ชีวิตสาธารณะ : ทำงานให้แก่ มสช.


         วันนี้ (๓๐ มีค. ๔๙) ไปร่วมประชุมสามัญประจำปี ๒๕๔๙ ของ มสช. (มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ)     มี ศ. นพ. ประเวศ วะสี เป็นประธาน   กรรมการได้แก่  ศ. นพ. อารี วัลยะเสวี (รองประธาน),  นพ. หทัย ชิตานนท์,  นพ. มรกต กรเกษม,  นพ. สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ,  นพ. ชูชัย ศุภวงศ์,  ศ. นพ. ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล,  คุณชูสะอาด กันธรส (กรรมการและเหรัญญิก),  นพ. สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ (กรรมการและเลขานุการ)  และผม    ส่วนกรรมการที่ไม่ได้มาประชุมได้แก่  ศ. นพ. ธาดา ยิบอินซอย,  และ ดร. สุทธิลักษณ์ สะมิตะสิริ

         มสช. เป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ ที่มุ่งทำงานวิชาการ สร้างสรรค์ปัญญาเพื่อขับเคลื่อนสังคม เพื่อสุขภาพ    ตามทฤษฎีสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา    มุ่งสร้างผลงานที่มีคุณภาพสูงให้แก่สังคม    ทำงานแบบมีประสิทธิผลสูงอย่างมืออาชีพคล้ายภาคธุรกิจเอกชน แต่ไม่มุ่งกำไร    ไม่มีการปันผลกำไรแบบธุรกิจ    และกรรมการมาทำงานแบบอาสาสมัคร ไม่มีรายได้     แต่เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิมีเงินเดือนที่พอสมควรให้อยู่ได้ และดึงดูดคน (ดีและ) เก่งไว้ได้ 

         ในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมา ที่หมอสมศักดิ์เข้ามาเป็นเลขาธิการ หรือซีอีโอ ของ มสช. กิจการขยายตัวขึ้นมาก    มีผลงานดีๆ มากมาย     และได้รับความไว้วางใจให้ทำงาน หรือบริหารโครงการพัฒนาหรือวิจัยมากขึ้น    มองเชิงการเงิน มสช. มีขนาดของการดำเนินการเพิ่มขึ้นมาก    โดยในปี ๒๕๔๘ ใช้จ่ายเป็นค่าบุคลากร ร้อยละ ๓๗ ของเงินค่าใช้จ่ายด้านการบริหารจัดการทั้งหมด    ถือได้ว่าเวลานี้ มสช. เป็นองค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ที่สังคมยอมรับสูงมาก ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ด้วยฝีมือการทำงานของหมอสมศักดิ์เป็นหลัก

         ในการทำงานสาธารณะ มีคนเตือนไว้ว่าต้องระมัดระวัง ๒ เรื่องใหญ่ๆ คือเรื่องเงิน กับเรื่องชู้สาว    มูลนิธิที่ดีต้องมีระบบบัญชีและการเงินที่รัดกุม และโปร่งใส    วันนี้เราพิจารณาและรับรองเรื่องบัญชีเป็นหลัก    มีบัญชีให้รับรองถึง ๑๘ บัญชี    ผมบอกตัวเองว่าเราน่าจะภูมิใจมาก ที่ได้ร่วมกันทำงานอาสาสมัครเพื่อสังคมอย่างมีคุณภาพแบบมืออาชีพ และตรวจสอบได้

         ในการ ลปรร. ลงไปในรายละเอียดของการทำงานของโครงการ HPP (นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ)    ผมได้เรียนรู้จากประธาน ว่าการทำงานเชิงพัฒนาในองค์กรใหญ่ๆ  จะมีปัญหาหลักๆ ๓ อย่าง คือ (๑) ด้านโครงสร้าง   (๒) มีงานล้นมืออยู่แล้ว  และ (๓) ความเคยชินต่อการทำงานแบบเดิมๆ   จึงต้องการตัวช่วย  ที่เป็นอิสระ เล็ก และไม่ต้องการผลตอบแทนของตน    นี่คือช่องว่างที่ต้องการหน่วยงานแบบ มสช. เข้าไปเสริม เพื่อทำประโยชน์ให้แก่สังคม

         พอหมอสุวิทย์เข้ามาในห้องประชุม ก็มีเรื่องแทรกเข้ามาว่า เรื่องอาหารเป็นพิษ โบทูลิสซึ่ม ที่ จ. น่าน   บุคคลสำคัญในการติดต่อขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศคือหมอสุวิทย์    ได้ช่วยประสานงานขอซีรั่มแก้พิษ (แอนตี้ท็อกซิน) มาจาก อังกฤษ   CDC (อเมริกา)  และญี่ปุ่น    น่าชื่นชมมาก    ประธานบอกว่าการเกิดอาหารเป็นพิษหมู่ที่น่าน เป็นโอกาสในการทำ policy advocacy เรื่องอาหารปลอดภัย

         นพ. หทัย ย้ำการทำ Negative advocacy  เช่นกรณีนายกไปกิน Kentucky Fried Chicken กับลูก  มีภาพถ่ายลง นสพ.   ควรมีคนโทรศัพท์ไปต่อว่านายก    หรือเขียนต่อต้านพฤติกรรมของคนที่เป็น public figure ที่เป็นผลลบต่อการขับเคลื่อนนโยบายอาหารปลอดภัย    และนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพอย่างอื่น

         ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการให้ซ่อมหรือสร้างอาคารใหม่ตรงอาคารไม้ซึ่งเก่ามาก อายุกว่า ๔๐ ปี    ในวงเงินไม่เกิน ๑๐ ล้าน    เรียกชื่อว่า “บ้านสดศรี” โดย สคส. อาจย้ายมาอยู่ที่นี่    (สวนร่มรื่นมาก ผมชอบบรรยากาศ) 

         มีการหารือเรื่องการใช้สถานที่ของมูลนิธิในการแถลงการณ์ของแพทย์อาวุโส เรียกร้องให้นายกทักษิณลาออก    อาจเป็นการเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง    ซึ่งไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ ซึ่งระบุในตราสารว่าไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง   แต่ก็มีคนเห็นว่าการใช้สถานที่ดังกล่าวเป็นการเตือนสติสังคม    เป็นการเกี่ยวกับการเมืองภาคประชาชน    ไม่ใช่การเมืองแบบรัฐสภา/พรรคการเมือง ตามความหมายของคำว่า “การเมือง” ในความหมายเดิมในกฎหมายเกี่ยวกับมูลนิธิ    และในการใช้สถานที่ครั้งที่แล้ว ถือว่า มสช. รับใช้แพทย์อาวุโส ที่เป็นที่เคารพในสังคม ให้ใช้เป็นสถานที่แถลงการณ์เตือนสติสังคม

         การที่ชีวิตของผมโคจรมาร่วมงานกับกรรมการมูลนิธิตามรายชื่อข้างต้น เพื่อทำงานอาสาสมัครเพื่อสังคม  ถือเป็นบุญ เป็นมงคล    คือการคบบัณฑิต  
    

วิจารณ์  พานิช
๓๐ มีค. ๔๙

คำสำคัญ (Tags): #สุขภาพ
หมายเลขบันทึก: 21853เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2006 08:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท