ไอน์สไตน์ : การนำวิทยาศาสตร์ไปเทียบเคียงกับศาสนา (2)




* ต่อจากตอนที่แล้ว : "พุทธศาสนาก็เน้นเรื่องสัมมาทิฐินะครับ..."



+มีนักเขียนจำนวนมากนำแนวคิด และทฤษฎีของคนดังอย่างไอน์สไตน์ มาเทียบเคียงในหลายๆ เรื่อง ทั้งเรื่องการศึกษาสมองและศาสนา อาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไร

ไอน์สไตน์ไม่ใช่แค่โลโก้ทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ดูเหมือนเป็นโลโก้ความฉลาดของมนุษย์ในแง่สติปัญญาทางโลกอีกด้วย



จริงๆ แล้วคนทั่วไปคงไม่รู้ว่า ไอน์สไตน์ฉลาดยังไง ทำไมถึงยกย่องกันนัก ถ้าพูดแบบคร่าวๆ ก็คือ ในเรื่องทฤษฎีทางฟิสิกส์ที่เขาคิดขึ้นมีความลึกซึ้ง เพราะสามารถเปลี่ยนวิธีคิดของเพื่อนนักวิทยาศาสตร์ร่วมสมัย แล้วต่อมาผลการทำนายจากทฤษฎี ก็ได้รับการทดสอบว่าถูกต้องภายใต้กรอบเงื่อนไขของทฤษฎี แม้เดี๋ยวนี้ก็ยังมีการทดสอบทฤษฎีบางแง่มุมอยู่

+อธิบายความฉลาดของไอน์สไตน์เพิ่มเติมได้ไหมคะ

ผมขอใช้การเปรียบเทียบนะ คือ สมัยหนึ่งมีคนเชื่อว่าโลกแบน แต่ก็มีบางคนสังเกตว่า ดวงดาวบนท้องฟ้า ดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ต่างก็กลม แล้วทำไมโลกต้องแบน เมื่อราวสองพันปีก่อน มีนักปราชญ์กรีกคนหนึ่งชื่อ เอราทอสเทนีส เป็นบรรณารักษ์ของห้องสมุดแห่งเมืองอะเล็กซานเดรีย



คนนี้รอบรู้สารพัดทั้งประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ดาราศาสตร์ ปรัชญา ฯลฯ เขาศึกษามาก ใช้ความคิดมาก แต่ที่สำคัญด้วยก็คือ ช่างสังเกต เขาพบว่า ในวันที่ 21 มิถุนายนของทุกปี เวลาเที่ยง หากมองลงไปในบ่อน้ำของเมืองไซอีน จะเห็นภาพดวงอาทิตย์อยู่ก้นบ่อพอดี หมายความว่า ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับผิวโลกที่นี่ แต่วันและเวลาเดียวกันนี้ ที่เมืองอะเล็กซานเดรีย ถ้าเอาไม้ไปปักตั้งฉากกับพื้น จะพบว่าไม้ยังมีเงาอยู่

แบบนี้เป็นไปได้ 2 อย่างครับ

อย่างแรกคือ ถ้าโลกแบน ก็แสดงว่าดวงอาทิตย์อยู่ใกล้โลกมาก


 

แต่อย่างที่สองคือ ถ้าพื้นผิวโลกโค้ง คือ โลกกลม ก็เป็นไปได้เช่นกัน และด้วยการจัดการเพิ่มเติมอีกนิด เขาก็สามารถประมาณขนาดของโลกได้

ไอน์สไตน์ก็คล้ายๆ กับเอราทอสเทนีสนี่แหละ คือ เข้าใจได้ลึกกว่าคนทั่วไป มีมุมมองที่แตกต่าง แต่ได้รับการพิสูจน์ว่าถูกต้องในเวลาต่อมา

+การนำทฤษฎีสัมพัทธภาพมาใช้ ต้องทำความเข้าใจอย่างไรคะ

ถ้าจะนำมาใช้ ต้องเข้าใจเงื่อนไขการใช้งานจริงๆ อย่างเช่นเรื่องเวลาตามทฤษฎีสัมพัทธภาพที่มักจะอ้างถึงบ่อยๆ นั่นแหละ ยกตัวอย่างนะ อย่างทฤษฎีสัมพัทธภาพบอกว่า ตอนที่คุณกับผมนั่งอยู่ด้วยกันนี่ เวลาของเราผ่านไปด้วยอัตราเดียวกัน แต่ถ้าผมเดินทางไปกับจรวดอัตราเร็วสูง แล้วคุณยังอยู่ที่เดิม สิ่งที่เกิดขึ้นจะน่าสนใจ นั่นคือ คุณจะสังเกตเห็นว่าเวลาของผมเดินช้าลง คือ ผมแก่ช้าลง ในขณะที่เวลาของคุณยังคงเป็นปกติ

แต่จุดน่าสนใจอยู่ตรงนี้ คือ ผมซึ่งอยู่ในจรวด ผมจะบอกว่าเวลาของผมเป็นปกติดี แต่คุณต่างหากที่เคลื่อนที่ห่างจากผมไปด้วยอัตราเร็วสูง นั่นคือ เวลาของคุณเดินช้ากว่าเวลาของผม คุณแก่ช้ากว่า นี่คือ สัมพัทธภาพ (relativity) ไง คือ แต่ละคนมีกรอบอ้างอิงเรื่องเวลาของตนเอง ฟังแล้วแปลก และอาจจะน่าตื่นเต้นสำหรับหลายๆ คน

แต่นี่ไม่ใช่จุดสำคัญที่สุดของทฤษฎีสัมพัทธภาพ!

เพราะว่าตามทฤษฎีนี้ แม้เราสองคน หรือใครๆ ก็ตามจะวัดเวลาที่ผ่านไปได้ต่างกัน แต่จะมีหลายสิ่งหลายอย่างเหมือนกัน เช่น ทุกคนวัดอัตราเร็วของแสงได้เท่ากัน ทุกคนใช้กฎทางฟิสิกส์ในรูปแบบเดียวกัน และปริมาณบางอย่างนั้น ไม่ว่าใครไปวัด ก็จะได้เท่าๆ กัน นี่คือ ความไม่แปรเปลี่ยน หรือ อินแวเรียนซ์ (invariance) ซึ่งเป็นอีกแง่มุมหนึ่งของทฤษฎีสัมพัทธภาพที่ไม่ค่อยมีใครกล่าวถึง


ภาพแสดงแนวคิดเรื่อง สัมพัทธภาพ (relativity) และความไม่แปรเปลี่ยน (invariance)

  

ซ้าย : คนที่อยู่บนถนนจะสังเกตเห็นรถจักรยานและคนขี่ที่เคลื่อนที่ผ่านไปหดสั้นลงในทิศทางการเคลื่อนที่
ขวา : แต่ในมุมมองของคนขี่จักรยาน เขาและจักรยานยังเป็นปกติดี (ไม่มีอะไรหด!) แต่ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเขาต่างหาที่หดสั้นลง

แต่ทุกๆ คนจะบอกว่าแสงมีอัตราเร็วเท่ากันทั้งหมด และกฎทางฟิสิกส์มีรูปแบบเดียวกัน (นี่คือ ความไม่แปรเปลี่ยน)




อย่างไรก็ดี ผมเขียนอธิบายเรื่องนี้ไว้แล้วนะในหนังสือเล่มหนึ่ง หากมีใครสนใจฟิสิกส์ของไอน์สไตน์ และอยากนำไปเทียบเคียงกับศาสนา หรือเรื่องทางจิตวิญญาณ ก็คงต้องไม่ลืมที่จะนำเรื่องความไม่แปรเปลี่ยนนี้ไปใช้ด้วย [โปรดดูภาพข้างบนสำหรับแนวคิดเบื้องต้น]

แต่ก็อย่างที่ว่าไว้แต่ต้น ต้องเข้าใจให้ดีก่อนนะ ลองปรึกษานักฟิสิกส์ที่เขารู้เรื่องนี้ก็ได้ครับ ไม่งั้นเดี๋ยวผิดเพี้ยนอีก ชื่อทฤษฎีสัมพัทธภาพมันลวงตาน่ะครับ คือมันชวนให้เข้าใจไปว่าทุกสิ่งเป็นสัมพัทธ (relative) คือ แล้วแต่ว่าใครมอง ซึ่งไม่ใช่ เพราะบางอย่างเป็นสัมพัทธ์ บางอย่างเป็นความไม่แปรเปลี่ยน

+แนวคิดบางอย่างของไอน์สไตน์ทำความเข้าใจได้ยาก

ที่ว่าเข้าใจยาก เพราะมันขัดกับสามัญสำนึกของคนทั่วไป อย่างคุณเห็นผมแก่ช้ากว่าคุณ ถ้ามองแบบใช้สามัญสำนึกธรรมดา ผมก็ควรจะต้องเห็นคุณแก่เร็วกว่าผมใช่ไหม แต่ไม่ใช่ครับ ต่างคนต่างบอกว่าตนเองเป็นปกติ คนอื่นเปลี่ยน

+คิดว่า ไอน์สไตน์กับพระพุทธเจ้าเกี่ยวข้องกันไหม

ในทางพุทธศาสนา พระพุทธองค์ทรงค้นหาและค้นพบความจริงของชีวิต และค้นพบหนทางดับทุกข์ หัวใจอยู่ตรงนั้น

ส่วนในทางวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าไอน์สไตน์หรือนักวิทยาศาสตร์คนไหน ก็พยายามหาความจริงของธรรมชาติในสาขาที่ตนเองสนใจว่า มีหลักการหรือกฎเกณฑ์อย่างไร ธรรมชาติทำงานอย่างไรครับ บางเรื่องก็อาจจะไปคาบเกี่ยวกับศาสนา เช่น การศึกษาเรื่องจิต แต่มักจะมองคนละมุม

+ในความเห็นของอาจารย์ คิดว่าไอน์สไตน์นั่งสมาธิหรือไม่

ดูตามประวัติน่าจะไม่ ‘นั่งสมาธิ’ ในแง่ที่ว่าฝึกน่ะครับ แต่ไอน์สไตน์มีสมาธิสูงมากในตอนที่ครุ่นคิดในเรื่องต่างๆ ลองไปดูประวัติตอนที่เขาค้นพบหลักแห่งความสมมูล ซึ่งเป็นรากฐานของทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปก็ได้ครับ 



 

การ์ตูนแสดงชั่วเวลาขณะที่ไอน์สไตน์ค้นพบ หลักแห่งความสมมูล (Principle of Equivalence)
ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานที่นำไปสู่การพัฒนาทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป (General Relativity)
อันเป็นผลงานที่สำคัญที่สุดในชีวิตของไอน์สไตน์


อ่านตอนจบ

ย้อนกลับไปอ่านตอนที่แล้ว (ตอนที่ 1)

 

 

หมายเลขบันทึก: 186479เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2008 10:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ตามมาดูชอบตอนที่เขาเปรียบเทียบพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์ ครับพี่ชิว

เท่าที่เคยอ่านมา การเปรียบเทียบงานของไอน์สไตน์ (หรือฟิสิกส์ยุคใหม่โดยภาพรวม) กับศาสนา ยังมีข้อบกพร่องที่ถกเถียงกันได้อีกมากทีเดียวครับ

แต่ก่อนเคยมีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ The Tao of Physics แต่ตอนนี้กลับไปอ่านใหม่ ก็รู้สึกว่าไม่ขลังซะแล้ว

  • เห็นด้วยกับอาจารย์ในประเด็นว่า ไม่ขลังเสียแล้ว

และมิใช่เฉพาะหนังสือเล่มนี้เท่านั้น รู้สึกว่าหนังสือเล่มไหนก็ไม่ค่อยจะขลังเสียแล้ว...

เจริญพร

กราบนมัสการหลวงพี่ P BM.chaiwut  ครับ

       น่าสนใจเหมือนกันครับประเด็นนี้ ดูเหมือนว่า เมื่อเราเห็นโลกมากขึ้น ก็จะตื่นเต้นน้อยลง หรือจับผิดเก่งขึ้นด้วยครับ

สวัสดีค่ะดร.พี่ชิว

ชอบมากค่ะที่พี่ชิวบอกว่า.. ศึกษาเรื่องจิต แต่มองกันคนละมุม.. เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ เป็นครั้งแรกที่เข้าใจทฤษฎีสัมพันธภาพมากขึ้น จากการอ่านที่พี่ชิวเล่าเปรียบเทียบให้ฟังค่ะ..ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ อุ๊

       เรื่องทฤษฎีสัมพัทธภาพนี่มีแง่มุมสนุกๆ เยอะเชียว แต่ก็ทำให้หลายคนเข้าใจผิดๆ เพี้ยนๆ ไปได้เยอะเหมือนกัน ด้วยความที่ว่ามันแปลก และแตกต่างจากสามัญสำนึก (common sense) ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท