ฝากให้อ่าน งานคนตัวเล็กๆ


    (ลมหนาวพัดมาอีกแล้ว โอ้น้องแก้วอาบน้ำไหมนี่)

พี่น้องครับ

ถ้าสังเกตุจะเห็นอุบัติเหตุเกี่ยวกับการเรียนรู้ในสังคมไทย

มีหลายรูปแบบพลิกแพลงกันไปตามแต่จะคิดได้

บ้างก็ไปโผล่ที่ไสยศาสตร์ พยากรณ์ศาสตร์ มนต์ดำศาสตร์

ในกลุ่มพวกเราก็มีเช่นกัน..พวกเฮฮาศาสตร์ อิ อิ ..

ก็ว่ากันไปตามเจตคติของแต่ละคน

ไม่ต้องคิดมาก ..คำตอบสุดท้ายมีอยู่แล้ว

คือ..ทำยังไงมนุษย์ก็ยังโง่อยู่ดี

ดังนั้นเรามาหาวิธีอยู่กับความไม่รู้ น่าจะมีความสุขมากกว่า

นั่นคือการสันถวไมตรีกับความไม่รู้

รู้บ้าง ไม่รู้บ้าง หรือแบบพอกะเทิน ที่เพลงลูกทุ่งเขาร้อง

การเรียนมี2 รูปแบบ

แบบที่1 เรียนในระบบ ทำการบ้าน ทำวิทยานิพนธ์กันจนหัวผุ เพื่อให้สอบผ่าน หน้าดำคร่ำเครียดทั้งผู้เรียนผู้สอน ผู้ประเมิน และผู้ที่เชียร์อยู่ห่างๆ เรียนไปทุกข์ไป

แบบที่2 เรียนรู้ตามอัธยาศัย ตามความพอใจ สบายๆ สนุกกับการเรียน เขียนเล่าอย่างบรรเจิด เป็นสุข ดื่มด่ำกับการงาน ทำไปยิ้มไป เรียนไปสุขไป

ผมรู้จักสาวน้อยคนหนึ่ง เธอทำอะไรๆละเมียดละไมมาก มีความรับผิดชอบสูง พาชาวบ้านลงพื้นที่ไปเรียนรู้ในชุมชน ไปทำกิจกรรมต่างๆ ถึงเธอจะอยู่ใกล้ชิดกับกระบวนการนั้นๆ แต่เธอก็วางระยะห่างไม่ก้าวก่ายความรู้สึกนึกคิดสมาชิก การวางระยะนี้เองทำให้เธอมองเห็นสิ่งที่เป็นหัวใจของเรื่อง จดจำแล้วนำมาถอดเป็นอักษรอย่างละเอียด ผมอ่านแล้วสะกดใจไม่ไหว อยากจะให้พวกเราได้อ่าน จึงใช้อิทธิพลส่วนตัวแอบเอาบทความดีๆมาลงไว้ที่นี่ ลองอ่านดูดีไหมครับ..เผื่อพวกเราจะมีแรงบันดาลใจเหมือนสาวน้อยคนนี้  

 

   (ในภาพเป็นวัตถุหลายขาที่พัฒนาไม่สำเร็จในเมืองกรุง)

-----------------------------------------------------------------------------------------------

บ้านสามขา..ชุมชนน่ารักที่ประทับใจ

วันเสาร์ที่ ๘ พย.๕๑ ( ลงวันที่ไว้ให้เป็นประวัติศาสตร์ของตัวเอง ) ได้เวลาของความใจง่ายตามไปดูชุมชน บ.สามขาที่ลำปาง  เมื่อได้จับเข่าคุยกับคุณครูศรีนวลและน้องๆหนูๆในหมู่บ้านก็ต้องร้องในใจว่าหมู่บ้านอะไร! ชอบชะมัด

เอาประวัติสักนิดนะคะ ในอดีตก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลง (พ.ศ.อะไรก็ไม่รู้ลืมไปแล้ว) บ.สามขามีประชากรทั้งหมู่บ้าน(รวมลูกเด็กเล็กแดงแล้ว)๖๕๖ คน มีความสามารถในการสร้างหนี้สินรวมกันได้เกือบ ๒๐ ล้านบาท เฉลี่ยคนละประมาณสามหมื่น !!!!

คนที่มีอาชีพทำไร่ ไถนา ก่อหนี้ขนาดนี้ได้อย่างไร!?!?…ภาษาพระท่านเรียกว่าเกิดจากความประมาท ขาดสติค่ะ เพราะสามารถเอามาก่อนแล้วผ่อนทีหลังได้ จึงมีทั้งทีวี ตู้เย็น วีดีโอ โทรศัพท์ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ ฯลฯ ร่วมกับขาดการวางแผน วิเคราะห์การใช้จ่าย ขาดการอนุรักษ์ทรัพยากรและพลังงาน ไม่มีใครอยากพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่หรือคำนึงถึงการดำรงชีวิตด้วยความพอเพียง ทุกอย่างจึงวนเวียนเป็นวงกลมไม่รู้จบเหมือนขุดหลุมฝังตัวเองลงไปเรื่อยๆ

หลังจากปล่อยให้สารพันปัญหาขันเกลียวกันไปมาไม่ว่าจะเป็นหนี้สิน ไฟป่า ขาดแคลนน้ำ ฯลฯ ชาวบ้านก็มีโอกาสได้พบเครื่องมือชิ้นหนึ่ง ที่ช่วยไขไปสู่ปัญญา เพื่อแก้ไขปัญหาที่หมักหมมมานาน อ่านไม่ผิดหรอกค่ะ พบกุญแจไขปัญญา ที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาจริงๆ  กุญแจนั้นคือการมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมค่ายคอมพิวเตอร์ของเยาวชนและครู (นร.๖ ครู๑ ในปี๒๕๔๔)ที่ศูนย์ปฎิบัติการการสร้างสรรค์ด้วยปัญญา (Constructionism Lab ) ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคเหนือ จ.ลำปาง ค่ะ

คุณครูศรีนวลได้เล่าว่าการเข้าค่ายเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของชุมชนและเด็กๆ  ทุกคนได้รับการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ด้วยการมองภาพแบบองค์รวม มีวิธีคิดที่เป็นระบบ แบบสมเหตุผลทำให้เกิดความรู้ที่จะพัฒนาตนเองและชุมชน

การเรียนรู้ที่ได้รับเกิดเป็นการจัดการศูนย์คอมพิวเตอร์ชุมชนบ้านสามขา (Samkha Constructionism Lab ) การจัดค่ายภาษาอังกฤษ ค่ายภาษาล้านนา การจัดตั้งและจัดการธนาคารสมอง และการฝึกวิปัสสนา ฯลฯ โดยน้องๆเป็นผู้รับผิดชอบ ทำให้ผู้ใหญ่เห็น และยอมรับความสามารถของหนูๆเหล่านี้..พ่อหลวงจำนงค์จึงประกาศอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า ” เด็กรุ่นใหม่จะต้องทำนาได้และใช้คอมพิวเตอร์เป็น ” เท่ชะมัด ^ ^

การเรียนรู้แบบ Constructionism ( คิดถึงพี่สร้อยจัง ถ้าอธิบายผิดขอความกรุณาเสริมด้วยนะคะ เพราะจดและจำเอามาล้วนๆเลย ) คือทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญา เป็นการเรียนรู้ที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลางโดยผ่านการปฏิบัติจริง เพื่อให้ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้และเข้าใจในสิ่งต่างๆด้วยตนเองอย่างลึกซึ้ง อีกทั้งสามารถพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของตนด้านทักษะการใช้ชีวิต มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยี่ เป็นการส่งเสริมและปลูกฝังให้สามารถคิด วางแผนและทำงานอย่างเป็นระบบ ฝึกทักษะการแก้ปัญหา ทำงานเป็นทีมได้ดี รับผิดชอบหน้าที่ คู่ไปกับการมีคุณธรรม จริยธรรม ทำให้ผู้เรียนสามารถพึ่งพาตนเองได้และติดนิสัยใฝ่เรียนรู้ไปตลอดชีวิตค่ะ

คงพอเห็นภาพความมหัศจรรย์ของชุมชน บ.สามขานะคะ ..ที่นี่เริ่มแบบตาละปัดกับคนอื่นๆ ไปเริ่มที่การฝึกคิดโดยครูและนร.ไปเข้าค่าย และกลับมานำเสนอให้คณะกรรมการโรงเรียน คณะกรรมการหมู่บ้าน และคณะครูเห็นความสำคัญรวมทั้งฝึกใช้คอมพิวเตอร์ร่วมกันโดยเด็กๆเป็นผู้สอนและรับผิดชอบศูนย์คอมพิวเตอร์ของชุมชน ซึ่งมีเว็บไซต์ของชุมชนที่นี่ค่ะhttp://samkhaschool.haii.or.th 


ที่ชอบที่สุดคือชาวบ้านได้กลายเป็นนักวิจัย เริ่มจากวิจัยชีวิตตัวเองด้วยแบบสำรวจบัญชีครัวเรือนที่ร่วมกันคิดขึ้น และยังมีการต่อยอดจากบัญชีครัวเรือนมาวางแผนการผลิตพืชผลทางการเกษตร โดยเด็กๆมีส่วนร่วมในการค้นหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ให้ผู้ใหญ่ในชุมชนทราบว่าพืชผลทางการเกษตรชนิดใดมีราคาเท่าใด ควรผลิตเท่าใดจึงไม่เสี่ยงในการลงทุน ..น่ารักดีนะคะ ..

สรุปให้ชัดขึ้นว่าบ้านสามขาพัฒนามายังไงดีกว่า

1.    วิเคราะห์ปัญหาหนี้เสียภายในหมู่บ้าน มีการทำบัญชีรายรับ รายจ่าย มีโครงการธนาคารชุมชนบ้านสามขา-กรุงไทย

2.    อันนี้ชอบที่สุด ธนาคารสมอง ” เริ่มจากความคิดของเด็กๆนะคะ มีเป้าหมายให้ผู้ใหญ่ที่ทำประโยชน์ให้กับชุมชนกู้เงินไปใช้ประกอบอาชีพได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำหรือไม่มีดอกเบี้ยค่ะ ..ถามน้องว่าไม่กลัวหนี้สูญเหรอ น้องบอกว่าไม่กลัว เพราะเวลาที่ผู้ใหญ่กู้เงินไปทำอะไร เด็กๆจะตามไปดูและเรียนรู้ เช่นกู้ไปทำนาเด็กๆก็จะตามไปร่วมปลูก และศึกษาด้วยกันทำให้มีประสบการณ์ตรงและเห็นแนวคิด+การแก้ปัญหาของผู้ใหญ่ค่ะ

3.    เด็กๆได้ พัฒนาทักษะของการเป็นผู้เรียนที่ดี ผ่านค่ายวิปัสสนา เน้นการฝึกสมาธิ ให้มีสติ รู้จักตนเอง และลดอัตตา

4.    มีการพัฒนาทางวิชาการและภาษาต่างประเทศให้กับเด็กๆ โดยการจัดค่ายต่างๆเช่นค่ายการบ้าน ค่ายภาษาอังกฤษ ค่ายคอมพิวเตอร์

5.    รักษาภูมิปัญญาไทย สืบสานภาษาล้านนา โดยการศึกษาตำรายาสมุนไพรพื้นบ้าน จัดทำหลักสูตรท้องถิ่นในการศึกษาภาษาล้านนาและสมุนไพร ที่พัฒนาเป็น OTOP  ได้ เพราะรอบๆหมู่บ้านมีสมุนไพรเยอะมาก 

6.    เรียนรู้การจัดการข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนผ่านโครงการวิทยุชุมชน โดยเด็กๆเป็นผู้ดำเนินรายการ

7.    น้องๆและผู้ใหญ่ได้ เรียนรู้เรื่องค้าปลีก ผ่านโครงการร้านค้าชุมชน

8.    ชุมชนได้ เรียนรู้ร่วมกันในเรื่องบริหารจัดการที่พักชุมชน ผ่านโครงการ Longstay

9.    ชุมชน เรียนรู้เรื่องการจัดหาแหล่งน้ำ การฟื้นฟูป่าไม้ให้สมบูรณ์และป้องกันไฟป่า ผ่านฝายแม้ว

ถ้าไม่เห็นกับตาก็คงไม่เชื่อว่าชุมชนเล็กๆที่เคยมีหนี้สินรวมกันเกือบยี่สิบล้าน ผ่านร้อนผ่านฝน ผ่านหนาวร่วมกับการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งของพี่เลี้ยงในหลายภาคส่วน จะกลายมาเป็นชุมชนหลังเขาที่ยืนหยัดด้วยตนเองและไฮเทคที่สุดในประเทศไทยแบบนี้ได้ 

จากชุมชนบ้านสามขาก็ทำให้นึกโยงไปถึงการแก้ปัญหาแบบเดิมๆของประเทศไทยเชื่อมกับคำกล่าวของไอน์สไตน์ดังนี้ Insanity : Doing the same thing over and over again and expecting difference results. เอาให้สะใจตัวเองก็คงแปลว่า การทำสิ่งเดิมๆซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยเฝ้าหวังให้ผลลัพธ์ที่ออกมาแตกต่างจากเดิม เป็นความวิกลจริตอย่างหนึ่ง อิอิอิ  

 

หมายเลขบันทึก: 222380เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2008 13:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

สวัสดีค่ะ

  • เคยได้อ่านจากงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเล่มเล็ก ๆ มาครั้งหนึ่งค่ะ
  • วันนี้จะกลับไปอ่านอีกครั้งค่ะ
  • ชุมชนแห่งการเรียนรู้...สุดยอดค่ะ
  • ขอขอบคุณนะคะที่ได้กรุณานำสิ่งดี ๆ มาให้ได้อ่าน เพื่อจุดประกายความคิด

ขออนุญาตครับ ครูบา  ผมคิดว่า(อาจจะผิดก็ได้)ถ้าเอาชาวบ้านเป็นศูนย์กลางก็จะได้อย่างที่ครูบาเล่าให้ฟัง  ถ้าเอางบประมาณเป็นตัวตั้งก็จะเห็นอนุสาวรีย์ในหมู่บ้าน เช่น โรงปุ๋ย โรงสี ฯลฯ สร้างแล้วชาวบ้านไม่รู้จะร่วมกันใช้อย่างไร  บางทีสร้างแล้วก็ใช้ไม่ได้  ครับผม

เป็นบันทึก ที่กระชับ มีชีวิต ชีวา และสาระ น่าสนใจมากครับ อ่านเร็ว ๆ 1 รอบแล้ว จะกลับมาอ่านละเอียดอีกครั้ง

  • การบริหารจัดการชุมชนโดยนำหลักชุมชนเป็นศูนย์กลาง ก็จะทำให้ทราบถึงความต้องการ(อย่างแท้จริง)ของชุมชนนั้น ๆ
  • แต่บริหารจัดการชุมชนโดยนำเอางบประมาณเป็นหลัก หรือเอานักการเมืองท้องถิ่น(ที่หวังผลประโยชน์)เป็นหลักก็จะมีแต่ สิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ที่มีป้ายว่า สส.คนนั้น นายกคนนั้น หรือ อบต.คนนี้สนับสนุนให้เกลื่อนไปหมอ
  • เฮ้อ  เหนอะ พ่อครูฯ เนอะ
  • อิอิ

สวัสดีค่ะพ่อครู

  • ขออนุญาตยกมือสนับสนุนน้องนกด้วยคนค่ะ
  • เป็นเช่นนั้นจริง ๆ ค่ะ

สวัสดีครับท่านครูบา

บ้านสามขา เขาทำแผนชุมชนอย่างเข้มข้น

ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงมีจุดยืนชัดเจน

ท่านหนานช้างออกเวที มีเอกลักษณ์พื้นถิ่น ใช้ภาษาถิ่นในเวที

ทุกคนเข้าใจ ว่านี้คือบ้านสามเขา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท