GotoKnow

ตอบคำถามคุณNidNoi ทำไมคนไทย ไม่ชอบอ่าน help

Mitochondria
เขียนเมื่อ 23 มีนาคม 2549 20:28 น. ()
แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2555 14:36 น. ()
ผมเข้าใจว่า KM ที่เราพยายามที่จะจัดการความรู้ ก็ไม่น่าจะสนับสนุนให้คนเราได้ความรู้ในฐานะผู้ขอ แต่น่าจะสนับสนุนให้เราแลกเปลี่ยนความรู้ในฐานะผู้ให้เสมอกัน
     ครั้งแรกที่อ่านข้อเขียนนี้ของคุณ NidNoi ผมรู้สึกเฉยๆ และตอบไปในเชิงเล่นๆ เสียมากกว่าว่ามันเป็นนิสัยของคนไทย แต่อะไรสักอย่างทำให้สะดุดนึกไปถึงนิสัยคนญี่ปุ่นที่เคยเขียนไปแล้ว เอะทำไมนิสัยนี้ไม่เป็นในหมู่คนญี่ปุ่นบ้าง อะไรเป็นสาเหตุให้คนไทยมีนิสัยไม่ยอมอ่านทั้งๆที่มันมีให้อ่านอยู่ตรงหน้า แต่เลือกวิธีการถามแทน แล้วที่สำคัญมักจะเลือกถามเพื่อน แทนที่จะถามจากผู้รู้ หรือครูบาอาจารย์ทั้งที่ก็รู้อยู่เต็มอกว่าไอ้คำตอบที่ได้ ก็ 50:50 อาจจะถูกหรือผิดก็ได้
     อย่างแรกที่นึกถึง หรือเป็นความล้มเหลวของระบบการศึกษาของเมืองไทย ที่ไม่สามารถสอนให้คนไทยสามารถหาความรู้ใส่ตัวเองด้วยความสามารถของตัวเองได้ ระบบการศึกษาของบ้านเราสอนให้เราอ้าปาก เพื่อให้คุณครูเอาวิชาความรู้มาใส่ในปาก จนมือไม้ของนักเรียนอ่อนล้า และลีบไปในที่สุด การเรียนในระบบท่องจำ ที่เน้นผู้ที่รู้มากคือผู้ที่สามารถจำได้มากที่สุด น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งของต้นตอปัญหานี้ การท่องจำโดยไม่รู้ที่มาที่ไป น่าจะเป็นอันตรายต่อผู้เรียนในระยะยาว เพราะความรู้ที่ได้มาก็เหมือนนกแก้ว นกขุนทอง ได้แต่พูดแต่ไม่รู้จักความหมายที่แท้จริง ซึ่งไม่น่าจะนับว่าเป็นความรู้ได้ แต่ผลที่ได้คือนักเรียนที่เรียนอย่างนี้ได้คะแนนดี ในขณะที่นักเรียนอีกกลุ่มหนึ่งที่เริ่มฝึกที่จะคิดเป็น ถามเป็น หรือเริ่มออกนอกกรอบที่คุณครูขีดไว้ กลับได้คะแนนน้อย นี่เรากำลังสนันสนุนให้เด็กคิดเองเป็นกันอยู่หรือเปล่า หรือเรากำลังสนันสนุนให้เด็กเชื่อในทุกสิ่งที่ได้ยิน จนกระทั่งไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรถูกหรืออะไรผิด เป็นเรื่องน่าแปลกอีกอย่าง ถ้าเราให้เด็กหรือแม้แต่รุ่นผู้ใหญ่อย่างพวกเราก็ตามวาดรูปวิว มากกว่าร้อยละ 90 จะวาดออกมาด้วยรูปแบบเดียวกันเป๊ะทั้งประเทศ ไม่ว่าจะอยู่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน หรือภาคใต้ ในรูปนั้นจะต้องมีภูเขาอย่างน้อยสองลูก อยู่ตรงกลางภาพ มีพระอาทิตย์กำลังขึ้นอยู่ระหว่างกลางเขาทั้งสองลูก ด้านใต้ของภูเขาจะเป็นอ่าว รูปโค้ง มีเรือใบอยู่ในทะเล มีนกเป็นรูปตัวเอ็มบินอยู่บนท้องฟ้า อย่างดีก็จะมีต้นมะพร้าวอยู่บริเวณชายหาด อะไรทำให้เราก็อบปี้ความคิดเรื่องวิวออกมาได้เหมือนกันทั่วประเทศ ถ้าไม่ใช่ความล้มเหลวของระบบการศึกษา
     อีกอย่างคือเราสบายกันจนเคยตัว เกือบจะทุกสิ่งที่เราได้มา บางครั้งมันได้มาง่ายเกินไป จนเราลืมนึกถึงคุณค่าของการได้มา ความสบายจนเคยตัวทำให้เราอยู่ในฐานะของผู้ขอ แต่ก็ไม่เคยมีใครคิด รู้สึกเหมือนกับว่าการขอเป็นเรื่องปกติ สามัญจนจะกลายเป็นวัฒนธรรมของชนชาติไทย หรืออาจจะเป็นนิสัยประจำชาติกันไปแล้ว การขวนขวายด้วยตัวเองเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้เพื่อเปลี่ยนสถานะจากผู้ขอเป็นผู้รู้เพื่อที่จะให้ ถือเป็นชนกลุ่มน้อย อย่างไรก็ตามการเป็นชนกลุ่มน้อยก็ยังเป็นไปในลักษณะของการสนับสนุนให้ผู้ขอขอต่อไป ผมเองก็จัดอยู่ในชนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้เหมือนกัน เพราะจะคอยบอกทุกเรื่องที่รู้ โดยลืมนึกไปว่าเขาควรจะขวนขวายในบางเรื่องเพื่อที่จะรู้ แล้วเราช่วยเสริมในเรื่องที่เขายังไม่รู้ ผมอดนึกถึงเจ้าหนุ่มญี่ปุ่นที่ตอบปฏิเสธสาวไทยที่ไปขอให้ช่วยอธิบายการใช้โปรแกรมไม่ได้ เขาบอกว่า ให้ไปอ่านหนังสือเองก่อน ภายหลังจากที่พยายามอ่านเองแล้วไม่เข้าใจ กลับไปถามใหม่ เขาก็ตอบว่า  you ยังอ่านไม่มากพอ ให้กลับไปอ่านใหม่ คนเช่นนี้โตในบ้านเมืองเรายากครับ น่าจะตายก่อนที่จะโตด้วยซ้ำ เพราะมันแล้งน้ำใจขนาดที่คนไทยรับกันไม่ค่อยจะได้ แต่เขาก็ไม่สนับสนุนให้คนได้อะไรมาง่ายๆเหมือนกัน ผมเข้าใจว่า KM ที่เราพยายามที่จะจัดการความรู้ ก็ไม่น่าจะสนับสนุนให้คนเราได้ความรู้ในฐานะผู้ขอ แต่น่าจะสนับสนุนให้เราแลกเปลี่ยนความรู้ในฐานะผู้ให้เสมอกัน ผมรู้อย่างนี้ คุณรู้อย่างไร เหมือนกันหรือไม่ ต่างกันตรงไหน ทำไมคุณจึงทำอย่างนี้ ทำอย่างนั้นแล้วดีกว่าที่เราทำอยู่หรือเปล่า ขอลองทำแบบคุณบ้างซิเผื่อว่ามันจะดีกว่าที่ผมทำอยู่ ...... มากกว่าที่เราจะบอกว่า เอ้าวันนี้จะมีอะไรมาพูดให้ฟัง ก็ว่ามาได้เลย ผมคอยจดแล้ว.......
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized 

ความเห็น

Patrickz
เขียนเมื่อ

...ผมคิดว่าที่ผ่านมา ผมก็เจอคนประเภทนี้มากพอสมควร ประเภทที่เฝ้าค่อยแต่จะถาม  แต่ไม่แม้แต่จะพยายามหาอ่านเอาเอง   อีกประเภทที่ผมมักเจอคือ  พวกที่กลัว alert box ต่างๆ....
ไม่รู้จะกลัวมันทำไมนักหนา

  ยุคที่ความรู้เป็นศึกษาตลอดชีวิต  หมายความว่าศึกษาไปจนตายก็ไม่หมด มนุษย์เก็บเกี่ยวความรู้ไว้มากมายมหาศาล และจะยิ่งมากยิ่งขึ้นทุกวัน  แต่ถ้าเราไม่เรียนรู้ที่จะศึกษา ค้นคว้า หาความรู้ได้ด้วยตนเองนี่จะลำบาก 

พี่เม่ย
เขียนเมื่อ
แย้งอีกแล้วค่ะ (แล้วไม่ต้องไปฟ้องคนใกล้ตัวนะ..ว่าพี่เม่ยแย้งมาอีกแล้ว)...
  • พี่เม่ยคิดว่า KM ที่คุณไมโตสื่ออยู่นั้น คือกระบวนการ ลปรร.เท่านั้นนะคะ ยังมีเครื่องมืออีกหลายๆตัวของ KM ที่ต่อยอดความรู้กันได้ด้วยการสอน แม้แต่การขอ(ปรึกษา) ก็ถือเป็นการค้นหาความรู้ได้เหมือนกันค่ะ
  • แต่เห็นด้วยว่าเราสบายกันจนชิน สงสัยอะไรก็ถามผู้รู้ สะดวก สบาย แถมมีคนคอยรับผิดให้อีกต่างหาก..ถ้าบังเอิญ "ผิด"
  • และเห็นด้วยว่าเด็กๆมักจะรับความรู้แบบป้อนมากเกินไป เชื่อทุกอย่างที่มีคนอื่นบอก พี่เม่ยจึงสอนลูกๆให้ค้นคว้าหาความรู้ด้วยตัวเองมาตลอด สงสัยอะไรก็ค้นคว้าเอง คิดเอง ทำรายงานก็ค้นเอง เรามีหน้าที่ให้ แนวคิด เท่านั้น จนกว่าลูกจะจนปัญญานั่นแหละ..เราจึงจะเข้าไปช่วยเห็นผลนะคะ..เด็กๆโตขึ้น ก็สามารถเรียนรู้ได้แบบ สบาย.. สบาย.. และใช้  Help เป็นค่ะ
nidnoi
เขียนเมื่อ
  • บางทีอยู่ที่นิสัยส่วนตัว   ถามไปเรื่อย   ถามซะละเอียดเชียว   ไม่กลัวเสียฟอร์ม   แต่บางคนไม่ชอบถาม  ยอมเสียเวลาหาทางเอาเอง   ขนาดหลงทางยังไม่ถามเลย   พวกนี้ฟอร์มจัด..
  • บางทีอยู่ที่สภาพแวดล้อม     ถ้ามีผู้รู้ใจดีแบบพี่ไมโต  ให้ถามได้บ่อยๆ..และได้คำตอบดีๆ    แล้วทำไมจะไม่ถามล่ะ  มันประหยัดเวลาแรงงานและทรัพยากรส่วนบุคคลได้ตั้งเยอะ    แต่ถ้าไปเจอผู้รู้...ใจร้าย..แบบ....(ใคร ?)  จนปัญญาแค่ไหนก็ไม่ถามหรอก
ขจิต ฝอยทอง
เขียนเมื่อ
  • ผมคิดว่าระบบการศึกษาไทย บางที่ระบบหลายอย่างควรแก้ไข เช่นเราสอนให้นักเรียนรู้จักการค้นคว้าหาความรู้เองแต่ การสอบ การวัดประเมินผลใช้ระบบความจำ นักเรียนเลยถามผมว่า อาจารย์สอบแบบนี้ ไม่เห็นเหมือนข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยเลย
  • ปัญหาเรื่องการอ่าน คนไทยส่วนมากไม่ชอบอ่านหนังสือ ใครมีความคิดเห็นอื่นๆบอกบ้างนะครับ
  • ขอบคุณ คุณสุคนธ์ที่ทำให้ต่อมความคิดผมได้ใช้บ่อยๆครับ
mitochondria
เขียนเมื่อ
     ผมเห็นด้วยกับคุณขจิตครับ เรื่องที่เราเอาวิทยาการสมัยใหม่เข้ามา แต่เอามาใช้ไม่หมด แล้วก็กลายเป็นวิทยาการแบบไทยๆ ที่หัวมังกุด ท้ายมังกร ไม่ว่าจะเป็นการเรียนแบบหนึ่ง แล้วการวัดผลเป็นอีกแบบหนึ่ง เหมือนที่คุณขจิตยกตัวอย่าง แต่เวลาถามเขา เขาก็จะตอบด้วยความภาคภูมิใจที่ใช้ได้วิทยาการชั้นเลิศเข้ามาบูรณาการในระบบการศึกษา เพียงแต่ลืมดูว่าเด็กที่จบมามีคุณภาพที่เหมาะสมหรือไม่ แม้แต่ในมหาวิทยาลัย ถ้าไม่โกหกตัวเอง เด็กหลายคณะจบมาแล้วมีความรู้ในระดับที่ทำงานไม่ได้ ซึ่งในความเห็นของผม ผมคิดว่าเกิดจากระบบในมหาวิทยาลัย ที่เด็กมีปัญหาไม่จบ ถือเป็นปัญหาของอาจารย์ต้องชี้แจง อาจารย์หลายท่านไม่อยากมีปัญหายุ่งยาก ก็เลยต้องปล่อยให้เด็กจบ จบไปโดยระดับความรู้ไม่ถึงเกณฑ์ที่ควรให้จบ ผลก็คือ มีเสียงด่าตามหลัง ว่าเด็กจบจากสถาบันการศึกษาบางที่แล้วทำงานไม่เป็น ซึ่งน่าจะเป็นผลเสียต่อความน่าเชื่อถือของสถาบันเหล่านั้นในระยะยาว เรื่องอย่างนี้ คุยกันยาวครับ หรือท่านมีความเห็นว่าอย่างไรบ้างครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท
ภาษาปิยะธอน (Piyathon)
เขียนโค้ดไพทอนได้ด้วยภาษาไทย