บันทึกเรื่องราว (ตามมุมมองของนักวิจัย)


      ก่อนที่จะไปตราด  ทุกพื้นที่ได้รับการประสานงานจากทีมกลางให้ทำการบ้าน  โดยทีมกลางมีโจทย์มาให้  ตอนแรกผู้วิจัยก็นึกว่าจะให้ออกไปนำเสนอธรรมดา  ก็เลยไม่ได้เตรียมเอกสารไป  พอไปถึงอาจารย์เบียร์มากระซิบว่า "พี่อ้อมเขียนได้กี่หน้า  เบียร์เขียนได้แค่ 7 หน้าเอง"  ผู้วิจัยถึงกับงง  ไม่รู้จะทำอย่างไร  สุดแสนจะเหนื่อยและง่วง  หวังว่ามาถึงตราดจะได้นอนพักให้สบายอุรา  แต่กลับได้รับคำถามนี้  ผู้วิจัยกับอาจารย์พิมพ์ก็เลยยืมโน๊ตบุ๊คของพี่ต๋อมมาเพื่อที่จะเขียนรายละเอียดลงไป  ตอนเช้าค่อยไปหาที่ถ่ายเอกสาร  แต่ก็ฝืนสังขารไม่ไหว  หลับไปตอนเกือบตี 5  พิมพ์ก็ยังไม่เสร็จ  เลยไม่ได้ถ่ายเอกสารแจกผู้เข้าร่วมประชุม  นี่เป็นส่วนหนึ่งของการบันทึกค่ะ  ก็เลยเอามาลง Blog  ให้อ่านกันค่ะ

      กิจกรรมจัดการความรู้
 
     กิจกรรมปกติของเครือข่าย  กลุ่ม  สมาชิก  (ใส่ความรู้ (ปัญญาปฏิบัติ)  อะไรเข้าไป)
     1)    เครือข่าย  กิจกรรมปกติของเครือข่ายมีหลายกิจกรรม  เช่น  การประชุมเครือข่ายทุกอาทิตย์ที่ของเดือน  การจัดกิจกรรมร่วมกับหน่วยงานสนับสนุน  เป็นต้น  สำหรับความรู้  ปัญญาปฏิบัติที่ใส่ลงไปก็แล้วแต่จุดประสงค์
     2)    กลุ่ม  กิจกรรมปกติของกลุ่ม  คือ  การรับเงินออม  และการประชุมคณะกรรมการ  (คงจะมีมากกว่านี้ค่ะ)   ในการประชุมทุกครั้งคณะกรรมการจะนำสิ่งที่เป็นปัญหา  ต้องแก้ไขมาพูดคุยเพื่อระดมความคิดและหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน
     3)    สมาชิก  กิจกรรมปกติของสมาชิก  คือ  การนำเงินมาออม  (ถ้าสมาชิกคนไหนกู้ยืมเงินจากกองทุนหมุนเวียนก็ต้องนำเงินมาชำระหนี้ด้วย)       
                  
     กิจกรรมเพิ่มเติมให้กับเครือข่าย  กลุ่ม  สมาชิก  (ใส่ความรู้  (ปัญญาปฏิบัติ)  อะไรเข้าไป)
    1)    เครือข่าย  ผลจากการประชุมเครือข่ายฯ  เมื่อเดือนธันวาคม  2549  คณะกรรมการเครือข่ายฯและผู้เข้าร่วมประชุมมีมติให้เครือข่ายฯ  จัดการประชุมเครือข่ายฯสัญจรไปตามพื้นที่ต่างๆ  จำนวน 6 พื้นที่  เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม  2549  เป็นต้นไป (รายละเอียดอ่านได้ใน Blog ค่ะ) ทั้งนี้เพื่อเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศ  กระตุ้นคณะกรรมการ  เห็นตัวแบบการพัฒนาองค์กร  การบริหารจัดการ  ของกลุ่มต่างๆ
    นอกจากนี้แล้วในการประชุมเครือข่ายฯสัญจร  ครั้งที่ 1/2549  เมื่อเดือนมกราคมที่
ผ่านมาได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานจำนวน 10 คน  เพื่อให้เข้ามาวางแผนและบริหารงบประมาณของโครงการฯ  ต่อมาในการประชุมเครือข่ายฯสัญจร  ครั้งที่ 2/2549  ในเดือนกุมภาพันธ์  คณะทำงานทั้ง 10 คน  ได้ร่วมกันวางแผนงานและงบประมาณ (รายละเอียดอ่านได้ใน Blog ค่ะ)  โดยแผนงานเน้นที่    การประชาสัมพันธ์  สร้างความรู้  ความเข้าใจ  การขยายผล  และการเชื่อมประสาน
    2)    กลุ่ม จากการวางแผนของคณะทำงานทั้ง 10 คน  (รายละเอียดอ่านได้ใน Blog ค่ะ) 
นักวิจัยมีความเห็นว่าแผนงานที่คิดกันขึ้นมาเน้นไปที่การขยายผล  และการเชื่อมประสาน  ซึ่งยังไม่ครบเป้าหมายของการจัดการความรู้  โดยเฉพาะในเรื่องการบริหารจัดการ  และการจัดกิจกรรมจัดการความรู้ให้กับสมาชิก  ดังนั้นเมื่อทีมวิจัยทั้ง 3 คน  ได้แบ่งหน้าที่กันดูแล 5 กลุ่มเป้าหมาย  ทั้งนี้เนื่องจากเหตุผลหลายประการ  เช่น  เวลาของทีมวิจัยแต่ละคนไม่ตรงกัน  หากต้องรอกันอาจทำให้งานล่าช้า  กลุ่มเป้าหมายค่อนข้างอยู่ไกลกัน (ในเชิงพื้นที่)  เป็นต้น  นักวิจัยจึงได้ลงพื้นที่เพื่อพูดคุย  และวางแผนกิจกรรมการจัดการความรู้ร่วมกันเพิ่มเติมเพื่อให้ครอบคลุมระดับและประเด็นที่ตั้งเป้าหมายไว้
     ขณะนี้นักวิจัยได้ลงไปพูดคุย  ทำความเข้าใจเบื้องต้นในประเด็นนี้แล้วใน 3 กลุ่ม  พร้อมกับนัดหมายวัน  เวลา  ในการมาประชุมวางแผนร่วมกันแล้ว  ณ  วันนี้มี 1 กลุ่มที่ได้ดำเนินการวางแผน (เบื้องต้น) เสร็จสิ้นแล้ว  คือ  องค์กรออมทรัพย์บ้านดอนไชย (รายละเอียดกำลังจะนำลงใน Blog ค่ะ)  พร้อมกันนี้คณะกรรมการได้ประเมินตนเองตามตารางอิสรภาพด้วย
     นอกจากนี้แล้วนักวิจัยยังได้แนะนำให้กลุ่มเขียนบันทึกของตนเองด้วย  โดยกลุ่มแรกที่มีบันทึกของตนเองเผยแพร่ทาง Blog  คือ  องค์กร   ออมทรัพย์ชุมชนบ้านดอนไชย  เมื่อเสร็จสิ้นโครงการ  นักวิจัยเชื่อว่าคงมีอีกหลายกลุ่มที่มีบันทึกของตนเอง 
     3)    สมาชิก  ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการวางแผนกิจรรมการจัดการความรู้ในระดับสมาชิก 
สำหรับกลุ่มแรกที่ได้มีการวางแผนกิจกรรมจัดการความรู้ในระดับสมาชิกไปแล้ว  คือ  องค์กร   ออมทรัพย์ชุมชนบ้านดอนไชย  โดยแผนในเบื้องต้น  คือ  การอบรม  ให้ความรู้  สร้างเจตคติเกี่ยวกับความสำคัญของการออม (ประเด็นประมาณนี้ค่ะ)  
 
     กิจกรรมเรียนรู้เพิ่มเติมของนักวิจัยและคุณอำนวย
     1)   นักวิจัย สำหรับกิจกรรมเรียนรู้เพิ่มเติมของนักวิจัยนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเด็น
ใหญ่ๆ  คือ
                        1.1)   กิจกรรมการฟัง  โดยการเข้าร่วมการประชุม  สัมมนา  รวมทั้งการพูดคุย  สนทนา  (ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ)  ในประเด็นเกี่ยวกับการจัดการความรู้  องค์กรการเงินชุมชน  การจัดสวัสดิการชุมชน  มุมมองเกี่ยวกับการทำงานกับชุมชน
                        1.2)   กิจกรรมพูด  ทดลองพูดให้กับคน 4 กลุ่มฟัง  ได้แก่  นักศึกษา  อาจารย์ (ด็อกเตอร์)  หน่วยงานสนับสนุน  คณะกรรมการเครือข่ายและกลุ่ม  (องค์กร)  ในประเด็น        “การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาองค์กรการเงินชุมชน (เครือข่ายองค์กรออมทรัพย์ชุมชนจังหวัดลำปาง)”  จากการประเมิน  (โดยสายตาและความรู้สึก) ของนักวิจัย  เห็นว่า  คนทั้ง 4 กลุ่มนี้มีปฏิกิริยาที่ไม่เหมือนกัน  กล่าวคือ 
                                    - นักศึกษา  มีความเข้าใจในประเด็นเกี่ยวกับการออมเพื่อจัดสวัสดิการแก่ชุมชน  (วัดจากเวลาสอนหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสดี  พยักหน้าเป็นระยะ  ยกมือถามเมื่อไม่เข้าใจ  บางคนตามไปถามถึงห้องพักอาจารย์  บางคนประยุกต์เขียนในการตอบข้อสอบ)  แต่คงไม่เข้าใจในเรื่องการจัดการความรู้  (วัดจากเวลาพูดถึงประเด็นนี้นักศึกษาจะเริ่มคุยกัน  ไม่ค่อยฟัง  บางคนเหม่อลอย  บางคนทำหน้าบอกบุญไม่รับ  บางคนถอนหายใจ  บางคนหลับ  หลายคนสลับกันเดินเช้าออกห้องเรียน  ที่สำคัญ  คือ  ไม่มีใครเขียนประเด็นนี้ลงในข้อสอบเลย)
                                    -  อาจารย์  (ดอกเตอร์)  ไม่สามารถวัดได้ว่าผู้ฟังไม่เข้าใจ  หรือนักวิจัยไม่เข้าใจเลยพูดไม่รู้เรื่อง  หรือทั้งสองฝ่ายต่างคนต่างไม่เข้าใจ  หรือทั้งสองฝ่ายเข้าใจแต่เข้าใจคนละมุม  (นักวิจัยก็งงเหมือนกันว่าตกลงเป็นยังไงกันแน่) แต่ที่แน่ๆหลังจากนักวิจัยพยายามอธิบายมาแล้วอย่างต่ำ 3 รอบ  ก็พาลทำให้รู้สึกหงุดหงิดมากถึงมากที่สุด  (หงุดหงิดทั้งตัวเองและผู้ฟัง)  ก็เลยบอกให้อาจารย์ท่านไปหาหนังสือเกี่ยวกับการจัดการความรู้มาอ่าน  หรือเข้าไปอ่านในเว็บไซด์ของ สคส. ก็ได้  (ตั้งแต่แนะนำอย่างนี้ไปก็ยังไม่ได้คุยอย่างเป็นจริงเป็นจังกับอาจารย์ท่านนี้เลย  ทำให้ยังไม่ทราบว่าผลจะเป็นอย่างไร)
                                    -  หน่วยงานสนับสนุน  เป็นกลุ่มที่วัดยากที่สุด  เพราะ  เท่าที่ไปคุยกับหน่วยงานสนับสนุนระดับต่างๆมา  ดูเหมือนว่าทุกหน่วยงานจะมีปฏิกิริยาที่เหมือนกัน  คือ       พยักหน้าและยิ้ม  จากนั้นก็ชวนคุยเรื่องอื่น  สัพเพเหระ  นักวิจัยเลยประเมินไม่ได้ว่าหน่วยงานเหล่านี้เข้าใจหรือไม่
                                    -   คณะกรรมการเครือข่ายและกลุ่ม  (องค์กร)  คิดว่าเข้าใจสิ่งที่นักวิจัยพูด  แต่ปัญหาน่าจะอยู่ตรงที่นักวิจัยจะต้องพัฒนาเทคนิคการพูดให้น่าสนใจมากกว่านี้
                       1.3) กิจกรรมการอ่าน  พยายามขอความร่วมมือกับตัวเองให้อ่านหนังสือ  เอกสารต่างๆทุกวัน  โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการจัดการความรู้  องค์กรการเงินชุมชน  การจัดสวัสดิการชุมชน  รวมทั้งเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้อง (หรือน่าจะเกี่ยวข้อง) กับประเด็นที่กำลังศึกษาวิจัยอยู่  แต่ก็ไม่ค่อยมีความคืบหน้ามากนัก  เพราะ  มีงานเยอะ  ทำงานไม่ทัน  โอกาสไม่อำนวย  อ่านไม่เข้าใจ  แต่ยังไงก็จะพยายามทำต่อไปค่ะ
                        1.4)    กิจกรรมการเขียน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเขียนบันทึกของตนเองลงใน Blog  จากการประเมินของนักวิจัยเห็นว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่นักวิจัยทำได้ดีที่สุด  แต่ก็ยังมีสิ่งที่ต้องปรับปรุงอีกหลายอย่าง  เช่น  ต้องมีการสรุปและวิเคราะห์ประเด็นให้ชัดเจนกว่านี้  ใช้สื่อ  ได้แก่  รูปภาพ  ในการอธิบายเพื่อก่อให้เกิดความชัดเจนและเข้าใจง่าย                              
     2)  คุณอำนวย  กิจกรรมการเรียนรู้เพิ่มเติมของคุณอำนวยน่าจะเป็นความรู้ที่ได้จากการเข้าร่วม
ประชุม  สัมมนา  แสดงความคิดเห็น  ในประเด็นต่างๆ

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 20010เขียนเมื่อ 20 มีนาคม 2006 19:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท