ศึกษาดูงาน “ชุมชนบ้านน้ำเค็ม ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา”


ออมทรัพย์กับกองทุน คือ ฐานคิดของการรวมกลุ่ม

วันที่ 18 มิ.ย.ได้ร่วมลงพื้นที่ศึกษาดูงานกับคณะ (ตัวแทน พมจ.และภาคประชาสังคมจาก 14 จังหวัดภาคใต้)ที่ร่วมเวทีขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาสังคมและสวัสดิการชุมชนท้องถิ่น ซึ่งจัดโดยสำนักมาตรฐานการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน 2 กลุ่ม คือ 1) อบต.ลำภี อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา 2) ชุมชนบ้านน้ำเค็ม ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา

วันนี้ขอหยิบ ชุมชนบ้านน้ำเค็ม มาเล่าสู่กันฟังนะค่ะ ข้อมูลต่าง ๆ คุณไมตรี จงไกรจักร์ ประธานศูนย์ประสานงานชุมชนบ้านน้ำเค็ม หนึ่งในผู้สูญเสียครั้งใหญ่ในเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ ได้นำเสนอให้คณะศึกษาดูงานฟังอย่างละเอียด

 

ยุคสมัยบ้านน้ำเค็ม

-          ก่อน พ.ศ.2510 ชุมชนมอแกนดั้งเดิม กับขุมเหมืองสัมปทาน

-          พ.ศ.2510 2518 ฐานทำแร่ของบริษัทเหมืองบนบกและในทะเล/แรงงานส่วนใหญ่มาจากอิสาน/ยุคเสือขิ้นขุนโจรแห่งอันดามัน

-     พ.ศ.2519 2525 ชุมชนขยายตัวของคนทำแร่/ไฟไหม้ใหญ่ ปี พ.ศ.2521/เกิดวาตภัยครั้งใหญ่ แพไม้ไผ่หมดยุค/เปลี่ยนถ่ายสู่แพโฟม/สู่แพทุน/สู่แพดิน

-          พ.ศ.2526 2545  ยุคเหมืองแร่กลางทะเลลดลง/เปลี่ยนเป็นอาชีพประมง/ไฟไหม้น้ำเค็ม

-          พ.ศ.2546-2547 ประมงรุ่งเรือง/เด้ก ๆ เริ่มหันไปการท่องเที่ยว/เกิดสึนามิ

 

บ้านน้ำเค็มเมื่อปี 2547 มีประชากรประมาณ 7,000 คน ประมาณ 3,000 ครัวเรือน จากจำนวนทะเบียนบ้าน 1,566 หลังคาเรือน

 

ศูนย์ประสานงานชุมชนบ้านน้ำเค็ม

มารู้จักศูนย์ประสานงานชุมชนบ้านน้ำเค็มกันก่อนนะค่ะ เป็นองค์กรชาวบ้านที่เกิดขึ้นหลังจากสึนามิ ได้ไม่ถึง 10 วัน เพื่อใช้ในการประสานงานกับองค์กรภาคีทั้งภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน เอกชน และผู้สนับสนุนปัจเจกบุคคล มีหน้าที่ดูแล สนับสนุน พัฒนาและฟื้นฟูชุมชน โดยมีการพัฒนาฟื้นฟูบ้านน้ำเค็ม 3 ระยะ คือ

 

ระยะที่ 1 การปรับระบบสาธารณูปโภค

-          การรวมชาวบ้าน

-          การประสานกับแหล่งทุนในการจัดการตามระบบชาวบ้าน

-          การจัดการศพ/เคลียร์พื้นที่

-          การจัดการเวทีประชุมใหญ่/ประชุมย่อย

-          การจัดการด้านศาสนา (อาทิ สืบทอดประเพณีและวัฒนธรรมของชุมชน)

-          การสำรวจข้อมูลและวางแผน

-          การประสานเครือข่ายผู้สนับสนุน

ระยะที่ 2 การพัฒนาฟื้นฟูระยะยาว

-          การจัดตั้งระบบการเงิน

-          การช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอและผู้ด้อยโอกาส

-          การจัดทำแผนระยะยาว (การจัดทำแผนแม่บทฟื้นฟูชุมชนบ้านน้ำเค็ม)

ระยะที่ 3 การพัฒนาสังคม

 

การรวมกลุ่มของชุมชนบ้านน้ำเค็ม

ก่อนเกิดเหตุการณ์สึนามิการรวมกลุ่มของชุมชนบ้านน้ำเค็มยังมีน้อยที่มีส่วนมากก็จะเป็นการจัดตั้งโดยหน่วยงานของรัฐ เช่น สหกรณ์ประมงบ้านน้ำเค็ม มีกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ที่ผู้ใหญ่บ้านเป็นประธาน กองทุนหมู่บ้านมีแต่สมาชิกยังขาดความเข้าใจในระบบความเป็นเจ้าของกองทุน จึงหยุดการดำเนินการ มีกลุ่มเลี้ยงปลาในกระชัง (ยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน) ส่วนใหญ่การรวมกลุ่มในบ้านน้ำเค็มจะล้ม หมด ชาวบ้านโดยทั่วไปอาศัยอยู่เป็นกลุ่ม กลุ่มใครกลุ่มมัน ตามแต่ว่ามาจากจังหวัดไหน

 

หลังเกิดภัยพิบัติสึนามิทุกคนไร้บ้าน แทบหมดตัว อาศัยอยู่ที่พักชั่วคราว เกิดความคิดหลากหลายทั้งที่จะฟื้นฟูกู้ชีวิตชุมชนและตนเอง ขณะที่มีหลายหน่วยงาน หลายองค์กร รวมทั้งชาวต่างชาติ เข้ามาบริจาคสิ่งของและเงิน จนเกิดปัญหาการได้รับที่ไม่ทั่วถึง คุณไมตรี เล่าให้ฟังว่า เฉพาะเงินบริจาคทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ มีมากถึง 1.4 ล้านบาท และยังไม่ได้ทันคิดถึงการเก็บรักษา หรือการบริหารจัดการให้เงินอยู่ในชุมชน พอเห็นว่าจำนวนเงินมากหลายคนก็กลัวหายบ้าง เกิดการไม่ไว้วางใจกลัวใครเอาไปเสียบ้าง ทำให้เกิดกระแสการต้องการเงินจำนวนนี้ มีการถกเถียงเรื่องการจัดการเงิน ข้อยุติคือ ต้องแบ่งเงิน ชาวบ้านได้รับเงินแบ่งปันครอบครัวละ 900 บาท คุณไมตรี เล่าว่าเป็นที่น่าเสียดายมากที่ไม่สามารถรักษาและจัดการเงินก้อนใหญ่ไว้สำหรับการฟื้นฟูอาชีพและชุมชนโดยรวมได้ แตกกระจายไปเป็นก้อนเล็กก้อนน้อย บทเรียนครั้งนี้ทำให้เห็นถึงเครื่องมือที่จะใช้เงินเป็นตัวรวมกลุ่ม ประสาน สมาชิกและใช้เงินเป็นตัวสร้างรากฐานในการร่วมทุนที่ก่อให้เกิดกลุ่มต่าง ๆ โดยเป็นการลงทุนในลักษณะออมทรัพย์ เช่น กลุ่มเลี้ยงปลาในกระชัง กลุ่มซ่อม สร้างเรือ กลุ่มมาดอวน กลุ่มอาชีพต่อเนื่อง ฯแล้วให้นำเงินไปฝากตามธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ส่วนนี้คุณไมตรี เล่าว่าเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับความคิดใหม่เรื่องของ การตั้งธนาคารเป็นของตนเอง เพื่อนำเงินมาหมุนเงียนพัฒนาชุมชนกลุ่มอาชพ ดูแลความเป็นอยู่ทุกด้าน ทุกอย่างของชุมชนเองไม่ต้องไปฝาก ไปกู้แต่ที่ธนาคาร ออมทรัพย์กับกองทุน คือ ฐานคิดของการรวมกลุ่ม

 

เกิดเป็นธนาคารชุมชนของคนน้ำเค็ม

 

คุณไมตรี เล่าให้ฟังว่า ที่นี่ได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานตามกลุ่มออมทรัพย์ที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการ กลุ่มออมทรัพย์ของลุงประยงค์ที่ไม้เรียง ลุงอัมพรที่คลองเปียะ และนำมาประยุกต์ให้เข้ากับชุมชนบ้านน้ำเค็ม จัดวางตัวบุคคลผู้สนใจการทำงาน แบบใจอาสา  นอกจากนี้มีอาสาสมัครจากธนาคารกรุงไทย มาเป็นที่ปรึกษาจัดวางระบบให้ จึงมีมติเปิด ธนาคารชุมชนบ้านน้ำเค็ม ในวันที่ 4 เม.ย.2548 วันครบรอบ 100 วันการเกิดสึนามิ

คำสำคัญ (Tags): #สวัสดิการชุมชน
หมายเลขบันทึก: 190522เขียนเมื่อ 26 มิถุนายน 2008 08:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 13:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านแล้วได้รายละเอียดและเห็นภาพเพิ่มจากที่หนูแหม่มเล่าให้ฟังนะคะ

ขอบคุณหนูแหม่มค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท