เพลงพื้นบ้าน : ต่างความคิดต่างจิตใจ ใครจะหยั่งรู้ได้


เร่งรีบเสาะหาไปพบท่าน เรียนรู้ฝึกปฏิบัติอย่างจริงจังและนำเอาความรู้กลับมาถ่ายทอดสู่เยาวชนอย่างจริงจังยั่งยืนให้ได้ เมื่อนั้นแหละครับจึงจะทำให้คงอยู่ได้อย่างถาวรตลอดไป

 

เพลงพื้นบ้าน : ต่างความคิด

ต่างจิตใจ   ใครจะหยั่งรู้ได้

แนวทางในการสืบสาน ที่ผ่านมา

 

          ย้อนอดีตกลับไปในวันที่ผมเริ่มต้นนำเอาเพลงพื้นบ้านเข้ามาในโรงเรียน หลังจากวันที่ผมได้รับรางวัลชนะเลิศ จากการประกวดเพลงอีแซวในงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ (ฉลองกรุงเทพฯ 200 ปี) ในจำนวน 10 คณะ ที่คัดมาจากแต่ละอำเภอมาประกวดกันที่หน้าศาลากลางจังหวัดสุพรรณบุรี ผมนำเอาประสบการณ์ที่ได้รับจากจุดนั้นเพื่อที่จะถ่ายทอดความรู้สู่นักเรียนและเยาวชนที่สนใจในเพลงพื้นบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงพวงมาลัย เพลงแหล่ ลำตัด เพลงเรือ เพลงเต้นกำ แต่ยากนักที่จะหาเด็ก ๆ เข้ามาร่วมรับรู้และฝึกปฏิบัติกับเราได้ จนมาถึงปี พ.ศ. 2534 ผมใช้ความพยายามอีกครั้งโดยเชิญชวนให้นักเรียนเข้ามาร่วมกลุ่มในกิจกรรม/ชุมนุมศิลปะการแสดง (ตามหลักสูตร ปี พ.ศ. 2533) แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจ ผมจึงยังคงออกไปแสดงเพลงพื้นบ้าน ร้องแหล่อวยพร ทำขวัญนาคไปตามที่มีคนมาว่าจ้างให้ไปแสดง

 

          ในปี พ.ศ. 2535 เป็นปีที่ผมได้มีโอกาสฝึกหัดเพลงพื้นบ้านให้กับนักเรียน โดยมีครูเขาจัดเด็กมาให้ 12-15 คน เพื่อไปทำการแสดงในกิจกรรมชุมนุมยุวกาชาดเอเชียแปซิฟิก ที่ค่ายวชิราวุธ จังหวัดชลบุรี ผมรับอาสาด้วยความเต็มใจอย่างยิ่ง ผมมีความสุขใจที่ได้ยืนรำร้องต่อหน้าเด็ก ๆ ชั้น ม.1-2 ที่จะไปเข้าค่ายยุวกาชาด ในระดับนานาชาติ แต่น่าเสียดายที่ผมมีเวลาในการฝึกหัดนักเรียนเพียง 1 สัปดาห์ (ความจริงหัดเพียง 5 วัน) เด็ก ๆ มีความตั้งใจดีมาก คนที่เก่งที่สุดชื่อ เด็กหญิงธัญลักษณ์ ธัญญเจริญ เป็นบุตรสาวของ อาจารย์วิรัตน์ ธัญญเจริญ เพื่อนร่วมงานของผมนี่เอง เด็ก ๆ เขาก็ทำหน้าที่ได้ดียิ่ง จนได้รับคำชมกลับมากันทั่วหน้า สนุกและก็ภาคภูมิใจที่พวกเขาได้แสดงออกต่อหน้าผู้ชมและผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมนับหมื่นคน

 

          ในใจของผมคิดว่า ผมจะต้องถ่ายทอดความรู้เพลงพื้นบ้านสัก 1-2 อย่าง หรือถ้าได้มาก กว่านั้นก็เป็นสิ่งที่ดีให้กับเด็ก ๆ กลุ่มนี้ เป็นกลุ่มนำร่องไปก่อน เหมือนฟ้าประทานพรมาให้เด็ก ๆ ชุดนั้นจำนวนหนึ่ง 4-5 คน ที่ผมแนะนำให้มาฝึกหัดเพลงพื้นบ้านต่อจากที่ไปแสดงในการขุมนุมยุวกาชาด ผมใช้เวลาในช่วงเย็น ตอนที่โรงเรียนเลิกแล้ว (เวลา 16.30-18.00 น.) ฝึกหัดเพลงอีแซว เพลงฉ่อย เพลงไทยเดิมให้กับนักเรียนหญิง มีนักเรียนชายมาร่วมฝึกเพียง 2 คน รวมเป็นวงเพลงเด็ก ๆ ได้ 7-9 คน รวมผู้ให้จังหวะด้วย ในระยะเริ่มแรกใช้ซาวด์ดนตรีจากเทปบันทึกเสียง ต่อมาจึงได้ซื้อตะโพน ฉิ่ง กรับ รำมะนา กลองบองโก โทนและกลองไฟฟ้า มีใช้ในปัจจุบัน

 

          ความคิดของผมในวันนั้น ผมคิดแต่เพียงว่า จะทำอย่างไร จึงจะถ่ายทอดความรู้ ความ สามารถที่เรามี ไปยังนักเรียนกลุ่มเป้าหมายที่คาดหวังเอาไว้ได้  เมื่อใดมีเด็ก ๆ มาฝึกหัดเพลงจำนวนหนึ่งอย่างจริงจังแล้ว ผมเดินหน้าต่อไป ผมทุ่มเทเวลาให้กับการฝึกทุกวัน จนนักเรียนทั้งวงมีความสามารถที่จะออกไปแสดงบนเวทีได้ แต่ก็ไม่มีเวทีให้ได้แสดงความสามารถ ผมยังมีเวลาสร้างสรรค์ชุดฝึก 9 ขั้น ใช้ในการฝึกหัดเพลงอีแซว สร้างการเรียนรู้ด้วยเทปบันทึกเสียงร้อง สร้างนวัตกรรมชุดฝึกทักษะเพลงอีแซวด้วยคอมพิวเตอร์ พัฒนาความสามารถของนักเรียนมาโดยลำดับ จนถึง ปี พ.ศ. 2537 เริ่มมีงานเข้ามาโดยการติดต่อ แต่เป็นเพียง ปี ละไม่กี่งานเท่านั้น

         

 

ถึงแม้จะไม่มีเวทีให้แสดง ผมก็ยังคงฝึกหัดเพลงพื้นบ้านให้กับนักเรียนอย่างต่อเนื่อง ในช่วงระยะเวลา ปี พ.ศ. 2535 -2541 มีเวทีแสดงเพียง 18 ครั้ง แต่จากปี พ.ศ. 2542 -2551 มีงานแสดงบนเวทีในสถานที่ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง มากบ้างน้อยบ้าง บางเดือนก็มีหลายงานติดต่อ กัน บางเดือนก็มีเพียง 2-3 งาน มาจนถึงวันนี้ เด็ก ๆ ในวงเพลงมีประสบการณ์บนเวทีการแสดงทั้งในรูปแบบงานวิชาการ งานชุมชนในท้องถิ่น งานหาจ้างวานในโรงแรมขนาดใหญ่รวมแล้วมากกว่า 500 ครั้ง (ระยะแรก ๆ ไม่มีการจดบันทึกงานแสดงเอาไว้) จนถึงวันนี้วงเพลงอีแซวนักเรียน ในนามของ เพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ ยังคงตั้งใจฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอไม่เคยขาด วันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน 2551 พบกันที่ โรงงานโพธิ์ชัยจิวเวลลี่  มีนบุรี กรุงเทพฯ (12.00-14.00น.)

 

ถ้าถามว่า คิดอย่างไรกับการสืบสานศิลปะพื้นบ้าน ในช่วงเวลาที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ ผมขอตอบว่า ผมคิดที่จะถ่ายทอดความรู้ที่ผมมีอยู่ ในด้านการแสดงเพลงพื้นบ้านให้ไปฝังรากลงลึกที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ ๆ โดยมิได้หวังค่าจ้าง สิ่งตอบแทนจากผู้ที่เข้ามาฝึกหัดเลยสักคนเดียว  มันเป็นความสุขใจที่ได้ทำในสิ่งที่เรามีใจรักและทุ่มเทให้มายาวนานเกือบเท่ากับชีวิตของเรา เด็ก ๆ บางคนมีเงินเก็บฝากธนาคาร วันที่เขาจบ ม.6 เบิกถอนเงินฝากออกมาให้เราดูก็เป็นปึกหนามาก  เด็กบางคนได้นำเอาความรู้ความสามารถที่เราถ่ายทอดไปให้ นำไปใช้ในการศึกษาต่อ ไปเรียนต่อด้านพยาบาลก็หลายคน  เป็นทหาร ตำรวจ (นายร้อย) ก็มี  ไปเรียนด้านศิลปะ ตั้งโรงงานขนาดใหญ่ประกอบอาชีพอิสระก็มีมาก  และอีกหลาย ๆ ด้าน ผมได้แต่เก็บความภาคภูมิใจที่มีต่อผลผลิตที่เราได้คิดสร้างสรรค์

 

ต่างความคิด ต่างจิตต่างใจ  ใครจะหยั่งรู้ได้

 

          แนวทางในการสืบสานตำนานเพลงพื้นบ้านมีหลากหลายวิธีการ ที่จะนำเอามาฉุดรั้ง มิให้ศิลปะท้องถิ่นต้องตกต่ำหรือสูญสิ้นไป บางวิธีการก็รักษาได้เพียงในระยะสั้น บางวิธีการก็กระทำไปเพื่อหวังผลที่จะส่งกลับมายังตนเอง  บางวิธีการก็เพื่อผลประโยชน์บางประการ  บางวิธีการก็เพื่อประชาสัมพันธ์บุคคล กลุ่มบุคคล หน่วยงาน  จะอย่างไรก็ตาม ผมคนหนึ่งที่ยอมรับได้ว่า ไม่ว่าจะหวังผลประโยชน์ด้านใด กับใคร มากน้อยแค่ไหน  การที่บุคคล กลุ่มบุคคล ได้หันกลับมามองศิลปะท้องถิ่นเพลงพื้นบ้าน ให้ได้มีส่วนในการเชิดชู ร่วมในกิจกรรมก็นับว่าเป็นการสืบสาน เพื่อรักษาไว้อีกแรงหนึ่ง ถึงแม้ว่าจะไม่ยาวนาน ด้วยความรู้สึกที่เห็นคุณค่า มาจากภายในก็ตาม

 

          - การจัดให้มีเวทีประกวดแข่งขันก็เป็นรูปแบบหนึ่งในการส่งเสริมศิลปะพื้นบ้าน แต่เป็นการส่งเสริมในระยะสั้น ๆ  อาจจะไม่มีความคงทนถาวร (ลงทุนมาก ผลที่ตามมาอยู่ในระยะสั้น)  เมื่อไม่มีงบประมาณรองรับก็ไม่มีเวทีให้เด็ก ๆ ได้แสดงความสามารถ

          - จัดโครงการฝึกหัดเยาวชนในสถานศึกษาต่าง ๆ ด้วยความมุ่งมั่น แต่ไม่ชัดเจนในการจัดตั้งวง ฝึกกันไปเรื่อย ๆ เรียกว่ามุ่งเดินไปข้างหน้า เมื่อสิ้นสุดโครงการ หมดงบประมาณก็ล่มสลาย จางหายไปตามสภาพความเป็นจริง

          - การฝึกหัดเพลงพื้นบ้าน เพลงอีแซว ในสถานศึกษา เป็นการฝึกหัดเพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ได้ฝึกทักษะ ร้องเป็น เล่นเป็น  เป็นการส่งเสริม แบบสร้างสิ่งทดแทนขึ้นมา มองเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น เพียงแต่ยังมองไม่เห็นกลุ่มคนที่จะมาทดแทนคนเก่าได้อย่างน่าเชื่อถือ

          - จัดกิจกรรม/โครงการส่งเสริมศิลปะการแสดงท้องถิ่นในโรงเรียน จัดครูฝึกหัดให้กับนักเรียนรวมทั้งจัดหาครูที่มีความสามารถมาช่วยฝึกหัดร้อง รำทำท่าทาง พูด แสดงอย่างถูกต้องตามรูปแบบดั้งเดิม  จนสามารถขึ้นเวทีแสดงได้ นำมาซึ่งความภาคภูมิใจของผู้กระทำ

          - จัดกิจกรรมการเรียนรู้ หรือกิจกรรมสอดแทรกความรู้เรื่องเพลงพื้นบ้าน เพลงอีแซว รวมทั้งเพลงประเภทอื่น ๆ จนนักเรียนมีความสามารถ สร้างชื่อเสียงได้ในระดับที่สูงขึ้นไป  แต่มีเวทีที่จะให้เด็ก ๆ ได้ไปแสดงความสารถน้อย หรือแทบจะไม่มีเลย หรือมีเวทีแสดงแต่กลับมีผู้ชมให้ความสนใจน้อยมาก

          - จัดกลุ่มสนใจ กลุ่มวิชาเลือก และกิจกรรมชุมนุมให้กับนักเรียนที่มีความสนใจรักหวงแหน ต้องการที่จะสืบสานเพลงพื้นบ้านอย่างแท้จริง แม้จะมีจำนวนน้อย แต่สามารถที่จะรวมวงได้ สร้างชื่อเสียงในระดับที่สมควรให้การยกย่อง พัฒนาความสามารถสู่ระดับมืออาชีพอย่างมั่นคงถาวร เป็นระยะเวลาที่ต่อเนื่องมายาวนาน

 

          ต่างความคิด ต่างจิตต่างใจ มิอาจที่จะหยั่งรู้ได้ว่า ในวันนี้บุคคลที่รักและหวงแหนสมบัติของแผ่นดินถิ่นเกิด มรดกที่ล้ำค่าของคนไทยที่ตกหล่นอยู่ในทุกหัวระแหง ศิลปะการแสดงของท้องถิ่นบางอย่างต้องสูญสิ้นไปเพราะอะไร  เอกลักษณ์ของท้องถิ่นถูกมองข้ามไปอย่างน่าเสียดายเพราะใคร ความไม่แน่นอน ไม่ยั่งยืน และไม่มีเป้าหมายที่ยาวไกล ในการทำงานเกิดจากปัญหาใด หรือความต้องการ  ที่สำคัญ ทำไมการอนุรักษ์ สืบสานเพลงพื้นบ้านจึงต้องมุ่งไปที่ศิลปินคนดัง หรือหวังที่จะนำพาตนเองไปสู่ระดับที่สูงขึ้นเท่านั้นเอง ทำไมไม่เสาะแสวงหาบุคคลที่เป็นต้นฉบับ บุคคลที่เป็นตำนานของท้องถิ่นที่เขายังคงยืนยักยัน ปักหลักอยู่ใกล้ ๆ สถานศึกษาของท่านนั่นเอง ซึ่งยังมีชีวิต มีความสามารถอีกเป็นจำนวนมาก

           

           

          เร่งรีบเสาะหาไปพบท่านเรียนรู้ฝึกปฏิบัติอย่างจริงจังด้วยตนเองและนำเอาความรู้กลับมาถ่ายทอดสู่เยาวชนอย่างจริงจังเหนียวแน่น และพัฒนาไปเป็นความยั่งยืนให้ได้ (เป็นนักแสดงแสดงที่มีคนดู) เมื่อนั้นแหละครับ การอนุรักษ์จึงจะทำให้คงอยู่ได้อย่างถาวรตลอดไป

ชำเลือง  มณีวงษ์ ผู้มีผลงานดีเด่นรางวัลราชมงคลสรรเสริญ "พานพุ่มพนมมาลา" ปี 2547

 

หมายเลขบันทึก: 188646เขียนเมื่อ 17 มิถุนายน 2008 23:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะ อาจารย์

  • ครูอ้อย มาตั้งใจอ่าน และชื่นชมอาจารย์มากเลยค่ะ
  • ความตั้งใจจริงมักจะนำพาให้ไปสู่ความสำเร็จเสมอ ใช่ไหมคะอาจารย์
  • การเผยแพร่ ศิลปวัฒนธรรมอันดีงาม อันเป็นมรดกของชาติ  เป็นเรื่องที่ดีเยี่ยม ประเสริฐสุดแล้วค่ะอาจารย์

ครูอ้อยเป็นกำลังใจให้อาจารย์คนหนึ่งค่ะ

สวัสดีครับ ครูอ้อย

เจอครูอ้อยก็ดีแล้ว ขอฝากความคิดถึงไปยังคุณสะมะนึกด้วย ได้ข่าวว่าแกจะบวช ผมจะได้ไปร่วมงานทันเวลา (ล้อเล่น)

ขอบคุณที่เข้ามาให้กำลังใจ ชีวิตของคนเรามีวันดับสูญ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ผมจึงหมั่นสร้างความดีเอาไว้ อย่างน้อยก็อาจจะเป็นช่องทางนำเราไปสู่ความสุขในโลกหน้า

ผมจะเดินหน้าในการสร้างสรรค์ผลงานเพลงพื้นบ้านต่อไปจนวาระสุดท้ายนั่นแหละ ครับ

สวัสดีค่ะ

* เข้ามาชื่นชมและเป็นกำลังใจให้ค่ะ

* เมืองไทยเราแปลก...ช่วงเวลาแห่งการทดลองตั้งใจทำเอาจริงเอาจัง...เมื่อสำเร็จแล้ว...ก็จะทำกัไปสักพัก...แล้วก็เลิก...เข้าทำนองตูทำได้..ทำเป็นแล้ว...ไม่มีการสานต่อ

* น่าเสียดายเวลาและแรงที่ทุ่มเทลงไปในช่วงแรกนะคะ

อาจารย์ พรรณา ครับ

  • เป็นความเห็นที่น่ายกย่องจริง ๆ อาจารย์คงเข้าใจคำว่า "ไฟไหม้ฟาง" ได้ดี อย่างไรก็อย่างนั้น
  • น่าเสียดายเวลาและแรงงานที่ทุ่มเทลงไป  การยืนหยัดอยู่ได้เพียงชั่วคราว ไม่ควรถือว่างานนั้นสำเร็จ
  • ทุกลมหายใจเข้าออก ควรมีกลิ่นไอแห่งความมุ่งหวังที่สดชื่นและมีชีวิตชีวาที่ยั่งยืนยาวนาน ครับ
  • ขอบคุณ อาจารย์ ม๊ากมาก ที่ส่งกำลังใจมาให้เสมอ ๆ
  • สวัสดีค่ะ
  • ที่โรงเรียนหนูก็มีคณะอีแซวนะค่ะ
  • แต่ว่าหนูไม่ได้เป็นหนึ่งในนั้นค่ะ
  • แต่ก็ชอบค่ะ เพราะว่ามันดูแล้วสนุกดี
  • มาทักทายค่ะ

กาแลคซี่ผืนน้อย ครับ

  • ขอบใจมากที่เข้ามาเยี่ยมเยียน ทักทายคนแก่ ๆ อย่างครู
  • ที่โรงเรียนของหนูก็มีเพลงอีแซว ดีครับ ขอให้ร่วมกันอนุรักษ์เอาไว้นาน ๆ ตลอดไป
  • ถึงแม้ว่าหนูจะไม่ได้เป็นหนึ่งในวงเพลงของโรงเรียน แต่เราก็มีช่องทางอื่นที่จะแสดงความรักท้องถิ่น รักบ้านเกิดได้อีกนะ
  • เพลงอีแซว มิใช่แค่เพียงดูแล้วสนุกดี แต่เพลงอีแซวที่ครูเล่นมานานกว่า 35 ปี ยังมีคุณค่าทางจิตใจ ให้ความรู้ สอนศีลธรรมนำไปสูความดีได้อีกมาก ครูเป็นคนเล่นเพลงหน้าเวทีมาตลอดชีวิต หลายร้อยหลายพันครั้ง ที่ได้เข้าไปมีส่วนในการแสดง ครูอยากเห็นคนเพลงที่เป็นนักแสดงจริง ๆ มิใช่แค่เพียงฝึกหัดแล้วก็เลิกลามือไป
  • ฝึกเอาไว้บ้างก็ดี แม้ว่าจะไม่ได้แสดงบนเวที  โชคดีนะหนู
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท