โค้ชส้ม Citrus
Miss. ปรีดิ์ฤทัย โค้ชส้ม ตั้งจิตญาณพัฒน์

การเรียนรู้แบบเอาตัวเข้าแลก ทำให้นึกถึงการทำแผลติดเชื้อ


ปกติชอบพูดประโยคนี้เหมือนกัน การเรียนรู้ที่ต้องเอาตัวเข้าแลก มันรู้สึกได้อารมณ์ เห็นภาพชัดเจนดี

    เมื่อวาน อ้อ ต้องบอกเมื่อคืน กลับจากพัทยา ถึงบ้านเกือบตีสอง ด้วยเหตุเพราะ ได้รับการขอร้องจากน้องที่เป็นกระบวนกร Deep Listening

    ตอนแรกกระบวนกรที่ประจำบริษัทไม่อยากนำกิจกรรมนี้เอง จึงเชิญพี่สาวอาวุโส สองท่านให้ไปช่วย ท่านแรกที่ตอบรับ ปฏิบัติงานที่ระยอง การเดินทางไปพัทยาจึงไม่ใช่เรื่องยาก แต่สำหรับ citrus การจะไปช่วยงานข้ามบริษัท แม้จะอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ก็ต้องคิดหน่อย ว่าไปแล้วคุ้มค่าใช้จ่ายหรือไม่ ถ้าไปช่วยแค่กิจกรรมเดียว ก็ไม่เห็นว่าจำเป็นมากนัก ประกอบกับ เห็นว่ามีกระบวนกรประจำบริษัทอยู่แล้ว จึงตอบปฏิเสธไป แต่เมื่อกระบวนกรท่านแรกที่ได้รับเชิญ โทรมาขอเป็นการส่วนตัวให้ไปช่วยเป็นกำลัง hold space กันหน่อย เพราะกลุ่มผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็น engineer ล้วน แถมเป็นพนักงานผู้จัดการส่วน ฝ่าย หลายคน

   จึงเริ่มเห็นว่า ไปก็ดีนะ ท้าทายเหมือนกัน พวกเราปกติ มีวัฒนธรรมว่า เราจะไม่เล่นของสูง แต่เมื่อกล้าเชิญ ก็ไปลองเรียนรู้ซะหน่อย ก่อนไปคุยกับเจ้านาย และคณะกรรมการ Inno ไปแล้ว ว่า "รู้ว่าเสี่ยง แต่ต้องขอลอง"  ถ้าสำเร็จจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับตัวเอง และเปลี่ยนกรอบความคิดคนในบริษัทได้  ตรงข้าม ถ้าเจอของแข็ง ก็คงต้องกลับมาเลียแผลตัวเองพักนึง

  เริ่มออกเดินทางจาก กทม.ประมาณ บ่ายสี่โมง ไปถึง พัทยาใต้ ประมาณเกือบหกโมง ได้เวลาอาหารพอดี เกิดเรื่องจนได้ แยกจากคนขับรถแล้ว หาเบอร์โทรศัพท์เขาไม่เจอ ติดต่อกันไม่ได้ กว่าจะได้ เล่นเอากังวลว่าจะกลับบ้านยังไง เกิดคนขับรถหนีไปเที่ยวพัทยายามราตรี 

  The show must go on ได้รับการสอนสั่งว่า ถ้าจะนำวงแบบลงลึก อยากให้คนในวงสงบ คนนำต้องสงบก่อน ทำให้ต้องห้อยแขวนความกังวลออกไปไกลๆ ด้วยหน้าที่ตรงหน้า

  พอถึงเวลาเริ่มนำกิจกรรมจริง citrus มีหน้าที่พูดเหนี่ยวนำให้คนร่วมกิจกรรมดำดิ่งสู่ชีวิตวัยเด็ก ในช่วงแรกที่ให้จับคู่ 2 คน มองเห็นตัวเองทันทีว่า ความกังวลในการนำกิจกรรมที่ติดตัวมาแต่เดิม ด้วยความเกรงบารมีผู้บริหารที่พวกเรามักพูดติดปากว่า  hard core  ประกอบกับจิตตกช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้คำพูดที่ออกมาติดขัด ไม่ลื่นไหลเหมือนที่ผ่านมา

  เมื่อเปิดวงแบบจับคู่ เห็นด้วยประสบการณ์ว่า คนในวงยังไม่นิ่งพอที่จะคุยกันแบบ deep อย่างที่เราอยากให้เป็น ตอนเริ่มกระบวนกรคู่หู มาถามว่า พี่ไม่ให้เขาจับมือกันเหรอ ตอนนั้นคิดว่า อย่าเพิ่งดีกว่า รู้สึกว่าแม้เขาจะเคยรู้จักกันมาบ้างแต่ไม่ได้คุ้นเคยกัน ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายกับผู้ชายทั้งนั้น เขายังไม่รู้สึกปลอดภัยพอ บางคนไม่เคยสัมผัสวิธีการด้าน soft side มาก่อน

  กิจกรรมแรกผ่านไปแบบ mouthsy พอสมควร ยังติดอยู่ใน fast mode อันนี้ใช้สัมผัสส่วนตัว บอกตัวเองว่า จะไปรอดไหมนี่ ผู้ร่วมกิจกรรมจะลงลึกกว่านี้ได้ไหม (ยอมรับความเสี่ยง)

  หยุดไม่ได้ ต้องควบคุมสติ พูดเหนี่ยวนำกิจกรรมล้อมวง สี่คน เหมือนเดิม รู้สึกบทพูดไม่ออกมาจากใจ ไม่ลื่นไหลอย่างที่เคยเป็น แต่กิจกรรมช่วงนี้ดีขึ้นมาก คนเริ่มนิ่งมากขึ้น เพราะให้จับมือกัน

 เมื่อเสร็จสิ้นกิจกรรมใช้เวลาทำการถอด tacit knowlege ของแต่ละคนออกมาใช้เวลาอีก 1 ชั่วโมง ตอนแรกตั้งใจว่าจะไม่ต้องพูดครบทุกคนก็ได้ แต่พอไมค์วนไปหา ผู้จัดการฝ่ายผลิต พี่ท่านบอกเลยว่าให้น้องๆ รีบพูดกันซะ ยังไง พี่ส้มต้องให้พูดทุกคน  เอ้า พี่ชี้นำแล้ว ว่าไง ว่าตามกัน ทั้งที่ตอนนั้นคิดว่า กลับบ้านดึกแน่เลยตู

 จากการถอดบทเรียนทุกคน ได้อารมณ์หลากหลายจากคนต่างวัย ต้องขอบคุณวิศกรเด็กคนหนึ่งที่พูด ออกมาว่า จำที่วิทยากรเกริ่นตอนแรกว่า "จะทำกิจกรรมนี้ให้ได้ผลดี ผู้ร่วมกิจกรรมต้องยอมเอาตัวเข้าแลก" น้องเขายอมเล่าเรื่องที่เขาทะเลาะกับคุณแม่เพราะความเห็นเรื่องเหตุการณ์บ้านเมืองไม่สอดคล้องกัน (ความขัดแย้งนอกบ้านนำพาความขัดแย้งเข้ามาในระดับครอบครัวด้วย)  เขาจึงสะท้อนให้ฟังว่า เขาได้ประสบการณ์การเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง หลังจากเขาเล่าเรื่องนี้ออกมา และมีโอกาสได้ทบทวนตัวเอง ได้ระบายความไม่สบายใจออกมา จนคิดได้ว่าต้องกลับไปแก้ไขตัวเอง

 ยังมีข้อคิด การเรียนรู้จากช่วงถอดบทเรียนมากมาย แต่ที่ติดใจเรื่องนี้ เพราะเป็นตัวอย่างที่ citrus ก็เจอมากับตัวเอง ตอนไปเรียนฝึกเป็นกระบวนกรใหม่ๆ เรื่องของการต้องยอมเอาตัวเข้าแลกเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ (ในที่นี้หมายถึง เราต้องยอมเจ็บปวด หรือยอมเอาเรื่องที่เป็นแผลในใจ เปิดออกให้คนอื่นเห็น)

 เมื่อนั่งรถกลับ กทม.เมื่อคืนนี้บรรยากาศนอกรถ ท้องฟ้าแจ่มใส อากาศเย็นสบาย ชวนให้นึกไปถึงเรื่องการทำแผลคนไข้โรคเบาหวานได้ยังไง ไม่ทราบได้ สมองทำการเชื่อมโยงไปยังประสบการณ์ เมื่อครั้งเป็นพยาบาล

 การทำแผลที่มีเนื้อตาย หมอหรือพยาบาลจะต้องขูดแผลคนไข้ เอาเนื้อตายออกไป ให้เลือดไหลซิบๆ คนไข้เจ็บแผล ทุกข์ทรมาน เห็นตั้งแต่เป็นนักเรียน ไม่เข้าใจ คิดว่าทำไมใจร้าย ทำเบาๆ ไม่ได้หรือไง ได้รับคำอธิบายว่า ถ้าไม่ทำแผลแบบนี้ ไม่ขูดแผล เนื้อดีจะไม่ได้รับ ออกซิเจนหรือเลือดมาเลี้ยง ซึ่งจะทำให้สร้างเนื้อใหม่ขึ้นมาทดแทนไม่ได้

 พอนำเรื่องนี้มาเทียบกับการเรียนรู้ใน Dialog  อ.ที่สอนพูดเรื่องการเปิดแผลในใจ ให้เรายอมรับความอ่อนแอ ยอมเจ็บปวด และเปิดเผยมันออกมาให้คนอื่นได้เห็น จะช่วยล้างปมในใจที่เป็นสิ่งขัดขวางความก้าวหน้าทางความคิดของเรา 

เป็นการยากนะที่จะก้าวข้ามพ้นความกลัว หรือขุดคุ้ยมันออกมา เพราะกลัวตัวเองเจ็บปวด แต่ถ้ากล้าเปิดแล้ว แผลนั้นจึงจะได้รับการเยียวยา และหายไป ไม่มาสร้างความรำคาญหรือเป็นตะกอนกวนจิตใจของเราอีก เพื่อนในวงสุนทรียสนทนาของเรานี่แหละที่ช่วยรักษาแผลให้เราได้ด้วยการรับฟัง หรือบางทีการเห็นแผลของคนอื่น อาจทำให้ตระหนักได้ว่าแผลของเราที่เคยคิดว่าใหญ่กลับกลายเป็นแผลเล็กไปเลย

 หลังจบกิจกรรม reflection เกิดความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น และดีใจที่ตัดสินใจถูก กล้าท้าทายตัวเอง

  เห็นพลังจากการทำ reflection เมื่อจบกิจกรรมครั้งนี้อย่างที่ไม่เคยพบมาก่อน ทำให้เรียนรู้ว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จอาจจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสามารถของตัวกระบวนกร แต่อยู่ที่พลัง ความตั้งใจของผู้ร่วมกิจกรรม ผู้นำกิจกรรมแค่มีสติ มีใจพร้อม ตั้งใจมั่น และกล้าที่จะสร้างบรรยากาศนำพาให้เกิดการเรียนรู้ ก็ช่วยได้มากพอสมควรแล้ว

หมายเลขบันทึก: 223123เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2008 14:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 03:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)
  • มาดูกระบวนกรคะ เรียนรู้สิ่งดี ๆ จะได้นำไปใช้บ้าง
  • พอนำเรื่องนี้มาเทียบกับการเรียนรู้ อ.ที่สอนเรื่องการเปิดแผลในใจ ยอมรับความอ่อนแอ ยอมเจ็บปวด และเปิดเผยมันออกมาให้คนอื่นได้เห็น จะช่วยล้างปมในใจที่เป็นสิ่งขัดขวางความก้าวหน้าทางความคิดของเรา ยากที่จะก้าวข้ามพ้นความกลัว หรือขุดคุ้ยมันออกมา เพราะกลัวตัวเองเจ็บปวด แต่ถ้ากล้าเปิดแล้ว แผลนั้นจึงจะหายไป ไม่มาสร้างความรำคาญหรือเป็นตะกอนกวนจิตใจของเราอีก

 

         

 

แวะมาเยี่ยม ชื่นชมในความงอกงามของเมล็ดพันธุ์แห่งการเรียนรู้

ยังจำได้ ครั้งหนึ่งในกิจกรรม มีใครบางคนบอกว่า "รู้สึกเหมือนถูกเปิดแผล แล้วไม่ได้รับการปิดหรือรักษา" ในที่สุดเนื้อดีก็ได้รับอ้อกซิเจนและเลือดที่มาหล่อเลี้ยง สร้างเนื้อเยื่อใหม่ที่แข็งแรงและงดงามกว่าเดิมขึ้นมาทดแทนแล้ว

  • แวะมาชื่นชมชาว inno Fa SCG ทีมอัฉริยะ ครับ

สวัสดีค่ะ คุณP  ประกาย~natachoei

ด้วยความยินดีที่จะเข้ามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันค่ะ ตอนนี้นับว่ายังเป็นมือใหม่สำหรับกระบวนกร ต้องเรียนรู้อีกมาก หลากหลายกลุ่มคนค่ะ

สวัสดีค่ะ พีดา ยินดีที่แวะมาอ่านค่ะ สรุปได้ย้อนไปไกลกว่าที่คิด ประทับใจที่พี่ยังจำประโยคนี้ได้ ขอบคุณพี่มากๆ ค่ะ

"รู้สึกเหมือนถูกเปิดแผล แล้วไม่ได้รับการปิดหรือรักษา"

เป็นความเดือดร้อนอย่างมาก ในตอนนั้น เพราะถ้าหาก ไม่ได้ไปร่วมกิจกรรมเป็นผู้สังเกตการณ์ใน รุ่น 2 ก็คงไม่ลึกซึ้งถึงวันนี้ ตอนที่ไปเรียนรุ่น 1 รู้สึกเหมือนตัวเองยังต้องค้นหาอะไรเพิ่มเติม กระวนกระวายใจกับภารกิจที่ถูกคาดหวังว่าจะกลับมาเป็นกระบวนกรได้หรือ เรียนผ่านไป 6 วันเหมือนยังว่างเปล่าดังกระบอกไม้ไผ่

แต่เมื่อกลับมา หัวหน้าพยายามที่จะเข้าใจเรา เอาใจใส่การเรียนรู้ของเรา และเปิดโอกาสให้เราได้แสดงในหลายเวที ครั้งนี้ก็เช่นกัน กลับมาเขียนบันทึกส่งให้ผู้เกี่ยวข้อง และสำเนาให้ลูกพี่ทราบด้วย พี่เขาก็ตอบให้กำลังใจด้วยความเข้าใจ เหมือนพี่ดาเลยค่ะ

แวะมารับความรู้ดีๆ ครับ

น่านำไปใช้

สวัสดีค่ะ อ.P  Panda

ขอขอบคุณ อ.มากค่ะ  ยกให้พวกเราเป็น ทีมอัจฉริยะ ด้วย รู้สึกเขินมากจริงๆ ค่ะ ต้องบอกว่า เมื่อกลุ่มที่ผ่านกระบวนการพัฒนามาด้วยกัน ธรรมชาติได้มีการคัดสรรให้คนที่ใจตรงกัน มาพบกัน และก้าวไปด้วยกัน แบบ walking together ทำให้ทีมมีพลังร่วมค่ะ

สวัสดีค่ะ P ครูโย่ง หัวหน้า~ natadee

วันนี้ยังไม่มีพื้นที่ให้จับจองนะคะ ยินดีที่บันทึกนี้จะเป็นประโยชน์ให้ท่านอื่นๆ นำไปต่อยอดได้ค่ะ

กำลังแต่งเพลงใหม่อีกหรือเปล่าคะ

ดาได้ส่งมาให้อ่าน อ่านแล้วยินดีในความก้าวหน้าครับ อา... การเริ่มกิจกรรมกับการเปราะบางของกระบวนกร ผมเขียน "ครูผู้เปราะบาง" ลงในปาจารยสารน่ะครับ พูดถึงเรื่องเดียวกันนี้เลย

เวลาเราเปราะบาง เป็นเวลาที่เราจะได้เรียนรู้อย่างประเสร็ฐที่สุดเลย เหมือนแผลที่เปิดออก เห็นเนื้อสด ๆ เช่นกัน คือมันมีโอกาสงอกงามได้

ที่เราเห็นคนอื่น ๆ เข้มแข็งน่าเกรงขาม ด้วยตำแหน่ง วิชาชีพ และอื่นใด ท่ีจริง ลึกลงไป ก็คนธรรมดา ที่เปราะบางนั้นเอง เมื่อเห็นความจริงข้อนี้ ความกลัว ความกังวล ก็ลดลง แต่หล่อเลี้ยงเอาไว้บ้าง จะเป็นไร กระบวนกรจะยิ่งใหญ่แค่ไหน หล่อเลี้ยงความประหม่าไว้หน่อย ความเปราะบางไว้หน่อย เนื้อที่มีชีวิต ย่อมจะสร้างเน้ือใหม่ได้เสมอ

เรียน อ.วิศิษฐ์ วังวิญญู

ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณพี่ดาที่ส่ง บันทึกนี้ให้อาจารย์ได้อ่านค่ะ และขอบพระคุณ อาจารย์ที่กรุณาเข้ามาให้คำแนะนำเพิ่มเติมการเรียนรู้ครั้งนี้

ด้วยความยินดีน้อมรับคำสอน และรู้สึกว่า ตัวเองไม่ค่อยนึกถึงความจริงข้อนี้เลย จะบันทึกไว้ในความทรงจำ และขอนำไปถ่ายทอดให้กระบวนกรที่ไปด้วยกันค่ะ

"ที่เราเห็นคนอื่น ๆ เข้มแข็งน่าเกรงขาม ด้วยตำแหน่ง วิชาชีพ และอื่นใด ที่จริง ลึกลงไป ก็คนธรรมดา ที่เปราะบางนั้นเอง เมื่อเห็นความจริงข้อนี้ ความกลัว ความกังวล ก็ลดลง"

ส่วนท่อนนี้ ทำให้สบายใจขึ้นมากค่ะ เพราะก่อนหน้านี้คิดว่า ทุกครั้งที่นำกิจกรรม ตัวเองต้องไม่มีความรู้สึกกลัวหรือประหม่า และพยายามจะดับลงให้ได้ โดยไปถึงสถานที่ก่อนเวลา ทำความคุ้นเคยกับห้อง และสงบสติอารมณ์

 "กระบวนกรจะยิ่งใหญ่แค่ไหน หล่อเลี้ยงความประหม่าไว้หน่อย ความเปราะบางไว้หน่อย เนื้อที่มีชีวิต ย่อมจะสร้างเนื้อใหม่ได้เสมอ"

 

ขอบพระคุณ อาจารย์ จากใจจริงค่ะ  สักวันคงมีโอกาสไปพบ พูดคุย ขอคำแนะนำเพิ่มเติม กับอาจารย์ที่เชียงรายบ้างค่ะ

สวัสดีค่ะ พี่ประกาย..พอลล่าชอบกระบวนการและวิธีการเรียนรู้แบบนี้จังเลยค่ะ ว่างๆ ไปเรียนรู้กับพี่ด้วยคนค่ะ

เข้ามาเรียนรู้ค่ะ

สิ่งที่อาจารย์เล่ามา เรียกว่า Deep listening เหรอคะ?

ขอบคุณที่แบ่งปันค่ะ

สงสัยจะมาอ่านช้าไป

แต่อ่านแล้วเหมือนชาร์ตแบตให้ตนเอง

หากจักรวาลจัดสรร คงหมุนวนมาพบกันอีกนะครับพี่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท