หมอบ้านนอกไปนอก(73): ดูงานสกอตแลนด์


สุขภาวะทางจิตวิญญาณมีความเกี่ยวข้องอย่างแยกไม่ออกกับการให้บริการด้วยจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ เปรียบได้กับการบรรลุความต้องการขั้นสูงสุดของมาสโลว์ (Self-actualization) เห็นคุณค่าของสรรพสิ่ง การจัดการความรู้ที่แท้จริงทำให้บรรลุสุขภาวะทางจิตวิญญาณได้

ดูงานสกอตแลนด์เป็นการศึกษาดูงานจริงๆเพราะตอนเช้าศึกษาด้วยการฟังบรรยายและดูงานในตอนบ่าย ค่าใช้จ่ายต่างๆทั้งค่าวีซ่า ค่าเดินทางและอื่นๆรวมอยู่ในค่าลงทะเบียนเรียนทั้งหมด ไม่ต้องจ่ายเพิ่มเติมอีก แต่ตอนไปดูงานต้องสำรองจ่ายค่าอาหารบางมื้อ ค่าเดินทาง ค่าวีซ่าไปก่อนแล้วเอาใบเสร็จมาเบิกคืน อาหารเช้าทานที่โรงแรม อาหารกลางวันทานที่มหาวิทยาลัย ส่วนมื้อเย็นให้หาทานเองโดยจะมีเบี้ยเลี้ยงให้ภายหลัง ตอนแรกกำหนดให้ไปดูงานที่เนเธอร์แลนด์ แต่พวกเราขอทางอาจารย์ปรับเป็นดูงานสกอตแลนด์แทน ทางสถาบันก็อนุญาต ถือเป็นโชคดีที่ได้เที่ยวสกอตแลนด์ที่ไปยากกว่าฮอลแลนด์ที่อยู่ติดกับเบลเยียม

การจัดบริการมีโรงพยาบาลในเขตรับผิดชอบที่เจ้าหน้าที่รับเงินเดือนจากโรงพยาบาล มีการทำสัญญาจ้างบริการกับแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป ทันตแพทย์และเภสัชกร ส่วนบริการชุมชนมอบให้ท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการคือการดูแลโรคเรื้อรังระยะยาว การดูแลทางสุขภาพจิตและโครงการพิเศษต่างๆ งบประมาณด้านสุขภาพอยู่ที่ 8 % ของจีดีพี ประมาณ 8 พันล้านปอนด์ ใช้จ่ายโดยNHS Board 15 แห่ง 7 พันล้านปอนด์ และที่เหลือใช้จ่ายโดยองค์กรท้องถิ่นสำหรับบริการชุมชน ประมาณ 70 % ของค่าใช้จ่ายของNHS Board จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุคลากร วงรอบงบประมาณใช้เวลา 3 ปีในการจ่ายให้แก่ NHS Board

เป้าหมายของNHSคือสิทธิการเข้าถึงบริการทุกคน ผสมผสาน เท่าเทียมโดยไม่ได้ขึ้นกับความสามารถในการจ่ายเงินของประชาชน ฟรี ณ จุดให้บริการ โดยอาศัยกลไกสำคัญ 2 ประการคือการกระจายรายได้ใหม่อย่างเป็นธรรมและเป็นหนึ่งเดียวและการแบ่งปันความเสี่ยงโดยไม่มีการแบ่งออกเป็นส่วนย่อยๆให้รวมอยู่ที่จุดเดียว มีการปฏิรูประบบสุขภาพของอังกฤษ สกอตแลนด์ เวลส์และไอร์แลนด์เหนือโดยแต่ละประเทศมีความเป็นอิสระในการปฏิรูประบบสุขภาพของตนเอง  ในขณะที่สกอตแลนด์ยังคงยืนหยัดในหลักการรวมศูนย์อยู่ที่ภาครัฐ (NHS) โดยไม่แยกผู้ซื้อบริการและผู้ให้บริการ (purchase-provider split)

สกอตแลนด์มีประชากร 5 ล้านคน มีกำลังคนด้านสุขภาพอยู่ในภาครัฐมากกว่า 90 % โดยมีอัตรากำลังใน NHS ทั้งสิ้น 162,139 คนในปี 2007 (ของไทยเรามีสองแสนเศษๆดุแลประชากรราว 60 ล้านคน) โดย 42 % เป็นพยาบาลและผดุงครรภ์ มีการเพิ่มขึ้นของบุคลากรอย่างเด่นชัดทุกปี 9 % ในกลุ่มพยาบาลและผดุงครรภ์ 27 % ในกลุ่มแพทย์และทันตแพทย์เฉพาะทาง 27 % สำหรับทันตแพทย์ทั่วไปและ 3 % สำหรับแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป เงินเดือนจีพีอยู่ที่ 100,000 -150,000 ปอนด์ต่อปี โดยผ่านการทำสัญญาให้บริการกับNHS ส่วนแพทย์ในโรงพยาบาลได้รับเงินเดือนจากโรงพยาบาลและสามารถออกไปทำเวชปฏิบัติส่วนตัวได้ มีค่าตอบแทนสำหรับแพทย์และบุคลากรที่ออกไปทำงานในชนบทและพื้นที่ห่างไกลโดยกำหนดเป็นเกณฑ์พื้นที่จ่ายในอัตรา 12-22 % ของเงินเดือน แปรตามลักษณะพื้นที่และวิชาชีพ การปรับอัตราเงินเดือนในแต่ละปีปรับประมาณ 2.25-3.4 % โดยเพิ่มเป็นรายปีและแตกต่างตามวิชาชีพ เจ้าหน้าทีทุกคนสามารถสมัครเป็นสมาชิกของสหภาพได้

การทำสัญญาให้บริการ (contract) ของแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป สามารถทำได้ 4 วิธีคือแบบที่ 1สัญญาศูนย์แพทย์ในการให้บริการ (New General Medical Services, GMS) กำหนดผลงานกับรายได้และมีการเพิ่มขึ้นตามคุณภาพงาน แบบที่ 2 สัญญาเป็นรายบุคคล (Personal MS) โดยกำหนดปริมาณประชากรในเขตรับผิดชอบ มีการขึ้นทะเบียนและกำหนดคุณลักษณะบริการที่จัดให้ แบบที่ 3 ทางศูนย์บริการปฐมภูมิจัดบริการเองโดยว่าจ้างแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปมาทำงานโดยตรง (Primary care Trusts Medical Services) และแบบที่ 4 สัญญาว่าจ้างหน่วยงานหรือบริษัทเอกชนเข้ามาทำหน้าที่ให้บริการ (Alternative Provider Medical Service) โดยกำหนดคุณลักษณะงานและค่าจ้างกัน คล้ายๆจ้างเหมาบริการของโรงพยาบาลในเมืองไทย ซึ่งเป็นที่กังวลว่าบริษัทเอกชนเหล่านี้จะสนใจแต่เรื่องกำไรมากจนทำให้กระทบต่อการตัดสินใจของแพทย์ในสังกัดได้และอาศัยกลไกตลาดเบี่ยงเบนอุปสงค์ อุปทานและเลือกให้บริการแต่เฉพาะบริการที่ทำกำไรได้ง่าย คล้ายๆบริษัทประกันชีวิตคัดเลือกผู้ทำประกันเฉพาะผู้มีสุขภาพดี (Cream screaming) เท่านั้น เท่าที่สังเกตสกอตแลนด์ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการปล่อยให้เอกชนเข้ามาร่วมดำเนินการนัก

เรื่องการมีส่วนร่วมของภาครัฐ-เอกชนในระบบสุขภาพ (Public-private partnership: PPP) จึงไม่ค่อยพัฒนา ในขณะที่สถาบันไอทีเอ็มที่ผมเรียนถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องให้เกิดความร่วมมือดังกล่าว โดยอาจารย์หลายท่านมองว่าสำคัญมากเพราะภาคเอกชนไม่ใช่แค่กลุ่มหวังกำไร (private for profit) เท่านั้น ในพื้นที่หลายพื้นที่ที่ไปทำการศึกษาในประเทศกำลังพัฒนาพบว่าภาคเอกชนที่ไม่หวังกำไร (Private non-for profit) มีบทบาทอย่างมากในการจัดบริการด้านสุขภาพ แต่บทเรียนของอังกฤษกลับพบจุดอ่อนและข้อเสียอย่างมากทำให้ค่าใช้จ่ายในเรื่องสุขภาพแพงขึ้นอย่างมากและอย่างรวดเร็ว

อาจารย์มาร์ก เฮลโลเวล ที่มาบรรยายที่มหาวิทยาลัยเอดินเบอระ กล่าวว่าบริการสุขภาพเป็นกิจกรรมที่ยุ่งยากซับซ้อนทำให้ติดตามตรวจสอบได้ยาก เป็นเรื่องระยะยาวและมีความไม่แน่นอนสูง แรงจูงใจเบื้องต้นของรัฐบาลในการใช้ระบบการร่วมภาครัฐ-เอกชนไม่ใช่เหตุผลทางเศรษฐกิจแต่เป็นเหตุผลทางบัญชี และมีความผิดพลาดในการวางหลักเหตุผลของการปฏิบัติ ภาคเอกชนที่หวังกำไรต้องหวังกำไรวันยังค่ำ ถ้าทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมแต่เขาขาดทุนเขาก็ไม่ทำเพราะถ้าไปทำเขาก็อยู่ไม่ได้ จากประสบการณ์ในอังกฤษพบว่า PPPได้มีส่วนลดทอนความสามารถของระบบสุขภาพในการให้บริการที่ตรงต่อความต้องการ (need) ด้านสุขภาพ ไม่ใช่ความอยาก (want)

สกอตแลนด์ลงทุนอย่างมากต่อค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพ กว่า 70 % เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับบุคลากรและอยู่ที่โรงพยาบาลเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ระบบการส่งต่อผู้ป่วยเพื่อรับการรักษาแบบเฉพาะทางยังคงมีปัญหาในการรอคิวนานมากถึง 18 สัปดาห์ เช่นถ้ามีปัญหาเรื่องต้อกระจกต้องผ่าตัด คนสกอตแลนด์ต้องรอคิวผ่าตัดนานถึง 4 เดือนครึ่ง การไปพบแพทย์ที่ศูนย์แพทย์ก็ต้องมีระบบนัดหมาย ไม่ใช่อยู่ๆก็จะไปโรงพยาบาลหรือไปศูนย์แพทย์ได้เลย ต่างจากบ้านเรามาก ซึ่งเร็วกว่ามาก ตอนนี้มีโครงการรณรงค์เพื่อให้สามารถจัดคิวให้ได้ในเวลามาตรฐานคือ 18 สัปดาห์ ดูได้ที่ www.18weeks.scot.nhs.uk

พื้นที่ที่เราไปดูงานอยู่ในเขตสาธารณสุขโลเทียน (Lothian Health Board) ที่แบ่งออกเป็น 4 เขตย่อย (Community health partnership: CHP and Community health care partnership: CHCP) คือเขตเอดินเบอระ (CHCP) โลเทียนกลาง (CHP) โลเทียนตะวันตก (CHP) และโลเทียนตะวันออก (CHP) ในEdinburgh Community Health Partnership เป็น Local health partnership (LHP) 5 แห่ง มีศูนย์แพทย์ชุมชน (General practice) 25 ศูนย์ เช่น Edinburgh Homeless practice, McKenzie Medical center, Murray field Medical center

CHP จัดตั้งขึ้นเพื่อให้บริการบริการสุขภาพบนฐานของชุมชน ให้บริการในชุมชน ที่บ้าน ศูนย์สุขภาพและคลินิก ในส่วนของเอดินเบอระCHP เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือของNHS Lothianกับสภาของเมืองเอดินเบอระเพื่อให้บริการปฐมภูมิและบริการสุขภาพชุมชนรวมทั้งบริการด้านสังคมแก่ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ส่วนLHPมีหน้าที่ในการจัดการ ประสานงานในการจัดบริการในเขตท้องถิ่นในด้านการเยีย่มบ้าน การพยาบาลชุมชน อนามัยโรงเรียน บริการสุขภาพจิตและทำงานร่วมกับแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป เภสัชกร ทันตแพทย์ ผู้ดูแลด้านสายตา องค์กรอาสาสมัครและบริการของท้องถิ่นและชุมชน

มีการควบคุมคุณภาพบริการโดยการทำสัญญาแบบวัดผลงาน (performance based contract based on outputs & indicators) การสำรวจความพึงพอใจของผู้ป่วย (Patient’s satisfaction survey)โดยใช้แบบสอบถามที่ออกแบบโดยNHS ให้ผู้ป่วยกรอกเองที่ศูนย์บริการและมีการตรวจสอบการสั่งจ่ายยาโดยคณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัดของเขตโลเทียน

ศูนย์แพทย์ชุมชนมูเรย์ฟิลด์ เป็นหนึ่งในผู้ที่ทำสัญญากับNHS Lothian โดยการรับขึ้นทะเบียนกับศูนย์แพทย์โดยไม่เฉพาะเจาะจงตัวแพทย์ ได้รับงบประมาณรายจ่ายตามหัวประชากร รวมกับผลงานที่ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดในเรื่องการดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง มีแพทย์ประจำการ 5 คนและมีแพทย์ฝึกหัดอีก 2 คน เปิดให้บริการตั้งแต่จันทร์ถึงศุกร์ เวลา 8.30 น.-18.00 น. ปิดเสาร์อาทิตย์ และปิดหนึ่งชั่วโมงวันพฤหัสช่วง 12.15-13.15 น. เพื่อให้มีการประชุมอบรมของเจ้าหน้าที่ มีการกำหนดสิทธิและหน้าที่ของผู้ป่วยไว้ชัดเจน ทีมงานนอกจากแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปแล้วประกอบด้วยพยาบาลเวชปฏิบัติ (practice nurse) พยาบาลเยี่ยมบ้าน (district nurse) พนักงานเยี่ยมด้านสุขภาพ (health visitor) และทีมบริหาร จัดบริการด้านการรักษาโรค คลินิกฝากครรภ์ คลินิกเด็กดี ผ่าตัดเล็ก ตรวจมะเร็งปากมดลูก คุมกำเนิดและคลินิกเฉพาะโรคเช่นความดันสูง เบาหวาน หอบหืด เป็นต้น

ตอนนี้เมืองไทยเรากำลังทำเรื่องศูนย์แพทย์ชุมชนโดยการสนับสนุนเงินจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้โรงพยาบาลที่มีความพร้อมจัดตั้งศูนย์แพทย์ชุมชนขึ้น ภายใต้ความรับผิดชอบประชากร 1 หมื่นคน แต่ผมคิดว่าคงเกิดได้ยากในหลายๆพื้นที่เพราะไม่มีแพทย์ไปอยู่ เหมือนการทำPCU ที่เคยตั้งเป้าไว้ให้มีแพทย์ไปอยู่ในสถานีอนามัย พอทำเข้าจริงก็กลายเป็นแค่การเปลี่ยนชื่อสถานีอนามัยเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิเท่านั้น ผมลองคิดดูว่าถ้าเริ่มจากการให้ประชาชนขึ้นทะเบียนกับคลินิกที่มีอยู่แล้วในชุมชนตามความชอบและความสมัครใจ กำหนดกฎกติกาการสนับสนุนด้านงบประมาณ การควบคุมคุณภาพและกำหนดค่าตอบแทนเพิ่มเติมในด้านส่งเสริมป้องกันโรค คิดว่าอาจลงทุนน้อยกว่าเพราะไม่ต้องไปสร้างตึกใหม่ ซื้อเครื่องมือใหม่ จ้างคนใหม่ ใช้บุคลากรของคลินิกที่มีอยู่แล้ว น่าจะดีกว่า

มีการจัดบริการสำหรับคนไร้บ้าน คนที่อาศัยถนนเป็นเรือนนอน โดยมีศูนย์บริการแพทย์สำหรับผู้ไร้บ้าน และมีองค์กรที่ช่วยสนับสนุนทางด้านอาหารแก่คนไร้บ้านไร้ที่พักพิง (Good food in tackling homelessness) ที่ผมได้ไปดูหน่วยงานสนับสนุนการทำงานด้านนี้คือไซรีเนียน กู๊ด ฟูด (Cyrenians good food Depot) ดูรายละเอียดที่ www.cyrenians.org.uk  เป็นบริษัทเอกชนที่รับอาสาสมัครมาช่วยทำงานในลักษณะไม่หวังกำไร โดยมีโครงการหลักในการดำเนินการ 4 โครงการคือการกระจายอาหารแก่ศูนย์ดูแลผู้ไร้ที่พักพิง (Food Redistribution, FareShare franchise) การสนับสนุนอาสาสมัคร (Supported volunteering) การสอนทำอาหาร (Cooking at Home Classes) และการพัฒนาบริการ (Improving provision and practice)

ไซรีเนียน ทำการส่งมอบอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการกว่า 15,000 ชิ้นในแต่ละสัปดาห์ให้แก่ผู้คนที่ไร้บ้าน ไร้ที่พักพิง โดยการขอบริจาคอาหารจำพวกผักสด ผลไม้สด เนื้อและอาหารที่มีป้ายหมดอายุและตามกฎหมายห้ามจำหน่ายจากซูเปอร์มาร์เก็ตแล้วนำมาคัดแยกตรวจสอบคุณภาพแทนที่จะถูกทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย แล้วนำมาบรรจุใหม่ ส่งต่อไปยังหน่วยงานที่ดูแลผู้ไร้บ้านพักพิง ตอนที่เดินเที่ยวชมโรงงาน ผู้ช่วยผู้จัดการได้ชี้ให้เราดูผักผลไม้นานาชนิดที่หมดอายุพรีแพคส์ (pre-pack) แต่ยังไม่เน่าเสีย ยังสามารถรับประทานได้ เขาหยิบแครอทมาเคี้ยวใส่ปากทานให้เราดู และเป็นการน่าเสียดายที่ผักผลไม้เหล่านี้ถูกทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ ในขณะที่มีผู้คนอีกมากมายอดอยากเพราะไม่มีกิน ที่สำคัญความร่วมมือของร้านซูเปอร์มาร์เกตเหล่านี้เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมมาก ในหลายๆประเทศเขาต้องทิ้งไปเพราะกลัวมีคนเอาไปขายตัดราคาเขา

ผมจำได้คลับคล้ายคลับคลาว่าในเมืองไทยเคยมีข่าวแม่ตั้งท้องขโมยซาละเปาที่มีลูกค้าทานเหลือเพื่อเอาไปให้ลูกกินแล้วถูกจับขัง ทั้งๆที่ยังไงซาละปาลูกนั้นก็ต้องถูกทิ้งไปอยู่ดี บ่อยครั้งที่เราพบว่าสิ่งที่ดูไม่มีค่าสำหรับใครหลายๆคนกลับเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสำหรับชีวิตของคนอีกหลายๆคน ตามหลักเศรษฐศาสตร์บอกไว้ว่า ทรัพยากรบนโลกมนุษย์มีจำกัด แต่ความต้องการของคนมีไม่จำกัด จึงต้องมีการใช้อย่างรู้คุณค่า และปราชญ์ท่านหนึ่งบอกว่า ทรัพยากรบนโลกมนุษย์มีมากมายเพียงพอสำหรับทุกชีวิตบนโลก แต่ไม่เพียงพอสำหรับคนโลภเพียงคนเดียว เรากลับออกจากโรงงานนี้ด้วยความรู้สึกที่ชื่นชม พนักงานที่เราพบเป็นอาสาสมัครที่ทำงานด้วยใจ ยิ้มแย้มแจ่มใสไม่รู้เหนื่อย อีกทั้งทักทายพวกเราอย่างดี การทำงานด้วยใจ การช่วยเหลือให้บริการผู้อื่นด้วยใจนี้ เริ่มมีการพูดถึงกันมากในระบบริการสาธารณสุขของไทยเราในชื่อว่าการให้บริการด้วยจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ (Humanized health care)

อีกแห่งที่ผมได้ไปดูงานคือแผนกดูแลทางด้านจิตวิญญาณ (Spiritual and postural care) ของโรงพยาบาลหลวงแห่งเอดินเบอระ ที่เขาทำเรื่องนี้มาตั้งแต่เริ่มเปิดโรงพยาบาล ทุกคนในแผนกเป็นพนักงานของโรงพยาบาลในตำแหน่งนักบวช (Chaplain) ในแผนกจัดอาคารสถานที่อย่างสะอาดสะอ้าน สบายกายสบายใจ ทำให้เกิดความสดชื่นเมื่อได้เข้าไปเยี่ยมเยียน พร้อมทั้งมิตรภาพจากพนักงานทุกท่าน ทีมดูแลจัดตั้งเป็นทีมดูแลด้านจิตวิญญาณ (Spiritual care team) ให้บริการแก่ผู้ป่วย ญาติและเจ้าหน้าที่ สำหรับคนไข้มีการกำหนดเกณฑ์การประเมินความต้องการทางด้านจิตวิญญาณและให้บริการตามความสมัครใจของคนไข้ ไม่มีการบังคับ เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยจึงได้กำหนดให้นักศึกษาแพทย์ปี 1 และปี 3 เข้ามาเรียนในแผนกนี้ 1 วันต่อสัปดาห์ รวม 10 สัปดาห์

หลักการสำคัญของการให้การดูแลคือให้สอดคล้องกับความเชื่อวิถีชีวิตของผู้มารับบริการ การออกแบบสถานที่ให้บริการจึงออกแบบให้สอดคล้องและเข้าได้กับความเชื่อและปรัชญาชีวิตของคนทุกกลุ่ม ทั้งคริสต์ พุทธ อิสลามอื่นๆ เน้นทำให้คนมีความสุข สงบ ความรักและสันติภาพในจิตใจ การกำหนดความคิดที่ดีเป็นการเยียวยารักษาโรคที่ได้ผลชะงัด ความคิดเชิงบวกจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการดูแลทางจิตวิญญาณทั้งต่อตัวผู้ป่วยและต่อตัวผู้ให้บริการเอง การฝากความสุขไว้กับสิ่งอื่นๆที่ไม่ใช่ตัวและใจของเราทำให้เราต้องพึ่งพิงสิ่งอื่นๆหรือคนอื่นๆที่เราควบคุมไม่ได้ ทำให้ใจเราเป็นทุกข์และสูญเสียความคิดเชิงบวกไปได้

จิตวิญญาณในการดูแลด้านสุขภาพและการดูแลทางจิตวิญญาณในทางปฏิบัติมีความสำคัญ รับรู้ได้ผ่านทางประสบการณ์แห่งการปฏิบัติ สามารถเริ่มต้นได้ด้วยการมองคนที่มีความสุขทางจิตวิญญาณแล้วคิดให้ได้ว่าเราเองก็มีสิ่งเหล่านี้ในตัวเหมือนกัน เชื่อมั่นว่าทุกสิ่ง เป็นอย่างที่มันควรเป็น ไม่ใช่ตามที่เราอยากให้มันเป็น รับรู้และเห็นคุณค่าที่อยู่ในตัวของผู้อื่นพร้อมๆกับการเห็นคุณค่าในตัวเอง ให้เวลากับการดื่มด่ำอยู่กับความวิเศษของชีวิต ตื่นตัวรู้เท่าทันความต้องการของตนเอง รับความช่วยเหลือเมื่อจำเป็นและให้ความช่วยเหลือผู้อื่นเมื่อเขาต้องการ

จากแนวคิดการดูแลด้านจิตวิญญาณนี้ ในเมืองไทยเรา พ.ร.บ.สุขภาพกำหนดเรื่องสุขภาพหมายถึงสุขภาวะทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคมและจิตวิญญาณ ที่ตอนร่างมีการถกเถียงกันมากเรื่องจิตวิญญาณที่อยู่ในตัวเรากับวิญญาณตามความเชื่อของคนไทยที่เมื่อตายไปแล้ววิญญาณจะออกจากร่าง ซึ่งถ้าใช้แนวคิดพุทธแท้ก็มีการพูดถึงเรื่องวิญญาณที่เป็นเรื่องของการรับรู้มากกว่าความเชื่อเรื่องภูตผี แต่ในที่สุดก็ต้องเปลี่ยนคำว่าสุขภาวะจิตวิญญาณ (Spiritual) ไปเป็นสุขภาวะทางเชาว์ปัญญา (Intellectual) ในความคิดส่วนตัวของผม สุขภาวะทางจิตวิญญาณคือสุขอย่างที่เราเป็น หลุดพ้นจากเครื่องพันธนาการทางใจที่ทำให้เราทุกข์ เป็นสุขจากใจ รู้เท่าทันสิ่งต่างๆ

สุขภาวะทางจิตวิญญาณมีความเกี่ยวข้องอย่างแยกไม่ออกกับการให้บริการด้วยจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ เปรียบได้กับการบรรลุความต้องการขั้นสูงสุดของมาสโลว์ (Self-actualization) เห็นคุณค่าของสรรพสิ่ง การจัดการความรู้ที่แท้จริงทำให้บรรลุสุขภาวะทางจิตวิญญาณได้

พิเชฐ  บัญญัติ(Phichet Banyati)

Verbond straat 52, 2000 Antwerp, Belgium

17 มิถุนายน 2551, 18.45 น. ( 23.45 น.เมืองไทย )

หมายเลขบันทึก: 188649เขียนเมื่อ 17 มิถุนายน 2008 23:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 00:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

กำลังหาความหมายของจิตวิญญาณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท