ต้านลมหนาวสานปัญญา : ความท้าทายของการเรียนรู้วัฒนธรรมการทำงานจากต่างองค์กร


การทำงานร่วมกับองค์กรต่าง ๆ ที่มี “วัฒนธรรมองค์กร” ต่างไปจากองค์กรตัวเองนั้น ถือเป็นความ “ท้าทาย” ที่ควรต้อง “เรียนรู้”



ผมถูกสายลมหนาวปลุกให้ตื่นมากลางดึกทั้งที่ก่อนจะพาเจ้าตัวเล็กเข้านอนนั้นผมก็พยายามปิดประตูหน้าต่างทุกด้านของเต็นท์อย่างมิดชิดเพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าสายลมหนาวแอบเล็ดลอดเข้ามาโบยตีให้ผมและสองหนุ่มหนาวสะท้าน



เวลาเกือบ ๆ จะตีสองในค่ายต้านลมหนาว ถ้าไม่นับเสียงพูดคุยเสวนาของนิสิตก็ถือว่าเงียบสงัดพอสมควรคงมีก็แต่เสียงผ่านพัดของลมหนาวเท่านั้นที่ดูประหนึ่งว่าน่าหวาดหวั่นเป็นที่สุด



ส่วนเทือกเขาภูพานอันยาวเหยียดนั้นก็ดูเงียบขรึมไม่มีแม้แต่สรรพเสียงใด ๆ จะผ่านเลยมาทักทาย





หลังการประชุมอันหลายตลบของเย็นวันศุกร์(12ธันวาคม 2551)ผมก็ออกเดินทางมายังค่ายต้านลมหนาวสานปัญญาโรงเรียนเหล่าภูพานสาขาบ้านหนองหญ้าปล้องตำบลแซงบาดาล อำเภอสมเด็จจังหวัดกาฬสินธุ์



ผมเดินทางมาถึงโรงเรียนเหล่าภูพาน สาขาหนองหญ้าปล้องในราว ๆ เกือบจะสามทุ่มรถยนต์คู่ชีพอัดแน่นไปด้วยสัมภาระอย่างหลายหลากทั้งเต็นท์ ถุงนอนกระเป๋าเสื้อผ้ากล้องวีดีโอปลั๊กไฟรวมถึงเพื่อนร่วมทางอีก 4 คนได้แก่คุณสุริยะสอนสุระเจ้าเดียร์ จากกลุ่มไหลและน้องดินกับน้องแดน


ถึงแม้สถานที่ออกค่ายโครงการ “ต้านลมหนาวสานปัญญา”จะอยู่ไม่ไกลจากตัวอำเภอสมเด็จมากนักแต่ด้วยความที่ว่ายังไม่ “เคยทาง”จึงจำต้องขับแบบค่อยเป็นค่อยไปและยิ่งต้องขับฝ่าความมืดลัดเลาะไปตามเส้นทางอันแคบ ๆที่เต็มไปด้วยความสูงชัน หรือไม่ก็ขึ้น ๆ ลง ๆ ไปตามระดับความสูงต่ำของภูเขาก็ยิ่งทำให้ตัวเองออกอาการเกร็ง ๆ และเพิ่มความระมัดระวังเข้มขึ้นเท่าตัว


ในห้วงที่ผมเดินทางเข้ามาถึงตัวโรงเรียนอันเป็นสถานที่จัดกิจกรรมสิ่งแรกที่มองเห็นอย่างเด่นชัดเลยก็คือคนกลุ่มใหญ่กำลังนั่งล้อมรอบกองไฟกองเล็ก ๆอยู่กลางลานโล่ง และกองไฟที่ว่านั้นก็ไม่ใช่กองไฟที่ใหญ่โตนักจึงส่งผลให้บรรยากาศ ณ ที่ตรงนั้นเต็มไปด้วยความมืดสลัว





ภายหลังการเก็บสัมภาระออกจากตัวรถเสร็จสิ้นลงผมถือโอกาสเข้าไปสังเกตการณ์กิจกรรของนิสิต พร้อม ๆ กับการบันทึกภาพเหล่านั้นไว้เป็นระยะ ๆโดยภาพรวมแล้วเห็นได้ชัดว่านิสิตกำลังสรุปงานประจำวันและมอบหมายงานในวันรุ่งขึ้นตลอดจนการย้ำถึงกระบวนการของการจับ “บัดดี้บัดเดอร์”เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศของการอยู่ร่วมกัน



กิจกรรมในครั้งนี้มีองค์กรนิสิตพาเหรดเข้าร่วมขับเคลื่อนมากถึง 11 องค์กรและเมื่อตรวจเช็คจำนวนนิสิตที่เข้าร่วมกิจกรรมก็ยิ่งชวนให้ตื่นตระหนกเป็นที่สุดเพราะมีผู้เข้าร่วมมากถึงเกือบ ๆจะ 150คนเลยทีเดียวยังผลให้ผ้าห่มที่ชาวบ้านจัดเตรียมไว้รองรับไม่เพียงพอไปโดยปริยาย(ผมเลยต้องนอนแบบไม่มีผ้าห่ม)



ถัดจากนั้นเมื่อกิจกรรมยุติลงผมจึงชวนให้แกนนำขององค์กรต่าง ๆ มานั่งพูดคุยกัน โดยมีคุณสุริยะ สอนสุระทำหน้าที่บันทึกวีดีโอ และเรื่องที่เราพูดคุยกันนั้นก็ล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นหลัก ๆของการทำงานแทบทั้งสิ้นเช่นภาพรวมโครงการสาเหตุการเข้าร่วมของแต่ละองค์กรเหตุของการเลือกพื้นที่รูปแบบกิจกรรมการแบ่งงานปัญหาและอุปสรรค ฯลฯ







การนั่งล้อมวงพูดคุยกันอย่างเป็นกันเองนี้ผมถือเป็นส่วนหนึ่งของการ “ถอดความรู้”ของแต่ละคนขณะเดียวกันก็ถือเป็นกระบวนการหนึ่งในการ “แลกเปลี่ยนเรียนรู้”ร่วมกันของผู้นำค่าย



จากการพูดคุยกันในครั้งนี้ผมสัมผัสได้ถึงความมุ่งมั่นในการทำงานของแต่ละองค์กร เห็นถึงกระบวนการทำงานหรือการบริหารจัดการที่เต็มไปด้วยความพยายามอย่างยิ่งยวดเพราะลำพังแค่เฉพาะองค์กรเดียวยังทำงานแสนลำบาก ซ้ำร้ายบ่อยครั้งก็หาความเป็นปึกแผ่นแทบไม่ได้นี่ถึงขั้นทะลักมาตั้ง 11 องค์กร ก็ยิ่งดูเหมือนจะบริหารจัดการลำบากขึ้นเท่าตัวยิ่งต่างคนต่างมี “วัฒนธรรมองค์กร”ที่ต่างกันการหลอมรวมเข้าสู่ “จุดร่วม”ในทางวัฒนธรรมของค่ายนี้จึงดูซับซ้อนและลำบากอยู่มากโขซึ่งในความซับซ้อนและยากลำบากนั้นก็หมายถึง “ความท้าทาย”ดี ๆ นั่นเอง


ในภาพรวมของการพูดคุยกันนั้นผมค่อนข้างประทับใจเกี่ยวกับการร่วมคิดร่วมสร้างของชาวค่ายนี้มากเริ่มต้นจากการให้อิสระแต่ละองค์กรได้เลือกที่จะไปสำรวจค่ายตามพื้นที่ที่ตนปรารถนาจากนั้นก็นำข้อมูลที่เกิดจากการสำรวจมาเข้าสู่ที่ประชุมเพื่อให้ทุกองค์กรได้ร่วมตัดสินใจว่าจะเลือกพื้นที่ใดเป็นสถานที่จัดกิจกรรม



เกี่ยวกับการคัดเลือกสถานที่นั้นเบื้องต้นทำการคัดกรองให้เหลือเพียง 3พื้นที่จากนั้นจึงแต่งตั้งทีมงานลงสำรวจพื้นที่อีกรอบเพื่อก่อให้เกิดความแน่ใจเกี่ยวกับความต้องการของชุมชนรวมถึงการวิเคราะห์ว่าความต้องการที่ว่านั้นเรามีศักยภาพเพียงพอที่จะให้บริการหรือไม่ !







โดยส่วนตัวแล้วถึงแม้ฟังดูเหมือนกับว่ากระบวนการขับเคลื่อนเรื่องพื้นที่จะมากครั้งไปหน่อยแต่ผมก็ถือเป็นวิธีการที่ถูกต้องแล้วเพราะนั่นคือการทำงานแบบมีส่วนร่วมทั้งในภาคของนิสิตและชุมชนรวมถึงเป็นการซ่อนนัยยะแห่งการเป็นกุศโลบายที่พยายามหลอมให้แกนนำค่ายจากองค์กรต่าง ๆได้ละลายพฤติกรรมเข้าหากันโดยมีกิจกรรมการสำรวจค่ายเป็นกลไกในการขับเคลื่อน


สำหรับประเด็นของการเลือกเข้าร่วมกิจกรรมนั้นส่วนใหญ่สะท้อนตรงกันว่าต้องการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการทำงานกับเพื่อนต่างองค์กรและเชื่อมั่นว่าการทำงานร่วมกับองค์กรต่าง ๆที่มี “วัฒนธรรมองค์กร”ต่างไปจากองค์กรตัวเองนั้นถือเป็นความ “ท้าทาย”ที่ควรต้อง “เรียนรู้”รวมถึงการเชื่อว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ ไม่ซับซ้อนและสามารถก่อให้เกิดประโยชน์กับชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม


และที่ผมประทับใจมากที่สุดก็คือการผูกโยงกลับไปสู่ครั้งที่ผ่านมาว่าทีมงานในปัจจุบันได้พยายามนำข้อมูลจากปีที่แล้วมาปรับแก้ หรือแม้แต่มาต่อยอดให้กิจกรรมสมบูรณ์ขึ้นกว่าเดิมโดยเฉพาะในเรื่องของการแบ่งงานนั้นได้กำหนดให้สมาชิกของแต่ละองค์กรเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานร่วมกับองค์กรอื่น ๆโดยห้ามมิให้ขลุกอยู่กับแต่เฉพาะด้านที่องค์กรตัวเองเป็น “แม่งาน”








ในช่วงท้ายของการพูดคุยกันนั้นผมถามแบบเปิดเปลือยว่าเห็นด้วยกับแนวคิดที่ผมนำมาใช้เป็นกรอบกว้าง ๆด้วยการเชิญชวนให้แต่ละองค์กรมาร่วมรับผิดชอบในกิจกรรนี้หรือไม่ ?เพราะแทนที่จะปล่อยให้ “พรรคชาวดิน”ได้จัดโครงการนี้แต่เพียงลำพังเหมือนในอดีตแต่กลับนำความเป็นหน่วยงานลงมาร่วมรับผิดชอบพร้อม ๆ กับการเชิญชวนให้องค์กรต่าง ๆ มาผนึกกำลังและลงเรือลำเดียวกันเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน


เกือบทุกองค์กรให้คำตอบแก่ผมอย่างฉะฉานว่าเห็นด้วยกับแนวคิดนี้เพราะถือว่าเป็นโอกาสอันดีที่แต่ละองค์กรจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะการทำงานที่มีองค์กรหลาย ๆ องค์กรมาร่วมกันนั้นถือว่าหาได้ยากมากนี่จึงเป็นโอกาสอันดีของการเรียนรู้อัน “ท้าทาย”และยิ่งเป็นการเรียนรู้ที่เกิดมิติทาง “จิตอาสา” ต่อสังคมยิ่งทำให้การเรียนรู้ที่ว่านี้มีคุณค่ามากขึ้น






นั่นคือส่วนหนึ่งอันน้อยนิดที่ผมพยายามประมวลมาจากเวทีเล็ก ๆ ที่ผมนั่งคุยกับน้องนิสิตโดยมีการบันทึกวีดีโอเทปไว้ทุกกระบวนความเพื่อนำไปสู่การจัดทำเป็นสารคดีค่ายเล็ก ๆส่งต่อไปสู่การเรียนรู้ในโอกาสต่าง ๆ


และความมุ่งมั่นอันแรงกล้าของนิสิตทั้งต่อวิถีการทำงานเพื่อให้ได้มาซึ่งประสบการณ์และกระบวนการของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในทางวัฒนธรรมจากเพื่อนต่างองค์กรรวมถึงความปรารถนาที่จะทำสิ่งที่ดีงามต่อสังคมผมถือว่าล้วนแล้วแต่เป็นพลังที่ช่วยขับเคลื่อนให้ค่ายต้านลมหนาวสานปัญญาในครั้งนี้เดินทางมาได้อย่างยาวไกล


และผมก็ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมแต่ละองค์กรถึงกล้าทุบกระปุกชมรมตนเองนำเงินมาลงขันกันหลายพันบาท(บางชมรมก็เป็นหมื่นบาท)เพื่อเติมเต็มจำนวนเงินบริจาคที่ได้มาต่ำกว่าเป้าเพราะที่จริงแล้วเงินเหล่านี้ควรต้องเก็บไว้เพื่อจัดกิจกรรมเฉพาะของตนเองเสียมากกว่า ...


ด้วยเหตุนี้แหละผมถึงมีความสุขที่จะเขียนถึงความดีงามของพวกเขาอย่างไม่รู้เบื่อและดีใจที่ได้รับรู้ว่าเสร็จจากค่ายนี้แล้วต้านลมหนาวสานปัญญาก็จะขยายผลอีกครั้งในเดือนมกราคม 2552


นี่คือความอบอุ่นที่หัวใจของผมสัมผัสได้ในห้วงที่ชีวิตกำลังทำสงครามกับสายลมหนาว ...


.....

04.27
เสียงไก่ขานรับวันใหม่
ภูพาน, ..
และลมหนาวที่หนาวสะท้าน

หมายเลขบันทึก: 229264เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2008 20:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มกราคม 2016 00:34 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (24)

สวัสดีเจ้าค่ะ ครูแผ่นดิน ถิ่นสยามที่น่ารัก

น้องจิแวะมาเยี่ยมค่ะ เห็นกิจกรรมแล้วน่าสนุกมากๆเลยค่ะ รักษาสุขภาพด้วยนะค่ะ คิดถึงค่ะ ...หนูจิ

  • การทำงานร่วมกับองค์กรต่าง ๆ ที่มี “วัฒนธรรมองค์กร” ต่างไปจากองค์กรตัวเองนั้น ถือเป็นความ “ท้าทาย” ที่ควรต้อง “เรียนรู้”
  • ชอบจังครับ
  • บรรยากาศนี้
  • มาชื่อนชอมกิจกรรมดี ๆ ครับ

ภาพนี้สวยจริงๆ ได้อารมณ์ของภาพมากๆ ชอบๆ

 

มาเป็นกำลังใจให้คนทำงานและน้อง ๆ ครับ...

สวัสดีค่ะอาจารย์

***ดูสิคะ...เพียงภาพบรรยากาศ ก็ทำไห้หลายคนมีความสุข

***ช่างเป็นวันเวลาที่มีค่าของคนหนุ่มสาว..ที่น่าอิจฉาจริงๆค่ะ

สวัสดีคะ มาเยี่ยมค่ายต้านลมหนาว ให้กำลังใจนักศึกษาและอาจารย์

สวัสดีค่ะน้องชายที่คิดถึง

ครูอ้อยแวะมาเยี่ยม ตามลมหนาวมาค่ะ

กิจกรรมนี้ดีมากเช่นเคย นะคะ

ครูอ้อยขอเป็นกำลังใจน้องชายเสมอค่ะ.....ที่นี่ ค่ะ

Bea3

แวะมาอ่าน  ดูกิจกรรมดีๆที่สร้างสรรค์  ต้านลมหนาวค่ะ

มีความสุขในทุกๆวัน

รักษาสุขภาพ นะคะ

กิจกรรมดีมากมากครับ ไม่ทราบว่า คณาจารย์ มมส มาร่วม เรียนรู้กู่สร้างสรรค์ สู่นิสิตที่พึงประสงค์ด้วยใหมครับ

มาร่วมชมภาพประทับใจ  และดีใจกับ จิตอาสา  ครั้งนี้อย่างยิ่ง

สวัสดีครับ . โก๊ะจิจัง แซ่เฮ~natadee ที่สุดในแก๊ง

เป็นยังไงบ้าง.. เก็บไปได้กี่หน่วยกิตแล้ว  รวมถึงมีโอกาสได้ออกค่ายอาสาพัฒนากับเพื่อน ๆ พี่ ๆ ในศิลปากรบ้างหรือยัง..

รักษาสุขภาพ ด้วยเด้อ

สวัสดีครับ . ครูโย่ง หัวหน้า~ natadee


ภาพนี้คุณสุริยะ ..เป็นคนถ่ายให้ครับ  ใช้ขาตั้งกล้อง  บรรยากาศดีมาก  ผมเองก็ชอบภาพนี้เช่นกัน

และคงเป็นภาพในความทรงจำของคนค่ายไปอีกภาพเลยทีเดียว

 

 นุ้ยcsmsu

แน่นอนครับ  ภาพนี้ต้องยกเครดิตให้คุณสุริยะ นั่นแหละ  ให้พี่ถ่ายเองก็คงออกมาไม่สวยปานนี้แน่

 

สวัสดีครับ Mr.Direct

ปีแรกไปที่ชัยภูมิ   ปีนั้น "หนาวลม"  เพราะมีลมพัดกรรโชกแรงตลอดเวลา

ปีที่สอง ไปที่อุดรธานี  ปีนี้ "หนาวฝน"  เพราะฝนยังตกปรอย ๆ

ปีนี้ ไม่มีลมไม่มีฝน แต่น้ำค้างและหมอกนั้น หนักหนาสาโหดมาก  ผมเลยพลอยนอนไม่หลับ  เพราะห่วงลูก ๆ เกรงว่าจะนอนจัดจนเป็นอะไรไป

 

สวัสดีครับ  กิติยา เตชะวรรณวุฒิ

ค่ายนี้รวมพลังกันหลายองค์กร  มีคนเข้าร่วมเยอะมาก  และเชื่อว่าแต่ละคนคงได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ บ้าง  อย่างน้อยก็เรียนรู้ถึงการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ต่อคนรอบข้าง

ส่วนเขาจะพัฒนาไปสู่จิตอาสาได้มากหรือน้อยนั้น  ผมไม่อาจคาดหวังอะไรมาก  ทุกอย่างมันอยู่ที่เขาทั้งหมด

ขอบคุณครับ

อืม บรรยากาศการทำงานดีมากเลยคะ

คิดถึงตอนเป็นนักศึกษา บรรยากาศแบบนี้ ใช่เลย

การทำงานร่วมกับชุมชนเป็นอะไรที่น่าค้นหา และน่าติดตาม เรียนรู้อย่างมาก

ท้าทาย สร้างสมประสบการณ์ให้ตนเอง

ขอเป็นกำลังใจ ให้มีกิจกรรมดีๆแบบนี้ต่อไปนะคะ

เพื่อปลูกฝังและพัฒนาสังคมไทยอย่างยั่งยืน

สู้ๆๆๆๆๆๆๆๆๆนะคะ

คนสารคาม

มองย้อยขึ้นไปอีกเห็นภาพ "กล้วยไม้" ทำให้นึกถึงคำที่ว่า

"กล้วยไม้ออกดอกช้าฉันใด การศึกษาออกดอกช้าฉันนั้น"

สวัสดีครับ พี่ประกาย~natachoei

สำหรับค่ายในครั้งนี้  นิสิตมีพลังใจกันเยอะมาก  รวบรวมเพื่อน ๆ มาช่วยงานกันได้เป็นระยะ ๆ  รวมถึงการกล้าที่จะเปลี่ยนวิธีคิดในการทำงาน  เพื่อให้สอดรับกับสภาวะการณ์ความเป็นจริงของชุมชน 

และคิดว่า กิจกรรมต้านลมหนาวสานปัญญาฯ  จะกลายเป็น "ประเพณี"  บนถนนสายกิจกรรมของมหาวิทยาลัยสืบต่อไปอย่างยาวนาน

....

 

สวัสดีครับ ครูอ้อย แซ่เฮ

ผมมีความตั้งใจไว้นานมากว่าจะมีค่ายที่ช่วยเหลือชาวบ้านให้ครบทั้งสามฤดูกาล  เช่น  น้ำท่วม  หนาว และแห้งแล้ง

สิ่งเหล่านี้ถ้าเกิดได้จริง  นิสิตจะเรียนรู้การทำงานที่แหลกหลายบรรยากาศ  และมีจิตอาสา  รวมถึงการเห็นคุณค่าของตัวเองด้วยเช่นกัน

....

รักษาสุขภาพ นะครับ

สวัสดีครับ @..สายธาร..@

โครงการต้านลมหนาวสานปัญญา  มีความน่าสนใจหลายอย่าง  นับตั้งแต่การทำงานร่วมกันของหลาย ๆ ฝ่าย  การบูรณาการกิจกรรมอย่างเป็นรูปธรรมภายใต้เวลาอันจำกัด  รวมถึงสะท้อนให้เห็นถึงพลังของประชาคม มมส  สู่การมีจิตศรัทธาเพื่อสังคมด้วยเช่นกัน

ในอนาคต  ปรารถนาให้กิจกรรมนี้ได้กลายเป็นประเพณีของสถาบัน  ซึ่งหมายถึง  เป้นความร่วมมืออย่างแข็งขันระหว่างนิสิตกับมหาวิทยาลัย  โดยมีพื้นที่ปฏิบัติการสองกรอบใหญ่ ๆ คือ  ภายในมหาสารคาม  และพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ ทั้งในภาคอีสาน หรือภาคอื่น ๆ ด้วยเหมือนกัน

ขอบคุณครับ

โห หลากปัญญา นำพาชีวิต กันเลยทีเดียว

.

ส่งต่อ กำลังใจ ครับ

สวัสดีครับ อ. JJ

กิจกรรมในครั้งนี้ได้ผลในเชิงรุกมาก  นิสิตรวมตัวกันหลายกลุ่ม  ขณะที่บุคลากรในมหาวิทยาลัยก็ขยับมาช่วยเหลือบ้างตามโอกาส

ตอนนี้กำลังวางแผนในการขยายผลต่อไปอีกรอบ

คงมีความเคลื่อนไหวให้ได้เห็นอีกรอบ ครับ

สวัสดีครับ subparod

เรื่องราวของจิตอาสาเป็นเรื่องที่งดงามและมีพลังมาก  รวมถึงการเป็นเรื่องชวนฝันสำหรับคนหนุ่มสาว ...

ที่ มมส  ไม่ค่อยได้เรียกชื่อนี้นะครับ  แต่จะเรียกว่า "จิตสำนึกสาธารณะ"

...

ชัญณรงค์ พรมรัตน์ 0884185362

อย่ากเป็นส่วนหนึ่ง ของโครงการดีๆครับ  มีอะไรที่พอจะช่วยเหลื่อได้ ติดต่อผมบ้างนะครับ ขอบคุณที่ไม่ลืมเด็กๆ ที่อยู่นัย ชนบท

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท