ตำราทอผ้า


ขุนสิทธิโกสิยพันธ์ พนักงานช่างไหม มณฑลนครราชสีมา ได้เรียบเรียง "เรื่องทอผ้า" ขึ้น เมื่อ รัตนโกสินทรศก 129

เป็นที่ทราบกันดี (หรือเปล่า) ว่า ในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น ทรงโปรดฯ ให้พัฒนาการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และทอผ้าไหมอย่างจริงจัง กล่าวคือ เมื่อ พ.ศ. 2445 มีการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่น ชื่อ ดร.โทยาม่า จากมหาวิทยาลัยโตเกียว มาดำเนินการสอน วางระบบ อบรม มีการตั้งกองช่างไหม (ภายหลังยกเป็นกรมช่างไหม) โดยมีพระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงษ์ (ผู้ทรงพระนิพนธ์เพลงลาวดวงเดือน) เป็นอธิบดีกรมช่างไหมพระองค์แรก และเปิดโรงเรียนสอนการทำไหมขึ้นที่ปทุมวัน เมื่อ พ.ศ. 2447

 

                ในการดำเนินงานดังกล่าว ยังได้จัดทำตำราขึ้น มีชื่อว่า เรื่องทอผ้า ขุนสิทธิโกสิยพันธ์ (ต้นสกุล  โพธิสุนทร) พนักงานช่างไหม มณฑลนครราชสีมา ได้เรียบเรียงขึ้น เมื่อ รัตนโกสินทรศก 129 (พ.ศ. 2454) หนังสือเล่มนี้ปรากฏความในคำนำว่า ได้เรียบเรียงขึ้นพร้อมกับหนังสืออีกเล่มหนึ่ง เรื่อง เลี้ยงไหมทำไหม

 

Silkweave01

คำแนะนำ

เรื่องการทอผ้าแลย้อมไหม

 

วิธีทอผ้าแลย้อมไหมซึ่งได้เรียบเรียงแล้วพิมพ์ขึ้นแจกในคราวนี้ เพื่อเปนประโยชน์แก่สัตรีชาวสยาม ผู้มีใจปราร์ถนารักใคร่ในวิชาทอผ้า ซึ่งเปนการเบาที่ทำในร่มอยู่กับบ้านเรือน ไม่ถูกแดดแลไม่ลำบากยากกายนัก สมควรที่หญิงทั้งหลายจะทำได้ทั่วไป

                 ในประเทศสยามอันเปนบ้านเกิดเมืองนอนของเรา ก็มีจารีตธรรมเนียมสืบมาแต่โบราณช้านานว่า ชายราษฎรพลเมืองมาทำการหนักในไร่นาแลตัดไม้ในป่าเปนต้น มาซื้อขายแลกเปลี่ยนเลี้ยงครอบครัวของตน ส่วนหญิงอยู่เฝ้าบ้านทำการเบาเปนต้นว่าค้นหูกทอผ้า เย็บเสื้อผ้าไว้ให้ชายต่างบำรุงซึ่งกันแลกัน จึงได้มีบ้านเรือนครอบครัวตั้งมั่นอยู่เปนศุขสืบมาช้านาน การทอผ้าจึงเปนวิชาหาเลี้ยงชีพของหญิงโดยมาก แลทำได้ไม่สู้ยาก ถ้าหญิงใดมีใจปราร์ถนาจะใคร่รู้จักวิชาทอผ้าแล้ว ก็หมั่นเอาใจใส่สังเกตดูเพื่อนหญิงที่ทำการช่างหูกทอผ้าอยู่เนืองๆ ไม่ช้าก็จะเข้าใจทำการทอผ้าได้เหมือนกัน เว้นไว้แต่จะทอไห้ประณีตงดงาม หรือย้อมสีให้สดสรวยดียิ่งขึ้นไปกว่าธรรมดาแล้ว จะต้องเปนผู้ที่มีความรู้แลชำนาญในการสิ่งนี้ แลหมั่นศึกษาไต่ถามผู้ที่ทมีความรู้ดียิ่งขึ้นไปอยู่เสมอๆ จึ่งจะแก้ไขดัดแปลงให้ดีขึ้นตามคราวแลสมัยได้

                แต่วิชาการทอผ้าที่ชาวเราได้ทำกันมาแต่เดิมๆ กับเครื่องมือแลหูกที่จะใช้ในการทอผ้านั้น จะนับว่าเปนอันเรียบร้อยแลจะทอให้รวดเร็วยังไม่ได้ โดยเหตุนี้ผู้ที่มีความประสงค์จะทำการทอผ้าแลย้อมไหมจะต้องหมั่นอ่านดูวิธีทอผ้าแลย้อมไหมเล่มนี้ตั้งแต่ต้นจนปลายให้ตลอดสัก ๓ หรือ ๔ ครั้ง  ก็สามารถจะทอผ้าให้ประณีตบรรจงดีขึ้นได้ แต่ผู้ที่ไม่รู้จักแลไม่เคยทำการทอผ้าเลย เมื่ออ่านดูหนังสือเล่มนี้แล้ว จะลงมือทำทีเดียวยังไม่ได้ จะต้องศึกษาต่อผู้ที่มีความรู้แลฝึกหัดใช้เครื่อง ให้มีความรู้พอเปนหนทางบ้างแล้ว ภายหลังเมื่อติดขัดมาอ่านดูหนังสือเล่มนี้ก็จะเข้าใจใด้โดยง่าย เมื่อทำจนมีความชำนาญขึ้นแล้ว ก็จะทำได้ดีแลรวดเร็วขึ้นเสมอไป

 

หนังสือเรื่องทอผ้า นี้แบ่งเป็น 4 ภาค คือ

                ภาค 1 การทอผ้าพื้นเมือง

                ภาค 2 การใช้เครื่องทอผ้าของกองช่างไหม

                ภาค 3 วิธีการจัดทอผ้าของกองช่างไหม

                ภาค 4 การทอ

               

หนังสือเล่มนี้เก่าเต็มที ข้อมูลเนื้อหาจึงล้าสมัย คงจะนำมาใช้การไม่ได้ในหลายๆ ส่วน แต่นับว่ามีประโยชน์ในเชิงประวัติศาสตร์และการอ้างอิง ท่านได้เล่าว่า เมื่อ ปี ร.ศ.127 ปีเดียว ประเทศสยามซื้อผ้าต่างๆ จากนานาประเทศเปนจำนวนเงินถึง 20,228,940 บาท การแนะนำการทอและวิธีการต่างๆ ก็เพื่อให้มีวิธีการและเครื่องมือที่มาตรฐาน ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ เชื่อถือได้

เนื้อหาในเล่มนี้เริ่มที่การเตรียมเส้นด้าย การฟอก ย้อมสี ซึ่งแนะนำสองแบบ ได้แก่ สีพื้นเมือง กับสีสวรรค์ สีพื้นเมืองนั้น หากย้อมแดงต้องใช้ครั่ง เขียวครามใช้คราม เขียวใช้ไม้กระหูด เหลืองใช้กรัก ม่วงใช้ครั่งแล้วชุบน้ำคราม สีดำใช้ครามแล้วชุบน้ำครั่ง ส่วนสีสวรรค์นั้นมีขายในตลาดทั่วไป ต้องการสีอะไรก็หามาย้อมได้

เครื่องจักรของกองช่างไหมนั้น มีทั้งเครื่องกรอไหม เครื่องปั่นเกลียวไหม ส่วนเครื่องทอหรือกี่ มีมาตรฐานที่ชัดเจน เช่น มีเสาสูง 178 เซนติเมเตอร์ (3 ศอก 1 คืบ 1 นิ้ว) ยาว 214 เซนติเมเตอร์ (1 วา 6 นิ้วครึ่ง) และกว้าง 108 เซนติเมเตอร์ (ศอก 4 นิ้ว)  เป็นกี่กระตุก

นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึง การ ชุบน้ำเข้าหรือแป้ง หลังจากย้อมเส้นไหมแล้ว เพื่อให้ได้เส้นไหมอ่อนหรือแข็ง ตำรานี้ใช้ สาหร่ายทะเลชนิดหนึ่ง ภาษายี่ปุ่นเรียกว่า ฟุนโนรี ต้ม กับแป้งสาลี กรองด้วยผ้าขาวแล้วเอาเส้นไหมแช่

หลังจบการทอ ก็ได้เล่าถึงการผสมสี เรื่องสีของผ้ากับสีของเส้นไหมนั้น คนละเรื่องกัน การย้อมสี ก็ได้เส้นไหมสีหนึ่งๆ ตามที่เราย้อม แต่ผืนผ้าจะมีสีอย่างไร ขึ้นกับสีของเส้นไหมที่ใช้ ซึ่งบางครั้ง (หรือหลายครั้ง) เส้นด้ายยืน กับเส้นด้ายพุ่งจะมีสีต่างกัน สีของผ้าได้จากการผสมของสีระหว่างด้ายพุ่งและด้ายยืนนี้

ตามตำรานี้ ท่านว่า

ไหมยืนสี                ไหมพุ่งสี                        เมื่อทอแล้วเปนสี

สวาด                       น้ำเงิน                      สวาด

เขียวอ่อน                เหลืองแก่                        สมออ่อน

น้ำเงิน                     ม่วง                                น้ำเงินแก่

โสกอ่อน                 น้ำเงินอ่อน                     เขียวไข่กา

ม่วงอ่อน             ชมพูแก่                            เมล็ดมะปรางแก่

ขาว                   น้ำเงิน                              ตะกั่วตัด

แดง                         เหลือง                             แสดแดง

เขียวอ่อน                เหลืองอ่อน                      ก้านมลิ

โสก                         เหลืองอ่อน                     ยอดตอง                                         

สวาด                       เขียวแก่                           สมอ

ชมพูอ่อน                เหลืองอ่อน                      ปูนแห้ง

เหลืองอ่อน             เหลือง                              จันทน์

เขียวอ่อน                โสก                                 โสกอ่อน

น้ำเงินแก่                ม่วง                                  ม่วง

เขียวแก่                   ม่วง                                  สมอแก่

สวาด                       เหลืองแก่                        ไพลเน่า

สวาดแก่                   สวาดอ่อน                       นกพิราบ        

สวาดแก่                   เหลืองอ่อน                     นกพิราบอ่อน

เหลืองแก่                ครั่งอ่อน                           ไพล

ครั่ง                          เหลือง                             ทอง

ชมพูแก่                   ชมพูอ่อน                         บานเย็น

ม่วง                         ครั่งแก่                             เลือดหมู

น้ำเงิน                     เหลืองอ่อน                      ฟ้า

น้ำเงิน                     ครั่ง                                  ม่วงแดง

 

หนังสือเล่มนี้ มีอยู่ในหอสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่านใดสนใจลองค้นหาดูนะครับ เลขหนังสือ TS 1490 ส6 ไม่แน่ใจว่าตอนนี้จะยังอยู่หรือเปล่า เพราะสภาพเก่ามาก ;)

 

หมายเลขบันทึก: 225732เขียนเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2008 23:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

สีโสก   ..เดี๋ยวนี้เขียนว่า สีโศรก ใช่ไหมคะ
ดีนะคะ มีตำรา สี ไว้เป็นบรรทัดฐานเลย

สวัสดีครับ คุณพี่ Sasinand

ครับ สมัยนี้ใช้ โศก ศ ศาลา, พจนานุกรม ท่านอธิบายว่า สีเขียวอ่อนอย่างสีใบอโศกอ่อน

สมัยก่อนเรียกสีแปลกๆ นะครับ

สวัสดีค่ะมาอ่านเสริมสมอง...

ชาวสยามทอผ้าไม่เป็น แต่ด้วยความที่กดข่มชนพื้นเมืองที่เขาทอผ้าเก่งอยู่แล้วเลย

ต้องไปเชิญชาวญี่ปุ่นหรือเปล่าคะ?...ล้านช้าง ล้านนา ศรีวิชัย ล้วนมีฝีมือเรื่องผ้าทอ

...

สวัสดีครับ

ภูมิภาคนี้ มีหลักฐานการทอผ้าทั่วไปครับ

ทางใต้ก็แบบหนึ่ง ภาคกลางก็แบบหนึ่งอีสาน เหนือ ก็เช่นกัน

การทอผ้าในบ้านเรา ลดลงมาก เมื่อมีผ้าจากต่างประเทศเข้ามาครับ และลดลงเรื่อยๆ จนปัจจุบันผ้าทอ แทบจะไม่ได้เป็นผ้าสำหรับการนุ่งห่มทั่วไป เว้นแต่ ผ้าขาวม้า หรือผ้าซิ่นผ้าไหมในงานหรู

กระโปรง กางเกง ผ้าห่ม ล้วนทอด้วยเครื่องจักรโดยใช้เส้นใยสังเคราะห์เป็นส่วนใหญ่

เทคนิคการทอจากญี่ปุ่นในเวลานั้นไม่ได้เน้นเรื่องลวดลาย และฝีมือครับ แต่เน้นการเลี้ยงไหมให้ได้คุณภาพสูง และมีเครื่องจักรเกี่ยวกับทอผ้าด้วย

การตั้งกรมช่างไหม จึงเป็นการผสมผสาน ระหว่างภูมิปัญญาเดิม กับภูมิปัญญาต่างประเทศ มีการรวบรวมความรู้แต่งเป็นตำราขึ้น(นับตั้งแต่นั้นมาราวร้อยปี มีตำราเรื่องทอผ้า อีกนับเล่มได้)

ย้อนมาถึงสมัยใหม่ น่าคิดเหมือนกันว่า เหตุใดฝรั่งอย่างจิม ทอมป์สัน จึงยกผ้าไหมไทยให้ต่างประเทศรู้จักได้ ทั้งๆ ที่ผ้าไหมไทยมีมาช้านาน

น่าสนใจมากนะคะ หนังสือทรงคุณค่าเช่นนี้น่าจะมีการจัดเก็บอย่างดี

คนโบราณมีการตั้งหรือเรียกชื่อสีที่แปลกนะคะ เพิ่งเคยได้ยินว่าสีเคมีนั้นเมื่อก่อนเขาเรียกสีสวรรค์ ตอนเป็นเด็กๆอยู่เมืองกาญจน์กับคุณยาย คุณยายพี่เคี่ยวน้ำครั่งขาย เป็นที่เดียวในตัวจังหวัด มีคนมาซื้อไปทำขนมชั้น สีในชีวิตประจำวันในสมัยก่อน ทั้งกิน ทั้งใช้ล้วนมาจากธรรมชาติทั้งนั้นนะคะ

สวัสดีครับ พี่นุช

หนังสือปกพรุนๆ แล้วล่ะครับ กระดาษก็เหลืองกรอบ

สีธรรมชาติ สมัยก่อนคงจะมีหลากหลาย เพราะมีพืชพรรณเยอะ หาง่ายนะครับ

สมัยก่อนใช้ของธรรมชาติมาก

สมัยนี้ใช้ของสังเคราะ์ห์ ใช้สิ่งประดิษฐ์มาก ;_)

เพราะคนไทยมองไม่เห็นความสำคัญของผู้คน และสิ่งใกล้ตัว แต่ถ้าฝรั่งนำทำ นำใช้ ดีหมดคงเหมือนคำสอนเรื่องความพอเพียงของพ่อนี่กระมัง...รักแต่ไม่เชื่อ พอ มีพ่อค้าหัวใสมาปั่นหัวด้วยเหลี่ยมเล่ห์เชื่อหัวปักหัวปำ...ต้องขอบคุณ จิม ทอมป์สันที่นำสร้างคุณค่าให้ไหมไทย

สะบายดี...(ออกสำเนียงลาวนะคะ)

สวัสดีครับ ครูจอมใจ

น่าจะเป็นอย่างนั้นแหละครับ

แล้วก็เป็นมานานแล้วด้วยสิ...

  • อ้าวอ่านได้แล้ว
  • วันก่อนยัง งงๆ นึกว่ายังเขียนไม่เสร็จ
  • แปลกจัง ผสมสีเป็นสีนกพิราบได้ด้วย

สวัสดีครับ พี่นารี

ปกติผมเปิดใน Firefox ไม่มีปัญหาครับ

เพื่อนๆ บอกว่าอ่านไม่ได้ เลยลองเปิดใน IE

มันไม่ขึ้นจริงๆ

ก็เลยลองดูโคด html ปรากฏว่ามีโคดแปลกๆ

เลยลบออก ตอนนี้เลยมีบันทึกนี้สองบันทึัก อิๆๆ

แปลกดีนะครับ การผสมสีของผ้า

  • เหมือนบันทึกพ่อครูบา
  • เข้าใจว่า copy ที่พิมพ์จาก word ใช่ไหม
  • ใช้ Firefox อ่านได้
  • ลองอ่านอันนี้นะครับ
  • http://gotoknow.org/blog/howto4new/230375
  • เห็นสีแล้ว  คิดถึงต้นสมอ
  • เดี๋ยวนี้หายากจาก
  • สบายดีไหม
  • ตอนนี้สอนหนังสือเด็กๆๆด้วยใช่ไหม
  • เอาเรื่องสอนหนังสือมาเล่าบ้าง
  • อยากอ่าน

ชื่อสีแปลกดีค่ะไม่เคยรู้จักเลยก็มีเช่นสวาด ตะกั่วตัด ไพลเน่า ขอบคุณกับข้อมูลดีดี

สวัสดีครับ อ. ขจิต ฝอยทอง

ใช่แล้วครับ ก๊อปปี้มาจากเวิร์ด

บันทึกของน้องเก๋ ได้อ่านแล้ว ขอบคุณครับ

ช่วงนี้สบายดี ตาม-อัด-ตะพาบ

ไอ ยังไม่หาย

 

สมอ เคยเห็นนานแล้ว แต่ไม่เคยกิน

ตอนนี้ไม่ค่อยได้สอนเด็กแล้ว

สอนแต่ผู้ใหญ่

ไว้จะลองเรียบเรียงดูครับ

มาไว ไปไวแฮะ..

 

สวัสดีครับ คุณ add

คนรุ่นใหม่ ไม่ค่อยรู้จักชื่อสีพวกนี้ครับ

วันก่อนเล่าให้นักเรียนฟัง ขำกันกลิ้งเชียว อิๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท