นวัตกรรมไอซีที ตอนที่ 2


ที่สำคัญ Open Sorce นี้ควรพัฒนาทั้งหมดโดยคนไทย และร่วมกันพัฒนาจากทุกภาคส่วน ทุกคนจะได้รู้สึกว่าเป็นเจ้าของร่วมกัน เรียนรู้ที่จะเคารพในเรื่องลิขสิทธิ์กันให้มากขึ้น

วันแห่งการติดตามนวัตกรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ
(ตอนที่ 2)

ตอนบ่ายของวันที่ 5 กันยายน ผู้เขียนยังสนุกอยู่กับการท่องโลกนวัตกรรมโดยเราได้เดินทางกันมาที่เซ็นทรัลลาดพร้าวกับเพื่อนอี๋ เพื่อมาร่วมงานของอินเทลและ i-café (ซึ่งจัดโดยความร่วมมือของฟิวเจอร์เกมเมอร์และบริษัทอินเทลและบริษัทอื่นๆ) ทั้งนี้ได้เชิญผู้ประกอบการร้านเกมและร้านอินเทอร์เน็ตให้เข้ามาร่วมฟังนวัตกรรมใหม่ๆ ของทั้งอินเทล และ i-café และพันธมิตรรายอื่นๆ ส่วนผู้เขียนมาในฐานะของผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับร้านเกมและเรื่องเทคโนโลยีก็เลยได้รับการชักชวนมาร่วมงานด้วย


เทคโนโลยีที่เราเดินเที่ยวเล่นในช่วงบ่ายนี้ ค่อนข้างลงมาระดับเบ-เบถึงระดับกลางมากขึ้น (ไม่ advance เหมือนงาน ITU ตอนเช้า) สิ่งที่ผู้เขียนสนใจและเก็บมาเล่าให้ฟังต่อได้เห็นจะมีอยู่สักสองเรื่อง


หนึ่งคือ นวัตกรรม IPAT เวอร์ชั่น 4 ของอินเทล (อันนี้ไม่ได้โฆษณาให้ เพียงแต่เห็นว่ามันมีประโยชน์ในการจดจำเทคโนโลยีตัวนี้เอาไว้) หลักการของนวัตกรรม IPAT คือ เรื่องของการ Install OS และ Application อื่นๆ ที่แต่เดิมก็นับว่าสะดวกดีแล้วสำหรับผู้ที่ต้องดูแลคอมพิวเตอร์เยอะๆ เครื่องอย่างเช่นร้านเน็ต หรือศูนย์ฝึกอบรมต่างๆ แต่ของใหม่นี่สิ น่าสนใจเพราะมันทำให้สะดวกยิ่งกว่า


เทคโนโลยีของเก่า (ไม่น่าเรียกเทคโนโลยี แต่ควรเรียกว่า วิธีปฎิบัติแบบเดิมๆ มากกว่า) ผู้ที่ดูแลระบบคอมพิวเตอร์หลายๆ เครื่องถ้าไม่ใส่ Undo Card เพื่อให้เครื่องที่ใช้กันหลายๆ มือมีความเสถียรของระบบปฎิบัติการที่มากพอก็จะใช้วิธี Ghost Harddisk เอาไว้สำหรับบำรุงดูแลรักษาเครื่องให้ดูใหม่อยู่เสมอ (ซึ่งวิธี Ghost ปลอดจากไวรัส 100 เปอร์เซนต์ ยกเว้นติดไวรัสมาตั้งแต่ตอน Ghost กันแล้ว)


วิธีการ Ghost Harddisk ก็เหมือนการทำโคลนนิ่งฮาร์ดดิสก์ ซึ่งหากต้นฉบับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เราเพิ่งลงระบบปฎิบัติการใหม่ๆ ยังไม่ได้ใช้งานอะไรเลย เราก็เก็บค่าต้นฉบับเหล่านั้นไว้โดยผ่านวิธีการ Ghost (ซึ่งปัจจุบันก็เห็นว่าเริ่มเปลี่ยนมาใช้ซอฟท์แวร์ Acronis True Image กันบ้างแล้ว เนื่องจากปัญหาเทคนิคระดับ advance บางอย่าง) และเมื่อเครื่องคอมพิวเตอร์ถูกใช้งานไปบ้าง โดยเฉพาะถูกใช้งานโดยผู้ใช้แบบมากหน้าหลายตา ค่าของระบบปฎิบัติการก็อาจมีผิดเพี้ยนไปบ้าง ซึ่งเป็นที่มาของการรวนในการใช้งานซอฟท์แวร์ต่างๆ และเมื่อถึงสถานการณ์เช่นนี้ เราก็คงต้องพึ่งบริการของ Ghost ให้ช่วยรีเซตค่าคอมพิวเตอร์เครื่องที่รวนให้กลับมามีสภาพสดใหม่เหมือนดังเดิมทันที


แต่นวัตกรรมใหม่ที่ได้รับรู้มาในวันนี้ของอินเทล คือ โปรแกรม IPAT Version 4 (จริงๆ อาจไม่ใหม่สำหรับคนที่อยู่ในวงการนี้ เพราะนี่เขาก็พัฒนามาจนถึงเวอร์ชั่นที่ 4 กันแล้ว ซึ่งพัฒนาต่อมาจาก IPAT Version 3.1.5) โปรแกรมนี้เป็นโปรแกรมที่ช่วยในการ Flash BIOS / ช่วยในการติดตั้งโปรแกรมแบบคุณสมบัติโปรแกรม Ghost แต่เดิม เพียงแต่ในโปรแกรม IPAT นี้เขาเรียกวิธีการนี้ว่า Deploy / คุณสมบัติการป้องกันไวรัสเข้าสู่ตัวเครื่อง เพราะมีระบบที่ทำงานคล้ายกับ Undo Card จึงสามารถป้องกันได้ทั้งไวรัสและป้องกันระบบปฎิบัติการเสีย (หรือ OS มีปัญหา) / คุณสมบัติแบ่งเบาภาระในเรื่องการบริหารจัดการสำหรับผู้ดูแลระบบ (Manage Content Download & Service) ซึ่งเป็นงานที่ร้านเกมหรืออินเทอร์เน็ตต้องทำประจำทุกวัน เช่น เช็คเครื่อง เช็คซอฟท์แวร์ ฯลฯ (แทบไม่ต้องพูดถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้สำหรับการฝึกอบรม ซึ่งจะทำให้ผู้ดูแลระบบทำงานง่ายขึ้นมากทีเดียว แต่ลำพัง Undo Card ก็น่าจะเพียงพอ หากไม่ได้มีความจำเป็นที่ต้องใช้เครื่องที่แรงและเร็ว)


โปรแกรม IPAT นี้จะมาพร้อมกับตัวเมนบอร์ด (ที่เขาเรียกสินค้าเขาว่า "Intel Desktop Board") ซึ่งจะมีการกำหนดว่าเมนบอร์ดตัวใดแบบไหนจึงจะรองรับการใช้งานของ IPAT ได้ (ไม่ใช่ว่ามีโปรแกรมแล้วจะใช้งานกันได้ง่ายๆ แต่เล่นขึ้นอยู่กับเมนบอร์ดซึ่งเป็นหัวใจหลักของคอมฯกันเลยทีเดียว โดยส่วนตัวผู้เขียนเห็นว่านวัตกรรมตัวใหม่ของอินเทลนี้มีการป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ได้เป็นอย่างดี เพราะแทบจะเป็นการจำกัดสิทธิการใช้ (License) ชนิด 1 : 1 กันเลย เพราะไม่ได้ใช้ได้กับเมนบอร์ดของยี่ห้ออื่นๆ ด้วย จริงๆ ก็ไม่ต่างอะไรจาก Undo Card ชนิดที่เป็นฮาร์ดแวร์ เพราะนั่นก็ใช้ได้ 1 : 1 เหมือนกัน แต่คุณสมบัติอื่นๆ ก็ใช้งานได้น้อยกว่าของใหม่เขาอยู่ดี)


อย่างไรก็ตามเรื่องการจำกัดการใช้ว่าโปรแกรม IPAT นี้จะใช้ได้กับเมนบอร์ดของอินเทล แค่เพียงบางรุ่นก็กลับกลายเป็นหอกแหลมพุ่งกลับเข้าทิ่มแทงตัวเองอยู่ไม่น้อย เขาจึงพัฒนา IPAT Version 4 ออกมาเพื่อให้อิงการทำงานกับ Intel Desktop Board ได้หลากหลายรุ่นมากขึ้น (จากแต่เดิมที่ใช้งานได้น้อยรุ่น ยิ่งต่างยี่ห้อยิ่งไม่ต้องกล่าวถึง)


การทำงานของ Intel IPAT เขาบอกว่ามีเพียง 5 ขั้นตอนเท่านั้น คือ เตรียมระบบเน็ตเวิร์ค จากนั้นก็ติดตั้งไปที่เซิร์ฟเวอร์ แล้วก็ติดตั้งเครื่องต้นแบบ จากนั้นกระจายสู่เครื่องลูกข่าย แล้วก็เสร็จการลงระบบปฎิบัติการ สามารถเปิดร้านอินเทอร์เน็ตได้ทันที (รวดเร็วจริงๆ) จากที่ดูเขาสาธิตบนเวทีสัมมนา พบว่า ขนาดของข้อมูลที่จะกระจายจากเครื่องต้นแบบไปสู่เครื่องลูกข่ายสามารถทำงานได้เร็วมากมาก ชนิดที่ว่าขนาดข้อมูลตั้ง 8 GB. สามารถทำเสร็จได้ภายในเวลาไม่ถึง 4 นาที (ผิดกับโปรแกรม Ghost แต่เดิมที่แค่ 2 GB. ยังกินเวลาไม่น้อยกว่าครึ่งชั่วโมง)


สิ่งที่สองที่ได้จากการมาท่องโลกไอซีทีวันนี้ไม่ได้เกี่ยวกับนวัตกรรม เป็นเพียงสิ่งที่พบว่า เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาร้านเกมมากๆ นั่นคือเรื่องของ การเก็บ Log Files หรือการเก็บข้อมูลจราจรบนคอมพิวเตอร์ว่าคนที่มานั่งเล่นเครื่องนี้ เขาไปที่ไหนอย่างไรมาบ้าง (ไปเว็บไหนมาบ้าง ทำนองนั้น) ซึ่งเป็นการปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎหมาย ผู้เขียนเข้าใจเจตนาของกฎหมายดีว่า ต้องการให้เก็บสิ่งนี้ไว้เพื่อประโยชน์อันใด เพียงแต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้น (แบบผลข้างเคียง) ก็คือ

การเก็บ Log Files นี้จำเป็นต้องให้เอกชนลงทุนอะไรเพิ่มสักอย่าง ไม่ฮาร์ดแวร์ก็ซอฟท์แวร์ หรือต้องลงเพิ่มทั้งสองอย่าง ผู้เขียนเลยอยากเสนอว่า หากรัฐต้องการให้ผู้ประกอบการลงมือทำอะไรเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายสักอย่าง รัฐควรจะมีวิธีหรือทางเลือกให้กับผู้ประกอบการบ้าง เช่น ในกรณีนี้ขอเสนอให้ร่วมกันพัฒนา Open Sorce ทั้งสำหรับการเก็บ Log Files และหากโปรแกรมจะช่วยบริหารจัดการร้านเกมหรือร้านอินเทอร์เน็ตได้ก็ยิ่งดี

ที่สำคัญ Open Sorce นี้ควรพัฒนาทั้งหมดโดยคนไทย และร่วมกันพัฒนาจากทุกภาคส่วน ทุกคนจะได้รู้สึกว่าเป็นเจ้าของร่วมกัน เรียนรู้ที่จะเคารพในเรื่องลิขสิทธิ์กันให้มากขึ้น (เรียนรู้ว่ากว่าจะพัฒนาซอฟท์แวร์ขึ้นมาได้ มันช่างยากเย็นนัก เอาไปใช้ง่ายๆ มันน่าเจ็บใจยิ่ง)


บางทีเราอาจจะต้องเริ่มต้นอะไรบางอย่างที่ตัวเอง ในขณะที่บางครั้งภาครัฐก็ควรลงมือนำทางเอกชนไปก่อน เพื่อให้ธุรกิจเขาอยู่ได้ เมื่อเขาอยู่ได้ ผลประโยชน์อื่นๆ ก็จะกลับมาสู่ภาครัฐเอง เพียงแต่ว่าตอนนี้ เราคิดอะไรกันอยู่?

 

หมายเลขบันทึก: 206721เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2008 22:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 14:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท