กว่าจะเป็นเกษตรแห่งชาติสาขาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ...หนึ่งเดียวที่ภาคภูมิใจของ...นรินทร์ศักดิ์ พัวสกุล


หนึ่งเดียว

กว่าจะมาเป็นเกษตรกรแห่งชาติสาขาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของ...นรินทร์ศักดิ์  พัวตระกูล

            คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครคนหนึ่งจะได้รับการประกาศให้เป็น เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่นเดียวกันกับ คุณนรินทร์ศักดิ์  พัวตระกูล เกษตรกรหนุ่มวัย 33 ปี อยู่บ้านเลขที่ 11/1 ต.พันลาน อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ที่ได้ทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อสืบทอดเจตนารมฌ์ของบิดามารดา คือ  คุณณรงค์ - คุณสมจิตต์ พัวตระกูล ภายใต้ชื่อ ฟาร์มบ่อปลาณรงค์ มาจนถึงทุกวันนี้ คุณนรินทร์ศักดิ์ คลุกคลีอยู่การฟาร์มปลามาตั้งแต่เกิด พอโตขึ้นจึงร่ำเรียนในสายประมงมาโดยตลอด เพื่อที่จะได้สานต่องานของฟาร์มบ่อปลาณรงค์ไปตราบนานเท่านานและให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เริ่มตั้งแต่เรียนระดับ ปวช. (เกษตรกรรม) จากวิทยาลัยเกษตรกรรมนครสวรรค์  ปวส.ประมง และ วท.บ. (ประมง) จากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตพระนครศรีอยุทธยา หันตรา วท.ม. (วิทยาศาสตร์การประมง) จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน และกำลังเรียนปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เคยได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่น ปี 2550 ขององค์กรเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย

จากวันนั้นจนมาถึงวันนี้

            จากประสบการณ์จริงในฟาร์มปลาณรงค์ทำให้ คุณนรินทร์ศักดิ์  ทราบว่า การเพาะขยายพันธุ์ปลาน้ำจืดใน 1 ปี จะทำได้เฉพาะช่วงฤดูที่ปลาวางไข่เพียง 7 เดือนเท่านั้น ส่วนที่เหลืออีก 5 เดือน ไม่สามารถขยายพันธุ์ได้ ปัญหาที่ตามมาก็คือ ทำให้เกิดการว่างงาน ขาดรายได้ กระทบถึงค่าใช้จ่ายในครอบครัวของเกษตรกรทั่วไป รวมถึงครอบครัวของตนเองด้วยที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน ประกอบกับปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ อีกหลายด้านที่ส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงปลาโดยตรง อาทิ ภูมิอากาศ ภูมิประเทศ ราคาปลา ราคาปัจจัยการผลิต ภัยธรรมชาติ เป็นต้น จากปัญหาเหล่านี้ จึงทำให้ต้องหาคำตอบให้ได้เร็วที่สุด เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาให้กับตนเองและเกษตรกรรายอื่นๆ จากความรู้ที่ได้รับจากการเรียนในสถานบันการศึกษา จึงได้นำมาผนวกเข้ากับความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์จริง ด้วยการคิดค้นและทดลองการเพาะขยายพันธุ์ปลานอกฤดูขึ้น ช่วงแรกของการทดลองนั้นไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แต่ก็ไม่ได้ย่อท้อจึงคิดค้นหาวิธีการใหม่ต่อไป จึงได้หาวิธีการเพาะพันธุ์ปลาสวายเนื้อขาวนอกฤดูต่อไปอยู่เป็นเวลานาน พยายามหาปัจจัยที่เกี่ยวข้องใส่เข้าไป โดยเน้นประโยชน์สูงประหยัดสุด เป็นเทคโนโลยีชาวบ้านในที่สุดก็ประสบความสำเร็จสามารถเพาะพันธุ์ปลาสวายเนื้อขาวนอกฤดูได้ จึงทำให้มีลูกปลาสวายเนื้อขาวออกจำหน่ายได้ตลอดปี แต่ก็ยังไม่หยุดยั้งเพียงแค่นั้น ยังได้พยายามคิดค้นหาวิธีการที่ทำได้ง่ายที่สุด ได้จำนวนมากที่สุดเหมือนฤดูปลาวางไข่ปกติ

จนกระทั่งมาเป็นกระโจมครอบบ่อปลา

หนึ่งสมองสองมือของ คุณนรินทร์ศักดิ์ ได้วิเคราะห์ว่าในช่วงฤดูหนาวอุณภูมิของน้ำในบ่อเลี้ยงปลาจะต่ำ ทำให้การฟอร์มไข่และการฟักไข่ของปลาเป็นไปอย่างยากลำบาก จึงได้คิดค้นเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ให้เกิดขึ้นจนกลายมาเป็น กระโจมครอบบ่อปลา เพื่อปรับอุณหภูมิให้อยู่ในระดับที่พอดี  แต่ก็ยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร เนื่องจากกระโจมก็ยังทำให้อุณหภูมิในบ่อยังคงต่ำอยู่ จึงได้คิดทำเตาขนาดใหญ่ที่ก่อด้วยอิฐ เพื่อให้ความร้อนส่งไปตามท่อไปยังบ่อกระโจม เพื่อปรับอุณหภูมิในบ่อเลี้ยงปลามีความเหมาะสมจนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ จึงทำให้การเพาะพันธุ์ปลาสวายเนื้อขาวนอกฤดูมีความเป็นไปได้มากขึ้น  มีแนวโน้มที่จะได้ผลผลิตมากขึ้นเรื่อย ๆ  ทำให้ฟาร์มมีลูกพันธุ์ปลาสวายเนื้อขาวจำหน่ายตลอดทั้งปี  ก่อให้เกิดรายได้มาเลี้ยงครอบครัว ถือว่าเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง  ที่สามารถนำความรู้ที่ได้เรียนมาใช้ในฟาร์มได้เป็นผลสำเร็จ และเป็นประโยชน์ต่อวงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ  นอกจากนี้ยังได้จัดเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้ที่สนใจอย่างกว้างขวาง เพื่อเปิดอบรมเกษตรกร เช่น  ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร  ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด  สำนักงานประมงจังหวัด  ตลอดจนกลุ่มเกษตรกรที่มีความสนใจด้านการเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืด  นักเรียน   นักศึกษาจากสถาบันการศึกษา และยังเปิดรับนักศึกษาฝึกงานภายในฟาร์มเป็นประจำทุกปีอีกด้วย

 ปลาสวายเนื้อขาวปลาเศรษฐกิจสายพันธุ์ใหม่

เดิมทีเดียวนั้นปลาสวายเนื้อขาวนิยมเลี้ยงกันมากที่ประเทศเวียดนาม เพื่อส่งไปขายในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศแถบยุโรป ปีละกว่า 1 ล้านตันต่อปี ส่วนในประเทศไทยผลิตได้เพียง 1 หมื่นตันต่อปีเท่านั้นหรือเพียง 1 % ของปลาทั้งหมด  เมื่อปี 2540 จึงได้นำลูกปลาสวายเนื้อขาวจากประเทศเวียดนาม เพื่อนำทดลองขยายพันธุ์ที่ฟาร์มบ่อปลาณรงค์ เป็นลูกปลา จำนวน 1 หมื่นตัว ขนาด 2 นิ้ว อายุ 1 เดือน เมื่อนำมาถึงฟาร์มแล้วก็นำถุงปลาลอยน้ำในบ่อพักไว้ 2 วัน โดยไม่ต้องให้อาหาร เพื่อให้ปลาปรับสภาพของตัวเองให้ได้เสียก่อน จากนั้นจึงนำลงปล่อยในบ่อดินให้อาหารเม็ดสำเร็จรูป ร่วมกับอาหารที่ผลิตขึ้นมาเอง (ปลาบ่น 5  % รำ 30 % มันสำปะหลัง 30 % กากถั่วเหลือง 30 % สารเหนียว 4 % แร่ธาตุกับวิตามิน 1 %)  โดยจะใช้สูตรนี้เพียงสูตรเดียวจนกระทั่งปลาโตปลาอายุได้ 4 ปี ก็จะคัดเอาเฉพาะปลาตัวเมียสำหรับเอาไว้ทำแม่พันธุ์ ส่วนอีกด้านหนึ่งก็ได้ดำเนินการเพาะพ่อพันธุ์ปลาขึ้นมา โดยการนำปลาบึกตัวผู้ผสมกับกับปลาสวายตัวเมีย เมื่อได้ลูกออกมาแล้วเลี้ยงไว้นาน 7 เดือน แล้วคัดเอาเฉพาะตัวผู้เท่านั้นเพื่อเป็นนำไปทำเป็นพ่อพันธุ์  แล้วก็นำพ่อพันธุ์ปลาและแม่พันธุ์ปลาที่ได้มาผสมกันในบ่อที่เตรียมเอาไว้ เมื่อได้ลูกปลาสวายเนื้อขาวขนาด 50 กรัม หรือ อายุ 2 เดือน ก็นำไปเลี้ยงไว้ในบ่ออนุบาล หากจะเลี้ยงเพื่อเป็นปลาเนื้อส่งจำหน่ายก็จะต้องนำไปเลี้ยงในกระชังที่แม่น้ำน่านซึ่งอยู่ติดกับฟาร์มนาน 4.5 5 เดือน จะทำให้ได้เนื้อปลาที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ส่วนอาหารที่ใช้เลี้ยงก็ยังสูตรเดิมทั้งหมด ก็จะได้ปลาน้ำหนักเฉลี่ยตัวละ 1.1 กก. หรือ 800 2,000 กรัมต่อตัว  ซึ่งเป็นขนาดที่ตลาดต้องการส่งไปขายที่ห้องเย็นมหาชัย จ.สมุทรสาครราคา ราคา 32 บาทต่อ กก. จนถึงปัจจุบันสามารถขยายพันธุ์พันธุ์ปลาได้ ประมาณ 15 ล้านตัวต่อปี  คุณนรินทร์ศักดิ์ กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ

ต้นตระกูลของปลาสวยเนื้อขาว

                คุณนรินทร์ศักดิ์ กล่าวว่า ปลาสวายเนื้อขาวถือกำเนิดจากการพัฒนาสายพันธุ์ระหว่างปลาบึกกับปลาเผาะ  ซึ่งเป็นปลาที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติในแถบลุ่มน้ำโขง  ได้รับการยอมรับในด้านของคุณภาพเนื้อและด้านการเลี้ยง  คือ เป็นปลาที่มีเนื้อสีขาว  ไม่มีก้างในเนื้อ  กลิ่นคาวไม่แรง  มีรสชาติอร่อย เลี้ยงง่าย  เจริญเติบโตเร็ว  ทนต่อโรค  อัตรารอดตายสูง จากปัจจัยที่กล่าวข้างต้นนี้เองที่ทำให้ปลาสวายเนื้อขาวเป็นปลาที่อยู่ในความนิยมของผู้เลี้ยงและผู้บริโภค จัดได้ว่าปลาสายพันธุ์นี้น่าจะเป็นปลาที่มีอนาคตไปได้อีกไกล ฟาร์มปลาณรงค์ 1 ดำเนินการที่ ต.พันลาน อ.ชุมแสง พื้นที่ 80 ไร่  ฟาร์มปลาณรงค์ 2  ดำเนินการที่ ต.เขาดิน อ.เก้าเลี้ยว พื้นที่ 100 ไร่ เป็นฟาร์มที่มีการพัฒนาสายพันธุ์ปลาสวายเนื้อขาวเป็นแห่งแรกของประเทศ เพาะขยายพันธุ์ปลาได้ตลอดทั้งปี ได้รับรองตามมาตรฐาน GAP และปัจจุบันได้ขยายฟาร์มปลาณรงค์ 3 ไปที่ประเทศเวียดนาม พื้นที่ 300 ไร่  ซึ่งต้นทุนการผลิตต่ำกว่าประเทศไทย

ขั้นตอนและวิธีการผสมพันธุ์

            คุณนรินทร์ศักดิ์ ยังได้บอกเทคนิคการคัดเลือกพ่อ -  แม่พันธุ์ปลานั้น ปลาจะต้องมีไข่แก่อยู่ในระยะพร้อมที่จะเกิดการตกไข่และมีน้ำเชื้อดี  ดังนั้น การคัดพ่อแม่พันธุ์จึงเป็นขั้นตอนแรกที่จะกำหนดว่าจะประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาหรือไม่  วิธีการคัดเลือกมีวิธี คือ พิจารณาจากลักษณะภายนอก  ปลาเมื่อใกล้ถึงฤดูวางไข่  ไข่จะเจริญเพิ่มขนาดขึ้น  มีผลให้รังไข่ขยายตัวดันช่องท้องให้อูมออกมา  ส่วนจะนูนออกมามากน้อยก็ขึ้นอยู่กับชนิดและความสมบูรณ์ของปลา  ช่องเพศหรือติ่งเพศรวมทั้งทวารหนักจะขยายตัวบวมพองมีสีชมพูเรื่อๆ ทั้งลักษณะท้องและลักษณะช่องเพศหรือติ่งเพศต้องพิจารณาประกอบกัน  หากพิจารณาแต่ลักษณะใดลักษณะหนึ่งจะทำให้เข้าใจผิดได้  เพราะปลาบางตัวอาจมีท้องอูมเป่งเพราะอ้วน  หรือเพิ่งกินอาหารมาใหม่ๆ ดังนั้น ก่อนคัดพ่อแม่พันธุ์จึงจำเป็นต้องงดอาหารก่อน  1  วัน  หรืออาจต้องงดนานถึง  2  วัน  ส่วนปลาเพศผู้จะต้องคัดปลาที่แข็งแรง  ปราดเปรียว  ไม่อ้วนหรือผอมจนเกินไป  ปลาบางชนิดเมื่อรีดเบาๆ ที่ช่องเพศ  จะมีน้ำเชื้อซึ่งมีลักษณะเป็นของเหลวข้นขาวเหมือนน้ำนมไหลออกมา  หากน้ำเชื้อมีลักษณะใสไม่ควรนำปลาตัวนั้นมาใช้เป็นพ่อพันธุ์

            ส่วนวิธีการเพาะพันธุ์ปลา  เป็นการเพาะพันธุ์ปลาโดยการผสมเทียม  คือ การรีดไข่และน้ำเชื้อออกมาผสมกันในภาชนะภายนอกตัวปลา  พ่อ แม่พันธุ์ปลาที่ใช้ต้องฉีดฮอร์โมนกระตุ้นให้เกิดการตกไข่ โดยฉีดฮอร์โมนกระตุ้นให้แม่พันธุ์ซึ่งมีไข่อยู่ในระยะพัก  เกิดการเจริญของไข่ขั้นสุดท้าย  และตกไข่  ส่วนปลาเพศผู้ถ้ามีน้ำเชื้อดีอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องฉีดฮอร์โมนกระตุ้นก็ได้ ใช้วิธีแห้งแบบดัดแปลง  โดยผสมไข่กับน้ำเชื้อในภาชนะที่แห้งแล้วเติมน้ำลงในภาชนะพอท่วมไข่  วิธีนี้น้ำจะกระตุ้นให้น้ำเชื้อเคลื่อนไหวเข้าผสมกับไข่ได้ดีขึ้น  และยังช่วยล้างสิ่งสกปรกที่ติดมากับไข่หรือน้ำเชื้อออกเสียก่อนที่จะนำไปฟักอีกด้วย เมื่อเวลาผ่านไป  24  ชั่วโมง  ไข่จะฟักเป็นตัว  เราก็นำไข่ที่ฟักเป็นตัวแล้วไปอนุบาลในบ่อดินต่อไป การอนุบาลลูกปลาในบ่อดินระยะแรก ๆ นั้นจะให้ไรแดงเป็นอาหารลูกปลาวัยอ่อน แล้วจึงจะให้อาหารเม็ดที่มีขนาดเล็ก  ๆ ต่อไป เมื่อลูกปลาได้ขนาดตามที่ลูกค้าต้องการแล้ว  ก็ทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตลูกปลาโดยใช้อวนล้อมจับ  เสร็จแล้วนำมาแยกขนาดบนบ่อปูนให้ได้ขนาดต่าง ๆ ตามที่ลูกค้าต้องการ เมื่อแยกปลาได้ขนาดต่าง ๆ แล้ว  ก็ทำการพักลูกปลาไว้ในบ่อปูน  1 2  วัน  ก็ทำการส่งลูกปลาจำหน่ายได้ ส่วนรายได้จากการจำหน่ายพันธุ์ปลาสวายเนื้อขาวและเป็นตัวแทนจำหน่ายอาหารปลา ปี  2548  มีรายได้ประมาณ   8  ล้าน ในปี  2549  ประมาณ  12  ล้าน และในปี  2550  ประมาณ  16  ล้าน

ผลงานดีเด่นที่ได้รับการยอมรับ

ปี 2534             ชนะการแข่งขันองค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย (อกท.) ระะดับหน่วยนครสวรรค์  ทักษะประเภทการผสมเทียม

ปี  2535            ชนะการแข่งขันองค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย (อกท.) ระดับภาคเหนือ

ทักษะประเภทการผสมเทียม  ได้รับพิจารณาคัดเลือกจากองค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย (อกท.) ระดับภาค  ประจำภาคเหนือ

 ปี  2536          ชนะการแข่งขันองค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย (อกท.)  ระดับภาค 

ทักษะโครงการเกษตร ได้รับพิจารณาคัดเลือกจากองค์การเกษตรกรในอนาคตแประเทศ

ไทย  (อกท.)ให้เป็นสมาชิกดีเด่น  ระดับภาค  และระดับชาติ  เป็นความภาคภูมิใจของ

ตนเองและสถาบันการศึกษา)

ปี  2549            ฟาร์มบ่อปลาณรงค์ได้มอบปลาสวายเผือก จำนวน 5 ตัว  ให้กับสถาบันวิจัยและพัฒนา

ทรัพยากรประมงน้ำจืด  เพื่อนำไปจัดแสดงในสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ  กรมประมง 

กรุงเทพฯ

ปี  2551           ฟาร์มบ่อปลาณรงค์ได้บริจาคพันธุ์ปลาให้โรงเรียนวัดคลองยางประชาพัฒนา อ.ชุมแสง

เพื่อให้นักเรียนนำไปเลี้ยงเป็นโครงอาหารกลางวัน

การช่วยเหลืองานด้านสังคม 

การบริจาคทรัพย์สร้างศาลาวัดเกรียงไกรใต้  อ.เมืองนครสวรรค์  การบริจาคอาหารปลาให้แก่วัดเกรียงไกรใต้ อ.เมืองนครสวรรค์  เพื่อเลี้ยงปลาหน้าวัด  บริจาคพันธุ์ปลาให้กับโรงเรียนในเขตพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์  เพื่อใช้บริโภคเป็นอาหารกลางวันและเสริมสร้างอาหารโปรตีนให้กับเด็กนักเรียนมอบพันธุ์สัตว์น้ำให้กรมประมงเพื่อปล่อยในแหล่งน้ำในงานวันประมงแห่งชาติทุก ๆ ปี บริจาคเสื้อผ้าให้กับเด็กยากจนและนักเรียนที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร มอบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียน นักศึกษาสถาบันต่าง ๆ เช่น วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครสวรรค์  เป็นต้น ผลงานด้านวิชาการ ก็มีงานวิจัยปรสิตของลูกปลาน้ำจืดบางชนิดจากฟาร์มเพาะเลี้ยง อ.ชุมแสง  จ.นครสวรรค์  2546 ศึกษา  ค้นคว้า  ทดลอง  การเพาะพันธุ์ลูกปลาสวายเนื้อขาวได้ตลอดทั้งปี

การศึกษาและพัฒนาตนเอง

            การพัฒนาตนเองเป็นเรื่องที่จะต้องทำควบคุ่กับการเปลี่ยนแปลงของโลก คุณนรินทร์ศักดิ์ จึงได้ศึกษาต่อระดับปริญญาโท  คณะรัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยรามคำแหง  เพื่อเป็นการเพิ่มพูนความรู้  ประสบการณ์  และเป็นการกระตุ้นให้ตนเองมีการพัฒนาตนอยู่เสมอ รวมทั้งศึกษาดูงานที่ประเทศเวียดนาม  เพื่อการลงทุนขยายธุรกิจฟาร์มบ่อปลาณรงค์เป็นแห่งที่  3  พื้นที่ 300  ไร่  เพื่อเป็นการเพิ่มสาขาการผลิตและจำหน่ายพันธุ์ปลาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น  ประกอบกับในปัจจุบันนี้การเลี้ยงปลาและการตลาดด้านการเลี้ยงปลาสวายเนื้อขาวในประเทศเวียดนามนั้น  จัดอยู่ในขั้นที่กำลังเติบโตเต็มที่  และเหมาะต่อการลงทุนเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อตนเองประสบความสำเร็จสู่ชุมชนต้องประสบความสำเร็จด้วย

            คุณนรินทร์ศักดิ์ ได้ตั้งปณิธานไว้ว่านอกจากจะกลับมาพัฒนาฟาร์มบ่อปลาณรงค์แล้ว  ก็ตั้งใจที่จะนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้สะสมจากการเรียนและจากการทำงานมาพัฒนาเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาในบ้านเกิด  จึงได้ร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชน  ส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงปลาสวายเนื้อขาว  เพื่อจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ  ทั้งนี้ ได้เป็นผู้นำกลุ่มชาวบ้านคลองปลากดนอก หมู่ 5 และหมู่ 6  ต.พันลาน อ.ชุมแสง ขอเพิ่มกระแสไฟฟ้าให้เพียงพอต่อการใช้งาน โดยการเป็นตัวแทนทำหน้าที่ติดต่อประสานงานกับ  ผู้จัดการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อ.ชุมแสง  เนื่องจากกลุ่มชาวบ้านดังกล่าวประกอบอาชีพเกษตรกรรม  เช่น  ทำไร่  ทำสวน  ฯลฯ  แทบทุกหลังคาเรือน  และการประกอบอาชีพเหล่านี้ภาครัฐได้เข้ามาส่งเสริมและมีการขยายพื้นที่  มีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการต่างๆ  เพิ่มมากขึ้น  จึงเกิดปัญหาด้านการใช้กระแสไฟฟ้าไม่เพียงพอต่อการใช้งานได้เป็นผลสำเร็จ        และยังมีแนวคิดที่จะรวมกลุ่มของผู้เพาะพันธุ์ปลาและกลุ่มผู้เลี้ยงปลา  ตั้งเป็นกลุ่มในรูปของสหกรณ์  ทั้งนี้ เพื่อให้มีอำนาจในการต่อรองราคาจำหน่ายพันธุ์ปลาและปลาเนื้อ  โดยให้มีความเป็นธรรมทั้งกลุ่มผู้เลี้ยง  ผู้ค้า  และกลุ่มผู้บริโภค  ไม่ใช่ปล่อยให้อำนาจในการตั้งราคาตกอยู่กับกลุ่มพ่อค้าคนกลางอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ 

เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้การเพาะขยายพันธุ์ปลาในท้องถิ่น

            คุณนรินทร์ศักดิ์ กล่าวถึงความสำเร็จของงงานว่า ได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วนให้ฟาร์มบ่อปลาณรงค์  เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และฝึกงานให้กับนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ  ของภาครัฐและเอกชนมาโดยตลอด อาทิ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครสวรรค์   มหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์  มหาวิทยาลัยนเรศวร  วิทยาเขตสารสนเทศพะเยา  จ.พะเยา  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

วิทยาเขตพิษณุโลก จ.พิษณุโลก  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ  วิทยาเขตพระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก  วิทยาเขตจันทบุรี  จ.จันทบุรี สถาบันราชภัฎมหาสารคาม  ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำนักงานประมงจังหวัดนครสวรรค์  ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดจังหวัดนครสวรรค์ สำนักงานประมงจังหวัดชัยนาท

            นอกจากนี้ยังได้รับเชิญให้เป็นอาจารย์สอนพิเศษ  และเป็นวิทยากรบรรยายในสาขาที่เกี่ยวข้องทางด้านประมง  เช่น  ด้านโรคปลา  ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  บางเขน  กรุงเทพฯ   ด้านการเพาะเลี้ยงปลา  ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์  เป็นวิทยากรบรรยายให้กับกลุ่มนักเรียนและเกษตรกรที่ฟาร์มบ่อปลาณรงค์ได้มีการรับปรึกษาเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงปลารวมไปถึงปัญหาด้านโรคปลา  และบริการตรวจปลาหรือสัตว์น้ำที่ป่วย  โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ  ทั้งสิ้น  การบริการส่วนนี้เป็นความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง  เพราะเกิดจากความตั้งใจมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาให้ประสบความสำเร็จในอาชีพนี้และยังได้

คำสำคัญ (Tags): #หนึ่งเดียว
หมายเลขบันทึก: 190013เขียนเมื่อ 24 มิถุนายน 2008 12:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 19:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • สวัสดีครับ
  • ขอบพระคุณมากครับ
  • อยากเห็นภาพประกอบด้วยจังเลยครับ

วันนี้ ( 16-08-2008) ได้มีโอกาศพบคุณนรินทร์ศักดิ์แล้ว เป็นคนที่ให้ความรู้ดี น่ารักมากครับ

เอ๋ คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์

ยินดีกับน้องเฝ็กด้วยครับ ตอนเรียนเราเคยฝึกงานด้วยกันที่ชัยนาท น้องเป็นคนเก่งคนขยัน และมีน้ำใจตั้งแต่เด็กๆ ตอนนี้น้องประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน น่าภูมิใจมากๆ ขอให้น้องเล็กประสบความสำเร็จยิ่งๆขึ้นไป ยังจำตอนน้องตกจากหลังคาตอนฝึกงานได้อยู่นะ555

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท