ฮีตสิบสองคองสิบสี่


คองคือข้อกติกาของบ้านเมืองหรือสังคมมีลักษณะให้ประชาชนกระทำหรืองดเว้นกระทำผู้ใดฝ่าฝืนต้อได้รับโทษหรือถูกติเตียน คองมีทั้งของผู้ปกครองและของประชาชนและของพระสงฆ์

          

  

         คนไทยในภาคอีสานจะมีประเพณีงานบุญเป็นประจำทุกเดือนเรียกกันติดปากว่า “ฮีตสิบสอง” หมายถึงกฎระเบียบจารีตประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลานานถ้าฝ่าฝืนถือว่าเป็นความผิดความไม่ดี ฮีต ๑๒ คือประเพณีทำบุญประจำเดือนทั้ง ๑๒ เดือนแต่ละเดือนมีประเพณีดังนี้คือ

๑.   ฮีตที่ ๑ บุญเข้ากำ  เดือนอ้าย (เดือนเจียงหรือเดือนหนึ่ง) ให้ทำบุญ 

เข้ากำหรือนิมนต์ให้พระภิกษุสงฆ์เข้าปริวาสกรรมเพื่อทำให้ศีลบริสุทธิ์ 

                    เดือนอ้ายเป็นเดือนที่กำหนดให้พระภิกษุผู้ละเมิดศีลต้องอาบัติสังฆาทิเสสได้แก่แกล้งทำน้ำอสุจิเคลื่อน,จับต้องกายผู้หญิง,พูดจีบหญิง,หลอกให้หญิงยอมมีเพศสัมพันธ์กับตน,เป็นพ่อสื่อให้ชายหญิงเป็นผัวเมียกัน,สร้างกุฏิเองหรือชาวบ้านสร้างกุฏิแต่ไม่ให้สงฆ์แสดงที่ให้สร้างกุฏิ,หาเรื่องว่าพระรูปอื่นต้องอาบัติปาราชิก,ทำเลสโจทก์พระรูปอื่นด้วยอาบัติปาราชิก,ทำลายสงฆ์ให้แตกแยกกัน,เข้าข้างพระที่ลำลายสงฆ์ให้แตกกัน,ว่ายากสอนยากพระรูปอื่นห้ามไม่เชื่อฟัง,ประจบชาวบ้านหรือคฤหัส,เมื่อทำผิดข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อก็ตามให้พระภิกษุรูปนั้นเข้าอยู่ปริวาสกรรมคือขอปริวาสจากสงฆ์แล้วประพฤติวัตรจำศีลเท่ากับวันที่ปกปิด เมื่ออยู่ปริวาสครบแล้วให้ขอมานัตปฏิบัติอีก ๖ วันคืนแล้วจึงขออัพภานจากสงฆ์เพื่อทำให้พ้นอาบัติเมื่อทำแล้วถือว่าได้กลับเป็นภิกษุผู้มีศีลบริสุทธิ์สมควรอยู่ในพระพุทธศาสนาต่อไป 

                หน้าที่ของพุทธศาสนิกชนควรปฏิบัติคือนำข้าวปลาอาหารไปถวายแก่พระภิกษุผู้เข้าอยู่ปริวาสกรรมเพื่อส่งเสริมให้พระผู้ต้องการพ้นจากอาบัติมีโอกาสบำเพ็ญเพียรรักษาศีลให้กลับตนเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์อยู่ในบวรพระพุทธศาสนาสืบไป

 

 

 

              ๒. ฮีตที่ ๒ บุญคูนลาน (บุญค้ำคูนข้าว ) นิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ข้าวเปลือก เมื่อพระสงฆ์ฉันเสร็จก็ทำพิธีสู่ขวัญข้าวหมายถึงเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วก่อนนวดข้าวควรทำบุญที่ลานข้าวก่อนจึงนวดข้าว  เดือน ๒ ทำบุญที่ลานข้าว เมื่อนำฟ่อนข้าวมากองไว้ที่ลานแล้วทำบุญเพื่อให้ปีต่อไปได้ข้าวกองใหญ่มากขึ้นกว่าเดิมและเพื่อให้ครอบครัว ไร่นา วัวควาย อุปกรณ์ในการทำนาทุกชนิดเป็นสิริมงคล 

               ๓. ฮีตที่ ๓ บุญเข้าจี่ (บุญเดือนสาม) ให้ทำบุญข้าวจี่ในวันเพ็ญเดือนสาม จี่ข้าวมาใส่บาตรในตอนเช้า ถวายภัตตาหารถวายพระสงฆ์เมื่อพระสงฆ์ฉันเสร็จแล้ว ข้าวจี่ที่เหลือให้ให้แบ่งกันรับประทานถือว่าจะได้รับโชคดี ตอนค่ำมีการเวียนเทียนวันมาฆบูชาด้วย 

               เดิมทีเดือนสามอากาศหนาวชาวบ้านนั่งผิงไฟนึ่งข้าวๆใหม่ที่นึ่งหอมมากจึงเอามาจี่ข้าวกินตอนเช้าอร่อยมากและนึกถึงพระที่อยู่วัดจึงร่วมกันทำบุญข้าวจี่นำข้าวจี่ไปถวายพระสงฆ์ ต่อมาบางบ้านใช้ข้าวเขียบ (เดือนสามค้อย เจ้าหัวคอยบุญเข้าจี่ เข้าจี่บ่มีน้ำอ้อย จัวน้อยเซ็ดน้ำตา) และยังเป็นบุญวันมาฆบูชาตามทำเนียมประเทศไทย

                 ๔. ฮีตที่ ๔ บุญผะเหวด (บุญเดือนสี่) ให้ทำบุญผะเหวด หมายถึงการทำบุญฟังเทศน์มหาชาติเรื่องเวสสันดร เพราะเชื่อว่าผู้ใดฟังเทศน์มหาชาติจบในวันเดียวจดจำได้ทั้งสิบสามกัณฑ์และไม่ฆ่าพ่อตีแม่ ไม่ทำร้ายพระพุทธเจ้าอย่ายุยงให้สงฆ์แตกแยกกัน ผู้นั้นจะได้เกิดพบศาสนาของพระศรีอริยเมตไตย์

                ๕. ฮีตที่ ๕ บุญสรงน้ำหรือบุญสงกรานต์ (บุญเดือนห้า) ให้ทำบุญสรงน้ำพระพุทธรูปคือเอาพระลงมาทำบุญสรงน้ำพระพุทธรูป สรงน้ำพระสงฆ์ รดน้ำขอพรจากผู้เฒ่าผู้แก่ และเล่นสาดน้ำดำหัว  

                 ๖. ฮีตที่ ๖ บุญบั้งไฟ (บุญเดือนหก) ให้ทำบุญจุดบั้งไฟบูชาพระยาแถนเพื่อให้พระยาแถนทราบฤดูทำนาและบันดาลให้ฝนตกตามฤดูกาลเพื่อปลูกพืชพันธ์ธัญญาหาร  

                  ๗. ฮีตที่ ๗ บุญซำฮะ (บุญเดือนเจ็ด) ให้ทำบุญซำฮะหรือทำบุญเบิกบ้านได้แก่การทำบุญโดยนิมนต์พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ทำน้ำพระพุทธมนต์ใส่ในบาตรที่ศาลากลางบ้านแล้วประพรมน้ำพระพุทธมนต์ให้ทั่วหมู่บ้านเพื่อปัดสิ่งที่เป็นรังควานและขับไล่สิ่งไม่ดีไม่งามสิ่งที่เป็นเสนียดจัญไรสิ่งที่เป็นอัปปมงคลให้หมดไปจากหมู่บ้าน (ทำบุญเลี้ยงหลักบ้าน เลี้ยงผีปู่ตา) 

                   ๘. ฮีตที่ ๘บุญเข้าพรรษา (บุญเข้าวัสสาหรือบุญเดือนแปด) ให้ทำบุญถวายผ้าอาบน้ำฝนและข้าวปลาอาหารแก่พระสงฆ์ นำผ้าอาบน้ำฝน เทียนพรรษาและดอกไม้ธูปเทียนมาถวายพระสงฆ์ ที่จำพรรษาในวัดประจำหมู่บ้านของตน 

                    ๙. ฮีตที่ ๙ บุญเข้าประดับดิน (บุญเดือนเก้า) ให้ทำบุญมื้อเดือนเก้าดับโดยห่อข้าวปลาอาหาร หวานคาวคาว ด้วยใบตองกล้วยเป็นห่อๆ นำไปวางไว้ตามโคนต้นไม้ในวัดหรือบริเวณอื่นๆ ในเวลาเช้ามืดตีสามถึงตีสี่ เพื่ออุทิศให้ผีนรกที่ยมบาลปล่อยให้มาเยี่ยมญาติในโลกมนุษย์ในคืนวันเดือนเก้าดับคืนเดียวในรอบปี 

                   ๑๐. ฮีตที่ ๑๐ บุญเข้าสาก (บุญสลากภัตรหรือบุญเดือนสิบ) ให้ทำบุญสลากภัตรคือถวายภัตตาหารตามสลากแก่พระภิกษุสามเณรที่ตนจับฉลากได้ เพื่อทำให้ข้าวกล้าธัญญาหารที่ปลูกบริบูรณ์และเป็นการอุทิศส่วนบุญกุศลถึงญาติผู้ล่วงลับไป และเมื่อทำบุญเสร็จก็จะนำห่อข้าวน้อยทั้งคาวหวานไปเลี้ยงผีตาแฮกที่นาของตนด้วย 

                   ๑๑. ฮีตที่ ๑๑ บุญออกพรรษา (บุญเดือนสิบเอ็ด)ให้ทำบุญถวายภัตตาหารและปราสาทผึ้งแก่พระสงฆ์ที่จำพรรษาในวัดและถ้าหมู่บ้านที่อยู่ใกล้แม่น้ำก็จะทำการไหลเฮือไฟ บางหมู่บ้านทำบุญถวายกองอัฐบริขาร

                   ๑๒. ฮีต ๑๒  บุญกฐิน (บุญเดือน ๑๒) ให้ทำบุญกฐินเพื่อถวายผ้าไตรจีวรแก่พระสงฆ์ที่จำพรรษาถ้วนไตรมาสให้พระสงฆ์ได้เปลี่ยนผ้าไตรจีวรใหม่และถวายเครื่องอัฎฐบริขารแก่พระสงฆ์ผู้จำพรรษาในวัดนั้นๆ และวันฉลองกฐินควรมีการจุดพลุและบั้งไฟตามสมควร (โบราณสอนว่าการจุดพลุเพื่อเป็นการประกาศให้เทวดาและมนุษย์ทราบและอนุโมทนาการทำบุญกฐินของตน)

  

 

 คอง ๑๔ ของไทยอีสาน 

            คองคือข้อกติกาของบ้านเมืองหรือสังคมมีลักษณะให้ประชาชนกระทำหรืองดเว้นกระทำผู้ใดฝ่าฝืนต้อได้รับโทษหรือถูกติเตียน คองมีทั้งของผู้ปกครองและของประชาชนและของพระสงฆ์

            คองที่ ๑    เมื่อได้เข่าใหม่หรือหมากไม้เป็นหมากใหม่ ตนอย่าฟ้าวกินก่อน ให้เอาทำบุญทำทานแก่ผู้มีศีลกินก่อน แล้วตนจึงกินเมื่อภายลุนและให้แจกแบ่งแก่ญาติพี่น้องนำ(เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จนำขึ้นฉางแล้วก่อนกินต้องนำไปทำบุญก่อน ปลูกผลไม้อะไรก็ตามก่อนกินต้องนำไปทำบุญก่อน)

            คองที่ ๒  อย่าโลบล่ายตาซิงตายอย อย่าจ่ายเงินแดง อย่าแปงเงินคว้าง และอย่าก่าวคำหยาบช้าก้าแข็งต่อกัน (อย่าโกง อย่าจ่ายเก็บกินดอกเบี้ย อย่ากล่าวคำหยาบ)

            คองที่ ๓ ให่พ้อมกันเฮ็ดฮั้วต้ายหรือกำแพงล้อมวัดวาอาฮาม และบ้านเฮือนของตนแล้วปลูกหอบูชา เทวดาไว้สี่แจบ้านหรือแจเฮือนของแต่ละคน (ให้ทำรั้วบ้านรั้ววัด)

           คองที่ ๔  ให่ล้างตีนก่อนขึ้นเฮือน (ล้างเท้าก่อนขึ้นบ้าน) 

           คองที่ ๕  เมื่อเถิงวัน๗ ค่ำ ๘ ค่ำ ๑๔, ๑๕ ค่ำ ให้สมมาก้อนเส่า แม่คีไฟ แม่ขั่นได และปักตูเฮือนที่ตนอยู่อาไส (วันพระให้นำดอกไม้บูชาเตาไฟบันใดประตูบ้าน) 

           คองที่ ๖  ให่ล้างตีนก่อนเวลาจักเข้านอนตอนกลางคืนทุกคั้ง (ล้างเท้าก่อนเข้านอนทุกวัน)

           คองที่ ๗ เถิงวันสีนให้เอาดอกไม้ทูปเทียนสมมาผัวแห่งตนและให้เอาดอกไม้ทูปเทียนถวายสังฆเจ้า (วันพระให้นำดอกไม้บูชาสามีและนำดอกไม้ธูปเทียนไปถวายพระสงฆ์)

          คองที่ ๘ เถิงวันสีนดับสีนเพ็ง ให้นิมนต์พระสงฆ์มาสูดมนต์เฮือน แล้วทำบุญใส่บาด (วันเพ็ญให้ทำบุญตักบาตรปัจจุบันพระสงฆ์สวดถวายพรพระก่อนตักบาตร)

          คองที่ ๙ เมื่อภิกขุ มาบิณฑบาตรอย่าให้เพิ่นคอย เวลาใส่บาดอย่าซูนบาด อย่าซูนภิกษุสามเณร  ยามใส่บาตรอย่าใส่เกิบ อย่ากั้งฮ่ม อย่าเอาผ่าปกหัว อย่าอุ้มลูกจูงหลาน อย่าถือศัตตราวุธต่างๆ (ตอนเช้าไปคอยใส่บาตร เวลาใส่บาตรห้ามแตะบาตรพระห้ามถุกเนื้อต้องตัวพระและถอดรองเท้าขณะใส่บาตร ไม่กางร่ม ไม่เอาผ้าพันศีรษะ อย่าอุ้มจูงหลานต่อหน้าพระอย่าถืออาวุธ)

          คองที่ ๑๐ เมื่อภิกษุเข้าปริวาดสะกำให้เอาขันเข่าตอกดอกไม้ทูปเทียนและเคื่องอัฏฐปริขารไปถวายเพิ่น (นำอาหารไปถวายพระสงฆ์ที่เข้าปริวาสกรรม)

            คองที่ ๑๑ เมื่อเห็นภิกษุผ่านมา ให้นั่งลงยกมือไหว้แล้วจึงค่อยจาระจา (เห็นพระสงฆ์เดินผ่านมาให้นั่งลงยกมือไหว้)

           คองที่ ๑๒ อย่าเหยียบเงาพระภิกขุ ตนมีศีลบริสุทธิ์ (อย่าเหยียบเงาพระสงฆ์ผู้มีศีล)

           คองที่ ๑๓ อย่าเอาอาหารเงื่อนอันตนหรือคนอื่นกินแล้วไปทานให้แก่สังฆเจ้าและเอาไว้ให้ผัวกิน (อย่าเอาเศษอาหารของตนที่กินแล้วไปถวายพระ)

           คองที่ ๑๔ อย่าเสพเมถุนในวันศีล วันเข้าวัสสา วันมหาสงกรานต์ และวันเกิดของตน (อย่ามีเพศสัมพันธ์ในวันพระ วันเขาพรรษา วันสงกรานต์และวันเกิดของตนเอง)

**********

           

 สรุปคอง ๑๔ เป็นเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ๙ ข้อ และครอบครัวและสังคมอีก ๕ ข้อดังนี้

คองเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนามี ๙ คือ(๑,๓,๗,๘,๙,๑๐,๑๑,๑๒)

                คองที่ ๑    เมื่อได้เข่าใหม่หรือหมากไม้เป็นหมากใหม่ ตนอย่าฟ้าวกินก่อน ให้เอาทำบุญทำทานแก่ผู้มีศีลกินก่อน แล้วตนจึงกินเมือภายลุนและให้แจกแบ่งแก่ญาติพี่น้องนำ

                คองที่ ๓ ให่พ้อมกันเฮ็ดฮั้วต้ายหรือกำแพงล้อมวัดวาอาฮาม และบ้านเฮือนของตนแล้วปลูกหอบูชา เทวดาไว้สี่แจบ้านหรือแจเฮือน(ของแต่ละคน)

               คองที่ ๗ เถิงวันสีนให้เอาดอกไม้ทูปเทียนสมมาผัวแห่งตนและให้เอาดอกไม้ทูปเทียนถวายสังคะเจ้า

               คองที่ ๘ เถิงวันสีนดับสีนเพ็ง ให้นิมนพระสงมาสูดมนเฮือน แล้วทำบุญใส่บาด

               คองที่ ๙ เมื่อพิกขุ มาบินทะบาดอย่าให้เพิ่นคอย เวลาใส่บาดอย่าซูนบาด อย่าซูนภิกษุสามเณร  ยามใส่บาตรอย่าใส่เกิบ อย่ากั้งฮ่ม อย่าเอาผ่าปกหัว อย่าอุ้มลูกจูงหลาน อย่าถือศัตตราอาวุธต่างๆ

               คองที่ ๑๐ เมื่อพิกขุเข่าปริวาดสะกำให้เอาขันเข่าตอกดอกไม้ทูปเทียนและเคื่องอัฏฐปริขารไปถวายเพิ่น

              คองที่ ๑๑ เมื่อเห็นภิกษุผ่านมา ให้นั่งลงยกมือไหว้แล้วจึงค่อยจาระจา

              คองที่ ๑๒ อย่าเหยียบเงาพระภิกขุ ตนมีศีลบริสุทธิ์

คองที่เกี่ยวกับครอบครัวและสังคมมี ๕ คือ(๒,๔,๕,๖)

             คองที่ ๒  อย่าโลบล่ายตาซิงตายอย อย่าจ่ายเงินแดง อย่าแปงเงินคว้าง และอย่าก่าวคำหยาบช้าก้าแข็งต่อกัน

             คองที่ ๔  ให่ล้างตีนก่อนขึ้นเฮือน

             คองที่ ๕  เมื่อเถิงวัน ๗ ค่ำ ๘ ค่ำ ๑๔, ๑๕ ค่ำ ให้สมมาก้อนเส่า แม่คีไฟ แม่ขั่นได และปักตูเฮือนที่ตนอยู่อาไส

             คองที่ ๖  ให่ล้างตีนก่อนเวลาจักเข้านอนตอนกลางคืนทุกคั้ง

 

                                          *********************

 คอง ๑๔ ของพระสงฆ์

         คองที่ ๑ ให้สังฆเจ้าสูตรเฮียนธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าและฮักษาศีล ๒๒๗ อย่าให้ศีลด่างพร้อยหรืออย่าให้ศีลขาด (พระสงฆ์ต้องท่องสวดมนต์และเรียนคำสอนของพระพุทธเจ้ารักษาศีลให้บริสุทธิ์)

         คองที่ ๒ ให้บัวระบัติกุฏิวิหาร ปัดตาดกวาดถู อย่าให้วัดเศร้าหมอง (ปัดกวาดกุฏิและลานวัด)

         คองที่ ๓ ให้ปฏิบัติจัดทำไปตามศรัทธาชาวบ้านนิมนต์มีการให้ทานบวชหดเป็นต้น

         คองที่ ๔ เถิงเดือนแปดให้เข้าวัสสาตลอดสามเดือนถึงเดือนสิบเอ็ดเพ็ง แต่เดือนสิบเอ็ดแฮมค่ำหนึ่งไปหาเดือนสิบสองเพ็ง ให้ฮับผ้ากบิน ฮักษาคองผ้าเถิงสี่เดือน

         คองที่ ๕  ออกวัสสาแล้ว ฤดูหนาว ภิกขุสังฆเจ้าเข้าปริวาสกรรม

         คองที่ ๖ ให้เที่ยวบิณฑบาตตามบ้านน้อยบ้านใหญ่อย่าได้ขาด

         คองที่ ๗ ให้สูตรมนต์ภาวนาทุกคืนวันอย่าได้ขาด

         คองที่ ๘ เถิงวันศีลดับ ศีลเพ็ง ให้ประชุมกันทำอุโบสถสังฆกรรมอย่าขาด

         คองที่ ๙ เถิงเทศกาลปีใหม่(ปีใหม่คือวันสงกรานต์อีสานถือว่าสงกรานต์คือปีใหม่)ให้ทายกไหว้ขี่วอ แห่น้ำไปสรงพระพุทธรูป พระธาตุเจดีย์ ฯลฯ

             (ตั้งแต่โบราณมาคนอีสานถือว่าสงกรานต์เป็นวันปีใหม่ วันปีใหม่วันที่ ๑๓ อัญเชิญพระพุทธรูปลงมาให้ชาวบ้านสรงน้ำพระพอถึงเวลาบ่ายก็สรงน้ำพระพุทธรูป จากนั้นก็เล่นสาดน้ำสงกรานต์ วันที่ ๑๔ ตอนบ่ายสงน้ำพระภิกษุสามเณร วันที่ ๑๕ สรงน้ำคนมีอายุป่ตาย่ายายขอพร แล้วเล่นสนุกสนานสาดน้ำถึงค่ำแล้วก็ถือว่าจบสิ้นสงกรานต์...ส่วนการอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นไว้ที่บูชาแต่เดิมจะทำเดือน ๖เพ็ญหรือแล้วแต่ชาวบ้านเห็นดีงามว่าวันใด)

         คองที่ ๑๐ สังกาศปีใหม่(วันสงกรานต์) พระเจ้ามหาชีวิต(ผู้นำหมู่บ้าน) ไหว้พระ ให้สรงน้ำในพระราชวัง(หรือหมู่บ้าน)และบาศรีสังฆเจ้า

          คองที่ ๑๑ ศรัทธาชาวบ้านนิมนต์สิ่งใด อันบ่ผิดคองวินัยก็ให้ปฏิบัติตาม

          คองที่ ๑๒ เป็นสมณะให้พร้อมกันที่สร้างวัดวาอาฮามพระธาตุเจดีย์

          คองที่ ๑๓ ให้ฮับทานของทายกคือสังฆภัตร สลากภัตรเป็นต้น

          คองที่ ๑๔ พระราชา ข้าราชการมีศรัทธานิมนต์มาประชุมกันในสิมแห่งใดแห่งหนึ่งในวันเดือนสิบเอ็ดเพ็งเป็นกาลอันใหญ่ อย่าได้ขัดขืน

           หมายเหตุ : ผู้เขียนไม่ได้นำคองของพระราชาหรือเจ้าเมืองเจ้าบ้านหรือคองของผู้นำทางสังคมมาลงไว้เพราะเห็นว่าหนังสือทั่วไปก็นำมาเขียนไว้มากแล้วหาอ่านได้ง่าย

             ส่วนฮีต ๑๒ อาจมีความแตกต่างจากหนังสือประเพณี ๑๒ เดือนของภาคกลางอยู่บ้างก็ถือว่านี้คือคนอีสานเดิม

 

หมายเลขบันทึก: 220744เขียนเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2008 18:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 03:16 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ผ่านมาเยี่ยม...

ประมาณยี่สิบปีก่อน เคยอยู่ร่วมบุญข้าวจี่ ทำให้รู้ว่า ข้าวจี่ ต้องฉันร้อนๆ พอเย็นแล้วแข็ง ไม่น่าฉัน...

เรื่อง บุญผะเหวด เคยนำมาอ้างถึงความมั่นคงของพระพุทธศาสนาในเมืองไทย (คลิกที่นี้)

  • ภาคเหนือถิ่นไทยงาม อีสานถิ่นไทยดี ปักษ์ใต้ถิ่นไทยรวย ภาคกลางถิ่นจอมไทย...

ท่านพระครูฯ รูปหนึ่งเคยอธิบายให้ฟังที่อีสาน ซึ่งอาตมาก็เห็นด้วยว่า คนอีสานเป็นคนดีจริงๆ... แต่ก็ไม่เห็นด้วยว่าคนปักษ์ใต้จะเป็นคนรวยจริงๆ (.....)

เจริญพร

 

อ่านแล้วดีมาก หาอ่านยาก ขอบคุณมากๆ

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท