เวทีระพีเสวนา : ๕ . คำถามที่มีต่อการจัดการศึกษา_เอาวิชาหรือเอาชีวิตเป็นตัวตั้ง (๑)


 

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (๑๕ ธ.ค.๕๑) ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

อาจารย์ผู้ใหญ่ที่เป็นนักคิด นักการศึกษาคนสำคัญของบ้านเมืองเราหลายท่าน ตัวแทนโรงเรียนและเครือข่ายคนทำงานการศึกษาทางเลือกจากทั่วประเทศ ได้มามารวมตัวกันตั้งแต่เช้าตรู่ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงานระพีเสวนา ครั้งที่ ๑

 

ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่โรงเรียนทางเลือกมารวมตัวกันเป็นเครือข่าย เพื่อร่วมกันถักทอประสบการณ์  สานต่อความคิด และ ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันออกมาอย่างชัดเจนว่า พวกเราจะร่วมกันสร้างการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการศึกษาของประเทศให้ไปสู่ความเป็นไท ด้วยการเปิดเผยและพัฒนาศักยภาพอันทรงคุณค่าของมนุษย์ออกมาให้ถึงที่สุด

 

เป้าหมายของการศึกษาคืออะไร หน้าที่ของการศึกษาที่แท้จริงคืออะไร การศึกษาเป็นเพียงแค่การตระเตรียมเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาในระดับชั้นประถมในโรงเรียนที่พ่อแม่ต้องการเท่านั้นหรือ เหตุใดการศึกษาจึงไม่สามารถทำให้คนแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวันได้ และหากการศึกษาเป็นเหตุแห่งความเจริญที่แท้จริงทำไมสังคมของเราจึงยังเสื่อมลงตามลำดับ

 

คำถามข้างต้นเป็นคำถามของคุณครูอ้อน บุบผาสวัสดิ์ รัชชตาตะนันท์ โรงเรียนทอสี ที่มีต่อการจัดการศึกษาในระบบโรงเรียนยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายคำถามที่มาจุดประกายให้เกิดการศึกษาในระบบโรงเรียนที่สังคมพากันเรียกขานว่า การศึกษาทางเลือก

 

ในขณะเดียวกันกลุ่มโรงเรียนเหล่านี้ก็มองว่า การศึกษาในรูปแบบเดิมๆ ทำท่าว่าจะไปไม่รอด เพราะไปเน้นการผลิตคนเพื่อสอบ และเพื่อรับใช้ระบบการผลิตในระบอบทุนนิยมเป็นหลัก

 

หากมองกันให้ดี ศาสตร์ทุกศาสตร์มีรากเหง้าเป็นหนึ่งเดียวกัน คือ เงื่อนไขที่อยู่ในรากฐานจิตใจของมนุษย์ จิตใจเป็นศูนย์รวมของทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นขุมคลังของสติปัญญา อิสรภาพอยู่ที่ใจ เมื่อจิตอิสระก็เกิดปัญญา ระพี สาคริก 

 

 

ด้วยเหตุนี้ตัวแทนเครือข่ายโรงเรียนไทยไท จึงได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ เพื่อแสดงให้สังคมได้รับรู้ว่า

 

เป้าหมายสูงสุดของจัดการศึกษาจึงควรมุ่งไปที่การพัฒนาความเป็นคนให้มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ให้สามารถหยั่งถึงและพัฒนาคุณค่าอันประเสริฐที่มีอยู่ในตนเอง ดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่า ใช้ปัญญานำสรรพวิชาและสมรรถนะทั้งหมดไปอย่างสร้างสรรค์ หรือนำไปสู่การตัดสินใจ และการกระทำใดๆ ให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนเอง ผู้อื่น สิ่งแวดล้อม และธรรมชาติทั้งหลาย

 

นำพาสังคมไปสู่สันติสุข ด้วยการนำคุณค่าอันประเสริฐของมนุษย์มาเชื่อมโยงถักทอกัน เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาความติดตันของมนุษยชาติ และเพื่อดำเนินไปอย่างสันติสุข สู่สันติสุขร่วมกัน

 

การศึกษาที่จะก่อให้เกิดคุณค่าสูงสุดได้ต้องตระหนักว่าชีวิตมนุษย์ คือมณฑลทั้งหมดของกระบวนการศึกษา เพราะชีวิตนั้นเป็นทั้งองค์ประธานของการรับรู้ เรียนรู้ และตัดสินใจ เป็นทั้งผู้ลงมือดำเนินการ และเป็นทั้งผู้รับผลของการกระทำทุกอย่าง การศึกษาจึงต้องเอาชีวิตมนุษย์เป็นตัวตั้ง ทั้งในจุดเริ่มต้น ทั้งในกระบวนการ และทั้งในเป้าหมายของการจัดการศึกษาทั้งหมด

 

 

หมายเลขบันทึก: 230433เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2008 15:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤษภาคม 2012 06:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

         ท่านพุทธทาส กล่าวถึงการศึกษาในบ้านเราว่า เป็นการศึกษาแบบ "หมาหางด้วน"

          นั่นคือ เป็นการศึกษาที่เอาวิชาเป็นตัวตั้ง ครับ

อ่านแล้วรู้สึกมีความหวังครับ เพราะปกติครูก็จะเน้นเรื่องการสอนวิชาเป็นส่วนใหญ่ ลูกศิษย์ที่เป็นผลผลิตออกมา จึงเป็นเก่งวิชา และเก่งเอาตัวรอดเฉพาะตนเองเป็นส่วนใหญ่

มาช่วยกันปฏิรูปการเรียนรู้ใหม่กันเถอะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท