สารคดี"แผ่นดินไท" ตอน ชุมชนเป็นสุข : วังตะกอ 1-2 น่าสนใจ


แผนชีวิต .....แผนแม่บทชุมชน..สร้างคนเป็นสุข

มาดูความสุขของชุมชน ...จากสารคดีแผ่นดินไท  ตอน วังตะกอ ชุมชนเป็นสุข 1-2

กำนันประวิทย์  ภูมิระวิ  หรือกำนันแคว็ด  เป็นกำนันตำบล วังตะกอ  อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร เล่าว่าอดีตชาวบ้านวังตะกอ ไม่ได้มีอาชีพปลูกปาล์ม แต่ทำสวนผลไม้ เช่นทุเรียน มังคุด และอีกหลายอย่าง แต่เมื่อผลผลิตออกเยอะในช่วงปี 2536-37 ชาวบ้านก็ประสบปัญหาเรื่อง ราคาผลไม้ที่ถูกอย่างมาก ชาวสวนผลไม้ส่วนใหญ่หมดหวังจากอาชีพชาวสวนผลไม้  ประกอบกับปาล์มน้ำมันได้ราคาดีขึ้นมาในช่วงนั้น  ชาวสวนผลไม้ตำบลวังตะกอ จึงโค่นมังคุดลง แล้วปลูกปาล์มน้ำมัน แทนสวนผลไม้ในพื้นที่ตนเอง    กำนันประวิทย์ กล่าวว่า เป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่เป็นชีวิตใหม่ในวัย 60 แล้ว....

เมื่อชาวบ้าน ทำสวนปาล์ม  สิ่งที่ตามมาก็คือ ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าหญ้า และยาฆ่าแมลง ที่ขาดไม่ได้สำหรับสวนปาล์ม........แม้กำนันเองก็ไม่เว้น  จนปี 2546-7  ตำบลวังตะกอ มีบุคคลจากภายนอกเข้ามาในชุมชน  มาร่วมจัดทำแผนแม่บทชุมชนตำบลวังตะกอ  ขึ้น ผลจากการจัดทำแผนแม่บทชุมชน ครั้งนี้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไป  เพราะยอดหนี้ของตำลง 147 ล้านบาท (มาจากยอดรวมของรายได้ของชาวบ้านทั้งตำบล ลบด้วย ยอดรายจ่ายของชาวบ้านทั้งตำบล เท่ากับ บวกคือไม่เป็นหนี้สิน แต่ถ้าเป็นลบ คือเป็นหนี้ ตำบลวังตะกอ เป็นหนี้ ณ.ขณะนั้น 147 ล้านบาท) หนี้สินขนาดนี้ ชาวบ้านจะหลุดหนี้ได้อย่างไร? ........

กำนันประวิทย์ ในฐานะที่เป็นผู้นำชุมชน คิดก่อนเลยว่า  เราคงต้องมาคิดเรื่องการลดรายจ่ายก่อน  สิ่งที่เป็นรายจ่ายหลัก คือ ปุ๋ย,ยาฆ่าหญ้า และยาฆ่าแมลง ในสวนปาล์ม (เพราะเห็นจากยอดรวมของค่าใช้จ่ายว่า ประมาณ 25 ล้านบาทต่อปี)  ถ้าลดรายจ่ายได้ก็จะทำให้หนี้สินลดลงไปด้วย...ลดอย่างไร?  กำนันก็คิดว่า ภูมิปัญญาดั่งเดิม คือ การเลี้ยงวัว  (เป็นเครื่องตัดหญ้าชั้นดี เพราะไม่กินน้ำมัน แถมเป็นโรงงานผลิตปุ๋ยชั้นดีอีกด้วย และพอสิ้นปีอาจจะมีโบนัสเป็นลูกวัว ครับ).......เมื่อคิดได้ ดังนั้น กำนันแคว็ดก็เริ่มก่อนเลย จาก วัว จำนวนหนึ่ง (ไม่เกิน 10 ตัว) ปัจจุบันปี 2551 ละแวกนั้น มีวัว ที่ขยายความคิดจากกำนันไปแล้ว  40-50 ตัวแล้ว...

แต่เป้าหมายของแผนแม่บทชุมชน  คือ การพึ่งตนเอง  กำนันประวิทย์ คิดว่าเพราะเราพึ่งคนอื่นอยู่ตลอด จึงทำให้เป็นหนี้สิน  ชาวบ้านมีแต่เอาเงินไปซื้อเอาอย่างเดียว ปุ๋ยเคมี, ยาฆ่าหญ้า,ยาฆ่าแมลง เพราะผลิตเองไม่ได้  แต่เมื่อชาวบ้านเรา ไม่ซื้อปุ๋ยเคมี ใช้ปุ๋ยขี้วัวไปรดต้นปาล์มแทน ไม่ใช้ยาฆ่าหญ้า ใช้วัวไปกินหญ้าในสวนปาล์มแทน..ประโยชน์ก็เกิด  .....แต่เกิดช้า ๆ ...กำนันต้องกล้าที่จะนำชาวบ้านในเรื่องนี้  .....เมื่อก่อน ถ้าตลาดรับซื้อ ผลผลิตปาล์ม กิโลละ 3 บาทชาวบ้านขาดทุน (เพราะค่าปุ๋ย,และค่ายาเคมีแพง) แต่ของกำนันประวิทย์ กิโลละ 1 บาทก็ไม่ขาดทุน.....เพราะปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ และซังปาล์ม ราคากิโลแค่ 2 บาท ในขนาดที่ปุ๋ยเคมี กระสอบ (50 ก.ก.) พันสี่ พันห้า ร้อย บาท.......

กิจกรรมนอกเหนือจากนั้น คือ ซังปาล์มก็นำมาเพาะเห็ด  ชาวบ้านในตำบลวังตะกอ จำนวนหนึ่งมีรายได้เสริมจากการเพาะเห็ดฟางด้วยซังปาล์ม...เลี้ยงแบบชีวภาพ(หมูหลุม)  นอกจากจะได้กินหมูที่ปลอดภัยแล้ว ยังได้ปุ๋ยมาใส่ปาล็มอีก (หรือนำไปผสมต่อที่กลุ่มผลิตปุ๋ยชีวภาพของตำบล ให้สมาชิกนำไปใส่ในสวนปาล์มของตนเองต่อไป

มีร้านค้าชุมชน ที่เป็นสวัสดิการของชุมชน ขายสินค้าไม่แพง หมูที่ชาวบ้านเลี้ยงกันเอง ก็นำมาขายที่นี่ ซึ่งเดิมชาวบ้านต้องไปอุดหนุน บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ผลิตไข่ ไก่ และหมู ขายชาวบ้านมานานแล้ว  นอกจากนั้นชาวบ้านได้เงินปันผลกลับไปด้วยเมื่อสิ้นปี แล้วยังทำประโยชน์ให้แก่ชุมชนได้อีก เช่นสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของสมาชิก เป็นต้น....หรือวิสาหกิจชุมชนที่เกิดขึ้นนั้น คือ โรงงานผลิตน้ำสะอาดตำบลวังตะกอ ดำเนินการมาได้ 2 ปี แล้วถึงแม้จะยังใหม่  แต่ดำเนินการมาด้วยดี ทำงานในรูปคณะกรรมการ ให้สมาชิกมาถือหุ้นกัน สิ้นปีมีการปันผล และจัดสวัสดิการให้แก่ชุมชน แต่ที่สำคัญ กำนันประวิทย์  บอกว่า เราไม่ได้ทำเรื่องนี้เพื่อทำธุรกิจแข่งกับโรงงานน้ำอื่น ๆ แต่เราทำเพื่อชาวบ้านเราจะได้บริโภคน้ำที่สะอาดจริง ๆ  เพราะโรงงานผลิตน้ำสะอาดของวังตะกอนั้น มีเครื่องกรองน้ำระบบอุลตร้าไวโอเลต ไม่น้อยกว่า 2 เครื่อง ในขณะที่อื่นเขามีเพียงเครื่องเดียว เพราะคำนึงถึงชาวบ้านควรจะได้รับสิ่งที่ดีจากคนในชุมชนด้วยกัน (ถ้าเป็นน้ำดื่ม ก็ต้องสะอาดเป็น 2 เท่า 4 เท่าของคนอื่นเขา)

นอกเหนือจากนั้น กำนันประวิทย์ ได้พาเราไปดู สวนป่าของตำบลวังตะกอ ที่เมื่อปี 2542  กำนันและชาวค่ายได้มาร่วมปลูก จำนวนไม่น้อยเลย 25,000 ต้น ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นทั้งหมด (ส่วนใหญ่เป็นตะเคียนทอง) อายุ 10 ปีแล้ว บรรยากาศร่มรื่น และเย็นสบายครับ....เป็นที่มาของธนาคารต้นไม้ ตำบลวังตะกอ ที่ดำเนินการมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ปี ล้วนสร้างป่า  สร้างปอด ของชาววังตะกอ  เป็นปอดของอำเภอหลังสวน อาจจะเป็นปอดของจังหวัดชุมพร   หรือไม่แน่อาจจะเป็นปอดของประเทศไทยก็ได้ครับ  กำนันท่านกล่าวไว้ท้ายที่สุด

ผลจากการจัดแผนแม่บทชุมชน ทำให้ชาวบ้านตำบลวังตะกอ ได้รู้จักตัวเองมากขึ้น ได้รู้ว่าตัวเองมีสิทธิในเรื่องอะไร?   ควรทำอะไรบ้างในปัจจุบันนี้  แล้วต่อไปจะทำอะไรอีก ทิศทางการพัฒนาตำบลของตัวเองจะเป็นอย่างไร? ...ถึงแม้ว่าชุมชนวังตะกอ จะเริ่มต้นด้วยความทุกข์  แต่มีเป้าหมายเพื่อความสุขของชุมชนเป็นหลักครับ...

จากรายการสารคดี "แผ่นดินไท"นี้ ทำให้เราได้เห็นปัญหา  และทางออกของปัญหา เพื่อนำพาชุมชนไปสู่ความสุขที่ยั่งยืนต่อไปครับ



ความเห็น (12)

ผม ซึ้ง ไปเลย ลืมสิ่งที่คนเฒ่าคนแก่ เขาสืบทอดกันมาก

แต่ลูกหลานมักจะลืมกันไป เลี้ยงวัวควายเพื่ออะไร

เลี้ยงไก่ เพื่ออะไร คนรุ่นก่อน เขาใช้ปุ๋ยแบบไหนปลูกพืช

ไม่ไหนมีปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ซะหน่อย

ผมคิดแล้ว อาย ครับ ที่ไม่ได้เรียนสิ่งเหล่านี้

จากปู่ของผม ทั้งที่มีโอกาส

ตอนนี้ท่านเสียไปนานแล้ว จะไปเรียนกับใครละ

เพราะเรามัวแต่ไปสนใจ สิ่งใหม่มากไป จนลืม

มรดกอันล้ำค่าของบรรพบุรุษ

ครับ....คุณ Akesilly เพราะเรามัวแต่ไปสนใจ สิ่งใหม่มากไป จนลืม มรดกอันล้ำค่าของบรรพบุรุษ...วัว เป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งที่มีชีวิต มีลูกมีหลานได้ครับ เขาทำหน้าที่ (เป็นสิ่งที่เขาต้องทำคือกินหญ้า) คนเก่าแก่โบราณเขานำวัวมาตัดหญ้ากันนานแล้ว นอกจากตัดหญ้าก็ได้ปุ๋ยไปด้วย(ไม่ต้องใช้EM)ผ่านโรงงานบด,ย่อยสลายมาแล้ว เรามีหน้าที่เพียง ปล่อยไว้อีก 2-3 วันก็ใช้งานได้ทันทีหรือผสมน้ำก็ใช้ครับ นอกเหนือจากนั้นยังนำเอาวัวมาเทียมแอก ลากคันไถ ทำนาได้ทุกปี  ...คนกับวัว กับควายอาศัยกันมานานแล้วครับ

หลวงแคว็ดแก่เก่งตั้งนานแล้ว หัวดี ก็เป็นเป็นความภาคภูมิใจของคนวังกอนะครับ

ฝากคิดถึงแก่ด้วย จาก คนไกลบ้านแถวๆอันดามัน

สวัสดีครับ คุณสมพงศ์

คนทำงานชุมชนมักคิดอะไรๆคล้ายกัน กำนันแคว็ด

ขานั้นนักทำแผนรุ่นแรก

พัทลุง ก็มีหลายคน ที่ให้พวกเรารุ่นหลังได้เรียนรู้

มีหลักคิดในการวางแผนชีวิตชุมชน

โดยการกลับคืนสู่รากเหง้า ตามภูมิปัญญาพ่อเฒ่าทำไว้ ในการดำรงวิถ๊

ประมาณว่า

เลี้ยงเป็ดไว้กินไข่

เลี้ยงไก่ไว้กินตัว

เลี้ยงวัวไว้ไถนา

เลี้ยงหมาไว้เฝ้าบ้าน

เลี้ยงม้าไว้เดินทาง

วัฒนธรรมแบบพึ่งตัวเอง

ถึงคุณไกลบ้านครับ พอดีผมได้ไปเยี่ยมกำนันเคว็ด มาเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมานี้ เอง ครับคุยกันหลายชั่วโมง .....จึงรู้ว่าเก่งจริงครับ แล้วเป็นผู้นำคนอื่นได้ เพียงแต่ว่าไม่ได้ดู G2K ก่อนจะได้ฝากเยี่ยมกำนันด้วยครับ

สวัสดีครับ ...บังหีม...ขอบคุณสำหรับหลักคิดดี ๆ ครับ

มีหลักคิดในการวางแผนชีวิตชุมชน

โดยการกลับคืนสู่รากเหง้า ตามภูมิปัญญาพ่อเฒ่าทำไว้ ในการดำรงวิถ๊

ประมาณว่า .....

เลี้ยงเป็ดไว้กินไข่ เลี้ยงไก่ไว้กินตัว

เลี้ยงวัวไว้ไถนา เลี้ยงหมาไว้เฝ้าบ้าน

เลี้ยงม้าไว้เดินทาง ....

เป็นวัฒนธรรมที่ไม่พึ่งพา แต่พึ่งตัวเองเป็นหลักตามวิถีของบรรพบุรุษ น่าสนใจครับ

ไว้มีโอกาสจะได้ไปเยี่ยม นักทำแผนชุมชนที่พัทลุง ครับ

ขอคุณมากครับคุณสมพงษ์ ที่ตอบมาให้ทราบ ผมก้าไม่ค่อยอิว่าง ว่าอิไปเยี่ยมเยียนสักคราว

วิถีชีวิตมันต่างกัน ก็ว่ากันไปครับ แต่ผมประทับใจการการฟื้นฟูป่าไม้ของแกเป็นพิเศษ เพราะผมคนใต้ คนบ้านป่า จึงชอบชีวิตที่ร่มรื่นของต้นไม้ แต่เรื่องอื่นก็ชอบไม่แพ้กัน

เด็กเดี๋ยวนี้ พอแหลงว่า คนบ้านป่า บัดสีกันม้วนปุดๆ เฮ้อ...

สวัสดีครับ คุณไกลบ้านครับ ...ส่วนเรื่องป่าไม้หรือป่ายั่งยืนของกำนัน เนื่องจากพื้นที่ของกำนันกินอาณาเขตไปเกือบถึงอำเภอพะโต๊ะ ทำให้เห็นความเป็นป่า และความเป็นสวนแตกต่างกันพอควร ขณะนี้พะโต๊ะเองก็ไม่แตกต่างจาก วังตะกอเลย เพียงการรุกเข้าไปปลูกปาล์มยังน้อยกว่ามาก เพราะมีสวนยางเป็นหลัก ปาล์มจึงยังรุกไม่ถึง สำหรับป่ายั่งยืน ของกำนัน ปลูกไว้บริเวณ หน่วยเพาะกล้าไม้ ห่างจากบ้านกำนันไม่ถึง 5 ก.ม. ทางไปพะโต๊ะครับ แต่กำนันไม่มองเพียงแค่สวนป่าแห่งแห่งเดียว แต่มองไปในสวนของชาวบ้านที่เริ่มปลูกไม้ยืนต้น(ตะเคียนทอง,สัก,จำปาทอง)บ้างแล้ว ใครอาสาจะทำก็มาแลกเปลี่ยนความรู้กัน บางคนปลูกแล้วตายไปกว่าครึ่งก็ยังไม่ท้อ วันที่ผมไปเยี่ยมกำนัน กำนันเองก็ซื้อพันธุ์กล้าสักทอง จากอ๋อมก๋อย จ.เชียงใหม่มาอีก แสนต้น(ประมาณครับ)เพื่อนำมาทดลองปลูกระหว่างต้นปาล์มน้ำมัน ถ้าได้ผลก็จะเป็นนวัตกรรมใหม่ของวังตะกอครับ

สวัสดีครับ คุณ สมพงษ์

ช่วงนี้ว่างเลยเข้ามาอ่านบ่อยๆ ดีใจครับที่คุณสมพงษ์ได้ถ่ายทอดความคืบหน้าของสังคมวังตะกอให้ฟังครับ บอกตรงๆแค่ได้อ่านก็ดีใจครับ นับว่าคนวังตะกอแสนจะโชคดีครับที่มีหลวงแคว็ด

สมัยตอนผมเด็กๆ ทิศตะวันตกของวังตะกอ ไปถึงคลองระ พะโต๊ะ พระรักษ์ ปังหวาน มีแต่ป่าใหญ่ เวลาวัดไหนจะสร้างเรือยาวสักลำ ก็เข้าไปหาไม้ในป่าเหล่านั้น สามารถเลือกได้เลยว่าจะเอาแบบไหน (เรือต้องเลือกต้นตรงๆ) แต่หลังจากนั้น มีขบวนการตัดไม้ขาย จะแอบอ้างด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ตัดแล้ว เอาช้างลากออกมา(เคยรู้จักคนตัดไม้ดี บางคนเป็นถึงผู้ใหญ่บ้าน)หรือแปรรูปกันในป่า แล้วขนมาขายอีกที

ในตอนนั้นผมคิดว่ายังไงๆ ไม้ต้องหมดแน่ๆ เพราะเริ่มเห็นบางที่เตียนโล่งแล้ว เป็นเขาหัวโล้น

มาถึงยุคหลวงแคว็ด แกทำนโยบายนี้ โคตรจะถูกใจเลยครับ

หากมีเวลาขะเข้ามาพบปะอีกนะครับ

ผมก็เพียงแต่แอบภูมิใจ ให้กำลังใจแกเท่านั้นแหละครับ ไม่มีโอกาสได้ร่วมือหรือช่วยเหลือแกแบบจริงจังสักที

สวรรค์มีตา เทวดามีใจครับ ความดีจงคุมครองคนดีด้วยครับ

คนไกลบ้านครับ

หาเวลาว่าง เดินศึกษาเส้นทาง "ทางทากและสายน้ำเชี่ยว(เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

หรือจะให้สุดยอดต้องเส้นทาง หลักไก่ต่อ -หลางตาง

รับรองสำนึกรัก หวงแหนภูมิลำเนาเข้าครบงำแน่ (ผมไปมาแล้วกับทีมหัวหน้า พงศา ครับ

อิอิ ขอคุณมากครับบัง

หากมีเวลาต้องศึกษาแน่นอนครับ

สวัสดีครับทั้งสองท่าน (คนไกลบ้าน)และ(บังหีม) เห็นว่าพอมีเวลาก็จะเข้ามาตอบครับ เพียงช่วงนี้ผมอาจจะห่างไปนิดหนึ่งเพราะไปจัดอบรม อบต./เทศบาล อยู่ครับ ขออภัยครับ ถ้าตอบช้าไปบ้าง....

ผมได้มีโอกาสนั่งรถพี่สุชาติ บัวสุวรรณ ที่ปรึกษากลุ่มออมทรัพย์เครือข่ายเกษตรกรรมธรรมชาติ ตำบล หรือบ้านปากทรง (ม.2)นี่หละครับ ได้เห็น วิวทิวทัศน์ ตั้งแต่เขตตำบลวังตะกอ ไปถึง บ้านคลองเรือ (คุณจินดา)ก่อนจะเข้าไปปากทรง(ถูกไม่ถูกขออภัยด้วยครับ)เข้าไปนอนที่กลุ่มออมทรัพย์ฯ หนึ่งคืน เห็นความเป็นป่าดิบอยู่บ้าง แต่น้อยลงไปแล้ว มีแต่สวน(คนเดียว)ส่วนใหญ่ จนคิดว่าถ้าเป็นอย่างนี้อีกซักระยะหนึ่งไม่ฟื้นฟูอย่างเข้าใจ ก็จะกลายเป็นสวนที่ พอหน้าร้อน ไม้ผลัดใบ ส่วนหน้าฝนน้ำหลากแรง และหน้าหนาว(พ.ย.-ม.ค.)เท่านั้นจะยังคงสภาพธรรมชาติ (จากเดิม สภาพเย็น ชื้น และครื้มตลอดทั้งปี) เพราะผมเคยไปครั้งแรกบ้านผมเอง(อ.สะเดา แถวเทือกเขาน้ำค้างรอยต่อกับอำเภอนาทวี) ครั้งที่สอง เป็นป่าแถว ๆ อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล (ลึกเข้าไปมาก ๆ)ภีมและปุ๊กเคยไปสร้างกระท่อมกลางป่ามาก่อน ครั้งที่สาม แถว คีรีวง บ้านพี่ตรีวุธ พาระพัฒน์ จังหวัดนครศรีฯ คราวนี้ ก็อำเภอพะโต๊ะ ต่อไปจนถึงเขต จังหวัดที่ได้ชื่อว่า ฝนมีแปดเดือน มีแสงแดดแค่สี่เดือนเอง "ระนอง" ความสมบูรณ์น่าจะเป็นที่สุดของภาคใต้แล้ว แต่ก็เหมือนกับคีรีวง ที่ประสบเหตุวาตภัยในปี 31 ที่อื่นเขามีบทเรียนแล้วไม่ทำแล้ว แต่พะโต๊ะยังไม่มีเหตุการณ์เป็นบทเรียนก็ยังไม่คำนึงถึง....ถ้าได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กันจริง ๆ สิ่งที่ หลวงเคว็ดคิดทำเป็นเรื่องยิ่งใหญ่มากครับผม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท