ประเพณีบุญสารทเดือนสิบเมืองคอน


ประเพณีบุญสารทเดือนสิบ

 ประเพณีบุญสารทเดือนสิบ เป็นประเพณียิ่งใหญ่ มากในจังหวัดนครศรีธรรมราช จะมีขึ้นในวันแรม ๑๓ ค่ำ ถึง ๑๕ ค่ำ เดือนสิบ (สำหรับปี2551 เริ่มงาน 23 กันยายน- 2ตุลาคม 2551)

งานบุญเดือนสิบ เป็นงานประเพณีของชาวใต้ เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้ญาติพี่น้อง บรรพบุรุษผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และงานบุญเดือนสิบ ก็จะมีงาน "ประเพณีชิงเปรต"รวมอยู่ด้วย

ความสำคัญของประเพณีสารทเดือนสิบของ 
........การทำบุญสารทเดือนสิบ เป็นประเพณีที่ชาวเมืองนครศรีธรรมราชได้ถือปฏิบัติด้วยศรัทธาแต่ดึกดำบรรพ์โดยถือเป็นคติว่าปลายเดือนสิบของแต่ละปี เป็นระยะที่พืชพันธุ์ธัญญาหารในท้องถิ่นออกผล เป็นช่วงที่ชาวเมืองซึ่งส่วนใหญ่ยังชีพด้วยการเกษตร ชื่นชมยินดีในพืชของตน ประกอบด้วยเชื่อกันว่า ในระยะเดียวกันนี้เปรตที่มีชื่อว่า “ปรทัตตูปชีวีเปรต” จะถูกปล่อยใหัขึ้นมาจากนรก เพื่อมาร้องขอส่วนบุญต่อลูกหลานญาติพี่น้อง เหตุนี้ ณ โลกมนุษย์จึงได้มีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปไห้พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย พี่น้อง ลูกหลานที่ล่วงลับไป โดยการจัดอาหารคาวหวานวางไว้ที่บริเวณวัด เรียกว่า “ตั้งเปรต” ตามพิธีไสยเวทอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้พัฒนามาเป็น “การชิงเปรต” ในเวลาต่อมา
เหตุผลของการจัดหฺมฺรับ
........ปลายเดือนสิบอันเป็นระยะเริ่มฤดูฝน “การอิงศาสภิกษุ” ด้วยพืชผลที่ยังไม่ได้ปรุงเป็นอาหารคาวหวานสำหรับขบฉันในทันทีที่ขับประเคนนั้น ชาวเมืองมุ่งหมายจะให้เสบียงเลี้ยงสงฆ์ในฤดูกาลอันยากต่อการบิณฑบาต และเพื่อมิให้ฉันทาคติบังเกิดแก่ทั้งสองฝ่าย คือสงฆ์ และศรัทธาถวายพืชผักสดแก่สงฆ์ จึงใช้วิธี “ สลากภัต” คือจัดใส่ภาชนะตกแต่ง เรียกว่า “สำรับ” หรือ “หฺมฺรับ”

“หฺมฺรับ” หัวใจของการทำบุญเดือนสิบ
........การจัดหฺมฺรับ เป็นการเตรียมเสบียงอาหารบรรจุในภาชนะเพื่อนำไปถวายพระสงฆ์ในช่วงเทศกาลเดือนสิบ เป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพชน หรือญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว ได้นำกลับไปใช้สอยในนรกภูมิ หลังจากถูกปล่อยตัวมาอยู่ในเมืองมนุษย์ช่วงเวลาหนึ่ง และต้องถึงเวลากลับไปใช้กรรมตามเดิม ฉะนั้น บรรดาลูกหลานก็จะต้องจัดเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ อาหาร ฯลฯ มิให้ขาดตกบกพร่องแล้วบรรจงจัดลงภาชนะ ตกแต่งประดับประดาด้วยดอกไม้ให้สวยงาม เพื่อทำในสิ่งที่ดีที่สุดให้บรรพบุรุษ ด้วยใจที่เปี่ยมไปด้วยความรัก ความผูกพัน และความกตัญญู

การปฎิบัติตามประเพณีสารทเดือนสิบ
.......ช่วงของการทำบุญเดือนสิบ จะมีวันที่ถูกกำหนดเพื่อดำเนินการเรื่อง “หฺมฺรับ” อยู่หลายวัน และจะมีชื่อเรียกแตกต่างกัน กล่าวคือ

วันหฺมฺรับเล็ก ตรงกับวันแรม ๑ ค่ำเดือนสิบ เชื่อกันว่าเป็นวันแรกที่วิญญาณของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วได้รับอนุญาตให้กลับมาเยี่ยมลูกหลาน ซึ่งลูกหลานจะจัดสำหรับอาหารคาวหวานไปทำบุญที่วัด เป็นการต้อนรับ บางท้องถิ่นเรียกวันนี้ว่า “วันรับตายาย”

วันจ่าย ตรงกับวันแรม ๑๓ ค่ำเดือนสิบ เป็นวันที่คนนครต้องตระเตรียมข้าวของสำหรับจัดหฺมฺรับ โดยไปตลาดเพื่อจัดจ่ายข้าวของเป็นการพิเศษกว่าวันอื่นๆ

วันยกหฺมฺรับ ตรงกับวันแรม ๑๔ค่ำเดือนสิบ เป็นวันที่ลูกหลานร่วมกันแบกหาม หรือ ทูนหฺมฺรับที่จัดเตรียมเรียบร้อยแล้ว ไปถวายพระที่วัด อาจจะรวมกลุ่มคนบ้านไกล้เรือนเคียงไปเป็นกลุ่มตามธรรมชาติ หรือบางทีอาจจะจัดเป็นขบวนแห่เพื่อความคึกคักสนุกสนานก็ได้

วันหฺมฺรับใหญ่ หรือ วันหลองหฺมฺรับ ตรงกับวันแรม ๑๕ ค่ำเดือนสิบ เป็นวันที่นำอาหารคาวหวานไปทำบุญเลี้ยงพระที่วัดครั้งใหญ่ ทำพิธีบังสุกุล อุทิศส่วนกุศลให้บรรพชน และตั้งเปรตเพื่ออุทิศส่วนกุศล ให้วิญญาณที่ไม่มีลูกหลานมาทำบุญให้ ขณะเดียวกันก็ทำพิธีฉลองสมโภชหฺมฺรับที่ยกมา

การจัดหฺมฺรับ ส่วนใหญ่การจัดหฺมฺรับ ส่วนใหญ่จะใช้ของแห้งที่เก็บไว้ได้นาน เพราะสะดวกในการจัดเก็บและรักษา โดยนิยมจัดในภาชนะกระบุง กะละมัง ถัง ถาด วิธีจัดจะใส่ข้าวสารรองชั้นล่าง ตามด้วยเรื่องปรุงพวกของแห้งที่ใช้ในครัว ชั้นถัดมาเป็นพวกอาหารแห้ง หยูกยา หมากพลู และของใช้จำเป็นประจำวัน ส่วนหัวใจของหฺมฺรับที่เป็นเอกลักษณ์ขาดไม่ได้มี ๕ อย่าง (บางแห่งมี๖อย่าง) เป็นคติความเชื่อที่ใช้รูปทรง ลักษณะของขนมเป็นสัญลักษณ์แทนสิ่งจำเป็น และควรมีสำหรับเปรต คือ ขนมพอง ขนมลา ขนมบ้า ขนมดีซำ ขนมกง(ไข่ปลา) และลาลอยมัน


สัญลักษณ์ของขนมที่ใช้ในการจัดหฺมฺรับ

ขนมพอง เป็นสัญลักษณ์แทนเรือ แพ ที่บรรพบุรุษใช้ข้ามห้วงมหรรณพ เหตุเพราะขนมพองนั้นแผ่ดังแพมีน้ำหนักเบาย่อมลอยน้ำ และขี่ข้ามได้

ขนมลา เป็นสัญลักษณ์แทนแพรพรรณ เครื่องนุ่งห่ม เหตุเพราะขนมลามีรูปทรงดังผ้าถักทอ พับ แผ่ เป็นผืนได้

ขนมบ้า เป็นสัญลักษณ์แทนลูกสะบ้า สำหรับใช้เล่นต้อนรับสงกรานต์ เหตุเพราะขนมบ้ามีรูปทรงคล้ายลูกสะบ้า การละเล่นที่นิยมในสมัยก่อน

ขนมดีซำ เป็นสัญลักษณ์แทนเงิน เบี้ย สำหรับใชัสอย เหตุเพราะรูปทรงของขนมคล้ายเบี้ยหอย

ขนมกง(ไข่ปลา) เป็นสัญลักษณ์แทนเครื่องปรัดับ เหตุเพราะรูปทรงมีลักษณะคล้ายกำไล แหวน

ลาลอยมัน เป็นสัญลักษณ์แทนฟูก และหมอน ซึ่งมีในบางท้องถิ่น

การตั้งเปรต
*- ในการทำบุญสารทเดือนสิบ ลูกหลานจะทำขนม หรืออาหารนำไปวางในที่ต่างๆของวัด ตั้งที่ศาลาซึ่งเป็นศาลาสำหรับเปรตทั่วไป และริมกำแพงวัด หรือใต้ต้นไม้ สำหรับเปรตที่ปราศจากญาติ หรือญาติไม่ได้ทำบุญอุทิศให้ หรือมีกรรมไม่สามารถเข้าในวัดได้ พิธีกรรมทำบุญอุทิศส่วนกุศลทำได้โดยการแผ่ส่วนกุศล และกรวดน้ำอุทิศให้ เมื่อเสร็จลูกหลานจะมีการแย่งชิงขนม และอาหารกันที่เรียกว่า “ชิงเปรต”

*- การชิงเปรต เป็นขั้นตอนที่เกิดขึ้นหลังจากการอุทิศส่วนกุศลแก่เปรต โดยมีพระสงฆ์สวดบังสุกุล พอพระชักสายสิญจน์ที่พาดโยงไปยังอาหารที่ตั้งเปรต ลูกหลานก็จะเข้าไปแย่งเอามากิน ซึ่งของที่แย่งมาได้ถือเป็นของเดนชาน การได้กินเดนชานจากวิญญาณบรรพบุรุษ เป็นความเชื่อที่ถือกันว่าเป็นการแสดงความรัก เป็นสิริมงคล และเป็นกุศลสำหรับลูกหลาน

    
สมัยก่อน ก่อนงานเดือนสิบจะเริ่มขึ้น ชาวบ้านชาวช่องจะต้องจัดเตรียมทำข้าวปลา อาหาร โดยเฉพาะขนมกันล่วงหน้า อย่าง "ขนมลา" เนื่องจากทำยาก ต้องแช่แป้ง (ข้าวเหนียว)  นำมาบดเป็นแป้ง ต้องบด 3-4 ครั้ง เพื่อให้แป้งละเอียดจริงๆ
จากนั้นนำแป้งมาผสมกับน้ำผึ้ง (น้ำลูกตาล) แล้วนำไปทอดในกระทะร้อนๆ ร่อนไปเป็นวงกลมรอบๆกระทะ ใช้ไม้ไผ่ที่ดัดแปรงมา ตวัดขึ้นมา กลิ่นหอมกรุ่นเลยครับ อร่อย

     นอกจากขนมลาแล้ว ยังมีขนมฟอง ขนมเจาะหู (เบซัม) ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเตรียมการล่วงหน้าเป็นสิบๆวันกว่าจะเสร็จ พูดได้ว่า งานบุญเดือนสิบยุ่งอยู่เดือนเดือน

     ก่อนงานชิงเปรตจะเริ่มขึ้น ชาวบ้านข้างวัดจะไปช่วยกัน "ทำร้านเปรต" เพื่อใช้เป็นที่วางเครื่องเซ็น ทำบุญให้บรรพบุรุษ สมัยก่อนร้านเปรตก็วางต่ำๆ แต่ช่วงหลังเอาเด็กไม่อยู่ พระสวดยังไม่ทันเสร็จ "เปรตตัวจริง" ชิงกันเสียก่อนแล้ว
มีบางวัดแก้เผ็ดเปรตตัวจริง ด้วยการยกร้านเปรตให้สูงขึ้น เอาตั้นหมากสูงๆ 4 ต้นมาทำเป็นเสาร้านเปรต ทำให้เปรตตัวจริงขึ้นไปแย่งชิงก่อนเวลาไม่ได้ หนักกว่านั้นเคยเห็นวัดบางวัดแก้เผ็ดด้วยการนำน้ำมันเครื่องรถยนต์มาทาให้ดำไปทั้งเสาร้านเปรต....หมดสิทธิเลยครับ รูดปรี๊ด รูดปรี๊ด
ประเพณีชิงเปรต หรืองานบุญเดือนสิบ มีส่วนคล้ายกับวันเชงเม้งของจีน คือเป็นกิจกรรมที่ลูกหลานมาร่วมกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปถึงญาติมิตรผู้ล่วงลับ ทางเหนือก็เหมือนกับการถวายทานสลากภัตต์ แม้ว่าจะอยู่ในช่วงเดือนเดียวกันแต่สลากภัตต์ทำในวันเดือนเพ็ง ขณะที่ชิงเปรตเป็นวันแรมสิบห้าค่ำ

หมายเลขบันทึก: 210678เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2008 11:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กันยายน 2014 11:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เดือนสิบเป็นเดือนสำคัญสำหรับคนใต้ ที่จากบ้านไป ไปทำมาหากิน หรือเรียนหนังสือ จะกลับมาเยี่ยม พ่อแม่ ปูย่า ตายาย  

ขอบคุณสำหรับการสำนึกรักบ้านเกิด ยามบ้านเมืองวิกฤติ แล้วค่อยกลับไปกู้ชาติกันต่อ

หากสนใจจะทำการสืบสานวัฒนธรรม หรือประมาณการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ หรือเอกลักษณ์ของการจัดหมรับ หรือประมาณการพัฒนาหรือการเปลี่ยนแปลงวิธีการ การทำ การเตรียมขนมต่างๆ (น่าจะเปลี่ยนไปนะ) จะขอความรู้เพิ่มเติม หรือคำชี้แนะให้ได้เปล่าคะ

สนใจเรื่องเล่านี้แต่ยังจับประเด็นไม่ได้ และยากให้คนรุ่นหลังๆมีความรู้(แก่น) ของสิ่งต่างๆนะคะ

เนื่องจากเป็นคนสงขลา ไปอยู่แต่ต่างถิ่นมานานอักโขอยู่ และได้ย้ายมาทำงานที่คอน (จะครึ่งปีแล้ว)

เป็นประเพณีทีสือต่อกันมานานทุกคนควรช่วยกันอนุรักไว้ *0*

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท