เมื่อวาน (15 มี.ค.) ได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมการเตรียมความพร้อมให้นิสิตก่อนฝึกงาน โดยวิทยากรจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ระหว่างกิจกรรม มีประโยคหนึ่งที่ฟังแล้วต้อง หยุด!ทำความเข้าใจแล้วคิดต่อ ก็คือคำว่า " คืนกำไรให้สังคม"
ทำอย่างไรจะไม่ให้มีช่องว่างระหว่าง มหาวิทยาลัย กับ ชุมชน หรือที่สื่อกำลังนิยมคำว่า "รากหญ้า"
มีโอกาสกล่าวฝากนิสิตฝึกงานในฐานะ ผู้ประสานการฝึกปฏิบัติงานวิชาชีพเภสัชศาสตร์ นิสิตโปรดนำสาร ไปสื่อ กับชาวบ้าน ด้วยว่า "ขอบคุณ ที่ภาษีของทุกท่าน ได้ทำให้พวกคุณมีโอกาสศึกษา ในมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพ มีอาจารย์ที่มีความสามารถด้านวิชาการสูง มีสภาพแวดล้อมที่ดี มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย" และวันนี้ พวกเรานิสิตทั้งหลาย มีโอกาสได้มาฝึกงาน แม้เป็นเวลาเพียง 2 สัปดาห์ แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญเพื่อเตรียมความพร้อมของพวกเราในอนาคตที่จะไปทำหน้าที่ที่สังคมได้กำหนดบทบาทให้เป็น "หมอยา" และฝากความหวังไว้ ว่าเราจะเป็นผู้ที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพให้ท่านทั้งหลาย ได้ในอนาคต ต่อไป
สิ่งที่ติดตัวนิสิตมาคือ รูปร่าง หน้าตา ทรัพย์สินเงินทองที่ผู้ปกครองหาไว้ให้ และมหาวิทยาลัยก็ช่วยหล่อหลอมความคิด ปัญญาให้คุณระดับนึง แต่สิ่งที่นิสิตจะต้องสร้างให้กับตัวเอง เพราะไม่มีใครจะนำมามอบให้นิสิตได้ก็จะเกิดขึ้นจากการใช้โอกาสที่จะออกไปฝึกงาน ณ สถานีอนามัย ครั้งนี้ นิสิตจะได้สิ่งใดบ้าง ลองฟังดูนะ
1. ได้มีโอกาสนำองค์ความรู้จากห้องเรียนไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชน และเป็นส่วนหนึ่งในระบบสาธารณสุขขั้นพื้นฐานของประเทศอย่างแท้จริง ได้เห็นของจริง สัมผัสจริง ว่าต่างจาก power point ที่เห็นในชั้นเรียน แค่ไหน อย่างไร และสามารถเชื่อมโยงความรู้ กับ ความสถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างไร
2. ได้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพด้านสังคม ไม่ว่านิสิตจะมาจากครอบครัวแบบใดก็ตาม วันนี้ นิสิตเท่ากัน เหมือนกัน คือ เป็นนิสิตฝึกงาน จาก มหาวิทยาลัยนเรศวร ต้องเรียนรู้ที่จะร่วมงานกับบุคคลหลากหลาย ตั้งแต่ ผู้นำชุมชน ชาวบ้านหลากหลายอาชีพ เช่น เกษตรกร ชาวบ้านร้านตลาด ผู้ใช้แรงงาน โรงเรียนของชุมชน วัด และอื่นๆที่เป็นสิ่งแวดล้อม ซึ่งนิสิตต้องใช้ศิลปะในการดำเนินชีวิต ให้เหมาะสม ตั้งแต่ การรักษาเวลา การแต่งกาย การแสดงออกด้วยสีหน้า แววตา ท่าทาง ความมีน้ำใจ จริงใจ ขยัน อดทน เข้าใจสิ่งที่กำลังทำ ไม่ใช่ทำเพราะถูกสั่งให้ทำ และรู้จักที่จะคิดอย่างมีเหตุมีผล สามารถบูรณาการองค์ความรู้ ที่เป็นทฤษฎี ประยุกต์เข้ากับ วิถีประชา อย่างกลมกลืนและเกิดประโยชน์
3. ได้มีโอกาสปรับตัวด้านการใช้ชีวิตประจำวัน นอกรั้วมหาวิทยาลัย นอกสายตา พ่อแม่ ครู อาจารย์ ได้เปิดเผยตัวเองต่อสาธารณะ เพื่อฝึกปรับทัศนคติ เจตคติ ที่มีต่อสภาพแวดล้อมที่เผชิญ รู้จักดูแลรักษาตัวเอง เคารพสิทธิ์ของคนอื่น และเอื้ออาทรต่อเพื่อน (ร่วมชะตา(อิอิ))
4. ได้มีโอกาสพัฒนาความคิดแบบ องค์รวม คือ การมองภาพรวมของสิ่งต่างๆ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง เชื่อมโยง ความคิด พัฒนาต่อไปได้ไม่สิ้นสุด เช่น มีคนไข้ "หัวแตก" มาหา ไม่ใช่ว่าเราแค่ ปิดพลาสเตอร์ให้แล้วปล่อยเค้ากลับบ้าน ก็หมดหน้าที่ ไม่ใช่ ต้อง ถามเขาว่า ไปทำอะไรมาจึงหัวแตก เพื่อทบทวนเหตุการณ์ เค้าจะได้เพิ่มความระมัดระวัง แล้วแนะนำต่อไปว่า แผลนี้ไม่ควรถูกน้ำเป็นเวลานานเท่าไหร่ ต้องเปลี่ยนพลาสเตอร์บ่อยแค่ไหน ทำความสะอาดแผลด้วยตัวเองอย่างไร มีอาการอื่นไม๊ อาจทดสอบ ตรวจสอบ เช่น ตาพล่า มือสั่น ใจสั่น หายใจหอบ หรือติดขัด เลือดแข็งตัวช้า บวมช้ำผิดปกติ หลังจากนั้นต้องแนะนำให้ผู้ป่วยสังเกตตัวเองหลังกลับบ้าน ว่า มีอาการแผลอักเสบ ไข้ขึ้น แผลหายช้า กว่าปกติหรือไม่ (ต้องบอกเค้าว่า คาดว่ากี่วันจะหาย ถ้าไม่หายให้กลับมาใหม่) เหล่านี้ คือ องค์รวม ไม่ใช่ มีดบาด ปิดแผล กลับบ้าน ต่อไปก็ติดเชื้อ ซื้อยากินเอง ก็แย่ อย่างนี้ ถือว่า คนจากระบบสาธารณสุข ไม่ได้ช่วยอะไรให้เค้าคิดเป็น คิดต่อ ดูแลตัวเองเบื้องต้นได้ ขอให้นิสิตใช้ ความรู้ และธรรมชาติของตัวเอง ด้วย
- คุณธรรม ก็คือ ธรรมชาติในตัวเรา ที่เป็นคุณประโยชน์ต่อผู้อื่น สิ่งอื่น
- จริยธรรม ก็คือ (จริต) การแสดงออกอย่างเป็นธรรมชาติ จริงใจ ไม่เสแสร้ง
- ความมีเมตตา เป็นมิตรต่อทุกสิ่งในชุมชน
ทุกคนเป็นครูของเรา ด้วยวัยวุฒิที่มากกว่าของคนในชุมชน จะสามารถช่วยให้นิสิตได้รับประสบการณ์ที่มีค่าต่อการดำเนินชีวิตในอนาคตได้อย่างดี ในคน 1 คน ก็คือ หนังสือ 1 เรื่อง ไม่มีอะไรที่ซ้ำกันเลย นิสิตต้องเปิดใจที่จะ อ่าน ทำความเข้าใจ เรียนรู้ ทดลอง ทดสอบ ให้เข้าใจ
สิ่งที่พี่อยากเห็นเมื่อนิสิตกลับมาก็คือ หัวใจที่เต็มไปด้วยความอิ่มเอมกับความสุข ที่คุณได้มอบประโยชน์ จากปัญญาของคุณให้กับชุมชน และเกิดเป็น สายใยความผูกพัน ที่คนในชุมชน มีต่อคุณ ไม่ใช่ผลคะแนน
มหาวิทยาลัย ช่วยให้ชีวิตเรามีระเบียบแบบแผน มีเหตุ มีผล รู้จัก คิด รู้จัก ทำ อย่างดี
ท้องถิ่น และรากหญ้า ก็ช่วยให้คุณรู้จัก และเข้าใจ ความเป็น ธรรมชาติ ความเป็นมา รากเหง้า ของวิถีชีวิตที่มีอยู่จริงในสังคม และทุกคนคือเพื่อนมนุษย์
ทั้งสองสิ่ง จะผสมให้เข้ากันได้ อย่างกลมกลืน ก็ต้องอาศัยศิลปะ
การเปิดใจ --ไปสู่--> ความเข้าใจ --เพื่อจะ--> ผูกใจ และ ผลที่จะได้รับคือ
ความสุขใจ สุขกาย เจริญงอกงามทั้งภายนอกและภายใน เป็น คนที่สมบูรณ์ เพื่อ สร้างสิ่งที่ดีงามต่อๆไป