ความซื่อสัตย์กับไหวพริบปฏิภาณ


คงไม่มีใครปฏิเสธว่าความซื่อสัตย์เป็นคุณธรรม จริยธรรม ซึ่งทุกคนพึงมี และเช่นกันคงไม่มีใครปฏิเสธว่าไหวพริบปฏิภาณเป็นสัญชาตญาณสำคัญในการเรียนรู้ หรือการเอาตัวรอดจากภาวะคับขันต่างๆ แต่เหตุการณ์นี้ ทำให้ผมอดสงสัยไม่ได้ว่า เท่าไร เพียงใด จึงจะพอดี ระหว่างความซื่อสัตย์กับไหวพริบปฏิภาณ

 กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โรงเรียนผม ได้ดำเนินการจัดเข้าค่ายวิทยาศาสตร์ให้กับนักเรียนทุกระดับชั้น เป็นประจำทุกปี อย่างต่อเนื่อง จนปีนี้เป็นครั้งที่ 13 และได้ดำเนินการไปเรียบร้อยแล้ว ช่วงระหว่างวันที่ 7-9 มกราคม 2552 ณ อุทยานแห่งชาติคลองลาน อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร

 

ค่ายวิทยาศาสตร์แทบทุกครั้ง เราเลือกใช้นอกสถานที่ เน้นที่การอนุรักษ์สภาพแวดล้อม โดยเฉพาะป่าและสัตว์ป่า ครั้งแรกเริ่มกันที่สถานีบำรุงพันธ์สัตว์พิษณุโลก ต่อมาก็เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าวังดินสอ อุทยานแห่งชาติรามคำแหง อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน การไฟฟ้าฝ่ายผลิต เหมืองแม่เมาะ อุทยานแห่งชาติลานสาง อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ฯลฯ 

ส่วนใหญ่สถานที่ที่เราใช้ในการจัดค่าย มักจะเป็น “ป่า” กิจกรรมหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งจะขาดเสียมิได้ คือ การเดินป่าศึกษาธรรมชาติ ทำให้นักเรียนผมคุ้นเคยกับ ไลเคนส์ พูพอน นักบุญแห่งป่า นักฆ่าแห่งพงไพร(ไทร) ฯลฯ ที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้แนะนำให้รู้จักเสมอๆ

ถ้าเอาตัวเองเปรียบเทียบ หรือฟังจากผลการประเมินความคิดเห็นของนักเรียน ซึ่งได้เข้าร่วมกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ จะพบว่า นักเรียนมีความประทับใจในเปอร์เซ็นต์ที่สูงทุกครั้ง นักเรียนบางคนเรียนที่นี่ตั้งแต่ชั้น ม.1 ถึงชั้น ม.6 แกไปร่วมกิจกรรมค่ายวิทย์ทุกปี ทั้ง 6 ปี

สำหรับตัวเองแล้ว กิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ของโรงเรียน ซึ่งผมได้มีโอกาสเข้าร่วมทุกครั้ง ทั้ง 13 ครั้ง นี้แหละ...ทำให้ผมชอบป่า รักป่า เห็นคุณค่าของป่าอย่างลึกซึ้งโดยไม่รู้ตัว  จึงหวังและเชื่อว่า นักเรียนก็จะรู้สึกได้อย่างครูเช่นกัน

ผมค่อนข้างหลงใหลกับกิจกรรมเดินป่าศึกษาธรรมชาติ...สำหรับสภาพป่าในอุทยานแห่งชาติคลองลานที่ผมสังเกตและฟังจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้อธิบายนั้น ลักษณะเป็นป่าเบญจพรรณ ไผ่จะเยอะมาก เจ้าหน้าที่บอกว่า “ปี 2525 ก่อนปิดป่า บริเวณป่าไผ่ทั้งหมดนี้เป็นไร่ข้าวโพดของชาวเขาเผ่าม้ง มีม้งอยู่อาศัยเป็นหมู่บ้านๆเลย นอกจากนั้น ป่าคลองลานยังเป็นเส้นทางเดินทัพของทั้งพม่าและไทยเราในสมัยก่อน เพราะมีการขุดค้นวัตถุโบราณได้เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันยังเห็นร่องรอย” เจ้าหน้าที่พูดพร้อมชี้หลุมที่ถูกขุดให้นักเรียนดู

ระหว่างพักจากความเหนื่อยล้าในการเดินป่า เจ้าหน้าที่ป่าไม้มีกิจกรรมให้นักเรียนทำ ผมคิดเอาเองว่า จุดประสงค์ของกิจกรรมนี้ น่าจะหวังให้นักเรียนตระหนักถึงความสำคัญของสัตว์ป่า เพราะสมมติเหตุการณ์ให้นักเรียนเป็นลูกกวาง ซึ่งแม่ถูกยิงตาย ต้องเผชิญชีวิตตามลำพัง 

เจ้าหน้าที่เริ่มด้วยการเล่าให้นักเรียนทราบว่า บริเวณนี้เป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ เคยเป็นที่ฝังศพทหาร ทั้งฝ่ายไทยและพม่า บริเวณใต้ต้นตะเคียนยักษ์ที่เดินผ่านมาเมื่อสักครู่ เป็นสถานที่ฝังศพเด็กที่เสียชีวิตตั้งแต่เยาว์วัยของพวกม้ง ฉะนั้นขอให้ทุกคนนั่งสมาธิ ทำจิตใจให้เป็นกุศล อุทิศแด่เจ้ากรรมนายเวรผู้ล่วงลับ ถึงตอนนี้นักเรียนเริ่มสงบเสียงแล้ว

จากนั้นให้นักเรียนปิดตาด้วยผ้าพันคอ สัญลักษณ์การเข้าค่ายที่นักเรียนผูกอยู่ ด้วยตัวของนักเรียนเอง เจ้าหน้าที่ย้ำว่าอย่าผูกแน่นจนเกินไป เอาแค่มองไม่เห็น เพราะบางสิ่งบางอย่าง ถ้าเรามองไม่เห็นได้ จะดีกว่า “สิ่งที่เราไม่อยากเห็น เราไม่เห็นก็ดี ไม่ใช่หรือ” 

และขอให้นักเรียนที่นั่งใกล้กัน เป็นเพื่อนรักกัน จับมือกันให้แน่น อย่าปล่อยให้เพื่อนไปเผชิญอันตรายโดยลำพัง อย่าปล่อยมือจากเพื่อน เพราะอาจต้องเสียใจ “ถ้ารักกันจริง จับมือกันให้แน่น” ประโยคซ้ำๆเหล่านี้ของเจ้าหน้าที่ทำให้นักเรียนยิ่งสงบเงียบมากขึ้นอีก

ก่อนนักเรียนจะปิดตา ผมเดินผ่าน นักเรียนหญิงคนหนึ่ง อยู่ชั้น ม.5 แล้ว เธอบอกผมว่า “ครูขาหนูกลัว” ผมมิได้เอะใจอะไร เพียงแต่บอกว่า “เหอะน่า! ไม่มีอะไรหรอก เขาก็ว่าไปอย่างนั้น”

จากนั้นเจ้าหน้าที่จะนำนักเรียนทีละคน สองคน หรือทีละสามสี่คน ซึ่งนั่งสมาธิ สงบนิ่ง ปิดตาสนิท เดินไปยังเชือกเส้นเล็กๆ ซึ่งขึงเตรียมไว้ก่อนแล้ว จากต้นไม้ต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่ง จากไผ่กอหนึ่งไปยังอีกกอหนึ่ง ลงไปในลำธาร ขึ้นมาจากลำธาร ระยะทางเกือบ 100 เมตร เห็นจะได้ ที่นักเรียนต้องปิดตาเดินตามเชือกไปกับกลุ่มเพื่อน ด้วยความหวาดกลัวกับมโนภาพที่เจ้าหน้าที่วาดไว้ให้ ตั้งแต่เริ่มต้น

ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่จะช่วยกันเคาะไม้ เขย่าไม้ไผ่ลำแห้งๆ ให้มีเสียงดังอึกทึกอย่างน่าตกใจ ท่ามกลางความสงบเงียบ จึงมีเสียงร้องวี้ดว้ายของนักเรียนหญิงแทรกเป็นระยะๆตลอดทางเดิน ระหว่างนี้เจ้าหน้าที่จะสร้างสถานการณ์ว่า เส้นทางที่นักเรียนปิดตาเดินขณะนี้นั้น ทั้งสองข้างทางเป็นหน้าผาชันและหุบเหวลึก ทำทีแจ้งข่าวให้กันระหว่างเจ้าหน้าที่ เพื่อให้นักเรียนได้ยินว่า นักเรียนบางคนตกลงไปบาดเจ็บหนัก ทำไงดี “ซ้ายหน้าผา ขวาหุบเหว” จะใช้ประโยคนี้ซ้ำๆ สร้างความหวาดกลัว

เวลาอันน่าสะพรึงกลัวของนักเรียนผ่านไปอย่างเนิ่นนาน เพราะนักเรียนทั้งหมดมีกว่า 120 คน แล้วก็มาถึงนักเรียนกลุ่มท้ายสุด ผมเล็งแล้วส่วนใหญ่เป็นนักเรียนหญิง ม.5/1 เกาะกุมมือกันแน่น เจ้าหน้าที่พาเดินวนก่อนรอบสองรอบ แสร้งให้ก้มต่ำหลบหนาม หลบสิ่งกีดขวาง เสร็จแล้วจึงนำทั้งกลุ่มไปที่จุดเริ่มต้นของเชือก

ผมนึกสงสัยว่า ทำไมดูนักเรียนเชื่อสถานการณ์ที่สร้างขึ้นจังเลย ทำไมไม่แอบเปิดผ้าที่ปิดตาดูเหตุการณ์จริงๆ ซึ่งกำลังเกิดขึ้นบ้าง โดยเฉพาะนักเรียนกลุ่มท้ายๆ เพราะน่าจะมีเวลาคิดไตร่ตรองพอสมควรแล้ว ว่าควรจะรับมืออย่างไรกับสถานการณ์คับขันเช่นนี้ 

ทันใดที่ผมนึกเพลินไปนั้น เสียงกรีดร้อง เสียงร้องไห้โฮอย่างดังของนักเรียนหญิง ทำเอาผมสะดุ้ง หันขวับไปมองนักเรียนกลุ่มท้ายนั้น ครูฝึกสอนหญิงตัวเล็ก รับและอุ้มประคองนักเรียนไว้แล้วอย่างทันท่วงที ผมรีบวิ่งไป เพื่อช่วยเหลือ

ลูกศิษย์ผมคนนั้นนั่นเอง คนที่บอกผมว่า “เธอกลัว” ขณะนี้เธอร้องไห้ น้ำตาไหลเปรอะเปื้อนแก้มไปหมด หูตาแดง มือเท้าเกร็งด้วยความกลัว ผมตบไหล่เธอแรงๆ จับมือและเท้าเธอที่เกร็งแน่น พร้อมบอก “ไม่เป็นไรๆ ไม่มีอะไรที่ต้องกลัว ไม่มีอะไรไม่ปลอดภัย ดูสิๆ ลืมตาดูสิ ครูอยู่เต็มไปหมด” เพราะขณะนี้ครู 4-5 คน ต่างเข้ามาห้อมล้อมเพื่อช่วยเหลือเธอเต็มที่

ครู่เดียว อาการเธอก็ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สุดท้ายเธอก็ยิ้มออกมาได้เหมือนตอนปกติ 

เย็นนั้นผมนั่งคุยเรื่องนี้กับพี่คนหนึ่ง ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ ผมตั้งคำถามว่า “ทำไมเธอไม่แอบมองบ้าง ถ้าเป็นผมและปล่อยให้ผมกลัวอยู่นานๆอย่างนี้...ผมแอบมองแน่” พี่แกบอกว่า “ความซื่อสัตย์ไง! ต้องให้คะแนนเต็มในความซื่อสัตย์” ผมถามแกต่อว่า “แล้วไหวพริบปฏิภาณล่ะ! ได้กี่คะแนน”

ผมสงสัยจนเดี๋ยวนี้ เท่าไรจึงจะพอดี ระหว่างความซื่อสัตย์กับไหวพริบปฏิภาณ

(ภาพจาก : กิจกรรมการเดินป่าศึกษาธรรมชาติ ค่ายวิทยาศาสตร์ โรงเรียนบ้านกร่างวิทยาคม ณ อุทยานแห่งชาติคลองลาน เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2552)

หมายเลขบันทึก: 235796เขียนเมื่อ 17 มกราคม 2009 19:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:10 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

สวัสดีค่ะ อาจารย์

  • ครูอ้อย อ่านแล้ว ประทับใจจังเลยค่ะ อาจารย์เขียนบันทึกได้เหมือนสารคดีเลยค่ะ น่าชื่นชม
  • กิจกรรมก็ดี ที่เพาะบ่มอุปนิสัย คุณลักษณะนิสัย ไปจนถึง คุณธรรมจริยธรรม ได้เลยนะคะ
  • นักเรียน ต้อง มีไหวพริบ สัญชาติญาณของความอยู่รอดด้วยนะคะ  ไม่ถือว่า ทุจริต เพราะไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน
  • เป็นกำลังใจให้อาจารย์ค่ะ...เยี่ยม  สมกับที่ อาจารย์ คุณหมอ ศ.วิจารณ์ พานิช ชื่นชมมากๆค่ะ
  • เคยจัดกิจกรรมแบบนี้กับป่าไม้และทหาร
  • ความซื่อสัตย์สำคัญมากครับ
  • แต่ที่ค่ายกองพล 9 กาญจนบุรี
  • ทำหน้ากลัวมาก
  • เอาโลงมาตั้ง เหวอ
  • ชอบบรรยากาศที่คลองลาน
  • ยังไม่มีโอกาสไป
  • แต่ดีใจที่เด็กๆๆได้เรียนรู้ค่ายวิทฯจากธรรมชาติจริงๆๆ
  • มากกว่าการเรียนในห้องเรียนอย่างเดียวครับ
  • ศน.แอ้ดตั้งใจอ่าน..และอ่าน..คุณครุเขียนให้เห็นภาพจริงๆ
  • เป็นศน.แอ้ดคงกลัวเหมือนกัน..กลัวกับสถานณการณ์ที่จำลองขึ้น
  • จะจริงหรือเท็จเราก็ไม่รู้เพราะถูกปิดตา..จะแอบมองก็กลัวครู
  • จะแอบดูก็กลัวใจตนเอง..อิอิ
  • กิจกรรมอย่างนี้คงสนุกกับคนบางคน
  • แต่.กับอีกหลายคนอาจจะกลัวจนตัวสั่น..ฮือฮือ..(ศน.แอ้ดยกมือเข้ากลุ่มนี้ค่ะ)
  • สุดท้าย..ความซื่อสัตย์บวกกับไหวพริบควรมาด้วยกันนะคะ
  • ขอชื่นชมกิจกรรมดีดีค่ะ

สวัสดีค่ะครูธนิตย์

·       สวัสดีวันครูค่ะ ได้มีโอกาสไปร่วมงานวันครูที่หอประชุมคุรุสภาเมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา ขอชื่นชมคุณครูทุกท่านเลยค่ะที่มีจิตวิญญาณความเป็นครูที่น่ายกย่องค่ะ

·       การสร้างสถานการณ์ของเจ้าหน้าที่ ทำให้เด็กๆเกิดจินตนาการตาม ทำให้มีความเชื่อตามความคิดนั้นไปด้วย ความไว้ใจทำให้ไม่คิดว่าจะโดนทดสอบความมั่นคงของจิตใจ

·       แต่ความปลอดภัยก็ไม่ควรมองข้ามเช่นกันค่ะ.

·       แต่เด็กๆคงไม่มีวันลืมกิจกรรมที่ได้รับและประสบการณ์ในการที่จะเอาตัวรอดและความเชื่อใจของเพื่อนที่จับมือกันไว้

·       ชอบประสบการณ์ดีๆที่อาจารย์นำมาเล่าสู่กันฟังค่ะ ขอให้มีความสุขในวันครูนะคะ.

                         

สวัสดีค่ะ

  • อ่านเพลินจนไม่อยากให้จบเลยค่ะ
  • นักเรียนที่มีโอกาสได้รับประสบการณ์นี้ นับว่าโชคดีมาก
  • ไหวพริบปฏิภาณ ต้องมีความซื่อสัตย์เป็นตัวควบคุมให้อยู่ในทิศทางที่ถูกที่ควร
  • ขอบคุณสำหรับประสบการณ์ดี ๆ ที่แบ่งปัน 

P

 

  • ความซื่อสัตย์กับไหวพริบต้องมาด้วยกัน..
  • ขอบคุณศน.addครับ

P

 

  • ชอบตรงไหวพริบฯควรถูกกำกับด้วยความซื่อสัตย์..เห็นด้วยมากๆ
  • ขอบคุณครูสุนันท์ครับ

สวัสดีค่ะ อ.ธนิตย์

  • มีความซื่อสัตย์ ควรมีสติด้วยดีไม๊คะ จะได้ไม่ตกใจกลัวมากเกินไป
  • อ่านด้วยความตื่นเต้นค่ะว่าจะเป็นไงต่อไปตอนจบ

อ่านแล้วตื่นเต้นมากค่ะ ครูต้อยค่อยๆอ่านช้าๆ พิจารณาผลที่เกิด ระหว่างกิจกรรม และหลังกิจกรรมสิ้นสุดลง เฮ้ย โล่งอกไปที

เคยถูกส่งไปฝึกในสถานการณ์ถูกโจมตีที่ค่ายเพชรรันต์ นานมาแล้ว เขาให้เข้ารับการการฝึกเพื่อจะได้เป็นวิทยากรทสปช

มันน่ากลัว ตื่นเต้น และขยะแขยงไม่หาย ด้วยสถานการณ์ที่ถูกสร้างขึ้น แต่เหมือนจริง

มันเป็นความประทับใจ ที่หลายหลายความรู้สึก ณ เวลานั้น

และต้องใช้เวลาปรับสภาพจิตใจ ที่เกิดขึ้นนานพอควร แม้จะรู้ว่าของไม่จริง และมันเป็นสถานการณ์จำลองเท่านั้น

ช่วงเวลา และบรรยากาศที่เหมาะสมกับเนื้อหาการเรียนรู้จึงเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งต่อการเรียนรู้ที่ต้องการให้ฝังลึก

P

 

  • เห็นด้วยว่า เวลา และบรรยากาศการเรียนรู้สำคัญมาก
  • ขอบคุณ krutoi มากครับ

สวัสดีค่ะคุณครูธนิตย์

ได้ใจค่ะที่คุณครูรักธรรมชาติ ป่าไม้ ธรรมชาติ

การเป็นครูสอนชีววิทยา ทำให้กิจกรรมส่วนใหญ่จะมีธรรมชาติ

และสิ่งแวดล้อมมาเกี่ยวข้องเสมอ

ดีใจค่ะกับคุณครูคอเดียวกันค่ะ (รักธรรมชาติ)

ครูแป๋ม

P

 

  • ประสบการณ์การเป็นครู การร่วมกิจกรรมกับเด็กๆนี้แหละ ทำให้เราได้เรียนรู้
  • ขอบคุณครูแป๋มครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท