เรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน


จากบทความของ เรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนของ อาจารย์ ปราโมทย์ นาครทรรพ ที่ผมเห็นว่ามีความน่าสนใจ ลองช่วยกันพิจารณา

 

ผม ไปร่วมสัมมนากับแกนนำทั้งสี่ของพันธมิตรฯ มาสองครั้ง ครั้งที่สามตั้งใจจะไม่ไป ทั้งที่ทั้งสองครั้งที่ผ่านมาไปได้ประโยชน์และได้เรียนรู้ทุกครั้ง รวมทั้งเรียนรู้ถึงข้อจำกัดของเวลา สถานที่ และองค์ประกอบของผู้เข้าร่วมสัมมนา ซึ่งเป็นเหตุให้การสัมมนานั้นเกิดผลสมบูรณ์ยังมิได้
       
       แต่แกนนำและผู้เข้าร่วมสัมมนาต่างก็ตระหนักดี และยอมรับว่านี่เป็นความเห็นเบื้องต้นว่า มิติต่างๆ ของการเมืองใหม่ที่อยากเห็นควรจะเป็นอย่างไร มิใช่ปรมัตถสัจจะหรือข้อยุติที่พันธมิตรฯ จะยัดเยียดให้กับสังคมไทย เพราะในที่สุดแล้ว การเมืองใหม่ต้องเน้นที่ขบวนการและการมีส่วนร่วมของประชาชน มิได้ขึ้นอยู่กับการผูกขาดของแกนนำหรือพันธมิตรฯ แต่ฝ่ายเดียว
       
       เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่พันธมิตรฯ หยิบยกขึ้นมา คือเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งแกนนำและผู้ที่เข้าร่วมสัมมนาต่างก็มีประสบการณ์อย่างกว้างขวาง ภายใต้บริบทของสังคมไทยและเหตุการณ์หรือข้อเท็จจริงที่แต่ละคนได้ประสบมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเคลื่อนไหวร่วมกับองค์กรเอกชนและประชาชนในการคัดค้านหรือเรียกร้องสิทธิ มนุษยชนของราษฎรที่ถูกลิดรอนโดยโครงการของรัฐบาล
       
       แต่นั่นก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการมีส่วนร่วมด้านลบ หรือการต่อสู้โครงการหรือการกระทำเชิงลบของนายทุนหรือรัฐบาลที่ไม่เป็นธรรม ต่อท้องถิ่นหรือประชาชน หรือไม่ก็การกระทำในด้านลบของรัฐบาลที่เป็นผลเสียหายต่อสังคม ประเทศชาติหรือระบบการเมือง เช่น การประท้วงในเรื่องต่างๆ รวมทั้งการชุมนุมของพันธมิตรฯ เป็นต้น
       
       ผมได้เคยเขียนบทความเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนไว้ ทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ครั้นจะยกมาเล่าให้ที่สัมมนาฟัง เพื่อจะให้เกิดความเข้าใจในแนวความคิดทั้งกว้างและลึกถึงกรณีการมีส่วนร่วม ต่างๆ ทั้งด้านลบและด้านบวกหรือแนวทางสร้างสรรค์ซึ่งน่าจะจำเป็นหรือพึงปรารถนา สำหรับสังคมไทย แต่ข้อจำกัดเรื่องเวลาและวิธีการจัดสัมมนาในครั้งนั้น ไม่เอื้ออำนวยให้กระทำได้
       
       ผมจึงตั้งใจว่า ในครั้งที่ 3 ซึ่งผมขัดข้องไปร่วมสัมมนาด้วยไม่ได้ ก็จะมอบข้อเขียนนี้ไปเพื่อประกอบการพิจารณา ก่อนหรือหลัง หรือในระหว่างการสัมมนาก็สุดแล้วแต่ความเหมาะสม
       
       ผมขอตั้งข้อสังเกตไว้เสียก่อนว่า แนวความคิดเรื่องการมีส่วนร่วมในบ้านของเรายังแคบเกินไป ส่วนมากจะพูดถึงกันอยู่แต่การมีส่วนร่วมในทางการเมืองบางอย่าง เช่น สิทธิในการเลือกตั้ง หรือไม่ก็การตรวจสอบรัฐบาล และการชุมนุมประท้วงคัดค้านต่างๆ ถึงแม้ผู้เข้าร่วมสัมมนาที่เป็นนักวิชาการจะขยายแนวความคิดให้ครอบคลุมการมี ส่วนร่วมทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมก็ตาม ก็ยังจำกัดอยู่กับด้านลบที่กล่าวมาแล้วข้างต้นเป็นส่วนมาก
       
       ผมมีเวลากล่าวย่อๆ ในที่สัมมนาว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนจะต้องมีทั้งด้านลบและด้านบวก คือมีทั้งการต่อต้านคัดค้านหรือสร้างสรรค์ เป็นเรื่องที่กระทำเป็นครั้งคราวหรือเป็นกิจวัตรก็ได้ แต่การกระทำเป็นกิจวัตรจะเป็นสิ่งที่สร้างสรรค์มากกว่า สามารถกระทำได้ในโครงสร้างทุกประเภทของสังคม คือ โครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษา ฯลฯ เรียกว่า การมีส่วนร่วมในโครงสร้าง
       
       การมีส่วนร่วมในโครงสร้างหรือระดับโครงสร้างนี้ ขึ้นอยู่กับฐานะและความสามารถของประชาชนที่จะ เข้าถึง และ เข้าร่วม ทั้ง ในแนวตั้ง และ แนวนอนรัฐบาลหรือการบริหารที่ดีจะต้องเปิดโอกาสให้ประชาชน เข้าถึง อย่าง ทั่วถึง และมีโครงสร้างหรือกฎเกณฑ์ ที่จะให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างถาวร ทั้งในแนวตั้ง และ แนวนอน ดังที่กล่าวมาแล้ว
       
       การมีส่วนร่วม ในแนวนอน จะมองเห็นง่ายขึ้น ถ้าหากเอาอาณาเขต หรือพื้นที่ หรือ ท้องถิ่น มาเป็นเกณฑ์หรือตัวจำกัดของการมีส่วนร่วม อาณาเขตนี้จะเล็กหรือใหญ่ จะเป็นเมืองหรือชนบท จะเป็นลำดับของหน่วยการปกครองการบริหารอย่างใดก็ตามแต่ เช่น ตำบล เทศบาล จังหวัด หรือนครหลวง เป็นต้น แต่แท้ที่จริงการมีส่วนร่วม ในแนวนอน จะเป็นอาณาเขตหรือพื้นที่เชิงวิเคราะห์ก็ได้ เป็นต้นว่า เป็นผู้มีรายได้น้อยระดับเดียวกันในพื้นที่ต่างๆ กัน เป็นต้น
       
       ผมอดที่จะเล่าไม่ได้ว่านายบารัค โอบามา ซึ่งเฉียดจะได้เป็นประธานาธิบดีผิวดำของสหรัฐอเมริกาอยู่จะรู้กันวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้ เป็นยอดนักเรียนและนักเคลื่อนไหวเรื่องการมีส่วนร่วม ต้นทุนสำคัญที่สุดที่เขามาไกลได้ถึงเพียงนี้ ก็คือความเก่งไร้เทียมทานของเขาในเรื่องนี้
       
       การมีส่วนร่วมอีกประเภทหนึ่ง ก็คือการมีส่วนร่วมใน นโยบาย หรือ ปัญหาหรือ ประเด็น ต่างๆ ในสังคมหรือโครงสร้างต่างๆ ของสังคม เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องทรัพยากรธรรมชาติ เรื่องการกระจายรายได้ เรื่องโอกาสในการศึกษาและประกอบอาชีพของผู้ด้อยโอกาส หลายเรื่องของการมีส่วนร่วมประเภทนี้คนไทยเข้าใจดี เช่น การประท้วงวางท่อก๊าซ การประท้วงการเวนคืน การประท้วงเขื่อนปากมูน เป็นต้น
       
       นอกจากนั้น ยังมีการมีส่วนร่วมพิเศษเป็น บางเวลา บางเรื่องที่ขึ้นกับ เหตุการณ์และ สถานการณ์ หรือ กลุ่มบุคคลเช่น ประท้วงการเลือกตั้ง การชุมนุมของพันธมิตรฯ ประท้วงการค้าเสรีในสหรัฐฯ ประท้วงกล้วยไข่ถูกที่กำแพงเพชร ประท้วงนายกรัฐมนตรีสามหาว ฯลฯ เหล่านี้ เป็นต้น
       
       ผมมิได้อธิบายปรัชญาของการมีส่วนร่วมว่า ต้องมีเสรีภาพ สาธารณประโยชน์และความเป็นธรรมในสังคมเป็นเป้าหมาย และยึดมั่นในการเทิดทูนความเป็นมนุษย์ของทุกคน ฉะนั้น คนทุกคนควรได้รับโอกาสที่จะเป็นอะไรก็ได้ที่เขาสามารถและอยากเป็น โดยรัฐจะต้องส่งเสริมและไม่กีดกัน “Let each becomes all he is capable of being” นี่คือหลักที่มีค่าเหนือกว่าการมีส่วนร่วมแค่ 4 นาทีในการหย่อนบัตรเลือกตั้ง
       
       ผมได้ยกตัวอย่างที่สังคมอาจจะมองไม่เห็นว่า การปิดกั้นอาชีพโดยการออกกฎหมายผูกขาด เช่น ระบุว่าผู้จบรัฐศาสตร์หรือนิติศาสตร์เท่านั้นจึงจะเป็นปลัด อบต.ได้ต้องถือว่าเป็นความเขลาและเห็นแก่ตัวอย่างยิ่งของผู้ออกกฎหมาย การเรียนจบรัฐศาสตร์หรือนิติศาสตร์หาใช่สิ่งจำเป็นหรือคุณสมบัติพิเศษในการ ปฏิบัติหน้าที่ปลัด อบต.ไม่ ถ้าหากปลัด อบต.สามารถบรรจุปริญญาตรีอะไรก็ได้ เช่น สาธารณสุข เภสัชฯ วิศวะ เกษตร อาหารและโภชนาการ พลศึกษา สันทนาการ และท่องเที่ยว ฯลฯ นอกจากจะสร้างความหลากหลายทางอาชีพให้กับท้องถิ่นแล้ว ปฏิสัมพันธ์เชิงปฏิบัติการและวิชาการระหว่างประชาชนกับปลัด อบต.จะขยายผลทางคุณภาพและปริมาณของการมีส่วนร่วมเป็นอย่างมาก
       
       ผมดีใจที่สุดที่คุณบรรจง นะแส ผู้ประสานงานองค์กรเอกชนฯ ภาคใต้เสนอว่าการปกครองส่วนภูมิภาคเป็นอุปสรรคต่อการมีส่วนร่วม สมควรพิจารณายกเลิก ผมเคยเขียน พูดและเสนอเรื่องนี้มานานแล้ว แต่ไม่เห็นด้วยที่จะให้เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด หากสมควรเกลื่อนกลืนจังหวัดให้เป็นเทศบาลไปเรื่อยๆ แล้วปรับปรุงการปกครองท้องถิ่นให้เป็นการปกครองท้องถิ่นที่แท้จริง
       
       ข้อหนึ่งใน “วาระแห่ง (การกู้) ชาติ” เมื่อ 3 ปีมาแล้ว ผมเขียนว่า
       “ 6. ต้องเริ่มแปรหรือเปลี่ยนระบบบริหารราชการแผ่นดินแบบรวมศูนย์รวบอำนาจขึ้น อยู่กับส่วนกลางและตัวแทนในการปกครองภูมิภาค แต่ต้องเข้าใจและแก้ไขความอ่อนแอและคดโกงของระบบท้องถิ่นที่สมคบและทำตามคำ สั่งของอำนาจการเมืองส่วนกลาง ทั้งสองระบบนี้รักษาไว้ไม่ได้ แต่เปลี่ยนแปลงอย่างไรและเมื่อใดเป็นเรื่องที่จะตอบได้ด้วยการศึกษาและ ปัญญา”
       
       ในปี 1967 ผมได้เขียนเรื่องรูปแบบและระดับของการมีส่วนร่วมขึ้นเป็นภาษาฝรั่ง ใช้รูปกล่องสี่เหลี่ยมแปดมิติประกอบคำอธิบายไล่ๆ กันมาอีก 2-3 ปีมีนักวิชาการอเมริกันคนหนึ่ง คงต้องเรียกร้องความจำชื่อเธอสักพัก เสนอเปเปอร์เรื่อง บันไดแปดขั้นของการมีส่วนร่วม ซึ่งไม่ต่างกับของผมมากนัก
       
       ขอเสนอคำกลอนสังเคราะห์เรื่องการมีส่วนร่วมแบบไทยๆ ของผมก่อน ดังต่อไปนี้
       
       1. จัดตั้ง หวังครอบ ชอบปลุกปั่น       สัญญา พล่อยๆ เหมือนอ่อยเหยื่อ
       
       2. ส่งข่าว ไม่แจ้ง แหล่งคลุมเครือ     ประชุมบ่อย เป็นเบื้อ เฝือกรรมการ
       หลอกล่อ เอาใจ ให้ตำแหน่ง            หวังแบ่ง หวังแยกให้แตกฉาน
       คือส่วนร่วม ตามคำสั่ง รัฐบาล           มาตรฐาน กำมะลอ ขอไปที
       
       3. เมื่อท้องฟ้า สีทอง ผ่องอำไพ        รัฐราษฎร์ ร่วมใจ เป็นน้องพี่
       มอบอำนาจ ให้ราษฎร์ ด้วยยินดี        ทุกอย่างมี ประชาชน เป็นคนคุม
       
       


       

       


       ดูรูปทั้งสองแล้ว ท่านผู้อ่านอยากสนุก โปรดกรุณาใช้ความคิดและหาตัวอย่างเอาเอง ผมเชื่อว่าท่านจะต้องคิดตัวอย่างของไทยออกมากมาย และจะเกิดความเข้าใจว่าต่อไปบ้านเมืองของเราควรจะมีส่วนร่วมอย่างไร
       
       ท่านผู้อ่านที่เคารพ ท่านเชื่อฝรั่งหรือนักวิชาการทาส หรือว่าสยามของเราอยู่รอดมาเกือบพันปีด้วยอำนาจและการบังคับขับไสเป็นใหญ่ อำนาจอะไรจึงจะยืนยงปานนั้น หากมิใช่ทศพิธราชธรรมและความร่วมมือร่วมใจของปวงประชาราษฎร ถ้าไม่ใช่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่จะต้องเรียกได้ว่าสามัคคี ประชาธิปไตย
       
       การมีส่วนร่วมของปวงชนอันมีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงทศพิธราชธรรมเป็น ประมุขนี้ คือราชประชาสมาสัย หรือประชาธิปไตยที่แท้จริงและล้ำเลิศของไทย
       
       เราจงช่วยกันสร้างให้สำเร็จ

อ้างอิง http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9510000116499

ความคิดเห็น ผมเห็นด้วยกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกด้านและเชื่อในทศพิธราชธรรมไม่อย่างนั้นประเทศเราจะอยู่มาได้อย่างไรจนถึงทุกวันนี้ เราต้องไม่ลืมความเป็นมาเป็นไปของประเทศ

 

หมายเลขบันทึก: 213398เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2008 06:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 14:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ร่วมกันสร้างการเมืองใหม่ เอาคนดี มีจริยธรรมเข้าสู่การปกครองบ้านเมืองครับ

ร่วมมือ ร่วมใจ เลือกคนดีมีจริยธรรมมาบริหารประเทศ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท