดได้ แต่ปริมาณไม่ควรจะมาก และส่วนใหญ่จะไม่มีอันตรายอะไร บางครั้งผู้ป่วยอาจจะมีการสูญเสียความจำชั่วคราวซึ่งเป็นผลจากยา

การส่องกล้องปลอดภัยหรือไม่
          การส่องกล้องเป็นการตรวจที่ปลอดภัยมากอย่างหนึ่ง อาการแทรกซ้อนที่รุนแรงน้อยกว่า 1 ใน 1,000 อาการแทรกซ้อนจากการใช้กล้องส่องชนิดหลอดโลหะ จะมากกว่าการใช้กล้องส่องชนิดหลอดพลาสติก ผู้ป่วยมักจะมีอาการเจ็บคอนิดหน่อยซึ่งอาจจะเป็นอยู่ 1-2 วัน

          อาการแทรกซ้อนเล็กน้อยพบราวๆ 6.5% ที่พบบ่อยที่สุด คือ ออกซิเจนในเลือดลดลง ซึ่งมักพบในผู้ป่วยที่ใช้น้ำเกลือเข้าไปล้าง และดูดเอาเสมหะออกมาตรวจเพื่อหาสาเหตุของโรค เลือดออกจากการตัดชิ้นเนื้อหรือจากการเสียดสีของกล้องกับหลอดลมพบได้บ่อยพอควร แต่ที่ออกจำนวนมากนั้นพบน้อยเกือบทั้งหมด เลือดจะหยุดได้เองโดยไม่ต้องทำอะไร อาการมีไข้ต่ำๆพบได้บ่อยอาจพบได้ถึง 16%ของผู้ป่วย

          อาการแทรกซ้อนที่รุนแรงพบได้น้อย พบราว 0.08 – 0.15% อาการแทรกซ้อนทางหัวใจเป็นผลเนื่องจากการกระตุ้นประสาทซิมปะเธติค เป็นผลจากออกซิเจนในเลือดต่ำ หรือจากการคั่งของคาร์บอนไดออกไซด์ทำให้มีการเต้นผิดจังหวะ ทำให้ความดันเพิ่มขึ้นสูงหรือลดต่ำ ชีพจรเร็วหรือช้าผิดปกติ และอาจมีการเจ็บหน้าอก ผู้ป่วยที่เป็นโรคปอดอาจมีหลอดลมตีบโดยฉับพลัน (Bronchospasm) ซึ่งอาจป้องกันได้โดยการให้ยาขยายหลอดลม การเกิดถุงลมแตกทำให้ลมคั่งในเยื่อหุ้มปอด (Pneumothorax) พบได้น้อยในการส่องกล้องตรวจธรรมดา แต่พบได้บ่อยในการส่องกล้องตรวจและตัดชิ้นเนื้อเพื่อวินิจฉัยโรค

          อัตราตายจากการส่องกล้องน้อยมาก ประมาณ 0.01 – 0.04% การตายมักเกิดจากผู้ป่วยที่มีโรครุนแรงอยู่แล้ว เช่นโรคหัวใจ โรคปอดโดยเฉพาะชนิดที่มีหลอดลมตีบ และเกี่ยวข้องกับการให้ยาสลบ


การส่องกล้องตรวจหลอดลมในเด็กโดยใช้   Flexible bronchoscope

          การทำ flexible bronchoscopy จะช่วยให้ได้ข้อมูลที่นำมาใช้ในการวินิจฉัย และรักษาโรคทางระบบหายใจในเด็กได้ถูกต้องแม่นยำ และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  ลดค่าใช้จ่ายในการให้การรักษาที่ไม่ตรงกับสาเหตุของโรค ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการผลิตเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ในการทำหัตถการนี้ให้สามารถทำการส่องตรวจทางเดินหายใจในเด็ก ตั้งแต่ทารกแรกเกิดจนถึงเด็กโตได้ดีขึ้น  รวมทั้งเทคนิคในการให้ยานอนหลับและยาระงับประสาทได้พัฒนาอย่างมาก  ทำให้หัตถการนี้แม้ว่าจะเป็น invasive procedure แต่ถ้าทำโดยแพทย์ผู้ผ่านการฝึกอบรมและทีมงานที่มีความชำนาญก็จะมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นน้อยมากหรือไม่มีเลย    ดังนั้นแพทย์ผู้ดูแลรักษาเด็กจึงควรทราบข้อบ่งชี้แนวทางการเตรียมและการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการทำหัตถการนี้ เพื่อพิจารณาส่งผู้ป่วยรับการตรวจ   วินิจฉัยหรือรักษาด้วย flexible bronchoscopy และให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง


ข้อบ่งชี้ในการทำ bronchoscopy
          เนื่องจากการทำ bronchoscopy ในเด็กเป็นหัตถการที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย ที่สำคัญคือ การขาดออกซิเจน ดังนั้นถ้าจะทำหัตถการดังกล่าวควรพิจารณาถึงผลที่จะได้รับเปรียบเทียบกับภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วย โดยทั่วไปควรจะทำ  bronchoscopy ในกรณีที่ผู้ป่วยจะได้รับประโยชน์ในเรื่องการวินิจฉัย และการดูแลรักษามากกว่าผลเสียที่เด็กจะได้รับ อย่างไรก็ตามในบางภาวะที่ตรวจพบท่อทางเดินหายใจปกติก็อาจเป็นประโยชน์อย่างมากในการตัดการวินิจฉัยแยกโรคบางอย่างออกไปได้ เช่น ในกรณีที่สงสัยว่าสำลักสิ่งแปลกปลอมเข้าทางเดินหายใจ

          โดยทั่วไปข้อบ่งชี้ในการทำ bronchoscopy ในเด็ก  แบ่งเป็นข้อบ่งชี้ 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

  1. เพื่อการวินิจฉัยแยกโรค
  2. เพื่อการรักษาโรคหรือแก้ไขปัญหาทางระบบหายใจ
  3. เพื่อทำหัตถการพิเศษบางอย่าง เช่น bronchoalveolarlavage, biopsy of airway mucosa เป็นต้น


          ข้อบ่งชี้ที่บ่อยที่สุด ได้แก่ การประเมินภาวะอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนบนซึ่งทำให้มีเสียงหายใจผิดปกติ เป็นเสียง stridor หรือหายใจเสียงดัง (noisy breathing)ในเด็กเล็ก

          การใช้ flexible bronchoscope ส่องตรวจทางเดินหายใจเพื่อดู adenoids, กล่องเสียง, hypopharynxและท่อทางเดินหายใจส่วนอื่น ๆ ช่วยให้เห็นลักษณะทางกายภาพและการทำงานของอวัยวะดังกล่าวในขณะหายใจเข้าและหายใจออกได้ดีกว่า rigid bronchoscope แม้ว่า laryngomalacia จะเป็นความผิดปกติแต่กำเนิดของกล่องเสียงที่พบได้บ่อยที่สุด และทำให้เกิดเสียง stridor หรือหายใจเสียงดังในเด็ก  ซึ่งส่วนใหญ่อาการมักไม่รุนแรงและมักจะวินิจฉัยได้จากลักษณะทางคลินิก อาการจะดีขึ้นเมื่อเด็กมีอายุมากขึ้น เสียง stridor มักจะหายไปภายใน 2 ขวบปีแรก  อย่างไรก็ตามมีรายงานที่พบว่าร้อยละ 68  ของผู้ป่วยเด็กที่มี laryngomalacia จะมีความผิดปกติของท่อทางเดินหายใจในระดับที่ต่ำกว่า epiglottis ลงไปร่วมด้วย( ดังนั้นจึงควรส่องตรวจทั้งท่อทางเดินหายใจส่วนบนและส่วนล่างในเด็กที่หายใจเสียงดังแม้ว่าลักษณะทางคลินิกจะเข้าได้กับ laryngomalacia ดังเช่นการศึกษาของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ในผู้ป่วยเด็กที่ได้รับการวินิจฉัย

          การเตรียมผู้ป่วยและการให้ยาระหว่างทำ flexible  bronchoscopy ต้องงดอาหารและน้ำทางปากอย่างน้อย 4-6ชั่วโมง ให้ premedications ด้วยยานอนหลับหรือยาระงับประสาท เช่น ให้รับประทาน chloral hydrateประมาณ ½ ชั่วโมงก่อนทำ initial sedation ที่นิยมใช้ได้แก่ fentanyl 1 μg/kg, midazolam 0.03 mg/kg ทางหลอดเลือดดำ ในระหว่างทำอาจให้ fentanyl เพิ่มได้ขนาด0.5 - 1 μg/kg/ครั้ง (total dose ไม่เกิน 1.0- 2.0 μg/kg),midazolam เพิ่มได้ขนาด 0.03 mg/kg ( total dose ไม่เกิน0.05 - 0.1 mg/kg) ในบางแห่งหรือ ผู้ป่วยบางรายที่มีความเสี่ยงสูงในการทำหัตถการนี้อาจใช้วิธีวางยาสลบการให้ยาชาเฉพาะที่นิยมให้ 2 % lidocaine หยดในจมูกก่อนใส่ bronchoscope บางแห่งอาจให้ topical vasoconstrictor( 0.05 % oxymetazoline) หยดในจมูกร่วมกับlidocaine ก่อนที่จะใส่ bronchoscope ผ่าน vocal cordsลงไปใน trachea และในระหว่างที่ใส่เข้าไปในหลอดลมต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเข้าใกล้บริเวณ carina หรือbifurcation ของ airways ให้หยด topical anestheticเช่น 0.5 % - 1 % lidocaine เพื่อป้องกันไม่ให้ไอ หรือเกิด laryngospasm (ขนาดสูงสุดของ 1 % lidocaine ที่ใช้ไม่ควรเกิน 0.7 mL/kg) (3, 18) อย่างไรก็ตามมีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าการให้ยาชาเฉพาะที่นี้อาจทำให้ลักษณะการเคลื่อนไหวของ epiglottis และ arytenoids ขณะหายใจเข้าและหายใจออกผิดไปจากความเป็นจริง ทำให้การวินิจฉัย laryngomalacia ไม่ถูกต้อง ดังนั้นจึงแนะนำให้ตรวจดูบริเวณ larynx ก่อนที่จะให้ lidocaine


การดูแลผู้ป่วยในระหว่างการทำ flexible bronchoscopy

          ในระหว่างการทำ bronchoscopy ต้องให้ออกซิเจนแก่ผู้ป่วยตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่มีโอกาสเกิดภาวะขาดออกซิเจนได้ง่าย อาจให้เป็น oxygenspray, nasopharyngeal prong ในรูจมูกข้างที่ไม่ได้ใส่ bronchoscope หรืออาจใส่ face mask ให้ครอบคลุมทั้งจมูกและปาก และควรใช้ pulse oximeter วัด oxygensaturation ตลอดเวลาที่ทำ bronchoscopy เพื่อคอยเฝ้าระวังภาวะ hypoxemia และจะได้ให้การแก้ไขได้ทันท่วงที  นอกจากนี้ควรเฝ้าติดตามชีพจร และสัญญาณชีพอื่น ๆด้วยเพื่อที่จะวินิจฉัยความผิดปกติ หรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างนั้นได้อย่างรวดเร็ว


สรุป
          การทำ flexible bronchoscopy ในผู้ป่วยเด็กมีความสำคัญมากขึ้นในปัจจุบัน ช่วยให้การวินิจฉัยโรคระบบทางเดินหายใจในเด็กได้ถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น รวมทั้งทำให้การรักษาผู้ป่วยมีประสิทธิภาพและ cost-effectiveมากขึ้น เนื่องจากโรคระบบหายใจที่พบในผู้ป่วยเด็กแตกต่างจากผู้ใหญ่ ในเด็กมักเป็นเรื่องความผิดปกติแต่กำเนิดของทางเดินหายใจ และการติดเชื้อ ในขณะที่ผู้ป่วยผู้ใหญ่ส่วนใหญ่จะเป็นโรคมะเร็งมากกว่า ดังนั้นการทำ bronchoscopy และการส่งตรวจพิเศษต่าง ๆ ในเด็กก็แตกต่างจากผู้ใหญ่ และมักจะเน้นเรื่องลักษณะทางกายวิภาคของทางเดินหายใจมากกว่า แพทย์ที่จะส่องตรวจท่อทางเดินหายใจเด็กโดยใช้ flexible bronchoscopyจึงจำเป็นต้องได้รับการฝึกอบรมโดยเฉพาะ โดยทั่วไปการทำ flexible bronchoscopy มีภาวะแทรกซ้อนน้อยมาก ถ้าทำโดยทีมงานที่มีความชำนาญ และผู้ป่วยได้รับการเตรียมตัวที่ดีรวมทั้งได้รับยาและได้รับการเฝ้าติดตามดูแล ในขณะทำและหลังทำหัตถการอย่างถูกต้องเหมาะสม


Hi-resolution spiral CT Scan

          การตรวจ CT และ อัลตร้าซาวด์สามารถตรวจ bronchus ได้ทั้ง2ข้าง ในเวลาเดียวกันโดยจะไม่ทำให้ผู้ป่วยเกิดการสำลักและตายได้  อีกทั้งการตรวจ Computed tomography ( CT ) และ อัลตร้าซาวด์ ยังไม่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดอีกด้วยและเนื่องจากการตรวจ Computed tomography ( CT ) และ อัลตร้าซาวด์ มีขั้นตอนการตรวจที่รวดเร็วและง่ายกว่า และไม่มีการส่องกล้องในผู้ป่วย ซึ่งผู้ป่วยที่มีความอดทนน้อยก็สามารถที่จะทำงานตรวจตรงนี้ได้ดีกว่า

          Hi-resolution spiral CT Scan เป็นวิวัฒนาการของเครื่อง CT- scan ที่ดีกว่าเดิม โดยพัฒนาเครื่องCT-Scan ชนิดตัดภาพได้ละเอียด(HRCT ) ที่มีกลไกที่เรียกว่า Slip-ring โดยเพิ่มความสามารถของเตียงให้เตียงสามารถเลื่อนไปด้วยตลอดเวลาในขณะที่ทำการตัดภาพ ทำให้เครื่องแบบใหม่นี้สามารถตัดภาพได้ตลอดเวลาในขณะที่เตียงเลื่อนจากจุดเริ่มต้นไปถึงจุดสิ้นสุด ซึ่งให้ลักษณะการตัดภาพแบบเกลียว(Spiral or Helical Scan) ผลดีของการตัดแบบนี้ก็คือสามารถตัดภาพให้แล้วเสร็จภายในเวลาอันรวดเร็ว เช่น ในช่วงเวลา 15 วินาที สามารถตัดได้15ภาพ (15 Slices) ซึ่งทำให้เสร็จสิ้นการตรวจภายในเวลาอันรวดเร็ว หากมีการใช้สารทึบรังสีร่วมด้วยขณะตัดภาพจะใช้สารทึบรังสีปริมาณน้อย ผู้ป่วยได้รับรังสีน้อยลง

          เครื่อง CTเทคนิคใหม่นี้สามารถใช้กับอวัยวะที่มีการเคลื่อนไหว เช่น ปอด หัวใจ หลอดเลือด และ ลำไส้ ได้เป็นอย่างดี สำหรับอวัยวะที่มีการเคลื่อนไหวตามการหายใจเมื่อจะตัดภาพให้ผู้ป่วยกลั้นหายใจ1ครั้ง แล้วทำการตัดเป็นช่วงยาว หลีกเลี่ยงหรือลดปัญหาการ Overlap ของภาพที่ตัด หรือหลีกเลี่ยงการตัดข้ามในบางส่วนของอวัยวะนั้นๆและที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือข้อมูลที่เครื่องคอมพิวเตอร์รับเข้าไปมีความต่อเนื่องกันสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาประกอบเป็นภาพหลายระนาบ (เหมือนกับการสร้างภาพของเครื่องMRI) หรือประกอบเป็นภาพสามมิติได้ สั่งให้หมุนมองภาพดูในทิศทางต่างๆที่ต้องการได้โดยใช้ Software ที่พัฒนาขึ้นใหม่ในการพัฒนาเครื่องให้มีความสามารถถึงระดับนี้จำเป็นต้องพัฒนาหลอดเอกซ์เรย์ให้ทนต่อความร้อนได้สูง และมีการระบายความร้อนออกได้ดี เพราะการให้หลอดเอกซ์เรย์ปล่อยรังสีติดต่อกันเป็นเวลานานๆทำให้เกิดความร้อนขึ้นเป็นปริมาณมาก หากบริษัทผู้ผลิตใดสามารถทำได้ดีก็จะสามารถทำการตัดภาพได้ครั้งละหลายๆภาพไม่มีการติดขัดหรือต้องหยุดรอให้หลอดลดอุณหภูมิลงจึงจะสามารถทำงานต่อได้ นอกจากนี้ยังจะต้องพัฒนาความสามารถของเครื่องคอมพิวเตอร์ให้มีความเร็วในการรับข้อมูล การประมวลผล การเก็บข้อมูล รวมทั้งการใช้ Software ให้เครื่องทำงานได้เร็วกว่าระบบเดิม เพื่อให้คอมพิวเตอร์ทำงานให้ทันกับความเร็วของเครื่องระบบใหม่เครื่องระบบใหม่จะต้องมีหน่วยความจำ(RAM, ROM) จำนวนมากพอเพื่อให้ทำงานได้เร็วขึ้น เชื่อกันว่าเครื่อง CT Scan แบบใหม่นี้เป็นเครื่องที่เปลี่ยนยุคของเครื่อง CT ให้เข้าสู่การเรียนรู้ระบบโครงสร้างที่ละเอียดซับซ้อนได้มากยิ่งขึ้น แม้ปัจจุบันเครื่อง CT ยุคใหม่นี้จะมีราคาค่อนข้างสูงแต่คาดว่าในอนาคตราคาจะแพงกว่าเครื่อง CT แบบที่ใช้กันอยู่ไม่มากและจะเป็นเครื่องที่ใช้ทดแทนเครื่อง CT ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันเพราะมีความสามารถมากกว่าหลายด้าน


          เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ชนิด HRCT ที่ทำการScanแบบเกลียว(Spiral หรือ Helical scan)นี้มีประโยชน์เหนือกว่าเครื่องแบบเก่ามากในการวินิจฉัยโรคในอวัยวะภายในต่างๆของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปอดซึ่งเป็นอวัยวะที่มีการเคลื่อนไหวเกือบตลอดเวลาตามการหายใจ สามารถตรวจได้ดีในผู้ป่วยที่ต้องการให้การตรวจเสร็จสิ้นโดยเร็ว เช่นผู้ป่วยที่เหนื่อย กลั้นหายใจไม่ค่อยได้ ผู้ป่วยเด็ก ผู้ป่วยอุบัติเหตุ และผู้ป่วยหมดสติ จากการที่สามารถให้ภาพได้ละเอียดและต่อเนื่องจึงสามารถมองเห็นlesionที่เล็กกว่า1 ซม.ได้โดยไม่ผิดพลาด และสามารถแสดงให้เห็นรายละเอียดในเนื้อปอดได้ถึงระดับ Pulmonary lobule ทำให้สามารถวินิจฉัยโรคของถุงลม และหลอดลมได้ถึงระดับTerminal bronchiole ได้ดี ได้การวินิจฉัยโรคตั้งแต่ระยะเริ่มของโรค สามารถให้การวินิจฉัย Bronchiectasisได้โดยไม่ต้องเสี่ยงต่อการใส่สีทำ bronchography

หมายเลขบันทึก: 237575เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2009 22:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

สวัสดีค่ะ

อ่านแล้วได้ความรู้ดีค่ะ

   ดิฉันสนใจเพราะเพื่อนร่วมงานที่ใกล้ชิด (หญิง) เป็นมะเร็งที่ขั้วปอด  ขณะนี้อยู่ในระยะสุดท้าย เพิ่งไปเยี่ยมมา  น่าสงสารครอบครัวมากค่ะ เพราะมีลูกสาวกำลังน่ารัก พูดเก่งร่าเริง  สร้างบ้านเพิ่งเสร็จใหม่ และสามีก็น่ารักมาก  มาวันหนึ่งเธอบ่นให้ฟังว่าเวลาพูดกับนักเรียนแล้วรู้สึกเหนื่อย หอบ ต่อมามีอาการบวมที่ใบหน้า ระยะเวลาเพียง 1 เดือนเท่านั้นเธอก็ต้องเป็นคนไข้ในของ ร.พ.ศรีนครินทร์ ขอนแก่น รักษาโดยการฉายแสง เข้าคีโม แล้ว  แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น อยากเรียนถามคุณหมอว่า สาเหตุมาจากอะไร  สามีเธอสูบหรี่  แต่เพิ่งมาอยู่ร่วมขีวิตกันไม่นาน ประมาณ 6 ปีค่ะ

   เรื่องที่ 2 คุณพ่อเข้ารับการตรวจโดยเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ที่ ร.พ.แห่งหนึ่ง  ทางภาคตะวันออก  เพื่อตรวจไต  เนื่องจากเป็นเบาหวานเรื้อรังมาหลายสิบปี  จนต้องใช้วิธีฉีดอินซูลิน  คุณหมอให้กลืนสีเข้าไปก่อนตรวจ  พอหลังตรวจประมาณ 10 นาที  มีอาการสำลัก อาเจียน แล้วอาการทรุดหนักทันที พอรุ่งเช้าก็เสียค่ะ  จากฟิมล์เอ็กซเรย์  คุณหมอบอกว่า คุณพ่อเป็นมะเร็งที่ไต  ลุกลามมาถึงปอดแล้ว (คุณพ่อเป็นโรคหอบหืดด้วย) จึงไม่ทราบสาเหตุการตายที่ชัดเจนค่ะ  สีที่กลืนมีอันตรายมากไหมคะ  คุณหมอช่วยกรุณาให้ความกระจ่างด้วยนะคะ  คุณพ่อเสียตั้งแต่เมษา 51  ไม่ได้ติดใจคุณหมอ แต่อยากทราบเพื่อเป็นความรู้ค่ะ

 

สวัสดีครับอาจารย์

ขอบพระคุณมากๆครับ

ผมได้ความรู้มากขึ้นและได้ทบทวนครับ

คุณครูอรวรรณคะ  ขอบคุณมากค่ะที่ให้ความสนใจและสอบถามมา  แต่เนื่องจากดิฉันไม่ใช่แพทย์  เป็นเพียงอาจารย์สอนสาขารังสีเทคนิค  จึงไม่มีความรู้เพียงพอที่จะวินิจฉัยโรค  ระบุสาเหตุการเกิดโรค หรือสาเหตุการเสียชีวิตได้ค่ะ

สีที่คุณครูอรวรรณบอกว่าคุณหมอให้คุณพ่อกลืนก่อนตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์  จริงๆ แล้ว มีประโยชน์ในการวินิจฉัยโรค และจำเป็นสำหรับการสร้างภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์อย่างมากค่ะ  อย่างไรก็ตาม  แม้สีดังกล่าวอาจไม่ใช่สาเหตุของการเสียชีวิตของคุณพ่อ  แต่ยาทุกชนิดเหมือนกันหมดค่ะ  คือ อาจไม่ถูกกับบางคน (โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะร่างกายอ่อนแอ) ทำให้เกิดการแพ้ยาได้  ในกรณีของคุณพ่อ ดิฉันเชื่อว่า คุณหมอที่รักษา ได้พิจารณาและพยายามอย่างดีที่สุดแล้ว

สาเหตุของโรคต่างๆ นั้น เป็นเรื่องสลับซับซ้อน น่าสงสารคุณหมอนะคะ ที่ต้องสืบเสาะเหมือนหนังซีรี่ส์ เรื่อง CSI  แล้วก็ต้องพยายามให้ความรู้แก่ประชาชน คนที่ยังมีสุขภาพดี  เพื่อหาทางป้องกัน และส่งเสริมร่างกายให้แข็งแรง

ขอให้คุณครูวรรณ  รักษาสุขภาพด้วยนะคะ...... : )

อ้อ ! สุขภาพที่ดี หมายถึง การดำรงชีวิตอยู่อย่างมีความสุข ทั้งทางร่างกาย และจิตใจ  มีปัญญารู้ เข้าใจในเหตุและผล รู้คุณและโทษในสิ่งต่างๆ ที่สำคัญ การมีสุขภาพดี จะต้องอยู่ในสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดี ปลอดภัย และเป็นสุขด้วย.......

คุณ kmsabai คะ ถ้าเห็นตรงไหนไม่ถูกต้อง ช่วยเติมเต็ม หรือต่อยอดให้ด้วยนะคะ  ขอบคุณมากค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์

  ต้องขอบคุณอาจารย์มากๆนะคะ  ที่กรุณาให้ความรู้และความกระจ่างมา  จะพยายามรักษาสุขภาพให้ดี

 อาจารย์ก็เช่นเดียวกันนะคะ  รักษาสุขภาพด้วยค่ะ  ขอให้มีความสุขมากๆค่ะ

ข้อบ่งชี้ในการตรวจ ไตทางรังสี มีอะไรบ้างครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์

ดิฉันกำลังทำการวิจัยเรื่องเครื่อง CT Scan แต่ไม่มีความรู้ทางด้านการแพทย์ค่ะ จึงอยากสอบถามเพื่อเป็นข้อมูลความรู้ว่า ปัจจุบันเครื่อง CT Scan แบ่งออกเป็นกี่ประเภทค่ะ

โอ้โห.....ถามอย่างนี้ ต้องตอบกันยาวมากค่ะ แต่คิดว่าหาตำราอ่านได้ไม่ยากนะคะ เพราะเป็นหลักการพื้นฐาน หรือค้นหาทาง web ก็มีมากมาย มีรูปให้ดูด้วย คุณครู google ตอบได้แน่นอน

สวัสดีครับ

มีเรื่องรบกวนถามอาจารย์ คุณแม่ผมอายุประมาณ 60 ปี ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่

เมื่อประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมาคุณแม่มีอาการเหนื่อยมาก นอนไม่ได้ (ถ้านอนจะรู้สึกเหนื่อยมาก)เลยพาไปหาหมอ ตอนแรกพาไปคลินิค คุณหมอเอ็กซเรย์แล้วบอกว่ามีความผิดปกติที่ปอด ให้รีบไปที่โรงพยาบาล ซึ่งก็ได้พาคุณแม่ไปโรงพยาบาลเอกชนแห่ง

หนึ่งในอำเภอ คุณหมอที่โรงพยาบาลได้ตรวจโดยการให้เก็บเสมหะไปตรวจ 3 วันแล้วแจ้งว่าไม่พบความผิดปกติในเสมหะ และให้ยามากินประมาณ 2 สัปดาห์ให้มาตรวจซ้ำ

แต่ว่าก่อนถึงวันนัด คุณแม่รู้สึกแน่นหน้าอกจึงพาไปหาหมอที่เดิมคุณหมอแนะนำให้ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ซึ่งผมเองก็ได้พาคุณแม่ไปเอ็กซเรย์ มาเรียบร้อยแล้วนำฟิล์ม

กลับมาให้คุณหมอเจ้าของไข้ดู คุณหมอแจ้งว่าพบก้อนเนื้อประมาณ 5 ซม.ที่ขั้วปอด

และก้อนเล็กๆอีกหลายก้อนที่ปอดข้างขวาแต่คุณหมอเจ้าของไข้ ไม่ได้สรุปแน่นอนว่า

เป็นเนื้อร้ายหรือไม่ แต่ก็แนะนำว่าให้นำฟิล์มเอ็กซเรย์ไปที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ซึ่งมี

หมอที่มีความชำนาญอยากเรียนถาม ดังนี้

-การนำฟิล์มไปตรวจจำเป็นต้องพาคนไข้ไปหรือไม่(คุณแม่ยังไม่ทราบ)และมีที่

ใดบ้าง

-การตรวจโดยการส่องกล้องค่าใช้จ่ายสูงหรือเปล่าครับ มีที่ไหนบ้าง (บ้านอยู่จังหวัดราชบุรี)

-อาจารย์มีข้อแนะนำอย่างไรในการที่จะตรวจให้ชัดเจนว่าคุณแม่เป็นมะเร็งหรือไม่

โดยที่ไม่ให้คุณแม่ทราบ (คุณแม่อายุมากแล้วไม่อยากให้หมดกำลังใจ)

สุดท้ายต้องขอบพระคุณล่วงหน้าครับ

คุณสันติคะ 

จริงๆ แล้ว ก็ยังลงความเห็นไม่ได้นะคะว่าคุณแม่เป็นอะไรตอนนี้  แต่ที่แน่ๆ ก็คือ คุณแม่รู้สึกไม่สบาย

ดังนั้น  การที่คุณสันติให้ความเอาใจใส่ พาคุณแม่ไปพบแพทย์ เชื่อแน่ว่าเป็นการกระทำที่ทำให้คุณแม่พึงพอใจเป็นที่สุด

เมื่อคุณหมอแนะนำให้นำฟิล์มเอ็กซเรย์ไปที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ตรวจ ก็น่าจะนำไปตามคำแนะนำนะคะ  โดยพาคุณแม่ไปด้วยจะเป็นการดีที่สุด  เพราะแพทย์จะได้เห็นหน้าผู้ป่วย  ได้ซักถามอาการ  ประกอบกับฟิล์มที่เห็น  ความถูกต้องแม่นยำในการวินิจฉัยโรค ย่อมดีกว่าแน่นอน

คุณแม่อายุมากแล้ว  ย่อมเข้าใจดีว่าการป่วยเป็นเรื่องธรรมดา  การหาหนทางบำบัดรักษา เป็นหนทางที่จะช่วยได้ อย่างน้อยที่สุด คือการผ่อนหนักเป็นเบา  และอย่างมากที่สุดที่เราต้องการ และเป็นไปได้เสมอ คือหายจากโรค

เหนือสิ่งอื่นใด  ดิฉันมั่นใจว่าการให้ความรักและความสนใจดูแลจากลูก คือยาขนานเอก ที่ทำให้คุณแม่สบายใจ และจะส่งผลถึงสุขภาพร่างกายได้ด้วยค่ะ

ต้องการทราบค่าใช้จ่ายพอประมาณของการเจาะปอดเพื่ออนำชิ้นเนื้อมาตรวจสอบว่าเป็นมะเร็งปอดรึเปล่า พอดีแฟนไป CT Scan ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ เห็นว่าเป็นก้อนที่ปอด แต่ยังไม่ทราบว่าเป็นเนื้อดีหรือเนื้อร้าย แต่หมอจะให้ทำการเจาะชิ้นเนื้อมาตรวจสอบ แต่ไม่ทราบว่าค่าใช้จ่ายประมาณเท่าไหร่

รบกวนถามอาจารย์หน่อยน่ะค่ะ พอดีอยากทราบว่าขั้นตอนการตรวจของ bronchogram สารทึบรังสีที่ใช้ อุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจ พอดีต้องใช้ทำรายงานค่ะ 

อาการป่วยขั้่นแรก ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดหัว หมอเอ็กซ์เรย์ คิดว่าจะเป็นไข้มาลาเรีย แต่ไม่เจอ กลับไปฉีดสีเพื่อตรวจทรวงอก กลายเป็นว่าเป็นตุ่ม 0.8 ซม ที่ปอดด้านซ้ายล่าง ทำให้ไม่รู้จะไปตัดชิ้นเนื้อที่ โรงพยาบาลไหนดี วันนี้กังวลมาก ใครรู้หมอไหนดีบอกเด้วยคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท