เมื่อชีวิตเป็นเพียงตัวเลข...


มาใช้ชีวิตอย่างเข้าใจในธรรมชาติของสรรพสิ่งกันเถอะค่ะ..

เมื่อวานอ่านอนุทิน เรื่อง นศ.ปี ๔ ผลการเรียนดีมากคนหนึ่งกระโดดตึกตาย  ตัวเองก็ยังบ่นเสียดายอยู่..วันนี้อ่านข่าวหนังสือพิมพ์หัวข้อสั้นๆ "3.18" ก็เลยทำให้ฉุกคิดว่า ชีวิตหนึ่งชีวิต จบลงไป เพียงเพราะตัวเลขเท่านั้น  (ต้องขอโทษครอบครัวของน้องคนนี้ ที่เอาเรื่องนี้มาเป็นตัวอย่าง) จริงๆ ถ้ามองๆ ไปในหน้าหนังสือพิมพ์หรือสื่อต่างๆ เราจะเห็นการยึดมั่นถือมั่นในเรื่องต่างๆ เป็นเหตุแห่งการทำลายชีวิตเป็นจำนวนมาก..

บางครอบครัวล้มละลาย เป็นหนี้ หัวหน้าครอบครัว"รู้สึก"หมดหนทาง ก็พาเอาชีวิตของทุกคนในครอบครัวรวมทั้งตัวเองไปด้วย (ช่วงหลังจากนี้จะเป็นช่วงที่เรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นมาก เพราะปัญหาเศรษฐกิจกำลังจะมาเยือน อันเนื่องมาจากปัญหาพลังงาน)

คนในสังคมแตกแยกกันเพราะ"หลักการ ความคิด การตีความ หรือคำพูด!"

บางประเทศก็รบกันด้วยปัญหา"เส้น"แบ่งเขตแดน หรือเรื่องของ"เงิน ทรัพย์สิน" หรือ"การคิดว่า"ใครมีอาวุธนิวเคลียร์"

ทำให้เห็นได้ชัดจริงๆ ว่า คนเราโดนเส้นผมบังภูเขาขนาดไหน...

ตัวเลขก็คือตัวเลข

เส้นแบ่งก็คือเส้นแบ่ง

เงินก็เป็นเพียงกระดาษ กับตัวเลขในสมุดบัญชี

หุ้นก็เป็นเพียงตัวเลขสีเขียว สีแดง บนกระดาน ในคอมพิวเตอร์

ของพวกนี้มันเป็นอนิจจังทั้งนั้น..มันไม่เที่ยง

ปัญหามันเกิดขึ้นเพราะไปยึดมันว่าเป็นของเที่ยง..มันเป็นของแน่..นี่แหละ


การเปลี่ยนแปลงของสิ่งเหล่านี้ มันจะไม่กระทบเรา ตราบใดที่เราไม่ได้ยึดมันเอาไว้เป็นสรณะ

สิ่งเหล่านี้ ถ้ามันเปลี่ยน..มันจะไม่ฆ่าเรา..

แต่สิ่งที่จะฆ่าเราได้..ก็คือผลจากการยึดมั่นถือมั่น(ในความคิด)ของตัวเราเอง..

คิดว่าเกรดน้อย..ไม่ได้เกียรตินิยม..

คิดว่านี่คือ"ของฉัน"..ตลอดไป..ใครจะมาเปลี่ยนแปลงไม่ได้..

คิดว่าฉันล้มละลาย..

คิดว่าฉันล้มเหลว..

คิดว่าสังคมรังเกียจ..

คิดว่าตัวเองอัปลักษณ์..

คิดว่าเพื่อนฝูงดูถูก..

คิดว่าฉันยังรวยไม่พอ..

คิดว่าไม่มีใครรักฉันจริง..

คิดว่าคนไม่ยอมรับ...

คิดว่าคนโน้น คนนี้เอาเปรียบเรา ทำร้ายเราเสมอ..

คิดว่ากำลังจะตายอย่างทรมาณ..

....

สิ่งเหล่านี้ มันเป็นอุปาทานทั้งนั้น....

อย่าให้อุปาทานมาหลอกเราเลย..

เราควรทำความเข้าใจว่า..ของพวกนี้มันเปลี่ยนแปลงได้

มันไม่แน่ มันเป็น"อนิจจัง"

เราควรใช้ชีวิต ทำตามหน้าที่ บทบาทของตัวเองให้เต็มที่ ผลอาจเป็นอย่างที่เราคิดหรือไม่ก็ได้..อย่าไปคาดหวัง..

การคาดหวัง ก็เท่ากับเป็นการขีด"เส้น"แบ่งความผิดหวังและความสมหวังทันที..เป็นการแยกดี ไม่ดี สร้างอุปาทานขึ้นมาทันที

มาใช้ชีวิตอย่างมีสติและเข้าใจในธรรมชาติของสรรพสิ่งกันเถอะค่ะ..

อย่าให้การยึดมั่นถือมั่นมาทำร้ายตัวเราเองอีกเลย..

หมายเลขบันทึก: 187181เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2008 01:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 เมษายน 2012 19:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (32)

เห็นด้วยกับอาจารย์กมลวัลย์ครับ ...

ชีวิตที่นับถือแค่ตัวเลข ตัวเลขที่ไม่สามารถวัดความเป็นคนดี คนเลว ได้ ... แต่ก็ยึดมั่นไปแล้ว ผ่านมาแล้ว และสายไปแล้ว

เคยมีเพื่อนนั่งร้องไห้ เพราะไม่ได้ A ... ส่วนพวกเรียนไม่เก่งอย่างเราได้ C นั่งหัวเราะ ฮ่า ๆ ด้วยความสุข

ครูเขาลืมสอนเรื่องชีวิตให้กับเด็กหรือเปล่า

สภาพแวดล้อมที่มีแต่คนเก่งสอนให้เขาต้องคิดแบบนี้หรือเปล่า

ครอบครัวสนใจเรื่องนี้หรือเปล่า

คำถามมีอยู่มากมาย ล้วนเป็นไปได้ทั้งหมด

แต่ ... คงต้องใช้กรรมต่อไปอีกหลายชาติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะเป็นกรรมหนัก

ขอบคุณครับอาจารย์ :)

  • อันตัวเลขบ่งชี้            ความใด
  • หรือบ่งชี้อย่างไร         ไม่ได้
  • ความยึดมั่นฤาไฉน      ลวงล่อ  ตัวเรา
  • ตนตรองตนเองไซร้     ตนได้    ความจริง

เจริญพร  

เหตุการณ์นี้ทำให้สงสัยขึ้นมาว่าเกิดอะไรกับ EQ ของสังคมไทยครับ ชีวิตมีความซับซ้อน ไม่ได้เป็นสมการเชิงเส้นสักหน่อย

ทุกข์ก่อเกิดข้างใน       ตัวตน
ยึดถือแน่นติดทน        ทุกเรื่อง
บ้าบอนั้นล้วนคน         สร้างขึ้น เองนา
ไร้ปล่อยวางใครหา      ช่วยได้ ไม่มี

ขอบรรยายความรู้สึกกับเรื่องแบบนี้ด้วยโคลงแล้วกัน อารมณ์กวีพลุ่งพล่าน

สวัสดีค่ะอ.วสวัตฯ

ต้องยอมรับว่าเด็กบางคนนั้นไม่สามารถแยกออกได้ว่า อะไรคือสาระสำคัญของชีวิตจริงๆ ทั้งนี้ไม่ได้หมายถึงน้องคนนี้ที่จบชีวิตตัวเองนะคะ.. เด็กๆ รุ่นนี้ถูกเลี้ยงมาด้วยการตั้งเป้าและรางวัลตั้งแต่เด็ก..รุ่นพ่อแม่มองเห็นใบปริญญาและวิชาชีพเป็นใบเบิกทางของชีวิต สังคม/สื่อก็ช่วยกันประโคมคนที่ประสบความสำเร็จ ร่ำรวย เรียนเก่ง กันเพียงด้านเดียว..ประมาณว่าลงทุนน้อยแต่ได้ผลตอบแทนสูง พอกระแสมาแบบนี้ พ่อแม่ก็เลี้ยงมาแบบนี้.. โอกาสที่เด็กจะรู้ว่ามันเป็นเพียงตัวเลขมันน้อยมาก..เพราะสำหรับเขา..ตัวเลขได้กลายเป็นตัวตัดสินทุกอย่างในชีิวิตไปเสียแล้ว..

โทษเด็กก็ไม่ได้..จะว่าพ่อแม่ที่หวังดีต่อลูกก็คงไม่ใช่.. แต่มันเป็นที่ระบบและสังคมที่ขาดความเข้าใจ มันเป็นที่สื่อ ที่มีด้านเดียวเป็นส่วนใหญ่..

อ่านข่าว"3.18"แล้วมันสะดุดใจ ก็เลยต้องมาเขียนเอาไว้เป็นเครื่องเตือนใจกันค่ะ

ขอบคุณที่อาจารย์แวะมา ลปรร นะคะ

กราบนมัสการหลวงพี่มหาชัยวุธ

เรื่องหลอกล่อและอุปาทานในชีวิตมีมากจริงๆ..มันมาติดตัวตั้งแต่เด็กๆ..ต้องค่อยๆ แกะ กันไปเรื่อยๆ ค่ะ

สาธุเจ้าค่ะ _/|\_

สวัสดีค่ะคุณ Conductor

บอกไม่ถูกเหมือนกันค่ะว่าอะไรเกิดขึ้นกับ EQ ของเด็กๆ หรือสังคมไทย

รู้สึกได้แต่ว่ามันเป็นกรรมที่สะสมกันมานาน..และได้ร่วมกันสะสมไว้..ผลจึงเป็นเช่นนี้ค่ะ

สวัสดีจ๊ะน้องซูซาน

ตอนพี่เห็นตัวเลข 3.18 ก็รู้สึก"วูบ"ไปเหมือนกัน..จิตตก..

เดาว่าต้องเป็นข่าวนี้แน่นอน..แต่วิธีการที่เขานำเสนอหัวข้อข่าวทำให้พี่คิดถึงเรื่องการตัดสินชีวิตด้วยตัวเลขขึ้นมาทันที...

อยากบรรยายเป็นบทกลอนเหมือนกัน แต่ทำไม่เป็น..บันทึกนี้ก็ใช้เวลาเขียนอยู่นาน..อยากจะสื่อความรู้สึกออกไปมากๆ เหมือนกัน..

กลอนของหลวงพี่กับของน้องเนี่ยสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นได้ดีจริงๆ

แวะมาอีกครับ ผมคิดว่าเป็นกันทั้งสังคมเป็นส่วนใหญ่

ถ้าว่าเด็ก ก็ต้องว่าผู้ใหญ่ด้วย + ถ้าว่านักการเมือง ก็ต้องว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วย + ถ้าว่าสื่อ ก็ต้องว่าผู้บริโภคข่าวสารด้วยครับ -- เราดูแต่ผลโดยไม่ดูสาเหตุไม่ได้

เห็นด้วยค่ะคุณ Conductor ว่าปรบมือข้างเดียวไม่ดังแน่ๆ ต้องมองทั้งสองด้าน เพียงแต่คิดว่าด้านหนึ่งอาจมีอำนาจในการ manipulate มากกว่า? ส่วนอีกด้านก็อาจจะมี ignorance ประกอบ? ก็เลยออกมาเป็นแบบนี้..

อ.ตุ๋ยเขียนบันทึกนี้ตรงกับใจที่คิดไว้มานานมากค่ะ  ในเรื่องของความคาดหวัง เพราะจะบอกทุกๆคนที่ใกล้ชิดเสมอๆในเรื่องนี้ เพราะจะทำให้ผิดหวังเมื่อไม่เป็นตามที่คาดไว้..

ขอบคุณค่ะที่นำมาย้ำเตือน..

สวัสดีค่ะพี่อุ๊

คนที่เข้าใจถึงความไม่แน่อน และเข้าใจเรื่องข้อเสียของการตั้งความคาดหวัง(แบบยึดติด) เป็นคนที่มีปัญญาค่ะ จริงอยู่การคาดหวัง เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการพัฒนาในโลกใบนี้ แต่การพัฒนาก็ยังมีทั้งในทางที่ดีและไม่ดี เหมือนกับทุกอย่าง

คิดถึงมีดค่ะ มีทั้งด้านด้านคม และด้านที่เป็นสัน... นึกถึงมีดที่ใช้หั่นของให้ขาดออกจากกัน กับนึกถึงมีดที่เป็นอาวุธทำร้ายกัน.. .. ไปเรื่อยแล้วค่ะ ^ ^

* เขียนได้โดนใจมาก

* ปัญหามีไว้แก้ไข

* แต่ปัญหาบางอย่างมันแก้ไม่ได้

* สิ่งสำคัญที่สุดเราต้องมีคนที่เข้าใจเรา คนๆนั้นจะเป็นใครก็ได้ แต่ต้องเป็นคนที่เราไว้วางใจ ที่เราสามารถพูดได้ทุกเรื่อง

* คนที่ได้รับความไว้วางใจสำคัญที่สุด ที่คุณจะเป็นที่ปรึกษาชีวิตของใครบางคน

* คนเราไม่ได้ยึดติดกับตัวเลข แต่ตัวเลขมามีบทบาทสำคัญเหนือชีวิต และมีคนหมู่มากที่ยังนับถือตัวเลขอยู่ ใครมีตัวเลขเยอะคนนั้นคือคนสำคัญ ถ้าเราขจัดความคิด "ตัวเลข" ออกได้ สังคมจะน่าอยู่กว่านี้

  • แงๆๆ ไม่ได้ 3.999 อิอิๆๆ น้อยใจ
  • ปิดชีพจรตัวเองหน้าชั้นเรียนดีกว่า อิอิๆๆ
  • ผมมองว่า บางทีการได้เกรดสูง ไม่ได้เป็นตังบ่งชี้ว่า จะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานหรือการดำเนินชีวิต
  • การทำความดี การช่วยเหลือสังคม การทำเพื่อประเทศชาติสำคัญกว่า เราคงต้องสอนนิสิตนักศึกษาในเรื่องพวกนี้
  • มาทักทายพี่
  • 30 กว่า ยังไม่แต่งงาน มันเป็นเพียงตัวเลขเนอะพี่เนอะ อิอิๆๆ
  • คุณแม่สอนให้ผมเป็นนักวางแผนและพยายามทำงานให้ได้ตามแผน...แต่ย้ำเสมอว่า "ใช่ว่าเราจะได้อะไร ตามที่วางแผนหรือตามที่คาดหวังเสมอ ทุกอย่างไม่แน่นอน"
  • เมื่อผมเป็นครู ผมเกิดการเรียนรู้ว่า ถ้าเด็กคนหนึ่งได้เกรดเฉลี่ย 4.00   4.00  4.00  4.00 4.00  4.00 4.00  มาแล้ว 7 ภาคเรียน ขณะนี้กำลังเรียนภาคเรียนสุดท้าย...เขาจะเริ่มยึดมั่นกับเลข 4.00 และเริ่มยึดติดกับชื่อเสียง เกียรติยศที่มีการร่ำลือกันในหมู่เพื่อนและญาติพี่น้อง "ชีวิตเขา ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของสังคมแล้ว ไม่มีความเป็นตัวของตัวเองอีกต่อไป เด็กคนนี้ อยู่ในภาวะเสี่ยงสูงมาก"
  • ในขณะที่เด็กอีกคนหนึ่งได้เกรด 2.53  1.98(ยุ่งแล้วซีเรา)  2.58(เฮ้..ดีใจ)  2.49    2.61(เฮ้..ฉลอง)  1.94(ว้าย ..วิชานี้ไม่น่าพลาด ไม่เป็นไร ค่อยหาเกรดชดเชยเทอมหน้า) ต่อมา 2.84(สบายแล้วเรา  เทอมสุดท้ายถ้า 2.00 ก็ โอเค แล้ว)...เด็กคนนี้ ชีวิตสบายมาก แถมทำกิจกรรมเพื่อสังคมตลอด เขามีต้นทุนทางสังคมสูงมาก
  • ในการพัฒนาเด็ก  ถ้าเขาเก่งก็เป็นสิ่งที่ดี...แต่ต้องสร้างทักษะชีวิตและภูมิคุ้มกันด้วย

 

สวัสดีค่ะคุณครูละเอียด

เห็นด้วยค่ะว่าถ้าเราสามารถลดการยึดถือตัวเลขเป็นสรณะ หรือบูชาตัวเลขไปได้ โดยเข้าใจว่าตัวเลขเป็นแค่เครื่องมือ แต่ไม่ใช่ตัวตัดสิน กะเกณฑ์ชีวิต ก็คงจะดีไม่น้อย

เห็ํนด้วยนะคะว่าปัญหาบางอย่างมันแก้ไม่ได้จริงๆ เพราะมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับเราเพียงผู้เดียว.. นี่ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับและเข้าใจ และหาทางเลี่ยงปัญหาหรือยอมรับปัญหาไป.. การมีใครสักคนไว้หารือ พูดคุยก็เป็นสิ่งที่ช่วยได้มาก ... ที่สำคัญ เราต้องเข้าใจและยอมรับตัวเอง..เข้าใจธรรมชาติของเราเอง ของสิ่งแวดล้อม ก็คงผ่อนหนักเป็นเบาได้แน่ๆ

ขอบคุณที่แวะมา ลปรร นะคะ

สวัสดีค่ะอ.ขจิต

ตัวเลขเต็มไปหมดเลยนะคะ โดยเฉพาะสามสิบกว่าๆ น่ะ ^ ^

เรื่องการที่เกรดกับการประสบความสำเร็จในชีวิตหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่เด็กบางคนไม่ค่อยรู้จริงๆ.. เวลาสอนเขาก็จะพยายามบอก..เรียนให้ได้ความรู้ ไม่ใช่เกรด ถ้ามีความรุ้ รับรองทำข้อสอบอาจารย์ได้.. แต่ก็ไม่รู้ว่าเขาจะได้ยินขนาดไหนนะคะ.. เด็กบางคนเติบโตมากับตัวเลขที่เขาคิดว่าเป็นตัวบ่งชี้คุณภาพเขาจริงๆ น่าเห็นใจค่ะ

สวัสดีค่ะอ.สุพักตร์

เห็นด้วยค่ะว่าเด็กคนที่สองเป็นคนที่มาความสุชในการดำรงชีวิตกว่าคนแรกเยอะเลย..

คงต้องช่วยกันเน้นให้เด็กๆ รับรู้ว่า เกรดไม่ใช่ตัวตัดสิน แต่คุณงามความดีของเขา ความตั้งใจของเขาต่างหากที่เป็นตัวชี้วัด..ซึ่งก็ไม่สามารถวัดมาเทียบกันเป็นตัวเลขได้..

บทเรียนจากข่าวนี้ทำให้ต้องหันกลับไปปรับปรุงวิธีการสื่อสารกับเด็กๆ มากขึ้นด้วยค่ะ สร้างภูมิคุ้มกันอย่างที่อาจารย์บอก แม้จะเล็กน้อย ก็ยังดีค่ะ

มันเป็นเช่นนั้นเอง

....

เดี๋ยวนี้พัฒนาขึ้นค่ะ

ขอบคุณนะคะ

สวัสดีค่ะพี่อึ่งอ๊อบ

ูปรัชญาล้ำลึก

ดีใจที่พี่บอกว่าพัฒนาขึ้น แล้วอย่าลืมสอนกันมั่งล่ะ ^ ^

สวัสดีค่ะอาจารย์น้องตุ๋ย

ถ้าไม่ยึดมั่นถือมั่น ถ้ารู้จักปล่อยวางลงได้ เราคงเป็นสุขกันมากกว่านี้นะคะ

กระบวนท่าว่าด้วย "อุเบกขาบารมี" เป็นยอดวิทยายุทธที่พวกเราคงต้องฝึกกันอีกต่อไปและต่อไป...สู้สู้ค่ะ

ขออนุโมทนาบุญกับข้อคิดและบทความธรรมะที่มีคุณค่าของน้องตุ๋ยค่ะ

สวัสดีค่ะอ.พี่ตุ้ม

เรื่องอุปาทานกับเรื่องอัตตาเป็นเรื่องที่ต้องระวังมากๆ เลยค่ะพี่ บางครั้งโดน(ความคิด)หลอกได้ง่ายมากๆ เพราะอยู่กับระบบความคิดนี้มานาน ต้องฝึกฝน ต้องสร้างบารมีอย่างที่ว่ากันต่อไปค่ะ

อนุโมนทนาบุญกับสิ่งที่พี่ปฏิบัติเช่นกันนะคะ ^ ^

สวัสดีค่ะ

บันทึกนี้ดีจังค่ะ

การรู้จักปล่อยวางนั้น ทำยาก แต่ทำได้คือความสุขสุดยอดค่ะ

อีกอย่างหนึ่งที่คนเรามักจะกลัว คือการกลัวแพ้

ไม่รู้เหมือนกันว่าจะชนะอะไร ไปทำไม

สิ่งที่ควรชนะ คือตัวเอง กลับไม่สนใจ

ค่ะขอบคุณธรรมะ ในบันทึกดีๆค่ะ

สวัสดีค่ะพี่หมอรุ่ง

ขอบคุณที่ชมค่ะ ยิ้มหน้าบานเลย..

แต่ตอนเขียนเรื่องนี้..หน้าไม่บานเท่าไหร่..นั่งดูเรื่องราวที่เกิดขึ้น..ลามไปเรื่องอื่นๆ เห็นอุปาทานเต็มไปหมด - -"

สิ่งที่เราทำได้คืออย่างที่พี่บอก..เอาชนะตัวเอง..หัดปล่อยวางอย่างเข้าใจ(ธรรมะและธรรมชาติ)..ตัวเองมีความเชื่อและศรัทธามากค่ะว่าเราสามารถทำได้ ... และก็จะพยายามต่อไปค่ะ ^ ^

บุญรักษาค่ะ

  • สวัสดีครับท่านอาจารย์กมลวัลย์
  • แวะมาเยี่ยมและขอบคุณครับ
  • ยินดีที่ได้รู้จักอาจารย์ครับ

คนทั่วไปก็จะคิดถึง   ว่า นี่คือเป็นโจทย์ใหญ่ที่กระทรวงศึกษาธิการ สถาบันการศึกษาต่างๆ สังคม ครอบครัวต้องทบทวนคิดให้มาก

วิเคราะห์ได้กว้างขวาง

เราคิดกันเล่นๆ แต่เอาจริงๆ ว่า

  • สังคมมันสะสมค่านิยม "ตัวเลข" มาตั้งแต่อนุบาลแล้ว
  • สังคมมันให้ค่านิยมว่าต้องเป็นที่หนึ่ง เป็นเลิศ การเป็นเลิศก็เกี่ยวกับตัวเลขสวยๆ
  • สังคมไปยอมรับและสนับสนุนการกระทำที่เกี่ยวกับตัวเลขนี้อย่างมากมาย
  • สังคมนี้มีสิ่งแวดล้อมที่สะสมความคิดการไต่เต้าเอาตัวเลขสวยๆมาครอบครองเป็นของตน แต่เปราะบางทางอารมณ์ความรู้สึกทาง Maturity
  • สิ่งแวดล้อมทางสังคมแบบไหนหนอ ที่ไม่สร้าง ไม่สะสมค่านิยมความคิดนี้
  • สิ่งแวดล้อมทางสังคมแบบไหนหนอที่สร้างและสะสมความมีวุฒิภาวะโดยอยู่บนหลักธรรม....
  • Social structure มันซับซ้อนมากกว่าจะกล่าวถึงเพียงจุดใดจุดหนึ่งแล้วหละ
  • ครอบครัวดีปานใด แต่สังคมรอบข้าง ระบบการศึกษา ยังเป็นแบบนี้
  • ต่อให้ระบบการศึกษาพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินสร้างใหม่ดีอย่างไร แต่สังคมโลกยังเอาตัวเลขเป็นหลัก
  • นี่คือจุดอ่อนของสังคมเสรีประชาธิปไตยแบบ....หรือเปล่า..
  • วุ้ย... คิดมากจริง.....
  • แต่สงสารผู้ปกครองจริงๆ
  • เรามีลูกเหมือนกัน เธอสะบายๆเกี่ยวกับการเรียนมากไปซะหน่อย เธอนอนตูดโด่ง ขาดเรียนวิชาเช้าๆเสมอ 
  • ต้องไปกำกับซะหน่อย  อ้าว....อิอิ..

สวัสดีค่ะอ.อาลัม

ยินดีที่ได้รู้จักเช่นเดียวกันค่ะ

อ่านอนุทินอาจารย์เรื่อยๆ แหละค่ะ

ยินดีต้อนรับนะคะ ^ ^

สวัสดีค่ะพี่บางทราย

ขึ้นต้นกะลงท้ายคนละอารมณ์เลยนะคะ อิอิ

จริงค่ะที่เกือบทุกอย่างต้องใช้ตัวเลขมาวัด เพราะคนพยายามเปรียบเทียบสิ่งที่เป็นนามธรรม เช่นใครเก่งกว่า ใครดีกว่า ใครรวยกว่า จนกว่า สวยกว่า..

เมื่อวัดกันด้วยคำพูดบรรยายไม่ได้ ก็เลยต้องใช้ตัวเลข.. ตัวเลขเลยกลายเป็นเครื่องมือที่บางครั้งใช้ได้ดีในหลายๆ กรณี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาใช้เป็นเครื่องมือวัดเปรียบเทียบในหมู่คนจำนวนมาก เช่นในเรื่องการเรียนการสอนที่เราใช้กันมาตั้งแต่อนุบาล..วันนี้หนูได้สี่ดาว ห้าดาว จากคุณครูเป็นต้น..

เราก็เติบโตกันมาแบบนี้ตลอด.. ปัญหามันคือเราไม่ได้ถูกสอนมาพร้อมๆ กันว่า คุณค่าของตัวเราไม่ได้ขึ้นกับตัวเลขเหล่านี้เสมอไป..เพราะบางทีคนวัด(เช่นครู)ก็เป็นคนเหมือนกัน ให้คะแนนผิดก็เป็นเหมือนกัน มีอคติก็เป็น.. ตังนั้น คะแนนที่ได้ในแต่ละครั้งมันเป็นส่วนผสมของผลของตัวเรา กับคนวัดผล และเครื่องมือที่ใช้วัด (เช่นข้อสอบ)ด้วย

นี่เป็นแค่ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น..เรื่องในชีวิตที่วัดกันด้วยตัวเลขก็เป็นเช่นนี้เหมือนกัน .. ที่ขาดไปก็คงเป็นในเรื่องของการสอนให้เด็กๆ เข้าใจว่าตัวเลขเป็นเครื่องบ่งชี้ที่เหมือนตาัชั่งที่ใช้นานๆ ก็เสียได้ บางทีก็ตาชั่งเอียง หรือคนวัดใช้ตาชั่งไม่เป็น..

ก็ต้องช่วยกันสอนทั้งครอบครัว ทั้งโรงเรียนกันต่อไปค่ะ ^ ^

แต่ที่แน่ๆ คือนอนเยอะไปไม่ดี ฮ่าๆๆๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้านอนแล้วไปสาย อิอิ แต่ตัวเองจะเป็นโรคนอนเยอะเกินแล้วปวดหัว..โชคดีไป อิอิ

ขอบคุณพี่ที่เข้ามา ลปรร กันนะคะ

ฝากบทกวี โลก   เคยเขียนเกี่ยกับตัวเลข ความยึดติด แต่ยังค้นไม่เจอค่ะ

บังเอิญว่าพูดคุยกันในครอบครัววันนี้ หัวข้อนี้เลยค่ะ อ.กมลวัลย์

สวัสดีค่ะคุณหมอจริยา

เมื่อครู่ไปอ่านบทกวี"โลก"มาแล้วนะคะ เีขียนตั้งแต่ปีใหม่แน่ะ ตอนนั้นยังไม่รู้จักคุณหมอเลย ^ ^

เรื่องการยึดตัวเลขนี้เป็นเรื่องที่เราต้องเจอเป็นประจำวันเลยค่ะ .. ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนที่เจอแล้ว จะยึดติดกับตัวเลข หรือเข้าใจแค่ไหนว่ามันเป็นแค่ตัวบ่งชี้บางอย่างเท่านั้น ไม่ใช่ความจริงทั้งหมด.. วัดอะไรๆ ก็ไม่ได้ทั้งหมดหรอก..ใช่ไหมคะ ^ ^

ขอบคุณที่มา ลปรร นะคะ

ข่าวนี้ ทำให้พี่งงๆๆ มากๆๆ เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย

มีคำตอบแล้ว แต่เป็นคำตอบ ที่ไม่อยากจะย้ำออกมาอีกค่ะ..ได้แต่ถอนใจ..

สวัสดีค่ะคุณพี่ศศินันท์

อ่านข่าวในครั้งแรกก็สลดใจมากๆ เหมือนกันค่ะ..

จะแต่ว่าตัวเองไม่เห็นแนวโน้มของสังคม..หรือไม่คาดคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นกับเด็กไทย..ก็ไม่ใช่..

เพียงแต่ไม่รู้จะทำอย่างไรให้คนที่ติดอยู่กับอุปาทาน แยกออกว่านี่คืออุปาทาน..

ก็ต้องพยายามทำหน้าที่ของตัวเองเท่าที่ทำได้ค่ะ..คงช่วยไม่ได้ทั้งหมด แต่คิดว่าก็ยังดีค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท