ตลาดนัดการจัดการความรู้ สู่คนไทยสุขภาพดี (9) เสวนา "การจัดการความรู้ สู่คนไทยสุขภาพดี"


เราได้เห็นความงดงามของการจัดการความรู้ในเรื่องสุขภาวะ ที่แสดงให้เห็นว่า ในเรื่องสุขภาพดีนั้น หน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้ ไม่ว่ากรมอนามัย หรืออื่นๆ เป็นคุณอำนวย ผู้จัดกระบวนการเพื่อที่จะทำให้พระเอกนางเอกตัวจริง คือ คุณกิจ ได้ทำในเรื่องของตัวเอง ในเรื่องของครอบครัว เรื่องของชุมชน เราก็เลยเห็นว่า เวทีอันนี้เป็นเวทีที่สุดยอด

 

ช่วงของการเสวนานี้ ดำเนินการโดย ผอ.สำนักงานสนับสนุนการจัดการความรู้ กรมอนามัย ค่ะ น.พ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ กับวิทยากรรับเชิญ อ.วิจารณ์ พานิช รองอธิบดีกรมอนามัย น.พ.โสภณ เมฆธน และ ดร.พิธาน พื้นทอง ผอ.พื้นที่การศึกษาอุบลราชธานีเขต 1 ค่ะ

เรื่องเล่าในช่วงนี้ก็คือ

อ.หมอสมศักดิ์นำเรื่องให้เราได้รู้กันว่า ... สิ่งที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ พัฒนาสังคมให้ก้าวหน้าขึ้นไป คือ ความสามารถในการนำความรู้มาใช้ในการพัฒนาประเทศ ความรู้ที่แท้จริง คือ ความรู้ที่ทุกคนเอามาใช้ในการทำงาน ไม่ใช่ใช้โดยอ้อมจากตำรา โอกาสนี้จึงได้เชิญวิทยาหลายท่านมาเล่าให้เราฟัง ในสิ่งที่เป็นวิธีการทำงานของท่านโดยใช้การจัดการความรู้ว่าทำอย่างไร

ดร.พิธาน พื้นทอง ได้ให้ประสบการณ์ว่า ... ผมทำงานอยู่ในโรงเรียนโดยตลอด ตั้งแต่เป็นครู เรื่องบริหาร และจนถึงวันนี้ เรื่องอนามัยต่างๆ ก็จะเข้าไปสู่โรงเรียนเพื่อทำงานร่วมกัน

ในเชิงของหน้าที่ ... รร.มีหน้าที่ในการพัฒนาเด็กให้เจริญก้าวหน้า เกิดความเป็นคน ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วน ส่วนที่ 1 คือ วิชาความรู้ สติปัญญา ส่วนที่ 2 คือ ความเป็นคนดี มีความมานะมุ่งมั่น บากบั่นอดทน ส่วนที่ 3 คือ ความเป็นคนที่สมบูรณ์ คือ เรื่องของร่างกาย มีสุขภาพที่ดี ไม่เจ็บ ไม่ไข้ ไม่ป่วย ร่างกายแข็งแรง

เราต้องชี้ประเด็นว่า วิชาความรู้เรื่องสุขภาพ เป็นเรื่องของโรงเรียนโดยตรง และวิชาอีกส่วนหนึ่ง คือ การนำความรู้ตรงนี้ไปสู่วิถีชีวิตของประชาชน ซึ่งอาจต้องมา ลปรร. กัน และมา share ประสบการณ์กัน และทำให้เป็นเนื้องานเดียวกัน ผสมผสานกันไป เราก็จะไม่มองว่า งานเราสอนมากถึง 6 ชม. อยู่แล้ว ใครมาให้สอนเรื่องอื่นๆ จะไปทำให้ใช้เวลามากขึ้น อันนั้นไม่ใช่ ... ให้ถือว่าเป็นสิ่งที่ทำอยู่แล้ว และให้มีการบันทึกมากขึ้น

จากนั้นก็ให้เรื่องนี้เป็นเรื่องปกติของโรงเรียน ครูต้องไปเอาองค์ความรู้ที่ต้องมี เช่น เรื่องอาหารเป็นพิษ เด็กไทยไม่กินหวาน อุบัติภัยในโรงเรียน ถ้ามองในเรื่องของการจัดการความรู้ว่าเป็นเรื่องที่เปิดเผย ชัดแจ้ง เพราะว่าครูก็จะเป็นคนที่อยู่ใน รร. มากกว่าเจ้าหน้าที่อนามัย

ในแง่ของครูก็ต้องมีการจัดการความรู้กันก่อน ความรู้ที่อยู่ในตัวครู ในแง่ของสุขภาพ ก็ต้องดูว่าทำอย่างไรจะแนะนำให้คนอื่น ก็จะมีการถ่ายเทความรู้ระหว่างโรงเรียน และหาช่วงเวลาที่โรงเรียนจะมีกิจกรรมพบปะกันอยู่แล้ว เป็นเวลาของการ ลปรร. กัน

ส่วนของการออกำลังกาย เด็กจะทำกิจกรรมละเล่น หรือเกมแข่งขัน กิจกรรมพลศึกษา จะมีพวกนี้อยู่ เป็นการเล่นเกม ที่มีการแข่งกัน เช่น ฟุตบอล ตะลุมบอล หรือวิ่งสะสม ก็มีหลายโรงเรียนทำ หลายๆ รูปแบบ ก็จะได้ผลในลักษณะของการออกกำลังกายสะสม ... จะมีกิจกรรมที่ครูสามารถไปพัฒนาต่อได้ ซึ่งความรู้เบื้องต้นต้องมีให้ครู เช่น ก่อนออกกำลังก็ต้องมีการบริหารก่อน การกำลังกายต้องทำกันอย่างไร หลาย รร. ทำ ก็จะมีรูปแบบมากมาย การแข่งขัยนวิ่งเปี้ยว วิ่งสามขา วิ่งกระสอบ วิ่งหลายขา เช่น 31 ขา

เรื่องอาหารการกิน ก็ต้องมีเรื่องของความรู้ไปด้วย เรามี อย. น้อย ก็จะได้เรื่องของความรู้ เช่น การตรวจลูกชิ้นที่มีบอแร็กซ์ ก็อาจจะมีเรื่องการต่อสู่ในเรื่องของความคิด หลายโรงเรียนก็ทำได้ดี

เรื่องอื่นๆ เช่น การกินอาหารที่มีประโยชน์ จะผูกพันกับวิถีชีวิต ความจน ไม่มีจะกินก็ไม่ว่ากัน แต่ถ้าดูแล้ว พวกกินไม่ถูกไม่ต่ำว่า 80% ที่อาจไม่มีประโยชน์เท่าที่ควร ... ถ้าเราให้ความรู้ที่ถูกต้อง มาเผยแพร่บ่อยๆ จนเขาเชื่อ ก็จะลดพฤติกรรมพวกนี้ได้ เช่น เรื่องข้าวกล้อง แต่ก่อนไม่มี ตอนหลังก็มีและเชื่อกันว่า ข้าวอย่างนี้ดี

ในเชิงของการจัดการความรู้ เราก็ต้องมองให้ความรู้ไหลเวียน ใน 2 มิติ คือ ความรู้ภายใน และภายนอก ก็จะมามีการแลกเปลี่ยนความคิดกัน หรืออาจเขียนเป็นคู่มือการดำเนินงาน แจกให้กับเครือข่าย ก็จะเกิดการจัดการความรู้กันได้

เวลาครูมาคุยกัน ส่วนใหญ่จะคุยกันในเรื่องสัพเพเหระ และเวลาครูไปเจอกันมีโอกาสหลายๆ อย่าง เช่น พา นร. ไปแข่งขันกีฬา การเข้าไปร่วมกิจกรรม ก็จะมีการแลกเปลี่ยน และก็จะมีการแลกเปลี่ยนข้ามวง ถ้ามีตัวกระตุ้นที่น่าสนใจ เขาก็จะคุยกันเรื่องนั้นๆ แล้วแต่ประเด็นในสถานการณ์นั้นๆ ด้วย ... เช่น เรื่องของสุขภาพ เขาก็จะคุยว่า คนนั้น คนนี้ตรวจ จะเป็นอย่างไร ... และเวลาคุยก็จะเกิดการต่อยอดกันไป และเชื่อมโยงการแลกเปลี่ยนได้

รองอธิบดีกรมอนามัย น.พ.โสภณ เมฆธน ได้เล่าว่า

ในการนำเรื่องการจัดการความรู้ไปใช้ในโครงการ คนไทยไร้พุง มาจากความคิดที่ว่า ... คนเราก่อนที่จะทำอะไรให้ดี ต้องมีพื้นฐานความรู้ เช่น การออกนโยบาย กฎหมายนั้น 1) เราต้องมีความรู้ หรือเทคโนโลยี 2) ต้องไปกับพฤติกรรมของคน 3) ต้องวัดผลได้ ถ้าไม่มี 3 อย่างนี้ ก็จะปฏิบัติไม่ได้ ... และถ้าเราจะทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับตัวเรา ก็ต้องมีความรู้ มีความอยากที่จะหาความรู้เพิ่มเติม

ถามว่า ความรู้มีกี่ระดับ ที่บอกว่า tacit ... explicit ก็อย่างหนึ่ง แต่ทางศาสนา 1) ก็คือ ฟัง อ่านหนังสือ 2) คือ คิดโจทย์ และ 3) คือ ภาวนามยปัญญา เป็นปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติ ประสบการณ์ และถามว่า KM เป็นเรื่องของสุดยอดแห่งการเรียนรู้ เรียนรู้จากประสบการณ์ เรื่องที่เราทำอะไร และเล่าให้คนอื่นฟัง ถือเป็นเรื่องที่สุดยอด ... เวลาทำอะไรเราต้องมองใกล้มองไกล มองดูประสบการณ์ เอามาจัดการ

ที่กรมอนามัยทำเรื่องคนไทยไร้พุง

ระยะแรก ...

  • เราทำในคนกรมอนามัยก่อน เรามีวิธีว่า คนที่อ้วน ได้รับพลังงานมากกว่า พลังงานที่ใช้ไป คือ กินมาก ออกกำลังกายน้อย ไม่ balance ไม่สมดุลกัน ผลตามก็คือ โรคเบาหวาน โรคหัวใจต่างๆ
  • เราก็บอกว่า รับสมัครคนที่ต้องการเข้าค่ายลดความอ้วน ก็มีคนสมัคร และมี course วิชาการว่า พลังงานต้องสมดุล อย่าให้มากเกินไป ใช้ง่ายๆ คือ 3 อ.ที่หนึ่ง คือ อาหารที่เข้าไป อ.ที่สอง คือ ออกกำลังกาย ต้องพยายามใช้พลังงาน อ.ที่สาม คือ อารมณ์ ตัวที่จะไปคุม 2 อ. ข้างบน ต้องมีความมุ่งมั่น ต้องมีส่วนร่วม
  • แต่ละคนที่ไปทำ ก็จะมีแนวทางของเขา พอกลับมา เราก็ให้มาถอดบทเรียนกัน เขาก็มาเล่า ซึ่งจะมีความแตกต่างกันในแต่ละคน บางคนก็บอกว่า กลับไป ก็ต้องให้ครอบครัวรับรู้ ช่วย support บางคนก็ไปบอกเพื่อนร่วมงาน บางคนก็ไปชวนเพื่อน บางคนก็บอกว่า เรื่องกินต้องให้น้อยลง และเพิ่มผัก ผลไม้ เรามองว่า เราสามารถถอดบทเรียนคนมาเล่าได้

และมามองต่อว่า กรมอนามัย เป็นกรมฯ ที่ต้องขับเคลื่อนให้กับคนทั้งประเทศ การทำในแต่ละคนไม่ช่วย และเรามีบทเรียนว่า ต้องใช้มาตรการทางสังคมช่วย เป็นตัวช่วย อาศัยเพื่อนช่วย เราจึงเปลี่ยนเป้าหมาย ไม่ใช่แต่ละคนแล้ว คนไทยตอนนี้เขามองว่า อ้วนประมาณ 10 ล้านคน

ระยะที่สอง ... เราก็เลยเปลี่ยนใหม่

  • ทำเป็นหน่วยงาน องค์กร ในชุมชน เช่น ชาวบ้านในชุมชน อบต. ขับเคลื่อนอย่างไร ไม่ให้มีคนอ้วน กลุ่มที่สอง สำนักงานเขตการศึกษา หรือ รพ. บริษัท ห้างร้านต่างๆ ทำให้คนทั้งหน่วยงาน ไม่อ้วน กลุ่มที่สาม เราทำที่นักเรียน เพราะว่าถ้ามีพฤติกรรมดีตั้งแต่เด็ก โตขึ้นก็จะมีพฤติกรรมดี
  • เป้าหมายที่เราลงไปทำ คือ ใช้กลุ่ม setting หน่วยงาน องค์ประกอบก็ต้องมีตัวบุคคล การจัดการสภาพแวดล้อมในหน่วยงาน เช่น โรงอาหาร ต้องขายอาหารที่ถูกต้อง การออกกำลังกายก็ต้องจัดให้คนมีสถานที่ออกกำลังกาย
  • เราเห็นว่า ในสังคม ชุมชน ต้องมีมาตรการอะไรออกมา ซึ่งเราไม่รู้ เราหวังว่าเราขับเคลื่อนไป ก็ได้เรียนรู้จากเขา และไปถ่ายทอดต่อ ในบริบทของใครที่คล้ายๆ อย่างนี้เอาอย่างนี้ไหม และเราไปเรียนรู้ แลกเปลี่ยน
  • ตอนนี้เราสมัครองค์กรที่รับสมัครเข้ามา และใช้หลักการ คือ การไป balance ตรงนี้ และมาดูว่า แต่ละคนทำอย่างไร

ของเราทำอะไรต้องมีแรงขับเคลื่อนภายใน ที่เป็น motivate ขึ้นกับทัศนคติ ของเขาว่าจะมีได้อย่างไร ซึ่งยาก เพราะว่าต้องเกี่ยวกับตัวของเขาเอง และเขามีข้อมูลไหม บางครั้งต้องอาศัยประสบการณ์ท้องถิ่น หรือคนที่มาเล่าให้ฟัง ให้เขาเห็นว่ามีข้อมูล เพื่อที่จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนทัศนคติได้ และต้องมีองค์ความรู้ ที่จะมาเรียนรู้กันได้ 1) เกิดผลกระทบกับตัวเขาเอง 2) มีตัวอย่างที่คนทำแล้วประสบความสำเร็จ และเขาได้สิ่งดีดีอะไรบ้าง

กระบวนการ KM ได้ทั้งในเชิงความรู้ คุณธรรมก็ได้ มีพอเพียง มีเหตุผล ขจัดความเสี่ยง และมีภูมิคุ้มกัน KM ให้ทั้งนั้น มีการถ่ายทอด การให้ทาน และคนเล่าที่เคยทำดี จะกลับไปแย่ลงก็ลำบาก ก็ต้องมีการพัฒนาต่อยอดไปได้เรื่อยๆ ก็เหมือนเป็นการแพร่เชื้อโรค (ดี) carrier ก็สำคัญ ที่จะเป็นช่วยเผยแพร่สิ่งที่ดีดี เชื้อโรค (ดี)

อ.วิจารณ์ พานิช ... ได้ให้ข้อคิดไว้ค่ะว่า

เมื่อได้มาฟังแล้ว ก็เกิดความรู้สึกว่า เวทีนี้เข้าท่า บอกว่า มีคนประมาณ 700 คน มีครูที่จะมาแสดงซุ้มความสำเร็จ 20 ซุ้ม ในทั้งหมด 40 ซุ้ม และในเวทีกรมอนามัย เป็นเรื่องของสุขภาพ สุขภาวะ และครูมาเป็นผู้แสดงบทบาทเอง และก็มีผู้สูงอายุ 6 กลุ่ม และมีผู้สูงอายุฟันดี อายุมากกว่า 80 ปี

เราได้เห็นความงดงามของการจัดการความรู้ในเรื่องสุขภาวะ ที่แสดงให้เห็นว่า ในเรื่องสุขภาพดีนั้น หน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้ ไม่ว่ากรมอนามัย หรืออื่นๆ เป็นคุณอำนวย ผู้จัดกระบวนการเพื่อที่จะทำให้พระเอกนางเอกตัวจริง คือ คุณกิจ ได้ทำในเรื่องของตัวเอง ในเรื่องของครอบครัว เรื่องของชุมชน เราก็เลยเห็นว่า เวทีอันนี้เป็นเวทีที่สุดยอด

เมื่อมาฟัง อ.พิธานเล่าเรื่องโรงเรียน ก็เลยนึกถึงเรื่องที่ กรมอนามัยมาชวน รร. ชวนครู ในเขตพื้นที่ทำในเรื่องสุขภาวะ สุขภาพทั้งหลาย ถ้าคิดกันว่า กรมอนามัยมาใช้งาน เรื่องอะไรจะทำงานของกรมอนามัย ซึ่งโชคดีมากที่ไม่เกิดเข่นนี้ แต่ก่อนคงมี แต่ตอนนี้เกิดน้อยลง

... แต่วิธีคิดใหม่ ก็คือว่า

  • ตอนนี้ กรมอนามัยมาเป็นผู้รับใช้ มาเป็นเครื่องมือ ให้เรา
  • เพราะว่าครูมีหน้าที่ ทำให้เด็กได้รับการพัฒนาที่ดี ให้เด็กได้เรียนรู้เพื่อที่จะมี lifestyle พฤติกรรมที่ดีของตัวเอง จริงๆ คือ รร. เป็นที่สำหรับการเรียนรู้ของเด็ก เพื่อการเติบโตที่สมบูรณ์
  • พอมองอย่างนี้ ก็คือ ครูมีหน้าที่ที่จะพัฒนาความสมดุลของเด็กในทุกๆ ด้าน อย่างบูรณาการ
  • คนของกรมอนามัย เอาสาระเรื่องราว วิธีการ ทฤษฎี วิธีปฏิบัติ หลายๆ อย่างในเรื่องสุขภาวะ ไปให้ท่านปรับใช้เป็นเครื่องมือ
  • ... มันจะปรับวิธีคิดไปเลย

และโครงการทั้งหลาย เรื่องเด็กไทยไม่กินหวาน คนไทยไร้พุง ก็เป็นส่วนหนึ่งของสาระความรู้ เป็นความท้าทายว่า แล้วครูจะตีความ โครงการ คำพูดทั้งหลาย ผ่านทางกรมอนามัย เข้าไปสู่สาระความรู้ ตามที่ สพฐ. หรืออื่นๆ กำหนด ควรต้องทำอย่างไร

กลายเป็นว่า กระบวนการ เป้าหมาย วิธีการต่างๆ ของกรมอนามัย กลายเป็นตัวช่วยโรงเรียน โดยการประยุกต์ตีความ ประยุกต์ใช้ เพื่อหนุนให้เด็กได้เรียนรู้เหล่านั้น ท่านทำเป็นวิจัยจากงานประจำที่ท่านตีความ ก็จะกลายเป็นเกิดความสุข เป็นการทำงานร่วมกันที่เกิดความสุข และเป็นประโยชน์ของโรงเรียน

ประการที่สอง ที่ผมชัดขึ้นมา ก็คือ ในกระบวนการที่ทำทั้งหลาย เป็นกระบวนการเรียนรู้กับผลงานจริง เราพูดถึงความรู้ว่า 2 แบบ แบบหนึ่งคือ ความรู้ทางทฤษฎี และความรู้จากการปฏิบัติ คือ ปริยัติ เป็นความรู้ทฤษฎี และปฏิบัติ แต่พอมาร่วมกันวันนี้ก็เลยปิ๊งมาว่า ที่จริงมีความรู้ที่มีการ ลปรร. ผ่านปฏิเวธ แปลว่า ผลของการปฏิบัติ ... แบบไหนที่เราเอามาเรียนรู้กัน คือ Success story คือ เรื่องของความสำเร็จ ที่เรานำมา ลปรร. กัน SSS (Success story sharing) ก็คือ การเรียนรู้ผ่านปฏิเวธ ผ่านผลของการปฏิบัติ เรียนรู้จากการปฏิบัติของเพื่อน

การ ลปรร. แบบนี้ ถ้าไม่มีทักษะที่เหมาะสม การ ลปรร. นั้นจะตื้น ได้ผลไม่ลึก บางทีเกือบจะเรียกว่า ไม่ได้ด้วยซ้ำ ตรงนี้ จึงมีเครื่องมือเกิดขึ้น แช่น Success telliing, Deep listening, Dialoque พวกนี้ รวมทั้งการเปิดใจ ก็ต้องเปิดหู และเปิดตาด้วย เปิดรับ และเปิดให้ ซึ่งกันและกัน เป็นการ ลปรร. ... พวกนี้จะมีความลึกอยู่ในตัว ถ้าเราฝึกให้ดี ใจก็จะเปิด ตรงนี้ก็เป็นทักษะ และบรรยากาศก็ต้องดี ถ้าบรรยากาศเปิด เป็นแนวราบ ทำให้ทุกคนสบายใจที่จะเล่าบางเรื่อง ก็จะทำให้ การ ลปรร. ลึก และเปิดเผยออกมา เพราะฉะนั้น เรื่อง KM จะเกิดการเรียนแบบปฏิเวธของเพื่อน และของตนเอง ถ้าทำได้ลึก ก็จะเปิดอะไรหลายเรื่องมา และบางเรื่องก็จะเป็นทฤษฎีที่ประยุกต์มาก อยู่ภายใต้เรื่องลึกๆ ของเรา

ประการที่ 3 เมื่อครูมาคุย บางทีก็ไม่เข้มข้น ไม่เกิดการ ลปรร. ที่เข้มข้น ... ผมมองว่า การ ลปรร. ที่เข้มข้น น่าจะเกิดจากการที่ภายในองค์กรมีการพูดคุยถึงเข็มมุ่งขององค์กรอย่างเข้มข้น คือ มี Share Vision มีวิสัยทัศน์ร่วม ซึ่งต้องมีการพูดกันอยู่เนืองนิจ อาจพูดในหลายรูปแบบ ในหลายบริบท อย่างนี้ใช่ อย่างนี้ไม่ใช่

ทั้งหมดผมตีความว่า เป็นการจัดการวิสัยทัศน์ร่วม เป็นการ manage Share vision นำมาตีคุณค่าในสภาพการทำงานในชีวิตประจำวัน ตีคุณค่าตามความสำเร็จเล็กๆ ที่เกิดขึ้น หรือตามความล้มเหลวเล็กๆ ที่เกิดขึ้น ตามประสบการณ์ร่วมกันที่เกิดขึ้น ว่า เรากำลังทำอย่างนี้ มันมีความหมายต่อการบรรลุเข็มมุ่ง หรือวิสัยทัศน์ร่วมของเราอย่างไร แบบนี้การพูดกันจะไม่สัพเพเหระ ทุกคนจะรู้ว่า เราจะมุ่งไปสู่อะไร ไปเข้าวงนั้นวงนี้มาจะเล่า ก็จะหยิบมาเล่าในสิ่งที่ตนเห็นว่า ให้เข็มมุ่งของเราเข้าสู่เป้าหมาย

น.พ.สมศักดิ์ ท่านได้สรุปไว้ว่า

อ.วิจารณ์ ชี้ให้เห็นอยู่ประเด็นหนึ่ง ว่า เราพูดถึงเรื่องความรู้ลอยๆ ไม่ได้ ต้องเชื่อมโยงกับสิ่งที่เรียกว่าเป้าหมายองค์กร ในทำนองกลับกัน เราบอกว่า เรากระตุ้นให้คนมาคุยกัน แลกเปลี่ยนกัน สุดท้ายต้องให้ถึงเป้าหมายขององค์กร เรารู้ไหมว่า เป้าหมายองค์กรคืออะไร อะไรคือวิสัยทัศน์ร่วม เช่น ถ้าโรงเรียนจะทำเรื่องอนามัยโรงเรียน ก็ไม่ใช่ว่า มาตรฐานกรมอนามัยกำหนดไว้ แต่เป็นเพราะโรงเรียนเห็นว่า โรงเรียนมีหน้าที่นอกจากทำให้นักเรียนรฉลาดแล้ว ร่างกายต้องแข็งแรง มีพัฒนาการที่สมบูรณ์ด้วย

ท่านรองโสภณ ก็พูดคล้ายๆ กันว่า เวลาที่จะชวนองค์กรทำเรื่องไร้พุง ก็ต้องทำให้คึนในองค์กรได้เห็นว่า การมีพุงเป็นความเสี่ยงต่อการบริหารองค์กร

และกระบวนเรียนรู้ กระบวนการที่ชวนชุมชน หรือองค์กรมาเรียนรู้ เป็นการตอกย้ำวิสัยทัศน์ ... และวิธีการจัดตลาดนัดก็เป็นวิธีการที่ทำให้คนไม่ต้องทำงานมาก เพราะกรมอนามัยเป็น Facilitator อยากให้ความรู้เข้าไปในโรงเรียน ชุมชน เราก็กระตุ้นหรือทำอะไรก็ได้ เพื่อให้คนทำได้ด้วยตัวของเขาเอง

สุดท้าย ของฝากจากท่านวิทยากรค่ะ

ดร.พิธาน ...

  • เราต้องทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดี มีวิถีชีวิตทางด้านสุขภาพ การกินอาหาร มีการออกกำลังกาย มีการป้องกันรักษาโรค เป็นการปรับตัวเอง ได้ทั้งความเป็นตัวอย่างที่ดี และความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติจริงๆ
  • เมื่อเราไปทำงานจริงๆ ต้องตั้งเข็มทิศ ว่าเราจะทำเรื่องนี้ที่เป็นประเด็นสำคัญ หลังจากนั้นที่เราไปในพื้นที่ เราต้องไปเป็นตัวเผยแพร่เชื้อโรค (ดี) หรือหาคนที่จะมาช่วย เช่น ผู้นำโดยธรรมชาติ ผู้นำเป็นทางการ คนป่วยตัวอย่าง ที่จะช่วยส่งคลื่นในวงกว้างได้ ก็จะช่วยเผยแพร่ได้
  • หลังจากนั้นก็เป็นผู้กระตุ้น พาไปศึกษาดูงาน ทำกิจกรรมแข่งขัน พบปะพูดคุยกัน เพราะกิจกรรมแข่งข้น ก็ทำให้ได้พวก มีความรู้ไปสู่ประชาชนได้มากมาย
  • สิ่งสุดท้ายที่อยากฝากไว้คือ การเล่าขานประสบการณ์ อาจเป็นความสำเร็จ หรือล้มเหลว และสิ่งนั้นก็จะเป็นการเผยแพร่ไปสู่คนอื่น ทั้งหนังสือ เอกสาร Weblog การพบปะพูดคุย ลปรร. กัน ก็จะทำให้การเผยแพร่ ไปสู่วงกว้าง และพูดกันต่อๆ ไป

รองฯ โสภณ ...

เป็นเรื่องสำคัญที่คนต้องเขียน ทำอะไรออกมาให้เป็นรูปธรรม จับต้องไปได้ ไปให้ถึงตรงนั้น และเขียนเพื่อที่จะไปบอกคนอื่นต่อได้ และไปอย่างมีเป้าหมาย ที่จะต้องจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น และทำอย่างไรจะได้จัดการปัญหาที่เกิดขึ้น และไปถึงจุดที่เราต้องการ

อ.วิจารณ์ ...

  • ในเรื่องวิสัยทัศน์ชาวบ้าน ผมคิดว่า คนเราที่ดำรงชีวิต มีเป้าหมายของแต่ละคน แต่ละช่วงไม่เท่ากัน เราอยากให้เขาไม่เป็นมะเร็งเต้านม แต่บ้านเขากำลังเดือดร้อน ในเรื่องประเด็นเชิงวิสัยทัศน์ ผมว่า เราต้องเคารพ เข้าใจแต่ละคน ว่าอยู่ในสภาพที่ไม่เหมือนกัน ถ้าเราจะชวนเขาเพื่อทำกิจกรรม บางช่วง บางโครงการ พยายามที่จะ force เชิญ บังคับให้เขาทำ ก็ต้องทำด้วยมีวิธีการที่แยบยล มีลูกล่อลูกชน มีวิธีการ ที่ทำให้เขาเข้ามาร่วมด้วย
  • จริงๆ ก็คือ กระบวนการเรื่องสุขภาวะ การจัดการความรู้ต้องมีชาวบ้าน หรือคุณกิจ คือ ผู้ปฏิบัติจริงๆ ไม่ใช่แต่ Vertical program อาจเป็นนักเรียนด้วย เป็นคนทำ เป็นความลำบากที่เราจะเอาตัวนี้ไปเสริมกันได้อย่างไร เพราะ Vertical program นี้จะต้องเข้าไปในชีวิตจริงของแต่ละคน ประสบการณ์ความสำเร็จที่ท่านเข้าไปในสภาพแวดล้อม กลุ่มคนที่ต่างกัน คนที่มีเข็มมุ่ง concern ที่ต่างกัน มีวัฒนธรรมการทำงานที่ต่างกัน
  • เหล่านี้ เมื่อเข้าไปเกิดในชีวิตจริง และเกิดความสำเร็จเล็กๆ ขึ้นมา นำมาแลกเปลี่ยนกัน อันนั้นมีค่ามากที่สุด เราต้องไม่ได้มุ่งหวังว่า เราสามารถควบคุมได้ เราปล่อยให้เป็นชีวิตจริง และให้ทุกคนไปปรับให้เกิดความสำเร็จในท่ามกลางความยาก แต่จะมีความสำเร็จเล็กๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งจะมีการนำไปปรับใช้ และเราก็ทำต่อ ไม่หยุด ไปเรื่อยๆ ในที่สุด ก็จะเจอวิธีการที่เรียกว่า เป็นนวัตกรรมขึ้น นี่คือ การจัดการความรู้ในรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีหลายวิธีการ

น.พ.สมศักดิ์

Tricks สำคัญก็คือ เข้าใจบริบทของเขา แต่ที่สำคัญกว่า คือ ถ้าหาคนที่มีวิธีคิดที่ใกล้เคียงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ก็จะยิ่งดี และอาศัยตัวคนที่เป็นตัวเชื้อโรค (ดี) ให้แพร่ออกไป และต้องผ่านการรู้จักฟัง เอาความรู้นี้ไป repackage และสามารถใช้ตัวเจ้าของความรู้ เป็นตัวขยายความรู้ด้วย

รวมเรื่อง ตลาดนัดการจัดการความรู้ สู่คนไทยสุขภาพดี 2551

   

หมายเลขบันทึก: 206724เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2008 22:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
  • อนุญาตหยิบยกเอาข้อความงามๆไปใช้เน้อเจ้า
  • เพราะจะทำ PP"สรุปไปให้ ผอ.ดู
  • ขอบคุณพี่หมอนน คนขยัน ที่กรุณาเป็น Note taker ที่ยอดเยี่ยม
  • พี่นนเก็บได้ละเอียดจริง ๆ ครับ

 

  • แอบมาดูก่อน
  • เพิ่งสอนนิสิตเสร็จ
  • หมดแรง
  • บันทึกได้ละเอียดมากๆๆเลยครับ
  • เอาเลยค่ะ เจ๊เขี้ยว มนัญญา
  • ต้องนี้ต้องชลอการลงบันทึกไว้ก่อน เพราะมามั่วงานอื่นๆ อยู่จ้ะ
  • มีอะไรให้หมดตัว ... อยู่ ... แล้ว ... ขอให้ได้ประโยชน์ก็ใช้ได้แล้วละค่ะ
  • Thank you ค่ะ หมอkong
  • กลัวคนที่ไม่ได้ไปขาดทุน ไม่รู้เรื่องกับเขาค่ะ

บันทึกยาวดีครับ สาระล้วนๆ

ผมต้องพยาม ทำแบบคุณหมอให้ได้

  • สวัสดีค่ะ อ.ขจิต ฝอยทองที่ปรึกษา~natadee
  • เพิ่งเห็น อ.ขจิต มีหมดแรงด้วย ได้ไง เสียชื่อหมด ... สงสัยรุ่นนี้จะกวนมากหรือคะ
  • บันทึกนี้เพื่อการเรียนรู้ค่ะ สิ่งดีดี ก็อยากให้ทุกคนได้รู้ด้วย แต่ว่า เขาต้องขยันอ่านหน่อยละกัน
  • ... แลกกันนะคะ เพราะว่า เราบันทึกเยอะ เขาก็ต้องอ่านเยอะด้วย
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท