เรื่องหมูๆ ที่ต้องระวัง


ได้เข้าฟังการนำเสนอเรื่อง การพิสูจน์เอกลักษณ์เชื้อ Streptococcus suis ในปัจจุบัน (An update on Streptococcus suis identification) และอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้มาบ้าง เห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ จึงนำมาฝากเพื่อเตือนๆกัน โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานหรือเกี่ยวข้องกับหมู หรือแม่บ้านพ่อบ้านที่ปรุงอาหารจากเนื้อหมู จักได้เข้าใจและใส่ใจระมัดระวังเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

เชื้อแบคทีเรีย S. suis อาจอยู่เป็นเซลเดี่ยว เป็นคู่ๆ หรือ เป็นสายสั้นๆ
(Figure Source: http://www.cdc.gov/eid/content/14/1/183.htm)

การระบาดของเชื้อนี้ (S. suis) ในคนนั้นไม่ธรรมดา แต่เมื่อสาม-สี่ปีที่ผ่าน (ก.ค. 2548) เกิดระบาดใหญ่ในจีน (มณฑลสีฉวน) มีผู้ติดเชื้อมากถึง 204 คนและเสียชีวิต 38 คนในครั้งเดียว และนี่ไม่ใช่ครั้งแรก เคยเกิดมาแล้ว 2 ครั้ง (แต่จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตน้อยกว่า ใน 2541และ 2542) การที่มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมากในการระบาดครั้งล่าสุด ก็กำลังสงสัยว่าเชื้อมันร้ายกาจขึ้นกว่าเดิมหรือเปล่า ก็เป็นเรื่องที่กำลังศึกษาว่าอะไรที่ทำให้เชื้อนี้มันมีพิษสงมาก
เชื้อนี้พบได้ทั่วโลก จริงๆแล้วการติดเชื้อในคนมีรายงานครั้งแรกที่ประเทศเด็นมาร์ก จากบทความปริทัศน์ (พ.ศ. 2550) ผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น 409 คน เสียชีวิตประมาณ 18 เปอร์เซ็นต์ ยอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ (~90%) อยู่ในสามประเทศ คือ จีน ไทย และฮอล์แลนด์ (ติดเชื้อ 69%, 11.5%, และ 8.3% ตามลำดับ) 

ภาพจำนวนผู้ติดเชื้อในมณฑลสีฉวน ในพ.ศ. 2548 A.จำนวนที่รายงานทั้งหมด ส่วน B จากห้องปฎิบัติการ 66 แห่ง (Source: CDC)

ในไทยพบการติดเชื้อเช่น ที่พะเยา เชียงใหม่ เป็นต้น จำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อสูงสุดถึง 26เปอร์เซ็นต์ การติดเชื้อเกือบทั้งหมดมีประวัติเกี่ยวข้องกับหมู นั่นคือเป็นโรคที่คนติดต่อจากสัตว์ อาการโรคจะคล้ายกับการติดเชื้อในหมู คือ ส่วนใหญ่เป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (72.5%) รองมาคือติดเชื้อในกระแสเลือดและช็อค (24.2%) แต่อาการอื่นเช่น ข้ออักเสบ หัวใจอักเสบ ปอดบวม ตาอักเสบ เป็นต้น ก็สามารถเกิดได้ ลักษณะสำคัญอีกอย่างคือ ภายหลังการติดเชื้ออาจมีการสูญเสียการได้ยินหรือการทรงตัวผิดปกติ ดังนั้นอาการติดเชื้ออาจแสดงอาการ ไข้ขึ้นสูง ปวดหัว หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน มึนหัว นอกจากนี้อาจมีอาการอื่นร่วมอีกเช่น สูญเสียการได้ยิน โคมา คอแข็ง รอยเลือดออกใต้ผิวหนัง ปวดข้อ เป็นต้น ในรายที่เข้าลักษณะการช็อคเนื่องจากติดเชื้อในกระแสเลือด อาจมีอาการความดันต่ำ ชีพจรเต้นช้า ตับทำงานผิดปกติ รอยเลือดออกที่ผิวหนัง (ภาพข้างล่าง) เป็นต้น ถ้าเป็นแบบช็อคมักนำไปสู่การเสียชีวิต

ภาพรอยเลือดออกใต้ผิวหนังที่ดูลามออกไป ในรายที่เกิดอาการช็อคจากเชื้อในกระแสเลือด

(Figure Source: CDC)

เชื้อนี้ค่อนข้างมีความคงทน เนื้อหมูแช่ตู้เย็นช่องธรรมดาเชื้ออาจอยู่นานถึง 6 สัปดาห์ แช่แข็งเชื้ออาจคงอยู่นานขึ้นโดยเฉพาะเชื้อที่ติดในมูลสุกร ถ้าอุ่นให้ร้อนที่ 50 องศา เชื้ออยู่ได้ 2 ชั่วโมง ถ้าร้อนขึ้นที่ 60 องศาจะอยู่ได้ 10 นาที ดังนั้นการปรุงที่อุณหภูมิดังกล่าวควรจะหลีกเลี่ยง หรือใช้เวลานานขึ้นเพื่อให้แน่ใจว่าถ้ามีเชื้อปนเปื้อนเชื้อจะถูกทำลายหมด

การติดเชื้ออาจจากหมูที่เป็นโรคหรือเป็นพาหะ (คือไม่ป่วย แต่มีเชื้ออาศัยที่ช่องปากจมูก ทอนซิล อวัยวะเพศ และทางเดินอาหาร) ทั้งหมูเป็นและเนื้อหมูชำแหละ โดยผ่านจากรอยเปิด รอยถลอกของผิวหนังที่สัมผัสหมู หรือผ่านการสูดเข้าทางเดินหายใจ วัคซีนสำหรับคนยังไม่มี ดังนั้นการป้องกันดีกว่าการแก้แน่นอน เช่นถ้ามีรอยเปิดหรือถลอกของผิวหนังไม่ควรสัมผัสกับสัตว์หรือเนื้อสัตว์ หรืออาจสวมถุงมือแทน หรือผ้าปิดจมูก

แต่สิ่งที่ยังนับว่าโชคดี คือ ยังมียาที่ใช้กำจัดเชื้อได้ผลดี แต่เนื่องจากเชื้อสามารถกลับมาเพิ่มจำนวนและก่อโรคซ้ำได้ถ้าใช้ยาไม่ต่อเนื่องและนานเพียงพอ 

 

คำสำคัญ (Tags): #streptococcus suis#สุกร#หมู
หมายเลขบันทึก: 213392เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2008 06:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท